ชูชีพ ไชยพูน: กว่า 10 ปีที่ล่าประสบการณ์ สู่หนึ่งในทีม Visual Effect เรื่อง ‘DUNE 2’ ที่เป็นคนไทย

ชูชีพ ไชยพูน: กว่า 10 ปีที่ล่าประสบการณ์ สู่หนึ่งในทีม Visual Effect เรื่อง ‘DUNE 2’ ที่เป็นคนไทย

ชูชีพ ไชยพูน : คนไทยที่ประสบความสำเร็จ ตามฝันจนได้เป็นหนึ่งในทีม Visual Effect ภาพยนตร์เรื่อง DUNE 2 จากวันแรกที่ไม่มีประสบการณ์ กลายเป็นคนที่มีชื่ออยู่ใน End Credits ภาพยนตร์

KEY

POINTS

  • ชูชีพ ไชยพูน คนไทยที่สามารถเข้าเป็นหนึ่งทีมทำ Visual Effect ให้กับภาพยนตร์เรื่อง DUNE 2
  • ประสบการณ์เรียนรู้จากวันแรกที่ต้อง ดรอปเรียน เพราะสู้เพื่อนไม่ได้
  • กว่า 12 ปีที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้สิ่งที่หลงใหล จนประสบความสำเร็จมีชื่อใน End Credits ภาพยนตร์

หากคุณเคยดูภาพยนตร์และซีรีส์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Masters of the Air ซีรีส์ที่ฉายใน Apple TV+, Fast X, No one will save you และ Aquaman 2 ภาพยนตร์แนวไซไฟ บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในทีมที่เคยทำ Visual Effect หลายซีนที่เราเห็นในภาพยนตร์ และเรื่องล่าสุดอย่าง ‘DUNE 2’ ที่มีชื่อของเขาปรากฎใน End Credits ภาพยนตร์ด้วย

‘ชูชีพ ไชยพูน’ คนไทยที่ทำงานด้าน Visual Effect มาตลอดกว่า 10 ปี เขาหลงใหลในอาชีพ ‘compositor’ และมุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในทีมสร้างผลงานด้านเทคนิค ซึ่งภาพยนตร์ที่จุดประกายความฝันของเขาก็คือ ‘DUNE 1’

ชูชีพ ไชยพูน: กว่า 10 ปีที่ล่าประสบการณ์ สู่หนึ่งในทีม Visual Effect เรื่อง ‘DUNE 2’ ที่เป็นคนไทย

“หนังเป็นความชอบของเรามาตลอด พอได้ดู DUNE 1 มันจุดฝันในตัวเรา ผมคาใจมากว่าเขาใช้เทคนิคยังไง”

“ยิ่งในบทสัมภาษณ์ของ Beforeandafters เขาบอกว่า ทั้งเรื่องนี้แทบไม่มี blue หรือ green screen เลย ผมก็งงว่ามัน composite ได้ยังไง จนผมศึกษาแล้วรู้ว่าเขาใช้ sand screens โดยจะถ่ายกับ screen ที่เป็นสีเดียวกับทะเลทราย”

ความหลงใหลยิ่งกระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้ และทำความรู้จักกับเขามากขึ้น

เสียงปลายสายรับโทรศัพท์ เดาว่าอายุไม่เกิน 40 ปีแน่ ๆ เริ่มรู้สึกตื่นเต้นที่ได้คุยกับคนไทยเก่ง ๆ และอายุยังน้อย ชูชีพ น่าจะเป็นหนึ่งในอีกคนที่มี passion หล่อเลี้ยงความฝันจนทำมันได้สำเร็จ และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของเขา นักล่าประสบการณ์ Visual Effect จนได้ทำงานกับทีมระดับโลก

 

ดรอปเรียนเพราะสู้เพื่อนไม่ได้

ชีวิตเริ่มแรกอาจไม่สวยหรูนัก ‘ชูชีพ ไชยพูน’ เกิดและโตในครอบครัวฐานะปานกลางที่ จ.แม่ฮ่องสอน ช่วงประถมเขาเรียนที่แม่สะเรียง และย้ายไปกรุงเทพตอนอายุ 12 ขวบ หลังจากจบช่วงมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพ เขาก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัย BUIC (มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาคอินเตอร์) ด้าน Computer Graphics and Multimedia และก็ต่อปริญญาโทที่ Bournemouth University ประเทศอังกฤษ ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงในด้าน Visual Effect

