09 พ.ค. 2567 | 09:08 น.
กว่า 5 แสนคนที่ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ Successmore (SCM) ได้สร้าง Impact ให้กับผู้คนตลอดระยะเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา ได้เปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล ไปจนถึงผู้อื่นในสังคมให้มีชีวิตและ Mindset ที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ความสำเร็จในวันนี้จึงยังมีเป้าหมายให้ก้าวต่อไปอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เวทีประกาศรางวัล The People Awards 2024 ได้มอบรางวัลในสาขา Corporate of the Years 2024 ให้กับ บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) ที่ในปีนี้มาในธีม ‘People Go Beyond - ต้นแบบ ‘คน’ ทะยานข้ามขีดจำกัด’ ซึ่งสอดรับกับคุณค่าที่องค์กรได้ดำเนินกิจการและยึดมั่นมาตลอด จนเป็นที่ประจักษ์แก่บุคลากรภายในและสายตาของผู้คนภายนอกเช่นกัน
ถึงแม้เป้าหมายในการพาธุรกิจเครือข่ายเจ้าแรกของไทยที่สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์จะสำเร็จและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายรวมไปถึงน่านน้ำใหม่ ๆ ยังเปิดกว้างให้ Successmore เข้าไปปักหมุดทั้งในระดับอาเซียนและระดับโกลบอล ชวนมาร่วมเดินทางถอดรหัสความสำเร็จที่ไม่มีสูตรลับ นอกจากการลงมือทำด้วยตัวเองเท่านั้นจากปากของ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร CEO ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนของ SCM
ความเชื่อในการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของแต่ละคนได้สำเร็จคือดีเอ็นเอที่องค์กรแห่งนี้มุ่งหวังให้คนในองค์กรสามารถค้นพบ รางวัล Corporate of the Years 2024 จึงเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญ ซึ่งดำเนินธุรกิจตามพันธกิจที่ตั้งไว้คือการส่องทางให้ชีวิตผู้คนจำนวนมาก สามารถพาชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นทั้งในด้านความคิดและสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นพลังงานที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองและคนรอบตัวในอนาคต
“รางวัลจากหน่วยงานภายนอก โดยเฉพาะสื่อที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของ ‘คน’ เช่น The People นั้นจึงเป็นการรับรองสิ่งที่องค์กรกำลังทำอยู่ ทำให้ทีมบริหารและบุคคลในองค์กรมีความมั่นใจ คนที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก็ยิ่งมั่นใจว่าเลือกถูกแบรนด์แล้วเช่นกัน”
ตัวอักษรข้างต้นนี้คือค่านิยมของคนในองค์กร ที่จะเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายและเดินไปในทิศทางเดียวกันเพื่อคว้าความสำเร็จ อันประกอบด้วย S มาจาก Service and Sharing, P มาจาก Performance, I มาจาก Integrity, R มาจาก Respect, I มาจาก Improvement and Innovation และ T มาจาก Teamwork
“เราเน้นการทํางานเป็นทีมตามคำกล่าวที่ว่า One Team One Dream ฝันเดียวกันทีมเดียวกัน เพื่อให้เรามีศูนย์รวมพลังไปสู่การทําทุกกิจกรรมที่บรรลุเป้าหมายที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน ทั้งเป้าหมายในระดับส่วนบุคคล, ทีม ไปจนถึงองค์กร เพื่อทำให้พวกเราสำเร็จไปด้วยกัน”
ค่านิยมเหล่านี้ล้วนมีศาสตร์แต่ละแขนงที่จะทำให้คนในองค์กรเห็นภาพเดียวกันและมุ่งหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจะเดินนำผู้คนจำนวนมากไปด้วยกันได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยหลักความเป็นผู้นำเพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์สู่ผู้คนที่เดินตามมานั่นเอง
หนึ่งในกรอบการพัฒนา ‘คน’ ของ CEO นพกฤษฏิ์ คือการออกแบบโปรแกรมการอบรมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมเกราะให้บุคลากรใช้บริหารสมดุลของตัวเองเตรียมความพร้อมสู่การทำงานจริง เรียกกันว่า 4 Q ประกอบด้วย IQ (Intelligence Quotient), EQ (Emotional Quotient), PQ (Physiology Quotient) และสุดท้ายที่เขาให้ความสำคัญอย่างมากคือ SQ (Spiritual Intelligence Quotient)
“SQ เป็นความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณที่เป็นเป้าหมายของชีวิต การหา Meaning ไม่ใช่ Money ในที่นี้หมายถึงความหมายที่มีเราอยู่ในนี้ของพนักงานแต่ละคน พาร์ตเนอร์เรา รวมถึงความหมายขององค์กรที่อยู่ในตลาดนี้ เราได้ส่งความหมายให้กับผู้คนอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าการคิดแค่ผลประโยชน์ของตัวเอง นั่นคือการยกระดับผู้คน ยกระดับสังคม ไปจนถึงยกระดับประเทศชาติ รวมทั้งโลกใบนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำและเป็นเรื่องที่เราทําได้ดี ถ้าเป็นคะแนนสอบถือว่าวิชานี้เราน่าจะได้เกรดเอในการทํา People Development”
เมื่อสืบประวัติ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ที่เป็นหนึ่งใน Founder ขององค์กรก็ต้องยอมรับว่าเขาได้พาตัวเองและผู้คนจำนวนมากเดินทางมาไกล จากจุดเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กกรีดยาง จนสามารถผลักดันตัวเองให้เดินสู่ความสำเร็จทีละขั้นของชีวิต แต่ละก้าวของเขาจึงเสมือนเป็นบททดสอบส่วนตัวที่ผ่านการล้มลุกเจ็บตัว จนกลายเป็นบทเรียนที่นำมาแบ่งปันเพื่อถ่ายทอดให้กับคนที่มีฝันและความมุ่งมั่น เพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิมเช่นเดียวกับตัวเขาในอดีต
“ผมเป็นสายนักพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างความสำเร็จ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของ CEO จากเด็กจน ๆ ที่สามารถสร้างธุรกิจหลักพันล้านจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จนสำเร็จได้นั้นก็ผ่านขั้นตอนการปฏิรูปตัวเอง ด้วยการเรียนรู้และพัฒนา Mindset, Skill set, Toolset จากนั้นก็ใช้วิธีเหล่านั้นจนได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงนำวิชาเหล่านี้มาสอนและเขียนหนังสือ นี่จึงเป็นกระบวนการทำความเข้าใจแต่ละศาสตร์ผ่านการลงมือทำ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อความรู้จากสิ่งที่ได้ศึกษามาอย่างลึกซึ้งที่สุด รวมถึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นในภาคปฏิบัติ”
หลังจากการอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 ทั่วโลกเกิด New Normal ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป เงื่อนไขของการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ทำให้เกิด Digital Transformation ครั้งใหญ่และรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมต่างก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงธุรกิจเครือข่ายที่ต้องอาศัยคนจำนวนมากในการขับเคลื่อนเช่น Successmore เมื่อการดำเนินธุรกิจแบบออฟไลน์ถูกจำกัด จึงมีผลกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงกว่า 50% แต่การเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว
ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นก่อนเวลาที่คาดการณ์ไว้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่องค์กรจะได้ปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเก็บรวบรวมดาต้าของลูกค้า ช่วยให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจง รวมถึงตรวจจับช่องโหว่ของกระบวนการซื้อของลูกค้าที่ยังติดขัดอยู่ เพื่อแก้ไขได้ตรงใจยิ่งขึ้นนั่นเอง
“ถือเป็นช่วงเวลาที่เราบ่มเพาะเครื่องมือ ตั้งแต่ระบบแพลตฟอร์มที่เอามาใช้ในการเชื่อมต่อสื่อสารออกไปสู่ตลาด เครื่องมือที่ช่วยคอนเนคต์กลับมาหาแบรนด์เพื่อขอรับบริการ ในขณะเดียวกันอีกเครื่องมือหนึ่งที่สําคัญมากคือเราเป็นธุรกิจที่มีระบบสมาชิก ซึ่งมีฐานสมาชิกหลากหลายทั้งช่วงวัยและพฤติกรรม ในระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่า Business Intelligence จะมีระบบการตรวจจับพฤติกรรมการซื้อซ้ำหรือซื้อต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้นำมา analysis ปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคในการให้คนเข้าถึงแบรนด์”
สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับ 6 ประโยชน์ที่ลูกค้าให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ประกอบด้วย ประสิทธิภาพในการใช้ ความยากง่าย บริการ ความเสี่ยง ความสนุกและภาพลักษณ์ รวมถึงเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีหน้าที่ช่วยหาจุดอ่อนเพื่อปรับปรุงและลดอุปสรรคให้น้อยที่สุด ทำให้ลูกค้าสบายใจในการใช้งานและอยากกลับมาใช้สินค้าและบริการขององค์กรซ้ำอีกครั้ง
แน่นอนว่าสินค้าทุกประเภทที่ผลิตขึ้นมาก็เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะกลุ่มใหญ่หรือเฉพาะกลุ่ม ที่มี Pain Point หรือสิ่งที่จะสร้างประโยชน์ใช้สอยกับตัวเองต่อไป
“คุณค่าที่เรามอบให้ตลาดคือการสร้าง Wellness-Well Being ในการสร้างสุขภาพดีเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดี ซึ่งจะอยู่ในโปรดักต์วิตามินอาหารเสริมของเราที่มีสองระดับคือเชิงป้องกันและเชิงรักษา”
นพกฤษฏิ์ CEO ของแบรนด์เน้นย้ำว่า การผลิตสินค้าของบริษัทจะเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ด้วยความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้ง แล้วจึงพัฒนาสินค้าขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขา จุดแข็งอย่างหนึ่งของ Successmore คือการมีโรงงานผลิตสินค้าของตัวเอง จึงทำให้มีหน่วย Research and Development ภายใน หลังจากนั้นจึงนำมาทดสอบกับสมาชิก เมื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้วจึงปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด
ความท้าทายของธุรกิจในยุคดิจิทัล สำหรับธุรกิจเครือข่ายคือคู่แข่งรายย่อยจำนวนมากที่แก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ไม่ว่าจะแบบที่มีหน้าร้านบนหน้าจอหรืออยู่บนโลกออนไลน์ เหล่านี้คือคู่แข่งที่จะมาช่วงชิงลูกค้าตลาดเดียวกับ Successmore
“เราโฟกัสในการเลือกประกาศเรื่องที่เรามีความโดดเด่น แทนการทำโปรดักต์จำนวนมาก เพื่อทำให้ตลาดรับรู้จุดแข็งในสินค้าของเรา ป้อนข้อมูลเพื่อช่วยในการสนับสนุน แล้วจากนั้นจึงปั้นคนในองค์กรให้เก่ง มีความรู้ความเข้าใจจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ ได้”
สำหรับโมเดลธุรกิจที่ทำให้องค์กรของเขาแตกต่างคือการใช้คนเชื่อมคน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเมื่อคนที่จะเป็นคนสื่อสารต้องเป็นคนมีความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นตัวแทนของแบรนด์ ซึ่งความน่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ สามารถถ่ายทอดได้ดีและบุคลิกภาพที่คนไว้วางใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องบ่มเพาะสกิลจนสามารถส่งต่อข้อมูลออกไปได้อย่างมั่นใจ
“เราต้องสร้างความต่างด้วยการมีแพลตฟอร์มของเราเอง ด้วยการมี KOL ที่เล่นอยู่ในสังเวียนของเราได้ โดยแพลตฟอร์มจะช่วยทํารายได้ให้กับพวกเขา ทั้งยังช่วยคนอื่นได้ นอกจากนี้ยังมี Value เพิ่มให้กับตัวเองภายใต้ชื่อของแบรนด์ SCM ทําให้ช่วยด้านการบริหารและชีวิตของเขา นี่คือ Value Added ที่อยู่ในแบรนด์ของเราครับ”
จากบทสนทนาจะเห็นได้ว่าการบริหาร 'คน' ในองค์กรของนพกฤษฏิ์ ถือเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณบริษัทจำนวนไม่น้อย กว่าที่คนๆ หนึ่งจะปรับเปลี่ยน Mindset และมีสกิลครบมือสำหรับทำงานจริง ซึ่งก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่าเมื่อเขาสร้าง 'คนเก่ง' ขึ้นมาสำเร็จแล้วการเก็บคนเก่ง ๆ ให้อยู่กับองค์กรไปได้นาน ๆ ต้องโน้มน้าวจูงใจพวกเขาอย่างไร ซึ่งเขาก็ได้แสดงภาวะความเป็นผู้นำออกมาเป็นคำตอบที่ทำให้เรากระจ่างว่า เรื่องเงินไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่ทำให้คนทำงานเก่ง ๆ เลือกอยู่กับองค์กรต่อไปหรือไม่
“ที่ผ่านมาผมใช้สองปัจจัยหลักคือการทำให้พวกเขามีศรัทธาในตัวเราอย่างต่อเนื่อง เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ทำให้ทุกครั้งที่คนเก่ง ๆ เข้ามาคุยกับเรากี่รอบก็ยังทึ่งและไม่เบื่อ ผมต้องล้ำหน้าเขาก้าวสองก้าวเสมอ"
“ปัจจัยที่สองคือต้องทำให้เขามีความสุขและสัมผัสความสำเร็จเมื่ออยู่กับเรา ทำให้เขารู้สึกท้าทาย รวมถึงหาความหมายของชีวิตให้เจอ นอกเหนือไปจากเรื่องวัตถุ เมื่อช่วยให้คนอื่นประสบความสำเร็จได้มากพอ เราก็จะได้รับความสำเร็จ”
จากพันธกิจของบริษัทที่กล่าวไว้ว่า ‘Inspiration for your being แรงบันดาลใจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณได้’ จึงทำให้องค์กรขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ Purpose Driven เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้แบรนด์ SCM เป็นธุรกิจเครือข่ายเจ้าแรกของไทยที่สามารถเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จด้วยจุดแข็งและสร้างความแตกต่างในตลาดได้
“คนจะเปลี่ยนชีวิตไปสู่ความยิ่งใหญ่ต้องมี Inspire เราเป็นแบรนด์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทำให้สิ่งที่สังคมรับรู้จากเราคือการทำให้คนเต็มคน ไม่ใช่ให้คนล่าแต่เงินรางวัล เป็นคนที่ยกระดับตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป"
“นอกจากนี้เรายังเป็นแบรนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตั้งแต่นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ นวัตกรรมเชิงระบบ นวัตกรรมเชิงสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาหาสินค้าที่ตอบโจทย์ และสุดท้ายคือนวัตกรรมในเรื่อง People Development เพื่อทำให้คนของเรามีความคิดความอ่านที่ดี เป็นพลังงานที่จะนำมาช่วยสร้างสรรค์ให้กับองค์กรต่อไป"
“เราเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาล ซึ่งบ่งบอกถึงความโปร่งใสและซื่อสัตย์ที่จะส่งต่อพนักงาน ลูกค้า พาร์ตเนอร์ ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงสังคมมาก่อนจะยื่นเอกสาร ซึ่งเมื่อเราถูกตรวจสอบก็ทำให้ผ่านเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์”
นอกจากนี้ปัจจุบัน SCM ได้ขยายไปทำตลาดในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย โดยในปีนี้ได้เปิดตลาดใหม่ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นผลสำเร็จ และแผนต่อไปที่จะบุกคือตลาดประเทศอินโดนีเซียในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในแต่ละประเทศต้องทำการสำรวจ Project Feasibility เฉพาะเจาะจงเพื่อให้เข้าใจความต้องการของคนในแต่ละประเทศซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายก่อนเข้าไปดำเนินธุรกิจ
เมื่อคนคนหนึ่งเดินมาถึงเป้าหมายความสำเร็จที่ตั้งไว้แล้ว ด้วยความที่บริษัทใช้ชื่อ Successmore เราจึงอยากรู้ว่าก้าวต่อไปควรเดินไปต่อที่จุดไหน
“สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ คือเราอาจล้มเหลวจากความสำเร็จของตัวเอง เป็นประโยคที่พวกเราตระหนักเสมอ นั่นก็เพราะเรายึดติดกับสิ่งที่เราทำแล้วได้ผล แต่โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด สองสิ่งสำคัญที่เราคิดและทำอย่างแรกคือ อย่ายึดมั่นถือมั่น จึงต้องเรียนรู้ปรับปรุงเป็นนักเรียนและนักปฏิบัติ และสองคือการมองหาภูเขาลูกต่อไปที่เราต้องไต่ขึ้นไป ซึ่งก็คือการมองหาประเทศใหม่ ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และอินเดีย”
การจะปีนภูเขาลูกใหม่จึงทำให้เขาเตรียมความพร้อมทั้งในมุมมองความคิด ไฟปรารถนาแห่งความฝันและความเชื่อ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงไปต่อ การมองเป้าหมายในระดับส่วนตัวจึงไม่พอ เป้าหมายของแบรนด์นี้ต้องการช่วยเหลือเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน จึงทำให้เขาและทีมยังมี Passion ที่จะขยายวงออกไป
จากการหาข้อมูลทำให้เราเห็นสองคำนี้ปรากฏขึ้นบ่อย ๆ ในสื่อของ SCM ทำให้เราอยากขอคำขยายความในมุมมองของนพกฤษฏิ์ ในฐานะ CEO องค์กร ถึงความเชื่อมโยงกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วในทัศนะของเขาสองคำนี้เป็นอิสระออกจากกัน เพราะความสุขมาจากการบริหารความต้องการของตัวเองได้อย่างลงตัว ให้สมสถานะ ออกห่างจากสิ่งเย้ายวนภายนอก ไม่ติดกับดักจนกลายเป็นการก่อหนี้สิน นั่นจึงทำให้เขาบอกว่าความสุขจึงอาจผูกติดมากับเศรษฐกิจ
“ชีวิตคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว มีคนที่เกี่ยวข้องกับเราและการใช้เงินเพื่อดํารงชีวิต จากความสุขแยกอิสระจากความสําเร็จ แต่ถ้ายังติดขัดเรื่องหนี้ก็ยากที่จะมีความสุข เพราะความเครียดเข้ามาเบียดบัง ทำให้เราต้องสู้ชีวิตด้วยการลดค่าใช้จ่ายหรือหารายได้เพิ่ม จนวันที่เรามีรายได้มากกว่ารายจ่าย นี่แหละคือสิ่งที่เรานิยามว่าเป็นความสําเร็จ”
เราเชื่อว่าในโลกใบนี้มีคนจำนวนมากที่พยายามเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จ แต่คนที่สามารถคว้าความสำเร็จในชีวิตตามดั่งฝันได้จริง ๆ อาจมีเพียงหยิบมือ สุดท้ายนี้ก่อนจากจึงอยากให้ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร CEO ของ SCM ช่วยฉายภาพให้กับผู้ที่ยังเดินไปไม่ถึงจุดหมาย เพื่อช่วยจุดไฟให้พวกเขาอีกครั้ง
“เราทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ ด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน อย่างแรกคือการรู้ความต้องการของตัวเองที่ชัดเจน ความอยากอย่างเดียวไม่ทําให้เราลงมือทํา แต่ถ้ามีความต้องการจริงจะทําให้เรายอมเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เพื่อส่งเสริมให้ไปถึงเป้าหมาย นั่นจึงจะนำไปสู่การรู้เหตุผลว่าทําไมเราจึงต้องบรรลุเป้าหมาย แค่ทำอะไรหรือทำอย่างไรไม่พอ ต้องค้นให้เจอว่าเราทำไปทำไม การรู้ถึงเหตุผลที่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาที่เข้ามาเล็กลง"
“เรียนรู้ ลงมือทํา แล้วก็ยืนหยัดซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง เรียนรู้ ลงมือทํา แล้วก็ยืนหยัดซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง อย่ายอมแพ้ไปก่อน อย่าหยุดสามวงจรนี้ จนถึงวันที่เราเห็นความก้าวหน้า บรรลุเป้าหมายและมีชีวิตดีขึ้น ผมอยากบอกทุกคนว่าไม่มีความล้มเหลวที่แท้จริง มีแต่การยอมแพ้ก่อนเวลาอันควร”