อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

‘อนาสเตเซีย จาง’ (Anastasia Tsang) ผู้กำกับภาพยนตร์เลือดใหม่แห่งเกาะฮ่องกง เจ้าของผลงาน ‘A Light Never Goes Out’ เรื่องราวที่ตีแผ่เรื่องราวของการเลือนหายไปของไฟฮ่องกงที่จะเป็นกระจกสะท้อนมาสู่ตัวเรา

‘หนังฮ่องกง’ ถ้าได้ยินคำนี้คุณนึกถึงหนังแบบไหน? บู๊แหลกแหกนรก หนังที่มีเฉินหลง หรือหนังที่มีทีมพากย์พันธมิตรเป็นผู้ให้เสียงภาษาไทย? แต่ละคนก็คงมีความรู้สึกต่อคำว่าหนังฮ่องกงหลากหลายกันไป แต่ภาพจำที่ว่าอาจไม่ตรงกับปัจจุบันขนาดนั้น เพราะหนังฮ่องกงก็วิวัฒน์ไปเรื่อย ๆ และแม้ว่าอาจจะมีภาพจำไม่เหมือนเดิม แต่ก็ใช่ว่าความน่าสนใจของมันจะเลือนหายไป

นิทรรศการ ‘Next Generation: Emerging Directors Exhibition’ ที่เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม ถึง 11 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงภาพยนตร์ House สามย่าน ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นตัวตนของ ‘หนังฮ่องกง’ ที่แท้จริงอีกครั้ง ผ่านผลงานของภาพยนตร์ของผู้กำกับฮ่องกงสายเลือดใหม่ ที่มาพร้อมผลงานของตัวเองมานำเสนอให้กับเราได้ชม

ท่ามกลางผู้กำกับมากมายที่น่าสนใจ ‘อนาสเตเซีย จาง’ (Anastasia Tsang) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘A Light Never Goes Out’ ที่พูดถึงครอบครัวคนของคนสร้างไฟนีออนในฮ่องกงที่ค่อย ๆ เลือนหายไป ด้วยมาตรการจากรัฐบาลที่ให้รื้อถอนมันออกไป คือหนึ่งในคนที่หลายคนต่างก็ให้ความสนใจ ประการหนึ่งอาจเป็นเพราะเธอคือตัวแทนของเหล่าภาพยนตร์ฮ่องกงไปเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศที่กำลังจะมาถึงในปีหน้านี้ อีกประการหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะแรงปณิธานของเธอ ที่หวังจะชุบชีวิตแสงนีออนในเมืองฮ่องกงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

 

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

และในโอกาสนี้ The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอ ถึงภาพยนตร์ที่เธอพกติดตัวมาด้วย จนได้ค้นพบว่า แสงไฟนีออนที่ว่า ไม่เพียงแค่เป็นภาพแทนของเอกลักษณ์และความงามที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องของวันวาน แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนมาหามนุษย์อย่างเรา ๆ ที่ ไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องเผชิญกับ ‘ความสูญเสีย’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อะไรทำให้เธอนำสองเรื่องนี้มาผูกโยงผสานกันเป็นหนึ่งเดียว? 

เธอมีความรู้สึกอย่างไรที่ไฟนีออนกำลังเลือนหายไปจากฮ่องกง?

แล้วเธอมองว่าเราควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร?

และนี่คือเรื่องราวของเธอ ‘อนาสเตเซีย จาง’ ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับสู่คืนฮ่องกงและเวทีออสการ์

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

The People : คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่หนังของคุณ รวมถึงหนังฮ่องกงของผู้กำกับท่านอื่น ๆ ได้ถูกนำมาฉายในไทย?

อนาสเตเซีย จาง : ตื่นเต้นทีเดียวเลยล่ะ และก็เซอร์ไพร์สมาก ๆ ด้วยที่งานใหญ่ขนาดนี้ ฉันว่างานนี้น่าจะทำให้ชาวไทยเห็นภาพมากขึ้นว่า ณ ตอนนี้หนังฮ่องกงเป็นอย่างไรบ้าง จากเดิมที่เวลานึกถึงหนังฮ่องกงก็จะเป็นภาพจำแบบเดิม ๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากมองที่ตอนนี้ ฉันคิดว่าหนังฮ่องกงได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเราก็ได้สร้างสรรค์หนังแบบใหม่ ๆ ออกมาเพียบ ฉันเลยคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีเยี่ยมที่จะนำเสนอภาพยนตร์ยุคใหม่ของฮ่องกงค่ะ

 

The People : ภาพยนตร์เรื่อง A Light Never Goes Out พูดถึงแสงไฟนีออนกับความรู้สึกโศกเศร้าจากการสูญเสีย อะไรบันดาลใจให้คุณนำเอาสองสิ่งนี้มาผูกผสานกันจนเกิดเป็นหนังเรื่องนี้?

อนาสเตเซีย จาง : มันเริ่มต้นจากการที๋ฉันอยากเล่าถึงเรื่องราวที่ว่าด้วยความเสียใจที่มาจากการสูญเสีย เพราะว่าฉันได้เห็นญาติของฉันคนหนึ่งสูญเสียสามี ฉันเลยลองนึกต่อว่าพวกเขาจะรับมือกับความสูญเสียเหล่านั้นอย่างไร เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงเอเชียจะใช้ชีวิตอยู่กับสามีของตัวเองเป็นหลักเลย และเมื่อเขาคนนั้น คนที่สำคัญที่สุดในชีวิตเดินจากไป แถมลูก ๆ ก็เติบโตและย้ายออกไปอีก จนเขาต้องอยู่คนเดียว เขาจะรู้สึกอย่างไร?

ฉันตั้งต้นจากเรื่องนั้น แต่หลังจากนั้นฉันก็คิดต่อว่า ถ้าอยากจะทำหนังฮ่องกง งานภาพ งานศิลป์แบบไหนที่จะช่วยเล่าเรื่องได้อีก ฉันเลยมองว่าอยากจะเพิ่มองค์ประกอบด้านภาพที่จะบอกได้ทันทีว่านี่คือฮ่องกง ฉันก็เลยลองคิดดูว่ามันมีวิธีอื่นอีกไหมนอกเสียจากฉากบู๊หรือตำรวจจับโจร นึกไปนึกมาฉันเลยไปเจอเข้ากับ ‘ไฟนีออน’ ซึ่งถือเป็นภาพจำที่ดังไกลไปทั่วโลกเลยเมื่อพูดถึงฮ่องกง

นอกจากนั้นอีกเหตุผลที่ทำให้ฉันสนใจไฟนีออนก็เป็นเพราะมันกำลังค่อย ๆ ถูกรื้อถอน ฉันเลยคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะบันทึกอะไรเหล่านี้เอาไว้ เพราะมันอาจจะเป็นแสง (นีออน) สุดท้ายที่สว่างไสวในฮ่องกงก็ได้ มันเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งวัฒนธรรมและเมือง

จากจุดนั้น ฉันเลยเริ่มรู้สึกได้ว่าสองประเด็นนี้ — ความสูญเสียและไฟนีออน — มันมีจุดร่วมที่สามารถไปด้วยกันได้ เพราะสิ่งหนึ่งก็เกี่ยวกับความเศร้าโศกจากการสูญเสีย อีกสิ่งก็เกี่ยวกับการค่อย ๆ เลือนหายไปของสิ่งหนึ่งที่เคยสำคัญมาก ๆ ทั้งสองมีแก่นเดียวกัน ฉันเลยนำทั้งสองสิ่งมาผูกโยงกันเป็นเรื่องเดียวกันจนมันออกมาเป็น A Light Never Goes Out

 

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

 

The People : แสงไฟนีออนในฮ่องกงที่เคยมีอยู่ค่อย ๆ เลือนหายไป คุณว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงอะไรบ้าง?

อนาสเตเซีย จาง : มันสะท้อนให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของฮ่องกงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างมันเปลี่ยนไปมาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มันมีความรู้สึกว่าเราทำบางอย่างหล่นหายไป เวลาฉันอ่านข่าว ก็จะเจอแต่เรื่องราวที่ร้านเก่า ๆ ค่อย ๆ ปิดตัวลง เกิดขึ้นแบบนี้ซ้ำไปมาทุกวัน สิ่งที่คุณคุ้นเคยในตอนเด็ก ในวันนี้ไม่มีอีกแล้ว 

อีกเรื่องก็คงเป็นเรื่องการอพยพไปที่อื่น โดยเฉพาะกับเพื่อนของฉันเอง แทบจะทุกเดือนเลยนะที่ฉันจะมีสายโทรศัพท์จากเพื่อนโทรเข้ามาเพื่อนัดดินเนอร์ก่อนลาจาก และพอมีสายแบบนั้นเข้ามาฉันก็นึกตลอดว่า “เชี่ย จะไปอีกคนแล้วหรอเนี่ย” มันเป็นเรื่องที่หนักหนาที่จะแบกรับนะ มันเหมือนเป็นความรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างของเราค่อย ๆ ถูกเฉือนหายไปตามกาลเวลา เพราะสิ่งที่เคยอยู่กับเรา ที่ก่อร่างสร้างเป็นตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สิ่งของ หรือผู้คน ค่อย ๆ เลือนหายไปที่ละเล็กละน้อยตามกาลเวลา บางทีฉันก็รู้สึกว่าทำอะไรกับมันไม่ได้เลย แต่ในขณะเดียวกันมันก็ช่างเป็นปรากฎการณ์ที่ธรรมดาเสียเหลือเกินสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง แต่เราแค่ยังไม่รู้วิธีที่ดีที่จะจัดการกับการสูญเสียหรือหายไปเหล่านี้เท่านั้นเอง ตลอดเรื่องฉันก็พยายามจะหาคำตอบว่าจะจัดการกับมันอย่างไร หรือว่าไอการจากลาหายไปแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะบางทีการจากกัน มันก็จะนำเราไปหาอะไรใหม่ ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทักษะในการที่จะอดทนและก้าวผ่านอะไรแบบนี้ไปให้ได้

 

The People : แล้วจากมุมมองของคุณ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราจะจัดการกับตัวเองเมื่อเผชิญกับการสูญเสียพวกนี้อย่างไรดี?

อนาสเตเซีย จาง : จากที่ฉันเคยไปศึกษามา เมื่อเราพูดถึงการสูญเสียสมาชิกครอบครัว วิธีที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับความรู้สึกแบบนี้ได้คือหาบางอย่างที่พวกเขาเหล่านั้นทิ้งไว้เพื่อมายึดเหนี่ยวตัวเอง ไม่ได้หมายความว่ามันต้องเป็นมรดกพันล้าน แต่เป็นอะไรก็ได้ที่มีคุณค่าทางใจ และทำให้สิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราจะเห็นได้บ่อยครั้งว่าบางทีภรรยาหรือลูกหลานหลายคนก็สืบทอดกิจการจากรุ่นก่อน ๆ ที่เคยทำมา นอกจากเรื่องเงินตรา การทำเช่นนั้นมันก็เหมือนว่าคน ๆ นั้นยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน 

 

The People : ถ้าต้องเลือกหนังที่ชอบที่สุดมาหนึ่งเรื่องจะเป็นเรื่องไหน?

อนาสเตเซีย จาง : ฉันเกลียดคำถามนี้!!! ถ้าอะไรผุดขึ้นมาในหัวก็จะตอบตามนั้นก็แล้วกันนะ ฉันเกลียดคำถามนี้! ถ้าสำหรับวันนี้ฉันขอเลือกเป็น Werckmeister Harmonies (2000) ของ เบลา ทาร์  (Béla Tarr) ก็แล้วกัน 

 

The People : ทำไมถึงเป็นเรื่องนี้?

อนาสเตเซีย จาง : ประการแรกเพราะมันเป็นหนังขาว-ดำ หนังแทบทุกเรื่องของเขามันมีความเป็นกวีมากเลยนะ แม้จะว่าจะไม่ได้เข้มข้นด้านการเล่าเรื่องมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความกวี และความหมายที่สอดแทรกอยู่ใน Mise en scène, การออกแบบท่าเต้น, การแสดง, รวมถึงงานภาพ เมื่อผสานรวมกันแล้สมันสื่อสารด้านปรัชญาที่เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับสรรพสิ่งได้อย่างดีเยี่ยมเลยล่ะ หนังมันพูดถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีสมบูรณ์ในดนตรี แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงสังคมมนุษย์ด้วย… และนั่นคือคำตอบของฉัน ‘ในวันนี้’ นะคะ

 

The People : เอาล่ะ ไปที่เรื่องของวันพรุ่งนี้บ้างดีกว่า… คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่ A Light Never Goes Out เป็นตัวแทนภาพยนตร์จากฮ่องกงที่ไปเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ?

อนาสเตเซีย จาง : ก็เป็นเรื่องเซอร์ไพร์สมากเลยนะคะ เพราะว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาฮ่องกงมีแต่หนังดี ๆ ทั้งนั้นเลย แต่ตัวฉันเองก็รู้สึกภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนจากฮ่องกง และฉันก็คาดหวังว่า จากโอกาสในนี้ จะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ภาพยนตร์ฮ่องกงถูกนำเสนอและเห็นโดยผู้ชมต่างประเทศมากขึ้น

 

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

 

The People : นับเป็นเรื่องยินดีมากที่ผลงานของคุณกำลังนำพาภาพยนตร์ฮ่องกงไปสู่เวทีโลกได้ ว่าแต่เส้นทางของคุณเป็นอย่างไรบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะผมทราบมาว่าเดิมทีคุณไม่ได้เรียนมาทางสายภาพยนตร์เลย

อนาสเตเซีย จาง : ใช่แล้วล่ะ เพราะแรกเริ่มเดิมทีฉันเรียนด้านวัฒนธรรมศึกษาน่ะ แล้วก็ได้ไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยด้านการเมืองในปารีส ซึ่งวิชาส่วนใหญ่ที่จะได้เรียนก็จะเป็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอาจริง ๆ มันก็คล้ายกับว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ฉันหาตัวตนนะ เพราะฉันก็เน้นไปแต่ด้านที่ฉันไปแลกเปลี่ยน ไม่ใช่วิชาเอก

 

The People : แล้วระหว่างหาตัวเองนั้นได้ไปข้องเกี่ยวกับภาพยนตร์บ้างไหม?

อนาสเตเซีย จาง : ไม่เลยล่ะ (หัวเราะ) แต่มันก็มีส่วนที่เกี่ยวบ้างสักหน่อยแหละมั้ง เพราะว่าฉันก็ได้อ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์เยอะมาก เพราะเราก็มองว่าภาพยนตร์ก็เหมือนสื่อกลางที่ช่วยสะท้อนแนวคิด ปรากฎการณ์ และวัฒนธรรมในแต่ละสังคม และด้วยความที่ฉันเรียนด้านวัฒนธรรม ก็คงปัดภาพยนตร์ตกไปไม่ได้

 

The People : แล้วทีนี้จุดเปลี่ยนไหนกันที่พาคุณมาเดินเส้นทางสายภาพยนตร์ได้ล่ะ?

อนาสเตเซีย จาง : เรื่องมันก็ยาวเลยล่ะ มันตั้งต้นจากการที่ฉันชอบเรื่องราวแนวดราม่า ชอบงานเขียน ชอบดูหนังตั้งแต่ยังเด็ก แต่ก็ไม่เคยมีความฝันที่อยากเป็นผู้กำกับแวบเข้ามาในหัวนะ ฉันแค่คิดว่าสักวันอยากจะเป็นนักเขียน (ซึ่งตอนนี้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นเช่นนั้นแหละนะ) ตอนเริ่มงานฉันก็ไปทำงานในด้านที่เกี่ยวกับสื่อนี่แหละ เช่นโปรดัคชั่นรายการโทรทัศน์ หรือการจัดจำหน่ายภาพยนตร์

แต่ในขณะที่ฉันทำงานหลักพวกนั้นอยู่ ฉันก็มีโอกาสที่จะได้ทำหนังสั้นเรื่องแรกเป็นข้องตัวเองด้วย ซึ่งก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของผู้หญิงข้ามเพศ และนั่นแหละจุดเปลี่ยนของฉัน ฉันรู้สึกว่าการทำหนังเรื่องนั้นเสร็จมันปลุกอะไรสักอย่างในตัวขึ้นมา และมันก็กลายเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะเมินเฉยต่อความรู้สึกนั้น มันเป็นความรู้สึกที่กระหายอยากจะทำอย่างหนักมาก ๆ

ณ จุดนั้นฉันเลยตระหนักรู้ว่า ฉันได้พบสิ่งที่ฉันอยากจะทำจริง ๆ แล้ว เพราะในตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันมักจะมีความรู้สึกลึก ๆ ว่ามีอะไรบางอย่างในตัวฉันที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม และสิ่งนี้แหละจะมาเติมคำในช่องว่างตรงนั้นได้ ซึ่งภายหลังจากนั้นฉันก็ลาออกงานประจำ มาเริ่มงานฟรีแลนซ์ด้านโปรดัคชั่นภาพยนตร์มาจนถึงบัดนี้

 

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง

 

The People : เป้าหมายตอนนี้ของคุณคืออะไร?

อนาสเตเซีย จาง : ทำหนังเรื่องต่อไป

 

The People : คุณว่าภาพยนตร์มันเปลี่ยนโลกได้ไหม?

อนาสเตเซีย จาง : ฉันไม่รู้นะว่าภาพยนตร์มันสามารถเปลี่ยนโลกได้ไหม แต่ฉันแน่ใจว่ามันสามารถเปลี่ยนผู้คนได้ การเปลี่ยนแปลงที่ว่า ถ้ามันมีจริง ฉันก็คิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนราวเวทย์มนต์หรอกนะ มันก็คงต้องใช้เวลาฟูมฟักและเปลี่ยนแปลงในความคิดของผู้คน ฉันเลยคิดว่า เมื่อกาลเวลาผ่านมัน ความเปลี่ยนแปลงย่อมมาถึง

จริง ๆ แล้วสิ่งนี้เป็นความเชื่อมั่นของฉันตั้งแต่ทำหนังเรื่องแรกแล้วแหละนะ ฉันทำหนังที่พูดถึงคนข้ามเพศ ฉันบอกกับตัวเองในตอนนั้นว่า แม้มีเพียง 5 คนที่ดูหนังของฉัน แต่พวกเขาจะต้องมีมุมมองต่อคนข้ามเพศที่เปลี่ยนไป และเมื่อพวกเขาเหล่านั้นนำมันไปแบ่งปันต่อ การเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมขยายตัวไปมากกว่าเดิมอีกแน่นอน ดังนั้นฉันว่าการเปลี่ยนแปลงมันย่อมเกิดขึ้นแหละ แต่มันจะค่อย ๆ ไม่ใช่ชั่วข้ามคืน

 

The People : แสงไฟนีออนตอนนี้ค่อย ๆ เลือนหายไป คุณคิดว่าเราทำอะไรกับมันได้บ้างไหม หรือเราควรจะโอบกอดมันเท่าที่ทำได้ และบันทึกมันไว้อยู่ในความทรงจำที่สวยงามในอดีตก็เพียงพอ?

อนาสเตเซีย จาง : แรกเริ่มเดิมทีฉันสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อตีแผ่ว่าเราควรจัดการกับการสูญเสียอย่างไร ซึ่งหลายคนก็มองแบบนั้นนะ ว่ามันเกี่ยวกับความคิดถึงหรือการสูญเสีย แต่พันธกิจที่แท้จริงของฉันคือการนำเอาแสงนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง ให้แสงไฟนีออนกับเมืองของฮ่องกงอยู่คู่กันไปตลอดกาล อย่างน้อยก็ในโลกของภาพยนตร์ก็ยังดี 

 

อนาสเตเซีย จาง : ผู้กำกับเลือดใหม่ที่นำไฟนีออนกลับคืนสู่ฮ่องกง