17 ก.พ. 2566 | 18:30 น.
- จุดเริ่มต้นของการสร้างภาพยนตร์ขุนพันธ์ที่คราวแรกก้องเกียรติ โขมศิริ ‘เกือบ’ ไม่ได้ทำ
- รู้หรือไม่ว่ากองถ่ายของขุนพันธ์ต้องมี ‘ผู้กำกับคาถาอาคม’ กับฉากที่สามารถทำให้พระเครื่องราคาขึ้นได้
- 100 ปีผ่านไป ภาพยนตร์ขุนพันธ์ยังเสมือนเป็นกระจกสะท้อนปัญหาในสังคมไทยได้อย่างไม่ขุ่นมัวไป
- ส่งท้ายด้วย ‘ขันพันธ์ 3’ เพราะไม่มีอะไรจีรังตลอดไป
“ผมก็คุยเล่น ๆ บอกว่าเฮ้ย ถ้า Ironman มันบินมา น่านฟ้านี้กูมีขุนพันธ์อยู่นะ”
ถ้าจะกล่าวถึงภาพยนตร์ฮีโร่ ๆ ดูเอามันส์ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นสองค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง Marvel และ DC แต่หากย้อนมาดูฮีโร่แบบไทย ๆ บ้าง ถ้าจะรุ่นคลาสสิคหน่อยก็ต้อง ‘อินทรีแดง’ แต่สำหรับสมัยนี้ ไม่ผิดเลยถ้าจะยกตำแหน่งดังกล่าวให้กับ ‘ขุนพันธ์’
“อินเดียก็ยังมีซูเปอร์ฮีโร่เขาเลย เรารู้สึกว่าเฮ้ย เราก็มี เพียงแต่ว่าขุนพันธ์มันอาจจะไม่ได้แฟนตาซี มันอาจจะก้ำกึ่งระหว่างเรียลลิสติกกับแฟนตาซี มันผสม ๆ กันในเรื่องนี้ แล้วก็เรายังมีไสยศาสตร์เป็นตัวกิมมิค เป็นอาวุธ มันเหมือนพลังพิเศษอะไรอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้น ก็โอเค ขุนพันธ์เราก็มีไสยศาสตร์ มีคาถาอาคม ซึ่งเราก็เอามาใช้ เราก็ดีไซน์ให้มันร่วมสมัย”
และในตอนนี้ ‘ขุนพันธ์ 3’ ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของเรื่องราวขุนพันธ์ที่ได้เดินทางมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี กำลังจะเข้าฉายวันที่ 1 มีนาคม 2566 นี้ นอกจากนั้นเรายังได้มีโอกาสมาพูดคุยพาหวนความหลังถึงจุดกำเนิดและเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวกับผู้กำกับอย่าง ‘ก้องเกียรติ โขมศิริ’
“คุณตาเลือกเรา” กับจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ ‘ขุนพันธ์’
“เดิมทีเลยมันเป็นโปรเจกต์ที่ผมอยากทำมานานมากแล้ว มันเป็นการเจอกันเนอะ โดย… ฟ้าดินมั้ง”
ก่อนจะพูดคุยถกถามถึงเส้นทางและจุดหมายเกี่ยวกับการเดินทางของภาพยนตร์ไทยแท้ที่ถูกผลิตขึ้นมาจนบรรจบครบเป็นไตรภาคในระยะเวลา 10 ปีพอดิบพอดีอย่าง ‘ขุนพันธ์’ กับผู้กำกับเจ้าของวิสัยทัศน์ของเรื่องราวยอดมนุษย์ที่มีอาวุธเป็นอาคม อย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ อย่างแรกเลยที่เราต้องพูดถึงต้นกำเนิดของภาพยนตร์เรื่องนี้
