น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน

‘LonelyPop’ งาน NFT สีสันสดใส แต่กลับพูดถึงความเหงา ความเศร้าในใจของผู้คน ศิลปินที่อยู่เบื้องหลัง คือ ‘น้อยหน่า’ สุริยา อุทัยรัศมี อดีตนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะ คนที่เคยสัมผัสการเปลี่ยนผ่านยุคออฟไลน์ มายุคออนไลน์ และใช้ภาพสะท้อนความรู้สึกในใจของเขา

  • LonelyPop ศิลปะ NFT ที่มีคาแรกเตอร์แสนน่ารักและสดใส แต่กลับซ่อนอารมณ์เศร้าหมองและความเหงาในใจของผู้คน
  • คนที่อยู่เบื้องหลัง คือ ‘น้อยหน่า’ สุริยา อุทัยรัศมี อดีตนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะ
  • ตอนนี้เขาเปิดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก ‘LonelyPop : Lonely Together Exhibition’ นิทรรศการที่อยากชวนทุกคนลุกออกจากบ้านแล้วมาเหงาไปด้วยกัน

“ถ้าผมไม่ได้วาดการ์ตูน ชีวิตมันว่างเปล่ามาก เราไม่รู้ว่าถ้าไม่ทำ งานแบบไหนมันจะหล่อเลี้ยงเราได้”

ตั้งแต่เด็ก ‘น้อยหน่า’ สุริยา อุทัยรัศมี นักวาดการ์ตูนเจ้าของผลงาน LonelyPop และอดีตนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะ เขารักการ์ตูน และชอบวาดรูปมากกว่าเขียน

ตลอดการทำงานในวงการการ์ตูนเกือบ 20 ปี เขาผ่านทั้งยุคแอนะล็อก ยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคออนไลน์ เคยผิดหวัง เคยหมดไฟ เคยพักงาน และกลับมาเป็นศิลปิน NFT ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก

ในฐานะนักวาด เขาก็เชื่อว่างานของเขาจะช่วยปลอบโยนผู้คนให้ผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากได้

และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็จะยังเป็นนักวาดการ์ตูนที่รักการวาด ทำงานที่เขารักต่อไป ผลตอบแทนของเขาไม่ใช่เงิน แต่เป็นพลังความสุขของผู้คนที่ได้รับจากผลงานเขาว่า อย่างน้อยก็มีคนที่รู้สึกเหมือนกัน

เด็กที่ชอบการ์ตูน รักการวาดรูป และฝึกวาดด้วยตัวเอง

“ตั้งแต่จำความได้ ไม่มีวันไหนที่เราไม่วาดรูป”

จุดเริ่มต้นการเป็นนักวาดของน้อยหน่าเรียบง่าย แค่อยากวาดการ์ตูนที่ตัวเองชอบ ระหว่างที่รอตอนต่อไป เขาเลือกที่จะจินตนาการถึงเรื่องราวในตอนต่อไป แต่งเรื่องในแบบตัวเอง และเขาก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นนักวาดที่มีชื่อเสียง แต่ทำเพราะอยากทำ 

“เราวาดเพราะชอบ เหมือนเราหายใจก็วาดไปเลย หรือถ้าตอนนี้มีปากกา แล้วเรานั่งคุยกัน ผมคงวาดไปเรื่อย ๆ

“ตอนเด็ก เราเริ่มวาดจากการ์ตูนที่เราชอบ เมื่อก่อนจะมีดราก้อนบอล เราก็จะวาดผมแหลม ๆ รองเท้าแหลม ๆ ปล่อยพลัง ตอนนั้นดราก้อนบอลเป็นการ์ตูนรายสัปดาห์ พอหนังสือออกทุกคนก็จะมารวมกันอ่าน เรารู้สึกว่า อาทิตย์หนึ่งมันนานไป เราก็แต่งเรื่อง เขียนขึ้นมาให้คนอื่นอ่าน”

