30 ต.ค. 2563 | 15:17 น.
ช่วงนี้ดูเหมือนเราจะได้ยินหลายคนพูดว่า ‘อย่าเอาการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับศิลปะ’ กันอยู่บ่อยครั้งพอสมควร ทั้งที่ความเป็นจริงในหลายยุคหลายสมัย หลายประเทศ ศิลปะก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นประจำ บ้างก็เข้ามารับใช้การเมือง บ้างก็ต่อต้านการเมือง แล้วเหตุใดถึงได้มีคำพูดที่ว่า อย่าเอาการเมืองมายุ่งกับศิลปะผ่านหูกันอยู่บ่อย ๆ เสียอย่างนั้น ? นอกจากนี้ การเมืองไม่ใช่เรื่องที่สงวนไว้เพียงคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อ The People มีโอกาสได้พูดคุยกับคนในแวดวงศิลปะอย่าง อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2552 เจ้าของผลงานนิยายเรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ และล่าสุด "SONGSTRUCK" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของ "ความทรงจำ" กับบทเพลง เขาได้ออกมาพูดถึงการเมืองเช่นกัน แล้วแบบนี้ การเมืองกับศิลปะมันจะต้องถูกแยกออกจากกันอย่างที่เขาว่าจริงหรือ ? The People: ทำไมคนทำอาชีพนักเขียนนิยายแบบอุทิศ เหมะมูล ถึงสนใจเรื่องการเมือง อุทิศ: ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุดเลยด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของประเทศ เราได้เห็นคนรุ่นใหม่ ๆ ออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ออกมาชุมนุมประท้วงกันด้วยการรวมตัวกันได้มากมายมหาศาลขนาดนี้ มันไม่ใช่แค่ตัวจำนวนคนที่เข้ามาชุมนุมอย่างเดียว แต่ว่าเป็นเรื่องของไอเดีย ความคิด สิ่งที่เราเรียกร้อง เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผมว่าเปลี่ยนสุนทรียะทางการเมืองแบบเก่าออกไปจนแทบจะหมดสิ้น แต่ถ้าถามเรื่องความสนใจการเมืองของตัวเราเอง มันเกิดจากคำถามกับชีวิตตัวเราเองตั้งแต่เริ่มต้น เราเกิดคำถามกับชีวิตหลายส่วนหลายอย่าง ตอนที่เราเกิดมาอยู่กับครอบครัว อยู่กับความเป็นพ่อแม่ อยู่กับสถาบัน พอเราโตขึ้นมาหน่อยเราอยู่กับโรงเรียน เราอยู่กับแบบเรียน การเรียนการสอน ชุดอุดมการณ์บางอย่างที่ส่งทอดเข้ามาในแต่ละสถาบันต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นในทุกช่วงชีวิตการเติบโตของเรา เราจะตั้งคำถามตลอด ตอนอายุ 15 ปี เราตัดสินใจมาเรียนศิลปะ พ่อก็ยื่นคำขาดว่าจะไม่ส่งเสียให้เรียน ถ้าจะเรียนมึงก็ไปหาเงินค่าเทอมเรียนเอาเอง เพราะว่าถ้ามึงไม่เชื่อฟังกู มึงก็ออกจากบ้านกูไป มันก็คือคำเดียวกับสังคมปัจจุบันที่เราเห็นว่าผู้ปกครองหลาย ๆ คน เป็นห่วงกังวลว่าลูกหลานจะออกไปจากบ้าน ออกไปจากครอบครัว แล้วจะตกไปเป็นเครื่องมือของอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาได้รับอันตราย แล้วก็ใช้คำขาดบ้า ๆ บอ ๆ อย่าง ‘ถ้าออกไปก็ไม่ต้องกลับมาอีกเลยนะ’ หรือ ‘ถ้ารักจะไปอย่างนี้ก็ไม่ต้องมาเอาเงิน ไม่ต้องมีที่ซุกหัวนอน ตัดขาดความเป็นพ่อเป็นแม่กันเลย’ ผมเจอแบบนี้มาตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี แล้วสิ่งที่ผมตัดสินใจคือผมก็โอเค