จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

ไอเดียการต่อยอด กางเกงแมวโคราช สู่ อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’ แมวที่จะมาเป็นมาสคอตเพื่อพรีเซนต์ความเป็นโคราชที่มากกว่าย่าโม กับหมี่โคราช ผ่านบทสัมภาษณ์ 'จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ’ ประธานกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

  • กางเกงแมว ไอเทมที่อยู่ใน Skin เกมออนไลน์ของ Garena หลัง YEC โคราชปิดดีล 363 ล้านบาทเพื่อต่อยอด Soft Power
  • เจ้าเมื่อย คือ อาร์ตทอยแมวโคราชและอีก 4 ภาค เพื่อเอาใจสายมู ผลผลิตใหม่ที่ ‘โจ - จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ’ ประธาน YEC คิดและอยู่เบื้องหลังการรีเซ็ตอัตลักษณ์โคราช

“เรารู้จักโดราเอมอน รู้จักมิกกี้ เมาส์ แต่ทำไมคาแรคเตอร์การ์ตูนของคนไทยยังไม่มีที่ดังระดับโลก?”

คำถามชวนปวดใจจาก ‘โจ - จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ’ ประธานกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา วัย 31 ปี ซึ่งรับตำแหน่งนี้ได้เพียง 1 ปี ผู้ที่พยายามอย่างหนักกับการผลักดัน ‘กางเกงแมวโคราช’ จนได้ปิดดีลกับ การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) บริษัทเกมออนไลน์ระดับโลก

เวลา 2 เดือนสำหรับ โจ - จิรพิสิษฐ์ กับการผลักดันกางเกงแมวให้ไกลกว่าที่เป็นเพียงสินค้าประจำจังหวัด วันนี้กลายเป็นไอเทม ‘Korat Cat’ ที่เป็น Skin (การแต่งกาย) บนเกม Free Fire ที่อวดสายตาคนทั่วโลกกว่า 160 ประเทศ เหมือนเป็นการจุดพลุความสำเร็จไปแล้วขั้นแรก

จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

และเขากำลังต่อยอดกางเกงแมวไปสู่รูปแบบอื่น เพื่อประกาศให้ดังขึ้นว่า ของดีเมืองโคราชไม่ได้มีแค่การกราบไหว้ย่าโม หรือผัดหมี่โคราชอย่างที่รู้กัน แต่โคราชมีอะไรที่น่าสนใจมากมาย แมวมงคลในสมุดข่อยโบราณอายุกว่า 600 ปี ‘แมวสีสวาด’ ก็คือหนึ่งในนั้น

“ผมไม่อยากให้กางเกงแมวมันซา ผมไม่ใช่คนเล่นเกม แต่ผมพยายามทำให้กางเกงแมวโคราชเข้าไปเป็นไอเทมในเกมออนไลน์ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนโคราชมากที่สุด และ E-sport ก็คือสิ่งที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พูดถึงตอนที่กำลังพูดถึง Soft Power”

แล้วทำไมต้องเป็น ‘แมว’ จุดที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ ‘กางเกงแมวโคราช’ จนเกิดภาพไวรัลคนโคราชเป็นพัน ๆ เข้าคิวเพื่อซื้อกางเกงแมวโคราชเมื่อช่วงปลายปีก่อน

โจ - จิรพิสิษฐ์ อธิบายว่า “แมวมันสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องพูด แมวน่าจะเป็นมาสคอตที่สื่อสารได้ดีที่สุดสำหรับผม เพราะเราไม่สามารถให้กางเกงแมวพูดหรือสื่อสารได้ มันไม่ใช่คาแรคเตอร์แต่ถ้าเป็นแมวมันดึงความสนใจได้ ผมว่าทาสแมวมีอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย และคาแรคเตอร์แมวก็เล่นอะไรได้เยอะ”

จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

proud to be Korat man

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ โจ - จิรพิสิษฐ์ เข้ามาข้องเกี่ยวกับกางเกงแมวโคราช คงต้องเริ่มนับตั้งแต่ช่วงวัยที่เขายังเป็นนักธุรกิจ มีธุรกิจมากมายเป็นของตัวเองในโคราช เพียงแต่ฉุดคิดขึ้นได้ว่า การทำธุรกิจควรต้องมีเพื่อน และนั่นคือการตัดสินใจที่ทำให้เขาเข้ามาเกี่ยวพันกับ ‘หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา’

