เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ

คุยกับ ‘เจยอง’ ล่ามแปลภาษาเกาหลีที่แฟนคลับชื่นชม ศิลปินไว้ใจ เพราะการเป็นล่ามสำหรับเจยอง คือ การมอบสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ดีที่สุดให้กับศิลปินและแฟนคลับ

  • เจยองคือล่ามเกาหลีไม่กี่คนที่แฟนคลับไว้ใจและอุ่นใจ เมื่อเธอยืนอยู่บนเวที
  • แต่จริง ๆ แล้ว เจยองคือเด็กเกาหลีที่ไม่เก่งภาษาเกาหลี แต่ฝึกฝนจนได้รับโอกาสไปเป็นคนอยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ตเรนครั้งแรกในประเทศไทย
  • เพราะเธอเชื่อว่า แฟนคลับและศิลปินเชื่อมโยงถึงกัน หน้าที่ของล่ามจึงต้องมอบสิ่งที่เป็น the best ให้กับทั้งสองฝ่าย

ปี 2023 สัปดาห์หนึ่ง เราจะเห็นศิลปินเกาหลีอย่างน้อย 1 - 2 คน มาเปิดคอนเสิร์ต จัดแฟนมีตติ้ง เข้าร่วมอีเวนต์ของแบรนด์ระดับโลก 

ในทุกงาน คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ‘ล่าม’ คนกลางที่จะช่วยส่งต่อคำพูดและความรู้สึกจากศิลปินถึงใจแฟน ๆ 

แล้วล่ามที่แฟนคลับไว้ใจและสบายใจทุกครั้งเมื่อเห็นเธอบนเวทีร่วมเฟรมกับศิลปิน คือ ‘ชเวเจยอง’ ล่ามมากประสบการณ์ที่โลดแล่นอยู่ในวงการมานานถึง 18 ปี 

เพราะเธอเชื่อว่า ช่วงเวลาของแฟนคลับและศิลปินเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษ และในฐานะคนกลาง เธอก็อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับศิลปินและแฟนคลับ 

“เราจะเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เขารู้สึกเสียดายค่าบัตร หรือเสียดายเวลา อยากให้ทั้งสองฝ่าย (ศิลปิน - แฟนคลับ) ได้เจอ the best  ไม่อยากให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าภาษาเป็นอุปสรรค ถ้าเราไปอยู่กับเขา”

บทความนี้ ชวนดูเส้นทางของล่ามที่แฟนคลับชื่นชมและศิลปินเองก็ยอมรับ ตั้งแต่วันแรกจนถึงก้าวต่อไปของเธอในอนาคต

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ

เด็กเกาหลีที่ไม่เก่งภาษาเกาหลี

เจยองและครอบครัวเข้ามาในประเทศไทยราว ๆ ปี 1994 - 1995 

วันนั้นเจยองอายุเพียง 6 - 7 ขวบ ที่มีความฝันอันหลากหลาย เธอเข้ารียนในโรงเรียนที่มีคนไทยมากถึง 90% และมีพี่เลี้ยงเป็นคนไทย คงไม่แปลกที่เธอจะบอกว่า เธอเก่งภาษาไทยมากกว่าภาษาบ้านเกิด

ถึงอย่างนั้น เธอก็อยากจะเป็นล่ามอยู่ดี 

“ตอนเด็ก ๆ เจยองมีความฝันหลายอย่างมาก อยากเป็นครูอนุบาล อยากเป็นทนาย แต่ที่อยากเป็นมากที่สุดคือล่าม เพราะเราพูดภาษาไทยได้ แต่ไม่ค่อยเก่งภาษาเกาหลี เราแปลภาษาเกาหลีไม่ออก”

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ

การเป็นล่ามครั้งแรก ๆ คือการเป็นล่ามให้กับแม่ของเธอกับแม่ค้าที่ตลาด แล้วดูเหมือนว่าเธอจะชอบและอินกับการทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ส่งต่อสารจากผู้ส่งถึงผู้รับสารอยู่ไม่น้อย

“คุณแม่เปิดร้านอาหารเกาหลีในประเทศไทย คุณแม่เจยองพูดไทยไม่ได้ เวลาคุณแม่จะซื้อของหรือคุยกับใคร เขาจะสื่อสารไม่ได้ เจยองเลยต้องช่วยแม่ตั้งแต่เด็ก เป็นล่ามให้แม่ตั้งแต่เด็ก ไม่เข้าใจศัพท์ก็ไม่เป็นไร เราก็อธิบายเป็นประโยคแทน

