ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

ASIA7 วงดนตรีฟิวชันที่ขับเคลื่อนงานด้วยความเชื่อ ตัวตน และแพสชัน ศิลปินที่เชื่อว่าดนตรีไทยและตะวันตกจะเดินไปด้วยกันได้ และอยากให้ ASIA7 เป็นแผนที่ใหม่บนโลกแห่งเสียงเพลง

KEY

POINTS

  • ASIA7 เป็นวงดนตรีที่มีสมาชิก 8 คนที่เล่น 8 เครื่องดนตรี
  • ในวันนี้ จุดความสำเร็จอาจยังเป็นสิ่งที่พวกเขายังต้องไขว่คว้า แต่เขาก็เชื่อว่าพวกเขาจะยังคงมอบเสียงดนตรีซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ฟัง
  • และเป็นวงดนตรีที่ขับเคลื่อนเสียงเพลงด้วยความเชื่อ ตัวตน แพสชัน และเป้าหมายที่พวกเขามีร่วมกัน

ASIA7 คือ วงดนตรีฟิวชันที่ผสมผสานดนตรีไทยและตะวันตกเข้าด้วยกัน เล่าเรื่องด้วยสำเนียงของเพลงแบบเอเชีย

และเป็นวงดนตรีที่มีสมาชิกมากถึง 8 คน 8 ตำแหน่ง 8 เพลง ประกอบด้วย ‘ต้น’ ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), ‘ออย’ อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), ‘โยเย’ นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ‘โอม’ กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซกโซโฟน), ‘สุนทร’ สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), ‘บูม’ ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ‘ดิว’ ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ ‘โน้ต’ ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง) 

เพราะสำหรับพวกเขา ASIA7 ไม่ได้เป็นเพียงแค่วงดนตรี หรือคน 8 คนที่ชอบในเสียงดนตรี แต่เป็นสำเนียง วิธีการเล่น และเคมีทางดนตรีที่แตกต่าง 8 เสียงมาอยู่ร่วมกัน

มากกว่านั้น ASIA7 ยังเป็นวงดนตรีที่มีความเชื่อในดนตรี ไม่ทิ้งตัวตน และมีแพสชันเรื่องดนตรีอย่างแรงกล้า 

หลงทางก็มีอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็ผ่านมาได้ที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะเป็นตัวเอง และเป็นแนวเพลงบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : ก่อนจะพูดถึงวง ASIA7 อยากให้คุณเล่าให้ฟังว่าแต่ละคนสนใจเรื่องดนตรีได้อย่างไร 

ต้น : จุดเริ่มต้นการฟังเพลง ผมโตที่ชัยภูมิ โตมากับเพลงหมอลำ ลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต โตมาหน่อยก็ฟังตามพ่อแม่ แล้วก็ชอบเล่นเหมือนเด็กทั่วไป เอากระป๋องนมมาทำเป็นกลองชุด เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก ทำ Floor เปิดเพลงแล้วก็เล่นตาม หลังจากนั้นก็ตัดสินใจเรียนดนตรีตอนอยู่ ม.4 ก็เข้ามาอยู่มหิดล โดยตอนนั้นเลือกเรียนเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน เล่นโปงลาง เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก 

สุนทร : พ่อผมเป็นนักดนตรีเก่า สมัยวัยรุ่นเขาก็เล่นตามวงลูกทุ่งแถวบ้าน พอผมลืมตาดูโลก 2 - 3 ขวบก็เริ่มได้ยินเขาเล่น และด้วยแบบสายเลือดหรืออะไรก็ไม่รู้ ผมก็จะชอบไปนั่งข้าง ๆ เวลาสังสรรค์ แล้วแม่ก็จะไล่ไปนอน พอได้ยินก็ชอบ แล้วญาติ ๆ ก็จะมาบอกผมว่า เป็นเด็กที่ร้องเพลงได้ตั้งแต่หนึ่งขวบ สองขวบ เหมือนเราซึมซับ ตอนเด็ก ๆ ไปเล่นอะไรมันก็จะเกี่ยวกับเพลงหมด เล่นต่อเพลง ขอแม่ซื้อเพลง ซื้อแผ่นเทปร้องได้ จนเริ่มหัดเล่นจริง ๆ ตอนประถม พ่อก็เป็นคนแรกที่สอน แล้วหลังจากนั้นผมก็ชอบ และตั้งเป็นความฝันว่าจะเป็นศิลปินเลยตั้งแต่ตอนนั้น

