‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

เรื่องราวก่อนมาเป็น ‘ชาตรามือ’ ตั้งแต่ยุคผู้ก่อตั้ง บอกเล่าผ่าน ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ ทายาทรุ่น 3 ผู้ที่มาสานต่อแนวคิดการเป็นชาตรามือในเวอร์ชั่นเมนูเครื่องดื่ม จนถึงเมนูใหม่ ๆ ที่เอาใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

  • 103 ปีเรื่องราวของรุ่นอากงที่เริ่มนำเข้าชาจากจีนมาขายบนถนนเยาวราช หลังจากที่อพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทย
  • ชาตรามือ เริ่มก่อตั้งขึ้น 78 ปี เพราะเริ่มชงชา หลังคนนิยมดื่มชาร้อนน้อยลงเพราะมีน้ำเปล่าและกาแฟเข้ามา
  • พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช ทายาทรุ่น 3 กับการสานต่อแนวคิดร้านเครื่องดื่มชาตรามือที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

 

“เราเคยคิดว่าโลโก้ชาตรามือนั่นแหละที่ดูไม่ทันสมัย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจใช้ต่อ เพราะมันคือจุดแข็งของแบรนด์ เป็นสิ่งที่อยู่มานานและทำให้คนยังจำเราได้”

ประโยคเปิดใจจาก แพรว - พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช ทายาทรุ่น 3 ของธุรกิจชาตรามือ และเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัททิพย์ธารี (ร้านที่จำหน่ายเครื่องดื่มชาตรามือ) ได้พูดกับ The People ถึงช่วงแรก ๆ ที่เธอได้ก้าวสู่ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของชาตรามือ เป็นช่วงเวลาที่เธอกลับไปช่วยคุณพ่อคุณแม่สานต่อธุรกิจครอบครัว

หากพูดถึง ‘ชาตรามือ’ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์เก่าแก่มาก ๆ ในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็แทบไม่เห็นผู้บริหารออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมากนัก ซึ่ง The People มีโอกาสได้พูดคุยกับ แพรว – พราวนรินทร์ ผู้บริหารคนปัจจุบันที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ โดยเปิดใจคุยตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชาตรามือในมุมที่คนอาจจะไม่รู้และไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน จนถึงแนวคิดธุรกิจ ความท้าทายในวันที่เธอเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจ

‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

103 ปีชาตรามือเริ่มจากขายชานำเข้าจากจีน

แพรว – พราวนรินทร์ เล่าว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่ผู้ก่อตั้งซึ่งก็คือ ‘พี่ชายของอากง’ ที่เป็นคนเริ่มธุรกิจชาในไทยในปี 2463 โดยอพยพมาจากเมืองแต้จิ๋วของประเทศจีน ในตอนแรกพี่ชายของอากงได้เปิดร้านจำหน่าย ‘ชาจีนนำเข้า’ ชื่อว่า ‘ลิมเมงกี’ บนถนนเยาวราช ซึ่งก็ช่วยกันทำธุรกิจกับพี่น้องที่อพยพมาด้วยกันกลายเป็นธุรกิจกงสีตั้งแต่ตอนนั้น

‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

“จุดเริ่มต้นการขายชาตั้งแต่แรก ๆ เพราะว่าในสมัยก่อนย้อนไป 70-80 ปีที่แล้ว คนไทยเชื้อสายจีนยังนิยมการดื่มชาร้อน และในร้านอาหารก็นิยมเสิร์ฟชาร้อนให้กับลูกค้าด้วย”

“แต่มันมีจุดเปลี่ยนช่วงหนึ่งที่ยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนไปมีการขาย ‘น้ำเปล่า’ บรรจุขวดเข้ามา ส่วนร้านอาหารก็เสิร์ฟน้ำเปล่าให้กับลูกค้ามากขึ้น เลยทำให้น้ำดื่มมาแทนที่การดื่มชาร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่วัฒนธรรมการดื่มชาร้อนก็น้อยลง เพราะคนหันมาดื่มกาแฟร้อนแทน”

และจุดเปลี่ยนของชาตรามือก็เกิดขึ้นอีกครั้งด้วยการปรับสูตรเพิ่มการขาย ‘ชาชง’ มากขึ้นซึ่งก็คือ ชาที่ใส่นมใส่น้ำตาล ซึ่งตอนนั้นชาตรามือน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มทำสูตรนี้ (แต่ก็มีคนอื่นทำบ้างเหมือนกัน) และนั่นคือการเข้าสู่ยุคของชาตรามือรุ่นที่ 2 ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ของ แพรว – พราวนรินทร์

จุดเริ่มต้นเครื่องดื่ม ‘ชาไทย’

ชื่อของแบรนด์ ‘ชาตรามือ’ เกิดขึ้นจริง ๆ ก็คือ ปี 2488 หรือ 78 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เริ่มมีการนำเข้า ‘ชาแดง’ เข้ามาในไทย และรุ่นที่ 2 ก็เริ่มมีการปรับสูตรทำเป็นชาชงที่ใส่นมใส่น้ำตาลเข้าไป สร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์และปั้นคำว่า ‘ชาไทย’ ขึ้นมา

“ตอนแรกคำว่าชาไทยยังไม่มีคนใช้นะคะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเรียกว่า ชาดำ, ชาซีลอน หรือ ชาฝรั่ง แต่คุณพ่อคุณแม่อยากจะเน้นให้คนรู้จักมากขึ้น ทำให้ชาตรามือมีเอกลักษณ์และเป็นสูตรเฉพาะ เลยเลือกใช้คำว่า ‘ชาไทย’ ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มผลิตชาเองในไทยแล้ว ไม่ได้นำเข้ามา”

“แล้วล่าสุดที่ชาไทยติดอันดับเครื่องดื่ม Non-alcohol ที่ยอดนิยมของ TasteAtlas เป็นอันดับที่ 7 มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจ”

 

ชื่อ ‘ชาตรามือ’ มาจากคำติดปากเรียกตามภาพ

มีเรื่องราวของที่มาของโลโก้และชื่อแบรนด์ ‘ชาตรามือ’ ที่น่าสนใจ โดย แพรว – พราวนรินทร์ เล่าถึงเมื่อก่อนว่า จริง ๆ แล้วธุรกิจขายชาและชาชงไม่ได้มียี่ห้อเรียกตั้งแต่แรก พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีชื่อแบรนด์ที่คิดขึ้นมาโดยเฉพาะ

แต่ว่าภาพที่อยู่บนฉลากที่เป็นรูปมือยกนิ้วโป้ง ที่แปลว่าสินค้าเราดี สินค้าคุณภาพและยอดเยี่ยม เลยทำให้คนติดปากเรียกว่า ‘ชาตรามือ’ ซึ่งจริง ๆ ก็มีคนเรียกชื่ออื่นด้วย เช่น ชาตรากา, ชาตราเหรียญ เพราะว่าข้างหลังซองมีรูปกาน้ำชาและก็มีรูปเหรียญหลาย ๆ เหรียญวางเรียงกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่คนเรียก ‘ชาตรามือ’ มากที่สุด ดังนั้น ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ก็เลือกใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน และไม่มีการเปลี่ยนโลโก้หรือชื่อใหม่อีกเลยตลอด 78 ปีที่มีการเปิดตัวชาตรามือขึ้นมา

จนมาถึงยุคที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้มี ‘หน้าร้านงานเครื่องดื่ม’ ของชาตรามือขึ้น เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและสร้างการรับรู้ให้กับชาตรามือมากขึ้น ซึ่ง แพรว – พราวนรินทร์ บอกว่า เธอได้เข้าไปช่วยหลังจากที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มทำไปแล้วประมาณปี 2 ปี