เวลา 3 ปีที่อยู่กับหอการค้าฯ และ 1 ปีกับตำแหน่งประธาน YEC โจ - จิรพิสิษฐ์ พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดัน Soft Power มากมายให้เกิดขึ้น โดยนิยามคำ ๆ นี้สำหรับเขาเชื่อว่า

“Soft Power สำหรับผมมันคือการทำซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ และสื่อสารออกไป แต่สินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ใช่ Soft Power แต่เป็นระหว่างทางที่เราพยายามทำซ้ำ ๆ ต่างหาก”

“ผมก็มีการขับเคลื่อนในหลายเรื่องนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องกางเกงแมว ท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การดึงอีเวนต์ดัง ๆ เข้ามาในโคราช หรือจะเป็นเชิญ speakers เก่ง ๆ อย่าง ป๋าเต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม ที่พูดถึงเบื้องหลังการเกิด Big Mountain ว่าโคราชพอจะทำ หรือ collab อะไรได้บ้าง จนมาถึงโปรเจ็กต์หนึ่งที่เข้ามาก็คือ กางเกงแมว โจทย์มันคือ เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดได้อย่างไร”

“ปัญหาหลัก ๆ ก็คือ คนจะชอบไปที่เขาใหญ่ แต่ไม่ค่อยรู้จักตัวเมืองโคราชเลย แต่พอพูดถึงว่าตัวเมืองมีอะไรบ้าง เราก็จะนึกถึง ย่าโมกับผัดหมี่โคราช ซึ่งมันก็เก่าแล้ว”

บทสนทนาระหว่างทางทำให้เราเริ่มคิดว่า ‘อัตลักษณ์’ กับคำว่า Soft Power จะมาบรรจบกันได้อย่างไรนะในมุมคนอื่น แต่สำหรับ โจ - จิรพิสิษฐ์ เขามองว่า อัตลักษณ์ควรต้องเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่านี้

“อย่าง ลูกชิ้นยืนกินผมคิดว่า ไม่ใช่ Soft Power ครับแต่คนที่ทำให้เกิด Soft Power ก็คือ ลิซ่า เพราะทำให้มีการส่งต่อ มีการพูดถึง ดังนั้น อัตลักษณ์โคราชต้องจับต้องได้ มันเลยออกมาเป็น กางเกงแมวครับ”

 

อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’ ต่อยอดจากกางเกงแมว

ดีลระหว่างกางเกงแมวโคราชกับ Garena มูลค่า 363 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าอ้างอิงจากการประชาสัมพันธ์ผ่านเกม Free Fire โดยเข้าไปเป็น Skin ในเกมชื่อว่า ‘Korat Cat’ ยิ่งทำให้คิดว่า แล้วพื้นที่ที่คนกว่า 160 ประเทศที่เล่นเกมนี้เห็นคำว่า โคราช จะทำอย่างไรต่อ?

จึงเป็นที่มาว่าทำไมถึงเกิด ‘เจ้าเมื่อย’ ขึ้นซึ่งเป็นอาร์ตทอยที่ โจ - จิรพิสิษฐ์ พยายามตกผลึกความคิดและต่อยอดขึ้นมาสด ๆ ไอเดียอาร์ตทอยโคราช อาจจะยังไม่คุ้นหูหลายคนเพราะเพิ่งถูกพูดถึงวันนี้ (22 มกราคม 2567) แต่ลองมาฟังที่มาของไอเดียก่อน ผู้เขียนว่าโมเดลนี้น่าจะต่อยอดไปได้อีกหลายจังหวัดในไทย

จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

“ผมสงสัยมาตลอดว่า ทำไมคาแรคเตอร์อาร์ตทอยของจีน หรือของต่างประเทศถึงโด่งดัง ในขณะที่ไทยมีศิลปินเก่ง ๆ เยอะมาก อย่าง Crybaby ผมก็เลยอยากจะให้เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สานต่อตรงนี้ หรือเป็นคนปูทางให้กับต่างจัดหวัดที่สนใจ”

“ผมจึงเอาไปต่อยอดกับอาร์ตทอยแมวโคราช ซึ่งมีประวัติมานานกว่า 600 ปีแล้วมาเล่าใหม่ โดยอาร์ตทอยตัวนี้จะเป็นตัวแทนที่มาสื่อสารเกี่ยวกับจังหวัด เป็นมาสคอตตัวแทนทั้งอีสาน เพื่อสื่อสาร เล่าเรื่อง แนะนำว่าสถานที่ใหม่ ๆ ในโคราชที่คนยังไม่รู้จักคือที่ไหน น่าสนใจอย่างไร”

โจ - จิรพิสิษฐ์ เริ่มใส่อรรถรสมากขึ้นในขณะที่เล่าถึงอาร์ตทอยเจ้าเมื่อย ว่าหน้าตาน้องจะดูเบื่อหน่าย ตาลอย ปากยิ้มอ่อน เพราะคิดว่าการเป็นแมวที่มีคนมาขอพรเยอะ ๆ ก็คงจะเหนื่อย จะเพลียบ้าง จึงดีไซน์หน้าตาเจ้าเมื่อยออกมาเป็นแบบนั้น

ทำไมต้องขอพร? ด้วยความที่เขาพยายามนำเอาความน่ารักมาผสมกับความเป็นมูเตลู เจ้าเมื่อยทั้ง 5 ตัวที่มีสไตล์ต่างกันตามแต่ละภาค จะถูกปลุกเสกมนต์ขลังตามความมูในแต่ละเรื่อง

นอกจากนี้ ในกล่องอาร์ตทอยจากเดิมที่เป็นการ์ด เจ้าเมื่อยก็จะมี ‘แผ่นทองคำ’ ปลุกเสกเพื่อส่งให้พรนั้น ๆ ขลังขึ้น สำหรับคนที่นำน้องไปบูชา

ความต่างของเจ้าเมื่อยแต่ละคาแรคเตอร์ จะดูที่สี และดอกไม้มงคลบนหัว รวมถึงเครื่องรางที่ห้อยคอ เช่น เจ้าเมื่อยสีสวาดที่บนหัวจะเป็นดอกสาธร ส่วนฐานมาจากฐานของย่าโม หรือ เจ้าเมื่อยแมววิเชียรมาศของภาคกลาง ที่มีหัวเป็นดอกบัวหลวง และมีฐานมาจากวัดอรุณ เป็นต้น

จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ: ผู้อยู่เบื้องหลังดีล ‘กางเกงแมวโคราช’ กับ Garena และจุดพลุให้อาร์ตทอย ‘เจ้าเมื่อย’

“ผมคิดว่า พอคนรู้จักโคราชแล้ว ก็น่าจะมีอะไรที่ซื้อติดกลับบ้านได้บ้าง นอกจากผัดหมี่โคราช ซึ่งก็คือ อาร์ตทอย อาจจะเป็นไอเทมที่ให้นักท่องเที่ยวตามหาและซื้อกลับบ้าน หรือจะเป็นรุ่นลิมิเตดที่มีแค่ในโคราชเท่านั้น ประมาณนี้ครับ”

“ในกล่องอาร์ตทอยก็จะมีเขียนติดไว้ด้วยเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ว่าแต่ละคาแรคเตอร์มูเรื่องอะไร หมายความว่าอย่างไร”

ทั้งนี้ โจ - จิรพิสิษฐ์ ได้พูดฝากถึงหลาย ๆ จังหวัดที่อาจจะเข้าใจผิดว่า อยากทำกางเกงเป้นของตัวเอง หรือออกแบบลายให้เหมาะกับจังหวัดตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้ว การสร้าง Soft Power เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเดียวกันก็ได้ ควรพูดในสิ่งที่จังหวัดเราแม่นและถนัด เป็นสิ่งที่โดดเด่นและเป็นตำนานของจังหวัดนั้นจริง ๆ ไม่อย่างนั้น culture ของไทยก็จะเหมือนกันหมด

“ส่วนในอนาคตผมอยากให้โคราชเป็นเหมือน ‘เมืองหลวงของแมว’ แบบว่าถ้าคิดถึงแมวอย่าลืมคิดถึงโคราชนะ แล้วเราจะได้อื่น ๆ ตามมาเอง ทั้งอาหาร วัด หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่สวยงามของโคราช”

ชอบความคิดของ โจ - จิรพิสิษฐ์ อีกอย่างหนึ่งที่บอกกับเราว่า หากทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำธุรกิจตัวเองอย่างเดียว โดยไม่แบ่งเวลามาสร้างกิจกรรมเพื่้อส่วนรวม มันคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ แต่ถ้าแศรษฐกิจในจังหวัดมันแข็งแรง ธุรกิจของเราหรือแม้แต่คนในจังหวัดก็จะโตไปพร้อมกัน

 

ภาพ: Jirapisit Joe Rutcharoen Facebook