ไม่เพียงแต่ดราก้อนบอล น้อยหน่าเคยเดาเรื่องราวตอนต่อไปของการ์ตูนเรื่องซึบาสะ หรือหนูน้อยอาราเล่อยู่บ้าง ส่วนแฟน ๆ การ์ตูนของน้อยหน่าเวลานั้น ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล พวกเขาคือกลุ่มเพื่อนที่ชอบอ่านการ์ตูนเหมือนกัน

“ตอนนั้นคนที่อ่านก็จะเป็นเพื่อน ม.ต้น ที่ทุกคนจะรอ สงสัยว่าอาทิตย์ดราก้อนบอลจะเป็นอย่างไร เราก็คิดตามจินตนาการของเราว่า เดี๋ยวต่อสู้กันมันจะเป็นแบบนี้ แต่ถามว่าถูกไหม ไม่ถูก” (หัวเราะ)

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน

นักวาดบางคนอาจจะต้องไปเรียนวาดรูปเพื่อตามหาลายเส้นเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่น้อยหน่าเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘มิตสึรุ อาดาจิ’ เจ้าของมังงะยอดนิยมหลายเรื่อง เช่น Rough, H2, Mityuki, Kutsu! และ Mix รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มียอดขายรวมสูงถึง 250 ล้านฉบับทั่วโลก

“ลายเส้นของเราก็ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนหลาย ๆ เรื่อง แต่คนที่มีอิทธิพลกับเรามากที่สุดก็จะเป็นของอาดาจิ เขียนเรื่องทัช มิยูกิเป็นการ์ตูนที่โดนแซวว่า ใช้ตัวละครตัวเดียวกันทุกเรื่อง หน้าเหมือนกันหมด แต่เขาเล่าเรื่องเก่งมาก เล่าเรื่องด้วยความนิ่ง เราได้แรงบันดาลใจจากเขา 

“ตัวละครของเราจะไม่ over-acting หรือสื่ออารมณ์เท่าไร”

 

นักวาดการ์ตูนที่ไม่ยอมแพ้สู่นักวาดขายหัวเราะ

ครั้งหนึ่ง น้อยหน่าเคยส่งผลงานของตัวเองไปที่หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ แต่ผลปรากฏว่า ผลงานของเขาไม่ได้รับการคัดเลือก เขาเลยใช้ชีวิตในฐานะเด็กที่ชอบวาดรูป เลือกเรียนสถาปัตย์ ทำงานราชการ แต่ก็ไม่เคยทิ้งการวาดรูป

“เราเคยสมัครเป็นนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะ ตั้งแต่ ม.3 ตอนนั้นอยากเรียนช่างศิลป์ เราก็ต้องหาเงินเรียนเอง ก็คิดว่าเขียนขายหัวเราะไปด้วย หาเงินเรียนไปด้วย ตอนนั้นเราคิดว่าเราเก่งแล้ว เขียนแล้วเพื่อนชอบหมดเลยนะ แต่พอส่งไป บ.ก. (บรรณาธิการ) บอกยังใช้ไม่ได้ ก็ไม่ได้เขียน

“หลังจากนั้นก็มาทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการวาดการ์ตูน ก็วาดมาเรื่อย ๆ ช่วงนั้นลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามา แล้วจะมีสัญญาว่า ถ้ามีการ์ตูนญี่ปุ่นจะต้องมีการ์ตูนไทยพ่วงด้วย เหมือนต้องการพัฒนานักเขียนการ์ตูนไทย ก็เลยส่งเรื่องสั้นไปที่หนังสือการ์ตูนไทยคอมมิค แล้วเขาถามว่า มาเขียนเรื่องยาวไหม ก็เลยเลิกทำงานออกแบบด้านก่อสร้าง ไปเขียนการ์ตูนดีกว่า เลยได้เขียนการ์ตูนรายสัปดาห์”

