18 ก.พ. 2562 | 18:01 น.
ก้าวแรกที่สัมผัสกับร้านหนังสือ A BOOK with NO NAME ร้านหนังสืออิสระย่านสามเสน เป็นร้านที่มีทั้งความละมุน และความขรึมเคร่งอยู่ในตัวของมันเอง ละมุนไปด้วยกลิ่นกาแฟหอมหวล บรรดาน้องแมว ที่เลี้ยงจริง อยู่ด้วยกันมานานก่อนที่ร้านจะเปิด-ไม่ใช่พร็อพของร้าน และในบางวัน หากนักอ่านครึ้มใจ อาจจะสั่งคราฟต์เบียร์มาดื่มแกล้มการอ่านให้รื่นรมย์เพิ่มขึ้น ขรึมเคร่งไปด้วยวรรณกรรมชั้นดีมากมาย ตั้งแต่วรรณกรรมรัสเซียของฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ ไปจนถึงวรรณกรรมฝรั่งเศสของอัลแบร์ กามู ภาพเขียนนักเขียนใหญ่จำนวนมากที่ตกแต่งร้าน ไปจนถึงภาพวาดปกหนังสือสำคัญหลายเล่ม เช่น 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ทำให้เราเห็นรสนิยมเจ้าของร้านเป็นอย่างดี วิทยา ก๋าคำ คือเจ้าของร้านหนังสือร้านนี้ เริ่มต้นจากการรักการอ่าน จนทำให้ความฝันนั้นถูกฟูมฟักมาระยะหนึ่ง จนในที่สุดเขาและแฟนเก็บเงิน-ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงานวาดภาพของเขา(เขาเป็นศิลปิน) จนเพียงพอมาเปิดร้านนี้ A BOOK with NO NAME ถ้าบทสัมภาษณ์นี้เป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เราอยากชวนคนอ่าน The People ชงกาแฟรสชาติอร่อยๆ มาสักแก้ว แล้วค่อยๆ อ่านบทสัมภาษณ์นี้ ชั่วเวลากาแฟร้อนหมดหนึ่งเกี่ยว เราอาจจะพบคุณค่าบางอย่างในบทสัมภาษณ์เจ้าของร้านหนังสือ, ไม่น้อยก็มาก The People: ชื่อร้าน A BOOK with NO NAME มีที่มาจากอะไร วิทยา: มาจากเพลงชื่อ A Horse With No Name มันเป็นเพลงของวง America คือมี 3 เครื่อง มี 3 คน แต่เกิดที่อังกฤษมั้ง เป็นลูกของทหารอเมริกาที่อยู่อังกฤษ มันยุค 60 แล้วครับ พวกฮิปปี้อะไรงี้ มันพูดถึงเรื่องการเดินทางในทะเลทรายกับ...ม้าตัวหนึ่งอะไรงี้ครับ คือเนื้อเพลงมันค่อนข้างเป็นบทกวีหน่อยหนึ่ง ตีความได้เยอะ The People: พอเอาชื่อนี้มาใช้เลยกลายเป็นร้านนี้ไม่มีชื่อ วิทยา: จริงๆ แล้วมัน...มันก็ไม่รู้จะคิดชื่ออะไรแล้ว ก็คือจริงๆ แล้ว คือแฟนตื่นนอนมาแล้วก็ฮัมเพลงนี้ ก็ฮัมเพลง A Horse With No Name ขึ้นมาปุ๊บ แล้วแฟนก็จะบอกว่า เฮ้ย จับแมวตัวเองแล้วบอกว่าเนี่ย A cat with no name แล้วเราก็แบบ เฮ้ย A book ดีกว่าว่ะ เฮ้ย ชื่อร้านเลยอย่างนี้ เราก็ตกลงเอาชื่อนั้นเลย A BOOK with NO NAME ดีกว่าไรงี้ คือประมาณนั้น แค่นั้น คือเราเปลี่ยนจากม้า ในเพลงมันพูดถึงเรื่องการเดินทางด้วยม้าตัวหนึ่ง