06 เม.ย. 2566 | 10:12 น.
- ‘พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา’ เกิดในครอบครัวนักกีฬา มีคุณพ่อ (สมศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา) เป็นนักบาสเก็ตบอสทีมชาติชุดที่คว้าเหรียญเงิน จากกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13
- ชีวิตของเขาคลุกคลีกับกีฬามาตั้งแต่เด็ก จนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดความคิดในการสร้างร้านกีฬาในแบบที่ตัวเองชอบและต้องการ
จากการเติบโตในครอบครัวที่ทุกคนชอบเล่นกีฬา บวกกับความชื่นชอบส่วนตัวและได้ไปสัมผัสประสบการณ์จากร้านกีฬาในสหรัฐฯสมัยไปเรียนปริญญาโท ได้จุดประกายความคิดให้ ‘พรศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรฟ อีดิชั่น จำกัด สนใจทำธุรกิจด้านนี้ และต้องการพลิกโฉมร้านกีฬาในบ้านเราให้เป็นเหมือนต่างประเทศ
โดยโฟกัสไปที่ร้านรองเท้าสำหรับเดินและวิ่ง กีฬาโปรดของเขา ที่ไม่เพียงธุรกิจที่สร้างรายได้ แต่ยังสอนบทเรียนในชีวิตอีกด้วย
“ผมเกิดในครอบครัวกีฬา มีพ่อ (สมศักดิ์ ชินวงศ์วัฒนา) เป็นนักบาสเก็ตบอสทีมชาติชุดที่คว้าเหรียญเงิน จากกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 จัดขึ้นเมื่อปี 1988 ณ ประเทศไทย และแม่ก็ชอบเล่นเทนนิส ผมถูกพาไปสนามเทนนิสตั้งแต่เด็ก โตมาก็ตีกอล์ฟ เลยซึมซับความเป็นนักกีฬามาตลอด”
แต่จุดที่ทำให้พรศักดิ์สนใจทำร้านกีฬาจริง ๆ เกิดขึ้นช่วงไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน MBA Telecommunication ที่สหรัฐอเมริกา เพราะด้วยการเป็นคนชอบเล่นกีฬา ทำให้เขาไปร้านกีฬาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน แล้วเห็นว่า ร้านที่นั่นเป็นเหมือนโกดักใหญ่ มีของให้ลองเล่นทุกอย่าง เช่น ถ้าไปร้านกอล์ฟ คุณอยากลองไม้อันไหน ก็สามารถหยิบไปลองได้เลย
หรือกรณีของ Nike Town ร้านที่นำเสนอความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ของไนกี้ ซึ่งยุคนั้นร้านแบบนี้ในไทยไม่มีอยู่เลย โดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านกีฬาที่ขายรองเท้าแบบวางโชว์ไว้บนชั้น แถมห่อพลาสติก เหมือนห้ามสัมผัส ห้ามลอง
และนี่เอง เป็นเหตุผลให้เขาต้องการสร้างร้านกีฬาในแบบที่ตัวเองชอบขึ้นมา
The People : ได้ยินว่าก่อนจะเริ่มทำได้ต้องใช้เวลาเจรจานานเป็นปี
พรศักดิ์ : พอผมเรียนจบกลับมาประมาณปี 1999 ก็ได้ไปคุยกับไนกี้ ประเทศไทย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ฮิตมากตอนนั้น วันแรกที่เข้าไปไปนั่งรอที่หน้าออฟฟิสเลย แต่เขาไม่คุยด้วย ต้องใช้เวลาอยู่ 6 เดือนบอกเขาว่า ไทยควรจะมีร้านที่เป็นคอนเซ็ปต์ สโตร์ด้านกีฬาได้แล้ว เพราะผมคิดว่า เมื่อเราชอบ คนอื่นที่รักกีฬาก็น่าจะชอบ ทางไนกี้ก็ตอบว่า จะลองดู
จากนั้นผมใช้เวลาอีก 6 เดือนคุยกับเขาเพื่อยอมให้ผมทำ เพราะตัวผมเพิ่งเรียนจบมา ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน และแม้ครอบครัวจะเป็นนักกีฬา แต่ไม่เคยทำธุรกิจนี้เลย พยายามโน้มน้าวให้มั่นใจในตัวเราที่มี Passion ในที่สุดไนกี้ก็ใจอ่อนให้เปิดคอนเซ็ปต์ สโตร์ สาขาแรกที่สุขุมวิท
ส่วนทำไมเลือกโลเคชั่นตรงนั้น นั่นเพราะเป็นโลเคชั่นดีติดถนน เป็นแหล่งธุรกิจ มีต่างชาติ และเราได้พื้นที่เยอะทำให้สามารถแบ่งประเภทกีฬาได้หลากหลายทั้ง วิ่ง ฟุตบอล ออกกำลังกาย โดยมีต้นแบบ คือ Nike Town
The People : ผลตอบรับเป็นอย่างไรเพราะยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา
พรศักดิ์ : ตอนนั้นเรียกเสียงฮือฮาและได้รับการตอบรับดี เนื่องจากเป็นสแตนอโลนสาขาแรก ซึ่งยุคนั้นพฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า ออกมานอกห้างฯน้อยมาก ยอมรับการเปิดในรูปแบบนี้คิดเยอะมากนะ โดยวางเป้าหมายต้องขายรองเท้าให้ได้ 10 คู่ต่อวันเป็นอย่างน้อย
แต่อย่างที่บอกด้วยการเป็นร้านแรกที่เป็นสแตนอโลน ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท รูปแบบร้านมีสีส้มเป็นเอกลักษณ์ ประกอบกับช่วงนั้นเราไม่มีคู่แข่งเลย สิ่งที่ต้องสู้ คือ การลดราคาของร้านข้างนอก เพราะเราเป็นช็อปต้องขายราคาเต็มตามสัญญาที่เซ็นต์มา สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่า เราของแท้นะ มาจากช็อปโดยตรง ซึ่งเราได้รับผลตอบรับดี
จากช็อปไนกี้ที่สุขุมวิทต่อมาได้ขยายสาขาเพิ่ม และในปี 2003 เราขยายการทำช็อปของแบรนด์อาดิดาส ตามด้วยพูม่า และคอนเวิร์ส ตอนนั้นเรียกได้ว่า หากใครต้องการทำคอนเซ็ปต์ สโตร์ ต้องมาหาเรา
พอทำไปสักพักมีการขยายแบรนด์ไปเรื่อย ๆ เช่น แบรนด์ Srixon เป็นแบรนด์กอล์ฟ, Crocs ฯลฯ จนปี 2015 ก็เกิดจุดเปลี่ยนแรกให้เราเริ่มเปลี่ยนบทบาทใหม่ของตัวเองมาเป็น Distributor หรือผู้นำเข้า
The People : เหตุผลที่เปลี่ยนมาเป็น Distributor เพราะเห็นโอกาสอะไร
พรศักดิ์ : เราเริ่มเอาตัวเองเป็นลูกค้ามากขึ้น เมื่อก่อนเราคิดว่า ลูกค้าอยากได้แบรนด์นี้ถึงมาร้าน ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะรู้ว่า อยากได้แบรนด์อะไร บางคนอยากได้รองเท้าวิ่ง แต่ยังไม่ได้เลือกแบรนด์
เรื่องนี้กระตุ้นให้เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องหาธุรกิจใหม่มาเติมเรื่อย ๆ จากเดิมเราทำคอนเซ็ปต์ สโตร์ หนึ่งร้านต่อหนึ่งแบรนด์ เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่เราต้องทำเปลี่ยนมาเป็นผู้นำเข้า โดยโฟกัสรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ เราเป็นผู้นำเข้าหลายแบรนด์ เช่น Asic, Under armour, Champion, Teva, Hoka, Atreyu, Saucony และ Puma เป็นต้น
ซึ่งไอเดียนี้เกิดขึ้นตอนผมไปวิ่งมาราธอนครั้งแรกที่นิวยอร์คในปี 2016 ทำให้คิดว่า ไทยควรมีร้านรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะได้แล้ว เพราะสหรัฐอเมริกามี ญี่ปุ่นมี สิงคโปร์ แต่ไทยไม่มี เป็นจุดเริ่มต้นของร้าน Rev Runnr ที่รวบรวมรองเท้าวิ่งหลายแบรนด์ภายในร้านเดียวถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเรา
The People : ทำไมต้องรองเท้าวิ่ง
พรศักดิ์ : เพราะเป็นสิ่งที่ผมชอบ และเป็นตลาดที่มีการเติบโตดีมีมาร์เก็ตแชร์ 50% ของตลาดรองเท้าทั้งหมด ที่สำคัญยังไม่มีร้านแบบนี้ชัดเจนในบ้านเรา มีเพียงร้านที่มีเจ้าของเป็นนักวิ่ง 1-2 สาขา ไม่มีเป็นเชน
และส่วนตัวมองว่า การเริ่มต้นจากความชอบของตัวเอง ถ้าตอบแบบสนุก ๆ ข้อดีคือ แม้จะล้มเหลว เราก็ยังรู้สึกได้ทำในสิ่งที่ชอบ(หัวเราะ) แต่เอาจริง ๆ ถ้าเราจะเอาอะไรมาขาย อันดับแรกต้องเป็นของดีจริง ๆ เราถึงเอามาขาย เหมือนเอาตัวเราไปเป็นลูกค้า
อีกส่วนมาจากคำสอนของพ่อที่พูดกับผมมาตลอด “The Great performance athlete is always driven by a great sport gear” นักกีฬาจะเล่นได้ดี ต้องมีอุปกรณ์ที่ดี เป็นจิตสำนึกของผม ถ้าของขายกีฬา ต้องเป็นของดี ราคาเหมาะสม
The People : เป็นเพราะการแข่งขันไม่เยอะหรือเปล่า
พรศักดิ์ : จริง ๆ ตลาดรองเท้าวิ่งบ้านเราแข่งขันรุนแรงมากนะ ต่างชาติถึงกับงง เพราะไทยเป็นประเทศที่มีแบรนด์รองเท้าวิ่งเกือบทุกแบรนด์ มันทำให้ผมสนุก แต่ทีมปวดหัว (หัวเราะ) อีกอย่างบ้านเราเจอเรื่องภาษีนำเข้าทำให้รองเท้าขายในไทยแพงกว่า 40%หรือบางรุ่นมากกว่านั้น ซึ่งผมคิดว่าวันนี้ภาษีบางอย่างลดลง ทำไมต้องขายราคาเดิม ควรลดราคาได้แล้วเป็นเรื่องที่ผมเถียงกับเจ้าของแบรนด์มาตลอด
ผมพยายามลดขั้นตอนการคิดการตัดสินใจให้ลูกค้า คือ จากเดิมลูกค้าจะซื้อรองเท้าเขาจะคิดว่า จะซื้อแบรนด์ไหน รุ่นอะไร จากนั้นดูว่า จะซื้อที่ไหน ถัดมา ไทยแพงกว่าที่อื่นหรือเปล่า แล้วมีใครจะไปต่างประเทศเพื่อฝากซื้อ ถ้ามีไปอีก 1-2 เดือนงั้นรอก่อน
ตอนนี้ผมพยายามตั้งราคาให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อเลย เพื่อตัดขั้นตอนเหลือ 3 ขั้นตอน ซื้อรองเท้าอะไร รุ่นไหน ที่ไหน อย่าง Hoka หรือ Saucony ราคาขายเราสูสีกับสหรัฐอเมริกาเลยนะ
The People : นอกจากธุรกิจได้เรียนรู้อะไรจากกีฬาประเภทนี้
พรศักดิ์ : ตอนนี้ผมเน้นเดินมาราธอนมากกว่า เข้าแข่งขันปีละ 3 ครั้ง การเดินมาราธอนมันสอนชีวิตเลย เพราะระหว่างเส้นทางที่เราเดิน อะไรก็สามารถเกิดได้ทุกอย่างได้ หลายอย่างเกิดขึ้นจากเรา เช่น ความเหนื่อย ความหิว บางอย่างเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น อุณหภูมิ บรรยากาศรอบข้าง คนอื่น
ถ้าระหว่างแข่งขันเรายังกังวลและโฟกัสกับเรื่องเหล่านี้อยู่ จะทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามและมองผ่านไป ไหนได้เลย เราต้องติดกับอะไรตรงนั้น
ทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อะไรที่ควบคุมไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ อย่าไปฝืน ต้องอยู่กับมัน แล้วก็ผ่านมัน อะไรที่เราควบคุมได้ เราก็เรียนรู้ และพัฒนาไป อย่าไปแข่งกับคนอื่น จะทำให้เครียด
เรื่องพวกนี้เหมือนกับการทำธุรกิจ ที่สำคัญเราควรโฟกัสกับสิ่งที่เราทำและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น อะไรที่ควบคุมไม่ได้ต้องปล่อยผ่านแล้วเรียนรู้ที่จะก้าวข้าม