หลังจากนั้นโอกาสของน้อยหน่าก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อคนดูแลต้นฉบับจากการ์ตูนไทยคอมมิคย้ายมาอยู่ขายหัวเราะ เริ่มต้นจากเด็กที่เข้าไปช่วยทำหนังสือทำมือ แต่สุดท้ายก็ได้เดบิวต์เป็นหนึ่งในนักวาดการ์ตูนขายหัวเราะเต็มตัว

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน “เราเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ไปเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่งผู้ดูแลต้นฉบับเราเขาย้ายมาอยู่ขายหัวเราะ แล้วมันจะมีช่วงที่ของทำมือนิยมมาก เราก็ขายของทำมือ ขายใน Street Fair กับ Fact Fest พอถึงช่วงสัปดาห์หนังสือ ขายหัวเราะก็อยากจะทำหนังสือทำมือขาย เราเข้าไปทำให้ ก็เลยเข้าไปในออฟฟิศขายหัวเราะ โดยที่ยังไม่ได้เป็นนักเขียน

“ระหว่างรอเบิกเงิน ก็เข้าออฟฟิศทุกวัน จนมีคนถามว่า ว่าง ๆ ทำไมไม่ลองสเก็ตช์ภาพส่ง บ.ก. ดู ปรากฏว่าสเก็ตช์ไปแล้ว บ.ก. โอเค เรารู้สึกว่าเหมือนทุกอย่างมันมาบรรจบกัน จากตอน ม.3 ที่ส่งแล้วไม่ได้ แต่วันหนึ่งมันจะมาบรรจบกันและเจอกันได้อีกครั้งหนึ่ง”

 

แรงบันดาลใจ การพักงาน และร้านกาแฟ ‘บางเวลา’

จากนักวาดการ์ตูนสั้นมาเขียนการ์ตูนเรื่องยาว น้อยหน่าต้องเจอความท้าทาย รวมถึงคำพูดต่าง ๆ จากคนรอบข้าง แต่งานใหม่ทำให้เขารู้สึกสบายใจ และสนุกกับการวาดรูปมากขึ้น

“พอเพื่อน ๆ รู้ว่ามาทำขายหัวเราะ ก็ทักว่าจะเขียนยังไง เพราะขายหัวเราะต้องคิดทุกอาทิตย์ ต้องคิดใหม่ทุกหน้า เราคิดว่ายากแน่ ๆ แต่พอทำมันไม่ได้ยาก ตอนเขียนเรื่องยาว เหมือนต้องรับผิดชอบทุกอาทิตย์ เราส่งงานแล้วก็จริง ได้พักแล้ว แต่ยังต้องมาคิดต่อ เหมือนงานประจำที่มีบ่วงมารัดคอเรา

“แต่พอมาเขียนขายหัวเราะ มันค่อนข้างอิสระ เขียนจบเป็นแผ่น ๆ ไม่ต้องใส่รายละเอียดเยอะ เหมือนเป็นการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องที่เราอยากเล่ากับภาพ ถ้าภาพมันแน่นไป บางทีคนก็ไม่อ่าน ก็เลยรู้สึกผ่อนคลายมากกว่า”

งานที่หลวมตัวมากขึ้น ทำให้เขามีเวลาออกไปหาแรงบันดาลใจจากเรื่องรอบตัว แรงบันดาลใจที่ไม่ได้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ แต่มาจากเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิต

“ถ้าเป็นขายหัวเราะ ทุกอย่างรอบตัวเป็นแรงบันดาลใจได้หมด สมมตินั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ระหว่างทาง นั่งมองข้างทาง มันมีอะไรอยู่ริมทางเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเจอบ้านเรือน ต้นไม้ สายไฟ ป้ายจราจร คนที่เดินอยู่ ตอนเห็นเราอาจจะไม่ต้องคิดว่ามันเป็นแก๊ก มันเป็นแค่สิ่งที่เราเอามาคิดต่อได้ก็จดไว้”

