ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย Platinum Fruits อุดช่องโหว่ของธุรกิจการส่งออก ด้วยแนวคิด One Stop Service

ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย Platinum Fruits อุดช่องโหว่ของธุรกิจการส่งออก ด้วยแนวคิด One Stop Service

ณธกฤษ เอี่ยมสกุล แห่ง Platinum Fruits ผู้นำด้านธุรกิจส่งออกผลไม้พรีเมียมที่ต้องการพาพันธมิตรทางธุรกิจโตไปด้วยกันแบบ Growing Together Fruitfully

“การทะลวงข้อจำกัดธุรกิจแบบครอบครัวของผมคือการออกมาสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่ออุดช่องโหว่ด้วยนโยบายแบบ One Stop Service”

Platinum Fruits ถือได้ว่าเป็นองค์กรดาวรุ่งที่เมื่อวัดด้วยตัวเลขการเติบโตก็ต้องยอมรับว่าเป็นบริษัทที่สร้างผลกำไรจนเป็นที่น่าประทับใจ แม้ในช่วงเวลาที่เกิดโควิด-19 วิกฤตครั้งใหญ่ที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกัน แบรนด์ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกกลับยืนหยัดได้อย่างมั่นคงและขยายตัวท่ามกลางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก 

นั่นมาจากการมองการณ์ไกลของ เฟย - ณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ที่ไขนอตห่วงโซ่อุปทานของเส้นทางการส่งผลไม้พรีเมียมสู่ต่างประเทศ จึงทำให้วิกฤตของคนส่วนใหญ่กลายเป็นโอกาสให้ธุรกิจของเขาไม่เพียงทำยอดขายให้กับ Platinum Fruits ก้าวแซงหน้าคู่แข่งในตลาดเดียวกัน แต่ยังพัฒนาคุณภาพสินค้าเคียงคู่กับเกษตรกรไทยซึ่งเป็นพันธมิตรคนสำคัญเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า ด้วยการผลักดันให้ยกระดับผลผลิตลงสนามในตลาดพรีเมียมที่เขาพิสูจน์แล้วว่าเป็นตลาดที่ไม่มีวันตาย 

ภายใต้แนวคิด Growing Together Fruitfully สร้างการมีส่วนร่วมให้กับพาร์ตเนอร์ในเส้นทางการเติบโตนี้ไปพร้อมกับพวกเขา และส่งมอบสินค้าสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานผลไม้พรีเมียม

 

บ่มเพาะการทำธุรกิจจากการหาเงินค่าขนม

จากธุรกิจค้าปลีกผลไม้อบแห้งในครัวเรือนสู่ธุรกิจส่งออกผลไม้พรีเมียมรายใหญ่ Top 5 ของประเทศที่ในปี 2565 สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง Platinum Fruits จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ เฟย - ณธกฤษ ต้องการหาเงินค่าขนมในแต่ละวันให้เพิ่มขึ้น สู่การเรียนรู้การทำธุรกิจเพื่อที่จะยกระดับองค์กรและศักยภาพของตัวเอง 

ความผูกพันที่มีกับผลไม้ไทยทำให้เขาเข้าสู่เส้นทางการค้าขายและเรียนรู้การควบคุมคุณภาพตั้งแต่ยังเด็ก เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากธุรกิจส่งออกผลไม้พรีเมียมของครอบครัว ต่อยอดสู่การสร้างระบบ One Stop Service ของตัวเองที่เป็นการวางมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมการส่งออกผลไม้และพัฒนาเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสินค้าพรีเมียมจากประเทศต่าง ๆ ได้อย่างโดดเด่น

 

“ผมได้รับการสอนมาว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องแลกมาด้วยแรงงานหรือความสามารถ ปกติผมได้ค่าขนมวันละ 20 บาทซึ่งมันไม่พอ เสาร์-อาทิตย์ไม่อยากอยู่บ้านเฉย ๆ ก็เลยขอคุณแม่เข้ามาช่วยติดสติกเกอร์ได้วันละ 50 บาท โยนทุเรียนได้วันละ 100 บาท จนถึงสมัยมัธยมฯ ไต่ไปจนถึงระดับ QC (Quality Control) ผลไม้ ได้เงินวันละ 500 บาท ก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าใช้แรง สุดท้ายมันจะสุดที่ค่าแรงต่อวัน แต่ถ้าใช้ทักษะเฉพาะทางในการทำธุรกิจก็จะมีเงินเดือนที่สูงขึ้น ความแตกต่างของคนก็คือความรู้ความสามารถ”

จากเด็กที่ต้องการหาเงินค่าขนมเพิ่มจากวันละ 20 บาทในวันนั้น เก็บสั่งสมชั่วโมงบินด้วยการใช้เวลากับการทำงานในธุรกิจส่งออกผลไม้ของครอบครัวในชื่อแบรนด์ ‘888’ จนเมื่อถึงวันที่ต้องขยับขยาย เฟย - ณธกฤษ ก็ตัดสินใจที่จะก้าวออกมาปั้นบริษัทของตัวเองเพื่อเติบโตกว่าเดิมในนามของ Platinum Fruits

 

ทะลวงข้อจำกัดธุรกิจครอบครัวด้วยนโยบาย One Stop Service

ธุรกิจส่งออกผลไม้ของครอบครัวกำลังไปได้สวยในตลาดต่างประเทศ แต่เมื่อเติบโตมาถึงจุดหนึ่งแล้ว วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมอาจไม่เหมาะกับการขยายตัวไปยังน่านน้ำใหม่ ๆ ที่ท้าทายและไกลขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสองวิธีที่จะทะลวงข้อจำกัดนี้ในสายตาของ เฟย - ณธกฤษ คือการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่เดิมหรือการก่อตั้งองค์กรของตัวเองเพื่อปั้นวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่รองรับวิธีการทำงานในอนาคต ซึ่งเขาเลือกอย่างหลัง 

“แก้ปัญหาง่ายที่สุดคือผมออกมาสร้างใหม่ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรหลายอย่างเพื่อทะลวงข้อจำกัดของการทำธุรกิจแบบเดิมและอุดช่องโหว่ของห่วงโซ่อุปทาน โดยการทำให้เป็น One Stop Service”   

กว่าที่ผลไม้หนึ่งลูกที่ชาวสวนเพาะปลูกจนได้ออกมาเป็นเกรดพรีเมียมเพื่อส่งออกไปถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศได้ลิ้มลองรสชาตินั้นมี supply chain อีกมากมายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ในสวนที่ต้องมีการทำ R&D (Research & Development) เพื่อบำรุงผลิตผลในแต่ละพื้นที่ตามสภาพภูมิศาสตร์ ต่อด้วยระบบโลจิสติกส์ พิธีสารและข้อกฎหมาย หลายไม้หลายมือที่รับช่วงต่อไปดำเนินการกว่าที่จะไปถึงประเทศปลายทาง 

ซึ่งไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะยังต้องดูแลเรื่องการทำการตลาดเพื่อให้พาร์ตเนอร์ในประเทศที่รับสินค้าไปขายแล้วได้ผลกำไรกลับมาด้วยเช่นกัน กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความท้าทายในเรื่องของเวลาเข้ามากรอบด้วยอีกชั้นหนึ่ง

ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย Platinum Fruits อุดช่องโหว่ของธุรกิจการส่งออก ด้วยแนวคิด One Stop Service

“ผมเป็นแค่เทรดเดอร์และล้ง ต่อให้เรามีผลไม้ที่ดีที่สุด แต่ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา ปลายทางขายไม่เป็น มันก็เกิดปัญหาต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่เราสามารถเข้าไปแก้ได้เพราะเป็นบริษัทของคนอื่น เราจึงสร้างระบบแบบ One Stop Service ทั้งหมดขึ้นมา ยกเว้นในสวนที่เราจะไม่ซื้อสวนปลูกเอง เพราะว่าชาวสวนเป็นพันธมิตรที่ดีกับเรา”

ปี 2010 Platinum Fruits จึงถือกำเกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมเพื่อการแข่งขันในระดับสากล แก้ไขจุดอ่อนระหว่างทางที่เก็บเกี่ยวมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้แข็งแกร่งขึ้น กลายเป็นโมเดลการจัดการที่ใช้ร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาจนถึงปัจจุบัน 

 

Quality make a difference 

การได้พูดคุยในครั้งนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ผลไม้เป็นสินค้าที่มี shelf life สั้นเมื่อเก็บมาแล้วก็นับถอยหลังรอวันเน่าเสีย การควบคุมคุณภาพที่ต้องแข่งขันกับเวลาเพื่อคงความสด อร่อย น่ารับประทาน จึงเป็นหัวใจในการบริหารจัดการ

การคัดผลไม้พรีเมียมสำหรับการส่งออกนั้นไม่เพียงรสชาติอร่อย แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับลักษณะภายนอกด้วยเช่นกัน ทั้งน้ำหนัก เปลือก สีของผล ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคตั้งแต่แรกเห็น ความเชื่อมั่นในคุณภาพจะสร้างการจดจำที่มีต่อแบรนด์ไปตลอด รวมไปถึงความคาดหวังในการกลับมาเลือกซื้อในครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน 

“ตอนนี้หลัก ๆ ผลไม้ที่ Platinum Fruits ส่งออกมีทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าว ตัวที่ยากที่สุดคือทุเรียนที่ต้องทำการขนส่งภายใน 15 วัน ความพรีเมียมของผลไม้เริ่มตั้งแต่ first impression เห็นสินค้าแล้วน่ารับประทาน ทำให้อยากหยิบขึ้นมา เดินไปจ่ายเงินซื้อจนแกะชิมเนื้อข้างใน”

 

ในวิกฤตมีโอกาสสำหรับคนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

ก้าวสู่ปีที่ 14 ที่ Platinum Fruits ได้ก่อตั้งขึ้นมา ความสำเร็จที่เป็นจุดพลิกเกมที่สำคัญของบริษัทคือช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับธุรกิจการค้าขายระหว่างประเทศ แต่สำหรับ เฟย - ณธกฤษ ไม่คิดเช่นนั้น ด้วยการเตรียมการเพื่อรองรับจุดบอดของธุรกิจเดิมของครอบครัว กลับกลายเป็นการสร้างมาตรฐานและระบบที่สามารถนำพาธุรกิจผลไม้พรีเมียมส่งออกเติบโตอย่างก้าวกระโดด สวนทางธุรกิจจำนวนมากในขณะนั้น

ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย Platinum Fruits อุดช่องโหว่ของธุรกิจการส่งออก ด้วยแนวคิด One Stop Service

“ผมเป็นประเภทที่เจอวิกฤตแล้วไม่เคยหนีปัญหา Platinum Fruits ก่อตั้งขึ้นมาเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กร สร้างห่วงโซ่อุปทานด้วยการทำระบบโลจิสติกส์แบบ One Stop Service เป็นผลให้พอเจอวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่ผมเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ตอบโจทย์กับสถานการณ์ ทำให้ช่วงนั้นเราเติบโตขึ้นเร็วมาก” 

ถึงแม้ในช่วงโควิด-19 แต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายปิดประเทศ ประกาศการงดและลดเที่ยวการเดินทางเข้าออก แต่อาหารที่เป็นปัจจัยสี่พื้นฐานสำหรับมนุษย์เป็นสิ่งที่มีอย่างเพียงพอ ในระหว่างนั้นธุรกิจค้าขายระหว่างประเทศที่ปรับตัวได้ไหวตัวทันจึงเป็นช่วงเวลาทองที่จะสร้างยอดขายและถือเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญที่จะทำให้เกิดการวางแผนการจัดการที่ยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับความผันผวนของเหตุการณ์ที่อาจมาในรูปแบบคาดเดาล่วงหน้าได้ และบางทีก็อยู่เหนือความคาดหมาย ซึ่งมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำได้ หนึ่งในนั้นก็คือ Platinum Fruits ที่ควบคุมคุณภาพในการขนส่งได้โดยไร้รอยต่อเพราะเตรียมความพร้อมไว้แล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤต 

“สมัยนั้นประเทศจีนปิดเมืองไปหนึ่งเดือน แต่ประชาชนต้องกิน อดตายไม่ได้ อาหารในประเทศไม่พอ ผมศึกษาข้อกำหนดของประเทศนั้น ๆ เพื่อส่งผลไม้ไปยังจุดมุ่งหมายได้ตามเวลา โดยมี shelf life ของผลไม้เป็นข้อกังวลที่ต้องคำนึงถึง”

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลาทำให้ในช่วงเวลาโควิด-19 Platinum Fruits สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและไม่เจอทางตัน ทำการส่งมอบสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด สร้างความเชื่อมั่นให้กับพาร์ตเนอร์และผู้บริโภค จนทำให้มียอดการสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น และไม่ว่าจะเกิดวิกฤตรูปแบบใหม่เข้ามาก็ไม่กระทบกับการบริหารจัดการ เพราะด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่ เฟย - ณธกฤษ วางระบบไว้ช่วยให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ  

 

ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย

เมื่อผู้บริโภคต้องการมุ่งไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ จึงทำให้ตลาดสินค้าพรีเมียมไม่มีวันตาย เช่นเดียวกันกับผลไม้ส่งออกพรีเมียมที่มีคนทั่วโลกพร้อมรอจับจ่าย โดยเฉพาะอาหารและผลไม้จากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและรสชาติที่คนทั่วโลกติดใจ ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยพัฒนาสินค้าเพื่อแข่งขันในตลาดพรีเมียมซึ่งสร้างผลกำไรต่อกิโลกรัมได้มากกว่าเกรดทั่วไป จึงเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ทั้ง Platinum Fruits และชาวสวนเองต่างก็วินวินด้วยกันทุกฝ่าย 

“หนึ่งกิโลกรัมของเกรด A กับเกรด C ราคาต่างกันมากถึง 30 - 40% ผมจึงอยากสนับสนุนให้ชาวสวนได้กำไรเยอะขึ้น ซึ่งการที่จะทำให้ผลไม้พัฒนาให้ดีขึ้น ผมจึงส่งทีม R&D เข้าไปให้ความรู้เพื่อบำรุงสวนในแต่ละภูมิภาคที่ต้องการปุ๋ยที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ได้สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น Platinum Fruits เองก็ต้องการสินค้าเกรด A มาจัดจำหน่าย เพราะตลาดพรีเมียมเป็นตลาดที่ไม่มีวันตาย”

ถึงแม้ตลาดสินค้าพรีเมียมจะมีความต้องการซื้อสูง คนจำนวนมากที่ต้องการรับประทานผลไม้รสชาติดีพร้อมจ่ายเงินให้กับสินค้าคุณภาพ แต่การผลิตผลไม้ให้ได้ตรงตามมาตรฐานนั้นก็ไม่ง่ายและไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่ เฟย - ณธกฤษ ให้ความใส่ใจคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ได้ต้นและผลที่สมบูรณ์ คุ้มค่ากับการลงทุน

จะบอกว่าประเทศไทยโชคดีที่ตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เหมาะกับการเพาะปลูกก็ไม่ผิดนัก ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการผลิตผลไม้ที่มีรสชาติหวานอร่อยพอเหมาะพอดี จุดแข็งนี้ยิ่งทำให้ผลไม้พรีเมียมของ Platinum Fruits โดดเด่นเหนือคู่แข่ง 

 

กลยุทธ์พา Platinum Fruits ปักหมุดในต่างประเทศ

ผลไม้เป็นสินค้าสำหรับการบริโภค การเลือกเจาะตลาดต่างประเทศที่นำส่งผลิตผลจากประเทศไทยสู่คนต่างประเทศของ เฟย - ณธกฤษ จึงใช้การเล็งเป้าหมายไปในประเทศที่มีจำนวนประชากรจำนวนมากและมีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้าพรีเมียมในประเทศนั้น ๆ 

ตลาดผลไม้พรีเมียมไม่มีวันตาย Platinum Fruits อุดช่องโหว่ของธุรกิจการส่งออก ด้วยแนวคิด One Stop Service

“ระบบเศรษฐกิจทุกอย่างบนโลกนี้เป็นพีระมิดสามเหลี่ยม เราเน้นตลาดบนซึ่งอาจมีแค่ 5 - 10% แต่ถ้า 5% ของประเทศอินโดนีเซียหรือจีนที่มีประชากรหลายร้อยหลายพันล้านคนก็มีจำนวนมากพอ เมื่อคนที่เคยกินของดีมาแล้วเขาจะไม่กลับไปกินของไม่ดี คนข้างล่างพีระมิดก็พยายามกินของที่ดีขึ้น แบรนด์ผู้ส่งออกดี ๆ สามารถอยู่ได้เป็น 10 - 20 ปี เพราะเกิด return customer คนยอมจ่ายเงินเยอะขึ้นเพราะไม่ต้องลุ้นทุกครั้งที่ซื้อผลไม้”

ยิ่งเศรษฐกิจในปัจจุบันที่รายจ่ายรุมเข้ามา รายรับดูจะร่วงลงเรื่อย ๆ กว่าที่ผู้บริโภคจะควักกระเป๋าจับจ่ายแต่ละครั้งจึงต้องมั่นใจได้ว่าจะคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แนวทางของ Platinum Fruits คือการยึดในคุณภาพมาก่อนเสมอ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ ถ้าไม่พรีเมียมตามกำหนดก็ไม่ยอมปล่อยสินค้าออกมาสู่ตลาด

 

มองให้ขาดแล้วก้าวก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ การตั้งรับด้วยแผนการที่เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าข้ามปีจึงทำให้แม้จะเกิดวิกฤตอีกกี่ครั้ง ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ก่อนย่อมคว้าความสำเร็จ เช่นเดียวกันกับ Platinum Fruits ที่คำนึงถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนหนักขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวสวนซึ่งเป็นต้นทางผลไม้พรีเมียมที่เป็นสินค้าพระเอกของธุรกิจ 

“ผมทดลองเก็บเกี่ยวและสั่งสมประสบการณ์ เก็บข้อมูลเพื่อบริหารจัดการให้ผลไม้ที่ไปถึงมือผู้บริโภคตรงกับความต้องการของลูกค้า เข้าใจเทรนด์ผู้บริโภคปลายทาง ปรับตัวไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า ด้วยการติดตามและคาดการณ์ วางแผนกับชาวสวนไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับปัญหาระหว่างการขนส่ง”

 

เก็บรายละเอียดทุกความพึงพอใจของผู้บริโภค

รสนิยมการกินผลไม้ของแต่ละประเทศแตกต่างและมีความเฉพาะตัว ถ้ายกตัวอย่างประเทศจีนเพียงประเทศเดียว แต่ละมณฑลก็มีความชอบไม่เหมือนกัน การศึกษาและเข้าใจดีเทลของคนในท้องถิ่นจึงเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ช่วยให้แบรนด์ Platinum Fruits เจาะตลาดได้ทั้งในโซนเอเชียและยุโรป 

“ทุเรียนจะเห็นภาพชัดเลยอย่างเช่นภาคใต้ของจีนเขาจะชอบกินทุเรียนที่หนามเขียวแต่ข้างในเนื้อต้องนิ่ม ส่วนภาคเหนือผิวต้องเหลือง เนื้อสุกเละ ๆ หน่อยแบบ over life”

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญของ เฟย - ณธกฤษ คือสินค้าที่ส่งออกไปจากประเทศไทย จะไม่กำหนดจุดหมายปลายทางตามความเหมาะสมระหว่างการขนส่ง เพื่อให้การกระจายสินค้ามีความยืดหยุ่นและตรงตามความนิยมของประเทศปลายทางมากที่สุด

“สินค้าไม่ได้ถูกกำหนดจากต้นทางว่าจะไปขายที่ไหนต่อ วิธีการจัดการของ Platinum Fruits คือการกำหนดปลายทางสินค้าระหว่างทาง ด้วยการเปิดตู้เช็กสินค้าเพื่อดูความเหมาะสมกับพื้นที่ ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อเป็นการลดการ defect ติดตามอุณหภูมิในระหว่างขนส่งบนตู้คอนเทนเนอร์” 

โดยเมื่อสินค้าไปถึงจุดหมายปลายทางแล้วยังมีมือที่มารับไม้ต่ออีกหลายทอด เพื่อกระจายให้ถึงมือผู้บริโภค ประกอบด้วยผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก และการจัดจำหน่ายที่ต้องมีการทำการตลาดเฉพาะพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

 

Growing Together Fruitfully โตไปด้วยกัน

สิ่งที่ เฟย - ณธกฤษ ได้เรียนรู้ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาคือการปรับตัวไปตามสถานการณ์ อีกทั้งค้นพบว่าปัจจัยการส่งออกผลไม้นอกจากเรื่องการควบคุมคุณภาพยังต้องเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ค่าเงิน หรือแม้กระทั่งกำไรที่คู่ค้าในต่างประเทศจะได้รับก็มีผลกับยอดขายที่จะกลับมาถึง Platinum Fruits เช่นกัน นอกจากนี้เขาก็ยังไม่หยุดการออกไปปักหมุดหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อการเติบโตและเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจในอนาคต

“ผมเจาะตลาดอินเดียด้วยการส่งออกลำไยพรีเมียม ที่มีความต้องการอย่างมากในช่วงฤดูกาลแต่งงานของเขา ซึ่งเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ การเรียนรู้วัฒนธรรมก็มีส่วนสำคัญ ทำให้ในปีที่ผ่านมาแบรนด์ Platinum Fruits ส่งออกลำไยพรีเมียมมากที่สุดในประเทศ

“ผมดำเนินนโยบายด้วยสโลแกน Growing Together Fruitfully คือการโตไปด้วยกันเป็นแผง โตทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน สินค้าส่งออกของเราคือผลไม้ ดังนั้นพาร์ตเนอร์ที่ดีของเราคือชาวสวน เราช่วยทำ R&D เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ส่งไปสู่มือผู้บริโภคทั่วโลกจดจำผลไม้พรีเมียมจากประเทศไทยภายใต้แบรนด์ Platinum Fruits” 

แอบกระซิบชาวสวนทุเรียนไทยว่าเทรนด์ในอนาคตสำหรับทุเรียน มีแนวโน้มความต้องการที่จะซื้อผลขนาด 3 - 4 กิโลกรัมเพิ่มมากขึ้น เพราะได้เนื้อทุเรียนที่คุ้มค่ามากที่สุดสำหรับผู้บริโภค และสะดวกกับการแพ็กสินค้าเพื่อกระจายการขนส่งต่อไปนั่นเอง