แล้วก็มันก็ไปเจอเหตุการณ์ ไปเจอหลายๆ อย่าง เราก็แค่เปลี่ยนเป็น A Book จริงๆ มันก็เหมือนว่าเราเดินทางด้วยหนังสืออะไรครับ มันก็มีนัยยะที่มันเกี่ยวๆ กันอยู่ The People: คุณเคยเรียนจิตรกรรมฯ ศิลปากรมาก่อน เส้นทางชีวิตกว่าจะมาทำร้านหนังสือเป็นอย่างไร วิทยา: คือ ผมอ่านตั้งแต่ม.3 อ่านโดยบังเอิญ อ่านหนังสือตั้งแต่ม.3 แล้วก็จำได้ คือเล่มแรกคือ “ม้าก้านกล้วย” เป็นของพี่ไพวรินทร์ (ขาวงาม) เป็นกวีนิพนธ์ อ่านครั้งแรกก็โอเคเลย ชอบเลย ก็หลังจากนั้นก็หาอ่านเรื่อยๆ ก็เริ่มจากอ่านงานไทยเนี่ยแหละครับ งานอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) อ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตอะไรยังงี้ พวกอัศศิริ ธรรมโชติ (เจ้าของรางวัลซีไรท์ปี พ.ศ. 2524 ในผลงานรวมเรื่องสั้น "ขุนทอง เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง") แล้วก็พอมาเรียนศิลปากร จริงๆ คือมีรุ่นพี่ มีเพื่อนที่อ่านหนังสือเยอะมากนะครับ แล้วก็เริ่มข้ามไปเป็นงานแปล งานรัสเซีย งานหนักๆ ขึ้น ฮาร์ดคอร์ขึ้นครับ จากนั้นก็ติดงอมแงม The People: การอ่านวรรณกรรมต่อยอดให้เรามีความฝันแบบนี้ใช่ไหม วิทยา: มันค่อยๆ อยากมีมากกว่า มันไม่ได้แบบว่าอยู่ดีๆ ก็อยากทำร้านหนังสือเลยงี้ มันค่อยๆ สะสมมากกว่าครับ คือ...มันไม่ต่างผมว่า ถ้าผมไม่ได้เปิดร้านหนังสือกับเปิดร้านหนังสือ ยังไงผมก็อ่านหนังสืออยู่ดีอะไรงี้ แต่...คือบางทีเราก็อยากแบบ...อ่านหนังสือที่มันเยอะกว่าทั่วไป (หัวเราะ) ถ้าอ่านหนังสือในร้านตัวเองมันก็ไม่ต้องซื้อด้วยไง ก็คิดเล่นๆ นะครับ เพราะว่าหยิบอ่านได้เลยอะไรยังงี้ แล้วก็ส่วนใหญ่หนังสือที่ผมคัดมาที่ร้านก็คือเป็นหนังสือที่ผมอยากอ่าน หรือว่าที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันโอเค The People: ที่ศิลปากรช่วยทำให้เรามีมุมมองความคิดเกี่ยวกับศิลปะหรือหนังสืออย่างไร วิทยา: ที่นี่มันเปิดกว้าง คือมันมีแทบทุกอย่างที่มันเป็นสภาพแวดล้อมของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ คือมีทั้งคนอ่านหนังสือ มีทั้งคนแบบ...คือฟังเพลงดีๆ อ่านหนังสือดีๆ คือจะเป็นพวกมีเทสต์ค่อนข้างเยอะที่ศิลปากร แล้วก็...จริงๆ มันก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจง บางคนไม่อ่านก็มีครับ มันไม่ได้อ่านทุกคน แต่มันไม่แปลกที่มีคนอ่าน เพราะว่านักเขียนหลายๆ คนก็เขียนรูปเป็น แล้วจบคณะนี้ก็เป็นนักเขียนเยอะ อย่างพี่อุทิศ (เหมะมูล) ยังงี้ แล้วก็มีอาจารย์พิษณุ (ศุภนิมิตร) อะไรอย่างนี้ครับ ผมว่ามันน่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่แหละ เพราะว่า...