26 มี.ค. 2567 | 17:24 น.
KEY
POINTS
สัมผัสแรกที่ผู้เขียนเดินเข้าร้าน ‘บ้านอากงอาม่า’ บ้านไม้อายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี (ปี 2472) ที่ตั้งตระหง่ารับลมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองสาน ให้ความรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก ทั้งบรรยากาศ การดีไซน์ และทำเลที่ตั้ง ให้ความรู้สึกสงบอย่างไม่น่าเชื่อ วันนี้เรามีนัดกับ ‘พูนศักดิ์ ทังสมบัติ’ เจ้าของร้านบ้านอากงอาม่า และทายาทรุ่น 3 โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ผู้ผลิตน้ำปลาตรารวงทอง
ชายวัยกลางคนเดินดิ่งมาหาเรา หน้าตาใจดียิ้มแย้ม แล้วเริ่มทักทายอย่างสุภาพ “เรานั่งคุยกันตรงไหนดีครับ” ประโยคสั้น ๆ ที่ดูสุขุมใจดีนี้ สะท้อนคาแรคเตอร์ของร้านอย่างดีทีเดียว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนหลาย ๆ เจนถึงชอบมาที่นี่ ไม่ใช่แค่แวะมารีวิวหรือทำคอนเทนต์ แต่หลายคนก็มาเพื่อนั่งเสพบรรยากาศ หรือจิบชากาแฟคุยกัน บ้างก็แวะมาทานมื้อกลางวัน แม้แต่ต่างชาติเป็นกลุ่มก้อนก็มาแวะเวียน ณ ที่แห่งนี้
พูนศักดิ์ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ‘ธุรกิจน้ำปลา’ ซึ่งเป็นของตระกูลมายาวนานพอ ๆ กับบ้านหลังนี้ เขาเล่าว่า สมัยก่อนในประเทศจีนการทำน้ำปลา หรือหาซื้อน้ำปลาค่อนข้างยาก ไม่เหมือนกับเมืองไทยที่หาน้ำปลา หาปลามาหมักง่ายกว่า
“ที่จีนต้องจีนทางตอนใต้เท่านั้นถึงจะเจอปลา แต่พอมาเมืองไทยวัตถุดิบมันหาง่ายไปหมด ทั้งปลา ทั้งเกลือ แล้วไทยก็เป็นประเทศเมืองร้อนหมักไม่นานก็มีกลิ่นแล้ว พอใส่ในอาหารก็ช่วยเสริมรสชาติให้กลมกล่อม”
“ตระกูลเราเริ่มทำน้ำปลาที่เมืองไทย ตั้งแต่ปี 2460 ปัจจุบันก็ 100 กว่าปีแล้วครับ”
พูนศักดิ์ เล่าว่า เขามีพี่น้อง 7 คน และตัวเขาเองเป็นคนสุดท้อง ซึ่งเขาอยู่กับบ้านหลังนี้ (บ้านอากงอาม่า) มาตั้งแต่เกิดจนโต ใช้ชีวิตกับบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยามาตลอดชีวิต ซึ่งความฝันของเขาตอนนั้นบอกเพียงว่า อยากเป็นนายธนาคาร เพราะเห็น บุญชู โรจนเสถียร อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งตอนนั้นเป็นนายธนาคารกรุงเทพ แล้วรู้สึกว่า เขาเท่มาก อยากทำอาชีพแบบเขา อยากได้นั่งรถแบบเขา