ผ่านไป 13 ปี การ์ตูนขายหัวเราะ การ์ตูนขวัญใจทุกเพศทุกวัย หลังจากผลิตครบ 1,500 ฉบับในปี 2563 ขายหัวเราะประกาศยุติการผลิตหนังสือการ์ตูน แล้วปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มตัว เปลี่ยนจากกระดาษเป็นอีบุ๊กแทน แต่ในฐานะคนทำงาน น้อยหน่าก็รู้สึกใจหาย และนั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งแรกในบทบาทนักวาดการ์ตูนของเขา 

“ใจหาย ไม่คิดว่ามันจะมีวันที่หายไป เพราะเรามองการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ที่เริ่มทยอยปิดตัวไป เราก็ยังคิดว่าขายหัวเราะจะต้องอยู่ได้ ส่วนตัวเราเคยเป็นนักอ่าน พอมาเขียน เรารู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มันยังอยู่เป็นหมายเหตุของยุคสมัยของเหตุการณ์บ้านเมือง เพราะพอมันหายไป มันจะไม่มีอะไรที่จะบันทึกไว้ในรูปแบบการ์ตูน”

โชคดีที่น้อยหน่าปรับตัวทัน เขาเลือกที่จะไปต่อด้วยการเปิดร้านกาแฟที่เป็นเหมือนแกลเลอรีเล็ก ๆ ในจังหวัดจันทบุรี แสดงผลงานที่ผ่านมาของเขา ขณะที่บางครั้งเขาก็ผันตัวมาเป็นศิลปินวาดรูปลูกค้าที่ผลัดกันเข้ามาเยี่ยมชม และตั้งชื่อร้านว่า ‘บางเวลา’

“เหตุผลที่ตั้งชื่อว่าบางเวลา เพราะบางเวลาเราก็อยู่กับบางสิ่ง ไม่ต้องอยู่ตลอดเวลา แล้วก็เหมือนเป็นคำหลวม ๆ ไม่ได้ไปผูกมัดอะไรมากไป เพราะร้านกาแฟก็จะมีทั้งส่วนที่เป็นหนังสือให้คนอ่าน โปสต์การ์ดให้คนเขียน แกลเลอรีให้คนไปเดินดูงาน มีกาแฟให้กิน”

การทำร้านกาแฟทำให้คนที่ค่อนข้างเก็บตัวอย่างน้อยหน่าออกจากเซฟโซน กล้าพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่นมากขึ้น แม้จะไม่ถึงขั้นคุยเก่ง แต่ก็รู้จักแฟน ๆ ที่ติดตามเขามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลือกมาร้านกาแฟ หรือพูดคุยกันผ่านเพจเฟซบุ๊กก็ตาม

“ตอนนั้นเราก็ทำเพจร้านกาแฟ คนติดตามอยู่หลักหมื่น พอลงไปก็รู้สึกว่าเราเจอแรงบันดาลใจจากลูกค้าเข้ามาเยอะมาก สนุกกับการตอบโต้กับผู้คน เพราะคนเขียนการ์ตูนหรือทำงานศิลปะสมัยก่อน เขาแทบจะไม่รู้ฟีดแบ็กเลยว่างานตัวเองเป็นยังไง คนชอบไหม อ่านแล้วรู้สึกยังไง จนบางทีมันเฟล

“ผมเติบโตมา ได้อ่านสิ่งที่นักเขียนรุ่นก่อนวาด แล้วเราก็ไม่มีโอกาสไปบอกเขาว่า ผมชอบงานพี่มากเลยนะ แต่งานเขามันหล่อเลี้ยงเราจนโต แล้วก็ขึ้นมาทำได้อย่างเขา ส่วนตัวผมคิดว่า ต่อให้ไม่มีโอกาสบอก แต่มันอาจจะไปงอกงามในใจเขาก็ได้

“ผมเขียนขายหัวเราะ บางทีก็ไม่รู้ว่าคนชอบไหม อาจจะมีคนถ่ายไปลงเฟซบุ๊ก แม้แต่เปิดเพจ คนก็ไม่ได้ตามเยอะ แต่คนมีส่วนร่วม และเข้ามาคุยกันอย่างสนุกสนาน”

อาจเป็นเพราะน้อยหน่าเลือกการวาดรูปถ่ายทอดความรู้สึกในใจ แต่ก็มีบางครั้งที่เขาพักงานจนคนที่ติดตามเขาถามหา ทักมาถามว่า ศิลปินคนโปรดหายไปไหน?