หนังสือมันก็เป็นสื่อสร้างสรรค์เหมือนกัน แต่แค่มันใช้รูปแบบอีกรูปหนึ่งที่จะสื่อสารอะไรแค่นั้นเอง The People: วางแผนออกแบบ ตกแต่งร้านอย่างไร วิทยา: ไม่ได้วางแผนเลย ก็คือ...มันมีภาพในหัว แล้วเราก็ค่อยๆ...เริ่มต้นว่าจะทำยังไงดี จริงๆ ร้านนี้ผมลงทุนไม่เยอะเลย น้อยมาก เพราะผมอาศัยทำเองส่วนใหญ่ ผมค่อยๆ ทำ ก็คือเก้าอี้เนี่ยไม่ได้ซื้อแบบทีเดียวแล้วก็เต็มร้านนะครับ คือค่อยๆ ซื้อแบบทีละตัวสองตัว ก็สังเกตว่าบางตัวจะไม่ได้เซ็ตเดียวกัน มันก็จะแบบปนๆ กัน แต่เราจะมีเซนส์ว่าไอ้ตัวนี้มันจะอยู่ได้ในร้าน อันนี้มันก็เป็น...ผลพลอยได้ที่เราเรียนศิลปะมาเหมือนกัน เรื่องการมองอะไรอย่างนี้ครับ The People: ธีมหลักของร้านหนังสือนี้คืออะไร วิทยา: จริงๆ ผมไม่ได้คิดว่า...ไม่ได้ซีเรียสว่าธีม คือทำให้มันสวย สวยสำหรับผมนะ มันก็ประกอบกันหลายอย่าง คืออย่างแรกคือต้องสีก่อน สีผนัง เพราะเราชอบสีเขียวอยู่แล้ว คือผมมีภาพในหัว ผมอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่ามันต้องเป็นอย่างงั้น เป็นอย่างงี้ แต่ก็มีสเก็ตช์วางนิดหน่อย ถ้าอันไหนไม่โอเค เราก็ไม่เอา ก็รื้อ ส่วนใหญ่มาจากหน้าร้านมากกว่า เอาของที่เรามีมากองๆ กัน แล้วก็ผมมาลองจัด ลองเอาตัวนี้มาวางไว้ตรงนี้ เอาตัวนี้มาวางตรงนี้ คือสลับกันไปเรื่อยๆ เหมือนกับจะบ้า แล้วก็จะนั่งเก้าอี้ทุกตัว คือทุกตัว ทุกตำแหน่งมันต้องมีจุดมอง อย่างสมมติว่านั่งตรงนี้ผมจะให้มองอะไร คือมันต้องมีมุมที่นั่งตรงนั้นแล้วเขาเห็นว่าร้านมันสวย อะไรประมาณนั้น แล้วผมก็ทดลองเอาตัวเองเข้าไปนั่งๆ แล้วก็ปรับเอา จริงๆ แล้วครั้งแรกร้านไม่ได้เป็นอย่างนี้ ผมปรับตลอด เพราะว่าบางทีเบื่อ เราก็ปรับ นิดๆ หน่อยๆ เราก็ปรับครับ The People: ในร้านหนังสือ มีร้านกาแฟด้วย แล้วร้านกาแฟมีที่มาอย่างไร วิทยา: แฟนทำงานด้านกาแฟอยู่แล้วครับ ก็คือทำร้านหนังสืออย่างเดียวไม่ได้ใช่ไหม เจ๊งแน่นอน ไม่มีรายได้แน่นอน มันต้องมีอย่างอื่นเข้ามาเสริมครับ อย่างผมขายเบียร์ด้วยไง ก็คือคิดเล่นๆ ว่าเออ ถ้ามานั่งกินเบียร์ในร้านหนังสือได้คงแบบ...เออ เจ๋งดีนะ ก็เลยลองทำดู แต่ไม่ได้ขายแบบจริงจัง แบบ...