“คือมันเป็นโปรเจกต์แปลก ๆ เหมือนกันนะ ถอยกลับไปตอนยุคสมัยจตุคามรามเทพ เราจะได้รู้จัก ‘ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช’ ตั้งแต่ตอนนั้น เอาจริง ๆ แล้วผมไม่ใช่เป็นคนสายมูเตลูอะไร เพียงแต่ว่าผมชอบดู คือเราไม่ได้วางตัวเองไว้ว่าเราจะเป็นผู้เชื่อหรือไม่เชื่อ เราวางตัวเองไว้เป็นคนไม่รู้ แล้วพอเรื่องไหนมันมีสตอรี่ เรื่องไหนมันมีตำนาน เราในฐานะคนเล่าเรื่องมันก็ชอบ เพราะฉะนั้น เราก็ชอบขุนพันธ์ที่แบบเท่ดี ตำรวจที่ใส่ราชปะแตน สะพายดาบ ขี่ม้า มีคาถาอาคมอะไรอย่างนี้ มันก็สนุก ๆ แบบเด็กผู้ชาย”
ในขณะเดียวกันนั้นเอง ก้องเกียรติก็ได้ยินมาเช่นเดียวดันว่าสหมงคลฟิล์มก็กำลังจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวของขุนพันธ์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นเองกำลังอยู่ในช่วงเฟ้นหาผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีวิสัยทัศน์ที่เหมาะสมมาเล่าเรื่องราวเรื่องนี้ ก้องเกียรติเล่าว่าในตอนนั้น ผู้กำกับที่ ‘เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ’ อยากจะให้มารับผิดชอบเล่าเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เฉลิม วงศ์พิมพ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 7 ประจัญบาน
“พี่เฉลิมกับผมก็สนิทกัน ก็เคยเล่าเรื่องว่าผมอยากทำขุนพันธ์มานานมากแล้ว… วันดีคืนดีพี่เฉลิมก็โทรมาบอกว่า เฮ้ยโขม เสี่ยเขาเรียกเข้าไป เขาอยากให้พี่ทำว่ะ พี่ขอทำนะ เราบอกเฮ้ยพี่เอาเลย เดี๋ยวผมช่วย ผมมีคิดอะไรไว้ ยังคิดเลยว่าเฮ้ย อยากเห็นหนังเรื่องนี้ไม่ว่าใครทำ เราไม่จำเป็นต้องทำก็เถอะ
“แต่ก็แอบแบบ ‘แหม่ เสียดายนะอยากทำอะ โอเคพี่เฉลิมทำก็รู้มือกันอยู่ แล้วก็น่าจะดีแน่ ๆ’”
แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ปรากฎว่า เฉลิม วงศ์พิมพ์ ก็ไม่ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และแล้วทางสหมงคลฟิล์มก็ได้เสนอภาพยนตร์เรื่องหนึ่งให้ก้องเกียรติมารับหน้าที่กำกับ
“คุณสมศักดิ์ก็เรียกเราเข้าไปคุยว่า ‘เฮ้ยโขม เรามีเรื่องหนึ่งสนใจไหมอยากให้ทำ’ เราก็ถามว่าเรื่องอะไร… เขาก็ยื่นเอาสมุดงานศพของท่านขุนพันธ์วาง
“พอยื่นมาโห… ขนลุกเลย วนมาจนได้ไง วนมาเจอจนได้ เราก็หลับตาตอนนั้นนึกเลย โอ้โห ขอบคุณคุณตา… ทั้งใครต่อใครเขาบอกว่า ‘คุณตาเลือกเรา’ เหมือนที่บอกฟ้าดินส่งมันมา สุดท้ายเขาเลือกเรา เขาเลือกให้เราทำ มันก็มีเรื่องอะไรแบบนี้นะ คือจริงไม่จริง เชื่อไม่เชื่อไม่รู้หรอก แต่เวลาเราทำงานเรื่องใคร เราก็รู้สึกว่าเราต้องเคารพเขานะ พี่ก็จะแขวนรูปท่านขุนพันธ์ไว้ที่ห้องทำงานตลอดเวลา เวลาเขียนเวลาอะไร พี่ก็จะบอกแกตลอดว่าตาช่วยผมหน่อยนะ”
จะเรียกว่าโชคชะตาหรือความบังเอิญก็คงยากจะตัดสิน แต่ด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ภาพยนตร์ที่ก้องเกียรติอยากทำและเกือบไม่ได้ทำก็วนมาหาเขาจนได้ นอกจะเคารพและขอพรจากคุณตาขุนพันธ์เป็นกิจวัตรเวลาทำงาน ก้องเกียรติก็ยังย้ำชัดว่าเขาไม่ได้วางแผนที่จะทำภาพยนตร์ชีวประวัติที่มีเนื้อหาตรงกับประวัติศาสตร์เป๊ะ ๆ
“เราไม่ได้ทำหนังอัตชีวประวัติ เราทำหนังบันเทิง หนังเพื่อความสนุก เพียงแต่ว่าเราได้รับ inspired จากคนที่มีตัวตนอยู่จริง ๆ”
‘ผู้กำกับคาถาอาคม’ กับฉากที่ขลังจน ‘พระราคาขึ้น’
รู้หรือไม่ว่าภาพยนตร์ขุนพันธ์ไม่ดีมีเพียงแค่ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพ หรือผู้กำกับศิลป์ แต่ต้องมีถึง ‘ผู้กำกับคาถาอาคม’ หรือ ‘Magic Director’ด้วย! หากไม่รู้ก็ไม่แปลก เพราะ The People เองก็เพิ่งรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเราได้เอ่ยถามไปว่าคาถาอาคมที่อยู่ในเรื่องนั้นเป็นของจริงเลยหรือเปล่า
“ของจริง… คือพอมันพูดออกมาแล้วมันมั่วไม่ได้ เรามีผู้เชี่ยวชาญที่เราเรียกเล่น ๆ กันในกองถ่ายว่าเป็นตำแหน่ง Magic Director หรือ ผู้กำกับด้านคาถาอาคมเวชยันต์ ทั้งหลายแหล่ ก็เป็นจอมขมังเวทย์หนึ่งท่านซึ่งทำงานกับผมมาตั้งแต่ ลองของ แล้ว เขาก็จะเป็นฝ่าย research หาข้อมูล คือตัวเขาเองก็เป็นคนชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว เขาก็จะอยู่ตามป่าตามดงตามเขา เป็นลูกศิษย์ฤๅษีคนนู้น อาจารย์คนนี้อะไรอย่างนี้ไปเรื่อย”
นับว่าเป็นกองถ่ายที่มีความ unique ไม่น้อย นอกจากนั้น มันก็ทำให้เราเห็นว่าทางผู้สร้างขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาค แม้จะไม่ได้อิงกับประวัติศาสตร์ที่แท้จริงขนาดนั้น แต่ก็ใส่ใจเรื่องรายละเอียดของอาคมต่าง ๆ ในเรื่องที่เหล่าตัวละครได้นำมาใช้กันดั่งพลังวิเศษ
แต่นอกจากจะตะลึงไปกับตำแหน่งผู้กำกับสายคาถาอาคมกันแล้ว ก้องเกียรติก็ยังได้แบ่งปันกับเราอีกว่า เคยมีฉาก ๆ หนึ่งของภาพยนตร์ขุนพันธ์ที่ส่งผลให้ราคาของพระในตลาดพากันขึ้นเลยทีเดียว
“ในภาค 2 มันจะมีฉากที่เสือฝ้ายยิงขุนพันธ์บนเตียง แล้วก็ยิงไม่เข้า แล้วก่อนที่เขาจะยิงในเรื่อง เสือฝ้ายเอาปืนเขี่ยพระของขุนพันธ์ออกมา แล้วก็บอกว่า ‘พระปรุหนังอยุธยา มีของดีเหมือนกันนี่หว่า’ แล้วก็ยิงตู้มก็ไม่เข้า…
“แล้วพระราคาขึ้น!”