“มีช่วงหนึ่งที่เราไม่เขียนงานเลย ก็เริ่มมีคนมาถามว่าทำไมหายไป เขารออยู่ เพราะภาพวาดของเรามันช่วยให้เขาผ่านช่วงเวลาที่เขาเฟลมาได้ เราก็เฮ้ย ตอนเราเขียนเราก็เฟลเหมือนกัน ทำไมมันช่วยเขาได้ ตอนนั้นเราก็เลยกลับมาดูงานตัวเองตั้งแต่แรก กลายเป็นว่า งานพวกนี้บอกว่า อันนี้มันไม่เท่าไรหรอก อันนี้ต้องผ่านไปได้ จนรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วให้งานทั้งหมดมันกลับมาปลอบใจเราในวันที่เรารู้สึกว่า มันไปไม่ได้แล้ว ถ้ามีคนรู้สึกแบบเราอยู่ แล้วงานมันยังช่วยคนอื่นได้บ้าง มันก็ควรจะทำต่อไป

“หลังจากเรากลับมาวาดรูปอีกครั้ง เคยบอกคนอื่นว่า ถ้าไม่เห็นนาน ๆ แปลว่ามีความสุขดี (หัวเราะ) แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นรูปออกมาเยอะ ๆ อันนั้นคือเริ่มมีเรื่องในใจเยอะแล้ว”

เพราะสำหรับน้อยหน่า ภาพวาดทุกชิ้นคือไดอารี่ที่ทำให้เป็นตัวแทนความรู้สึกของนักวาดประสบการณ์ และอยากส่งต่อให้คนที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกัน 

“มันเป็นไดอารี่ที่เป็นภาพ… ถ้าให้ตั้งชื่อ เราคงใช้ชื่อว่า ความทรงจำของข้าพเจ้า

“ถ้าเลือกได้หนึ่งเรื่องจากไดอารี่เล่มนี้ คงเป็นจุดเปลี่ยนความคิด  ก่อนหน้านี้เราค่อนข้างแคร์ว่า คาแรกเตอร์ต้องน่ารัก เล่าเรื่องกระชับ จนมีรุ่นพี่คนหนึ่งที่เราค่อนข้างนับถือเขามาบอกว่า งานน้อยหน่าน่ารักนะ แต่ถ้าโลกนี้มันไม่มีความน่ารัก เราจะไปทางไหน คำพูดนี้ทำให้เรากลับมาคิดว่า ในความน่ารัก มันควรจะมีอะไรเกินกว่านี้ไหม ไม่ว่าจะสังคม ตอนนี้เราไม่ยึดติดแล้วว่างานมันจะต้องคลีน หรือมีแต่ความน่ารักอย่างเดียว”

 

‘LonelyPop’ คาแรกเตอร์ NFT ที่รวมพลคนเหงา

“จุดเด่นของ Lonely Pop คือ การถ่ายทอดอารมณ์ของผู้คนที่หลากหลาย” น้อยหน่าพูดระหว่างแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการ ‘LonelyPop : Lonely Together Exhibition’ ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา

น้อยหน่าเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้าในวงการ NFT ว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่รู้จักคำว่า ‘NFT’ ในช่วงที่สิ่งนี้กำลังได้รับความนิยมระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเขามองว่า NFT ช่วยให้เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสู่สายตาคนที่รักศิลปะ ศิลปิน และนักสะสมทั่วโลก

