01 ก.พ. 2567 | 19:00 น.
เมื่อพูดถึงเรื่อง ‘อาหาร’ ในโลกภาพยนตร์ ครั้งหนึ่ง The People เคยกล่าวถึง ‘เควนติน ทารันติโน่’ (Quentin Tarantino) ผู้ที่เล่าอาหารด้วยเทคนิคที่น่าสนใจจนคนไม่ลืม แต่ในปี 2023 นี้ เราได้เห็นอีกภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่ว่าก็คือ ‘The Taste of Things’ (2023) ผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสนามว่า ‘ตรัน อาห์น ฮุง’ (Tran Anh Hung)
และในบทความนี้ The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ตรัน อาห์น ฮุง ถึงชีวิต ไอเดีย ที่มา และเบื้องหลังการเกิดขึ้นของภาพยนตร์เรื่อง The Taste of Things ซึ่งไม่เพียงแค่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะสะท้อนคุณค่าของเสน่ห์ในอาหาร แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของศิลปินผู้สรรค์สร้างมันขึ้นมาอีกด้วย
The People : ก่อนที่จะคุยกันถึงเรื่องปัจจุบัน ผมอยากจะชวนกรอเทปย้อนอดีตไปในชีวิตคุณเสียหน่อย ด้วยความที่คุณต้องอพยพจากประเทศเวียตนามในช่วงปี 1975 ซึ่งตอนนั้นคุณอายุ 12 ปี มาสู่ประเทศฝรั่งเศส การเติบโตขึ้นมาใน 2 ประเทศที่มีวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างกัน มันเป็นอย่างไรบ้าง?
ตรัน อาห์น ฮุง : ผมจำได้ว่าในวินาทีที่ผมก้าวขาสู่ประเทศฝรั่งเศส กลับกลายเป็นว่าผมไม่ได้ทุกข์ทรมานกับการที่ผมจากบ้านเกิด จากเพื่อน จากทุกอย่างมา ในทางกลับกัน ผมกลับรู้สึกว่าผมได้ค้นพบและรู้จักกับอะไรหลายอย่างมากมายเลย ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งที่ผ่านเข้ามา ซึ่งมันถือเป็นประสบการณ์ที่ผมชอบมาก ๆ เลยนะ
The People : อะไรบ้างที่เป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่คุณได้ค้นพบในการย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศส?
ตรัน อาห์น ฮุง : ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนมปัง โดยเฉพาะกับขนมปังเลยล่ะ เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่แพง เข้าถึงง่าย จะซื้อที่ไหนก็ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีศิลปะและวัฒนธรรมนานาอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ดนตรี หรืองานสถาปัตยกรรม
The People : ผมได้ยินมาว่าคุณเริ่มต้นการเรียนมหาวิทยาลัยก่อนที่จะมาเรียนทางด้านภาพยนตร์ ที่นี้ผมเลยอยากทราบว่ามันมีความเป็นมาอย่างไรที่ทำให้นักศึกษาด้านปรัชญาผันตัวมาไล่ล่าฝันทางด้านภาพยนตร์แทน?
ตรัน อาห์น ฮุง : เอาตามตรงก็คือเมื่อผมได้ลองเรียนด้านปรัชญาแล้วผมก็ได้รู้ว่าผมไม่ถนัดเสียเท่าไรนัก… ตอนนั้นที่ผมเรียนปรัชญา จะมีนักศึกษาคนหนึ่งที่สามารถคุยกับศาสตราจารย์ได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งในเชิงภาษาและในเชิงวิชาปรัชญาเลยนะ พวกเขามีบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างปกติและธรรมชาติมาก ๆ เลย แต่พอตัดภาพมาที่ผม ผมไม่เข้าใจอะไรที่พวกเขาพูดกันเลย สำหรับผมมันยากมาก ๆ ผมเลยเริ่มรู้สึกว่าปรัชญาเลยไม่น่าจะใช่ทางของผมแล้วล่ะ ผมเลยลาออกเสียเลย…
พอลาออกแล้วผมก็ยื่นสมัครไปด้านภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ซึ่งผมก็ค่อนข้างโชคดีนะที่ทางมหาวิทยาลัยก็รับผม และผมก็เรียนที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี แต่ท้ายที่สุดแล้วผมก็ไม่ได้สอบจนผ่านจนได้ใบปริญญานะ
ด้วยความที่ผมไม่อยากทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หากผมไม่ได้เป็นผู้กำกับด้วยตัวเองโดยตรง ไม่อยากเป็นผู้ช่วยหรืออะไรแบบนั้น ด้วยเหตุนั้น ผมเลยไปทำงานที่ร้านหนังสือห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง ขายอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 5 ปี ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน อีก 3 วันที่เหลือผมก็เอาเวลาไปเขียนบท ซึ่งในช่วงเวลานั้นผมก็เขียนบทออกมาได้ 6 เรื่องเลยล่ะ และหนึ่งในนั้นคือ The Scent of Green Papaya (1993)
The People : อะไรทำให้คุณหันมาสนใจการเรียนและไล่ล่าความฝันในโลกของภาพยนตร์?
ตรัน อาห์น ฮุง : เดิมทีผมเป็นคนชอบหนังอยู่แล้ว แล้วผมก็เป็นคนที่ดูหนังเยอะด้วย คือจริง ๆ ต้องพูดอย่างนี้ ผมหลงใหลในศิลปะ แล้วผมก็ลองมาหมดแล้วในร่มเงาของศิลปะ ผมลองเล่นดนตรีก็ไม่เวิร์ค ลองวาดภาพก็ไม่รอด แล้วผมก็ขี้อายเกินกว่าจะไปเป็นนักแสดงได้ ทีนี้ผมก็เหลือทางเดียวแล้ว ซึ่งก็คือภาพยนตร์นี่แหละ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกที่จะเดินสายนี้
The People : พอจะจำได้ไหมครับ ว่าหนังเรื่องไหนปลุกไฟในตัวคุณ?
ตรัน อาห์น ฮุง : แน่นอนครับ หนังที่ผมดูและชอบอย่างจริงจังคือหนังของ ‘รอแบร์ แบรซง’ (Robert Bresson) เรื่อง A Man Escaped (1956) มันถือเป็นหนังเรื่องแรกเลยที่กระชากผมเข้าโลกแห่งภาพยนตร์ นอกจากนั้นก็ยังมีผู้กำกับอีกคนหนึ่งที่ผมดูหนังของเขาทุกเรื่องเลย ซึ่งเขาคนนั้นคือ ‘อิงมาร์ แบร์กมาน’ (Ingmar Bergman) ผมชอบและชื่นชมเขามาก ๆ เลยล่ะ
แต่ผมก็ไม่รู้หรอกนะว่าผลงานที่ผมสร้างสรรค์ทุกวันนี้ได้รับอิทธิพลจากงานของเขา (อิงมาร์ แบร์กมาน) มาก-น้อยขนาดไหน แต่ที่อาจจะชัดหน่อยน่าจะเป็นการถ่ายแบบ Close-Up เพราะล่าสุด เพื่อนผมคนหนึ่งที่เป็นคนทำหนังเหมือนกัน ก็มาบอกผมว่าผมดูจะชอบใช้ชอต Close-Up ซึ่งพอนึก ๆ ดูแล้ว สิ่ง ๆ นี้อาจจะเป็นอิทธิพลที่ผมได้มาจากแบร์กมาน
The People : กลับมาคุยกันถึงเรื่อง The Scent of Green Papaya (1993) ไม่เพียงแต่มันเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของคุณ แต่มันยังเป็นผลงานที่พาคุณคว้ารางวัลจากเทศกาลคานส์อีกด้วย ผมเลยอยากจะรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา?
