‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต

‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต

บทสัมภาษณ์ ‘ปอนด์’ กฤษดา ผู้กำกับ ‘คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์’ และ ‘แมนสรวง’ อีกทั้งยังเป็นผู้บริหารค่าย บี ออน คลาวด์ (Be On Cloud) ที่ผ่านมาแล้วทุกตำแหน่ง ทุกดราม่า แต่ยังคงทำงานด้วยความเชื่อ และคิดว่าทุกความผิดพลาดคือบทเรียนที่ทำให้เขาเติบโต

  • ‘ปอนด์’ กฤษดา เป็นทั้งผู้กำกับและผู้บริหารที่มีผลงานมามากมาย ผลงานสร้างชื่อคือคินน์ พอร์ช เดอะซีรีส์
  • ตอนทำคินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ผลงานกำกับเรื่องแรก ปอนด์เคยคิดว่า ซีรีส์จะจบก่อน หรือ ‘กูจะจบ’ ก่อน แต่เขาก็ผ่านมาได้
  • ปอนด์ผ่านมาแล้วทุกตำแหน่ง ผ่านมาแล้วทุกดราม่า และยังคงคิดว่าตัวเองพัฒนาได้ตลอด เพราะเชื่อว่าทุกเหตุการณ์และทุกความผิดพลาดเป็นบทเรียนที่ทำให้เขาเติบโต 

คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ คือ ซีรีส์วายแนวใหม่ที่ติดอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ และติดอันดับบน เวยปั๋ว (Weibo) ของจีนเกือบทุกตอนที่ออกอากาศ

ส่วนแมนสรวง คือ ภาพยนตร์ที่ติดท็อป 5 หนังทำเงินของไทยที่กวาดรายได้รวม 35.2 ล้านบาทที่เข้าฉายมาทั้งหมด 25 วัน (ข้อมูลจาก Thailand Box วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2566) และยังเป็นภาพยนตร์ที่กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่าเป็นหนังซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

ผลงานทั้งสองเรื่องอยู่ภายใต้การดูแลของค่ายบี ออน คลาวด์ (Be On Cloud) ที่มี ‘ปอนด์’ กฤษดา เป็นหัวเรือใหญ่

The People คุยกับ ‘ปอนด์’ กฤษดา ผู้บริหารค่ายที่เคยอยู่หน้ากล้อง แวะไปหลบหลังกล้อง มาเปิดค่ายของตัวเอง ทำงานด้วยความเชื่อ ใส่สุดทุกเรื่อง และผ่านทุกดราม่าในโซเชียลฯ มาแล้ว แต่ทุกความผิดพลาดคือบทเรียนที่ทำให้เขาเติบโตขึ้น

เด็กมัลติสกิลที่กล้าลองและเป็นทุกอย่างให้ทุกคน

ก่อนจะมานั่งเก้าอี้ซีอีโอ เปิดบริษัทของตัวเอง ปอนด์ก็เคยเป็นหนึ่งในมดงานที่เคยอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังวงการบันเทิง 

หลังจากผ่านมรสุมชีวิต ปอนด์เริ่มก้าวเข้าสู่การทำงานเป็นคนเบื้องหน้า แต่กลายเป็นว่า เขาไม่มีความสุข เพราะความรู้สึกข้างในมันสวนทางกับสิ่งที่ต้องแสดงออก

คนคาดหวังว่าปอนด์หน้ากล้องจะต้องร่าเริง ทั้ง ๆ ที่ข้างในเขากำลังเศร้า อีกทั้งด้วยบุคลิกของเขาที่เห็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ชอบมาพากล เขาจะแสดงออกทันที พูดออกมาตรง ๆ 

“ตอนนั้นเรารู้สึกเศร้าทุกวันเลย แบบ 5 4 3 2 แล้วเราต้องทำตัวร่าเริง แต่ผมคิดถึงครอบครัว มันเป็นแอคติ้งซ้อนแอคติ้ง แล้วเราก็ไม่ไหว”

ปอนด์เลยเลือกหันหลังให้เบื้องหน้า แล้วย้ายเข้าไปทำงานในธุรกิจออร์แกไนเซอร์ งานที่ได้ลองอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งคิดงาน ขายงาน โอเปอเรเตอร์ ช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ ระหว่างทาง งานเล็ก ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมงาน 200 - 300 คน จนถึงงานคอนเสิร์ตใหญ่ ปอนด์ทำมาหมดแล้ว 

“ตอนที่เลือกทำดีเจหรือพิธีกร เลือกงานที่ได้เงินน้อย แต่ได้ความรู้เยอะ เลือกเป็นพิธีกรหลังคอนเสิร์ต ทำให้เราได้เห็นวิธีการทำงาน เหนื่อยหน่อย จุดนั้นคือจุดที่เรานำมาต่อยอดในการทำธุรกิจเล็ก ๆ แรก ๆ ของผม คือ ธุรกิจรับจัดงาน แล้วมันโตเร็วมาก ทำเอง ขายเอง ทุกอย่างมันก็ success เร็ว”

งานจะดีได้ คนในกองต้องเป็นกำลังใจให้กัน 

หลังผ่านช่วงก่อร่างสร้างตัว ปอนด์ก็มีโอกาสเจอกับรุ่นน้องอย่าง ‘มาย’ ภาคภูมิ ร่มไทรทอง และ ‘อาโป’ ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์  นักแสดงที่เต็มไปด้วยความสามารถ จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจรับไม้ต่อทำ ‘คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์’ จากบริษัทเดิม

แต่การลงมือทำไม่ง่ายเหมือนคิด ในฐานะเจ้าของค่ายและผู้จัด มีหลายเรื่องที่ปอนด์ต้องดูแลเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด

“พอเข้าวงการ มันไม่เหมือนที่คิดไว้ตอนแรก ไกลกว่าที่คิดเยอะเลย เราทำคินน์พอร์ชขึ้นมา โดยที่คิดทุกอย่างใหม่ ปรับบทกันใหม่ ทำโปรดักชั่นใหม่ เพราะตอนนั้นเราก็ดูหนังเยอะ เป็นแฟนหนัง แฟนซีรีส์เยอะมาก ทั้งไทย ทั้งต่างประเทศ เราก็คิดว่า ถ้าทำแบบนี้มันต้องลงทุนหน่อย มันต้องทุ่มทุน”

“ตอนนั้นเคยคิดแล้วพูดบ่อยมากว่า นี่ซีรีส์จะจบก่อนหรือกูจะจบก่อน เหมือนกลับบ้านตีสาม ตีห้านัดแล้ว แล้วต้องไปแบบนี้ทุกวัน กดดันมาก เหมือนเราคิดว่า ทำไมเหมือนมันยังไม่เรียบร้อยเลยวะ ด้วยความคาดหวังของเราอาจจะเยอะด้วย เพราะเริ่มมาจากความไม่รู้ว่า มันควรจะละเอียดแบบนี้ คิดแบบนี้ แต่มันสะท้อนความเป็นจริง”

ความเป็นจริงที่ปอนด์เจอ คือ การเผชิญกับแรงกดดันด้านงบประมาณและเวลา รวมถึงความพยายามที่จะทำให้คนทำงานทุกคนได้รับความเป็นธรรมและทำงานอย่างมีความสุข

โดยในมุมมองของประธานค่ายและผู้กำกับ เขามองว่า ปัญหาที่คนทำงานสร้างสรรค์เจอไม่ใช่ความผิดใคร แต่ผิดที่ระบบ แล้วกองคินน์พอร์ชผ่านความยากระหว่างการทำงานมาได้ด้วยการกล้าถาม ความเข้าใจ และความผูกพันของคนทำงานทุกคน 

“ความยากคือพอเราไม่รู้ แล้วเราก็กล้าถาม ทุกอย่างที่ดูเหมือนยาก มันก็เป็นแค่โลกที่เราไม่เคยเจอ แต่เราเชื่อว่า งานอาร์ตคือความรู้สึก ความสวยงามของมุมภาพ อะไรก็ตาม ทุกอย่างมันถ่ายทอดผ่านความรู้สึกได้  ถ้าเราสร้างความรู้สึกโดยรวมว่า เราเชื่อในแบบเดียวกัน มันก็ออกมาได้”