“ปกติเราทำงานคนเดียว แทบไม่เจอคนเลย แต่ NFT ทำให้เราสามารถทำงานศิลปะ สื่อสารกับคนทั่วโลกได้โดยที่เรานั่งอยู่กับบ้าน ซึ่งมันเจ๋งมากเลย จากปกติเราจัดงานตามแกลเลอรี อาจจะมีแค่คนในประเทศหรือคนต่างชาติที่บินมาดู แต่อันนี้คนเห็นได้ทั่วโลก”

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน

งานช่วงแรก น้อยหน่าทำเป็นภาพทักทายตอนเช้า ภาพที่ออกมาเลยคล้ายกับรูปสวัสดีวันจันทร์ยอดฮิตในไลน์ แต่นี่คือวัฒนธรรมของชาว NFT เพราะเขาถนัดวาดมากกว่าเขียนข้อความ 

“พอเข้ามาในวงการ ผมเริ่มรู้จักกับศิลปินคนอื่น รู้จักคอลเลกเตอร์มากขึ้น มีการพูดคุยกันมากขึ้น แล้วมันเป็นวัฒนธรรมของ NFT ที่ทักทายกันตอนเช้า ลงทวิตเตอร์ GM (Good Morning) ก่อนนอนก็ส่ง GN (Good Night) 

“ด้วยความที่ผมจะไม่โพสต์เป็นตัวหนังสือ จะโพสต์เป็นรูปทุกครั้ง ไม่ว่าจะโพสต์เฟซบุ๊กหรืออะไรก็ตาม เราก็เลยวาดรูปทุกวันเป็น PFP (Profile picture) ที่พูดคำทักทายออกมา แล้วเสื้อผ้ามันก็จะเป็น accessories แทนความรู้สึกภายในใจ แทนอารมณ์ของตัวละครตัวนั้น ๆ”

น้อยหน่าอธิบายเพิ่มเติมว่า คำพูดบนเสื้อผ้า บางคำอาจเป็นคำที่อ่านไม่ออก มีรอยขีดฆ่าอยู่บ้าง นั่นเพราะเสื้อผ้าเหล่านั้นคือตัวแทนความรู้สึกของเขาในช่วงเวลานั้นที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความเศร้า และเรื่องราวภายในใจของเขา

“ถ้าเข้าไปดูในห้องนิทรรศการงาน Open Edition ที่เป็นจอดิจิทัล จะเห็นว่ามีอะไรรก ๆ เต็มไปหมดเลย อันนั้นเป็นงานที่เราระบายความในใจช่วงที่เราเศร้าใจ ทุกข์ใจ มีเรื่องในใจ แล้วเราเป็นคนที่ไม่ไปเล่าเรื่องพวกนี้ให้คนอื่นฟัง เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่อยากเอาความทุกข์เราไปใส่ไว้ในคนอื่น เขาก็มีความทุกข์มากอยู่แล้ว

“เราเลยใช้วิธีเขียน ระบายออกมา ถ้าสังเกตจะอ่านไม่ค่อยออก เพราะเราคิดเร็วกว่าวาด ตอนวาดเรารู้ว่าเราเขียนอะไร คนอ่านไม่รู้หรอก แต่เรารู้ พอกลับมาดูงานอีกครั้งก็จะรู้ว่า ตอนนั้นความรู้สึกของเราเป็นอย่างนี้นะ

“บางทีเราเขียนเสร็จ วาดเสร็จ ความรู้สึกที่เราเฟลมาก ๆ ตอนที่เราเขียนตอนต้น มันหมดไปแล้ว เราก็กาทิ้ง ก็เห็นในงาน”

จากนักวาด PFP น้อยหน่าตัดสินใจส่งคาแรกเตอร์ของเขาไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับ Blockchain Studio เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี บล็อกเชน แล้วผันมาเป็นนักวาด NFT เต็มตัวภายใต้ชื่อ ‘LonelyPop’

“ผมรู้สึกว่า ต่อให้เทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมต่อกันได้ง่ายแค่ไหน แค่ปลายนิ้ว เราคุยกับคนต่างประเทศ คุยกับคนที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกได้ แต่บางทีมันก็ทำให้เราไม่รู้ตัวว่าเรามันเหงามากกว่าเดิม ไม่รู้คนอื่นเป็นไหม แต่เมื่อก่อนตอนที่ยังทำงานอยู่ขายหัวเราะ อยู่อะพาร์ตเมนต์ ผมจะชอบยืนตรงระเบียง มองตึก คิดว่าเมืองมันก็ใหญ่นะ มองไปตึกแสงไฟเยอะเลย ทำไมกลางคืน มันเหงาจัง

“เราต้องการสร้าง community แล้วเราก็รู้สึกว่าต่อให้จะมีเป็นหมื่นตัว แต่มันไม่ได้รวมกัน มีเจ้าของแยกกัน เพราะเวลาปิดจอคอมพ์ทุกคนก็อยู่คนเดียว แล้วก็ไม่น่าเป็นอะไรถ้าความเหงาจะมารวมกัน ก็เลยกลายเป็น Lonely Pop ขึ้นมาจากคำว่า Lonely กับ Population มารวมกัน”

 

บทเรียนและอนาคตของ ‘LonelyPop’

น้อยหน่าบอกว่า เขาไม่คิดว่าตัวเองจะมาอยู่ในจุดนี้ จุดที่เขามีชื่อเสียง จุดที่ใครหลายคนรู้จัก ‘LonelyPop’ เขาเพียงแค่ทำเพราะการวาดรูปเป็นสิ่งที่เขารักและชอบ ก็เท่านั้น  

“ถ้าผมไม่ได้วาดการ์ตูน ชีวิตมันว่างเปล่ามาก เราไม่รู้ว่าถ้าไม่ทำ งานแบบไหนมันจะหล่อเลี้ยงเราได้”

ขณะเดียวกัน เขาก็เป็นคนที่ชอบยืนอยู่ข้างหลัง สังเกต มากกว่าการไปยืนข้างหน้าต่อหน้าคนดูที่เข้ามาชมผลงาน อย่างน้อยก็จะทำให้เขารู้ความคิดและความเห็นจริง ๆ ของผู้คนได้อย่างแท้จริง

“ผมไม่ได้คิดว่าวันหนึ่งเราจะมีชื่อเสียง ผมทำไปเรื่อย ๆ ผมชอบที่จะยืนอยู่ข้างหลัง บางทีชมงานเราต่อหน้า ผมก็ทำหน้าไม่ถูก อาจเป็นเพราะสื่อสารไม่เก่ง ไม่รู้จะต้องเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน แต่ถ้าสมมติเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เดินเข้าไปปน ๆ ฟังเสียงวิจารณ์ เราชอบแบบนี้มากกว่า”

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน

สำหรับน้อยหน่า รูปภาพแต่ละภาพนั้นจะถูกบันทึกไว้ในไดอารี่ภาพของเขาเสมอ เขาเรียนรู้ว่า นักวาดการ์ตูนไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แต่เล่าเท่าที่รู้ เมื่อเติบโตขึ้นภาพวาดก็จะเติบโตไปพร้อมกับนักวาดเอง

“ถ้าเป็นนักวาดการ์ตูน รู้สึกว่าก็เป็นนักวาดการ์ตูนอยู่แบบนั้น เพียงแต่ว่ามุมมองทางความคิด เวลาเราเติบโตขึ้นการนำเสนอเรื่องราวมันก็จะเปลี่ยนไป ตอนเขียนขายหัวเราะใหม่ ๆ เคยถามพี่ที่เขาเขียนอยู่ก่อนว่า เขียนมานานขนาดนี้ คิดแก๊กยังไง เขาก็บอกว่า เหมือนแก้วที่วางบนโต๊ะ ตอนเด็กเราจะเห็นมุมหนึ่งในสายตาระดับเดียวกับโต๊ะ แต่พอโตขึ้นมุมมองเราจะเปลี่ยนไป