กูออกก็ได้ ก็เลยหนีออกจากบ้าน ผมว่ามันเป็นความกล้าหาญอันดับแรกที่มันทำให้เรารู้สึกว่าโอเค ถ้าคุณยื่นเงื่อนไขทำให้ผมต้องเลือกระหว่างความรักของคุณ ความอบอุ่นปลอดภัยที่คุณมีให้ กับสิ่งที่ผมอยากเรียน ถ้าคุณเรียกร้องมาเป็นเงื่อนไขแบบนี้ได้ มันก็ช่วยไม่ได้ที่ผมสงสัยว่าเขาก็ไม่ได้รักผมจริงเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ผมก็ตัดสินใจด้วยอิสรเสรีภาพของตัวเอง ออกจากบ้าน แล้วไปศึกษาเล่าเรียนหาค่าเทอมของผมเอง ปัจจุบันตัวเองอายุ 45 ปี เป็นพ่อคนได้แล้ว ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงตอนโตมันทำให้ผมยิ่งเข้าใจ ทั้งมุมมองของเด็กวัยรุ่นที่พยายามที่จะตั้งคำถาม ต่อต้าน หรือพยายามที่จะเอาคำตอบให้ได้ว่า เอ๊ะ! ทําไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น ‘เอ๊ะ! ทำไมเราถึงต้องตีกรอบแบบนี้ ทำไมเราต้องกดดันกันแบบนี้’ เพราะผมก็เคยผ่านชีวิตวัยรุ่นมา พอผมอายุที่สามารถเป็นผู้ปกครองใครได้ ผมกลับงงว่าทำไมผู้ปกครองหลายคนไม่เข้าใจสิ่งนี้ว่าจริง ๆ ตัวเองก็เคยเจอภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในชีวิตของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น แทนที่จะยืนอยู่ข้าง ๆ ลูกหลานของตัวเอง แต่กลับทำท่าผลักไส แล้วก็ใช้ความรักเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการทำให้ลูกหลานตัวเองเชื่อฟังขึ้นมาได้ มันกลายเป็นเรื่องแบบนี้ได้ยังไง ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ เรายิ่งต้องเข้าใจข้อเรียกร้องความต้องการของเด็ก ๆ ไม่ใช่เหรอ ทำไมเราต้องผูกมัดเขาด้วยอะไรต่าง ๆ แม้แต่อย่างที่บอกว่ากูเลี้ยงมึงมาตั้งแต่เด็ก นี่ก็ยังจะเอามาเป็นเงื่อนไขในการข่มขู่ลูกของตัวเองได้ ระบบแบบนี้มันเศร้า ไม่ส่งเสริมให้เลือดเนื้อเชื้อไข ไม่ส่งเสริมให้ลูกของตัวเองได้มีอิสระ ได้มีสิทธิเสรีภาพ ได้มีสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง แล้วผู้ปกครองจะยืนเคียงข้างสนับสนุนการตัดสินใจของลูกตัวเอง เราจะเห็นว่าคนที่มีอายุโดยส่วนใหญ่อาจจะงง ๆ กับสุนทรียะทางการเมือง หรือว่าการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ยุคปัจจุบัน แล้วก็พยายามที่จะหาความหมายหรืออ่านมันในแบบที่เป็นสุนทรียะแบบเก่า ผมคิดว่าอันนี้ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่เปิดใจรับฟังมากพอกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนรุ่นใหม่ ๆ The People: ปัจจุบันเราจะได้ยินวาทกรรมอย่าง ‘ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ มากขึ้น ในฐานะที่อุทิศ เหมะมูล ก็เป็นคนในแวดวงศิลปะ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง อุทิศ: เวลาที่เราพูดว่าศิลปะไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง หากพูดในยุคนี้มันเป็นข้ออ้างมากกว่า ถ้าเราย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะเท่าที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่ศิลปะของโลกทั้งหมดเกิดขึ้นจากเสียงของสุนทรียะใหม่ ๆ ที่พยายามจะต่อต้านหรือตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมแบบเก่าที่ครอบครองสังคมไว้นานมาก่อนหน้านั้นแล้ว ในแวดวงศิลปะจะมีการเคลื่อนไหวแบบนี้เสมอ ผมว่าเป็นเรื่องเพ้อพก ถ้าเราพูดว่าศิลปะควรถูกแยกจากการเมืองในยุคสมัยนี้ ถ้าคุณมีไอเดียว่าศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คุณก็ออกมาพูดว่าทำไมถึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ที่แน่ ๆ คือทุกองค์กร ทุกสถาบัน ทุกหน่วยงาน ล้วนยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น แล้วองค์กรศิลปะจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ยังไง แม้แต่ความเคลื่อนไหวหรือกิจการภายในของแวดวงศิลปะเองก็มีความเป็นการเมืองอยู่แล้วในตัว การที่เราจะพูดว่าศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหมายถึงอะไร? เป็นแค่คำพูดเพื่อบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งหุบปากไป แล้วก็ไปพูดเรื่องอื่น ถ้าคุณมองภาพผลงานศิลปะอย่างงานศิลปะประกวด หรือว่างานศิลปะแบบเฉลิมพระเกียรติ คุณจะเห็นภาพความสวยงามของชุมชนสลัมที่ติดธงชาติหรือติดธงอะไรก็ตาม แล้วทำไมภาพเหล่านั้นถึงเป็นภาพที่งดงาม เป็นภาพที่จับใจ เพราะว่ากำลังพูดถึงการอยู่อย่างพอดีพอกิน พอเพียงอะไรก็ว่าไปใช่ไหมครับ แล้วอันนี้ไม่ได้กำลังพูดถึงการเมืองอีกรูปแบบหนึ่งในการสะท้อนเนื้อหาเรื่องราวของศิลปะหรอกหรือ ผมคิดว่าในทุกการกระทำของผลงานของศิลปะมีการเมืองอยู่ในนั้น มันกำลังพยายามจะส่งข้อความ หรือส่งสารอะไรต่าง ๆ เพียงแต่ว่าการที่ใครออกมาพูดว่าศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มันเป็นการพูดว่าศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการประท้วง ศิลปะควรจะต้องพินอบพิเทาเอาใจรัฐหรือว่านโยบายของรัฐเท่านั้น ความหมายมีเท่านั้นจริง ๆ เวลาที่ใครออกมาพูดว่าศิลปะไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คือคุณปิดปากคนไม่ให้พูดถึงความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น ที่รัฐกระทำการกดขี่ ขูดรีดกับผู้คน กับประชาชน แล้วยังเข้ามากดขี่ปิดปากไม่ให้สิทธิเสรีภาพในการพูดถึงงานศิลปะในรูปแบบอื่น ๆ ไปอีกด้วย The People: เห็นว่าเตรียมจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเมืองและร่างกายของมนุษย์ คุณจับสองสิ่งนี้มาเจอกันได้อย่างไร อุทิศ: ‘กระสันสุขและทุกข์หฤหรรษ์’ เป็นนิทรรศการวาดเส้นของผมในปีนี้ มันเป็นงานวาดเส้นที่ผมวาดในชีวิตประจำวันทุก ๆ วัน ผมพยายามจะเล่าเรื่องราวของภาพเปลือย เรือนร่างของคนที่หลายคนยังมีความรู้สึกอึดอัดหรือไม่เข้าใจ เพราะอยู่ในประเทศที่มีขนบธรรมเนียมศีลธรรมอันดี เวลาที่เราเห็นภาพเปลือยออกมาทีไร เราก็มักบอกว่ามันไม่เหมาะสม มันไม่สมควรที่จะอยู่ในที่สาธารณะ ในแวดวงของศิลปะเอง ภาพนู้ดจะแสดงต่อสาธารณะได้จะต้องไปพูดถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องของความงาม เรื่องของความอุดมสมบูรณ์ เรื่องของอะไรที่เป็นอุดมคติทางความดีงาม