เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์ และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี

เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์  และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี

“ยิ่งคนดูถูก เรายิ่งชอบ เพราะพวกเราเป็นเหมือนเมล็ด เมล็ดต้องยิ่งจมดิน ถึงจะยิ่งงอก” ฟังแค่นี้ก็สัมผัสได้ถึงความเป็นนักสู้ที่ฝังอยู่ในสายเลือดของ เบิร์ธ - รัชพล จันทรทิม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่ง MGI บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่สู้ยิบตาพามิสแกรนด์ทะลุมาทุกกรอบ ฝ่ามาแล้วทุกด่าน จนพา MGI เข้ามาโลดแล่นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด

เห็นมิสแกรนด์เป็นเวทีสุดปังที่พังทลายทุกกรอบข้อจำกัดของนางงามตามขนบแบบนี้ ใครจะไปรู้ว่าผู้ปลุกปั้นมิสแกรนด์อย่างคุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล และคุณรัชพล จันทรทิม ที่จริงแล้วต่างเป็นมนุษย์ Introvert ด้วยกันทั้งคู่

“ทั้งผมและพี่ณวัฒน์เป็น Introvert ครับ เราไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ปาร์ตี้ ไม่เที่ยว ทั้งคู่เป็นเหมือนกันเลย จริง ๆ การเป็น Introvert มันมีข้อได้เปรียบนะครับ เวลาไปคุยกับคน เราจะเข้าประเด็นเลย ไม่ต้องการเสียเวลา ผมกับพี่ณวัฒน์เป็นหยิน - หยาง แกเป็นทัพหน้า ผมเป็นทัพหลัง ไปตีรันฟันแทงรบกับใครแกทำหมด ลุยด่านหน้า ส่วนผมลุยข้างหลัง เป็นกองหนุน ทำฝั่งบริหาร แต่ในความ Introvert พวกผมมีความบ้าระห่ำอยู่มาก ทั้งพี่ณวัฒน์และผมจะเป็นคนมีเป้าหมาย ชอบ Challenge ตัวเอง อยากเอาชนะให้ได้”

ทัพหลังอย่างคุณเบิร์ธ เชื่อสุดใจว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤต นั่นหมายถึงโอกาสของ MGI มาถึงอีกแล้ว หลังจากต้องถอยทัพจากเวที Miss Thailand World ทั้งคู่ก็ยังไม่ยอมแพ้ ขอลองสู้กันอีกสักตั้ง

 

ก้าวแรกที่คิดว่าทำได้ แต่ทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คิด

 

“ตอนนั้นอยากทำเวทีนางงาม อยากลอง Challenge ตัวเอง ผมกับพี่ณวัฒน์บินไปนิวยอร์กกันเลย อยากได้ลิขสิทธิ์เวทีนางงามมาทำ พอคุยรายละเอียดแล้วเราก็มาพิจารณากันดู ลองทำ Business Plan แต่ดูแล้วยังไงมันก็ไม่คุ้ม ด้วยความที่เรามีประสบการณ์เคยทำ Miss Thailand World กันมาก่อนหน้านี้ เราเห็นเลยว่าจริง ๆ แล้วพวกเราทำกันเองได้แน่ ๆ และทำได้ในราคาที่ถูกกว่าซื้อเขามาประมาณ 10 เท่า แต่ความยากอยู่ที่การสร้างแบรนด์ เราจะทำอย่างไรให้เวทีนางงามเราเป็นที่รู้จัก ปีแรกท้าทายมาก ควักเงินทำเวทีกันเอง นางงามคนไหนจะมา เราซื้อตั๋วเครื่องบินให้เลย 80 กว่าคน ทุกคนมาฟรีหมด แล้วปีนั้น ตอนแรกจะจัดที่ธันเดอร์โดมแต่เกิดเหตุการณ์ประท้วงก่อน ธันเดอร์โดมถูกล้อม ทางอิมแพ็คเลยชดเชยให้ไปจัดที่ IMPACT เลย สรุปคือเจ๋งกว่าเดิม เราได้ภาพใหญ่มาเลยในปีแรก ความโชคร้ายกลายเป็นความโชคดี” 