“การเล่าเรื่อง การเขียนการ์ตูนมันก็เหมือนกัน เราเล่าในมุมที่เราเห็น ไม่จำเป็นต้องเล่าในมุมที่ไม่เคยเห็น เราเห็นแค่ไหนก็เล่าแค่นั้นไปก่อน แล้วเราเติบโตขึ้น การเล่าเรื่องของเรามันก็จะค่อย ๆ มีมุมมองที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ”

ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้งานของน้อยหน่าที่ใคร ๆ บอกว่าน่ารัก ภายใต้ความน่ารักนั้น เขาซ่อนประเด็นสังคมและความหลากหลายไว้มากมาย

“ด้วยความที่เป็นคนแบบไม่ค่อยจะสุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง แต่เราก็มีความรู้สึกอยู่ในใจ เราก็ใช้วิธีการซ่อนอยู่ในภาพนี่แหละ อาจจะเป็นความขบถต่อสังคม ความไม่เป็นธรรมในสังคม บางทีคนดูอาจจะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเกิดไปนั่งไล่เรียงก็จะเห็นบางอย่างที่เราซ่อนอยู่ในนั้น”

“สมมติว่ามีสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม แล้วเราสะท้อนในงาน อาจจะแอบซ่อนเป็นสัญลักษณ์ แล้วคนที่ชื่นชอบงานเรา เขาเห็น เขาก็อาจจะเห็นความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ แล้วอาจจะทำให้เขาไปทำอะไรต่อได้”

อย่างที่บอกว่า การวาดรูป คือ สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นเป้าหมายการทำงานของน้อยหน่า คือ การสร้างชุมชนคนรักศิลปะ เปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาชื่นชม NFT จะสูงขึ้นหรือลดลงจึงไม่มีผลต่อกำลังใจในการทำงานของเขา

น้อยหน่า อดีตนักวาดขายหัวเราะ สู่ NFT ‘LonelyPop’ ชวนลุกออกจากบ้านมาเหงาด้วยกัน “NFT ถือว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ในเชิงกฎหมายก็เป็นเรื่องยาก วันดีคืนดีมันอาจผิดกฎหมาย ผมเลยไม่ได้มองเรื่องผลตอบแทนในแง่ของเงิน แต่อยากให้เป็นเรื่องชุมชนงานศิลปะ ให้คนที่ชื่นชอบงานศิลปะมาอยู่รวมกัน

“อยากให้คนที่เข้ามาใน Community นี้ เข้ามาซื้อเพราะชอบ ถ้าชอบแล้ว ต่อให้มันไม่มีมูลค่าในรูปแบบของเงิน มันก็จะมีมูลค่าทางใจที่เรานั่งมองแล้วมีความสุข แต่ถ้าเราเข้ามาเพราะอยากให้มันเป็นผลตอบแทนเรื่องตัวเงิน ถ้าวันหนึ่งมูลค่ามันหายไป เราอาจนั่งมองมันด้วยความเกลียดมันเลยก็ได้”

สุดท้าย น้อยหน่าทิ้งท้ายถึงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาไว้ว่า “ถ้าตามคอนเซ็ปต์คือลุกออกจากบ้าน ไม่ต้องเหงาอยู่บ้าน มาเหงาด้วยกันที่นี่ เพราะจริง ๆ มันเป็นนิทรรศการที่ดูง่าย ไม่ซับซ้อน ลองดูว่าเขียนอะไรบ้าง อ่านออกบ้างไหม แล้วเรารู้สึกอะไรกับมันหรือเปล่า”

LonelyPop : Lonely Together Exhibition สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ฝั่งเวสต์ ชั้น 2 (BTS ปุณณวิถี) เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 11.00 - 19.00 น. ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย