02 ส.ค. 2566 | 20:53 น.
- ‘เจ๊แดงสามย่าน’ เข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำตั้งแต่วัยรุ่น อาชีพแรกที่ทำก็คือแม่บ้าน
- จุดเปลี่ยนที่ทำให้ป้าแดงหันมายึดอาชีพขายส้มตำ ไก่ปิ้ง และคอหมูย่าง เพราะมีครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดู
- งบลงทุนก้อนแรกของร้านป้าแดงเริ่มด้วย 1,500 บาท ซึ่งต้องไปกู้เงินยืมคนอื่นเขามา
พอพูดถึง ‘คอหมูย่าง’ หนึ่งในร้านที่หลายคนนึกถึงก็คือ ‘เจ๊แดงสามย่าน’ ร้านในตำนานที่เปิดตั้งแต่เมื่อ 33 ปีก่อน (ปี 1990) แต่ใครจะคิดว่าตอนนั้น ‘ป้าแดง’ หรือ สมปอง ขันแก้ว จะใช้เงินทุนเพียง 1,500 บาท แถมยังต้องกู้เงินจากคนอื่นด้วย เพราะไม่มีเงินทุนเป็นของตัวเอง
ต้องย้อนไปเมื่อสมัยเด็ก ๆ ที่ป้าแดงยังอยู่ที่จังหวัดมหาสารคาม ป้าแดงเคยช่วยแม่ขายส้มตำในงานวัดอยู่บ่อย ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมป้าแดงถึงมีสกิลการตำส้มตำติดตัวมาด้วย
ป้าแดงบอกกับ The People ว่า “แม่ของป้าแดงเคยขายส้มตำมาก่อน หลังจากที่ป้าแดงมีครอบครัวและต้องลาออกจากอาชีพแม่บ้าน ก็เลยยึดเอาหลักการของแม่มาใช้ ก็คือ การขายส้มตำ เพราะแต่ก่อนเคยไปช่วยแม่ขายในงานวัดต่าง ๆ ประมาณนี้ค่ะ”
เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ป้าแดงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุเพียง 15 ปี เพราะอยากหางานทำ แล้วก็ได้เป็นแม่บ้านของ ‘บัญชา ล่ำซำ’ อดีต CEO ของธนาคารกสิกรไทย ย่านแรกที่อยู่ก็คือ ย่านสุขุมวิท แต่พอป้าแดงมีครอบครัวจำเป็นต้องลาออก และย้ายมาอยู่แถวสามย่าน ซึ่งป้าแดงก็ดูแลเลี้ยงลูกอยู่บ้าน
มาวันหนึ่งป้าแดงคิดว่าอยากจะหารายได้เพิ่ม อยากช่วยหาเลี้ยงครอบครัว จึงตัดสินใจลองขายส้มตำ อย่างน้อย ๆ ก็เคยช่วยแม่อยู่บ้าง มีความรู้อยู่บ้าง
กู้เงินเป็นทุนเปิดร้านส้มตำ
ป้าแดงเล่าว่า ช่วงแรก ๆ ที่ลองผิดลองถูกก็ไปขายเป็นรถเข็นร้านเล็ก ๆ อยู่ริมรั้วคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีนักศึกษามาซื้อ มีเด็ก ๆ มาซื้อบ้าง
“เริ่มแรกที่เปิดร้านป้าแดงอายุ 20 เองนะ สมัยก่อนขายส้มตำครกละ 7 บาท ก็มีส้มตำ มีไก่ปิ้ง แล้วก็เพิ่มเมนูเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างคอหมูย่าง พอเราเริ่มเห็นว่ามันพอไปได้ก็อยากจะขายจริงจัง เลยขอให้แม่ช่วยกู้เงินให้หน่อย
“ทุนของป้าแดงไม่เยอะมากนะ แม่กู้เงินเขามาให้ 1,500 แต่ก็มีดอกเบี้ยอยู่นะ ตอนนั้นป้าแดงก็เอามาลงทุนกับคอหมูย่างกับส้มตำเพิ่ม เดชะบุญที่ลูกค้าชอบรสชาติของเรา ลูกค้าชื่นชอบติดใจ ไม่ถึง 1 เดือนป้าแดงก็คืนเงินที่กู้มาได้หมด”