แล้วเวลาเจอเพื่อนคนไทย แล้วมีเพื่อนเกาหลีไปด้วย เขาอาจจะพูดไทยหรือเกาหลีไม่ได้ เจยองแคร์คนรอบข้างมาก สมมติเราไปเกาหลีด้วยกัน คุณอาจจะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจว่ากำลังคุยอะไรกันอยู่ เจยองไม่อยากให้เขารู้สึก left out เจยองอยากให้คนที่อยู่รอบข้างเจยอง เข้าใจสิ่งที่เจยองกำลังมอง กำลังได้ยิน กำลังเห็นอยู่ด้วย

ขณะเดียวกันเธอก็ค่อย ๆ เรียนรู้ภาษาเกาหลีมากขึ้น แม่ของเจยองไม่อยากให้ลูกสาวลืมภาษาเกาหลี แม่เลยย้ายโรงเรียนเจยองไปที่โรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนวันเสาร์ที่มีเด็กเกาหลีเป็นส่วนใหญ่ 

“ตอนนั้นที่บอกแม่ว่าฟังเกาหลีไม่ค่อยรู้เรื่อง แม่บอกตลอดว่าคนเกาหลีต้องพูดภาษาเกาหลี เป็นคนเกาหลี ห้ามลืมภาษาเกาหลี ส่งไปเรียนโรงเรียนวันเสาร์ สำหรับเด็ก ๆ เกาหลีที่โตในประเทศไทย กับตอนแรกที่เรียนในโรงเรียนไทย มีเพื่อนคนไทย 90% แล้วก็ 10 % เป็นเพื่อน ๆ เกาหลี ตอนประมาณ ป.5 เทอม 2 เจยองย้ายไปโรงเรียนอินเตอร์ที่เด็ก ๆ เกาหลีเรียนอยู่ 90% เจยองมีเพื่อนเกาหลีเยอะขึ้น แล้วที่บ้านเจยองเป็นคาทอลิก เวลาไปโบสถ์ก็จะมีพ่อบาทหลวงที่เป็นคนเกาหลี ก็ได้ภาษาเกาหลีตรงนั้นด้วย”

ก่อนที่เธอจะได้ฝึกฝนตัวเองมากขึ้น ในฐานะล่าม ฝ่ายเสียง ผู้อยู่เบื้องหลังคอนเสิร์ต ‘เรน’ ศิลปินเกาหลีระดับตำนานที่เวลานั้นมาเปิดคอนเสิร์ตครั้งแรกในประเทศไทย

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนรู้จัก ‘เจยอง’ ล่ามแปลภาษาเกาหลีที่แฟนคลับชื่นชอบ และตัวศิลปินเองก็ชื่นชม

 

‘ถามไว้ก่อน’ ก้าวแรกของการเป็นล่าม 

แม้จะไม่เก่งภาษาเกาหลี แต่การตอบรับคำชวนของรุ่นพี่ที่รู้จักไปเป็นล่าม ฝ่ายเสียงในคอนเสิร์ตของ ‘เรน’ ก็ทำให้เจยองก้าวขึ้นบันไดขั้นแรกของอาชีพที่เธอใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก

“ตอนนั้นน่าจะมีล่าม 5 คน นัดเจอที่โรงแรมไปอิมแพค อารีน่าด้วยกัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง มีที่วางกระเป๋าไหม มีที่เก็บของไหม เขาให้ข้าวเรากินไหม ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย กังวลไปหมด ตอนนั้นใส่ hips pack ที่เป็นกระเป๋ารัดเอว แล้วมีพี่คนหนึ่งแซวว่า นี่พวกเธอไปพัทยาเหรอ หลังจากไปวันเเรกเราก็รู้แล้วว่า ควรแต่งตัวยังไง ตั้งแต่วันที่ 2 ก็เลยใส่เป็นชุดสีดำ”

ส่วนเรื่องวิธีทำงาน ตอนแรกเจยองคิดว่า การเป็นล่ามทำหน้าที่แค่แปลภาษา แต่พอมาทำจริง กลับไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะการเป็นล่ามคือคนตรงกลางที่ต้องเข้าใจคนสองคนที่แตกต่างกัน และส่งสารต่อด้วยใจความเดิมให้มากที่สุด อีกทั้งเกิดการเข้าใจผิดน้อยที่สุด