ตรัน อาห์น ฮุง : ผมว่าแรงบันดาลใจมันมาจากความทรงจำของผมที่มีต่อประเทศเวียตนาม และผมเองก็อยากเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิงและภาวะความเป็นทาส ว่าชีวิตของการที่พวกเขาต้องรับใช้ครอบครัวอื่นเป็นอย่างไร นั่นเป็นไอเดียแรกเริ่มของผมเลย
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอสู่ผู้อีกอย่างหนึ่งคือบรรยากาศของประเทศเวียตนาม ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด สภาพอากาศ ต้นไม้ใบหญ้า รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หลอมรวมกันและควบแน่นกลายเป็น The Scent of Green Papaya นั่นเอง
The People : มาถึงเรื่อง The Taste of Things (2023) มีเสียงจากผู้ชมหลายคนมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก ๆ เพราะเห็นได้ชัดว่าคุณให้ความสำคัญกับฉากทำอาหารเป็นอย่างมาก จนถ้าจะเรียกว่าเป็น ‘Culinary Film’ ก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก อะไรจุดประกายให้คุณทำเช่นนั้นครับ?
ตรัน อาห์น ฮุง : คือตัวผมเองเป็นคนที่ชอบทำหนังตีแผ่ความเป็นศิลปะอยู่แล้ว และผมก็มองว่าการทำอาหารก็ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง สำหรับผม ผมเชื่อว่าผมสามารถทำให้ทุกอย่าง ‘ดูจริง’ ได้บนหน้า โดยเฉพาะเมื่อสิ่ง ๆ นั้นคืออาหาร ยกตัวอย่างเช่น เวลาทำหนังเกี่ยวกับศิลปินที่วาดภาพ ถ้าเราเอานักแสดงเก่ง ๆ มาวาดภาพ เราก็ยังรู้สึกอยู่ลึก ๆ อยู่ดีว่ามันไม่ใช่ของจริง มันไม่ได้ดูจริงขนาดนั้น
แต่พอมาเป็นการทำอาหาร ผมว่าเราสามารถทำให้มันดูจริงได้ เพราะพวกเขากำลังทำอาหาร และเราสามารถถ่ายทอดได้ในทุกขั้นตอน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยากลองทำอาหารเกี่ยวกับการทำอาหารดู
The People : แสดงว่าเหล่านักแสดงก็ต้องฝึกทำอาหารเหล่านั้นจริง ๆ เลยถูกไหมครับ?
ตรัน อาห์น ฮุง : ด้วยความี่ว่าพวกเขาเป็นนักแสดงยอดฝีมือกันอยู่แล้วและพวกเขาก็เป็นคนที่ชอบทำอาหารกันในชีวิตจริงอยู่แล้วด้วย มันเลยง่ายสำหรับพวกเขา ผมให้พวกเขาทั้งสัปดาห์เลยสำหรับการฝึก แต่พวกเขาขอแค่ครึ่งวันเท่านั้น ซึ่งมันก็เพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา
นอกจากนั้นเราก็จะมีกุ๊กผู้เชี่ยวชาญคอยประกบด้วย ดังนั้นเวลาเราถ่ายเราก็จะมีคนที่คอยช่วยเช็คความถูกต้องอยู่ตลอด เขาจะเป็นคนบอกว่าตรงไหนต้องช้าหรือเร็ว เขาจะเป็นคนที่ช่วยใส่ท่วงทำนองในการทำอาหารให้กับนักแสดง ซึ่งเขาทำมันได้ดีมาก ๆ เลยล่ะ เรามีแขนของตัวแสดงแทนถึงสองคนเลยนะ แต่ท้ายที่สุดเราไม่ได้ใช้ชอตเหล่านั้นเลย เพราะนักแสดงทุกคนอยากจะทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง
สามารถรับชม The Taste of Things ได้แล้ววันนี้ที่โรงภาพยนตร์ อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจจาก ตรัน อาห์น ฮุง ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะหนังเรื่องนี้ได้คว้ารางวัล Cannes หรือเป็นตัวแทนประเทศฝรั่งเศสบนเวทีออสการ์ แต่ในอีกแง่หนึ่งเป็นเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้เราได้เห็นถึงความหมายของรสชาติ อาหาร และความละมุนละไมของความสัมพันธ์ของคนสองคน