ระหว่างทางกว่าที่ลูกค้าจะชื่นชอบรสมือของป้าแดงก็ปรับตัวอยู่เยอะพอสมควร ทั้งยังถูกลูกค้าติตรง ๆ ด้วยว่า ‘ใช้มือตำหรือตีนตำ’ ซึ่งป้าแดงก็ไม่ได้เก็บมาน้อยใจแม้แต่น้อย แต่กลับเก็บคำติคำชมมาปรับปรุงเพิ่ม เพราะป้าแดงถือว่าลูกค้าคือครูบาอาจารย์ของป้าแดง
“ป้าแดงไม่มีครูในการทำมาหากินนะ เรายึดเอาลูกค้าเป็นหลัก เอาลูกค้าเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา ก็ทำมันออกมาให้ดีที่สุด ตั้งใจทำให้ดี ถึงแม้ว่ามันจะมีคำติบ้างชมบ้าง ป้าแดงก็ถือว่าเอามาเป็นครูมาเป็นอาจารย์ เพราะเรารับได้หมด เราอยากนำคำติพวกนั้นมาปรับปรุงแก้ไข”
ซึ่งความอร่อยของร้านเจ๊แดงสามย่านเลื่องลือมานาน จนทำให้นักธุรกิจหลายคนสนใจและอยากทำธุรกิจด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ ‘เบียร์ - ปิยะเลิศ ใบหยก’ ซึ่งในรายการทาง YouTube ของเบียร์ ก็เคยเล่าไว้ว่า ‘ใช้เวลาจีบป้าแดงอยู่นานเป็นสิบปี เพราะป้าแดงไม่ยอมใจอ่อน’
จากวันนั้นที่ป้าแดงล้มลุกคลุกคลานเปิดร้านด้วยตัวเอง ต้องกู้ยืมเงิน ปรับปรุงคุณภาพและรสชาติมาเรื่อย ๆ จนวันนี้ ‘ร้านเจ๊แดงสามย่าน’ ในฐานะที่มีนักลงทุนเข้ามาลงขันด้วย ก็ขยายใหญ่เปิดให้บริการมากถึง 30 สาขาแล้ว
คงต้องย้อนไปที่ความคิดของป้าแดงว่า เพราะอะไรกันวันนี้ร้านเจ๊แดงสามย่านถึงกลายเป็นร้านในตำนานที่มีเมนูคอหมูย่างอยู่ในลิสต์มิชลินไกด์ และหลายคนยกให้เป็นร้านในดวงใจ จนนักธุรกิจก็อยากเข้ามาร่วมลงทุนด้วย
ป้าแดงบอกกับเราว่า “เมนูที่ร้านของป้าแดงไม่ได้เยอะมากมาย แต่เราใส่ใจมาก ทุกจานที่เสิร์ฟให้ลูกค้าเราใส่ใจเรื่องคุณภาพและความอร่อย ป้าแดงเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด ดังนั้น ก็อยากให้คนที่กำลังทำธุรกิจแล้วอาจจะท้ออาจจะอยากถอยแล้ว ให้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด ไม่ใช่ทำตามกระแส เพราะเขาอาจจะไปไม่รอดก็ได้ สุดท้ายยืนหยัดเรื่องคุณภาพและรับฟังทุกความคิดเห็นของลูกค้า”
บางคนอาจมองที่ ‘ความสำเร็จ’ ของคนอื่นเพียงมุมเดียว แต่หากเราเรียนรู้จากความเหนื่อยยากและสิ่งที่คนอื่นต้องพยายามมาก่อน กว่าที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จนั้น ก็อาจจะช่วยฮีลใจได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าไม่มีความพยายามเลยก็อาจไม่มีความสำเร็จ
ดังนั้น มันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จที่ทุกคนต้องเจอ เรื่องราวของเจ๊แดงสามย่านบางมุมที่เราหยิบมาแชร์ต่อ อาจเป็นตัวอย่างที่ดีของใครหลายคนได้เช่นกัน