 

สาวบัญชีที่ผันตัวมาสู่ผู้บริหาร

The People อยากจะพาไปรู้จักกับทายาทรุ่น 3 ที่ตอนนี้เข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านเต็มตัว ซึ่งจริง ๆ แพรว – พราวนรินทร์ เธอเรียนจบสายบัญชีมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก็ได้ทำงานแรกที่บริษัท KPMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีประมาณ 2-3 เดือน แต่สุดท้ายเธอก็กลับไปช่วยงานที่บ้านเพราะคุณพ่อคุณแม่กำลังเริ่มธุรกิจหน้าร้าน และเป็นธุรกิจของชาตรามือที่ยังไม่เคยมีใครในครอบครัวทำมาก่อน ดังนั้น จะพูดว่าธุรกิจหน้าร้านเป็นการเริ่มต้นใหม่เป็นช่วงตั้งไข่ธุรกิจก็คงไม่ผิด

“จริง ๆ แพรวเคยมีความฝันตอนเด็ก ๆ ว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เริ่มเปลี่ยนอาชีพอยากทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ ก็เป็นเหตุผลที่หันไปเรียนด้านบัญชี อาจจะเพราะว่าเราเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจมาตลอดด้วย”

“สำหรับเราตอนนั้นก็มองว่าการเป็นเป็นธุรกิจใหม่เลย การเปิดหน้าร้านเครื่องดื่มชาตรามือมันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อยากจะให้ธุรกิจได้ต่อยอดกันเลยเลือกเปิดเป็นหน้าร้าน อีกอย่างเราก็มีตัวชาหลายชนิดที่ปลูกเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มค่ะ”

“ช่วงที่แพรวมาช่วยคุณพ่อคุณแม่เริ่มทำธุรกิจนี้มาประมาณ 1-2 ปีแล้ว มีเข้าไปในห้างฯ บ้างแล้ว”

“ซึ่งตอนที่แพรวเข้ามาช่วย เราก็ต้องลงมือทำเองทั้งหมดเพราะในครอบครัวยังไม่มีใครทำมาก่อน เรียนรู้ ฝึกฝน ลงไปชงชาทำเป็นเครื่องดื่มเองบ้าง แพรวก็เหมือนพนักงานคนหนึ่งเลยค่ะตอนนั้น”

ทั้งนี้ ในยุคของ แพรว – พราวนรินทร์ จะพูดว่าเธอเป็นคนจุดประกายเครื่องดื่ม ‘ชากุหลาบ’ ก็คงไม่ผิดอะไร ซึ่งเธอเล่าว่า “เราผลิตชาหลากหลายมาก และชากุหลาบก็เป็นสูตรที่คุณพ่อทำอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้จัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ทั่วไป ซึ่งเราอยากออกเป็นเมนู seasonal ให้คนได้ลองอะไรใหม่ ๆ”

‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

“สำหรับชากุหลาบถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเป็นชาที่ราคาค่อนข้างสูง แล้วคนไม่ได้นิยมดื่มแบบใส่นมใส่น้ำตาล แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป แพรวคิดว่าลองทำให้ราคาเข้าถึงง่ายขึ้นและดื่มง่ายขึ้นสำหรับทุกวัย ก็เลยออกมาเป็นชากุหลาบเวอร์ชั่นปัจจุบันค่ะ”

ซึ่งเมื่อถาม แพรว – พราวนรินทร์ เกี่ยวกับการเป็นชาตรามือในยุค 3 เธอก็พูดว่า “หลัก ๆ เราจะเอาสินค้าที่ผลิตอยู่แล้วมาปรับปรุง หรือ มาเป็นทำให้เป็นเครื่องดื่มหลากหลายขึ้น อย่างชากุหลาบก็เหมือนกัน นอกจากนี้ เรายังมีชาตรามือในเวอร์ชั่นที่เป็นขนม ซึ่งก็คือ ไอติมเพราะเราอยากจะให้ลูกค้าเห็นว่าตัวชานอกจากจะทำเป็นเครื่องดื่มได้ ก็เป็นไอติมได้เหมือนกัน”

ชาตรามือไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองโดยมีการเพิ่มเมนูใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเข้าไปให้หลากหลายขึ้น เช่น ชาลาเต้ซีรีส์ หรือล่าสุดที่มีเครื่องดื่มแบบ vegan เป็นต้น

ระหว่างที่พูดคุยกับ แพรว – พราวนรินทร์ เธอได้พูดถึงตัวโลโก้แบรนด์ด้วยว่า “ในช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาช่วยงานพยายามจะเปลี่ยนบางอย่างในชาตรามือ เพราะต้องการปรับให้ดูทันสมัยขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะว่า feedback จากลูกค้าส่วนใหญ่จะพูดว่า “เห็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งคนที่พูดก็อายุเยอะแล้ว ถามว่าดีใจมั้ยเราดีใจที่มีคนรู้จักเราและจำเราได้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคจำเราในภาพในอดีตซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นมานาน”

“เราอยากปรับให้ภาพของแบรนด์ดูทันสมัยหรือร่วมสมัยค่ะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่แบบเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตเหมือนเป็นความทรงจำ แพรวอยากให้แบรนด์ดูก้าวไปกับยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป และมีการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้าค่ะ”

“โลโก้จึงเป็นหนึ่งในนั้นที่เราคิดจะปรับ แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะใช้โลโก้เดิมเพราะคิดว่ามันเป็นเหมือนจุดแข็งของแบรนด์ด้วย เป็นสิ่งที่อยู่มานาน และโลโก้นี้คนก็จำได้อยู่แล้ว แพรวเลือกที่จะปรับอย่างอื่นแทน เช่น ดีไซน์แก้ว, การตกแต่งร้าน, การสื่อสารให้ถึงคนรุ่นใหม่ ฯลฯ”

‘ชาตรามือ’ เวอร์ชั่น 3 ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ แบรนด์ในตำนาน 103 ปี กับต้นกำเนิด ‘ชาไทย’

สุดท้ายเมื่อถามถึง ‘ไอดอลการทำธุรกิจ’ สำหรับ แพรว – พราวนรินทร์ เธอพูดว่า “แน่นอนว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่ เพราะเราเห็นท่านปั้นธุรกิจตรงนี้มานาน ที่จริงชาจะมีช่วงขึ้นลงอยู่ ซึ่งตั้งแต่เด็ก ๆ เราเห็นคุณพ่อคุณแม่พยายามปรับปรุงพัฒนาตัวชาจนกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น เราเห็นความตั้งใจค่ะ เห็นความจริงจังไม่ใช่ทำ ๆ แล้วก็ถอย”

“อีกอย่างหนึ่งก็คือ วิสัยทัศน์ของคุณพ่อคุณแม่ที่มองอะไรมักจะก้าวไปข้างหน้าเสมอ ก้าวนำหน้าคนอื่น อย่างที่ตอนแรกในไทยยังไม่มีชื่อ ชาไทย เลยด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็พยายามปั้นจนมันแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งก็ใช้เวลานานพอสมควรถึงจะประสบความสำเร็จ”

ถือเป็นการพูดคุยกับทายาทรุ่นที่ 3 ที่น่าสนใจและรู้เบื้องหลังของชาตรามือหลาย ๆ เรื่องที่ไม่ถูกเปิดเผยในประวัติแบรนด์ด้วย นอกจากนี้หลาย ๆ เรื่องราวของชาตรามือก็ทำให้รู้ว่า การฝันให้ใหญ่ขึ้นและพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้มันมากก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่ถอดสูตรกันมาหลาย ๆ คนแม้กระทั่งนักธุรกิจระดับโลกด้วย