เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
28 ธ.ค. 2561 | 18:21 น.
นิยาม “ร้านไส้กรอกเยอรมัน ไร่บรรทิพา” ของ “น้ายงค์-บรรยงค์ แก่นจันทร์” ของหลายคน อาจเป็นบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยเสียงร้องโศกซึ้งของ ลอรีน่า แม็คเคนนิตต์ ที่ลอยมาพร้อมกลิ่นถ่านไฟจากเตาย่างไส้กรอกเยอรมันแบบโฮมเมดฉ่ำลิ้น พร้อมเครื่องดื่มสีอำพันเย็นเฉียบรสเข้มจากหุบเขาลุ่มแม่น้ำไรน์ ไม่นับวิวแบบพาโนรามาบนเนินที่สวยสุดแห่งหนึ่งของสวนผึ้ง แต่อีกหลายคนกลับให้นิยามร้านนี้ “เจ้าของนรก !!” ฉายาที่คนพลาดโอกาสเป็นลูกค้าร้านเขา ได้พร้อมใจตั้งให้กับเจ้าของร้านไส้กรอกสุดอินดี้แห่งสวนผึ้ง อะไรที่ทำให้ประสบการณ์ของผู้มาเยือนร้านไส้กรอกบนเนินเขานี้แตกต่างกันราว “นรก” และ “สวรรค์” อ่านต่อได้จากในบทสัมภาษณ์นี้ The People : ทำไมถึงต้องเป็นสวนผึ้ง น้ายงค์ : ผมเคยเข้าสวนผึ้งมาเมื่อปี 2526 มาบ้านเพื่อนที่โป่งกระทิงล่าง ตอนนั้นเป็นฤดูร้อน เดือนเมษา มาจากราชบุรีถึงจอมบึง ทางก็ไม่ค่อยดีนัก จากจอมบึงมาสวนผึ้งนี่เรียกว่าเป็นถนนควายเดินเลยดีกว่า แต่ว่าพอไปถึงบ้านเพื่อนที่โป่งกระทิงกลายเป็นคนละเรื่องเลย เดือนเมษาก็จริงแต่อากาศเย็นมาก ที่บ้านพักครู มันอยู่ใกล้ลำธาร ตื่นตอนเช้าไอหมอกขึ้นมาจากน้ำเลย เพราะมันเย็น แล้วที่บ้านคุณแม่เขาก็เอาเศษผ้ามาเย็บเป็น 3 ชั้นไว้สำหรับลูกๆ นอน ส่วนอาหารสมัยนั้นเป็นอาหารป่าเยอะใช่ไหม เขาก็จะดองใส่ไหไว้ แล้วกินอะไรก็เอาอันนั้นน่ะมาทำทุกอย่าง ไม่ว่าต้ม ผัด แกง ทอด ก็เริ่มมีความรู้สึกว่า เราอยู่ราชบุรีไม่ต้องไปไกลเลย เพียงแต่มันไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาว่าสวนผึ้งมีอะไร เพราะสมัยก่อนทำเหมืองแร่ แล้วค่อนข้างจะเป็นเมืองปิดอยู่ แต่ธรรมชาติสุดๆ เพราะสมัยนั้นเราเรียนมหาวิทยาลัย ได้ไปเมืองกาญจน์ ไปภาคเหนือ เราก็มีความรู้สึกว่าสวนผึ้งก็ไม่ได้ด้อยกว่าเขา รู้สึกชอบสวนผึ้งมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วคิดว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาที่สวนผึ้งอีก The People : ตอนนั้นรู้สึกว่าสวนผึ้งเป็นสวรรค์อะไรทำนองนั้นเลยหรือเปล่า น้ายงค์ : ผมว่ามันสวยงาม น่าอยู่ ธรรมชาติ แล้วอีกอย่างไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เราเป็นคนราชบุรี แต่รู้จักจังหวัดราชบุรีเฉพาะบ้านโป่ง โพธาราม ดำเนินสะดวก อำเภอเมือง ปากท่อเราไม่ต้องพูดถึงเลย สมัยก่อนกันดาร เป็นอำเภอยากจน จอมบึงนี่ไม่ต้องพูดถึง จ้างให้มาก็ไม่มีใครมา แต่พอเมื่อเข้ามาถึงแล้วคนละเรื่องจริงๆ ครับ สวย The People : 30 กว่าปีผ่านไป สวนผึ้งเปลี่ยนไปขนาดไหน แล้วคนรู้จักสวนผึ้งมากน้อยแค่ไหน น้ายงค์ : เปลี่ยนไปเยอะมาก เปลี่ยนไปคนละเรื่องกับตอนที่มาตอนนั้น แต่ขณะเดียวกันพอมาดูข้อมูลใหม่ ปรากฏว่าสวนผึ้งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปแล้ว เช่น สวนผึ้งมีไร่กุหลาบ ซึ่งเมื่อก่อนเคนไทยเริ่มมีรายได้ เริ่มท่องเที่ยว เริ่มหาที่ท่องเที่ยว มีไร่กุหลาบ มีที่อาบน้ำร้อน หลักๆ เลยคือสองอันนี้ คนสนใจที่จะเข้ามาเพราะเดินทางไม่ไกล เราก็เช่นเดียวกัน เราก็เข้ามา ก็เริ่มรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ได้เหมือนเดิม แต่ก็ยังมีสภาพความเป็นภูเขา น่าอยู่ เงียบสงบ ก็ยังคิดว่ายังน่าอยู่อยู่ครับ The People : คนจากข้างนอกมาอยู่สวนผึ้งมากขึ้น แล้วคนท้องถิ่นเป็นยังไงบ้าง น้ายงค์ : จริงๆ ต้องถือว่าท้องถิ่นเป็นชนกลุ่มน้อย ดั้งเดิมคือเป็นชนกลุ่มน้อย คนไทยเรามาทีหลังเขานะฮะ แล้วก็ตามสำมะโนประชากรจริงๆ ก็มีไม่เยอะ มีอยู่ประมาณ...ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนนั้นตัวเลขอยู่ประมาณ 30,000-40,000 คนด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าคล้ายๆ กันคือมาเที่ยวสวนผึ้งแล้วชอบสวนผึ้ง เงียบสงบ ก็เลยหาซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย The People : มีรีสอร์ตเยอะมาก? น้ายงค์ : รีสอร์ตผมคิดว่ามันน่าจะเป็นผลพวงจากเรื่องการชอบสวนผึ้งก่อนอันดับแรก เมื่อซื้อที่ดินไปแล้ว ทำอะไรดี แล้วก็เลยอาจจะทำห้องพัก อาจจะเริ่มจากเล็กๆ น้อยๆ เพราะสมัยก่อนคนก็ไม่ได้มาสวนผึ้งเยอะเหมือนปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนเข้ามาสวนผึ้งเพราะทำรีสอร์ต อันนี้น่าจะเป็นในภายหลังมากกว่า