โยเย : เราโตมากับการที่พ่อแม่เปิดเพลง ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวหรอกว่าชอบหรือยัง แต่จุดที่มาสนใจแล้วก็เริ่มเล่นดนตรีจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงประมาณ ป.3 - ป.4 มีชมรมดนตรีไทย เราก็สนใจ อยากลองเล่น อยากลองเรียน ก็เข้าไปอยู่ในชมรม ก็สนใจตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา 

ออย : เริ่มตั้งแต่จำความได้เลย ที่บ้านจะชอบร้องคาราโอเกะกัน พ่อชอบเล่นกีตาร์ ที่บ้านมีพี่สาว 2 คนก็ร้องเพลงกันตั้งแต่เด็ก ก็เลยซึมซับมา พอเริ่มโตขึ้นก็ไปเรียนเปียโน ก็เริ่มรู้สึกว่าทำได้ดีกว่าอย่างอื่น เราไม่ชอบเรียนวิชาการ รู้สึกว่าทำสิ่งนี้ได้ดีกว่ามาก ๆ ก็เลยมุ่งมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

โอม : สมัยเด็ก พ่อชอบเปิดเทปคาสเซ็ทเพลงรวมฮิตของพี่เบิร์ด จำได้ว่าร้องได้ เต้นได้ ตั้งแต่ตอนนั้น แล้วตอน ป.5  ผมเข้าวงดุริยางค์ของโรงเรียน เล่นมาเรื่อย ๆ จนพ่อเห็นแวว ก็ให้ไปเรียนพิเศษด้านนอกที่เป็น private ดนตรีตอน ม.1 แล้วก็เล่นเรื่อย ๆ มาเป็นอาชีพเลย

บูม : เท่าที่จำความได้ ผมเริ่มเล่นดนตรีตามพี่ชาย เห็นพี่ชายเป็นไอดอลเลย แล้วก็ไม่ชอบวิชาการ จะเลือกดนตรี ใช้ดนตรีนำทางชีวิตมาเรื่อย ๆ อย่างสอบเข้ามหาวิทยาลัยปีหนึ่ง ก็ไม่เลือกวิชาการเลย เลือกดนตรี เราแค่ดูว่าดนตรีพาเราเข้าที่ไหนได้บ้าง ก็เป็นเรื่องดนตรีเรื่อย ๆ จนมาถึงทุกวันนี้

ดิว : ที่บ้านผมไม่ได้มีใครเล่นดนตรีเลย แต่ตอนเด็ก ๆ ที่บ้านเขาส่งเสริมให้ลองเรียนหลาย ๆ อย่าง ศิลปะ ดนตรี กีฬา สุดท้ายก็ค้นพบว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ถนัดที่สุด เราทำได้ดี ตีกลองรอบหนึ่งเราทำตามได้เลย ขณะที่เพื่อนอีกคนทำตามไม่ได้ เหมือนมันคล้าย ๆ กับว่า ผมว่าตอนเริ่มต้นมันอาจจะเป็นเรื่องพรสวรรค์ รู้สึกว่าเรามี sense ดนตรี แล้วทำได้ดีมาตลอด เราก็เลยทำในสิ่งที่ถนัด

โน้ต : ตั้งแต่ ป.3 ป.4 ผมเห็นวงดุริยางค์ รู้สึกอยากเล่น อยากตีกลอง บอกแม่ว่าอยากตีกลองสแนร์ แม่ก็ซื้อให้ แล้วก็รู้สึกว่าการตีกลองเป็นอย่างเดียวในชีวิตที่ทำได้ดี นอกนั้นศิลปะ กีฬา การเรียน คือเป็นศูนย์ ก็เลยรู้สึกว่าการเข้ามหิดลนี่แหละก็คือเป็นอย่างเดียวที่เราทำได้ การต่อมหาวิทยาลัยก็เลยอยู่มหิดลนี่แหละ

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : แล้วจุดเริ่มต้นของ ASIA7 มาจากอะไร 

ต้น : เริ่มจากผมที่อยากทำวงดนตรี มีโปรเจกต์ที่ผมพยายามเอาดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน มาผสมกับดนตรีตะวันตก เราเห็นคนอื่นทำก็อยากทำบ้าง ชวนมาทำโปรเจกต์ตอนจบ ม.6 เอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาผสมกับดนตรีสากล ก็สนุกดี แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ ก็มาเจอพี่ ๆ น้อง ๆ แต่ละคน คิดว่าเคมีเขาน่าจะเข้ากับสิ่งที่เราจะทำหรือทำร่วมกันแล้วสนุก ก็เลยชวนกัน