ในนิทรรศการครั้งนี้ผมแค่อยากจะถ่ายทอดภาพนู้ดในเนื้อหาหรือเรื่องเล่าอื่นบ้าง มันเป็นไปได้ไหมที่มันจะมีภาพนู้ดพูดเรื่องการเมืองในความเปลือย ในร่างกายต่าง ๆ ทั้งผู้ชายทั้งผู้หญิง ชวนให้ถามว่าเราพูดถึงเรื่องเพศได้ไหม เราพูดถึงเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศ หรือการกดขี่กดทับที่รัฐมีกับประชาชนได้ไหม จริง ๆ โครงการนี้ผมทำมาก่อนตั้งแต่เขียนนิยายเรื่อง ‘ร่างของปรารถนา’ ที่เราพยายามพูดถึงเรื่องร่างกายที่ถูกครอบครอง หรือถูกบงการโดยอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการแสดงงานในนิทรรศการครั้งแรกของผมที่ชื่อว่า ‘ภาพร่างของปรารถนา’ แล้วก็ทำต่อเนื่องมา ผมพยายามเสนอสุนทรียะอีกแบบหนึ่งของงานภาพเปลือย ที่มันสามารถที่จะเข้าไปสู่พื้นที่เรื่องเล่าที่มันเป็นการเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถูกมองเป็นเรื่องลามกจกเปรตอย่างเดียว หรือถูกมองว่าต้องพูดถึงเรื่องความอิ่มสมบูรณ์ ความงามของเรือนร่าง ของขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอย่างเดียว The People: เพราะความสนใจส่วนตัวของคุณเอง จึงทำให้ผู้คนได้เห็นประวัติศาสตร์และการเมืองสอดแทรกอยู่ในผลงานของอุทิศ เหมะมูล อยู่เสมอ? อุทิศ: ตอนเขียนนิยาย ‘ลับแล แก่งคอย’ ผมพยายามพูดถึงความเป็นครอบครัว ความรัก ความผูกพัน ความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ความเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นในสังคมต่างจังหวัดที่ถูกสร้างขึ้นมา ยิ่งเขียนนิยายไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นโครงสร้างทางอำนาจที่ถูกส่งทอดเข้ามามากกว่าแค่สถาบันในครอบครัว เราจะเห็นว่ามันผ่านมาทางนโยบายของรัฐ ผ่านมาทางระบอบราชการ เกิดขึ้นในรูปของระบบระเบียบแบบแผน กฎหมาย ธรรมเนียม ประเพณีปฏิบัติ หรือวัฒนธรรม เวลาที่เราพูดถึงความดี คนดี ความงาม หรือว่าความจริง เวลาที่เราชอบอ้างกันในเรื่องอย่างนี้เกี่ยวกับทางศิลปะ ทำให้เราตั้งคำถามว่าจริง ๆ แล้ว ไอ้นิยามของความดี ความจริง ความงาม ทำให้เราเห็นว่าในประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เป็นแบบอภิมหาสัจจะที่จะอยู่คงทนสืบต่อไปตลอดกาล แม้แต่แค่ศตวรรษ หรือแค่ทศวรรษบางทีก็เปลี่ยนแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเราต้องตั้งคำถามได้ ถ้าเราตั้งคำถามสืบค้นมันได้ เราก็จะเข้าใจวิธีการทำงานของประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ของทุกสิ่งทุกอย่างในระบบการศึกษาที่เราเรียนรู้ แต่ระบบการศึกษาที่โรงเรียนรู้ไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้เลย มันไปสอนสิ่งอื่น ในขณะเดียวกันก็ครอบครองความถูกต้องแบบเดียวอยู่ในระบบการเรียนการศึกษา การเขียนนิยายทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์ ศึกษาเรียนรู้ไปในตัวในระหว่างเขียนนิยาย แล้วเราก็เห็นว่าจริง ๆ แล้วมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งมากมายซึ่งส่งทอดมาทางรหัสทางวัฒนธรรม ทางคติความเชื่อ ทางประเพณี ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของเราอย่างมากในการทำให้คนหลาย ๆ คนเชื่อ หรือว่ายึดถือว่าสิ่งนี้เป็นแบบปฏิบัติที่จะต้องคงอยู่ถาวรสืบไป โดยที่ไม่ได้มองความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวความเปลี่ยนแปลง หรือโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา The People: หนังสือเล่มใหม่ของ อุทิศ เหมะมูล มีชื่อว่า ‘SongStruck’ เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านบทเพลง ทั้งชีวิต ความทรงจำ หรือแม้กระทั่งการเมือง ที่ทำให้เราอยากรู้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดผ่านบทเพลง อุทิศ: จริง ๆ ผมมองบทเพลงเป็นลักษณะของงานเขียนแบบร้อยกรองอันหนึ่งเหมือนกับเขียนกวี ผมมองลักษณะมันเป็นบทกวีอย่างหนึ่ง แล้วก็ให้คุณค่าของการเขียนบทเพลงลักษณะที่เป็นบทกวีอย่างหนึ่งในฐานะที่เป็นงานวรรณกรรมด้วย ตัวผมเองไม่มีความถนัดทางด้านเขียนกวี จะเห็นว่าผมเขียนงานหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทวิจารณ์ แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ตัวเองบอดมากคือบทกวี การเขียน ‘SongStruck’ มันเหมือนกับเป็นการเปิดพื้นที่ของตัวเอง เราก็พยายามที่จะดึงความสามารถของตัวเองในด้านการเขียนกวีออกมา ทดลองทำโดยการพูดถึงเพลงที่ตัวเองหยิบเอามาเขียน แล้วก็เขียนซ้อนลงไปในรูปแบบของกวี เป็นบทประพันธ์ซ้อนบทประพันธ์ เป็นคำร้องซ้อนคำร้องอีกทีหนึ่ง ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่สนุกดีที่ตัวเองได้ทำอะไรแบบนี้ นอกจากนี้ ในหนังสือ ‘SongStruck’ มีอยู่บทหนึ่งที่ผมว่าผมเขียนได้ดีมากชื่อบท ‘กลับบ้าน’ เขียนถึงเพลงของ Pat Metheny ชื่อ ‘Last Train Home’ ผมชอบเพลงนี้ ชอบมาไม่เคยเปลี่ยน เพราะผมฟัง Pat Metheny มาตั้งแต่ตอนอายุ 20 ปีกว่า ๆ แล้วก็จนอายุปัจจุบันที่มากขึ้น เราได้ฟังดนตรีแบนด์หลาย ๆ อันมากขึ้น แต่เพลงนี้ก็ยังไม่เคยหลุดไปจากหัวได้เลย ทุกครั้งที่ได้ฟังก็สามารถที่จะเหมือนกับไปกวนไอ้ความทรงจำบางอย่างข้างในหัวใจตัวเองออกมาได้ แล้วพูดถึงวิธีที่เราหาหนทางที่จะกลับบ้าน พูดถึงสิ่งที่หลาย ๆ คนพยายามที่จะมองหาบ้าน พยายามตีความหมายของคำว่าบ้าน คนบางคนทำงานแทบตายเพื่อจะได้มีบ้าน คนบางคนไม่มีบ้านเลย ต้องเร่ร่อนอยู่ข้างนอกตลอดเวลา แล้วก็มีอีกหลายคนที่ถึงจะมีบ้านอยู่แล้ว แต่ก็รู้สึกหัวใจก็ยังไร้บ้านอยู่ ยังต้องเดินทางพเนจรอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ามันมีหลายนิยามที่ผมได้พูดถึงคนคนหนึ่งที่พยายามหาหนทางกลับบ้านในบทความเรื่องนี้ ใน SongStruck ชื่อว่ากลับบ้านในเพลงของ Pat Metheny The People: ในที่สุดหนังสือเรื่อง ‘จุติ’ ก็ถูกแปลเป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว อุทิศคาดหวังอย่างไรบ้างกับการที่หนังสือจะถูกส่งไปยังมือของชาวต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมกับเรา อุทิศ: ก่อนหน้านี้มันมีนิยายของผมที่ได้ซีไรต์ไป ‘ลับแล แก่งคอย’ ก็แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว อันนี้ก็เลยจัดแปลเรื่อง ‘จุติ’ ด้วยในชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘The Fabulist’ ออกมา จริง ๆ อยากจะทำให้ครบทั้งไตรภาคของลับแล แก่งคอย ซึ่งมีอีกเล่มคือ ‘ลักษณ์อาลัย’ แต่ว่าจะค่อย ๆ ทยอยทำไปก่อน ผมคิดว่านักแปลต้องใช้ศักยภาพอย่างมากมาย ใช้กำลังภายในอย่างมากมายมหาศาลในการแปลบทประพันธ์ดั้งเดิมที่มันเป็นภาษาไทยออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราพยายามที่จะติดต่อสำนักพิมพ์ต่างประเทศเพื่อที่จะทำให้ตัวนิยายเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งจริง ๆ ตัวเนื้อหาเรื่องราวผมเขียนไว้ตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ สังคมก็ยังเป็นแบบเดิมไม่ได้หายไปไหน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่มันก็เป็นอีกด้านหนึ่งเหมือนกันที่จะช่วยให้ประชาคมโลกได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเมืองเราผ่านตัววรรณกรรม The People: คิดว่านักอ่านรุ่นใหม่จะเข้าใจเรื่องราวที่เราตั้งใจสื่อสารในงานเขียนไหม อุทิศ: ตัววรรณกรรม ตัวเรื่องแต่ง ไม่ได้ผูกขาดชุดความรู้ความคิดของตัวเองอยู่แล้ว คนอ่านแต่ละคนสามารถที่จะตีความ หรือหาความหมายออกไปจากตัวเนื้อหาเรื่องราวที่เราเขียนได้อยู่แล้ว แต่ว่าตัวผู้เขียนเองก็มีชุดความคิด มีคอนเซปต์ มีสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการจะอธิบายออกมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองไปมีสิทธิ์ผูกขาดในการโน้มน้าวให้ใครออกมาบอกว่าแกต้องมองนิยายเรื่องนี้ด้วยมุมที่ฉันบอกอย่างเดียว มันไม่ใช่ พอตัวบทหลุดออกจากนักเขียน นักอ่านจะตีความอย่างไรก็เป็นสิทธิ์ของคนอ่าน แต่ว่าก็อยู่ในโครงสร้างหรือโครงข่ายของสิ่งที่ผู้ประพันธ์สร้างขึ้นมาเท่านั้นเอง The People: กลับมาในเรื่องการเมืองอีกครั้ง เราอยากรู้มาก ๆ ว่าเพราะอะไรถึงทำให้อุทิศ เหมะมูล ตัดสินใจลุกขึ้นมารวบรวมรายชื่อคนในแวดวงศิลปะที่เห็นด้วยกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา อุทิศ: เราคิดว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เกิดขึ้น คนที่อยู่ในแวดวงของศิลปะเองน่าจะมีใครสักคนลองโยนคำถาม หรือส่งเสียงออกไปว่าเราจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเยาวชนปลดแอกอย่างไรได้บ้าง เริ่มต้นเราคิดแค่ว่าทำยังไงให้การต่อสู้นี้ไม่โดดเดี่ยว แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วคนทำงานในแวดวงศิลปะหลาย ๆ คน เขามีใจ เอาใจช่วย แล้วก็สนับสนุนเรื่องนี้อยู่ แต่ว่าเหมือนกับยังไม่มีโอกาสที่จะมีพื้นที่ที่จะให้เขาได้ส่งเสียงสนับสนุน เราก็เลยทำตัวแคมเปญที่ร่วมลงชื่อออกมา เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าในแวดวงศิลปะมีหลายคนมากที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และอยากทำให้เห็นว่าเราอยู่ข้างคุณ ภายในแค่วันสองวันก็รวบรวมรายชื่อได้ตั้ง 1,000 กว่าคน ในส่วนของคนที่ทำงานศิลปะทั้งหมด ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดีมาก The People: แล้วเราต้องเสียอะไรบ้างเพื่อเป็นราคาที่ต้องจ่ายกับการแสดงจุดยืนทางการเมือง อุทิศ: ใครที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบนี้ก็ได้รับผลกระทบจากอำนาจนิยมเก่า ๆ ที่พยายามที่จะยื้อยุดสุดทาง เพื่อที่ทำให้เราไม่อาจส่งเสียงอะไรแบบนี้ได้ มันได้รับผลกระทบหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อน มิตรภาพ ครอบครัว หน้าที่การงาน รายได้ การดำรงชีวิต โอกาสในการเข้าถึงการมีชีวิตที่อยู่ดีกินดี แต่ว่าผมว่าสำหรับผมแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ยิ่งเราได้รับผลกระทบแบบนี้มากเท่าไหร่ จากการถูกกีดกัน จากการถูกดันออกไป หรือการถูกไม่เข้าใจ หรือถูกโกรธแบบนี้ แล้วทำให้กลายเป็นข้ออ้างให้เรามีชีวิตอยู่ไม่ได้ สูญเสียรายได้ จนไม่มีงานเข้ามา แต่ถ้าจะบอกคือ ‘กูไม่เอาเงินมึงก็ได้ กูไม่ต้องมีชีวิตที่ดีแบบที่ต้องมีมึงอุปถัมภ์อยู่ตลอดเวลาก็ได้’ ไปหาเอาเองก็ได้ไม่เป็นไร ผมภูมิใจในความเป็นตัวผม ผมประกาศตัวผมแบบนี้ แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำไม่ใช่ความโดดเดี่ยว และมีคนอีกหลายคนที่ยืนยันสิ่งนี้ เราจะช่วยเหลือกันเอง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องให้ใครเอาความอยู่ดีกินดี ความสบายมาเป็นคำขู่ มาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะขับไสเราออกไปจากความคิดที่ถูกต้องและยุติธรรมแบบนี้ The People: คิดอย่างไรกับคำว่า 'วางตัวเป็นกลาง' ทางการเมือง อุทิศ: ก็ได้แต่หัวเราะแห้ง ๆ พยายามไม่คิดอะไรด้วยดีกว่า ถ้าคุณเห็นว่ามันไม่ถูกต้องชอบธรรมเมื่อไหร่ มันกระทบกระเทือนชีวิตคุณเมื่อไหร่ คุณก็ออกมาสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรก็แล้วกัน ไม่รู้ว่าจะต้องไปเรียกร้อง ไม่รู้จะต้องไปทำให้รู้สึกว่าเขาไม่มีพื้นที่เหลือแล้วในชีวิตนี้ได้ยังไง อยากจะเป็นกลางก็เป็นไป แต่ขออย่างเดียวอย่าใช้ความรุนแรง อย่าใช้หนทางความรุนแรงในการเข้ามาตอบโต้ หรือทำร้ายทำลายผู้ชุมนุมเท่านั้นเอง มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด The People: วาดฝันอย่างไรในวันที่เราได้ประชาธิปไตยแท้จริง อุทิศ: ไม่วาดฝันหรอก ให้ได้มาก่อนเถอะ ผมไม่เคยสูญเสียความหวัง เราอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ เราต้องมีความหวังเป็นพลังใจมากเท่านั้น แล้วเราก็อยู่และต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยมา โอกาสในตอนนี้เป็นโอกาสที่งดงามที่สุดที่เราแทบไม่เคยเห็น เป็นฉันทามติร่วมกันที่เราจะเห็นว่าผู้คนจำนวนเรือนแสนเรือนล้านที่เห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องที่คนที่เกิดในยุคนี้ควรภูมิใจที่สุดแล้วที่ได้เห็นประวัติศาสตร์ของการลุกขึ้นมาขับไล่ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรขนาดนี้ ผมภูมิใจที่เกิดร่วมกับน้อง ๆ เหล่านี้ กลุ่มคณะราษฎรเหล่านี้ทุกคน เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม