วิวัฒนาการอาหารไทย ผ่านนวนิยาย ‘พรหมลิขิต’ เมนูโปรดที่แต่งเติมจากความตั้งใจของผู้เขียน

วิวัฒนาการอาหารไทย ผ่านนวนิยาย ‘พรหมลิขิต’ เมนูโปรดที่แต่งเติมจากความตั้งใจของผู้เขียน

เล่าวิวัฒนาการอาหารไทย ผ่านการวิเคราะห์และมุมมองจาก 'รอมแพง' หรือ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ผ่านนวนิยายพรหมลิขิต จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในรูปแบบ Soft Power ของเมืองไทย

  • วิวัฒนาการอาหารไทยในแต่ละยุคสมัยที่ช่วยสร้างมิติอื่น ๆ ในนวนิยาย หรือ ละครโทรทัศน์
  • แนวคิดจาก 'รอมแพง' เกี่ยวกับนวนิยายพรหมลิขิต และการสอดแทรกอาหารไทย

คงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดที่มีการพูดถึงละครเรื่องพรหมลิขิต ที่ถูกเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมอาหารไทย ด้วยความที่มีหลายเมนูเรียกน้ำลายปรากฏในเนื้อเรื่องอยู่บ่อย ๆ ทั้งวัตถุดิบอาหาร ไปจนถึงกระบวนการทำ วิธีการปรุงในแต่ละจาน ผสานสอดแทรกระหว่างเส้นเรื่องหลักอย่างไม่เคอะเขิน

ในฐานะที่เรื่องพรหมลิขิตอ้างอิงมาจากนวนิยายในยุคสมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการศึกษาของอาจารย์กอบแก้ว นาจพินิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้พูดถึงความเป็นมาของอาหารไทยที่เริ่มรับเอาวัฒนธรรมอาหารจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีสัมพันธไมตรีทั้งทางการทูตและการค้ากับต่างประเทศ

โดยเป็นยุคสมัยที่คนยังคงนิยมกินปลาเป็นอาหารหลัก และมีอาหารประเภทต้ม แกง มีการใช้น้ำมันจากมะพร้าว และมีการใช้กะทิเกิดขึ้น รวมทั้งมีการถนอมอาหารและการใช้เครื่องเทศ จนช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่เริ่มรับเอาอิทธิพลของอาหารจีนเข้ามามากขึ้น เพราะไทยได้ตัดสัมพันธ์กับชาติตะวันตกไป

ถึงอย่างไรไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย วัฒนธรรมอาหารของไทยยังคงสอดคล้องกับวรรณคดี หรือบทนวนิยายอย่างแยกกันไม่ออก การศึกษาจากวิทยานิพนธ์ของ ธนภัทร พิริย์โยธินกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พูดถึงวัฒนธรรมอาหารที่มีบทบาทต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีไทย โดยผลการศึกษาได้ยกตัวอย่างยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากบทละครเรื่อง ‘พระศรีเมือง’ ซึ่งการพรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณผลไม้ รวมถึงวัตถุดิบอื่น ๆ เกิดขึ้นจากการเพาะปลูก ไม่ใช่จากธรรมชาติ และนอกจากจะสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว ความสำคัญของอาหารยังเป็นบ่อเกิดแห่งอารมณ์ปีติสุขของตัวละครด้วย

กวี วรรณคดี หรือนวนิยาย ก็ล้วนแล้วเป็นคำบอกเล่า การพรรณนาที่บ่งบอกทั้งความนึกคิด ความรู้สึก และห้วงอารมณ์ของตัวละครทั้งหลายอย่างมีอรรถรสผ่านตัวอักษร

ดังนั้น การที่หลาย ๆ ฉากที่ปรากฏในละครพรหมลิขิต และมีการแต่งแต้มเมนูอาหารที่มากขึ้น ต่างจากเวอร์ชันที่เป็นนวนิยาย ผู้เขียนมองว่าเป็นความพยายามที่น่าสนใจของทางช่อง 3 ที่อยากนำเสนออาหารไทยที่หลากหลายขึ้น แตกต่างจากที่คนชาติอื่นรู้จักบ้าง ถือเป็นการเพิ่มอรรถรสทางสายตาผู้ชมละครได้อย่างหนึ่ง ทั้งภาพและเสียงผ่านกรรมวิธีอันละเมียดของแม่หญิงพุดตาน และบางฉากที่ถ่ายทอดผ่านคุณหญิงการะเกด (เบลล่า - ราณี แคมเปน)

จนเกิดเป็นการรวบรวมเมนูอาหารจากเรื่องพรหมลิขิตบนโลกโซเชียลมีเดีย ทั้ง หมูกระทะ, ไข่เจียวกุ้ง, ปลาทอดสามรส, น้ำพริกปลาย่าง, กุ้งเผาน้ำจิ้มซีฟู้ด, ต้มยำปลาแรด, ปลาตะเพียนทอด, ยอดผักหวานผัดไข่, ก๋วยเตี๋ยวบก, น้ำพริกกุ้งสดมะม่วงสอย, จับฉ่าย, ไข่เจียวโหระพา, ขนมสี่ถ้วย เป็นต้น