“ซึ่งคินน์พอร์ชมันเป็นแบบนั้น มันเป็นมาเฟีย เราก็ไม่เคยเห็นมาเฟียจริง ๆ มันเป็นโลกในจินตนาการเท่ากับประสบการณ์ชีวิตของเราที่ผ่านมา อันนี้มันไม่ได้ผิดที่ทีมนะ มันผิดที่ระบบ ทีมเขาทำถูกแล้ว เขาต้องทำให้มัน on process และออนแอร์ให้ทัน แต่ผมรู้สึกว่ามันผิดที่ระบบตั้งแต่แรกว่า ถ้าเราใช้ budget แบบนี้ แล้วบีบแบบนี้ อยากได้งานแบบนี้ มันยาก

“ถามว่าผ่านมาได้อย่างไร ถ้านึกจริง ๆ ผมว่ามันเป็นกำลังใจของกอง แล้วมันไม่ใช่เราเหนื่อยคนเดียว นักแสดงก็เหนื่อยมาก อย่างที่บอกว่าบางครั้งเราผูกพันกับทุกคนมาก โตมาเป็นครอบครัว เพราะตอนนั้นมันกอดคอกันมา พยายามฮึบมาด้วยกัน ก็เลยผ่านมาได้”

‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต

 

ทุกคน คือ ซอฟต์พาวเวอร์

ซอฟต์พาวเวอร์ คือ พลังอำนาจอ่อนที่ซ่อนอยู่ในทุก ๆ เรื่องของแต่ละประเทศ

ในประเทศไทยการผลักเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมุมหนึ่ง มันคือการต่อสู้กับความคิดที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

แล้วถ้าดูจากผลงานที่ปอนด์เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ หรือ แมนสรวง เป็นการตีความเรื่องที่เคยมีอยู่ในสังคมในแง่มุมใหม่ 

ยกตัวอย่างเช่น คินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ ที่ปอนด์ต้องการเล่าให้เห็นว่า ความรักคือความรัก ไม่ใช่ซีรีส์วายแบบเดิมที่บางคนเคยดู 

“หลายคนไม่อินคำว่าซีรีส์วาย ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ก็ยังมีความกดเราอยู่ แบบซีรีส์วายว่ะ สาววายสมองไหล มันมีฟีลนั้นอยู่ แต่อะไรก็ตามบนโลก ถ้ามันสร้างชื่อเสียงให้ความเป็นไทยได้ ก็ควรจะปรบมือให้คนที่ได้ทำ จะได้มีคนขึ้นมาทำ

“สำหรับผม ซีรีส์วายคือซีรีส์เรื่องหนึ่ง ในมุมผม ถ้ารักใคร มันก็แค่รัก ผมไม่ได้คิดมากขนาดนั้น ในเรื่องคินน์พอร์ชมันจะไม่มีอาการอึกอัก สับสนอะไรขนาดนั้น เราจะไม่เล่าเรื่องพวกนี้แล้ว คนเล่าเรื่องพวกนี้เยอะแล้ว เพราะมันเป็นเรื่องปกติ

“การแสดงออกบางอย่าง เรารู้สึกว่าทำให้มันเป็นปกติ ถ้าคนดูรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติน่าจะดีที่สุด อคติจะลดลง ซีรีส์วายนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้คนเข้าใจสิ่งที่คนเรียกร้องอยู่ ก็คือความหลากหลาย แต่อคติเป็นสิ่งที่ลบยากมาก ๆ”

ขณะเดียวกัน ปอนด์ก็บอกว่า บางครั้งการทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างซีรีส์หรือภาพยนตร์ แต่สามารถเริ่มต้นได้จากตัวเรา เพราะทุกคนมีเรื่องเล่าในเมืองไทยเป็นของตัวเอง 

“ผมคิดว่าซอฟต์พาวเวอร์มันอยู่ในเนื้อตัวของทุกคน ผมก็เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผมเป็นคนสนุก ร่าเริง อยากได้เพื่อนใหม่ ก็จะไปเล่าอาหารไทย พามาเที่ยวไทย นี่คือซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง

“แต่การจะทำซอฟต์พาวเวอร์ในวงกว้างได้ วงการบันเทิงคือซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงมาก จริง ๆ หลายประเทศทำให้ดูแล้ว สิ่งที่ success ที่สุดในเอเชียที่เราควรจะปรบมือให้ คือซอฟต์พาวเวอร์เกาหลี แน่นอนว่าเราเป็นคนหนึ่งที่โดนซอฟต์พาวเวอร์เขาตก ไปตามรอยเลย ไปกินอาหารเกาหลีเลยสั่งไก่ทอด สั่งเบียร์ ผมทำทุกสิ่งที่เขาทำให้เราดูอย่างเนียน ๆ ไปได้โดยธรรมชาติ สิ่งหนึ่งที่เห็นเลยว่า ความภูมิใจในคอนเทนต์ของชาติตัวเองก่อนมันสำคัญ

 

แมนสรวง ตัวแทนซอฟต์พาวเวอร์ไทยในเวทีโลก

‘แมนสรวง’ เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่ได้เปิดตัวอย่างแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2023 และยังได้รับทุนการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมที่บอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

“ตอนทำคินน์พอร์ชไม่มีใครมาซัพพอร์ต แต่แมนสรวงผมไปเสนอขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงฯ ที่ให้มา ไม่มีค่าเท่าวันนี้ กระทรวงฯ เขาแสตมป์เราว่า เราคือซอฟต์พาวเวอร์ ได้ความภูมิใจว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่พยายามเสนอวัฒนธรรมไทยในแบบเรา ในแบบใหม่ ๆ มันไม่ถูกกดว่ามันไม่ใช่ แต่แสตมป์ว่าใช่ นี่แหละคือซอฟต์พาวเวอร์”

แต่ปอนด์มองว่า การจะส่งออกพลังซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่สายตาชาวโลก สิ่งสำคัญ คือ คนในชาติต้องสนับสนุนและเปิดใจรับสิ่งใหม่ เปิดพื้นที่การตีความ ‘ความเป็นไทย’ ผ่านมุมมองของแต่ละคน 

“ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อในแบบเดียวกัน แต่อยากให้กลุ่มที่ยังไม่เปิดใจ ไม่ได้แปลว่าคุณต้องมาชมเรา ไม่ได้แปลว่าคุณต้องมาเห็นด้วยว่าหลักมันดีหรือไม่ แต่ถ้าคุณคิดว่าสิ่งนี้มันดีพอที่จะส่งเสริมให้คนรู้จัก ให้คนเห็นประเทศไทยในมุมอื่น ๆ ที่มันไม่ใช่มุมเดิม ๆ ได้เห็นเรา รู้จักเรา อยากมาเมืองไทย ก็อยากให้สนับสนุนกัน” 

‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต ดังนั้น นิยามความเป็นไทยของปอนด์ คือ ความสนุกสนานและรวบรวมความหลากหลายในสังคม ทั้งเพศ เชื้อชาติ อาหาร การแต่งกาย รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ที่ชาติอื่นยากจะเลียนแบบ 

“จริง ๆ แล้วประเทศไทยมีความหลากหลายเยอะมาก ครบเครื่อง เชื้อชาติ เพศ ลักษณะรูปลักษณ์หน้าตา เราลองมิกซ์กันหมด เราจอยทุกเทศกาลของทุกศาสนา นี่คือสิ่งที่เราพยายามบอกว่า ประเทศไทยเป็นแบบนี้แหละ ถ้าคุณมาคุณก็เจอบรรยากาศแบบนี้ เป็นคนม่วนนะ เป็นคนสนุกนะ ความสวยงามของเรามันรีเลทกับตัวเขาได้ด้วย มีความประณีต แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีเรื่องดาร์กนะ ก็มี การเมืองไทยสนุกจะตาย”

 

ชายผู้ที่ไม่เคยหยุด แต่ไปให้สุดก่อน

จริง ๆ แล้ว ปอนด์เป็นคนพูดตรงมาตั้งแต่สมัยเรียน พอถึงเวลาทำงาน ปอนด์จึงใส่ทุกเรื่องที่เขาคิดและเชื่อลงไปก่อนอย่างไร้เงื่อนไข 

