18 พ.ย. 2566 | 10:30 น.
KEY
POINTS
Hangles แฮง-เกิล(ส์) คือ ศูนย์รวมเสื้อผ้ามือสองที่เปิดทั้งแอปพลิเคชันมาร์เก็ตเพลส เป็นสื่อกลางให้คนเข้ามาเลือกซื้อและเปิดขายเสื้อผ้าของตัวเอง รวมถึงมีหน้าร้านอยู่บนชั้น 2 ของตึก Circular ที่สยามซอย 2
แล้วคนที่อยู่เบื้องหลังของธุรกิจนี้ คือ ‘ลูกน้ำ’ เพ็ญพิชชา สันติธรกุล และ ‘นุ่น’ พิชชาธร สันติธรกุล สองพี่น้องที่คนหนึ่งสนใจเรื่องความยั่งยืน อีกคนสนใจเรื่องธุรกิจ แต่สิ่งที่ทั้งสองคนชอบคล้ายกัน คือ พวกเธอรักในการแต่งตัว
แต่สุดท้ายเมื่อครบ 1 ปี พวกเธอกลับมาเปิดตู้เสื้อผ้าก็พบว่ามีเสื้อผ้าหลายตัวที่พวกเธอไม่ค่อยได้ใส่ ลูกน้ำและนุ่นก็เลือกที่จะนำไปบริจาคและนำไปขาย เพื่อส่งต่อให้คนอื่น
ขณะเดียวกัน หลังจากที่ลูกน้ำกับนุ่นไปศึกษาเรื่องผลกระทบของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่อธรรมชาติจึงทำให้รู้ว่า คำว่า ‘แฟชั่น’ นั้นสร้างผลกระทบให้กับโลกใบนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
พวกเธอเลยอยากจะสร้างระบบนิเวศในวงการอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ และให้ความเชื่อมั่นกับลูกค้าว่า “ไม่ต้องห่วงเลย เสื้อผ้าทุกตัวที่ส่งมาให้ Hangles จะไม่ไปเป็นขยะแน่นอน”
และไม่จำเป็นต้องหยุดซื้อทันที แต่ทุกคนยังสนุกกับการแต่งตัวได้เหมือนเดิม
แก้ปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ด้วยเสื้อผ้ามือสอง
สำหรับสาว ๆ ปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้อาจดูเป็นเรื่องปกติ…
เหมือนกับลูกน้ำและนุ่นที่เจอปัญหาเดียวกัน ทั้งสองคนบอกว่า พวกเธอมักจะซื้อเสื้อผ้าใหม่ในทุกทริป ซื้อเผื่อ ซื้อซ้ำ ซื้อไว้ก่อนค่อยเลือกทีหลัง
“สมมติเราจะไปต่างประเทศ 1 อาทิตย์ เราจะซื้อ Double ของวันที่มันจะเกิดขึ้น หมายถึงว่าเราไม่ได้จะซื้อ 7 ชุด แต่ว่าเราจะเผื่อ อันนี้ก็ได้ อันนี้ดูไปที่นี่ได้เหมือนกัน แล้วพอไปหน้างานแล้วก็ไปเลือกอีกที เพราะฉะนั้นมันจะซื้อแบบ Over มาก ๆ” นุ่นเสริม
เพื่อขจัดปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ และมีพื้นที่สำหรับเสื้อผ้าใหม่ ๆ ทั้งสองคนเลยตัดสินใจคัดเสื้อผ้าบางส่วนไปบริจาคและเอาไปขายที่ตลาด นุ่นและลูกน้ำไม่ได้สนว่าราคาเท่าไร แต่ขายเอาสนุก
สำหรับลูกน้ำ เธอรู้อยู่แล้วว่า เสื้อผ้าตัวไหนที่เธอไม่ค่อยได้ใส่ ส่วนนุ่นบอกว่า เธอจะคัดเสื้อผ้าทุกปีอยู่แล้ว การหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาดูแต่ละตัวก็จะทำให้เธอรู้ว่า เธอใส่เสื้อผ้าเหล่านั้นบ่อยแค่ไหน
“เราโละเสื้อผ้าทุกปีอยู่แล้ว จะรู้ว่า 1 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้หยิบมันออกมาเลย เพราะฉะนั้นเอาออกไปขาย หรือเอาออกไปบริจาคดีกว่าให้มันเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น”
อีกทั้งข้อมูลจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ระบุว่า ต้องใช้น้ำประมาณ 3,000 ลิตรสำหรับการผลิตเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้าย 1 ตัว และยังทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในมหาสมุทรจากการย้อมผ้า วัสดุสังเคราะห์จำนวน 35% ก็กลายเป็นไมโครพลาสติก นอกจากนี้เส้นใยในการผลิตยังเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดภาวะเรือนกระจก รวมถึงข้อมูลงานวิจัยปี 2019 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของขยะแฟชั่นว่า มีการผลิตเสื้อผ้ามากถึง 62 ล้านตัน และ 57% ของเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งถูกนำไปฝังกลบ ซึ่งสร้างผลกระทบให้กับธรรมชาติ
ด้วยผลกระทบทางธรรมชาติและปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ สองพี่น้องจึงเปิด Hangles ศูนย์รวมเสื้อผ้ามือสอง ฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่สร้างความยั่งยืน ลดขยะ ให้กับวงการแฟชั่น
พวกเธอจึงเริ่มจากเงินทุนของตัวเอง รวมถึงเดินสายไปขายโมเดลธุรกิจจนได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐมาตั้งหลักในการเริ่มธุรกิจของทั้งสองคน
นุ่นบอกเหตุผลเพิ่มเติมของการเข้ามาเปิดธุรกิจเสื้อผ้ามือสองว่า เธอและพี่สาวชอบแต่งตัว และมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องผลิตเอง แต่นำเสื้อผ้าทุกคนมีอยู่แล้วมาส่งต่อ ซึ่งเป็นการช่วยหมุนเวียนเสื้อผ้าและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้
“มันเป็น Supply ที่มีอยู่แล้วบนโลกใบนี้ หมายถึงเราไม่ต้องผลิตขึ้นใหม่ แต่ว่าเราเอา Supply ที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด เป็นการยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ที่ไม่ได้ถูกใช้ออกมาหมุนเวียน”
หลายช่องทาง เชื่อมทุกแพลตฟอร์ม ตอบโจทย์ชีวิตคนยุคใหม่
Hangles คือ ส่วนผสมของคำว่า Hanger (ไม้แขวน) และ Circle / Recycles (หมุนเวียนหรือนำกลับมาใช้ใหม่)
“เหมือนเอาเสื้อผ้าบนไม้แขวนของคุณมาหมุนเวียนกับเรา” นุ่นอธิบายถึงความหมายของชื่อร้านเพิ่มเติม
นุ่นบอกอีกว่า ช่วงแรก Hangles เป็นเพียงเว็บไซต์ในการสร้างชุมชนคนรักการแต่งตัว มาพูดคุย แลกเปลี่ยน ซื้อขายเสื้อผ้าของตัวเอง และเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมองหาเสื้อผ้าที่ถูกใจ เหมาะกับตัวเอง และรักสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
“ตอนนั้นเราอยากสร้าง Community ที่ทุกคนสามารถเข้ามาขายของตัวเอง ซื้อของคนอื่นได้ง่ายขึ้น ตอนนั้นที่เริ่มทำจากเว็บไซต์ก่อน เพราะว่ามันเข้าถึงง่าย ไม่ต้องดาวน์โหลด แล้วก็เข้าถึงร้านของทุกคนได้”
หลังจากนั้น Hangles ก็ขยับมาเปิดแอปพลิเคชัน พื้นที่ตรงกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และยังอำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยากขายเองและอยากฝากขาย
ลูกน้ำบอกว่า ช่วงแรกของการพัฒนาแอปพลิเคชันจะมีแต่คนขาย แต่ก็ได้ฟังความเห็นจากผู้ใช้บางคนที่ไม่มีเวลา เลยมีบริการฝากขายที่ทางร้านจะช่วยแบ่งประเภท ตั้งราคา ทำความสะอาด ถ่ายรูป และโพสต์ขายให้
“จริง ๆ ในแอป เข้าไปแล้วจะเป็น marketplace สามารถที่จะเลือกได้ว่าชอบ อยากได้สีอะไร ไซซ์อะไร มีแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ว่าแบบเป็นหมวดหมู่ เช่น เป็นแบรนด์ใน IG หรือว่าเป็นหมวดหมู่เสื้อผ้าราคาน้อยกว่า 300 บาท
“ตอนแรกเริ่มจากให้คนโพสต์เองก่อน แล้วมี feedback จากลูกค้าบางกลุ่มที่เขาไม่มีเวลาค่อนข้างเยอะว่า ให้เราทำให้ได้ไหม เราก็เลยเริ่มขยายมาอีกโมเดลหนึ่ง ถ้าอยากฝากขาย ทักมาเราจะมีแบบฟอร์มให้กรอก นัดวันรับของ มีคนเข้าไปรับ คัดเลือก มีเกณฑ์อยู่ว่า ต้องมีป้าย มี Tag แบรนด์ มีตำหนิไม่มาก แล้วคัด ทำความสะอาด ถ่ายรูป โพสต์ขายหรือเอามาขายที่หน้าร้าน”
ลูกน้ำเล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากรับเสื้อผ้าจากผู้ซื้อผู้ขายแล้ว อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ทาง Hangles กำลังศึกษาและพัฒนาอยู่ คือการรับเสื้อผ้าจากแบรนด์มาขายต่อผ่านแพลตฟอร์มเพื่อลดปริมาณขยะในอุตสาหกรรมนี้
“แบรนด์ผลิตเสื้อผ้าเป็น Dead Stock ประมาณ 30% ปีหนึ่งก็ประมาณ 30,000 ล้านชิ้น ส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นขยะ เราเลยลองคุยกับแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ก็บอกว่าเป็นปัญหาเหมือนกัน เขาตั้งไว้เฉย ๆ แล้วก็ไม่อยากเอามาขายใหม่ เช่น โพสต์คอลเลกชันใหม่ เขาก็ไม่อยากได้คอลเลกชันเก่า ให้เราช่วยขายได้
“เราก็เลยคุยกับหลาย ๆ แบรนด์ แล้วก็ลองทำโมเดลนี้ดู แต่จริง ๆ แล้ว โมเดลนี้เราเพิ่งเริ่ม กำลัง Explore อยู่เหมือนกันว่าทำแนวไหนถึงจะเวิร์ก”
จะเห็นได้ว่า Hangles มีโมเดลธุรกิจหลายรูปแบบ และพยายามจะเชื่อมทุกแพลตฟอร์มเข้าหากัน โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของลูกค้าและตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่
“เรามีโมเดลที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้ง 2 แบบ คือ คนที่ต้องการโพสต์เองกับคนที่ไม่มีเวลา รวมถึงเรามีหน้าร้านด้วย มีทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ คือ ลูกค้าซื้อออนไลน์ได้เลย หรือถ้าบางคนอาจจะอยากมาจับดูก่อนก็มาหน้าร้านก่อนได้”
เรื่องเสื้อผ้ามือสองต้องทำให้ง่ายและดูน่าเชื่อถือ
สมัยก่อน เวลาพูดถึงเสื้อผ้ามือสอง หลายคนอาจนึกถึงว่าเป็นเสื้อผ้าเก่า ไม่สะอาด แล้วคงนำไปใส่ต่อได้ยาก นุ่นมองเห็นความสำคัญถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า Hangles เลยออกแบบให้เสื้อผ้ามือสองดูน่าเชื่อถือที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
“เรื่องเสื้อผ้ามือสอง trust เป็นสิ่งสำคัญมาก เสื้อผ้าตัวนี้มาจากใคร ไว้ใจได้ไหม สะอาดมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น account ของแต่ละคน เราจะมี Verified ให้ว่า คนนี้เป็น Top Seller คนนี้เป็น influencer หรือว่าคนนี้อาจจะเป็นคนธรรมดาแต่ว่าอยากได้ Verified เพื่อบอกว่าฉันมีตัวตนจริง เสื้อผ้าก็เป็นของแท้ I’m real
ซึ่งผู้ขายทุกคนจะขายเสื้อผ้าตัวเอง ดังนั้นการที่เขาใส่ไซซ์ตัวเอง ใน account ผู้ซื้อเข้ามาก็จะเห็นเลยว่า ถ้าคนขายคนนี้ใส่ได้ แปลว่าเราก็ใส่ได้เหมือนกัน”
หลังจากเข้าวงการเสื้อผ้ามือสองมาจนถึงการเปิดร้านเป็นของตัวเอง รูปแบบการซื้อเสื้อผ้าของลูกน้ำและนุ่นก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ทุกทริป ทั้ง 2 คนก็คิดก่อนซื้อมากขึ้น แทนที่จะซื้อมือหนึ่งก็หันมาซื้อมือสอง
“ส่วนใหญ่ตอนนี้เราซื้อมือสองหมดเลยค่ะ นอกจากจะจำเป็นจริง ๆ หาไม่ได้อะไรอย่างนี้ คิดเยอะขึ้นว่า มันจำเป็นจริง ๆ หรือเปล่า จะใส่บ่อยแค่ไหน ถ้าซื้อแล้วขายต่อได้ไหม บางอันรู้สึกว่า มันน่าจะขายต่อไม่ได้ หรือมีเสื้อผ้าอื่นมาทดแทนได้ก็จะเลี่ยง ๆ” ลูกน้ำบอก
แล้วด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่กันทั้งคู่ ลูกน้ำกับนุ่นก็เลยรู้ว่า ถ้าจะพูดถึงเรื่องรักษ์โลก พูดตรง ๆ อาจดูยากเกินไป ทั้ง 2 คนเลยออกแบบให้ทุกองค์ประกอบใน Hangles เป็นเรื่องง่ายด้วย tagline สั้น ๆ ว่า ‘สายแฟแคร์โลก’
นุ่นบอกว่า เธอเข้าใจดีว่า ทุกคนเปิดใจรับสิ่งใหม่และพร้อมจะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน แต่ถ้ามันดูยุ่งยากเกินไป พวกเขาก็อาจจะปฏิเสธหรือไม่ทำ
“นุ่นรู้สึกว่าทุกคนเปิด mindset อยู่แล้ว หมายถึงว่าอยากทำ แต่ว่าความขี้เกียจมันรั้งไว้ ถ้ามันยากไป เขาก็รู้สึกว่ามันไม่คุ้มที่จะทำ เหมือนกับที่เราทำ Hangles อยากให้ทุกคนรู้สึกว่ามันง่าย เราก็เลยสื่อสารออกไปว่า ‘สายแฟแคร์โลก’ คุณไม่ต้องหยุดซื้อเสื้อผ้า หรือต้องไปส่งผ้าเอง คุณแค่อยู่กับเรา สนุกกับชีวิตได้เลย เดี๋ยวเราจัดการทุกอย่างให้เอง แล้วคุณก็ช่วยโลกได้ด้วย”
Hangles ศูนย์รวมเสื้อผ้ามือสองที่เสื้อผ้าทุกชิ้นจะไม่เป็นขยะ
“เราอยากสร้าง Fashion Ecosystem ที่ยั่งยืนจริง ๆ”
นุ่นบอกว่า อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่จะช่วยให้ Hangles สร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนได้ คือ การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ เพื่อให้เสื้อผ้าทุกตัวเป็นเสื้อผ้าใหม่สำหรับทุกคน
“เราจะบอกลูกค้าทุกคนเสมอว่าไม่ต้องห่วงเลย เสื้อผ้าทุกตัวที่มากับเรา จะไม่ไปเป็นขยะแน่นอน เพราะเราจะหาทางลงให้น้อง ๆ ทุกชิ้น
“สมมติว่าส่งเสื้อผ้ามา เราจะคัด ถ้าผ่านการยอมรับ เราก็จะเอาไปขาย แต่ตัวที่ไม่ผ่านการยอมรับ อย่างเช่น อาจจะมีตำหนิเล็กน้อย 1 จุด เราก็ส่งดีไซเนอร์ไป upcycled (การใช้วัสดุจากสิ่งที่เคยใช้งานแล้วมาพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น) ส่วนตัวที่มีตำหนิมากก็แล้วแต่ขั้นบันได ซึ่งถ้าเกิดว่ามีตำหนิมาก ๆ ไม่ได้แล้วจริง ๆ เราจะส่งให้กับ Circular (ร้านเสื้อผ้าที่ทำจากการรีไซเคิล) พาร์ตเนอร์ของเรา ก็คือ เราส่งเสื้อผ้าที่มีตำหนิมาก ไม่สามารถใช้ได้ไปรีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ เราก็เลยพยายามจะเป็นพาร์ตเนอร์กับหลาย ๆ ช่องทางเพื่อให้เสื้อผ้าทุกชิ้นมีมูลค่าที่ดีและสูงที่สุด”
ฝั่งลูกน้ำเสริมว่า การที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้จริง สิ่งสำคัญ คือ ‘มันต้องใช้เวลา’ เช่นเดียวกับการมาเปิดศูนย์รวมเสื้อผ้ามือสองในช่วงแรกที่บางคนอาจไม่ยอมรับ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน ความคิดของคนก็เปลี่ยนไป
“ย้อนกลับไป น่าจะเกือบ 2 ปีที่แล้ว เหมือนคนยังไม่ได้ยอมรับเสื้อผ้ามือสอง คนจะรู้สึกว่า มันสกปรกหรือเปล่า มันน่ากลัวหรือเปล่า แล้วการที่เราทั้งซื้อหรือขายเสื้อผ้ามือสองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับด้วย ก็คือคนไม่ได้ยอมรับ ทำให้ตอนแรกมันยาก แต่ว่าตอนนี้ความคิดคนก็เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ
“มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงภายในวันสองวัน แต่การที่วันนี้มีหลายแพลตฟอร์ม หลาย ๆ คนมาทำเรื่องมือสอง สนใจเรื่องรีไซเคิล เรื่อง upcycled หรือบางแบรนด์ที่เป็นแบรนด์ Fast Fashion กำลังปรับตัวเข้ามาในตลาดที่ sustainable มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีในการผลิตให้มัน sustain มากขึ้น คิดว่าทุก ๆ คนก็มีส่วนช่วยวงการนี้และ educate คน ให้รู้สึกว่า เราจะ sustain มากขึ้น แต่คิดว่าสุดท้ายก็ต้องใช้เวลาอยู่ดี”
นุ่นอธิบายเพิ่มเติมว่า อยากให้ทุกคนลองเปิด ลองเข้าไปดูรายการเสื้อผ้าใน Hangles เพราะบางครั้งเสื้อผ้าที่เราใส่จนเบื่อ อาจเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่และมีค่าสำหรับใครอีกคน
“ใครที่กำลังมีปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ แล้วสามารถโละตู้กับเราได้ จะฝากขายหรือโพสต์ขายเองก็ได้ ถ้ายังตัดใจไม่ได้ ก็ลองโพสต์ขายดูก่อน โพสต์ขายเล่น ๆ ดู แล้วก็ยังใส่ตัวนั้นได้เหมือนเดิมค่ะจนกว่าคุณจะขายได้ ส่วนคนที่ซื้อก็อยากให้ลองเปิดใจดู ถ้ายังไม่กล้าลองซื้อใน App ลองมาที่หน้าร้านได้ ลองมาดูว่า เสื้อผ้ามือสองจริง ๆ มันสะอาด มันใหม่ อาจจะมีตัวที่คุณกำลังตามหาอยู่ อยากให้ลองเปิดใจดูค่ะ
“เสื้อผ้าที่เราคิดว่ามันเก่า ใส่จนเบื่อ แต่พอส่งต่อให้อีกคน เขาอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเสื้อผ้าใหม่ เขาไม่เคยใส่ ยังไม่ได้เคยถ่ายรูป มันเป็นของใหม่สำหรับเขา หรือว่าบางทีเรารู้สึกว่ามันไม่ได้มี Value กับเราแล้ว แต่ความจริงมันมี Value กับคนอื่นอีกเยอะเลย”
เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
อ้างอิง :
princeton