ในมุมของ ‘จันทร์ยวีร์ สมปรีดา’ เจ้าของนามปากกา ‘รอมแพง’ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องพรหมลิขิต ได้บอกผู้เขียนว่า “บทในนวนิยายเป็นความตั้งใจที่อยากจะเล่าเรื่องอาหารที่เราอยากกินหรือเราชอบกินมากกว่าค่ะ ซึ่งในละครโทรทัศน์เขาเพิ่มเมนูอาหารเข้าไปเยอะเลยค่ะ ในนวนิยายไม่ได้มีเยอะมาก

“ส่วนตัวไม่ได้ตั้งใจที่จะใส่ให้มันเป็น Soft Power แต่คิดว่าในทางของละครโทรทัศน์เขาน่าจะตั้งใจให้เป็นเหมือน Soft Power นะคะ เพราะทางช่อง 3 เขานำเสนอละครไปประมาณ 10 ประเทศ คิดว่าอยากให้เห็นว่าอาหารไทยมีอะไรที่น่าลองกินบ้าง ถ้าเกิดว่าคนดูเป็นชาวต่างชาติ หรือแม้แต่คนไทยกันเองเห็นแล้วรู้สึกอยากกิน มันก็สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อเสาะหาอาหารตามเมนูที่ได้เห็นในละครโทรทัศน์ก็ได้ค่ะ”

ในฐานะที่ผู้เขียนก็ไม่ได้อ่านเรื่องพรหมลิขิตในเวอร์ชันที่เป็นนวนิยาย เลยอยากรู้ว่าเมนูไหนกันแน่ที่อยู่ในนวนิยายและเป็นเมนูโปรดของรอมแพง เธอยกตัวอย่างว่า “น้ำพริกกุ้งสดที่สอยมะม่วงลงไปค่ะ แล้วก็ผักหวานผัดไข่ ปลาทอด แล้วก็จับฉ่ายค่ะ”

 

ไม่มีความบังเอิญในโลก

หากใครติดตามละครหรือได้อ่านนวนิยายพรหมลิขิต จะรู้สึกได้ว่าเป็นเรื่องราวของความบังเอิญที่(เหมือน)จะบังเอิญ ซึ่งได้ต่อเนื่องมาจากเรื่องบุพเพสันนิวาส นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องแรกของรอมแพง ผู้เขียนจึงถามเธอว่า แรงบันดาลใจจากการเขียนนวนิยายเรื่องพรหมลิขิตมาจากที่ไหน?

“ประสบการณ์ส่วนตัวของพรหมลิขิตก็น่าจะมาจากเราอ่านหนังสือธรรมะด้วยมั้งคะ แล้วก็อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการค้นหาความหมายของการที่เราเกิดมา แล้วทำไมต้องไปเจอบางเหตุการณ์ที่มันเหมือนเป็นความบังเอิญ แต่จริง ๆ แล้วเหมือนโดนจัดวางไว้อยู่แล้ว เราเชื่อว่าไม่มีเหตุบังเอิญในโลกใบนี้

“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอดีตที่เราเคยทำบางอย่างมา ในอดีตเราอาจคิดว่าสิ่งที่โดนกระทำมันไม่ยุติธรรมสำหรับเรา แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี เราถึงได้รู้ว่าไอ้สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่ยุติธรรม วันหนึ่งมันอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เราในตอนนี้ก็ได้”

เธออยู่กับการเขียนนวนิยายเรื่องพรหมลิขิตนานเกือบ 2 ปี เหตุเพราะคุณแม่ไม่สบายและเธอต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลคุณแม่ พอฟังมาจนถึงตอนนี้ ลึก ๆ ผู้เขียนก็แอบคิดว่า หรือจังหวะและเหตุผลที่ทำให้เธอเขียนนวนิยายเสร็จช้ากว่าทุกที อาจเป็นความบังเอิญที่ถูกจัดวางไว้ให้ภาคต่อของเรื่องบุพเพฯ ไทม์มิ่งอยู่ช่วงนี้พอดิบพอดีกันนะ

เมื่อความสงสัยคลายลง ผู้เขียนถามต่อเรื่องความยากของการเขียนพรหมลิขิตเป็นอย่างไร หรือพรสวรรค์ในการแต่งเติมสีสันของนวนิยายรอมแพงทำให้เธอผ่านฉลุยได้ดี แต่ครั้งนี้เธอกลับบอกว่า “ยากขึ้น เพราะตอนที่เขียนบุพเพฯ เราไม่ได้นึกภาพว่าจะต้องเป็นใคร หน้าตาแบบไหน หรือนักแสดงคือใคร คือเป็นคนในจินตนาการเลยค่ะ แต่พรหมลิขิตตัวละครในละครโทรทัศน์มันฝังอยู่ในหัว เลยกลายเป็นว่าเราเห็นภาพนักแสดงคนนี้แสดงไปแล้ว มันก็เลยค่อนข้างยากที่จะเขียนออกมาให้เป็นนวนิยายแบบดั้งเดิมที่เราเคยทำ

“แล้วก็ด้วยประวัติศาสตร์ที่มันเข้มข้นน้อยลง แต่ก็ยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอีกหลายแง่มุมในพรหมลิขิตนะคะ แต่จะเป็นลักษณะของประวัติศาสตร์ชาวบ้านมากขึ้น คือความเป็นอยู่ ภูมิสถานในยุคสมัยนั้นว่ามันเป็นแบบไหน เวลาจะไปซื้อแป้งต้องไปซื้อที่ย่านไหน หรือซื้อเสื้อผ้าก็ต้องไปย่านไหน อะไรประมาณนี้ค่ะ”

 

SoftPower ต้องไม่ยัดเยียด

หลายคนที่ยกให้ละครโทรทัศน์ทั้ง 2 เรื่องที่เขียนโดย ‘รอมแพง’ เป็นหนึ่งใน Soft Power ของไทยที่ยอดเยี่ยม จากหลายฉากที่มีการสอดแทรกการทำอาหาร และอาหารไทยหลาย ๆ จานเข้าไปในนั้น ผู้เขียนมองว่า รอมแพง ในฐานะที่เป็นนักเขียนนวนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ของไทย เธอมองเรื่องนี้อย่างไร

“เมืองไทยมีวัตถุดิบที่เหมาะสมที่จะเป็น Soft Power ได้ แต่การที่จะเอาวัตถุดิบหรือว่าวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหาร หรืออย่างอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างเช่น โบราณสถาน หรืออื่น ๆ มันต้องใช้เวลา แล้วก็ใช้วิธีที่จะนำเสนอแบบแนบเนียน เพราะว่า Soft Power มันเป็นอะไรที่ต้องไม่บังคับ หรือยัดเยียด

“กว่าที่ Soft Power จะใช้ในชีวิตประจำวันได้แบบที่ไม่รู้ตัว มันต้องใช้เวลา ไม่ใช่แบบปุ๊บปั๊บแล้วจะให้เป็นเหมือนอาวุธในการดึงให้คนมาหลงใหลในวัฒนธรรมของเรา”

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากทั้งเรื่องบุพเพฯ และพรหมลิขิตที่เป็นละครโทรทัศน์ เธอกลับมองว่า มีโอกาสเป็นไปได้ยากที่จะเห็นภาค 3 ในรูปแบบละคร แต่สามารถอ่านได้จากนวนิยาย ซึ่งเธอจะเขียนต่อแน่ ๆ

ในมุมของผู้เขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในเมืองไทย รอมแพงพูดกับเราว่า “สิ่งที่เราทำ(เขียน)มันอาจจะไม่แมสหรือเป็นที่นิยมทันที แต่ว่าในอนาคตใครจะไปรู้ว่าสิ่งที่เราทำอาจจะแมสขึ้นมาก็ได้” 

สำหรับรอมแพงยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายยุคสมัยที่เธออยากจะเขียน ทั้งทวารวดี ทั้งศรีวิชัย รวมทั้งในยุครัตนโกสินทร์ (แต่ยุคนี้ใกล้ปัจจุบันขึ้น อาจยากที่จะเขียนถึง เพราะบางคนไม่อยากให้พูดถึงบรรพบุรุษของเขาก็ได้)

รอมแพงได้พูดฝากถึงคนที่รักในการเป็นนักเขียนนวนิยายว่า “การอ่านหนังสือเยอะ ๆ จะช่วยได้มาก แล้วก็พยายามคิดให้แตกต่างไปจากคนอื่น ทำในสิ่งที่ชอบอย่างจริงจัง ส่วนความยากก็คือ ‘ตัวเอง’ เพราะงานเขียนนวนิยายเป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเอง ต้องมีวินัยมาก และก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ศึกษาหาความรู้แนวใหม่ ๆ เพื่อจุดประกายพล็อตเรื่องแนวต่าง ๆ ให้หลากหลายขึ้นค่ะ”

ความสำเร็จทั้งของตัวรอมแพง และนวนิยายที่เขียนโดยรอมแพง ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและเป็นแบบอย่างของคนที่คิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ อีกทั้งยังทำให้ภาพจำของ Soft Power ไทยหนักแน่นมากขึ้นด้วย ไม่แน่ว่าอนาคตเราจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ตามรอยละครไทย คล้ายกับโมเดลความสำเร็จของต่างประเทศก็ได้

 

ภาพ : รอมแพง

อ้างอิง(เพิ่มเติม) :

Chula

Miwservices