โยเย : เยกับต้นรู้จักกันตั้งแต่ ม.4 เยกับต้นอยู่วงร่วมสมัยของโรงเรียนด้วยกัน แล้วมหิดลส่งไปประกวดรายการคุณพระช่วยที่ปีนั้นเป็นปีเดียวที่รายการจัดประกวดรายการดนตรีไทยร่วมสมัยระดับมัธยม แล้วก็ได้รางวัลชนะเลิศ ต่อยอดจากวงร่วมสมัย ต้นเองก็มีโปรเจกต์ ม.6 ของตัวเองที่ชวนพี่สุนทรมาเล่น แล้วพอขึ้นมหา’ลัยก็ชวนโอม ชวนพี่ดิว ชวนบูมด้วย 

ต้น : แต่ก็ยังไม่ใช่ ASIA7 หมายความว่า ผมทำโปรเจกต์ที่เน้นอีสานกับดนตรีไทย ชวนคนนั้นมา คนนี้มาแจม มีคนเข้าคนออกอยู่บ่อยครั้ง มีมือกลอง มีมือ percussion ที่แวะเวียนเข้ามาร่วมโปรเจกต์นี้ 

แล้วจริง ๆ วงเริ่มมาจากเพลงบรรเลง เราอนุมานว่า สิ่งที่เราเล่นคือความเป็นเอเชีย อย่าจำกัดว่าแค่ไทยแล้วกันอย่างนี้ คือมีเพลงแขก มีเพลงจีนหลากหลาย แล้วก็จะมีนักร้องรับเชิญแต่ totally ก็คือเป็นแนวเพลงเอเชีย ที่คนเล่นสมาชิกมีอยู่ 7 คน ก็เป็น ASIA7 แล้วกัน

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : เหตุผลที่ทำให้เชื่อว่าความเป็นดนตรีไทยกับความเป็นดนตรีตะวันตกมันจะไปด้วยกันได้คืออะไร

ต้น : ความเชื่อเดียวคือชอบ รู้สึกว่าทำแล้วมันสดใหม่ น่าตื่นเต้นว่านี่ทำได้ด้วยเหรอ ทำนองนั้นมาใส่คอร์ด เฮ้ยมันดูโรแมนติกขึ้น มันดูมีชีวิตชีวาขึ้น เปลี่ยนจังหวะบ้าง เป็นความท้าทายตอนแรกที่ทำ 

โยเย : จริง ๆ แล้วเรื่องความเชื่อว่าดนตรีไทยกับดนตรีสากลมันอยู่ด้วยกันได้ จริง ๆ แล้วเห็นตัวอย่างจากครูบาอาจารย์ที่เขาทำไว้หลายท่านแล้ว เราเห็นความเป็นไปได้ว่ามันรวมกันได้ มันคุยกันได้สองภาษา แล้วเราก็แค่ต่อยอดไปอีกแนวทางหนึ่งขึ้นมา 

The People : การผสมผสานของสองแนวดนตรี ทำให้วันนี้จุดเด่นของเพลงของ ASIA7 เป็นแบบไหน 

โยเย : ความเป็น ASIA7 โยว่ามันคือเรา 8 คนที่มีเสียง 8 เสียงที่มันอยู่รวมกัน

ต้น : มันไม่ใช่แค่มีพิณ มีซอ มีแซกโซโฟน แต่หมายถึงสำเนียงของแต่ละคนด้วย วิธีการเล่นของแต่ละคน มันคือซาวนด์ของ 8 คนนี้ สำเนียงของ 8 คนนี้ 

โอม : เหมือนเคยพูดกับพี่โอม (Cocktail) ว่าเราจะอยู่ genre ไหน เรามี reference เป็นใคร ก็มีอาจารย์รุ่นใหญ่ แต่ถ้าเสียงแบบนี้ ยุคนี้ มันไม่มี พี่โอมก็เลยบอกว่าก็เปิดเลนใหม่ไปเลย ทำแบบตัวเองไปเลย เพราะมันไม่ได้มีตัวอย่างแบบเราไง 

ดิว : นอกจากเรื่องเล่นก็คงเป็นเรื่องเพลงที่เราทำด้วย มันคือเรื่องของการ arange และ materials ด้วยที่เราดึงมาใช้ ผมมองว่า ASIA7 คือ อีโก้และแพสชันของพวกเราที่ถูกคัดกรองและกลั่นกรอง แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ คือ ASIA7  

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : ช่วงหนึ่ง หลังเดบิวต์ได้ประมาณหนึ่งปีครึ่ง ASIA7 ถูกคัดเลือกให้ขึ้น ACC World Music Festival ที่เกาหลีใต้ ตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไร 