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ “การเป็นล่ามเพื่อเตรียมงาน ยิ่งงานโปรดักชัน ไม่ใช่แปลแล้วจบ มันมากกว่าแปลภาษา ต้องเมคชัวร์ว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน เห็นภาพเดียวกัน เพราะบางครั้งวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เราต้องเป็นคนกลางที่รู้เรื่องทั้งสองวัฒนธรรม เขาจะได้ทำงานราบรื่น บางครั้งทีมไทยอาจจะไม่เข้าใจว่า ทำไมเกาหลีเขาต้องการ 1 2 3 ทั้ง ๆ ที่มันควรจะเป็น 4 5 6 มากกว่า เจยองก็จะคอยบอกว่า มันเป็น 1 2 3 เพราะแบบนี้ ไม่อยากให้มีการเข้าใจผิดกัน”

เพราะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเป็นล่ามครั้งแรก ๆ เจยองจึงเลือกที่จะถามจุดที่ไม่เข้าใจ เพื่อให้ตัวเองเข้าใจทุกคำพูดของคนส่งสาร และส่งต่อคำพูดเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วน 

“อาจเป็นเพราะคอนเสิร์ตเรนคือครั้งแรกที่เกาหลีมาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย เขาจะพูดให้ฟังง่าย ๆ เวลาเราไม่รู้อะไรก็ถามเขาได้ ยิ่งเป็นศัพท์เกี่ยวกับเครื่องเสียง ระบบเสียง ก็จะเป็นภาษาอังกฤษก็พูดทับศัพท์ เขาก็จะเข้าใจกัน

“เราพยายามถาม อยากเมคชัวร์ว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่มั่นใจ เจยองก็จะถามกลับไปที่คนพูดก่อนแปลว่า เจยองเข้าใจแบบนี้ ๆ คือถูกต้องใช่ไหมคะ ถ้าคนพูดตอบว่าใช่ ๆ เจยองก็จะค่อยแปลหรือส่งต่อข้อมูลให้อีกทีมหนึ่ง”

 

ผู้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับศิลปินและแฟนคลับ 

ผ่านไปประมาณ 18 ปี จากเด็กอยู่หลังเวที ก้าวสู่ล่ามที่ยืนเคียงข้างศิลปินบนเวทีและคอยจัดการเบื้องหลังอยู่เป็นครั้งคราว แต่เจยองก็ยังเป็นล่ามในดวงใจของเหล่าแฟนคลับ เหตุผลหนึ่งคือเธอแปลด้วยความอิน และรู้จักศิลปินที่รักของเหล่าแฟนคลับเป็นอย่างดี 

แต่จริง ๆ แล้ว เจยองเองก็ทำการบ้านเกี่ยวกับศิลปินคนที่เธอจะไปเป็นล่ามแปลภาษาในงานนั้น ๆ ผ่านทวิตเตอร์และคนใกล้ตัวที่ชื่นชอบศิลปินคนนั้น

“ทุกวันนี้ยากขึ้นเรื่อย ๆ จำชื่อก็ยาก ชื่อเพลงก็ยาก เพราะเจยองไม่ได้เป็นแฟนคลับของทุกวง แต่พอรู้ว่าเราจะได้ทำงานกับวงนี้ เราก็จะไปหาข้อมูลว่ามีกี่คน ลีดเดอร์ (หัวหน้าวง) คือใคร มักเน่ (น้องเล็ก) คือใคร หรือถ้าต้องไปแปลในรายการทีวี เจยองจะไปดูตอนที่เขาออกรายการวาไรตี้ว่า คนนี้นิสัยแบบไหน ไปหาในทวิตเตอร์ว่า ช่วงนี้มีเทรนด์หรือคำฮิต ๆ ที่เขาเล่นกับแฟนคลับไหม เพราะมันเป็นโลกของเขา เราเป็นคนนอก เราไม่รู้ แต่เราก็พยายามเข้าไปอยู่ในนั้นให้ได้เพื่อที่จะได้เข้าใจ

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ “แต่บางงาน ทำการบ้านแล้ว แต่ยังไม่มั่นใจ เจยองก็จะลองดูว่ามีใครที่เป็นแฟนคลับของวงนั้นไหม ถ้ารู้ว่าเป็นแฟนคลับของวงนี้ ๆ ก็จะถามว่า เธอ ๆ ช่วงนี้เขาทำอะไรกัน ช่วงนี้มีประเด็นอะไรที่แฟนคลับพูดถึงไหม”

สำหรับเจยอง การทำหน้าที่ล่าม ไม่ใช่แค่นักแปล แต่เธออยากจะเป็นคนกลางที่ส่งต่อข้อความของศิลปินให้ถึงใจแฟนคลับ โดยไม่มีกำแพงด้านภาษาหรือวัฒนธรรม

“เจยองอยากทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อยากให้แฟนคลับรู้สึกถึงความรักที่มีของศิลปิน อยากให้ศิลปินรู้สึกถึงความรักของแฟน ๆ เราจะเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เขารู้สึกเสียดายค่าบัตร หรือเสียดายเวลา อยากให้ทั้งสองฝ่ายได้เจอ the best  ไม่อยากให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าภาษาเป็นอุปสรรคถ้าเจยองไปอยู่กับเขา

“เจยองทำงานกับหลายบริษัทมาก แต่ละบริษัทมีมาตรฐานและความต้องการไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่รู้ภาพหรือวิดีโอที่อยู่บนโลกออนไลน์ควรจะเป็นภาพที่ดีที่สุดของศิลปินคนนั้น อันนี้คือสิ่งที่เจยองคิดและเรียนรู้ ถ้ากางเกงยับ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย แต่ถ้าเราช่วยเขาให้ออกมาดูเนี้ยบที่สุด มันก็ดี

“เจยองดูเรื่องดีเทลค่อนข้างเยอะ เพราะศิลปินอยู่บนเวที ทีมงาน เมเนเจอร์ สไตลิสต์ไม่สามารถขึ้นมาบนเวทีได้ ในช่วงเวลาที่เราอยู่กับศิลปิน ถ้าเราทำให้เขาได้แล้วทำไมเราจะไม่ทำ อยากให้เขาดู the best จะเป็นใครก็ได้”

ถึงจะอยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับศิลปินและแฟนคลับ แต่เจยองก็บอกว่า ข้อควรระวังของการเป็นล่ามคือการไม่ใส่ความคิดของตัวเองลงไปในคำพูดของเจ้าของคำพูด เพราะเธอเชื่อว่า คำพูดคือสิ่งที่ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เราก็จะยังจดจำมันได้เสมอ

“เจยองขอพรในใจและพูดเสมอว่า ขอให้เข้าใจความรู้สึก เข้าใจ message จริง ๆ ที่คนคนนั้นอยากส่งต่อ เรารับมา เราเข้าใจ ส่งต่อได้ เหมือนส่งต่อความรู้สึก message จริง ๆ ให้แฟน ๆ ที่มาดูแล้วเจยองจะพยายามไม่ให้มีเฟรม ศิลปินถูกมองไม่ดี ถูกเข้าใจผิดเพราะคำพูดของเรา”

ขณะเดียวกัน การเป็นล่ามที่ผ่านมาแล้วหลายยุคสมัย เจยองก็มองเห็นวัฒนธรรมของแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นชุมชนครอบครัว มีทีมเวิร์กกับคนที่ชอบศิลปินเดียวกัน ทั้งยังกลายเป็นชุมชนที่กำลังเติบโตขึ้นทุกวัน 

“แต่ก่อน เจยองจำได้ว่าคนชอบเกาหลีก็เป็นแฟนคลับด้วยกันหมด แต่ตอนนี้ด้อม (กลุ่มคนชอบเกาหลี) ใหญ่ขึ้น เห็นชัดมากว่า เราชอบใคร มีทีมเวิร์กกันเอง คิดว่ามันเป็นวัฒนธรรม เป็นพาร์ตของชีวิตไปแล้ว เวลามาคอนเสิร์ตจะมีเดรสโค้ด เตรียมแฟนโปรเจกต์ เรามองบนเวทีมันน่ารักนะ แล้วเขาก็รู้สึกคอนเน็กกับศิลปิน เหมือนเป็นครอบครัว”

  

ไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่ส่งต่อความรู้สึก

บางครั้งเราจะเห็นว่า เมื่อศิลปินเกาหลีพูดบนเวที พวกเขามักจะแบ่งท่อนในการพูด เล่าทีละประเด็น เพื่อให้ล่ามแปลได้ทัน แต่ศิลปินที่อยู่กับเจยองบนเวทีสามารถพูดทุกอย่างตามใจคิดได้เพราะเจยองจะตั้งใจฟัง และแปลคำพูดและอารมณ์เหล่านั้นได้เกือบครบทุกประเด็น จนบางครั้งศิลปินยังชื่นชม 