“เขาเท่มากครับ โอ้โห รถก็เท่ อยากเป็นแบบเขา แต่สุดท้ายก็ต้องมาทำน้ำปลา”
จะพูดว่าน้ำท่วมเปลี่ยนสถานการณ์ของบ้านหลังนี้ไปก็คงไม่ผิด เพราะก่อนหน้าปี 2560 ที่จะเกิดน้ำท่วมหลายจุดที่กรุงเทพ บ้านหลังที่เราเห็นนี้ ยังเป็นสถานที่ที่คนกองละครใช้ถ่ายละครอยู่เลย แต่หลังจากที่น้ำท่วมครั้งนั้น พูนศักดิ์ จำเป็นต้องรีโนเวทบ้านใหม่ทั้งหมด และย้ายโรงทำน้ำปลาไปอยู่อีกที่หนึ่ง เหลือเพียงออฟฟิศเล็ก ๆ และน้ำปลาเพียงหยิบมือเพื่อขายให้กับคนในเมือง
พูนศักดิ์เล่าว่า “ตอนนั้นที่ปรับปรุงบ้านเสร็จหลังที่เจอน้ำท่วม หลายคนถามว่าจะทำอะไรต่อ เราก็ยังไม่มีแพลนจะทำอะไรนะ แต่คนไม่เชื่อ จนมีคนแนะนำเปิดเป็นร้านขายกาแฟ ผมเลยบอกว่า เออ งั้นทำเสร็จเดี๋ยวมานั่งกินกาแฟกัน จุดเริ่มต้นของร้านนี้ก็มาจากตรงนั้นแหละ”
ด้วยความที่บ้านหลังนี้อยู่ติดกับศาลกวนอู คลองสาน และช่วงนั้นศาลกำลังจะมีงานประมาณ 15 วัน พูนศักดิ์จึงเกิดไอเดีย ตั้งใจจะเปิดร้านวันแรกคือวันเดียวกับที่ศาลจัดงานเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย สุดท้ายก็เป็นไปตามคาดเพราะคนเยอะเต็มร้านตั้งแต่วันแรกที่เปิด
“เปิดมาวันแรก โอ้โห แปปเดียว 3 โมงเย็นยังไม่ถึง 4 โมงเลยคนเต็มร้านแล้ว ตอนนั้นก็ตกใจ คิดว่า มันเกิดอะไรขึ้นวะ”
“จนกระทั่งมีลูกค้าคนหนึ่งกวักมือเรียก ถามว่า เฮียเป็นเจ้าของร้านใช่ไหม เราก็บอก...ใช่ครับ เขาบอกว่าเฮียว่างไหมมาคุยกันข้างนอกหน่อย แล้วจากนั้นก็ถามผมว่า เฮีย...ใครชงกาแฟให้เฮียเนีย เราก็บอกว่า หลานชง ลูกค้าถามต่ออีกว่า แล้วไปได้สูตรมาจากที่ไหน ผมก็ตอบตรง ๆ ว่า คนขายเครื่องชงกาแฟมันสอนมา”
“เขาบอกว่า เฮียรู้ไหมกาแฟเฮียเนีย...หมาไม่แดกเลย”
ตอนนั้น พูนศักดิ์ ค่อนข้างตกใจ แต่ก็ถามลูกค้าต่อว่า แล้วจะทำยังไงให้มันทานได้ จนลูกค้าคนนั้นแนะนำว่า เขาต้องส่งคนไปเรียนนะ ไปเรียนอันโน่น แล้วก็เรียนอันนี้ ทั้งยังย้ำด้วยว่า ถ้าไม่เข้าใจไปหาเขาได้ตลอด เพราะเขาเปิดโฮมสเตย์อยู่ ณ ตอนนั้น
หลังจากนั้น พูนศักดิ์ ก็ไปเล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟังว่า มีลูกค้าแนะนำมาแบบนี้ ซึ่งเขาก็ฟังไว้แล้วพิจารณาว่าจะลองดูไหม เพราะตอนนั้นตั้งใจว่าจะลองเปิดร้านกาแฟเพียง 15 วันเท่านั้น
“ตอนนั้นผมคิดว่า เอาก็เอาวะ เขาแนะนำมา เราก็ฟัง แต่ก็ไม่ได้กะจะเปิดยาวอยู่แล้ว”
จนกระทั่งวันที่ 16 หลังจากที่จบงานที่ศาลกวนอูแล้ว ปรากฎว่า ไม่มีลูกค้าเข้าร้านแม้แต่คนเดียว ซึ่ง พูนศักดิ์ บอกว่า ไหน ๆ ก็ซื้อเครื่องชงกาแฟมาแล้ว เลยตั้งเครื่องไว้ที่เดิม แต่ก้ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนเข้ามาที่ร้านแล้ว
แต่เช้าวันที่ 17 ทำให้ร้านแห่งนี้ ดูมีความหวังขึ้นอีกครั้ง เพราะคนที่เข้ามาที่ร้านเป็น ‘ผู้ประกาศข่าวสายกีฬา’ ซึ่งได้ขอให้ พูนศักดิ์ อย่าเพิ่งปิดร้านเพราะเขามองว่า บ้านหลังนี้มันมีคุณค่าสำหรับอีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้เห็น หรือ ได้อาศัยอยู่บ้านแบบนี้
“เขาบอกว่าเฮียรู้ไหมว่าบ้านเฮียมันมีคุณค่าสำหรับคนอีกหลายคน ที่เขาอยากจะดูลักษณะแบบนี้แต่ไม่มีโอกาส เพราะบ้านทั่วไปเนี่ยเขาไม่ได้เปิดให้ดู ซึ่งเขาก็ไม่บอกตรง ๆ นะว่าให้เปิดเป็นวิทยาทานนะ แต่เขาบอกว่ามันก็จะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลัง”
คือต้องบอกว่า นอกจากที่ผู้ประกาศข่าวคนนั้นได้แนะนำ พูนศักดิ์ เขายังบอกอีกว่า อยากพูดออกรายการถึงร้านแห่งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งต่อมาถึงวันแรก ๆ ที่เริ่มมีคนมาขอรีวิวร้าน เริ่มมีคนสนใจ ติดต่อขอสัมภาษณ์ จนกระทั่งกลายเป็นร้านที่คนแนะนำและแวะเวียนมาบ่อยมากอีกร้านหนึ่งในย่านนี้
“ถามว่าผมเกิดและโตมาในห้องสี่เหลี่ยม โตมากับโรงทำน้ำปลา คิดนอกกรอบอะไรไม่เป็นหรอก ขนาดญาติ ๆ ที่รู้ว่ามาเปิดร้านกาแฟ ยังถามเลยว่า มึงไปเปิดร้านกาแฟเหรอ มึงทำได้เหรอ มึงอยู่โรงงานตั้งแต่เกิดนะ ซึ่งผมก็ยอมรับนะว่า เรายังไม่มีความรู้อีกเยอะมาก ดังนั้น เราก็จะฟังใครก็ตามที่แนะนำ อย่างน้อยที่สุด เราจะมาตรึกตรองดูว่า เออ เราสามารถทำได้ไหม”
“แต่สำคัญที่สุดเลยนะ ผลลัพธ์อันนั้นต้องให้ผลประโยชน์ต่อส่วนรวมก่อน ถ้าผลอันนั้นไม่ให้ประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมบอกตามตรงนะว่า รอดยาก”
เมื่อเราถาม พูนศักดิ์ว่า ทุกวันนี้ความสุข ความภูมิใจของเขาคืออะไร?
“ความสุขของผมคือ เห็นคนอื่นมีความสุขครับ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เงินซื้อได้ยากนะการให้กำลังใจคน อยากให้เขามีกำลังใจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ช่วงท้าย ๆ ของชีวิต”
ที่เล่าแบบนั้นเพราะว่า บ้านอากงอาม่า ในภาพที่ พูนศักดิ์บอกกับเราคือ คนที่แวะเวียนมาที่นี่คือคนที่ต้องการความสงบ ความสุข อยากนั่งในบรรยากาศเงียบ ๆ ริมน้ำ พื้นที่เหมือนบ้านที่อบอุ่น ปัจจัยไม่กี่อย่างเหล่านี้สามารถเสกความสุขได้แล้วสำหรับบางคน ในความเก่าแก่ ในความเป็นบ้านที่มาเรื่องราวมากมายแห่งนี้ สำหรับพูนศักดิ์ มองว่า “เก่าคือเก่าด้วยจิตวิญญาณ เก่าด้วยคุณค่า เก่าด้วยความทรงจำมากมาย ไม่ใช่การสร้างขึ้นมาเพื่อให้มันเก่า แต่มันไม่มีจิตวิญญาณ แบบนี้ก็ไม่ได้”
“คุณคิดว่า คนที่มาไหว้ศาลเจ้ามีสุข หรือ ทุกข์ มากกว่ากันล่ะ? นั่นแหละ...ส่วนใหญ่มาด้วยความทุกข์ ดังนั้น เราจะทำยังไงให้เขากลับไปด้วยความสุข”
คำว่า ‘บ้าน’ มันไม่ใช่แค่สถานที่ แต่มันคือความรู้สึก ความทรงจำ คือ จิตวิญญาณ ซึ่งเราประทับใจกับหลาย ๆ คำพูดจาก พูนศักดิ์ เขายกตัวอย่างจุดหนึ่งที่ร้านเขาไม่ทำทางลาดให้กับคนที่นั่งคนเข็น ทั้งที่มีคนแนะนำมากมาย
เขาบอกว่า “ผมคิดว่า ความทรงจำเก่า ๆ มันไม่ใช่แค่ลักษณะบ้าน หรือทำเลร้าน แต่ผมคิดว่าความเอื้ออาทร ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างเมื่อก่อนต่างหาก ที่คนสมัยนี้โหยหา ผมเห็นลูกค้าหลายคนยิ้ม มีความสุข เวลาที่ได้ช่วยคนอื่น มันเกิดภาพความทรงจำที่สมัยนี้เราหาไม่ค่อยเจอ”
“บางทีเราต้องแยกให้ออกนะว่า คุณโหยหาวัตถุเก่า ๆ ที่สามารถสร้างขึ้นมาได้ คุณก็แค่เดินเข้าในบ้านที่ทำแบบย้อนยุคให้เก่าได้ แต่ถ้าคุณต้องการหาจิตวิญญาณเก่า ๆ เนี่ย ที่นี่ก็อาจจะมีให้ เพราะเราปรุงแต่งน้อยที่สุด และผมก็พยายามรักษา พยายามปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เสมอ”
ส่วนธุรกิจน้ำปลา เราถาม พูนศักดิ์ว่า กังวลไหมเพราะว่าหลายคนไม่รู้จักแล้วว่า น้ำปลาตรารวงข้าวคืออะไร และก็มีแบรนด์น้ำปลามากมายในเมืองไทยในปัจจุบัน เขาตอบเพียงว่า “เพราะทุกอย่างมันมีเกิดมันมีดับ สมัยก่อนเครื่องปรุงรสมันมีไม่กี่ชนิดใช่ไหมมีแค่น้ำตาล มีซีอิ๊ว เดี๋ยวนี้ไปดูในเชลฟ์เครื่องปรุงรสมีเป็นร้อย ๆ ชนิด ฉะนั้นเราก็จะยอมรับความจริง”
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจของตระกูล น้ำปลาตรารวงทอง หรือคาเฟ่บ้านอากงอาม่า ก็ตาม สำหรับ พูนศักดิ์ เขามองทุกอย่างเป็น ‘ธรรมชาติ’ มีเกิด มีดับ มีสูญหาย แต่ถ้าธุรกิจนั้น ๆ สร้างประโยชน์ได้ในส่วนรวม การอยู่จะยังตั้งอยู่แบบนั้น ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามมาตลอดก็คือ การสานต่อธุรกิจ และการปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปให้รักษา ผ่านการทำให้ดู การถ่ายทอดแนวคิด ซึ่งเราเพียงแต่หวังว่า ธุรกิจทั้งหมดของตระกูล ‘ทังสมบัติ’ จะอยู่แบบนี้ไปนาน ๆ
บทสัมภาษณ์นี้ ผู้เขียนเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นธรรมชาติ ความโหยหาในสิ่งเดิม ๆ ที่เราเคยคุ้นเคยและอบอุ่น โลกอาจจะหมุนเร็วขึ้น แต่มนุษย์คงต้องการเพียงพื้นที่อุ่น ๆ ให้รู้สึกสุข และสงบใจ เพื่อซึมซับรากเหง้าที่มิเคยหายไป แค่นั้นเอง