 

แน่นอนว่านั่นได้กลายเป็นการป่าวประกาศอย่างเป็นทางการว่าไทยแลนด์บ้านเราได้มีเวทีนางงามหน้าใหม่ที่ชื่อ ‘มิสแกรนด์’ ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว และใครจะไปนึกว่าอีกไม่กี่ปีต่อมา ทุกพื้นที่จะมีแต่แกรนด์ได้ขนาดนี้

 

และถ้าใครได้ดูการประกวดเวทีมิสแกรนด์มาบ้าง ก็น่าจะพอเดากันได้ว่ากุนซือที่อยู่เบื้องหลังเวทีประกวดนี้ น่าจะต้องทั้งบู๊ทั้งบุ๋นพอตัว เพราะเล่นฉีกทุกขนบนางงามกันกระจาย

 

เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์  และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี

ถ้าไม่กล้าแตกต่าง ก็ต้องอยู่ใต้เงาคนอื่นไปตลอด

 

“ช่วงสองปีแรก ภาพยังเบลอ จับทางไม่ถูก มิสแกรนด์คืออะไร จะไปทางไหน พี่ณวัฒน์และผมเลยค่อย ๆ ไปนั่งถอดรหัสกันว่าจะเอาอย่างไรดี ลองฉีกมาทางเอนเตอร์เทนมากขึ้น ให้นางงามเต้นหรือแสดงความสามารถของเขา ช่วงแรก ๆ ที่ฉีกออกมา เวทีเราถูกคนบูลลี่ตลอด แต่เราคิดอยู่อย่างเดียวว่า เวทีนางงามบนโลกมีหลากหลายรูปแบบมาก แต่เกือบทุกเวทีจะเดินตามรอยเวทีใหญ่หมดเลย มันไม่รู้สึกแตกต่าง ถ้าเราไม่แตกต่าง ไม่ว่าอย่างไรก็จะไม่มีทางออกจากร่มเงาเขาได้ ต้องอยู่ใต้ปีกใต้เงาเขาต่อไป เรา Challenge ความเชื่อเก่า ทำลาย Stereotype หลายอย่างมาก นางงามแก่นเซี้ยว เรียลมากขึ้น มิสแกรนด์ฉีกภาพความฝันเดิมทั้งหมดที่นางงามต้องสวยเพอร์เฟกต์ เรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ เดินนิ่ง ๆ แต่มิสแกรนด์เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความมั่นใจ มีความสามารถ เป็นตัวของตัวเอง พอเราเปิดพื้นที่ให้คนได้แสดงความเป็นตัวตนออกมา เขาก็กล้าที่จะแสดงออกมาให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด หรือแม้แต่การแสดงออกทางการเมือง เราเปิดกว้างมาก สิ่งนี้เลยทำให้มิสแกรนด์แตกต่าง”

 

นางงามเวทีมิสแกรนด์ได้สร้างภาพจำใหม่ได้จริง แต่แน่นอนว่ามาพร้อมคำดูถูกดูแคลนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเวทีแกงถุง เวทีห้าบาทสิบบาท เวทีราคาถูก หรือแม้แต่เวทีของคนที่ไม่มีทางไป แต่ในสายตาของนักสู้อย่างคุณเบิร์ธ เวทีแบบนี้นี่แหละคือเวทีที่เปิดโอกาสให้คนเท่ากันอย่างแท้จริง 

 

“ผมไม่ชอบการแบ่งชนชั้นในสังคมอยู่แล้ว ไม่ได้ชอบความเป็น Elite หรือความมีอภิสิทธิ์ต่าง ๆ มิสแกรนด์มีคนทุกแบบ ทั้งรากหญ้า ทั้งคนรวย มีลูกเศรษฐีมาประกวดหลายคนแต่ไม่ได้บอกใคร ที่นี่ทุกคนเป็นเพื่อนกัน สิ่งนี้คือ Ecosystem ของเวทีมิสแกรนด์”

 

เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์  และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี

 

เมื่อมิสแกรนด์เป็นมากกว่าเวทีนางงาม เพราะที่นี่คือเวทีแห่งโอกาสของผู้คน

 

ทัศนคติที่เคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เชื่อว่าคนเท่ากัน ถูกส่งต่อจากผู้บริหารมาสู่ DNA ของ MGI อย่างเห็นได้ชัด

 

“เวทีนี้ เราให้โอกาสทุกคน ทุกคนควรมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ผมเคยได้รับโอกาสมา วันนี้ผมก็ควรให้โอกาสผู้คน อย่างพี่ณวัฒน์เรียนโรงเรียนวัดมาก็รู้อยู่แล้วว่าโอกาสเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแก เป้าหมายของมิสแกรนด์ที่เราคิดคือเราต้องการให้โอกาส ไม่ใช่แค่นางงามนะครับ การทำมิสแกรนด์ 77 จังหวัด ทำให้เกิดโอกาส เกิดการจ้างงาน ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม คนทำเสื้อผ้า หรือแม้แต่เจ้าของสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะรายเล็กรายย่อยมันได้หมดเลย ช่วงทำมิสแกรนด์ปีแรก ๆ เราก็อยากใช้ห้องเสื้อดี ๆ แต่เขาไม่ต้อนรับเรา มิสแกรนด์คืออะไร ฉันไม่อยากให้เธอมาใส่เสื้อผ้าฉันหรอก ไปยืมใครก็ไม่มีใครให้ยืม ไม่ให้ยืมแล้วยังไง เราก็สร้างเองเลย ไปติดต่อเด็ก ๆ นักศึกษา ดีไซเนอร์ท้องถิ่นให้ลองมาทำ หลายคนดังไปเลยจากมิสแกรนด์ การสร้างโอกาสทำให้คนตัวเล็กมีโอกาสได้เกิด ถ้าเป็นเวทีนางงามแบบเดิม จะเป็นระบบ Centralized นางงามเข้ามา 20 คน ใช้ช่าง 10 คน แต่ของเราคือทีมใครจะจ้างใครก็จ้างไป แบบนี้เงินสะพัด เวทีเราไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ใหญ่ แบรนด์ไทยท้องถิ่นเล็ก ๆ เข้ามาได้เลย เราสนับสนุน เพราะเราเป็นพื้นที่แห่งโอกาส”

 

เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์  และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี

 

จากเวทีนางงาม ต่อยอดสู่สนาม E-Commerce

 

แค่ให้นางงามลุกขึ้นมาเต้น หรือแนะนำตัวแบบใหม่จนกลายเป็นไวรัลไปทั่วประเทศ ก็ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ฉีกภาพจำเก่า ๆ ของนางงามไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่มิสแกรนด์ไม่ได้หยุดแค่เท่านี้ คุณเบิร์ธยังพา MGI ทะลุภาพเวทีนางงามไปไกลกว่านั้นมากแบบที่ใครก็ไม่มีทางคาดถึง เพราะมิสแกรนด์ได้กระโจนเข้าสู่สนามขายของออนไลน์แบบที่ให้นางงามนั่นแหละเป็นคนขายเองเสียด้วย! 

 

“จากเดิมเราขายของผ่านทาง TV Shopping ยอดขายดีมาก แต่เราก็ปรับตัวเองมาเป็นออนไลน์ ซึ่งช่วงแรกที่เราลองไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก แต่ยอดมันไม่มา แต่เชื่อไหมว่าทุกวิกฤตคือโอกาสเสมอ ตอนพี่ณวัฒน์ติดโควิด-19 คนเห็นใจแกเยอะมากจนผมคิดไม่ถึงว่ามีคนเอ็นดูเราเยอะขนาดนี้ ยอดขายมา คนซื้อเยอะมาก ตอนโควิดออฟฟิศเรานั่งแพ็กของกัน ขายของได้วันละ 3 - 4 ล้านบาท เราเลยเริ่มมองว่าลองหันมาเอาดีทางออนไลน์ดีกว่า จะเป็นเอกอุด้านออนไลน์ให้ได้”

 

ยอดขายในช่วงแรกมาจากแฟนคลับคุณณวัฒน์​เป็นหลัก ไม่ใช่แฟนคลับของมิสแกรนด์ สำหรับผู้บริหารอย่างคุณเบิร์ธ นี่คือความเสี่ยงของบริษัท 

 

“ผมคุยกับพี่ณวัฒน์ว่าเราต้องค่อย ๆ กลืนความสำคัญของพี่ณวัฒน์ลง แล้วสร้างแบรนด์มิสแกรนด์ขึ้นมา อาจจะมี House Brand อื่นในเครือทั้งหมด อย่างน้ำพริกปลาสลิดนางงาม แล้วก็พยายามสร้างไอดอลขึ้นมา ในอนาคตจะพัฒนาเป็น KOL (Key Opinion Leader) Creator Community พอสินค้าเริ่มเกี่ยวข้องกับมิสแกรนด์ แฟนด้อมก็ค่อย ๆ ตามมา เป็นการสร้างคอมมูนิตี้แฟนคลับ เริ่มต้นจากฐานแฟนคลับพี่ณวัฒน์ ฐานแฟนคลับน้องอิงฟ้า น้องชาล็อต กลายเป็นฐานแฟนคลับมิสแกรนด์ ตอนนี้เหมือนเป็นกึ่ง ๆ เกมเอาชนะกันด้วย ด้อมนี้ซื้อมาก ฉันก็ต้องซื้อบ้าง ด้อมนี้เป็นด้อมศิลปิน ด้อมนางงามก็ยอมแพ้ไม่ได้ ตอนนี้ขยายไปถึงคนนอกแล้ว เขามาซื้อโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเป็นมิสแกรนด์ แล้วเราก็ได้อีกสังคมคือ Affiliator Creator ตอนนี้มีคนเข้ามาปักตะกร้าของ MGI Shop ประมาณ 90,000 คน คือมี 90,000 คนนี้ช่วยเราขาย แปลว่าพลังตอนนี้ไม่ใช่ของพี่ณวัฒน์แค่คนเดียวแล้ว มันไปไกลกว่านั้น กลายเป็นว่าทุกคนต่างสนับสนุน เลยกลายเป็น Ecosystem ของมิสแกรนด์ที่ใหญ่ขึ้น” 



 

ปรับโครงสร้าง MGI ยิ่งชัดยิ่งไปได้ไกล

 

ตอนเริ่มต้นปลุกปั้นเวทีมิสแกรนด์ ภาพในใจอาจยังไม่ชัด แต่มาถึงวันนี้ คุณเบิร์ธมีทั้งภาพที่ชัดเจน ทั้งโครงสร้างบริษัทที่แข็งแกร่ง

 

“เราทำให้ Revenue Stream ของแต่ละ BU (Business Unit) มันชัดขึ้นครับ ตอนนี้เรามี Commerce 1 BU นางงาม 1 BU ศิลปิน 1 BU และ Media & X-Periences 1 BU พอเราปรับโครงสร้างใหม่ได้แล้ว เราก็ทำแกนนี้ให้มันแข็งแรง มีเวลาสร้างกันตั้งแต่ปี 2562 พอถึงตอนนี้ ก็เป็นโครงสร้างที่ทำให้นักลงทุนเห็นชัดแล้วว่ารายได้ของ MGI จะมาจากทางไหนได้บ้าง” 


พอได้ฟัง Revenue Stream ของ MGI แล้ว เข้าใจว่าคุณเบิร์ธน่าจะต้องคิดใหญ่บุกตลาดใหญ่แน่ ๆ แต่กลับผิดคาด “ตอนแรกเรายังไม่ไปตลาด Mass เรายังทำไม่ได้เพราะเราไม่ถึง ไม่ถึงคือ Marketing Cost ไม่ได้ Sales Channels เราไม่ได้ ถ้าไปตลาดใหญ่ตั้งแต่แรก เราจะสู้ยังไงก็สู้ไม่ได้ เราต้องสู้ตลาดเล็ก เป็น Niche ในกลุ่มของเราไป แบบนั้นก็โตได้เหมือนกัน เราชัดแล้วว่าเราเป็น KOL Live Stream Commerce อย่างจีนปีนี้ตลาด Live Commerce ของเขาน่าจะ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐได้ ไทยเราเอาแค่ 1% ของเขา MGI ขอส่วนแบ่งตลาดสัก 10% ก็พอแล้วครับ นี่คือเป้าหมายของเราในอนาคต”

 

โครงสร้างบริษัทที่ชัดเจนทำให้ MGI พร้อมลุยตลาดหลักทรัพย์อย่างมั่นใจ  แถมผู้บริหารอย่างคุณเบิร์ธก็ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานไปพร้อม ๆ กับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในโลก Commerce เพื่อให้ MGI เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมั่นคง 

 

“ก่อนที่เราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เราได้วางแผนในระยะยาวแล้วว่าเราจะเป็น Data-Driven Business เป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การตลาด งานขาย และธุรกิจเรามีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ในช่วงตั้งแต่ Q4/2023 ที่ผ่านมา เราได้วางระบบ มีระบบ Customer Data Platform ช่วยรวบรวมข้อมูลลูกค้า เร่ิมพัฒนาระบบ Loyalty เพื่อรักษาสัมพันธ์กับลูกค้าในช่องทาง Commerce ซึ่งเราเริ่มเห็นพฤติกรรมลูกค้าที่ซื้อสินค้าเราจากการวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน Dashboard อย่างใน Social Commerce เราก็มองหา New S-Curve หรือ Game Changer ใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ เช่น การประกาศความร่วมมือกับ TikTok ในการสร้าง Multi-Channel Network (MCN) ภายใต้ความร่วมมือกับ TikTok Shop เพื่อเพิ่มโอกาสการขายด้วยพลังของ TikTok Creator และบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ของเรา” 

 

สุดท้ายแล้วคุณเบิร์ธอยากพา MGI ไปถึงจุดไหน?

 

“แน่นอนว่าที่ 1 ของโลก ให้คนลืมเวทีที่ได้ยินมา เพราะมิสแกรนด์มี Culture ของการไม่หยุดนิ่ง เราเปิดรับทุกโอกาส เห็นอะไรใหม่ ๆ ก็พยายามปรับตัว เห็นอะไรก็ขอชะโงกหน้าไปดูหน่อย ความคิดสร้างสรรค์มันไม่มีวันหมดอยู่แล้ว มันลบภาพของเวทีเดิม ๆ ที่มีภาพจำ แต่มิสแกรนด์ไม่ติดกับภาพจำใด ๆ” 

 

The People เชื่อเลยว่าผู้บริหารอย่างคุณเบิร์ธที่ผนึกกำลังกับคุณณวัฒน์พร้อมรบทุกด่าน ฝ่าทุกอุปสรรค จะพา MGI เวทีนางงามสัญชาติไทยแท้ 100% ไปผงาดอยู่บนเวทีโลกอย่างสมภาคภูมิแน่นอน

 

เปิดใจ รัชพล จันทรทิม ผู้ร่วมปั้นแบรนด์มิสแกรนด์ให้ทุกพื้นที่มีแต่แกรนด์  และวิสัยทัศน์ใหม่ของ MGI จากธุรกิจนางงาม สู่อีคอมเมิร์ซ และแพลตฟอร์มอีโคโนมี