เอาลูกค้าเมาอะไรยังงี้ครับ จริงๆ แล้วก็คือมันต้องอยู่ในบรรยากาศของหนังสือ ผมว่ามันน่าจะแปลกกว่าไปนั่งร้านเหล้า The People: แล้วจัดการบริหารร้านอย่างไร วิทยา: ผมไม่ค่อยได้ทำครับ เพราะว่าส่วนใหญ่จะให้แฟนเป็นคนทำไปเลย เรื่องบัญชีอะไรยังงี้ ก็ช่วยกันครับ ส่วนใหญ่เรื่องตัวเลขผมไม่ค่อยถนัดอยู่แล้ว คือช่วยกันทำ 2 คน คนหนึ่งก็จะดูเรื่องกาแฟ เรื่องเมนูไป แล้วก็แฟนก็จะเป็นคนสอนทำ เพราะหลักๆ แฟนเป็นคนดูแลเกี่ยวกับเมนูกาแฟไปเลย เราก็จะดูแลเรื่องทั่วๆ ไปของร้าน เปิดร้าน ปิดร้านอะไรยังงี้ครับ จัดร้าน เก็บกวาดอะไรยังงี้ The People: นิยามความเป็นร้านนี้อย่างไร วิทยา: อย่างที่ผมบอกจริงๆ ผมด้นสด จริงๆ คือไม่ได้คิดมาก่อน อาจจะมีข้อมูล ไอ้ข้อมูลพวกนี้มันก็อยู่ในหัวที่เราจับต้องไม่ได้อยู่แล้ว เราไม่ได้มีสเก็ตช์ หรือว่าไปหาข้อมูลรีเสิร์ชว่าต้องเอายังงั้น ต้องเอาอย่างงี้ คือถ้าเราชอบเราก็จะทำแบบนี้ ถ้าไม่ชอบปุ๊บเราก็จะรื้อ คือมีบางอันที่แบบว่าใส่ไปแล้ว แล้วมันไม่โอเค ซึ่งตอนเราคิด เราคิดว่ามันจะโอเค แต่ตอนใส่เข้าไปจริงๆ มันไม่โอเค เราก็ต้องรื้อ ผมว่ามันเหมือนมัน Improvise แล้วทุกวันนี้ผมก็แก้ปัญหาแบบวันต่อวันเลย บางทีมุมนี้มันไม่โอเค มันอาจจะสวย แต่บางทีมันอาจจะขาดๆ เกินๆ เรื่องฟังก์ชันการใช้งาน หรือมันเกะกะ หรือมันอะไรยังงี้ ผมก็ต้องปรับ แล้ววิธีการปรับของผมคือก็นั่งมอง แล้วนั่งคิดจินตนาการว่า เออ ถ้ามาอยู่ตรงนี้ปุ๊บ แล้วมันจะเป็นยังไง ก็มีภาพอยู่ในหัวคร่าวๆ แล้วลองย้ายมันจริงๆ ดูว่าจะเป็นยังไง ประมาณนี้ครับที่ผมจัดร้าน แต่ร้านผมคนรู้จักเพราะ คือลูกค้าบางคนเขาเรียกร้านผมว่าเป็นคาเฟ่แมว ไม่ได้แบบพอทำร้านหนังสือแล้วซื้อแมวมาเลี้ยง บางตัวอยู่กับผมมาตั้งแต่เรียนปี 4 ใช่ 10 กว่าปีครับ The People: ทำไมส่วนใหญ่ในร้านเป็นหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก วิทยา: ก็นั่นแหละที่ผมบอกก็คือเป็นหนังสือที่ผมชอบอ่าน แล้วผมว่ามันได้น้ำได้เนื้อ มันเข้มข้นดี ผมชอบอะไรที่มันซีเรียสหน่อย The People: คิดว่าหนังสือเป็นอาวุธเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร วิทยา: ผมว่าจริงๆ มัน...เปลี่ยนแปลงตัวคนอ่านก่อนอันดับแรก คือจะเปลี่ยนแปลงสังคมนี่ คือไอ้คนนั้นคงเอาไปต่อยอดเองครับ คือถ้าตัวเองรู้สึกดี หรือว่าหนังสือมันทำให้คนๆ นั้นมันมีความคิด หรือว่ามันลุ่มลึก มันมองโลกแบบละเอียดรอบคอบมากขึ้น เกี่ยวกับคนรอบๆ ข้างเขา ผมว่ามันมีผลต่อคนรอบข้าง สภาพแวดล้อมรอบข้างอะไรยังงี้ครับ เหมือนที่เราทำร้านหนังสือ เราก็อยากให้คนที่ไม่รู้จักเราอ่านหนังสือ ซึ่งจริงๆ มันก็ผมว่าร้านนี้ก็มีนักอ่านหน้าใหม่หลายคนแล้ว ซึ่งบางทีหนังสือที่เราแนะนำไปแล้วเขาแบบ...เขาโอเค แล้วเขาก็กลับมาคุยกับเราต่อว่า หนังสือที่พี่ให้ไปมันดีนะอะไรยังงี้ ผมจะซื้อไปฝากเพื่อนก็มีครับ The People: ส่วนใหญ่ลูกค้าแนวไหนที่มาที่ร้าน วิทยา: เด็กไม่มีครับ มีเป็นวัยรุ่นขึ้นไปเลย แล้วก็...นักอ่านก็มีครับ ก็มีคุณหมอ มาเจอคุณหมอที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลใกล้ๆ ร้าน ก็เป็นนักอ่านเหมือนกันคนหนึ่ง ชื่อหมง น้องหมง เป็นหมอศัลยแพทย์ครับ คือเป็นหมอที่แปลกมาก คืออ่านหนังสืออย่างเราอ่าน อ่านวรรณกรรมซีเรียสๆ ไรงี้ แล้วก็เป็นหมอด้วย (หัวเราะ) คือเจ๋งมาก ผมไม่รู้ชื่อจริงนะ แล้วก็จะมาคุยเรื่องหนังสือ เอาหนังสือมาให้ยืม แลกหนังสือกันอ่านอะไรงี้ครับ บางทีก็เอ้ย พี่กา(ชื่อเจ้าของร้าน) อ่านหนังสือเล่มนี้ยัง ดีไหมอะไรยังงี้ บางทีผมไม่ได้อ่านเล่มที่เขาอ่าน มันแลกเปลี่ยนกันครับ สนุก The People: มีบทสนทนาไหนที่ทำให้รู้สึกคุ้มค่าแล้วกับการเปิดร้านนี้ วิทยา: ตอนนี้มันยังไม่มีขนาดนั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คุยกับลูกค้ามาก สำหรับคนที่อ่านหนังสือ คนที่เข้ามาซื้อหนังสือจริงๆ ก็จะเข้ามาเงียบๆ ครับ คือจะรู้เลยว่าเนี่ย มาซื้อหนังสือ เขาจะไม่สนใจอะไรเลย เขาก็จะเลือกหนังสือแล้วก็มานั่งอ่าน กาแฟเขาก็ไม่สั่ง น้ำเขาก็ไม่สั่ง (หัวเราะ) เขาก็จะนั่งอ่านหนังสือ เราก็โอเค ปล่อยเขาอ่านหนังสือไป ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้คุย จะได้คุยก็ตอนจ่ายตังค์ บางทีน้องก็จะถามคำถามเบสิกๆ ว่าเปิดกี่เดือน ชอบอ่านเหรอคะ ประมาณนี้ ยังไม่ได้ลงลึกถึงขั้นว่าสนิทกันจนแบบว่า...คุย ก็มีสนิทที่หมอหมงเนี่ยแหละครับ The People: แฟนช่วยซัพพอร์ตเรื่องที่ร้านอย่างไรบ้าง The People: ทุกอย่างคุยกันหมดครับ กับแฟนก็คุยกันทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องจะทำร้าน เรื่องหาที่ร้านที่จะทำร้าน ก็ตระเวนหาด้วยกัน แล้วก็คอยติดต่อคอยอะไร ทุกเรื่อง จริงๆ คุยกันเหมือนเพื่อนมากกว่า พี่น้องมากกว่าครับ แล้วก็กาแฟครับ สำคัญมาก เพราะเขาเป็นคนทำกาแฟอยู่แล้ว คนนำเข้าส่งออกเมล็ดกาแฟอยู่แล้ว เครื่องกาแฟอะไรยังงี้ครับ พวกรายละเอียดเรื่องกาแฟ แฟนจะเป็นคนจัดการหมดเลย ส่วนผมก็เป็นคนทำตามสั่งอย่างเดียว The People: รอยสักที่ตัวคุณ มีรอยสักที่เกี่ยวกับวรรณกรรมบ้างไหม วิทยา: มีอันเดียวครับของคุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มีอันเดียวอันนี้แหละ (ชี้ที่แขนซ้าย) มันมาจากปลาตะเพียนที่สำนักพิมพ์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์กับเพื่อนหนุ่มที่แกทำวารสาร “เฟื่องนคร” น่ะครับ The People: ทำไมต้องเป็นรงค์ วงษ์สวรรค์ วิทยา: ชอบครับ เป็นนักเขียนไทยที่ชอบมาก แต่ไม่ได้หมายถึงว่าคนอื่นไม่ชอบนะ ก็ชอบครับ แต่คนนี้แบบ...ผมว่าใครก็ชอบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ถ้าได้อ่าน เรื่องมันผู้ช้ายผู้ชาย ผมชอบ “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” มาก ผมว่าโห มันมาก The People: ในวันที่คนใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น แผนต่อไปของร้านนี้คืออะไร วิทยา: จริงๆ ถ้าผมคิดแบบนั้น ผมไม่เปิดแน่นอน ไม่ได้เปิดแน่นอน ก็คือไม่คิดดีกว่า คือไม่คิดมาก คือหนังสือ โอเค มันอาจจะอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มีกาแฟ มีเบียร์ มีอย่างอื่นที่ให้เราทำได้ จริงๆ มันก็ไม่ใช่ว่ามันจะขายไม่ได้ มันก็ขายได้นะครับ แต่มันจะเลี้ยงตัวเองด้วยหนังสืออย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ส่วนไอ้ที่บอกว่าคนอ่านน้อยลง มันก็จริงส่วนหนึ่ง ไม่จริงส่วนหนึ่ง คนอ่านไอ้พวกนิตยสารอาจจะน้อยลง อันนั้นผมเชื่อ แต่คนอ่านพ็อกเก็ตบุ๊ก พวกวรรณกรรม ผมว่ามันก็ยังมีอยู่ แล้วก็มันก็ยังมีหนังสือพิมพ์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ยังมีสำนักพิมพ์ที่ทำเรื่องพวกนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งผมมันเป็นปลายทางแล้วนะ คือผมนี่คือจะสุดทางแล้ว เป็นร้านขายหนังสือ แต่ก่อนหน้านี้มันยังมีนักเขียน มันยังมีสำนักพิมพ์อยู่ คือร้านหนังสือมันไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะว่ามันมีกระบวนการก่อนหน้านั้นมาแล้ว ถ้าคิดว่าหนังสือมันจะตายหรือเปล่า ไม่มีคนอ่านหรือเปล่า ผมว่ามันต้องไปตั้งคำถามกับสำนักพิมพ์ อย่าง สำนักพิมพ์ “สมมติ” ยังงี้ เออ ทำไมพิมพ์แต่วรรณกรรมหนักๆ เพราะอะไร บางทีบางอย่างมันก็ต้องมีคนแบบนี้แหละครับ มีสำนักพิมพ์แบบนี้ แล้วก็มีร้านแบบนี้ ที่จะทำให้หนังสือพวกนี้มันอยู่ได้ ที่หนังสือมันยังมีอยู่ หนังสือแบบวรรณกรรมนะครับ จริงๆ คนอ่าน ถ้าอ่านครับ คนอ่านมีจริงๆ แต่แค่รู้สึกว่ามันไม่เยอะเท่ากับคนเล่นโทรศัพท์ เพราะคนเล่นโทรศัพท์มันเล่นทุกคนไง แต่คนอ่านมีครับ มีแน่นอน The People: เป็นกลุ่มเฉพาะที่ค่อนข้างแข็งแรง วิทยา: ใช่ๆ ผมว่ามันชัวร์ว่าพอคุณอ่านวรรณกรรม ลองได้อ่านผมว่าอ่านไปจนตาย แล้วมันถึงอ่านไปจนตายยังไง มันก็อ่านไม่หมด หนังสือมันเยอะมาก คือเอาง่ายๆ อ่านเยอะสุดปีละ 100 เล่มอะไรยังงี้ มันก็...อายุคนมันเท่าไหร่ เฉลี่ยเท่าไหร่ ยังไงมันก็ไม่หมดครับ เหมือนผมๆ ว่าผมอ่าน ผมก็คงอ่านไปจนตาย คงอ่านเรื่อยๆ แล้วมันก็จะมีหนังสือที่เรายังไม่ได้อ่าน หนังสือภาษาอังกฤษที่มันยังไม่ได้แปลเป็นไทยอะไรยังงี้ ซึ่งเยอะมากที่เราอยากอ่าน The People: ส่วนตัวแล้ว การอ่านให้อะไรกับเรา วิทยา: ผมว่า มันเป็นเรื่องของความเข้าใจมนุษย์ คือหนังสือเล่มหนึ่ง ไอ้ตัวละครมัน คือถ้าหนังสือดีจริงๆ มันจะมีความหลากหลาย มันจะมีมิติของตัวละครอยู่ในนั้น มิติของความเป็นมนุษย์แหละครับผมว่า เราเข้าใจความเป็นมนุษย์เพราะหนังสือพวกนี้ แม้แต่เรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เราเข้าใจอยู่แล้ว บางทีเราก็จะเข้าใจไปอีกแบบหนึ่งอะไรยังงี้ คือมันหลากหลาย ชีวิตมันมีความเป็นไปได้เยอะมาก บางทีความแตกต่างเยอะนะ มันค่อยๆ ปลูกฝังเราให้เรามองอะไรละเอียดขึ้นมากกว่า นั่นแหละครับผมว่า ถ้าประสบการณ์ส่วนตัวก็คือนี่แหละ มองอะไรละเอียดขึ้น แล้วก็อ่านคนเป็นมากขึ้น เราจะรู้ว่าคนนี้เป็นยังไง เรารู้ในใจ แต่ว่าไม่ได้จะไปตัดสินเขานะ คือเรารู้ เข้าใจอะไรมากขึ้นครับ ง่ายๆ แล้วก็...ไม่รู้ดิ ผมว่าเนี่ยแหละ ประมาณนี้แหละ The People: ส่วนตัวชอบร้านหนังสือร้านไหน วิทยา: ก็มีร้านเดียวครับ มีร้านพี่หนุ่ม “ร้านหนังสือเดินทาง” คือเราไม่ซื้อหนังสือร้านอื่นนะ เราซื้อแต่ร้านพี่หนุ่ม เราไม่เดินสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย เราไปเดินแต่บางทีเราไม่ซื้อก็มี แต่เราจะกลับมาซื้อร้านพี่หนุ่ม คือไม่รู้ดิ เราอยาก...สนับสนุนแก จริงๆ ก่อนจะมาทำร้านเราก็ปรึกษาแกทุกอย่าง เรื่องการทำร้าน เรื่องอะไรพวกนี้ แต่แกให้เราลอง แกบอกให้เราทำเลย แล้วเดี๋ยวจะรู้เองว่าเราต้องทำไงต่อ จริงๆ แกรู้แหละว่าปัญหาข้างหน้าที่มันรอเราอยู่มันคืออะไร แต่ด้วยที่แก...ผมว่าเพราะแกอ่านเยอะแหละ แกไม่ได้บอกเราว่าควรจะทำ 1 2 3 4 5 6 อะไรยังงี้นะ แกบอกทำ ทำเลย พี่อยากให้ทำ ทำเลย ลองดู เดี๋ยวช่วยเต็มที่อะไรยังงี้ ก็ลองดู ตั้งแต่มีชื่อร้านก็บอกไปแกคนแรกอะไรครับ ว่าผมเอาชื่อนี้นะ ว่าแกโอเคหรือเปล่า แกก็บอกโอเค ถ้าแกไม่โอเคงี้ ผมคิดว่าผมก็น่าจะต้องมาคิดใหม่ ซึ่งคนนี้ ร้านนี้ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อผม ก็เป็นต้นแบบของร้านนี้เลย หมายถึงว่าต้นแบบร้านหนังสืออิสระ จริงๆ มันก็แล้วแต่บุคลิกแหละเนอะ พี่หนุ่มเขาไม่ดื่ม แต่ผมอะดื่ม ร้านแกค่อนข้างมีระเบียบนิดหนึ่ง ร้านผมจะยุ่งๆ นิดหนึ่งอะไรงี้นะครับ มันจะคนละบุคลิก คือร้านพี่หนุ่มก็คือบุคลิกของพี่หนุ่มเลย ของผมก็เป็นบุคลิกผม มันแตกต่างกันอยู่แล้วครับ แต่หนังสือก็เป็นวรรณกรรมเหมือนกัน แต่หนังสือของพี่หนุ่มจะเยอะมาก คือหลากหลายกว่าแน่นอน แกเปิดมา 10 กว่าปีน่ะครับ ถือว่ามันเป็นการพิสูจน์ว่าร้านหนังสืออิสระ ถ้าทำดีๆ จริงๆ อะมันอยู่ได้ The People: แล้วปัญหาที่เจอตอนจัดการร้านหนังสืออิสระคืออะไร วิทยา: ส่วนใหญ่จะเป็นการเอาหนังสือมาวางที่ร้านมากกว่า คือบางสำนักพิมพ์ คือการเอาหนังสือมาวางต้องไปติดต่อกับสายส่ง เขาเรียกสายส่ง แล้วหนังสือส่วนใหญ่ สายส่งมันจะเยอะมาก แล้วแต่ละสายส่งต้องใช้ค่ามัดจำไปวางไว้ แล้วก็ถึงจะได้หนังสือของที่บริษัทสายส่งนั้นขายให้ ก็นั่นแหละครับปัญหา เพราะว่าบางทีเราก็ไม่มีตังค์ก้อน ตอนแรกก็คือก่อนทำร้าน เรากันไว้แล้วตังค์ส่วนนี้ว่าจะไปเอากับสายส่ง พอทำร้านจริงๆ มันไม่พอ มันก็เลยต้องเอาไอ้ตังค์ส่วนนั้นมาทำนั่นทำนี่ร้านก่อน พอร้านได้เปิดเสร็จปุ๊บมันไม่มีตังค์ เนี่ยครับ ก็เลยต้องมาเริ่มเก็บตังค์กันใหม่เพื่อจะไปเอาหนังสือมา The People: อยากให้แนะนำหนังสือสักเล่ม ที่บ่งบอกตัวตนของร้านนี้ วิทยา: เล่มหนึ่ง ไอ้นี่ไง “ปารีส/พำนัก/คน/รัก/หนังสือ” ใช่ๆ ของ Jeremy Mercer เนื้อเรื่อง เล่าถึงเจ้าของร้านหนังสือ Shakespeare and company ที่ฝรั่งเศส เราก็อ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วเราแบบ...เออ บางทีอยากให้ร้านเป็นแบบนี้เหมือนกันนะ ในเรื่อง คือนักข่าวแคนาดาเนี่ยไปทำอะไรสักอย่าง ผมไม่จำรายละเอียดไม่ได้ แล้วก็ต้องหนีอะไรสักอย่างหนึ่งแหละ เข้าไปที่ฝรั่งเศส แล้วไปเหมือนเป็น Homeless คือไปแล้วไม่มีอะไรสักอย่าง ไปแล้วเงินมันจะหมด มันก็เที่ยวถามคนที่เป็นคนข้างถนนในเมืองนอกว่า มันอยากไปพัก หาที่พักถูก แล้วไอ้คนนั้นมันก็แนะนำว่าถ้าอยากพักถูกให้มาร้านนี้ มันก็งงว่าขอนอนได้เหรอ ไปอยู่ร้านนี้แหละ คือทั้งเล่มจะไปอยู่ในร้านนี้หมดเลย ก็จะไปเจอกับเจ้าของร้าน ไปเจอคนแบบนักเขียนเพี้ยนๆ ที่อยู่ในร้านอยู่แล้วอะไรยังงี้ ซึ่งแต่ละคนก็มี story ของแต่ละคน เป็นร้านหนังสือแปลกๆ ส่วนเรื่อง detail ต้องไปอ่านเอาเอง ผมว่ามันสนุกมากครับ