“เอาตรง ๆ ทุกเรื่องเล่าได้หมดเลย ผมไม่เคยคิดว่าอะไรเล่าไม่ได้ ผมใส่เต็มก่อน”

นั่นจึงทำให้วันที่หลายคนต่างบอกว่า การขอทุนจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเรื่องยาก เขาจึงไม่กลัว แต่เล่าทุกอย่างที่เขาอินและเชื่อต่อคณะกรรมการด้วยความมั่นใจ 

“ตอนแรกคนขู่เยอะมาก อย่าเรียกว่าคำขู่เลย คือมันอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีที่เขาเคยผ่านมาก่อน ผมก็คิดแล้วว่า ยากก็ยาก อาจเป็นเพราะผ่านชีวิตยาก ๆ มา เลยไม่ค่อยกลัว ผมเข้าไปด้วยความมั่นใจเต็มร้อย ยังจำได้ว่าผมพูดตอนนำเสนอว่า ถ้าผมทำขนาดนี้แล้ว ผมยังไม่ได้รับการสนับสนุน ผมว่าก็ต้องตั้งคำถามแล้วครับว่าทำไม

“เพราะผมอินมากกับสิ่งที่ทำอยู่เลยรู้สึกว่า ก็กูเชื่อไงว่าวัฒนธรรมไทยมันมีความงดงามอยู่ก็ต้องเล่าแบบนี้แหละ แล้วคุณบอกว่าต้องไปเรียบร้อย มันเวิร์กไหมละ ก็ไม่เวิร์กไง เราไม่ได้เรียบร้อยขนาดนั้น ต้องเลิกบอกว่าคนไทยเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ได้แล้ว เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ควรกดทับกันด้วยความรู้สึกแบบนั้น ประณีตได้ งดงามได้ เจ๋งได้ สนุกได้ ร่าเริงได้”

แล้วความเชื่อของ ‘ปอนด์’ กฤษดาที่อยากจะพิสูจน์ว่าความเป็นไทยยังสวยงาม ยังมีคนที่สนุกสนาน ก็ถูกถ่ายทอดผ่านแมนสรวงอย่างแนบเนียนและไม่ยัดเยียดให้ใคร ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้คนได้คิดและตีความต่อตามประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ชม

“ผมใส่เต็มก่อน ผมรู้สึกอย่างเดียวคือไม่ชอบถูกยัดเยียด ไม่มีใครบนโลกชอบถูกยัดเยียด คือการถูกบังคับให้เชื่อมันไม่สนุก มันควรจะทำไป แล้วถ้าเขาจะเชื่อ เดี๋ยวเขาเชื่อเอง อย่างที่บอก เราสร้างความเชื่อตั้งแต่แรก ว่าเราเห็นด้วยกันไหม ซึ่งทุกคนเห็นด้วย แล้วมันเป็นความกล้าอย่างหนึ่ง มันไม่ทันได้คิดด้วยซ้ำว่า เราพยายามจะใส่อะไร เราแค่คิดว่าเราเชื่ออะไร แล้วพอมันออกมา คนจะตีความกันเอง” 

แล้วอาจเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเกิดสิ่งใหม่ คนมักจะตั้งคำถามและตั้งเกราะป้องกันไว้ก่อน แต่ปอนด์บอกว่า แมนสรวงจะทำหน้าที่ชวนคนสองรุ่นมาพูดคุย ถกเถียง ผ่านภาพยนตร์

“ผมว่าเรื่องเล่าของผมเป็นส่วนผสมตรงกลางระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ มันคือสิ่งที่พวกเราเคยเห็นมาอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เคยถูกเล่าในรูปแบบนี้มาก่อน แล้วก็เล่าแบบทันสมัย เป็นการเล่าความเป็นไทยที่หลุดขนบ คือมันไม่ได้เรียบร้อยตามพีเรียดทั่วไป

“วัฒนธรรมที่เรามี มันไม่ได้แย่ แต่ถ้ามาอยู่กับคนรุ่นใหม่มันต้องปรับจูน แล้วแมนสรวงทำอยู่ พอมันปรับจูนเข้าหากันได้ มันก็ไปต่อได้ แต่ถ้าวัฒนธรรมที่ผ่านมาหลายร้อยปี สมัยกรุงแตก เหมือนที่ในบทบอกว่า กรุงก็แตกไปนานโขแล้ว จะไม่ให้ปรับอะไรเลยเหรอ มันก็คุยกันไม่รู้เรื่อง คนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจ” 

 

บทเรียนจากความผิดพลาด

แม้ทุกอย่างจะดูผ่านไปด้วยดี ทั้งกระแสตอบรับจากแฟนซีรีส์และแฟนหนังที่ทำให้ทีมนักแสดงรวมถึง Be On Cloud กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก

แต่ทุกความสำเร็จก็มีราคาที่ต้องจ่าย….

หลังจากคินน์พอร์ช เดอะซีรีส์ออนแอร์จบได้ไม่นาน มีกระแสข่าวเกี่ยวกับนักแสดงจาก  Be On Cloud  ช่วงนั้น แฟนคลับเรียกร้องให้ปอนด์ออกมาพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปอนด์จึงออกมาโพสต์คลิปสวมกอดนักแสดงคนนั้น แต่แทนที่จะดูเหมือนดี กลับแย่กว่าเดิม แฟนคลับบางคนบอกว่า ทำไมปอนด์ถึงเข้าข้างเขา และไม่ออกมาแสดงจุดยืนของตัวเอง

แต่ดราม่านั้นก็เงียบหายไป หลังจากที่นักแสดงคนดังกล่าวลาออกจากค่าย ส่วนปอนด์ก็เขียนโพสต์ขอโทษแฟนคลับ

เมื่อถามถึงบทเรียนความผิดพลาดจากครั้งนั้น ปอนด์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เขากลับมาทบทวนตัวเองและปรับการทำงานในฐานะผู้บริหารของเขาใหม่

“ตอนทำ Be On Cloud ช่วงแรก ทุกคนคือครอบครัวจริง ๆ ผมขอบคุณทุกคนตลอดเวลา ต่อให้มันจะมีเรื่องดีไม่ดี ผมจะพยายามหาข้อดีจนเจอ พยายามจัดการทุกอย่างด้วยความละมุนละม่อม แต่ตอนนั้นเรื่องมันใหญ่เกินกว่าที่ผมจะจัดการได้ แล้วก็ยอมรับว่าเหมือนคนอกหัก เพราะมันไม่ได้ handle ง่าย”

‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต “รู้สึกว่าเราควรต้องกลับมาคิดใหม่ คำว่าครอบครัวมันไม่เหมาะกับการบริหารธุรกิจที่ใหญ่ขนาดนี้ แต่จากที่ทุกคนเห็น… มันไม่ใช่แค่นักแสดงหรือ Be On Cloud ที่เติบโตไว แฟนคลับค่ายเราก็เติบโตไวเหมือนกัน จนไม่มีโอกาสได้พักผ่อนหายใจ มานั่งทบทวนว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นไหม พอมันเกิดดราม่าตอนนั้น ทำให้ผมทบทวนตัวเองในข้อนี้แหละว่า คำว่าครอบครัวใช้ไม่ได้ตลอดกับการบริหาร เราต้องเด็ดขาดในหลาย ๆ จุด”

เมื่อผิดพลาด เขาก็กล้าที่จะยอมรับผิด ขอโทษ พร้อมเดินหน้าส่งต่อความเชื่อของเขาต่อไป และพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนที่ผ่านมา

“ทุกวันนี้ไม่ว่าปัญหาของฝ่ายไหน ผมยังขอบคุณพวกเขาเสมอ ใด ๆ ก็ตาม คินน์พอร์ชไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าไม่มีเขาสักคนไม่ได้ เขาสองคน คนทะเลาะกัน มีปัญหาเรื่องส่วนตัว แต่มันส่งผลในองค์รวม และผมคิดว่าทุกคนรับผลกรรมไปหมดแล้ว

“ผมเองก็รับผลกรรม พูดไปก่อน โดยที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ ผมเป็นตัวแทนของค่าย ต้องเข้าใจจุดนั้นด้วย เราจะมาบอกว่า วันนั้นไม่รู้ในมุมของคนไม่เข้าใจ เพราะเขาคิดว่าคุณต้องคิดให้ดีกว่านี้ ก็เลยเป็นสิ่งที่ผมเองก็ต้องทบทวนหลายเรื่อง”

 

ก้าวต่อไปของแมนสรวง และปอนด์ กฤษดา

แม้จะต้องเผชิญกับความไม่รู้ระหว่างทำงาน และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะผู้บริหารค่าย แต่ปอนด์ก็เชื่อว่า ความแข็งแกร่งทางจิตใจช่วยให้เขาผ่านทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาได้

“มนุษย์เกิดมาเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขและพร้อมที่จะแบ่งความสุขให้คนอื่น พอเริ่มเอาความสุขให้คนอื่นเมื่อไหร่ มันจะเป็นความสุขที่ทวีคูณ รู้สึกว่าเรามีพลัง เพราะฉะนั้นมันจะไม่ใช่จุดจบของชีวิต ต่อให้วันนี้คุณไม่ได้ success”

เมื่อได้รับความนิยมจากผู้ชมจนกลายเป็นหนังทำเงินอันดับ 5 จากข้อมูลของ Thailand Box แมนสรวงเลยจะกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น 

“ผมคิดไปไกลมากสำหรับแมนสรวง วันนี้ผมอยากทำแมนสรวงจริง ๆ ขึ้นมา อาจจะเป็นชั่วคราวหรือถาวรไม่รู้ แต่ผมคิดว่าแมนสรวงมันสนุก มีเสน่ห์ เพราะเราลองทำกับทรงวาดแล้ว ทุกอย่าง sold out คนเต็มทุกรอบ

“ส่วนการฉายแมนสรวงในต่างประเทศกำลังเวิร์กกันอยู่ ตอนนี้มีฉายที่ลาว จะเข้าโรงที่เวียดนามสิ้นเดือนนี้ ส่วนประเทศอื่น ๆ อย่างที่บอก พูดเหมือนง่าย เพราะภาพยนตร์ไทย ผมดันเลือก Genre (ประเภท) ที่มันไม่ได้แมสในตลาดเพราะคนไทย ในตลาดจะชอบหนังผี หนังตลก ซึ่งผมไม่มีทั้งผี ทั้งตลก มันก็เลยต้องใช้ความพยายามหน่อย รู้สึกว่า ณ วันนี้ก็ภูมิใจแล้ว มันก็เจ๋งแล้ว”

‘ปอนด์’ กฤษดา : ผู้กำกับ ‘แมนสรวง’ ประธานค่ายที่ เชื่อ - ผิดพลาด - เติบโต ส่วนปอนด์ก็หวังว่า เขาจะยังคงรักษาความเชื่อของตัวเองไว้ ส่งต่อไปยังคนอื่น ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีกว่าเดิม และจะยังเชื่อว่า ถ้าคนทำงานมีความสุข ได้รับความเป็นธรรม ผลงานก็จะออกมาดีในแบบที่ทุกคนวาดไว้

“ผมอยากเป็นสีสัน เป็นทางเลือกในแบบ Be On Cloud ให้วงการมันเดินต่อไป ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่ใช่แค่ความเชื่อของผมคนเดียว มันเป็นความเชื่อในมวลรวมของพวกเรา ความเชื่อในกลุ่มแฟน ๆ ของพวกเรา ความเชื่อในสวัสดิภาพและความเท่าเทียมทำให้เกิดผลงานดี ๆ มาเรื่อย ๆ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบ ทำให้วิธีคิดนี้น่าจะถูกเอาไปใช้กับอย่างอื่นได้

“ในกองเรา ในบริษัทเรา เราไม่กดดัน ด่าทอกัน มันเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ ผมว่าวงการบันเทิงไทย คนเก่งเยอะมาก คนเก่งเยอะจริง ๆ เราก็อยากจะขอเป็นหนึ่งในทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คงทำต่อไป วันนี้แมนสรวงช่วยเพิ่มความมั่นใจว่า ผลงานที่ดีมันมีที่ยืน”

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : Be On Cloud

 

อ้างอิง :

atime

thairath

khaosod