จุดเปลี่ยนมากมายเกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่ได้เรียนที่อังกฤษ คือด้วยความที่หลักสูตรเดิมที่จบมาเป็น Graphic Design ดังนั้น background ก็จะไม่เกี่ยวกับ Visual Effect ไม่เกี่ยวกับ Animation หรือไม่เกี่ยวกับ 3D เลย

ดังนั้น บทเรียนแรกของเขาที่เปิดใจกับเราก็คือ ‘ดรอปเรียน’ ตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียนในอังกฤษ

“ผมไม่ผ่านหลายวิชามาก จนต้อง dropout ไปก่อน เพื่อมาหาประสบการณ์เพิ่มเติม ตอนนั้นก็กลับมาไทยมาฝึกงานก่อน แล้วก็ทำงานหาเงินด้วย เพื่อกลับไปเรียนต่อ master ตัวนี้ให้จบ เป็นช่วงที่รู้สึกเฟลกับตัวเองมากเหมือนกัน”

เพราะมีหลายสกิลที่ ชูชีพ ยังขาด และรู้สึกว่าสู้เพื่อนไม่ได้ เช่น ซอฟต์แวร์ Nuke และสกิลที่ต้องใช้กับ Visual Effect

ชูชีพ ไชยพูน: กว่า 10 ปีที่ล่าประสบการณ์ สู่หนึ่งในทีม Visual Effect เรื่อง ‘DUNE 2’ ที่เป็นคนไทย

“ตอนนั้นรู้สึกว่า ทำไมเราสู้เพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่ได้ ความสามารถที่จะผ่านหลาย ๆ ตัว ก็มาฝึกเพิ่ม แล้วก็กลับไปเรียนต่อให้จบ กลายเป็นว่า master ตัวนี้ ผมใช้เวลาเกือบ 3 ปีเพื่อจะให้มันจบตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่เขาตั้งไว้”

ตอนนั้น ชูชีพ ใช้เวลาอยู่หลายปีเพื่อเรียนรู้และเพิ่มสกิลที่ตัวเองขาด โดยเริ่มจากตำแหน่ง ‘ฝึกงาน’ ในบริษัทโฆษณาในไทยแห่งหนึ่ง ใช้เวลาฝึกงานอยู่ที่นั่นเกือบปี หลังจากนั้นก็ย้ายไปทำงานในตำแหน่ง junior อีกบริษัทหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เล็ก ๆ ที่ทำทุกอย่างในบริษัท ใช้เวลาอยู่บริษัทแห่งที่ 2 อีกประมาณ 1 ปี ก่อนจะกลับไปเรียนต่อ master ให้จบ

 

Compositor = อาชีพในฝัน

เกือบ 2 ปีที่อัพสกิลตัวเองอยู่ที่เมืองไทยกับบริษัทโฆษณา 2 แห่ง มีส่วนทำให้ ชูชีพ เห็นภาพความหลงใหลตัวเองชัดขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับตำแหน่ง ‘compositor’ (คนเรียบเรียงภาพ) เขารู้ทันทีว่าตัวเองถนัดในการมองภาพ ชอบในศาสตร์ของงานครีเอทีฟที่ไม่มีผิดไม่มีถูก

“ตอนนั้นผมคิดว่า เราทำทุกอย่างเองไม่ได้หรอก เราต้องเลือกสักอย่างที่เราถนัด แล้วก็โฟกัสไปที่ตรงนั้นเลย ผมตั้งใจอยากจะเป็น compositor ก็เลยไปฝึกความสามารถที่ต้องเข้าใจในตำแหน่งนี้”

“สำหรับผมมันเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างท้าทาย เป็นตำแหน่งที่เราสามารถที่จะใส่ creativity เข้าไปได้มากกว่าหลาย ๆ ตำแหน่ง แล้วเรารู้สึกว่าเราถนัดในการมองภาพและจัดวางองค์ประกอบภาพ role นี้เรารู้ว่าเป็นจุดแข็งของเรา มันสามารถที่จะต่อยอดในอาชีพการงานของเราได้”

“คนเราไม่สามารถที่จะเก่งทุกอย่างได้ เราต้องการคนที่มีความสามารถในหลาย ๆ อย่างให้ถึงที่สุด แล้วก็มารวมตัวกัน แล้วก็สร้างผลงานที่ดีและยิ่งใหญ่ได้ มันต้องใช้ทีม”

แต่หลังจากที่ ชูชีพ เรียนจบ master โชคชะตากลับเล่นตลกอีกครั้ง นอกจากเขาจะไม่ได้ทำโปรเจกต์กับบริษัทที่ทำ Visual Effect ให้กับเรื่อง DUNE 1 แล้ว เขายังต้องกลับบ้านเกิดเพราะรัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนกฎ จากเดิมทีที่จะให้วีซ่าแก่นักเรียนที่เรียนที่อังกฤษให้สามารถอยู่ต่อได้อีก 2 ปีหลังจากเรียนจบ กฎนี้ถูกยกเลิกไป

“ณ ตอนนั้น ผมยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอที่จะให้บริษัทเขา sponsorship เราเพื่อไปทำงาน ผมก็เลยกลับเมืองไทยทำงานที่ไทยอยู่ 7-8 ปี ซึ่งตอนนั้นส่วนใหญ่ทำเกี่ยวกับ animation แต่มีรับฟรีแลนซ์ที่หลากหลายขึ้น ทำหนังบ้างเพราะความชอบเราก็ยังเป็นหนัง มีทำให้ต่างประเทศบ้าง สะสมประสบการณ์ด้าน compositor ไปเรื่อย ๆ ก็ 12 ปีครับ”

 

เพราะเพื่อน...จึงมี DUNE 2

อย่างที่เล่าไปบ้างแล้วว่า DUNE 1 คือ passion ของ ชูชีพ และหนักก็เป็นความหลงใหลมาตลอด รวมถึงตำแหน่ง compositor ด้วย

กระทั่งวันหนึ่งที่เพื่อนชาวไต้หวัน ‘Che Yen Chuang’ ซึ่งเรียนที่อังกฤษด้วยกัน ชักชวนให้ ชูชีพ ลองมาสมัครงานที่ DNEG หรือ Double Negative บริษัทที่โด่งดังจากการออกแบบฉากพิเศษให้กับตำนาน แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเป็นบริษัทสเปเชียล เอฟเฟค รายใหญ่ของยุโรป

“ตอนเพื่อนทักมาก็บอกว่า ตอนนี้เขาอยู่บริษัท Double Negative แล้วกำลังมีโปรเจกต์ DUNE ภาค 2 เข้ามา ฉันจำได้ว่าคุณเคยบอกว่าอยากมีส่วนร่วมมาก ๆ ใน DUNE ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เขาได้ทำต่อ หลังจากที่ทำ DUNE part 1 แล้วมันประสบความสำเร็จ”

แม้ว่าเพื่อนที่ชวนจะไม่ได้รับปากว่า ชูชีพ จะผ่านมาคัดเลือกหรือไม่ แต่ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา ความรู้ต่าง ๆ และผลงานที่เคยทำมาเป็นประจักษ์ว่ามีความสามารถ หลังจากนั้นเขาจึงได้สัมภาษณ์กับ head of compositing และในที่สุด ชูชีพ ก็ได้ทำงานกับ DNEG ซึ่งนั่นทำให้ความฝันของเขาในการมีส่วนร่วมใน DUNE 2 ใกล้ขึ้นไปอีกก้าว โดยเขาได้มาประจำอยู่ที่ออฟฟิศที่ แวนคูเวอร์ ในแคนาดา

เวลา 1 ปี กับอีก 1 เดือนที่เขาได้ทำงานในตำแหน่ง compositor และคลุคลีอยู่กับการทำ Visual Effect ที่ DNEG เขาพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเพื่อให้ตัวเองเหมาะสมกับโปรเจกต์ DUNE ภาค 2 แต่แล้วโปรเจกต์แรกที่เขาได้รับมอบหมายก็คือ TV series เรื่อง Masters of the Air ซึ่งฉายใน Apple TV+

ส่วนโปรเจกต์ที่ 2 ยังคงไม่ใช่ DUNE 2 ตามที่ใจปรารถนา เพราะตอนนั้นหลังจากผ่านทดลองงานได้ไม่นาน เขาก็ถูกให้ไปช่วยทำในโปรเจกต์ Fast X กับทีม London อยู่ประมาณเกือบเดือน

ต่อมาโปรเจกต์ที่ 3 ก็ยังไม่มีหวังที่จะได้ช่วย DUNE 2 เพราะโปรเจกต์ที่ได้มาช่วยก็คือ เรื่อง No One Will Save You ที่ฉายในแพลตฟอร์ม Hulu

“ผมพยายามพิสูจน์ตัวอย่างมาก แม้ว่าจะได้รับโปรเจกต์โหดแค่ไหน”

ชูชีพ ไชยพูน: กว่า 10 ปีที่ล่าประสบการณ์ สู่หนึ่งในทีม Visual Effect เรื่อง ‘DUNE 2’ ที่เป็นคนไทย

ในระหว่างที่เขาเล่า ชูชีพ เปิดใจว่าเกือบจะถอดใจแล้วเพราะทำหลายโปรเจกต์ แต่ไม่ใช่ DUNE 2 เสียที จนกระทั่ง โปรเจกต์ที่ 4 ที่ชุบใจให้เขาใจฟูอีกครั้งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ฝันอยากจะทำแต่แรก นั่นก็คือ ‘Aquaman ภาค 2’ ซึ่งเขาและทีมทำผลงานได้ค่อนข้างดีทีเดียว แถมยังทำเสร็จก่อน deadline 1 อาทิตย์ด้วย

ผลงานที่ผมค่อนข้างภูมิใจกับเรื่อง Aquaman 2 หนึ่งในซีนที่ผมได้มีส่วนร่วม ก็คือ ซีนที่ อาเธอร์ ไปช่วย ออร์ม (น้องชายต่างพ่อของอาเธอร์) ที่ถูกคุมขังที่คุกใต้ดินทะเลทราย” ซึ่งตอนนั้นเขาก็คิดในใจแล้วอาจจะไม่ได้ทำ DUNE 2 เพราะเวลาเหลือไม่มากแล้ว ก่อนจะปิดรับทีมทำ Visual Effect

กระทั่งวันหนึ่งมีอีเมลเข้ามาแจ้ง บอกว่า ดีใจด้วยคุณได้เข้าในทีมของ DUNE ภาค 2 ถือเป็นว่าฝันก้าวแรกที่เขาทำสำเร็จ

“ตอนนั้นมี strike เกิดขึ้นที่ฝั่งอเมริกา แล้วทุกคนรู้ว่าชะตาชีวิตของตัวเองคืออะไร ทุกคนรู้ว่า โปรเจกต์นี้อาจจะเป็นโปรเจกต์สุดท้าย แล้วหลังจากนั้นเราอาจจะไม่มีงานทำนะ แต่ทุกคนก็ไม่ได้กังวล ไม่ได้ลาออก นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันน่าประทับใจมากใน spirit ของคนทำงาน ทั้ง ๆ ที่บางคนอาจไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าในเดือนถัดไปแล้ว”

“ผมภูมิใจกับโปรเจกต์นี้มาก เพราะความยากของการรีวิวของทีมนี้ ซึ่งเป็นทีมเดียวที่ทำ The Last of Us ที่ได้รางวัล เป็นทีมที่มีคุณภาพมาก มันค่อนข้างที่จะผ่านยากมาก ๆ”

ในที่สุดผลงานของ DUNE 2 ที่ชูชีพ รอคอยมานานถึง 4 โปรเจกต์ เขาประสบความสำเร็จทั้งในแง่การทำ การเรียนรู้ ทีม และ End Credits ที่เป็นชื่อของเขาด้วย

 

วัฒนธรรมการทำงานแบบไม่กลัวดูโง่

นอกจากการเรียนรู้ในแง่ของการทำงาน ความสำเร็จของการเรียนรู้ใน Visual Effect ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลมาตลอด ชูชีพ ได้แชร์กับเราเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของเขากับบริษัทต่างประเทศ ซึ่งมีหลายมุมน่าสนใจ เขาพูดว่า “ผมรู้สึกว่าบริษัทต่างชาติค่อนข้างที่จะ open แล้วก็ยอมรับ เขาอยากให้เรา speak out มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทุกครั้งเวลาที่เราอัพเดทรายวันว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราต้องให่รายละเอียด เช่น ทำอะไร, เพิ่มอะไรเข้าไป, แก้อย่างไร, ต่างจากเดิมตรงไหน สิ่งที่คุณพูดเนี่ย ต้องไม่น้ำมาก ตรงประเด็น แล้วก็ให้ชัดเจนไปเลยว่าต้องทำอะไร พูดให้ถูกจุด”

เราชอบที่ ชูชีพ แชร์ว่า “ทำงานกับบริษัทต่างชาติ เราต้องกล้าถาม มันไม่ได้โง่ ถ้าเราจะถาม”

เขายังพูดถึงมุมมองบวกที่มีผลต่อการทำงานด้วยว่า สร้างกำลังใจในการทำงานได้เยอะมาก นอกจากนี้ การสื่อสารก็สำคัญหากเราสนใจที่จะทำงานกับบริษัทต่างชาติ เพราะหากเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ หรือไม่รู้ว่าต้องสื่อสารกับทีมอย่างไร ฝันของคุณอาจไม่ถึงฝั่งก็ได้

 

Artists สำหรับเมืองไทย

ณ ช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยัง down อีกฟากหนึ่งของซีกโลกยังคงมี strike ลุกลามมายังปัญหาการ lay off เยอะมาก ซึ่งปัจจุบัน ชูชีพ หมดสัญญาแล้วกับ DNEG และย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย แต่ประสบการณ์ที่ได้เจอโลกกว้างขึ้น เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในต่างประเทศ เขาฝากแง่คิดที่ค่อนข้างน่าสนใจว่า

"ผมยังมีความหวังในสายอาชีพนี้อยู่ ผมคิดว่ามันยังเป็นสิ่งที่ควรผลักดันในบ้านเรา มันทำให้มองเห็นมากขึ้นว่าจริง ๆ แล้ว artists ในบ้านเรามีความสามารถเยอะมาก ต้นทุนในการทำหนัง แล้วจะเอามาลงในส่วนของ Visual Effects แล้วก็เวลาที่มีให้เขาเนี่ย มันน้อยเกินกว่าที่เขาจะได้แสดงความสามารถออกมา"

"หลาย ๆ คนที่ผมเคยทำงานด้วย มีความสามารถเพียงพอ เพียงแต่ว่ามันมี limitations มากเกินไปที่จะไปสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง budget และเรื่องเวลา"

"การทำงานในสายนี้ ที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ มันต้องอาศัยการเรียนรู้เยอะมาก มันต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรียนรู้แล้วสามารถใช้มันได้ตลอด มันต้องคอยปรับตัว ตอนนี้มี AI เข้ามา เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับ AI หรือทุกอย่าง"

นอกจากนี้ ชูชีพ ยังพูดถึงในการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในสายอาชีพนี้ว่าสามารถทำได้หลายแบบ เช่น ในแวนคูเวอร์ ที่รัฐบาลจะมีการช่วยเหลือทางด้านภาษี สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจในด้านภาพยนตร์ โดยจะมี tax ที่ดึงดูดและกระตุ้นผู้ลงทุนให้มาถ่ายทำที่เมืองนั้น จ้างแรงงานในเมืองนั้น ซึ่งในมุมนี้มันยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย

เขายังทิ้งท้าย ในฐานะที่เป็นคนต่างจังหวัดคนหนึ่งแม้จะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพนานแล้ว แต่สิ่งที่เขาอยากจะพูดถึงทุกปัจจัยที่หล่อหลอมเขาให้เป็นเขาอย่างทุกวันนี้ ก็คือ 'ครอบครัว'

"พ่อแม่ผมเขา support ผมเสมอ ไม่ว่าผมจะทำอะไร เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ผมทำมันคืออะไร มันจะหาเงินได้ไหม เขาแค่คิดแบบคนโบราณว่า สมบัติที่เขาจะมีให้ลูกมากที่สุดก็คือการศึกษา" 

"เวลาที่ผมขอไปเรียนต่างประเทศ ผมก็ต้องขายที่ ขายทาง แต่เขาก็ยอมที่จะเสียสละตรงนั้น เพื่อที่จะส่งเสริมเราทางด้านการศึกษา ทั้งที่เขาไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันเกี่ยวกับอะไร"

"ผมว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นโอกาสที่ผมได้รับจากครอบครัว ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด"

"ตอนที่พ่อผมเขาให้เงินทุนก่อนผมไปเนี่ย เขายังมีชีวิต ตอนนี้เขาเสียไปแล้ว ผมแค่หวังว่า สิ่งที่เขาไม่รู้ว่าเขาส่งผมไปเรียน ทำอะไรมาเนี่ย มันมีความสำเร็จของมันอยู่ ผมหวังว่า วันนี้ต่อให้เขาไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ผมทำ เขาน่าจะพอรู้ว่า ผมประสบความสำเร็จในสายงานนี้"

"สิ่งที่ร่ำเรียนมา ผมเลี้ยงตัวเองได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณครอบครัวจริง ๆ ครับ"

 

ภาพ: ชูชีพ ไชยพูน/ Facebook