05 ม.ค. 2565 | 18:10 น.
“ผมฟังเล่มนี้แล้วอร่อยจัง” ข้อความโย้เย้ที่ปรากฏบนโน้ตพร้อมภาพประกอบระบายสีตามประสาเด็ก โน้ตแผ่นนี้แปะอยู่บนหนังสือ ‘ชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต’ เด่นอยู่ในร้าน หากลงรายละเอียดที่ร้านนี้จริง ๆ นอกจากโน้ตดังกล่าวที่เขียนรีวิวหนังสือมาจากคนอ่านแล้ว ยังมีโน้ตอีกมากมายที่เขียนสั้น ๆ เพื่อช่วยแนะนำหนังสือมากมายในร้านซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งละอันพันละน้อยในความเอาใจใส่ลูกค้าของเจ้าของร้าน ร้านหนังสือไม่ใช่เพียงแต่ขายหนังสือ นี่คงเป็นก้อนความคิดที่เจ้าของมีต่อร้านตัวเองกระมัง มองไปทั่วร้าน ยังมีโปสต์การ์ดหลากสีสันจากทั่วทุกสารทิศแปะเรียงรายอยู่ข้างฝาผนัง นักอ่านที่เคยสัญจรไปมาล้วนแต่ส่งความคิดถึงมายังร้านหนังสือเล็ก ๆ แห่งนี้ กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นลอยมาจากเครื่องชงหลังเคาน์เตอร์ การมีส่วนร่วมแบ่งปันจากนักอ่านไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้บ่อย ๆ ในร้านหนังสือทั่วไป แต่ที่นี่ สิ่งเหล่านี้คือตัวตนของร้านที่ไม่มีใครเหมือน จนผู้มาเยือนจากต่างแดนรายหนึ่งยังยกให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็น ‘โอเอซิสแห่งเดียวในกรุงเทพฯ’ อะไรคือกุญแจที่ทำให้ร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ครองใจผู้คนนับไม่ถ้วนมายาวนานกว่า 20 ปี? เราคงไม่สามารถให้คำตอบได้ดีเท่า ‘หนุ่ม’ อำนาจ รัตนมณี นักอ่านผู้ยอมเสี่ยงโชคเพื่อทำตามความฝันฉบับคนรักในตัวหนังสือ และลงแรงสรรสร้างร้านหนังสืออิสระน้อย ๆ ที่มีชื่อชวนคิดว่า ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ (Passport Bookshop) แม้จะลงหลักปักฐานจนมั่นคง แต่ความท้าทายใหม่ก็รอคอยร้านหนังสือแห่งนี้อยู่ เมื่อสถานีรถไฟที่ก่อสร้างกำลังเรียกคืนพื้นที่ย่านถนนพระสุเมรุ ทำให้ร้านต้องย้ายจากพื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง The People ขอพาไปสนทนาในกลิ่นอายกระดาษภายในร้านกับ ‘หนุ่ม’ อำนาจ รัตนมณี ในหลากหลายประเด็น ทบทวนจุดเริ่มตั้งแต่การทำงานองค์กรระหว่างประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือที่ใส่ใจทุกรายละเอียด หนังสือหลายเล่มมีโน้ตแนะนำสั้น ๆ แต่อบอุ่นให้รู้ว่าเจ้าของร้านเป็นเพื่อนคู่คิดในการอ่านหนังสือ เรื่องราวของโปสต์การ์ดมากมายจากนักอ่านที่ยังคงคิดถึงร้านแม้ตัวจะอยู่แดนไกล ไปจนถึงแผนการย้ายของร้าน และอนาคตของร้านหนังสืออิสระในไทย The People : ก่อนจะมาทำร้านหนังสือ เคยทำอะไรมาก่อน ก่อนที่จะมาทำร้าน พี่ทำงานประจำในองค์กรระหว่างประเทศที่หนึ่ง ทำอยู่ประมาณ 3-4 ปี ตอนที่ทำงานองค์กรต่างประเทศจริง ๆ ก็แฮปปี้อยู่กับหน้าที่การงานแหละ แต่มันเกิดคำถามแล้วก็แอบถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าเราไม่ทำงานประจำ มันมีทางเลือกอื่นให้เรามีชีวิตอยู่ต่ออีกได้ไหม หรือว่าการทำงานประจำมันเป็นทางเลือกเดียวในชีวิตคนหรือเปล่า คำถามนี้มันเกิดขึ้นมายังไง สำหรับพี่เนี่ยพี่รู้สึกว่าพี่มีภาพเปรียบเทียบของไลฟ์สไตล์ของผู้คนระหว่างคนในจังหวัดอื่นกับคนในกรุงเทพฯ พี่เองเติบโตมาจากต่างจังหวัด เป็นคนจังหวัดสงขลา ทีนี้พอเข้าสู่ชีวิตการทำงานในกรุงเทพหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย พี่รู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมคนในต่างจังหวัดจำนวนไม่น้อย แค่ 4-5 โมงเย็น เขาสามารถกลับถึงบ้านได้แล้ว พอ 6 โมงก็อยู่กับครอบครัวได้ แต่ว่าเราเวลาอยู่ในเมืองหลวง เราออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่สว่าง กลับบ้านก็มืดแล้ว มันมีวิธีมีชีวิตรูปแบบอื่นหรือเปล่า คำถามมันเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ แค่นี้ แต่พอมันถามตัวเองบ่อย ๆ พี่ก็ตอบตัวเองว่าเฮ้ย พี่ต้องหาทางเปลี่ยนแปลงแล้วแหละ มันเริ่มจากแค่นิดเดียวเองครับ ทีนี้คำว่าเปลี่ยนแปลงของพี่มันก็นำมาสู่อีกสิ่งหนึ่ง ก็คือพี่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยบุคลิกดั้งเดิมเป็นคนที่อ่านหนังสือมาตลอด พอไม่ได้อยู่ที่บ้านที่จังหวัดสงขลา สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายก็คือหนังสือ ทีนี้หลายสิ่งหลายอย่างจากการอ่านมันก็ตะล่อม ๆ เรา แล้วพี่มาเจอประโยคหนึ่งจากหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือที่เขียนโดยนักเขียนละตินอเมริกา Paulo Coelho พี่ก็เล่าให้หลายคนฟังเรื่องนี้ หนังสือชื่อ ‘The Alchemist’ ภาษาไทยก็แปลว่า ‘ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน’ จริง ๆ พี่มีอยู่กับตัวนะครับ เล่มที่เปลี่ยนก็คือเล่มนี้ อันนี้คือเวอร์ชั่นพิมพ์แรก ๆ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคนแปล มันมีประเด็นหนึ่งแล้วก็ประโยคหนึ่งเป็น motto หลักที่มันทำให้ชีวิตพี่กล้าเปลี่ยนแปลงก็คือว่า “คนเราควรจะใช้ชีวิตให้เป็นตำนานส่วนตัวของตัวเอง” ประโยคนี้ประโยคเดียว ใช้ชีวิตให้เป็นตำนานส่วนตัวของตัวเอง มันหมายความว่าอะไร มันหมายความว่าเราทุกคนถึงวันหนึ่งมองย้อนกลับไป เราน่าจะตอบตัวเองได้ว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นคือชีวิตที่ฉันภูมิใจที่ได้ใช้มาหรือเปล่า เป็นชีวิตที่ฉันดีใจว่าใช้มันเต็มที่หรือยัง ประกอบกับว่าพอมามีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้น มันมีจังหวะที่มาลงตัวคือว่าพี่ไปเจอเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งแถวถนนพระอาทิตย์ เขาก็บอกว่ามันมีที่ว่างแถวถนนพระอาทิตย์นะ สนใจเอาไปทำอะไรไหม พี่ก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยมันน่าสนใจจัง แทนที่จะต้องรออีก 4-5 ปี ทำไมไม่มาลองดูตอนนี้ล่ะ ถ้าลองดูตอนนี้ถ้ามันไม่ใช่พี่ก็จะได้ปิดประตูความฝันนั้นไปเลย จะได้เดินอีกเส้นทางหนึ่งอย่างชัดเจน แต่ถ้ามันใช่ มันเจอก่อนมันไม่ดีกว่าหรือ หรือถ้าเกิดพี่ต้องไปทนทำอะไรบางอย่างที่พี่ไม่มีความสุข ทำไมพี่ไม่มาทนทำในสิ่งที่พี่ทำแล้วพี่มีความสุขล่ะ มันมีประเด็นเหล่านี้ค่อย ๆ ตะล่อมพี่ ๆ จนไปคุยกับแฟนพี่ ว่าถ้ามันมีโอกาสอย่างนี้เราลองมาทำอะไรดูไหม ก็เลยกลายเป็นร้านหนังสือเดินทางขึ้นมา