“คนที่เห็นเลยแคปมาให้ดู คนขายแม่งเอาภาพในหนังมาประกบว่า นี่คือพระปรุหนังตัวจริง นี่คือพระที่ขุนพันธ์ห้อยในหนัง แม่งเป็นภาพอนันดาในหนังอะ ราคาขึ้น ขึ้นไปหลายอันมาก จนมาคุยกับเรา แบบมีหลายเจ้ามากมาคุยกับเราว่าขอให้มีพระ insert พระนี้ได้ไหมในขุนพันธ์… เนี่ยเดี๋ยวรอดูอันนี้ ๆ จะได้วิ่ง ตัวนั้นจะวิ่ง พระองค์นี้จะวิ่ง เราก็บอกว่าไม่ได้ มันมีข้อมูลยืนยันอยู่ว่าใครใช้อะไร จะมาแอบ PR กันไม่ได้ (หัวเราะ) มันมี marketing มันมีคลื่นใต้น้ำอยู่”
ขุนพันธ์กับภาพเดิมสังคมไทยที่ 100 ปีผ่านไป ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“คือขุนพันธ์เป็นหนังที่สะท้อนภาพของประเทศในมิติที่มันไม่ต่างจากปัจจุบัน… 10 ปีของขุนพันธ์พูดถึง 100 ปีในเมืองไทย ถอยกลับไปตั้งแต่สงครามโลกจนถึงทุกวันนี้ว่ามันแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง… คนดี ตำรวจดี ๆ ยังคงต่อสู้อยู่กับศรัทธาบางอย่าง ในขณะเดียวกัน ความเลว ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่ถูกต้อง ความไม่แฟร์ก็ยังมีอยู่ในสังคมนี้ มันเหมือนเป็นของคู่กัน”
ก้องเกียรติได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับขุนพันธ์จนพาเราไปสะดุดกับคำตอบที่ว่าแม้ขุนพันธ์จะเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทยที่มี setting ที่ตั้งอยู่เมื่อหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ดำเนินมานับตั้งแต่ภาคแรกเมื่อหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่เพราะเหตุใดกัน มันยังสามารถสะท้อนภาพสังคมไทยได้แจ่มชัด เหมือนเอาเรื่องราวจากปัจจุบันไปสร้างเป็นหนัง
The People จึงได้เอ่ยถามผู้กำกับผู้สร้างกระจกสะท้อนเหล่านั้น ว่าจากมุมของเขา เป็นเพราะอะไรกัน กระจกใบนี้ยังคงไม่ขุ่นมัวไปตามกาลเวลา แต่ยังใสกิ๊งสะท้อนคอนเซ็ปต์ของความขัดแย้งและปัญหาของสังคมและระบบได้อย่างชัดเจน
“เพราะว่า เราเป็นสังคมรวมศูนย์ เป็นสังคมรวมอำนาจ สังคมที่ความเจริญเรารวมอยู่ที่เดียว มันก็เลยเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไอ้สิ่งเหล่านี้ร้อยปีที่แล้วมันเป็นยังไง ผ่านมาตอนนี้มันก็ยังเป็นอย่างนั้น… อำนาจก็ไปอยู่ในมือของพ่อค้า ข้าราชการ อะไรก็แล้วแต่
“โดยโจรมักจะถูกบอกว่าเป็นผู้ร้าย แต่เบื้องหลังโจรหลาย ๆ ครั้งที่เราก็จะเห็นว่ามันถูกหนุนโดยฝั่งสว่างนี่เอง มันจะวนเวียนอยู่อย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันถูกย้อนไปตั้งคำถามกับตัวละครอย่างขุนพันธ์ ซึ่งเหมือนคนรุ่นเก่าที่แบบตงฉิน ศรัทธา ยึดมั่นในความดี เขาจะต่อสู้กับไอ้สิ่งเหล่านี้ ความอยุติธรรมเหล่านี้อย่างไร ตำรวจดี ๆ จะใช้ชีวิตอยู่ยังไงในประเทศที่มันเป็นแบบนี้ เขาไม่ได้สู้กับโจร เขาสู้กับระบบด้วย เขาสู้กับอะไรหลาย ๆ อย่าง”
ก้องเกียรติได้เสริมต่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่ตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่ถูกตั้งขึ้นในฐานะขนบธรรมเนียมที่ควรดำเนินตาม ไม่ว่าจะเป็นศรัทธาในประเทศชาติ ความดีที่สังคม (หรือคนบางกลุ่ม) บัญญัติขึ้น หรือแม้แต่ครรลองของกฎกติกาที่เราควรประพฤติตาม ซึ่งคำถามสำคัญที่สั้นแต่ได้ใจความคือ
“ในขณะที่เราศรัทธา แต่ทำไมผู้ใหญ่ที่บอกเรายังขี้โกง ยังทำผิดอยู่เลย แล้วเราจะยังศรัทธาอยู่ไหม แล้วศรัทธาคืออะไร”
นอกจากนั้น ประเด็นนี้เองก็ยังเป็นจุดสำคัญของขุนพันธ์ในภาคนี้ ก้องเกียรติกล่าวว่าขุนพันธ์ในภาคนี้เสมือนว่าตัวเอกยืนอยู่ท่ามกลางโลกที่บิดเบี้ยว แต่คำถามสำคัญที่ต้องไปหาคำตอบในภาคนี้คือ เขาคนนั้นจะบิดเบี้ยวไปตามสภาพแวดล้อมหรือไม่ เขาจะหลงทางไปในป่าแห่งระบบที่เน่าพังหรือเปล่า
“คุณได้เห็นความบิดเบี้ยวทั้งหมด แต่มันไม่จำเป็นต้องไปบิดเบี้ยวตามเขา อะไรที่เชื่อว่าดีจงยืนหยัด แล้วก็มันก็คือไสยศาสตร์ของคุณนั่นแหละ มันก็คืออาคมของคุณแหละ”
‘ไม่มีอะไรคงกระพันตลอดไป’
ความขลังที่ร่วงโรย ความคงกระพันที่ไม่จีรังคือใจความสำคัญของภาพยนตร์ขุนพันธ์ 3 นี้ ซึ่งจะถือเป็นจุดหมายสุดท้ายของขุนพันธ์ในแบบฉบับของก้องเกียรติ โขมศิริที่เดินทางมาเป็นเวลา 10 ปี แต่ในคราวนี้ประเด็นหลักไม่ใช่การมาแสดงอภินิหารความขลังและไร้เทียมทานของขุนพันธ์ กลับกัน แต่เป็นการนำเสนอแง่มุมของโลกที่เปลี่ยนไปและคาถาอาคมความขลังที่เปลี่ยนแปลง
“วันที่ท่านขุนก็เริ่มต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง อย่างไดอะล็อกที่บ่งบอกไว้เลยว่า ‘เขาเป็นสมบัติของคนรุ่นเก่า เขาไม่ได้มีประโยชน์เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป’ เพราะฉะนั้น การไว้ลายคาถาอาคมครั้งสุดท้ายก่อนที่โลกจะลืมเขามันก็สำแดงเดชกันทุกอย่าง วิชาอาคมหลาย ๆ อย่างมันก็ได้เห็นกัน”
แต่ถ้าขุนพันธ์ 3 ถือเป็นภาคจบของไตรภาคขุนพันธ์ เป็นบทสรุปของเรื่องราวที่ดำเนินมาตลอด 10 ปี หมายความนี่คือจุดจบหรือไม่ The People จึงได้ถามก้องเกียรติถึงความเป็นไปได้ในการสานต่อเรื่องราวของขุนพันธ์ในอนาคตถ้าหากเป็นไปได้
“สำหรับผมมันจบตรงนี้ มันคือความตั้งใจและหมุดที่ผมจะต้องจบ มันคือความตั้งใจของผม message นี้คุณก็จะเห็นในตัวหนังแหละว่า เรากำลังส่งลูกต่อ การจบของมันมันไม่ได้หมายความว่า มันเหมือนที่คุณบอกว่าเฮ้ย James Bond มันหมดยุคของ Pierce Brosnan แล้ว มันเป็นยุคของพระเอกคนใหม่และผู้กำกับคนใหม่ แต่ขุนพันธ์ยังอยู่แค่นั้นเอง แต่ขุนพันธ์สำหรับผมและอนันดาจบตรงนี้แค่นั้นเอง
“คือผมเซ็ตอัพจนมันเกิดขึ้นได้จริง ๆ ใครจะรู้ว่าอีก 10 ปีอาจจะมีเด็กสักคนหนึ่งเสนอโปรเจกต์ขุนพันธ์เป็นไซไฟ ถูกโคลนนิ่งขึ้นมาในยานอวกาศ ใครจะไปรู้ มันก็เป็นไสยศาสตร์สู้กับเอเลี่ยน ใครจะไปรู้ มันไปได้หมดถูกไหม มันไปได้หมด เพราะฉะนั้น ผมเซ็ตอัพแล้ว ที่เหลือก็ลุยต่อเถอะหนังไทย”