ต้น : หลังจากเดบิวต์ก็ได้โอกาสที่ดี ไปเล่นงานน่าจะประมาณ World Music ที่เกาหลีก็ถือเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งทำให้เรา เฮ้ย! ดนตรีแบบนี้มันตอบโจทย์นะ ไม่ใช่การไปเล่นตามงาน Jazz Fest ในประเทศเราอย่างเดียว เพราะงาน festival แบบนี้ที่รองรับวงประเภทนี้ก็จำกัด พอได้ออกไปข้างนอกก็เห็นว่ามันยังมีโอกาสที่เราจะได้ไปแบบนี้อีก กับต้องทำวงแบบนี้แหละถึงจะได้ไปต่างประเทศ คิดแบบนี้ด้วยตอนนั้น

ดิว : ถ้าพูดเรื่องการไปเรียนต่างประเทศ ถ้า พ.ศ. นี้อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว เพราะว่ามีหลายวงที่ออกไป แต่ ณ ตอนนั้นก็เป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนพวกเราให้เล่นดนตรีอยู่ตลอด เพราะว่าการทำเพลงแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้มีงานใน Commercial เลย

การอยู่มาหลาย ๆ ปี อาจจะทำให้วงหมดไฟได้ตลอดเวลา ดังนั้นการที่ออกไปเล่นต่างประเทศ ทุกที่ก็จะเป็นที่ใหม่ของเราเสมอ มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่ามันเฟรชทุกครั้ง 

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : ก่อนขึ้นเวที คุณเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หรือท้อใจไหม

โยเย : ตอนนั้นเพิ่งเดบิวต์ได้ปีกว่า มันยังไม่ถึงช่วงเวลาที่จะหมดไฟกัน ระหว่างนั้นมันก็มีงานในประเทศอยู่เรื่อย ๆ อาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่ว่าก็มีพอให้ได้มาเจอกัน ได้มาทำงานด้วยกัน ได้มาคุยกัน เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ถือว่าหมดไฟในช่วงเวลาก่อนที่จะได้เดบิวต์

ต้น : เหนื่อยก็สนุกเคยไปทำอันนั้นกัน เหนื่อย ซ้อมเสร็จตีสามตีห้า ต้องไปอยู่สถานทูตไปทำวีซ่าก็มีครับ หรือแบบไปต่างประเทศแล้วแก๊งแรกไปก่อน และมีแก๊งสองตามไป ไปถึงเสร็จปุ๊บไม่ได้เล่นก็มี festival cancel เพราะคนวุ่นวายก็มี หรือเป็น route trip ก็มี

The People : แต่ ณ เวลานั้นเรามองว่ามันสนุก?

โยเย : เต็มที่ ถึงขนาดแบบเราดูว่าเราจะไปเล่นงานนี้ เราก็ไปไล่ดูว่างานนี้มันเกี่ยวกับอะไร มีใครไปเล่นบ้าง มีวงไหนไปเล่นบ้าง แล้วก็ทำการบ้านทุกครั้งที่เราไป เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นสำหรับเราเสมอ

ต้น : เพราะการไปต่างประเทศอย่างที่พี่ดิวบอก เป็นการต่อเชื้อไฟ รู้สึกว่านี่คือเล่นครั้งสุดท้ายหมายความว่าเล่นต้องได้ไปต่อ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ หมายความว่าพอเราไปเล่นงานนี้ ผู้จัดอีกงานหนึ่งเข้ามาดูเขาก็ชวนเราไปต่อ อาจจะสองสามเดือนอะไรก็แล้วแต่ เป็นปีแบบนี้ มันก็ยังได้ไปต่อจากตอนนั้น

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : ตอนนั้น เรามองภาพวงตัวเองไว้ไหมว่า จะไปหยุดที่ตรงไหน 

ต้น : ผมว่าคงไปทัวร์ตาม festival ถ้าพูดตรง ๆ นะตอนนั้นวงที่เราเห็นเขาไปบ่อยที่สุดคือ Paradise Bangkok เราก็คิดว่า ASIA7 ก็อยากจะไปแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องมี process อะไร อย่างไร แต่ว่าเห็นวงอาจารย์เราไป เพราะพี่คำเม้า (คำเม้า เดี่ยวพิณ) คืออาจารย์ของผม ก็เห็นเขาทำงาน เราก็รู้สึกว่า วงแบบนี้ เทคนิคประมาณนี้ก็น่าจะไปอยู่บนเวที festival ระดับโลกได้เหมือนกันนะ 

โยเย : มองคล้าย ๆ กันค่ะ คือภาพที่เห็นตอนนั้นคือเห็นวงเราไปเล่นในเวทีที่มันใหญ่ขึ้นในงานที่มันระดับโลกมากขึ้น

The People : 8 ปีกับการเป็น ASIA7 คุณเคยกลับมาทบทวนไหมว่า คนฟังกำลังมองเราอย่างไร 

ต้น : จริง ๆ ก็มีอัปเดตเรื่อย ๆ ว่าอันนี้เวิร์กไหม อันนี้ไม่เวิร์ก ASIA7 พูดเรื่องไหนแล้วคนเชื่อ ดนตรีไทยเยอะไปไหมหรือน้อยไป ยิ่งโลกปัจจุบันทุกอย่างมันเคลื่อนที่เร็ว ทุกอย่างมันมีการอัปเดตอยู่ตลอดเวลา แฟชั่นมันเปลี่ยน เราเองก็ต้องเปลี่ยน 

ถามว่ามันมีช่วงเวลาที่เหนื่อยแล้ววนในอ่างไหม มันมีอยู่แล้ว ก่อนที่จะเข้าค่าย หรือแม้กระทั่งเข้าค่ายเอง เราก็ต้องปรับเพราะว่ามันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกที่สุด ใช่ที่สุด แต่พอทำไปแล้วมันไม่ใช่ มันก็ต้องเปลี่ยน มันก็มีการรีเช็กกัน

The People : ช่วงที่วนอยู่ในอ่างเป็นอย่างไร

ต้น : มันก็คือกระบวนการทำงานที่เราอาจจะยังไม่รู้จักตัวเองมากพอหรือยังไม่รู้จักสิ่งที่เรากำลังจะทำมากพอ สิ่งที่มีกับสิ่งที่จะไป มัน match กันไหม ความต้องการของเราจริง ๆ คืออะไร พอเรามาตกลงว่า ความต้องการมันจะเป็นสิ่งที่เราชอบ หรือจะเป็นแนวแมส บาลานซ์น้ำหนักแบบไหนที่โอเค 

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : การทำได้ดี รู้สึกกลัวไหมกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป ไม่ได้สำเร็จเหมือนเดิม

ต้น : ผมกลัวนะ ผมมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ว่าพอมันอยู่ด้วยกันหลายคน ผมไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมอาจจะทำในบางพาร์ตที่จำเป็นต้อง leader แต่หมายความว่ามันมีคนให้แชร์ 

สำหรับผม ASIA7 คือ Comfort Zone ที่รู้สึกว่า “กูไม่ชอบอันนี้” บอกไม่ชอบอันนี้แต่ไม่รู้จะแก้ยังไง มันก็มีคนช่วยแก้ได้เพราะมันอยู่กัน 8 คน ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันโดนแก้ คนนี้ทำไม่ได้ คนนั้นทำได้ คนนี้ทำไม่ได้ คนนั้นช่วยทำ มันอาจจะไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันถูกแก้ด้วยหลาย ๆ คน ช่วยทำมากกว่าคนเดียว มันไม่ได้โดดเดี่ยว

ออย : เหมือนความกลัวมันจะเกิดขึ้นอยู่ในกระบวนการมากกว่า มันไม่เชิงกลัว แต่จะเกิดคำถามมากกว่าว่ามันจะเวิร์กเหรอวะ อันนี้มันจะได้หรือเปล่า อันนี้มันจะอยู่ในที่แบบนี้ได้ไหม แต่สุดท้ายมันก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำมันก็ไม่รู้

โอม : จริง ๆ ผมไม่กลัวนะ ถ้ากลัวมันก็จะไม่ได้เปลี่ยนแปลง มันก็จะลูปอยู่กับที่เดิม มันก็จะไม่ได้เดินไปข้างหน้า อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าวงเรามันไม่มีต้นแบบก็เลยไม่รู้ว่าที่ทำไปมันถูกหรือไม่ถูก มันก็เลยเกิดความแบบที่ออยพูดแต่ว่า ถ้ายังกลัวอยู่มันก็จะไม่ได้ทำ ก็เลยลุยเลย แล้วพี่ต้นก็บอกว่ามี 8 คนไม่กลัว

ต้น : แต่ย้อนกลับมานิดหนึ่งครับ ที่บอกว่าความสำเร็จในอดีต ผมยังมองว่า ASIA7 ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น เราเลยตอบไม่ได้ว่า โหจะกลัวไหมถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ชอบเลยความเปลี่ยนแปลงอะ เพราะว่าอะไร เพราะว่านี่ยังไม่สำเร็จเลยนะ ณ วันนั้นถ้าเรามาคุยกันนะ สมมติว่า ASIA7 Success แล้ว เรามาคุยกัน ผมอาจจะมีคำตอบที่ไม่เหมือนตอนนี้ก็ได้

The People : นิยามความสำเร็จของพวกคุณเป็นแบบไหน 

โอม : เมื่อก่อน ASIA7 เป็น Side Project แต่พอวันหนึ่ง เราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เป็นงานหลักของเรา ผมแค่อยากให้วงมันสามารถเกิดรายได้หล่อเลี้ยงเราได้ คัฟเวอร์ และอยู่ด้วยกันหลายคนก็บอกว่าเพลงวิวสิบล้าน วิวหลายล้าน ถือว่า success แล้ว ดีใจประสบความสำเร็จ แต่ผมมองว่าถ้าประสบความสำเร็จจริง ต้องเลี้ยงพวกเราได้ จากจำนวนงาน ไม่ว่าจะไทยหรือเทศ เราโอเค อันนั้นคือสำเร็จในมุมผมนะ

ต้น : เป้าหมายสุดท้าย ผมว่ามันคือสิ่งที่โอมพูด ที่ว่าเพลงจะดังไม่ดัง คนชอบไม่ชอบ ถ้าพูดตรง ๆ ผมไม่ได้สนใจนะ ผมสนใจแหละ (หัวเราะ) แต่ว่าสุดท้ายแล้วอันนั้นมันก็คือเรื่องดี คนชอบเพลงเรามันก็คือจุดเริ่มต้น แต่ว่าจุดสูงสุดคือมันเลี้ยงชีวิตเราได้ เราจะได้กล้าที่จะไปต่อ ว่าเราจะไปทางไหน จะสร้างโลกใบนี้มันเป็นอย่างไร

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง The People : การเป็นนักดนตรีในทุกวันนี้ยากไหม

โน้ต : การจะเป็นนักดนตรีได้มันก็ยากอยู่แล้ว การที่จะเป็นนักดนตรีในสมัยนี้ก็ยิ่งยากเข้าไปอีก เพราะนักดนตรีก็เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ การที่จะอยู่ในวงการให้ได้ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่เหมือนกัน ก็ต้องพัฒนาและฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา

ดิว : จริง ๆ คำถามนี้มันต้อง คนที่มีช่วงอายุต่างกันมันจะมีคำตอบที่แตกต่างกัน ผมตอบในฐานะคนที่อายุ 32 แล้วกัน คือนึกออกไหม สำหรับผมการเป็นนักดนตรีไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือการทำให้บรรยากาศและทำให้วงจรชีวิตในแต่ละวันมีคุณภาพ เรื่องของสุขภาพ เรื่องการจัดการเวลา นอกจากเรื่องเล่นดนตรี เราจะต้องคิดเรื่องอื่นที่มันจะไม่ใช่เรื่องเล่นดนตรีเยอะ กว่าที่เราจะขึ้นไปอยู่บนเวทีในแต่ละวัน 

บูม : เรื่องที่ยากคือการจัดการเวลา มันก็จะมีเรื่องการนอนเป็นเรื่องสุขภาพเข้ามา กินดึก บางทีมันนอนไม่หลับเลยก็มี บางทีกลัวตื่นไม่ทัน 

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

โอม : ในมุมที่เป็นนักดนตรีไม่ยากครับ แต่ว่ามุมคนรอบตัว ครอบครัวนักดนตรีน่ะยาก นักดนตรีทำเยอะได้เยอะ ทำน้อยได้น้อย บางทีงานมันเข้ามาไม่รู้หรอกว่ามันจะเข้ามาตอนไหน มันไม่ได้มีเวลาตอกบัตร สมมติเรานัดกินข้าวกับครอบครัววันนี้ แล้วถ้ามันมีอีเวนต์งานเข้ามาครึ่งหมื่น คุณจะรับหรือคุณจะไม่รับ มันจะเป็นประมาณนี้เข้ามาตลอดในช่วงอายุงานเลย 

ออย : ออยรู้สึกว่ามันยากขึ้นทุกวันค่ะ เอาเป็นในพาร์ตของนักร้องแล้ว ด้วยความที่ว่าเด็กสมัยนี้เก่งมาก และทุกคนได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ช่วงเด็ก ๆ เพราะฉะนั้นการแข่งขันก็สูงขึ้นมาก จากแค่เราพัฒนาศักยภาพ พัฒนาฝีมือ เราต้องพัฒนาบุคลิกด้วย ทำอย่างไรให้เราถึงจะอยู่ในแสงกับเขาได้ 

แต่ในทางเดียวกัน รู้สึกว่ามันอาจจะดีกว่านี้ ถ้าสังคมและประเทศยอมรับ เปิดกว้าง มีพื้นที่ให้สำหรับคนที่เยอะขนาดนี้ มีฝีมือเยอะขนาดนี้ มีเวที มีพื้นที่ เพราะทุกวันนี้มันมีพื้นที่ให้เรายืนน้อย  แล้วเหมือนทุกคนตั้งแรงค์ไว้สูงขึ้น ๆ ความสำเร็จ เก่งต้องแปลว่าเท่านี้ ๆ ความสำเร็จมันก็ถูกกระเถิบขึ้นไปเรื่อย ๆ 

โยเย : ของโยในพาร์ตของนักดนตรีไทย ก็ชีวิตนักดนตรีก็ยากค่ะ เรียกว่ามันไม่ได้มีพื้นที่ให้เราเยอะขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการที่นักดนตรีไทยจะอยู่รอดได้มันไม่ใช่เล่นดนตรีอย่างเดียวแล้วเลี้ยงชีพได้ 

สุนทร : ผมมองในพาร์ตศิลปินก็ยาก ยากของจริงเลย ใช้คำว่า “โอ้มันไม่สนุกเลย” ได้เลย จากที่แบบสนุกกับการทำเพลง อยากทำให้คนฟัง เอ๊ยต้องชอบแน่ ๆ เลย แต่พอมาเป็นพาร์ตศิลปินจริง ๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว มันไม่เหมือนกับที่เราเรียนมาเลย มันใช้ความรู้ในปีก่อนไม่ได้ มันใหม่เรื่อย ๆ กระแสมาเรื่อย ๆ 

ซึ่งการตามกระแสมากไปก็ทำให้เราเสียความเป็นตัวเองด้วย สิ่งที่ยากคือเราจะจัดการอย่างไร เช่นปีหน้า วง ASIA7 จะเป็นอย่างไร เพราะเราก็ต้องทดลองเรื่อย ๆ สำหรับผมมันยาก ไม่เคยง่ายเลย ถ้าวันนั้นที่เราประสบความสำเร็จอาจจะมาเล่าให้ฟังได้ว่า อันนี้มันก็ไม่ยากขนาดนั้นนะ แต่ว่าตอนนี้มันยังยากที่สุดอยู่ 

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

ต้น : ด้วยความเป็นนักดนตรีพื้นบ้านแล้วเราอยากจะชวนทุกคนมาทำ อยากจะมีวงเลยชวนเพื่อน ๆ ทุกคนมา ถามว่ายากไหม มันยากอยู่แล้ว แล้วสิ่งที่ทำไป จุดที่มันจะ success มันคือจุดไหน เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

นักดนตรีพื้นบ้าน ถ้าพูดถึงในเรื่องของเครื่องดนตรีมันง่ายกว่าครับ เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันโดนยอมรับ และอันนี้ใครเล่นพิณก็เท่ ใครเป่าแคนก็เท่ มันไปอยู่ได้ทุกเพลงทุกรูปแบบ ดนตรีไทยเหมือนเครื่องเทศที่เอาไปใส่กับอาหารทุกประเภท มันอร่อยหมด มันก็ดี มันง่าย แต่ในความง่ายเหล่านั้น มันก็ยากว่าเราจะทำดนตรีแบบนี้ 

เราเป็นนักตกปลาแล้วกัน เราจะมาตกปลาในบ่อ แล้วคนที่ตกมาก่อนหรือคนที่เขามีเบ็ดดีกว่าเรา เขามีแห มีเรือที่พร้อมกว่าเรา เราจะสู้เขาได้เหรอ มันก็เลยเป็นเรื่องยากสุด ๆ เลย สำหรับผมกับการทำวงแบบนี้ แล้วก็ยืนหยัดว่าอยากจะเล่นอยากจะทำแบบนี้ 

แต่มันเริ่มต้นมาแบบนี้นะครับ มันก็ต้องสู้ไปแบบนี้ แล้วก็พิสูจน์ว่าแบบนี้มันจะอยู่ได้ไหม มันจะทำได้ไหม มันจะไปได้ไกลขนาดไหน แบบไหน

The People : ทำไมเราต้องฟังเพลงแนวผสมผสานไทยและตะวันตกแบบ ASIA7 

โอม : ความจริงเพลงแนวไหนก็ฟังได้หมดแหละ แต่เดี๋ยวเราจะทำเพลงเราให้คุณชอบเอง

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

ออย : จริง ๆ แนะนำดีกว่าว่าไม่ต้องฟังแนวเดียว ฟังหลาย ๆ แนว อาจจะไม่ต้องใช่แนวเราก็ได้ แต่ว่าการที่เราได้เปิด Map ใหม่เรื่อย ๆ ทำให้เราได้รู้อะไรมากขึ้น ฟังอะไรที่กว้างขึ้น รู้ว่าตอนนี้โลกไปถึงไหนแล้ว เพราะฉะนั้นจะบอกว่าต้องฟังเลยมันก็ไม่ได้ แต่ก็แนะนำแล้วว่าอยากให้ลองมาฟังแนวนี้ดู มันอาจจะเปิด Map ใหม่ที่อาจจะชอบก็ได้ หรือถ้าไม่ชอบก็ลองเปิด Map อื่น

โยเย : ถามว่าทำไมต้องฟังเป็นลักษณะของการเชิญชวน เราจะไม่บังคับ และไม่ได้พยายามบอกว่าเพราะเรามีดนตรีไทยคุณต้องมาฟังสมบัติประจำชาติเรา แต่เราจะแค่แนะนำว่า มันคือทางเลือกใหม่ที่คุณอาจจะไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน มาเปิดใจฟัง คุณอาจจะได้ประสบการณ์อะไรใหม่ ๆ ไปก็ได้

ดิว : ผมว่า ASIA7 มอบประสบการณ์การฟังแล้ว เวลาฟังแล้ว ได้คิดตาม ได้ฟังสุ้มเสียงของเครื่องดนตรีต่าง ๆ หรือว่าหลาย ๆ คนก็ว่า เออมันก็ได้ประสบการณ์การฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง

ต้น : แนวเพลง ASIA7 จะมีความ emotional ค่อนข้างสูง ในแต่ละเพลงมันจะมีกลิ่นอาย มี soul ตรงนั้นอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าใครอยากได้สัมผัสก็ต้องฟังเพลง ASIA7 อยากจะให้ฟัง กลิ่นอายที่ซ่อนอยู่ของแต่ละเพลงในเรื่องของเนื้อหาด้วย เนื้อหาตอนนี้มันก็จะมีทั้งเข้มข้นแล้วก็รีแลกซ์ด้วย แต่ว่า soul ตรงนั้น มันก็คือมีความ emotional และความ cinematic บางอย่างที่อยู่ในทุกเพลง

ASIA7 : วงดนตรีฟิวชัน ความเชื่อ ตัวตน และแพสชันบนแผนที่ใหม่ของโลกแห่งเสียงเพลง

The People : ตอนนี้รัฐบาลกำลังผลักดันเรื่อง ‘Soft Power’ ถือว่าเป็นเป้าหมายอันดีไหมว่า แรงซัพพอร์ตจากรัฐจะทำให้ฝันของ ASIA7 เป็นจริง 

ดิว : ผมมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์อาจจะช่วยผลักดันให้วงเราถูกยอมรับ และเป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ แต่คนจะฟังเพลงเราไหมอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ว่าเราทำเพลงออกมาได้สื่อสารถึงคนไหม ยังไงเราก็ต้องพัฒนาและต่อยอดในแง่ว่า มีวงแบบนี้แล้วเอาเราไปวางอยู่ในที่ที่ไกลออกไป อยู่ในที่ที่เราไม่เคยไป หรืออยู่ในที่ที่เราไปเองไม่ได้มากขึ้น ซอฟต์พาวเวอร์อาจจะช่วยเป็นมือไม้ หยิบยกให้วงประเภทนี้ไปอยู่ในเวที สร้างเวทีนี้ให้วงเหล่านี้เข้ามาสร้างกิจกรรม ผลักวงเหล่านี้ออกไป 

The People : ให้ทิ้งท้ายด้วยการฝากผลงานของ ASIA7 

ออย : ฝากผลงานเพลงใหม่แล้วกันค่ะ ซิงเกิลใหม่นะคะ เพลงเผา (Even If I Die) Concept ของเพลงนี้ตั้งต้นขึ้นมาว่า การที่เราจะรักใครสักคนหนึ่งมากได้จนขนาดที่ว่า เราสามารถยอมจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อที่จะเป็นแสงสว่างให้กับคนคนหนึ่งในวันที่เขารู้สึกมืดมนได้

พวกเราตั้งใจทำมาก ๆ นะคะ อาจจะเป็นอีกหนึ่ง map ใหม่ ที่บางคนอาจจะยังไม่เคยฟัง มาเปิดใจฟังเพลงนี้เพลงแรก

แล้วก็ฝากพวกเรา 8 คนด้วย ฝากติดตามทุกช่องทางเลย ทั้งทางโซเชียลมีเดีย แล้วก็ฝากฟังเพลงทุกช่องทาง Streaming เลย แล้วก็ที่สำคัญ อยากรู้จัก ASIA7 มากขึ้น อย่าลืมไปดูพวกเราเล่นสดกันนะคะ
 

ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย