05 มี.ค. 2562 | 14:00 น.
“มาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์” อาจจะเป็นอาชีพที่ไม่ได้มีคนรู้จักมากนัก แต่ชายที่ชื่อ สราวุธ พรพิทักษ์สุข หรือ “วูดดี้” ก็อาศัยความรู้ที่เขามีจากสายอาชีพที่ว่านี้ สร้างชื่อและเกียรติยศให้กับตัวเองรวมถึงประเทศชาติได้ ด้วยการคว้ารางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรีโลกอย่างแกรมมี อวอร์ดส เมื่อปี 1999 ซึ่งปัจจุบันเขาก็ยังคงเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่เคยได้รับรางวัลนี้ สำหรับ วูดดี้ ดนตรีคือทั้งชีวิตของเขา ชายคนนี้ย้ายจากบ้านเกิดไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ หลายปี ก่อนที่เขาจะค้นพบความหลงใหลในดนตรีและเริ่มเรียนรู้กระบวนการทำเพลงรวมถึงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และจากความชอบในครั้งนี้มันก็ได้พาเขาไปสู่โอกาสครั้งสำคัญ กับการได้ไปทำงานที่บริษัทมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของวงการเพลงอย่างค่ายโซนี มิวสิค วูดดี้ ทำงานอยู่ในโซนี มิวสิค ยาวนานเป็นสิบปี ก่อนไฮไลท์ในชีวิตจะเกิดขึ้นในปี 1999 หลังเขาเและเพื่อนร่วมงานได้ผนึกกำลังร่วมกับยอดมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ อย่าง มาร์ค ไวล์เดอร์ ขุดเพลงเก่านับร้อย ๆ เพลงของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ยอดนักทรัมเป็ตแจ๊สระดับตำนาน ออกมาทำรีมาสเตอริ่งใหม่ ซึ่งสุดท้ายผลงานชุดนี้ก็สามารถคว้ารางวัลแกรมมี อวอร์ดส ได้สำเร็จในสาขาเพลงประวัติศาสตร์ยอดเยี่ยม เพลงที่เราฟังกันอยู่ทุกวันนี้ จะออกมาสมบูรณ์ไม่ได้เลยถ้าหากขาดการทำมาสเตอริ่งและเช็คครั้งสุดท้ายจากมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ เสียก่อน เรียกได้ว่านี่คือหน้าที่สำคัญและเป็นหน้าที่สุดท้ายก่อนที่เพลงจะออกสู่ท้องตลาด ในหนึ่งปีผลงานเพลงคุณภาพหลายร้อยเพลงจะต้องผ่านหูชายคนนี้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพลงฮิปฮอปของ Thaitanium ดนตรีร็อกหนัก ๆ ของ Silly Fools หรือจะเป็นดนตรีโซลรุ่นใหม่ของ The Parkinson รวมไปถึงรุ่นใหญ่ของวงการอย่าง แอ๊ด คาราบาว หรือ ปู-พงษ์สิทธิ์ ทั้งหมดนี้ก็ผ่านการเช็คคุณภาพจาก วูดดี้ แล้วทั้งนั้น วันนี้เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับเขาถึงจุดเริ่มต้น จุดเปลี่ยนในชีวิต รวมถึงมุมมองของเขาที่มีต่อวงการเพลงไทย และโอกาสที่ศิลปินไทยจะคว้าแกรมมี ตัวที่สองมีมากขนาดไหน The People : จุดเริ่มต้นของความรักในเสียงเพลงของ วูดดี้-สราวุธ พรพิทักษ์สุข สราวุธ : ถ้านับตั้งแต่ชีวิตวัยรุ่นเลยก็ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ฟังเพลงหลายๆ ประเภท ส่วนใหญ่ตอนเด็ก ๆ ก็เหมือนกับเด็กทั่วไปชอบฟังเพลงป๊อป แต่ว่าพอโตมาแล้วย้ายไปอยู่อเมริกา ที่โน่นค่อนข้างมีความเปิดมากกว่า ดนตรีก็มีให้เลือกฟังเยอะมาก แล้วเวลาไปร้านเครื่องเสียงหรือขายซีดีขายแผ่นเสียงอย่าง Tower Records ก็จะมีทางเลือกให้เราเยอะมาก คือผมสามารถใช้เวลาอยู่ในนั้นได้ทั้งวันไม่มีเบื่อเลย ทั้งหมดมันเริ่มมาจากการชอบฟังเพลงก่อน พอนานไปก็เริ่มชอบในเรื่องของเครื่องเสียง สักพักหนึ่งก็เริ่มสงสัยว่ากระบวนการทำเพลงเขาทำกันยังไง คนในห้องอัดเขาทำอะไรกันบ้าง ความรู้ที่เขาจะต้องมีคืออะไรบ้าง ผมเลยเริ่มจากการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ที่มีความรู้ มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนเปิดหนังสือแมกกาซีนดนตรี แล้วไปเจอโฆษณาสอนคอร์ส ออดิโอ เอ็นจิเนียร์ (audio engineer) ผมสนใจในทันที หลังจากนั้นผมก็ใช้เวลาอยู่พักใหญ่เพื่อจะไปเรียนให้ได้และสุดท้ายก็ได้เรียนสมใจ ซึ่งพอใกล้จะจบก็มีอาจารย์มาถามว่า สนใจไปฝึกงานที่ค่ายเพลงไหม เพราะตอนนั้นเราเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในคลาสที่ทำคะแนนได้ดี แล้วอาจารย์แกก็สนิทกับ สตูดิโอ แมเนเจอร์ (studio manager) ที่โซนี มิวสิค ตอนนั้นชีวิตผมไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าห้องอัดมาก่อนเลย แต่มันก็เป็นโอกาสที่ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ เพราะมันคือโอกาสที่ยากมากสำหรับคนคนหนึ่งที่จะได้รับ The People : เริ่มต้นจากการเป็นเด็กฝึกงานในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลก สราวุธ : ตอนนั้นหน้าที่หลักคือช่วย session ต่าง ๆ ในห้องอัด เรียกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ เรามีหน้าที่เป็นลูกมือของ 2nd หรือ 3nd assistant อีกทีหนึ่ง ต้องคอยดูแลอุปกรณ์ต่าง ๆ สายไมค์, ตัวไมโครโฟน คือดูแลและเช็คอุปกรณ์ทุกอย่าง บางทีก็โดนฝากซื้อกาแฟสตาร์บัคส์หรือไปรับข้าวมาแจกบ้าง แต่ในตอนนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องอัดมันมีเยอะมากจะได้ทำทั้งหมดคงไม่ได้ เลยต้องโดนสลับหน้าที่กัน พอเรา internship ได้สี่เดือน ก็มีเพื่อนที่รู้จักกันชวนไปทำงานอีกที่หนึ่ง เป็นบริษัท post-production ซึ่งเขาสนใจอยากชวนผมไปทำงานด้วย ตอนนั้นผมก็เลยคิดว่าไหน ๆ เราก็อยู่มานานและดูทรงก็ไม่มีท่าทีจะมีตำแหน่งไหนว่างและมันก็ยากมาก ตอนนั้นคิดว่าอย่างน้อยก็ได้เรียนรู้ได้ประสบการณ์ สุดท้ายเลยตัดสินใจไปบอกสตูดิโอ แมเนเจอร์ ว่าเราจะไปทำที่อื่นแล้ว ซึ่งเขาก็รู้สึกเสียดายเรา เลยบอกให้เรา hold งานตรงนั้นไว้ก่อน ขอเขาตัดสินใจสองวัน สองวันผ่านไปสตูดิโอ แมเนเจอร์ กลับมาบอกเราว่า ตอนนี้ไม่มีตำแหน่งเอนจิเนียร์เลย แต่มีตำแหน่ง management ว่าง เราพอจะทำไปก่อนได้ไหมถ้ามีตำแหน่งว่างผมให้คุณมาก่อนเลย ซึ่งเราก็ตกปากรับคำไป ตำแหน่งตอนนั้นคือเป็นผู้ช่วยของ production coordinator อีกที เรียกได้ว่าหน้าที่หลักคือการแจกงานให้กับเอนจิเนียร์และงาน rotate ตลอด 24 ชั่วโมงได้ ทุกอย่างจะถูกยัดมาที่เราคนเดียว ผมต้องคำนวณเวลาบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ เช่นต้องส่งงานของ โคลัมเบีย เรคคอร์ดส, เอพพิค หรือ เลกาซี ไปปั๊มที่โรงงานไหนของโซนี, เฟดเอ็กซ์ มากี่โมง ผมทำทั้งหมดนี้กว่าสองปี The People : แล้วหาเวลาเรียนรู้งานเอนจิเนียร์ตอนไหน สราวุธ : ตอนนั้นผมต้องทำงาน 9.30- 17.30 ซึ่งหลังจากห้าโมงผมก็หมดหน้าที่แล้ว ผมอาศัยเวลาตอนนั้นเข้าไปขอเพื่อนนั่งในห้องอัด เข้าไปเรียนรู้ว่าเขาทำอะไรบ้าง ก็ทำแบบนั้นอยู่สักพักหนึ่ง ตอนนั้นแผนกมาสเตอริ่ง ที่โซนี มิวสิค ทำผลงานรีมาสเตอริ่งเพลงแจ๊สเยอะมาก ก็จะมีโปรดิวเซอร์เก่ง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ เดินเข้าห้องนี้ก็เป็นแจ๊ส อีกห้องเป็นร็อก อีกห้องเป็นกอสเปล บวกกับมีงาน side project ของเพื่อนที่เป็นเอนจิเนียร์ชวนให้เราไปเป็นผู้ช่วยบ่อย ๆ ก็เลยได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ บางวันวินสตัน มาร์ซาลิส ก็โทรมาให้ไปอัดโปรเจ็กต์ส่วนตัวของเขา แบบ "เฮ้ย เดี๋ยวตีหนึ่งเจอกันที่ลินคอล์น เซ็นเตอร์" The People : โอกาสในตำแหน่ง มาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ มาตอนไหน สราวุธ : อยู่ดี ๆ ที่โซนีก็มีตำแหน่งพวกมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ ว่างพอดี แต่ตอนแรกเราอยากทำงานห้องอัดมากกว่า แต่เราก็เหมือนถูกดันเข้าไปบวกกับตำแหน่งที่เราอยากทำมันยากมากที่จะว่าง แต่พอเราทำมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ ไปสักพักหนึ่ง ก็เริ่มรู้ตัวว่า หนึ่ง.เราเป็นคนที่ชอบฟังเพลง สอง.เราชอบเครื่องเสียง สาม.เวลาอยู่ในโปรดักชั่นการทำเพลงมันใช้เวลาอยู่กับเพลงนั้นนานมาก บางทีมันอาจจะไม่เข้ากับบุคลิกของเรา พอได้มาทำฝ่าย post-production ก็เริ่มมีความรู้สึกว่าเราชอบทางนี้มากกว่า FYI : การทำมาสเตอริ่ง คือ การเช็ครายละเอียดและปรับแต่งเพลงให้ออกมามีคุณภาพและสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยจะเน้นทั้งเรื่องของความดังเบา บาลานซ์ของเพลงที่ต้องถูกต้อง ตามความต้องการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เพลงจะถูกปล่อยออกไป รวมถึงการปรับโทนในขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยยกระดับให้เพลงดีขึ้นกว่าเดิม The People : ได้เรียนรู้กับยอดฝีมือตั้งแต่ย้ายแผนก สราวุธ : พอได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยเอนจิเนียร์ก็ได้เรียนรู้กับมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ สิบห้าคนได้ บางวันก็มักจะมีงานด่วนให้เราเข้าไปช่วยเสมอ เราเลยได้เรียนรู้และสนิทกับมาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ แต่ละคน ได้รู้ความถนัดและสไตล์ที่ต่างกันของแต่ละคน แต่ละห้อง สุดท้ายเหมือนเราได้เป็นผู้ช่วยของทุกคน ได้เรียนรู้ทุกอย่าง จนกระทั่งเราเองมีประสบการณ์และเข้าใจมากขึ้น จนกลายเป็นความรู้ทั้งหมดมันสร้างให้เป็นตัวเราเอง The People : อะไรคือการทำมาสเตอริ่ง สราวุธ : มาสเตอริ่งคือการ fine tune อีกครั้ง ก่อนที่มันจะเป็นซีดีหรือก่อนที่มันจะถูกนำไปใช้กับมิวสิควิดีโอหรือในสมัยนี้ก็เป็นยูทูบ ผมมีหน้าที่ปรับโทน ปรับความดัง ซึ่งมันสำคัญมากในยุคนี้ ถ้าทำความดังผิดก็จะถูกระบบกด คุณภาพก็อาจจะเสียได้ ถ้าทำไม่ถูกต้องเพลงก็อาจจะเบากว่าของชาวบ้านเขา และถ้าถามว่าทำไมต้องปรับโทน ทำไมไม่แก้ตอนที่มิกซ์ดาวน์ (ขั้นตอนการผสมเสียง) คำตอบคือปรับโทนในกระบวนการมาสเตอริ่งจะใช้เครื่องมือที่ละเอียดกว่าและปรับภาพรวมทั้งหมดที่ทำให้ซาวด์ที่ผ่านการมิกซ์มานั้นคุณภาพดีกว่าเดิม ชัดเจนกว่าเดิม The People : มันไม่ใช่แค่การเร่งเสียงให้ดังขึ้น สราวุธ : หลายคนชอบพูดว่า มันก็แค่ทำให้เสียงดังขึ้น มันทำให้ดังขึ้นก็จริงแต่ว่าการที่เราดันให้ดังเฉย ๆ ไม่ได้หมายถึงว่าดันไปแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สมมติว่าเราเปิดความดังไปที่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์กับเราเปิดมาที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ โทนทุกอย่าง ซาวด์ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมดเลย มันจะไม่เหมือนเดิม การทำมาสเตอริ่งคือการควบคุมไดนามิกของดนตรีให้แม่นยำมากขึ้น The People : จุดเริ่มต้นที่ทำให้กลายเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แกรมมี อวอร์ดส สราวุธ : ผมได้มีโอการทำอัลบั้มรีมาสเตอริ่ง “The Complete Hot Five and Hot Seven Recording” ผลงานรวมเพลงฮิตของหลุยส์ อาร์มสตรอง ตั้งแต่ปี 1925-1927 กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาหนึ่งปี เริ่มต้นตั้งแต่โปรดิวเซอร์หามาสเตอร์เทปเก่า ๆ ตอนนั้นมาสเตอร์เทปก็จะเป็นแผ่นแลคเกอร์เป็นแผ่นครั่ง แล้วก็ต้องเอามา transfer ข้อมูลเป็นดิจิทัล มันไม่ง่ายเลยที่เราจะสามารถหาเพลงของหลุยส์ อาร์มสตรองมาได้เป็นร้อย ๆ เพลง กระบวนการก็จะยุ่งยากมาก ตอนนั้นผมกับเพื่อนมีหน้าที่ transfer และ clean up เสียงรบกวนต่าง ๆ ฟังไปเช็กไป ไม่ดีก็ต้องนั่งทำใหม่ เพื่อนผมอีกคนจะเก่งเรื่องการ transfer พวกแผ่น วิธีการทำความสะอาด วิธีการเลือกใช้เครื่องหรือหัวเข็ม ก่อนจะส่งต่อไปทำมาสเตอริ่ง และกลับมา clean up อีกที เรียกได้ว่าตอนนั้นเป็น Mr.Clean เลย ลองนึกภาพเราได้ยินเสียงฝนตกหนัก ๆ จนกระทั่งเราเอาเสียงฝนทั้งหมดออก [caption id="attachment_4228" align="aligncenter" width="546"] @Saravuth Pornpitaksuk[/caption] ผมกับเพื่อนนั่งทำร้อยเพลง ทำทุกวัน วันละสิบสองสิบสี่ชั่วโมงไม่มีวันหยุดเลยประมาณหกเดือน จนวันสุดท้ายผมมีเทปยูเมติค (U-Matic) แปดม้วนทั้งมาสเตอร์และเชฟตี้ ยื่นให้โปรดิวเซอร์แล้วบอกว่า “I’m done” แล้วก็ไปเข้า ER โรงพยาบาลเลย ปรากฏว่าต้องแอดมิทหนึ่งคืน The People : ตอนนั้นคิดมาก่อนหรือเปล่าว่าจะได้แกรมมี สราวุธ : ผมไม่ได้สนใจตรงนั้นเลย เราแค่มีหน้าที่และเป็นส่วนหนึ่งของทีม คิดแค่ว่าต้องทำโปรเจ็กต์นั้น แต่เสียดายปีถัดไปผมไม่ได้ทำโปรเจ็กต์ บิลลี ฮอลิเดย์ ซึ่งผมอยากทำมาก และสุดท้ายอัลบั้มนั้นก็ได้แกรมมีด้วย โถ่...ไม่งั้นผมก็ได้แกรมมีอีกตัวแล้ว The People : ทำไมต้องรีมาสเตอริ่งของเก่า สราวุธ : ของเก่าก็ดีอยู่แล้ว แต่ว่าการรีมาสเตอร์คือการอัพเดต บางทีความดังเบาของเพลงต้องเข้ายุคเข้าสมัย แล้วก็ต้องเช็ครายละเอียดให้ดี อย่างเพลงเก่า ๆ เมื่อนำกลับมายุคสตรีมมิ่งแบบทุกวันนี้ หรือแค่เอาลงยูทูบอย่างเดียว คุณภาพมันก็ไม่ถึง บางทีอัลบั้มเก่า ๆ มี noise (เสียงรบกวนต่าง ๆ) บางทีมีเสียงแตก เวลาเรานำมาทำรีมาสเตอร์ใหม่ เราสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ ทุกวันนี้คนอเมริกันก็ยังมองถึงยอดขายซีดีที่ขายในอเมริกา มันยังขายได้และทำได้อยู่เรื่อย ๆ อย่างอัลบั้มของไมลส์ เดวิส ผมทำวนไปอยู่ตลอดเวลา The People : มีแววจะประสบความสำเร็จที่สหรัฐฯ แต่ทำไมถึงเลือกกลับมาอยู่ไทย สราวุธ : ตอนปี 2006 ผมย้ายกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นเป็นยุคที่อเมริกากำลังจะดิ่งลง music business ดิ่งลงเรื่อย ๆ ซึ่งมันเริ่มมาตั้งแต่ปี 2004-2005 ด้วยซ้ำ บริษัทเริ่มปลดคนออก ทุกอย่างมันเริ่มไปในทิศทางแย่อย่างเดียว เพื่อนค่อย ๆ หายไปทีละคนทีละคน นั่นขนาดนิวยอร์กที่ว่าแข็งแรงสุด ๆ แล้วยังแย่ขนาดนั้นเลย ก่อนปี 2006 ผมเลยตัดสินใจจะกลับเมืองไทย ซึ่งจริง ๆ ผมก็อยากจะกลับมาตั้งนานแล้ว อยู่กับโซนีมาก็สิบปี อยู่อเมริกายี่สิบปี มันเลยมีความรู้สึกที่ว่าถึงจุดแล้วนะ บางทีเราควรจะกลับมาลองทำอะไรที่เมืองไทยดู ตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ปรากฏว่ากลับมาอยู่ไทยได้สองปี โซนี สตูดิโอ ประกาศปิด The People : ตอนที่กลับมาใหม่ ๆ มีปัญหาในการปรับตัวหรือไม่ เพราะงานมีมาตรฐานที่ต่างกัน สราวุธ : ตอนแรกไม่รู้ เราคิดแค่ว่าความรู้ทุกคนเท่ากันอยู่แล้ว ส่วนเราก็แค่โชคดีที่ทำงานในอเมริกามานาน ไม่ได้คิดว่าตัวเองเคยได้แกรมมีด้วยซ้ำ ผมเป็นห่วงเรื่องความรู้ของตัวเองมากที่สุด การที่เรากลับมาอยู่เมืองไทยโดยที่เราไม่รู้อะไรเลยแล้วต้องเริ่มที่ศูนย์มันยากมาก แต่โชคดีที่ได้เจอหลาย ๆ คน จากหนึ่งมันก็กลายเป็นสอง จนกระทั่งก็รู้จักกันหมด The People : ศิลปินไทยคนแรกที่ใช้บริการ วูดดี้ สราวุธ สราวุธ : Thaitanium นี่เป็นวงแรกเลย ซึ่งก็ทำให้เขามาตั้งแต่ตอนที่อยู่อเมริกาแล้ว ตอนนั้นรู้สึกจะปี 2001-2002 ผมทำทั้งมิกซิ่งและมาสเตอริ่งอัลบั้ม Thai Riders ยุคนั้นสนุกครับ เราทำอะไรก็ได้ แต่โจทย์ยากและต้องทำออกมาให้ได้ด้วย มันไม่ง่ายเลย ตอนนั้นเราไม่มีอุปกรณ์เยอะไม่มีห้องใหญ่ ๆ งานก็จะยากและซับซ้อนมากกว่าเดิม แต่บังเอิญว่าตอนนั้นทำกับโซนีอยู่ก็เลยช่วยได้หน่อย The People : สิ่งที่ยังทำให้คนไทยห่างชั้นจากสากล (ด้านคุณภาพเสียง, ความสามารถ) สราวุธ : จริง ๆ ภาพรวมนับตั้งแต่วันที่ผมกลับมาเมืองไทยจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ผมว่าเอนจิเนียร์ไทยพัฒนาขึ้นไปในทิศทางที่ดีเยอะมาก เด็กรุ่นใหม่ ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้เรียนรู้อะไรง่ายขึ้นมาก แต่ก็ยังติดปัญหาอยู่บ้างเล็กน้อยในเรื่องภาษา บางทีคำอธิบายของเอนจิเนียร์ฝรั่งซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หรือตีความผิดก็มี แต่ว่าถ้าพูดถึงโอกาสในการเรียนรู้กับเทคโนโลยีในวงการ music production มันง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก มันก็มีทั้งดีไม่ดีปน ๆ กันไป ทุกวันนี้ผมก็สังเกตจากงาน broadcast ต่าง ๆ อย่างยูทูบหรือสตรีมมิ่ง ผมมองว่าทุกประเทศมีความเป็น unique กันหมด เกาหลีมีเคป๊อปเขาก็มีซาวด์ในแบบของเขา แต่ไทยป๊อปเราก็มี บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ บางคนก็ติดโทนหรือความชอบที่มันเป็นตะวันตกมากกว่า เราต้องยอมรับว่าเราได้รับอิทธิพลจากทั้งยุโรปหรือชาติตะวันตกมาเป็นซาวด์ที่เราคุ้นเคยกันมา ทุกวันนี้ก็เลยมีปะปน ทั้งไทยซาวด์และซาวด์แบบสากล ในอีกแง่มุมหนึ่งก็อยู่ที่คนลงทุนหรือค่ายเพลง เขาต้องการความ safety และการันตีว่าเขาลงทุนไปแล้ว และต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นด้วย มันอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างที่สำหรับคนทำเพลงจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ต้องยอมรับและเข้าใจว่า ก็เขาเป็นคนลงทุน The People : ในมุมหนึ่งเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนธรรมชาติของความเป็นไทยให้มันสากลได้หรือเปล่า สราวุธ : เมื่อก่อนผมเคยลองทำกับเพื่อน เอาเพลงลูกทุ่งมาทำเป็น HI-FI ปรากฏว่าไม่เวิร์กเลย แถมยากอีกด้วย เราทำได้แค่แก้อะไรนิดหน่อยให้ดีขึ้น แต่ต้องอยู่ในพื้นฐานที่ยังเป็นอะไรเดิม ๆ ถ้าสวยงามไปดีไปมันก็ไม่ใช่ มันเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเพลงไทย มันเป็นเรื่องของซาวด์ไอเดีย ที่ถ้าไม่เตะหูคนก็จบเลย ยิ่งในยุคสมัยนี้ที่เราปัดหน้าจอไปเรื่อย ๆ แบบนี้ The People : ในฐานะที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมเพลงของสหรัฐฯ จะมีวันที่ศิลปินไทยได้แกรมมีอีกสักครั้งไหม สราวุธ : ผมมองว่าข้อหนึ่ง music production อาจจะไม่จำเป็นที่ต้องทำในอเมริกา แต่ต้อง first releases ในอเมริกา ถ้ามันถูกปล่อยในอเมริกา วางขายในอเมริกา ทุกอย่างถูกต้องตาม time frame ในปีนั้น และมีค่ายเพลงช่วย มีคนผลักดันเอาชื่อเข้า ทุกอย่างก็อาจเป็นไปได้ The People : หลายคนไม่ค่อยสนใจเรื่องคุณภาพเสียงเท่าไหร่ และมักจะฟังเพลงที่มีคุณภาพต่ำ คุณมีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร สราวุธ : เขาอาจจะไม่ได้มองว่ามันคุณภาพต่ำ เขาอาจจะแค่มองถึงความสะดวกและง่าย อาจจะไม่คิดถึงความจำเป็น ผมว่าคนไทยฟังเพลงเยอะมากทุกระดับ ไม่ว่าเขาจะทำงานอะไรอาชีพอะไรก็ตาม ทุกคนฟังเพลง ซึ่งไม่เหมือนกับคนอเมริกัน ที่ไม่ใช่ทุกคนจะฟังเพลง แล้วก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถือและสามารถสตรีมมิ่งผ่านแอปฯ ได้ ซึ่งต่างกับเราที่จะมีบริการตรงส่วนนี้มากกว่า และคนอเมริกันกว่าครึ่งอาจจะไม่ค่อยโฟกัสกับดนตรีมากเท่าไหร่ มีบ้าง และก็มีคนที่ไม่ชอบฟังเพลงเลย The People : หลายคนยอมลงทุนกับการเห็นภาพชัดในหนังมากกว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพเสียงที่ดี สราวุธ : แน่นอนการมองเห็นมันเป็นอะไรที่จับต้องได้ง่ายกว่า touch กว่า แต่ผมมองว่าคนสมัยนี้รู้นะว่าอันไหนดีอันไหนไม่ดี บางทีผมก็สังเกตจากคอมเมนต์เอาว่าแต่ละคนมีความเห็นอย่างไร เขาฟังแล้วเขาคิดอย่างไร บางทีก็จะเห็นว่าหลายคนเข้าใจและแยกออกระหว่างดีกับไม่ดี แต่แปลกนะบางวันผมก็ชอบนั่งเปิดเพลงจากไอแพดเข้าลำโพงบลูทูธธรรมดา บางอารมณ์แค่นั้นก็เพราะได้