‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

RedLife คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ BrandThink Cinema และยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของ เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้ง BrandThink และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง RedLife ที่ไม่ได้ตั้งใจทำหนังรัก feel good แต่เป็นหนังรักที่พูดถึงความจริงของคนไม่ถูกรัก

  • RedLife คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ BrandThink Cinema ที่กำลังจะฉายในโรงภาพยนตร์ไทยทั่วประเทศวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นี้
  • RedLife ไม่ใช่หนังรัก feel good แต่เป็นหนังรักที่พูดถึงคนไม่ถูกรัก และรักพัง ๆ ของคนที่ไม่ถูกมองเห็น 
  • เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่า เป้าหมายการทำหนังเรื่องนี้ คือการพาผู้ชมไปสำรวจวงกลมอื่นนอกชีวิตเราที่จะช่วยให้เรามองเห็นและ empathy กันมากขึ้น

/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ RedLife/

“บางทีคนที่ไม่ถูกรักไม่รู้หรอกว่า ฉันให้คุณค่ากับตัวเองน้อย บางทีมันอยู่ในจิตใต้สำนึก เลยอยากให้เรื่องนี้ใช้สีแดงเพื่อ call to action ว่า RedLife มันคือชีวิตที่ควรจะต้องถูกมองเห็น ด้วยตัวเขาเอง คนข้าง ๆ เขา หรือสังคม”

คือที่มาของชื่อ RedLife ที่เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร BrandThink และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง RedLife ให้ความหมายไว้ 

เพราะจริง ๆ แล้ว RedLife ภาพยนตร์เรื่องแรกของ BrandThink Cinema คือหนังรัก

มันคือหนังรัก ที่พูดถึงความรักพัง ๆ ของคนที่ไม่ถูกมองเห็น

มันคือหนังรัก ที่พูดถึงเรื่องของคนที่ไม่ถูกรัก 

และมันคือหนังรัก ที่จะพาเราไปสำรวจวงกลมอีกวงหนึ่งที่แตกต่างจากเรา

แนวคิดเบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง RedLife มาจากมุมมองของ เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้กำกับและผู้บริหารค่ายที่ไม่ได้อยากทำหนังรัก feel good แต่อยากทำหนัง feel bad ที่ไม่ได้สมหวังของคนที่อยากถูกรัก ภายใต้บริบทสังคมที่ผู้ชมแบบเราอาจจะยังไม่เคยเห็นหรือสัมผัสมาก่อน

The People : จุดเริ่มต้นของ BrandThink Cinema มาจากอะไร 

เอกลักญ : จริง ๆ BrandThink เปิดมาประมาณ 16 ปี แต่ช่วงหลังเรารู้สึกว่าคอนเทนต์มันไม่ใช่แค่หนึ่งคอนเทนต์บนโลกดิจิทัลแล้ว เรามองว่าทุกอย่างที่เราเสพ ไม่ว่าจะเป็นสารคดี หนังสั้น ภาพยนตร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมว่ามันเป็นคอนเทนต์ทั้งหมด 

แล้วรู้สึกว่า ภาพยนตร์เป็นคอนเทนต์ที่ impact ที่สุด ทรงพลังที่สุด เพราะทีมส่วนใหญ่ก็เรียนจบสายนิเทศศาสตร์ จบภาพยนตร์ ซึ่งพวกเขาก็มีหนังในดวงใจที่ดูแล้วอาจจะสร้างผลกระทบ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิต 

นี่คือความเชื่อของเรา ผมเลยมองว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสก็อยากจะก้าวเข้ามาผลิตภาพยนตร์ เลยเปิดเป็น BrandThink Cinema ขึ้นมา

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

The People : แล้ว RedLife คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ BrandThink Cinema อยากให้เล่าถึงที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้

เอกลักญ : ผมเรียนจบภาพยนตร์ แล้วความฝันของเด็กฟิล์ม ทุกคนอยากทำภาพยนตร์ของตัวเอง แล้วตอนนั้นอายุจะ 40 แล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ แต่พอเราตั้งหลักได้ อยากจะทำ แต่ทำไมเราไม่มีเรื่องเล่า ไปเดินร้านหนังสือ ดูหนังสั้น พยายามจะรีเสิร์ชเรื่องที่แต่งไว้ก็รู้สึกว่าไม่เห็นมีเรื่องไหนที่จะ pick up มาทำเป็นหนังเรื่องแรกได้ struggle อยู่ตรงนั้นอยู่นานเหมือนกันนะ เป็นปี 

แล้วมีจังหวะที่ผมหยุดทำโฆษณาไปทำสารคดี ทำคอนเทนต์ ก็มีช่วงหนึ่งที่ผมไปทำคอนเทนต์ในพื้นที่สลัมแนวตั้งจริง ๆ ในบริบทก็เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผมเจอกลุ่มชายขอบค่อนข้างเยอะ มีโอกาสคุยกับ sex worker ที่อายุ 67 ไปคุยกับพวกน้อง ๆ ที่ปล้นสถานีรถไฟ คนที่ค้ายาเสพติด บางคนท้องโดยที่เป็น HIV โดนทำแท้ง  

เราเห็นคำตอบคล้าย ๆ กัน คือการที่เขารู้สึกไม่ถูกมองเห็น ไม่ถูกรัก เช่น พ่อไม่รัก แม่ไม่รัก สามีนอกใจ สามีไม่รัก ลูกไม่รัก แล้วพอเราเห็นบริบทชีวิตเขา เราตีความเองว่า การไม่ถูกรักมันจะลิงก์ไปถึงเรื่อง self-esteem การนับถือตัวเอง รู้สึกว่าฉันไม่ได้มีคุณค่าสำหรับอีกคนหนึ่งหรือคนอื่น ๆ 

เราเห็นหนังรักเต็มไปหมด คนเรามีความรักเป็นพลังในชีวิตและเติบโต เป็นหนัง feel good แต่เราไม่ค่อยเห็นหนัง feel bad พลังลบของการไม่ถูกรัก มันทำให้ชีวิตเขามันเบนเข็มไปอีกด้านหนึ่งได้เลย ก็สนใจบริบทนี้ คอนเซ็ปต์นี้ ก็เลยหยิบมา develop เป็นภาพยนตร์

 

The People : ชื่อ RedLife มาจากอะไร

เอกลักญ : เท่าที่หาข้อมูลมา สีแดงมีหลายความหมาย อาจหมายถึงความรุ่งเรือง ความมั่งคั่ง เป็นสัญญาณเตือน เป็นไฟอันตราย ไฟฉุกเฉิน หรือใช้เพื่อ call to attention ว่าฉันมีปัญหา ส่งความช่วยเหลือออกไป ก็เลยมองว่าสีแดงมันก็สะท้อนได้หลาย ๆ อย่างดี แต่เรามองในแง่ของการเรียกร้อง 

บางทีคนไม่ถูกรัก ไม่รู้หรอกว่าฉันให้คุณค่ากับตัวเองน้อย บางทีมันอยู่ในจิตใต้สำนึก เลยอยากให้เรื่องนี้ใช้สีแดงเพื่อ call to action ว่า RedLife มันคือชีวิตที่ควรจะต้องถูกมองเห็น ด้วยตัวเขาเอง คนข้าง ๆ เขา หรือสังคม

The People : ความชายขอบของตัวละครในหนังเป็นอย่างไร 

เอกลักญ : จริง ๆ ในหนังจะเล่าสองเรื่อง เรื่องแรกจะมีตัวละครเอกชื่อ ‘ส้ม’ เป็นลูกสาวของอ้อย sex worker อายุเยอะที่ทะเยอทะยานแล้วก็รักลูกมาก ส่งส้มไปเรียนในโรงเรียนของชนชั้นกลาง ทำให้ส้มไม่อยากอยู่ที่ไหนเลย อยู่โรงเรียนก็ไม่มีเพื่อน บ้านก็ไม่อยากอยู่ เขาอยากออกจากที่นี่ ด้วยความบังเอิญบางอย่าง ส้มไปเจอพีช ที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ เป็นท็อปสตาร์ ทั้งสองคน connect กัน โดยที่ส้มหวังว่า พีชนี่แหละจะเป็นคนพาเธอออกจากโลกที่เกลียดชังได้ 

ส่วนอีกเรื่องเป็นเรื่องของเต๋อที่มีแฟนชื่อ ‘มายด์’ เป็น sex worker เหมือนกัน แต่เป็นวัยรุ่นสาวที่ป๊อปปูลาร์ ถ้าลองถามผู้ชายว่าคิดอย่างไรถ้าแฟนเป็น sex worker เชื่อว่าร้อยละ 50 จะรู้สึกไม่สบายใจ แต่ตอนที่เราไปทำสารคดี ผู้ชายไม่ได้มองว่า sex worker เป็นอาชีพที่ไม่โอเค เขามองเป็นเหมือนอาชีพหนึ่ง ในเรื่องเต๋อก็ไม่ได้มีปัญหากับการที่มายด์เป็น sex worker แต่มีปัญหาตรงที่มายด์สวย ได้เจอลูกค้าหล่อรวย กลัวว่าวันหนึ่งจะทิ้งเขาไป เต๋อเลยพยายามลุกขึ้นมาเลี้ยงดูมายด์ พยายามต่อสู้เพื่อพามายด์ออกจากโลกที่เขาเกลียดชังเหมือนกัน 

ทั้งสองเรื่องเลยมี drive เดียวกัน คือความอยากจะออกไปข้างนอก บางทีเราดูหนังก็อาจจะมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่แก้ยากเลย ใช้เงินไม่กี่บาทก็ออกไปข้างนอกได้ หรือผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้ แล้วอยากเลิกกับแฟน มันก็มีวิธีการหลายอย่าง เพราะชนชั้นกลางอย่างเรามีทางเลือกในชีวิตเยอะ มีชุดความรู้ แต่คนกลุ่มนี้ เขาเข้าถึงชุดความรู้น้อย การได้เรียนหนังสือ หรือทางออกในชีวิตก็น้อย ฉะนั้นไม่แปลกที่เขาจะ struggle มากกว่าเรา แล้วในบริบทสังคม คนอย่างเรายังไม่ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมเลย คนที่ขาดแหว่งก็ยิ่งยาก 

 

The People : สำหรับคนชายขอบ การเดินออกไปข้างนอก พวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง 

เอกลักญ : ถ้าเป็นตัวละครอย่างเต๋อกับมายด์ คนที่ทำอาชีพ sex worker หรือคนที่ทำอาชีพในพื้นที่ gray area ผมคิดว่าเขาไม่มีทางเลือกในการทำงานเยอะ นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงทำอาชีพนั้น แล้วเท่าที่สัมผัส พอเราเข้าไปอยู่ใน gray area แล้ว เราจะอยู่ในวังวน อยู่ในวงกลมนั้น แล้วการที่เราจะบอกให้หยุดทำสิ่งนี้ แล้วก็มีคนพูดเรื่องนี้หลายครั้ง แต่พอไปทำอย่างอื่น ทำแล้วมันไม่สำเร็จ ทำแล้วเลี้ยงตัวเองไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เขาก็กลับมา เขาเลยไม่สามารถหลุดออกไปข้างนอกได้ด้วยตัวเอง 

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

 

The People : หนึ่งในตัวละครของ RedLife คือ sex worker คุณมองภาพ sex worker ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

เอกลักญ : ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นอาชีพที่ไม่ดี หรือทำผิดเลย รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ 

ตอนทำรีเสิร์ชหนัง แล้วไปคุยกับมูลนิธิสิทธิสตรีแห่งหนึ่งที่ดูแล sex worker ในเชียงใหม่ เราเจอผู้หญิงทำงาน ทำงานบาร์เบียร์บ้าง เป็น sex worker บ้าง มีฝรั่งด้วยนะ ทุกคนก็จะพูดตรง เขาถามว่าคุณทำอาชีพอะไร ผมก็ตอบว่า เป็นผู้กำกับ แล้วอาชีพคุณต้องขออนุญาตใครในการเป็นไหม ผมก็บอกว่าไม่นะครับ อาชีพคุณมีประกันสังคมไหม เขาบอกว่าไม่ต้องมาเห็นใจอาชีพเขา มันเป็นเรื่องของเขาที่จะทำอาชีพนี้ ก็แค่ให้เรียกว่าเป็นอาชีพ มีประกันสังคม มีสิทธิให้เขา

พอได้ฟังวันนั้นก็เปิดโลกทัศน์นิดหนึ่งว่า ก็ถูก เราไปมองว่าเราจะต้องเห็นใจใครสักคน แต่ในเชิงวิธีคิด เวลาเห็นใจใครสักคนก็คือมองว่าเราเหนือกว่าเลยไปเห็นใจเขา แต่คนตรงนั้นบอกว่า ไม่ต้องมาเห็นใจอะไรกู กูคืออาชีพอาชีพหนึ่ง จบแค่นั้นเอง ก็ช่วยทำให้มันถูกต้อง 

 

The People : ในหนังก็เลยเล่าเรื่อง sex worker ให้เป็นเรื่องปกติด้วย

เอกลักญ : ใช่ เรามองว่า sex worker ก็เป็นตัวละครตัวหนึ่ง เราไม่ได้บอกว่าจะทำหนังเรื่อง sex worker ไม่เลย คือในบริบทมันมีฟังก์ชันเหล่านี้อยู่ แล้วอีกอันที่ท้าทาย คือ ถ้าไม่ปฏิเสธ บ้านเราก็มีภาพลักษณ์แบบนั้นอยู่ 

ในหนัง ในสื่อก็เอาเรื่องนี้มาเล่า เราไม่เคยเห็นในมุมมองอื่น เอาง่าย ๆ สมมติเราจะทำหนังออกมา เชื่อว่าหลายคนมองภาพที่หนึ่ง ต้องนึกว่าจะต้องมีซีนโป๊ ซีนเซ็กซ์ แต่นี่สปอยล์ไว้ก่อนเลย มันไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น เราเล่าความจริงมากกว่า เราไม่อยากเล่าตามสิ่งที่คนอื่นมองว่าควรจะเป็น เรามองว่านี่เป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง คนคนหนึ่ง เขาก็มีความรัก มีลูก อยากดูแลลูก อีกคนก็อยากดูแลแฟนหรือสามี แต่เป็นเรื่องบริบท ชุดความคิด ชุดความรู้ มากกว่า 

เขาอาจจะเลี้ยงลูกไม่เก่ง เลี้ยงลูกไม่เป็น ซึ่งแปลกไหม ก็ไม่แปลก (หัวเราะ) ขนาดเราโตมาเข้าเรียนมหา’ลัย หลาย ๆ คนก็ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น แต่ว่าเขาไม่มีโอกาสตรงนั้นเลย มันไม่แปลกเลยที่เขาจะเลี้ยงลูกไม่เป็น

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

The People : เป้าหมายในการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร

เอกลักญ : พอทำ commercial เป็นผู้กำกับโฆษณา แล้วพอมาทำคอนเทนต์ ต่อยอดมาทำ cinema รู้สึกว่าสังคมมีความหลากหลายมาก แล้วในมุมคนที่ทำงานสาย content provider ก็คิดว่า ถ้าเราสามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้ได้ น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะหนังเรื่องนี้มันพูดถึงวงกลมอีกวงหนึ่งที่อยู่นอกชีวิตเรา 

อย่างผมก็อยู่ที่ทำงานไปเกินครึ่งชีวิตแล้วมั้ง ที่เหลือก็กลับบ้าน อยู่กับครอบครัว ไปกินข้าวร้านอาหารที่อยากกินหรือไม่อยากกินเพื่อให้อิ่มก็แล้วแต่ ไปร้านคาเฟ่นั่งกินกาแฟ ไปโรงหนัง ไปบาร์ ไปดูดนตรี วนอยู่แค่นี้มั้ง เราก็จะเจอคนกลุ่มเดิม สิ่งที่เราเสพคล้าย ๆ เดิม

แต่ผมรู้สึกว่ามีวงกลมที่อยู่นอกวงกลมเราเยอะมาก แรงบันดาลใจหนึ่งของเรื่อง RedLife คือเราเดินผ่านถนนที่มีร้านเหล้า ร้านกาแฟ บ่อยมาก แต่เราไม่เคยมองเห็นคนเหล่านี้ เราเดินผ่านเขาไปเฉย ๆ เขาไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา แต่วันหนึ่งเรามีโอกาสไปคุย มีข้อมูลมิติเชิงลึก มันเกี่ยวข้องกับเราไหม เกี่ยวนะ ถ้าเกิดเราเดินไป แล้วอยู่ดี ๆ วันหนึ่งมีคนมาปล้นเราเหมือนน้องที่เราไปคุย แขนเราหัก พิการ มันเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่รู้วงกลมนั้น 

รู้สึกว่าถ้าหนังทำให้เราเห็นวงกลมอื่น ๆ นอกจากวงกลมเราเอง เห็นคนที่ไม่ถูกรัก เห็นคนชายขอบ เห็นอาชีพนั้น แล้วดูหนังเสร็จ วันต่อมาเขาเดินผ่านหรือเห็นคนชายขอบหรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน บางคนอยู่ในที่ทำงานเดียวกัน ไปกินข้าวกลางวันกันเถอะ คนนี้ไม่เคยถูกเรียกไปเลย เราถือว่าเป็นคนชายขอบของในที่ทำงานเหมือนกัน เขาอาจจะหันไปมองคนคนนั้นมากขึ้นก็ได้

 

The People : แสดงว่าทุกคนสามารถเป็นคนชายขอบได้?

เอกลักญ : แน่นอน

 

The People : RedLife จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ถูกมองเห็นมากขึ้นไหม 

เอกลักญ : ผมมองว่าการเป็น communicator อยากสื่อสารเรื่องนี้ออกไป ทั้งงานเขียน งานวิดีโอ หรือภาพยนตร์ พอสื่อสารไปมันจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางความคิด คนคนหนึ่งอาจจะไม่เคยมองเรื่องนี้ หรือไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ก็จะสนใจมากขึ้น สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของ dot to dot จิ๊กซอว์หลาย ๆ จิ๊กซอว์ที่เริ่มเห็นเรื่องนี้มากขึ้น แล้วก็ลงมาขับเคลื่อน

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง แต่เราไม่ได้มองว่า การเปลี่ยนแปลงมันต้อง disrupt แต่บางทีมันอาจจะเกิดขึ้นจากหลาย ๆ ส่วน ยกตัวอย่างการเมือง วันหนึ่งถ้าเราผลักดันถึงจุดที่สังคมเรา การเมืองเรา ไม่มีคอร์รัปชัน มีผลผลิตเยอะ เป็นประเทศที่มีสตุ้งสตางค์กันได้แบบไม่ลำบาก ด้วยวิธีคิดของคนเก่ง ๆ เต็มประเทศ ถ้าเราสามารถบริหารตรงนี้ได้ดี ถ้ามันเกิดขึ้นได้ ความเหลื่อมล้ำหรือชนชั้นชายขอบที่เราพูดถึงก็อาจจะมีโอกาสมากขึ้น 

 

The People : กระบวนการในการทำ RedLife นานแค่ไหน 

เอกลักญ : ถ้าถึงตอนนี้ก็ปีที่ 5 แล้ว

 

The People : ความยากและความท้าทายของการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร

เอกลักญ : ผมรู้สึกว่าความยากของการทำหนังเรื่องแรกตอนอายุ 40 กว่า มันแบกความคาดหวัง แม้หลายคนจะบอกว่าอย่าไปคาดหวังหนังเรื่องแรก ทำให้ดีสิ จะไปคิดอะไร มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราอยู่ในวงการ ทำงานด้านภาพยนตร์โฆษณามา รู้สึกว่าเรามีความคาดหวังในตัวเองอยู่ประมาณหนึ่ง พยายามสร้างหนังเรื่องนี้ให้ดี โดยไม่กดดันตัวเอง 

ตอนนั้นพอเราจะทำ treatment (โครงเรื่อง) คิดว่าเราเองก็ไม่ได้เก่งเรื่องภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ หรือวิธีการถ่ายภาพยนตร์ ก็เลยไปชวนคนที่เขาเก่งมาอยู่ในทีม ชวนพี่อัม - อมราพร แผ่นดินทอง ซึ่งเป็นคนเขียนบทหนัง GDH หลาย ๆ เรื่อง แล้วพี่อัมเองก็เป็นอาจารย์อยู่แล้ว ฉะนั้นตอนชวนพี่อัมมา เรารู้สึกว่าเรากำลังได้ใช้ short cut 2 เด้ง เด้งที่ 1 เราทำหนัง เด้งที่ 2 เราเรียนรู้เรื่องการเขียนบทภาพยนตร์จากพี่อัมจากการทำงานด้วยกัน ก็ตั้งเป็นทีมเขียนบทขึ้นมา แล้วชวนน้องอีกหลายคนมาร่วมเขียน ก็ใช้เวลาทำ treatment 2 ปี

 

The People : จุดไหนที่ว่าเราโอเคและตัดสินใจถ่ายทำเป็นภาพยนตร์

เอกลักญ : ถามว่าทำไมต้อง 2 ปี จริง ๆ มันมี treatment ร่างแรก ๆ ที่เสร็จภายใน 3 - 4 เดือนด้วยซ้ำ แต่อย่างที่บอกคือเรากำลังหามุมของหนัง เพราะหนึ่ง, มันเป็นหนังที่เราอยากทำ สอง, มันต้องเป็นหนังที่คนอยากดู สาม, มันต้องเป็นหนังที่ทำออกมาแล้วเป็นสิ่งใหม่ และสี่, มันต้องเป็นประโยชน์บางอย่าง ก็เลยพยายามหาตรงกลาง ใช้เวลา 2 ปีในการคิด ตกผลึก 

เพราะหนังเป็นเรื่องของเวลาในการตกตะกอน บางทีไอเดียแรกที่เคยคิดว่าโอเค ชอบมาก แต่พอเราใช้ชีวิต กลับมาคิดมันกลายเป็นไอเดียที่เราสงสัยว่า เอ๊ะ วันนั้นเราชอบมันได้ยังไง ผมเลยรู้สึกว่ามันต้องรอให้ตกตะกอนจนถึงเวลาที่เรารู้สึกคิดว่าใช่ 

ผมหมุนไปหลายร่างมาก แต่ร่างสุดท้ายอาจจะเป็นความชอบส่วนตัว เพราะผมชอบงานศิลปะ งานอาร์ต หรืองานคอนเทนต์ที่นำทั้งสองสิ่งมาชนกัน มันเป็นความร่วมสมัย หนังเรื่องนี้ผมชอบตรงที่ช่วงแรก หนังจะให้ความสำคัญเรื่องประเด็นสังคม พูดเรื่องประเด็นคนชายขอบ 

แต่สุดท้ายหนังไม่ได้พูดเรื่องสังคม มันคือหนังรักที่เล่าผ่านบริบทสังคม มันเป็นหนังรักของวัยรุ่นชายขอบ ก็รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจ น่าจะมีคนที่เขาอาจจะอยากเสพหนังทางนี้อยู่เหมือนกันนะ แล้วก็เป็น taste ที่เราชอบ

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

The People : ตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้านิยามได้หนึ่งอย่าง เขาเป็นคนแบบไหน 

เอกลักญ : เป็นคนที่ไม่ถูกรัก และคนที่พยายามจะดิ้นรนให้ได้มาซึ่งความรัก ซึ่งจริง ๆ เราเชื่อว่าเรื่องนี้มัน universal มาก ทุกคนมีความรู้สึกนั้นกันอยู่ตลอดเวลา ณ ตอนใดตอนหนึ่งของชีวิต แต่ถ้าเรามีโอกาส มีคนข้าง ๆ เรา เราจะหลุดพ้นจากจุดนั้นได้ง่ายมาก แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่มีโอกาส บางทีอกหักแล้วบอกเป็นเหี้ยอะไรของมึง ชีวิตมันก็จะเปลี่ยนไปอีกด้านหนึ่ง มันก็จะหาทางออกจากตรงนั้นได้ผิดที่ผิดทางได้ง่าย

 

The People : ท่ามกลางยุคที่หลายคนเลือกจะดูหนังผ่านแอปสตรีมมิ่งมากกว่าเข้าโรงภาพยนตร์ เหตุผลอะไรที่ทำให้คุณเลือกฉาย ‘RedLife’ ในโรงภาพยนตร์ 

เอกลักญ : ตัวผมจะอยากทำอะไรในเวลาที่คนอื่นเขาไม่ทำ ตอนทำโฆษณาเป็นยุคที่โฆษณาเป็น very high budget มีความต้องการสูง ช่วงนั้นที่บริษัทก็มีงานโฆษณาเยอะมาก แต่เราเห็นเทรนด์บางอย่าง เราเชื่อว่าแบรนด์มีโอกาสที่จะทำเรื่องการสื่อสารในช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น เราเริ่มถอย เริ่มมองว่าเรามีเรื่องอยากจะทำอีกหลายเรื่อง มองเชิงธุรกิจ เราก็ถอยมาดูนิดหนึ่งว่า อนาคตที่เหลือ ทั้งชีวิตเรา บริษัทเรา ทีมเราจะเดินไปทางไหน

แต่ทุกครั้งที่จะเปลี่ยนมันจะมีความ struggle ในตอนเริ่มต้นเสมอ ตอนทำสื่อช่วงแรกก็ไม่มีคอนเนกชันเลย เรียกว่า zero ไม่รู้จักใครเลย ไปติดต่อขอสัมภาษณ์ใคร ก็ไม่มีใครให้สัมภาษณ์ Who is BrandThink? แต่ว่าจังหวะ struggle ตอนนั้นมันประมาณ 2 ปี แล้วค่อยกลับมาได้  เหมือนกันตอนจะทำภาพยนตร์ ข้อแรกก็มีแต่คนเตือนว่า วงการหนังไทยมันผูกขาด ข้อที่สอง คนเข้าโรงภาพยนตร์แล้ว ทุกวันนี้ก็คือสมัคร Netflix ดู Amazon Prime หรือ HBO ใครจะไปดูหนังในโรงภาพยนตร์กัน 

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง การที่บอกว่าโรงหนังไม่มีคนดู แล้วไม่ควรทำหนัง หรือทำหนังแล้วจะเจ๊ง เพราะเรามองว่าโรงหนังเป็นรายได้ทางเดียว เพราะถ้าหนังเข้าโรงจังหวะไม่ดี น้ำท่วม ฝนตก มีม็อบก็อาจจะไม่มีคนเข้าโรง แปลว่าเราอาจจะเสียรายได้ทันที 

แต่ถ้ามองว่าโรงหนังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้กับภาพยนตร์ แล้วอย่างที่สองคือมันสร้างประสบการณ์ได้ เพราะการดูภาพยนตร์ในทีวีกับการที่เราไปนั่งดูจอขนาดใหญ่ร่วมกับคนอีกประมาณเป็นร้อยคน มันคนละความรู้สึก ผมคิดว่าโรงหนังมันน่าจะต้อง serve ตรงนั้น 

คราวนี้โมเดลธุรกิจของ BrandThink Cinema เริ่มตั้งแต่การประสานกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ สร้างมาตรฐานที่ทำให้เราอยู่ในตัวเลือกที่ดีของแพลตฟอร์มเหล่านั้น ข้อที่สามก็คือเรื่องของ distribution การทำตลาดต่างประเทศ เราต้องไปออกพวกบูธเฟสติวัล ฮ่องกง คานส์ ดูว่าแต่ละปีเราจะต้องไป connect กับต่างประเทศอย่างไรบ้าง เพราะช่องทางเรื่องรายได้ต่างประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ

 

The People : สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำหนัง RedLife คืออะไร

เอกลักญ : เยอะมาก พอเราตั้งใจสร้าง RedLife และมันใช้เวลานาน ระหว่างการถ่ายทำมันก็มีจุดที่เหมือนที่จะก้าวข้ามไม่ได้หลาย ๆ ครั้ง  มีช่วงหนึ่งทีมคนหนึ่งเคยถามว่าเอ๊ะ พี่ลักญ หรือเราไม่ทำดีวะ ถ้าเริ่มทำอะไรไปเยอะกว่านี้ งบประมาณจะเริ่มบานปลาย แล้วถ้าไม่สำเร็จ มันจะเสียหายเยอะ ช่วงนั้นก็ลังเลเหมือนกัน แต่เราก็ตอบกลับทีมไปว่า ไม่รู้หรอกว่ามันจะดีหรือไม่ดี แต่ถ้าทำหนังเรื่องนี้ไม่สำเร็จ พี่อาจจะไม่เคารพตัวเองอีกเลยก็ได้

สำหรับพี่ ในวัยนี้มันไม่ใช่เรื่อง passion แล้ว พอถึงจุดหนึ่งมันเป็นเรื่องการเคารพตัวเอง เราคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ให้ได้ แล้วถ้าเรายอมแพ้ อนาคตเราคงจะยอมแพ้อีกหลาย ๆ เรื่อง ก็เลยรู้สึกว่ายังไงเราต้องทำให้มันสำเร็จ จะขาดทุน จะเจ๊ง หนังจะออกมาดีไม่ดีก็แล้วแต่ แต่รู้สึกว่าต้องทำให้มันสำเร็จ ออกมาให้มันเป็นรูปธรรมให้ได้

มันเป็นโปรเจกต์ที่สำคัญที่สุดโปรเจกต์หนึ่งของชีวิต คราวนี้ถ้าเราทำมันไม่ได้ เราก็จะสูญเสียความเคารพตัวเอง เพราะว่านี่คือเรื่องที่เราให้ความสำคัญสูงสุด น่าจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเองที่เชื่อว่าเราเป็นคนมีความพยายาม มีความตั้งใจ อาจจะไม่เคารพตัวเราเองในจุดนั้น

 

The People : ถ้าทำหนังไม่สำเร็จจะรู้สึกเฟลกับตัวเอง อาจเป็นเพราะเรียนจบด้านภาพยนตร์ด้วยไหม

เอกลักญ : ถูก ผมจะชอบนึกภาพตัวเอง สมมติถ้ามีโอกาสอายุถึง 70 เรามองย้อนกลับมาแล้วเรานั่งนึกว่า ทำไมตอนนั้นเราไม่ทำอย่างนี้นะ ผมไม่อยากมีชุดความทรงจำแบบนั้น คือทำให้มันเสร็จ ทำให้ออกมาดีที่สุด แล้วสุดท้ายมันจะ success ไม่ success เราก็ภูมิใจ เพราะถือว่าทำแล้ว 

รู้สึกว่าภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องมันอยู่ตลอดไป หนังหลาย ๆ เรื่องที่วันแรกเราชอบมาก วันนี้เราไปดูอาจจะคิดว่า เฮ้ย ชอบได้ไงวะ อีกหลาย ๆ เรื่องเราอาจจะรู้สึกว่าเอ๊ะ ทำไมเรื่องนั้นตอนเราดูเฉย ๆ พอเรามาดูในวัยนี้หรือในบริบทสังคมตอนนี้มันกลายเป็นหนังที่ดีมาก เรารู้สึกว่ามันเป็นสื่อที่ทรงพลัง

 

The People : แล้วคุณอยากให้คนดู RedLife รู้สึกแบบไหนในวันที่เขากลับมาดูอีกครั้ง

เอกลักญ : ผมคิดว่าหนังที่ดี มันคือหนังที่เราดูเสร็จแล้วเราเกิดคำถามบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามที่หนังตั้งใจถาม อาจเกิดจากคอนเซ็ปต์ ธีม ตอนจบของหนัง หรืออาจเป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ อยู่ใน dialogue บางไลน์ มันเกิดขึ้นได้หมด ถ้าถามว่าอยากให้คนดูรู้สึกอะไร อยากให้เขาตั้งคำถามบางอย่าง ซึ่งคำถามนั้นเป็นคำถามที่สำคัญในชีวิต หรือทำให้เขา move on บางอย่างได้ดีขึ้น 

 

The People : หนังเรื่องนี้จะช่วย 'Create a Better Tomorrow' ได้อย่างไร

เอกลักญ : จริง ๆ ในคำว่า ‘Create a Better Tomorrow‘ คำที่ยึดโยงที่สุดจะเป็นคำว่า better สำหรับคนทำ การทำหนังเรื่องนี้มันทำให้เราพัฒนาตัวเองทางด้านความคิด หรือการทำงาน 

แต่สำหรับคนอื่น better ก็คงคล้าย ๆ กับที่ตอบไปว่า มันคงดีถ้าเราจะมีโอกาสดูวงกลมวงอื่นบ้างผ่านสื่อบันเทิง เราเชื่อว่า หนังเราคือหนัง หมายถึงมันมี entertainment value สนุก ดูจบได้โดยไม่ฝืน แล้วเราก็ได้เรียนรู้วงกลมอีกวง มันทำให้คนในสังคมมี empathy กันมากขึ้น

The People : หนังเรื่องแรกทำสำเร็จแล้ว หนังเรื่องที่ 2 อยากทำแนวไหน

เอกลักญ : ก็กลับไป process ที่ 1 รู้สึกว่าเรามีไอเดียหลายอัน ก็ยังรอการตกผลึกว่า เราจะทุ่มเวลาอีก 1 ใน 20 ของชีวิต หรือ 1 ใน 10 ของชีวิตเราไปทำสิ่งนั้นอีกหรือเปล่า มันจะมี value หรือยัง ก็หาอยู่ กำลังตบ ๆ ว่ามันควรจะเป็นอันไหน

 

The People : แล้วหนังเรื่องต่อไปของ BrandThink Cinema จะฉายอีกครั้งเมื่อไหร่ 

เอกลักญ : จริง ๆ เรามี line up ปีหน้าจะมีประมาณ 2 เรื่องที่เข้าโรง มีสารคดีเกี่ยวกับมวยไทยชื่อ Fifth Round เข้าโรงช่วงต้นปี แล้วก็ตอนท้ายปีก็มีหนังอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังพัฒนากันอยู่ ก็จะต้องรีบเร่งผลิต จะเป็นหนัง Thriller Horror ปีถัดไป ปี 2025 ก็จะมี ‘ลับแลแก่งคอย’ ที่เป็นหนังสือของพี่อุทิศ เหมะมูล กำกับโดย พี่ต้อง - เป็นเอก รัตนเรือง ก็จะทำออกมา น่าจะ launch ปลายปีเราก็มีโปรเจกต์ที่เอา ‘อินทรีแดง’ มา recreation ใหม่ ไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับอินทรีแดงเดิม ๆ

‘เอกลักญ กรรณศรณ์’ ผู้กำกับ RedLife ที่ชวนสำรวจวงกลมที่แตกต่างผ่านหนัง

The People : แล้วในอนาคต BrandThink จะทำหนังที่ฉีกและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่น ๆ ในตลาดไหม

เอกลักญ : ก็ตั้งใจจะทำอะไรที่มันใหม่ creative แต่ถามว่าฉีกจากตลาดไหม ผมว่าตอนนี้ทุกคนก็ทำอะไรที่มันใหม่ ซึ่งสุดท้าย มากกว่าความใหม่ คือ มันเป็นตัวเราไหม มันก็จะเป็นชุดของทีม ชุดความคิดทีม taste ของทีม เราก็สร้างความหมายในแบบของเรา

 

The People : สุดท้าย อยากให้ฝากถึงภาพยนตร์เรื่อง RedLife ที่กำลังจะเข้าโรง 2 พฤศจิกายนนี้

เอกลักญ : อยากให้ RedLife เป็นภาพยนตร์ที่คนเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ เกิดประสบการณ์ใหม่และความรู้สึกใหม่ ๆ จากการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ที่อาจจะทำให้เราได้เห็นเรื่องของวงกลมอีกหลาย ๆ วงที่อยู่นอกวงกลมที่เราใช้ชีวิตอยู่ เป็นรสชาติที่อาจจะแตกต่างกับหนังไทยที่เราทำกัน เป็นทางเลือกใหม่แล้วกัน ซึ่งผมมองว่ามันก็เป็น entertainment อย่างหนึ่ง ก็นั่นแหละครับ ไม่มีอะไร ฝาก RedLife 2 พฤศจิกาย