“เจยองคิดว่า มีคำพูดที่เราอยากพูดประมาณนี้ แต่ถ้าเราพูดประโยคหนึ่งแล้วหยุด ประโยคหนึ่งแล้วหยุด มันก็ไม่เหมือนคำพูดเท่าไร แต่ถ้าพูด 3 - 4 ประโยคแล้วหยุด มันรู้สึกธรรมชาติ ฟังลื่นหูมากกว่า ไม่เสียเวลาแปล บางครั้งเจยองจดได้ก็พยายามจด แต่พยายามฟัง จำ ทำความเข้าใจ เพราะถ้าอันไหนที่เจยองจำได้แล้วแปล มันมีความหมายจริงๆ 

“สมมติว่าเขาพูดมา 5 ประโยค เจยองอาจจะจำไม่ได้ 100% อาจจะจำได้แค่ 4 ประโยค หรือ 3 ประโยคครึ่ง แต่อีก 1 ประโยคครึ่งที่ไม่ได้แปลก็เสียดาย แต่ก็จะพยายามทำความเข้าใจและส่งต่อความรู้สึกของคนคนนี้มากกว่า เจยองก็เลยจะตั้งใจฟัง

“เคยมีศิลปินบอกว่า พูดภาษาไทยเก่งมากเลย แล้วก็เคยมีคนชมว่า คุณไม่ได้แปลคำพูดอย่างเดียว แต่คุณพยายามส่งต่อความรู้สึกด้วย”

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ แม้ว่าเจอศิลปินอย่างใกล้ชิดทุกงาน แต่เจยองก็ไม่ค่อยถ่ายรูปกับศิลปิน เพราะการได้รับความไว้วางใจมาทำงานกับศิลปินเธอก็ดีใจมากแล้ว แล้วรูปของเธอคู่กับศิลปินก็มีอยู่ในโซเชียลอยู่แล้วจากแอคเคานต์ของแฟนคลับ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสบายใจให้ศิลปินในการทำงานด้วย

“เรารู้สึกเรามีโอกาสดีมาก ๆ ที่ได้ทำงานนี้ แต่เจยองคิดว่าเจยองไม่ได้เป็นเซเลบ เจยองไม่ได้เป็นดาราอะไร คือซีนที่เจยองอยู่กับศิลปิน อยู่กับคนคนนั้นในโลกออนไลน์มันก็เยอะ

“เจยองเริ่มทำงานมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ยังไม่มีโซเชียล ฯ เจยองไม่อยากขอถ่ายรูปหรือขอลายเซ็น อยากให้เขารู้สึกสบายใจเวลาเราอยู่ใกล้ ๆ มันเริ่มมาแบบนั้น แล้วเจยองเป็นคนขี้เขิน แต่เคยมีศิลปินมาขอถ่ายรูปด้วย ลองคิดดูเจยองแปลให้ super junior มาตั้งแต่แรก ๆ เจยองเพิ่งขอเขาถ่ายรูปครั้งแรกแล้วเป็นรูปแรกที่เจยองมีที่แบบอปป้าทั้งวงมาอยู่ด้วย”

 

บริษัทเจยอง พื้นที่ทดลองและเรียนรู้ของล่ามรุ่นใหม่

หลังจากโลดแล่นอยู่ในวงการมาตั้งแต่วัยรุ่น วันนี้เจยองอายุ 36 ปีแล้ว อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะล่ามมากความสามารถที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ 

ปี 2023 เธอเปิดบริษัท เจ ยอง จำกัด บริษัทที่ให้บริการจัดหาล่ามให้กับงานเกาหลี ด้วยความหวังว่าจะเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นล่ามเข้ามาทดลอง หาประสบการณ์ และเรียนรู้ไปด้วยกัน

“เจยองไม่รู้ว่าเจยองจะ retire จากตรงนี้เมื่อไหร่ เจยองเสียดายที่จะไม่ได้ส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ แล้วถ้าหยุดที่เรา จบที่เรา มันเสียดาย เพราะมีคนส่งข้อความมาหาเจยองเยอะมากว่า พี่เจยองคะ หนูไม่เคยมีความฝันมาก่อน หรือพี่เจยองคะ หนูไม่รู้ว่าหนูจะทำได้ไหม แต่แบบหนูเห็นพี่แล้วหนูมีความฝันว่าหนูอยากเป็นล่าม 

“2 - 3 ปีข้างหน้า บริษัทเกาหลีในไทยเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แต่เด็ก ๆ เขาโฟกัสงาน entertainment เขาชอบตรงนี้ อยากทำตรงนี้ เพราะเขาตัดสินใจเรียนเกาหลีเพราะศิลปินที่เราชอบ อยากรู้เรื่องว่าคนคนนั้นพูดว่าอะไรโดยไม่ต้องรอแปลเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

เจยอง : ล่ามไม่ใช่แค่แปลภาษา แต่เป็นคนกลางที่ส่งความรู้สึกของศิลปินถึงใจแฟนคลับ

“เจยองก็เลยคิดว่าถ้ามีคนชอบเกาหลี ชอบภาษาเกาหลี ชอบวัฒนธรรมเกาหลีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสที่จะมีงานเกี่ยวกับภาษาเกาหลีในประเทศไทยก็เยอะขึ้นเหมือนกัน เจยองอยากเป็นจุดเริ่มต้น เป็นหนึ่งกำลังใจให้เด็ก ๆ ที่เขามีความฝัน ไม่รู้ว่าหลังจากนี้เจยองจะหาโอกาสให้น้อง ๆ เขาได้มากน้อยขนาดไหน แต่ก็คือเจยองก็ไม่รู้ เจยองก็ต้องลองดู ลองเริ่ม เราถึงจะรู้ว่าเราขาดตรงไหน หรือเราไม่ดีพอตรงไหน แต่ก็คืออยากจะเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ มาก ๆ จริง ๆ”

เจยองมองว่า คนไทยเองก็พูดภาษาเกาหลีเก่งขึ้นมาก เวลาเธอขึ้นไปแปลภาษาเกาหลีให้กับศิลปิน บางคำเธอไม่จำเป็นต้องแปล แต่แฟนคลับก็เข้าใจ

“ช่วงนี้คนไทยพูดเกาหลีเก่งมากขึ้นจริง ๆ เจยองเคยคิดนะว่า ในคอนเสิร์ตไม่ต้องรอล่ามแปลแล้ว ทุกคนพูดว่า เน (내 - ความหมายคล้าย ๆ ครับ / ค่ะในภาษาไทย ใช้ตอบรับผู้พูด) คัมซามิดา ซารังเฮโย เจยองไม่แปลทุกคนเข้าใจ อยากให้เขาฟังคำพูดของศิลปินมากกว่า มาตรฐานของแฟน ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเขาไปหลายงานแล้ว อีก 5 ปีข้างหน้า เขาอาจจะไม่เรียกเราแล้ว”

ถึงแม้อาจมีแนวโน้มที่ความต้องการล่ามจะลดลง แต่เจยองก็ยังเชื่อว่า ล่ามจะยังคงเป็นหนึ่งในคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสายบันเทิงหรืองานวิชาการ 

“มันคงจะไม่ 100% ที่ทุกคนจะเข้าใจ สมมติว่า 70% เข้าใจภาษาเกาหลี เจยองเคยนั่งคิดอยู่บ้านคนเดียว งานประชุมอินเตอร์หรือดูแกลเลอรี เขาก็จะขอหูฟัง เลือกได้ว่าจะรับฟังจากล่ามไหม คนที่อยากจะฟังจากศิลปินก็ปล่อย แต่ก็จะมีคนที่ต้องการฟังจากล่าม” 

ชีวิตในวงการล่ามของเจยองไม่ง่าย เธอเป็นเด็กเกาหลีที่ไม่เก่งเกาหลี ฝึกฝนตัวเอง ลองผิดลองถูก จนกลายเป็นล่ามที่แฟนคลับและศิลปินยอมรับ เธอจึงเข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะมาเป็นล่ามมากประสบการณ์แบบเธอ

“ไม่อยากให้กังวล อยากให้ตั้งใจเรียนรู้  ถ้าเป็นคนไทยก็ลองเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี เข้าใจสิ่งที่มองหรือคิดมันจะช่วยในการแปล แล้วก็ไม่ควรจะหยุดฝัน ถ้าเราไม่ได้ to be จะเป็นล่าม แต่ทักษะภาษาเป็นทักษะที่ดีมาก อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน”  เจยองทิ้งท้าย

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย