14 พ.ย. 2566 | 16:23 น.
- ‘จิ๋ม – สุวภา เจริญยิ่ง’ มาบอกเล่าเรื่องราวตัวเอง นอกเหนือมุมการเป็นนักการเงิน และที่ปรึกษาด้านตลาดหุ้นในเมืองไทย
- เป็นหนอนหนังสือเพราะแม่จับอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ และเป็นคนกล้าแสดงออกเพราะโรงเรียนดี สังคมดี
ผู้หญิงหน้าตายิ้มแย้มและดูนอบน้อมมาตามเวลานัดเป๊ะ ๆ เธอเดินผ่านโต๊ะมากมายตรงล็อบบี้โรงแรมแห่งหนึ่ง แล้วตรงดิ่งไปที่โต๊ะประจำที่มักจะมานั่งทำงาน และจิบกาแฟยามบ่ายที่นี่อยู่บ่อย ๆ
สำหรับ ‘จิ๋ม – สุวภา เจริญยิ่ง’ นักการเงินมากประสบการณ์ และกรรมการอิสระ Minor International ถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ผู้เขียนแอบประหม่าอยู่นิด ๆ เพราะเธอเป็นผู้หญิงเก่งรอบด้าน แต่ด้วยความโดดเด่นในหลายเรื่องของเธอ และหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เราอยากรู้ตัวตนเธอมากขึ้น ก็คือ ไลฟ์สไตล์และความเป็นตัวตนจริง ๆ ของเธอคือแบบไหน
นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ที่ทำให้เรารู้จัก จิ๋ม – สุวภา นอกเหนือจากภาพที่เป็นนักการเงิน และคนที่ทำให้โลกตลาดหุ้นคึกคักมากขึ้นคนหนึ่งในประเทศไทย
The People: อะไรที่เป็นสิ่งหล่อหลอมจนทำให้เป็นตัวตนทุกวันนี้
สุวภา: หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า คุณพ่อจิ๋มเป็นอาจารย์ที่คงแก่เรียนมาก แต่อาจจะพอทราบบ้างว่าคุณพ่อจิ๋มจบปริญญา 5 ใบ จบดอกเตอร์ แล้วคุณแม่จิ๋มก็เป็นครูอนุบาล จิ๋มชอบพูดอย่างนี้ว่า EQ คุณแม่เนียมหัศจรรย์ แล้วคุณพ่อก็คงเป็น IQ ที่ทำให้เป็นส่วนผสมที่ลงตัว และจริง ๆ คุณยายก็เป็นคุณครูเหมือนกัน ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ลำปาง ชื่อโรงเรียนวิชชานารี ซึ่งคุณยายก็จะบอกคุณแม่ว่าให้ยัดหนังสือในมือจิ๋มตั้งแต่เล็ก ๆ แล้ว ดังนั้น ตั้งแต่เล็กเลยจิ๋มก็จะมีหนังสือในมือตลอดเวลา ตั้งแต่หนังสือการ์ตูน ด้วยความที่บ้านเราไม่ได้มีฐานะมาก แต่คุณแม่ก็อุตส่าห์ไปซื้อดิสนีย์ซึ่งแปลมาให้ ชวนดูการ์ตูนนั่นนี่นู่น
แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่คุณพ่อไปเรียนต่อที่เมืองนอก ก็เลยติดตามคุณพ่อไปตอนนั้นจิ๋มอายุประมาณ 5 ขวบ อยู่ที่นู่นประมาณเกือบ 3 ปี ก็เป็นอะไรที่ได้มาหลายเรื่อง เช่น สำเนียงภาษาอังกฤษ ความชอบในภาษาอังกฤษ ซึ่งพอกลับมาเมืองไทยก็ไปอยู่โรงเรียนเล็ก ๆ ที่ซอยรางน้ำ ชื่อปริญญาทิพย์ จิ๋มได้เพื่อนที่ดี ๆ หลายคนมากจากที่นั่น จนมาถึงสาธิตเกษตรเราย้ายมาเรียนที่นี่ ถือว่าเป็นรุ่นแรก ๆ ที่เรียนสาธิตเกษตรเลย
สิ่งหนึ่งที่ได้ติดตัวมาตลอดในชีวิตก็คือ ‘การกล้าแสดงออก’ ก็ต้องขอบคุณโรงเรียนที่จิ๋มได้ร่ำเรียนมา ที่สาธิตเกษรจิ๋มเรียนตั้งแต่ ป.5 จนจบ ม.ศ.5 ซึ่งน่าจะเป็นรุ่นสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เป็น ม.ศ.5 ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่มีความสุขมากในช่วงที่เรียนหนังสือก็ว่าได้
The People: ทุกวันนี้ยังเป็นหนอนหนังสืออยู่ไหม
สุวภา: มาก...ทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน จนมีคนบอกว่าที่ทำงานรกไปหมด โชคดีที่ตอนนี้มี iPad แล้วแม้ว่าสายตามันไม่เหมือนเดิมแล้วก็ตาม (หัวเราะ) วันนี้จิ๋มก็เลยเปลี่ยนจากการอ่าน hard copy มาเป็น soft file ค่ะ ก็เลยเป็นสมาชิกหลักของ Meb ประมาณนั้น
The People: ตอนเด็กมีความฝันอยากทำอาชีพอะไร
สุวภา: จิ๋มอยากเป็นแอร์โฮสเตส เหลือเชื่อไหม (หัวเราะ) ก็คงเหมือนฝันเด็กผู้หญิงหลายคนมั้งคะ แล้วก็คิดว่าวันหนึ่งเราจะเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ แล้วก็ขายดอกไม้ด้วย นี่ก็น่าจะเป็นความฝันของผู้หญิงหลายคนเหมือนกัน คือมันมีแค่นี้จริง ๆ พอโตขึ้นมาหน่อยถ้ามีโอกาสได้ใส่ชุดสวย ๆ ไปงานราตรี มันคงจะดีมาก ๆ เลยอะไรอย่างนี้ค่ะ
แต่พอโตขึ้นมาจริง ๆ พี่ก็ผิดพลาดตั้งแต่เลือกสอบแล้ว ดันเลือก Photo (การถ่ายภาพ) แม่ก็งงว่าไปเลือกวิชาเรียนอะไร ส่วนเราก็งงมากนะเราเลือกอะไรวะ อาจเป็นเพราะว่าอ่านหนังสือการ์ตูนแล้วนางเอกเป็นช่างภาพ นั่นเลยกลายเป็นความฝันของเรานะคะ เลยเลือกเรียนผิดด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว พี่ดันไปสอบ ABAC ติดก่อน แล้วผลเอ็นทรานซ์ออกมาไม่โอเค ก็เลยเลือกเรียน ABAC ตอนนั้นก็มุ่งหวังนะว่าปีหน้าฉันจะต้องสอบใหม่ แต่พอเรียน ABAC ก็ไม่ได้อยากย้ายซะงั้น ก็เลยจบ ABAC 4 ปีค่ะ หลังจากนั้นพอจบ ABAC แม่ก็จะต้องแบบ บัญชีแน่นอน ซึ่งแม่ไม่ผิดนะคะ เพราะตั้งแต่วันนั้นจนถึง 50 ปีวันนี้เลี้ยงตัวเองได้อยู่รอด แต่วันข้างหน้าไม่รู้แล้วนะคะ เพราะมันมี AI (หัวเราะ) แต่ว่าวิชาบัญชีมันเป็นวิชาที่ไม่มีทางตกงานสำหรับพี่นะ แล้วอีกอันก็คือทนายความมั้ง แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นแบบนั้นอยู่รึเปล่านะคะ
แต่แล้วปรากฏว่าเรียนบัญชีก็ไม่ไหวค่ะ ก็เลยตัดสินใจเรียนการเงินนะคะ การเงินเป็นวิชาที่เอาบัญชีกับเศรษฐศาสตร์มารวมกัน บัญชีเป็นอะไรที่โคตรเป๊ะ เป๊ะมาก คือมีเหตุผลที่สุด เป็นวิชาที่โคตรว่าด้วยเรื่องตรรกะรุนแรงมากนะคะ ซึ่งไม่ใช่ตัวพี่ ส่วนวิชาเศรษฐศาสตร์ เพ้อฝันเล็กน้อย วิชาเศรษฐศาสตร์นี่คือทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่จำกัด ทำยังไงจะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็มีการคาดการณ์ ฉะนั้น อะไรที่เป๊ะมาอยู่กับจินตนาการ เป็นอะไรที่ลงตัวมาก ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเรียนแล้วชอบ ชอบขนาดที่ว่าในที่สุดเราได้ขึ้นเป็นประธานคณะเลย
ในที่สุดพอมาทำงานในชีวิตจริง กลายเป็นว่าเราเอา 2 เรื่องมาผสมกัน เป็นคนที่ขายของในด้านการเงินได้ดีที่สุดคนหนึ่ง อธิบายโปรดักท์ที่ค่อนข้างยากได้ ขณะที่หลายคนบอกว่ามันซับซ้อนและเข้าใจยากได้
The People: เป็นเหตุผลที่ทำให้อธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่ายไหม
สุวภา: ใช่ เพราะมันมาจากการเริ่มสอนหนังสือ คือพ่อแม่จิ๋มก็เป็นอาจารย์กับครูใช่ไหมคะ จิ๋มเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็จริง แตก่ก็จะบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือวิชาการยากมาก เพราะชอบเหลวไหลเลื่อนเปื้อนไปอ่านนวนิยายบ้าง ไปอ่านอย่างอื่นบ้าง ก็เลยค้นพบว่าการไปสอนคนอื่นเนี่ยเป็นการบังคับตัวเองได้ดีที่สุดในการอ่านหนังสือ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะไม่มีทางถ่ายทอดได้เลย
The People: ทำไมไม่ผันตัวเองเป็นอาจารย์
สุวภา: เพราะรู้สึกว่าการสอนมันเป็นแค่ทฤษฎี คือจิ๋มชอบตัวอย่างอันนี้นะ เรามักจะถูกสอนแต่ว่า 1+1 = 2 แต่วันนี้จิ๋มจะเป็นคนหนึ่งที่จะบอกว่า 1+1 อาจจะได้ 1 ก็ได้ อย่างน้ำตาล 1 ช้อน บวกน้ำตาลอีก 1 ช้อน รวมกันก็จะได้น้ำตาล 1 ช้อนได้ เป็นต้น หรือ น้ำ 1 หยดบวกน้ำอีก 1 หยด รวมกันเป็นน้ำ 1 หยด ดังนั้น 1+1 เป็น 1 ได้
จิ๋มมองว่า พวกคุณถูกสอนมาแค่ 1+1 ได้ 2 แต่พอมีใครคนหนึ่ง offer 1+1 เป็น 3 ปั๊บ สมองคุณจะอีกแบบหนึ่งเลย เพราะเขา unlock สมองคุณว่าเขาให้ได้มากกว่าสิ่งที่คุณคาดการณ์ถูกไหมคะ นี่ก็จะเป็นรูปแบบการตลาดปัจจุบันที่เราเห็น
พอเราคิดนอกกรอบบ่อย ๆ สอนลูกให้คิดแบบนี้บ่อย ๆ เขาจะไม่กลัวที่จะตอบคำถามที่ไม่เหมือนคนอื่น แล้วจิ๋มจะบอกว่ามันไม่ใช่คำตอบที่ผิดนะ เหมือนกับจิ๋มจะต่อต้านพวกข้อสอบที่บอกว่า ตื่นเช้ามาต้องแปรงฟัน เพราะถ้าเราตื่นเช้ามาอาบน้ำก่อน หรือตื่นเช้ามาขอกินข้าวก่อน เขาผิดด้วยเหรอด้วย logic แบบนี้ ถูกไหมคะ
The People: ฝึกเรื่องการคิดนอกกรอบจากไหน
สุวภา: ฝึกมาจากงานจิ๋มนี่แหละ เพราะว่าการเป็น IB (Investment Bank) ต้องบอกว่าสมัยจิ๋มเริ่มเนี่ย บริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่บริษัทที่เข้มแข็ง พูดตรง ๆ ก็คือบริษัทที่หาทิศทางในการขอกู้จากแบงก์ไม่ได้ สมัยก่อนคนที่เครดิตดี ๆ เขาก็กู้แบงก์ แบงก์ก็ประเคนอุตลุด แต่คนที่ด้อยโอกาส คนที่ไม่มีโอกาส ก็จะไม่มีเงินมาซัพพอท
หลายธุรกิจที่เข้มแข็งแต่กู้ธนาคารไม่ได้ก็มี จิ๋มไปเจอ Workpoint พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ทำรายการทีวี เกิดคำถามคือว่าสตูดิโอก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี แบงก์ก็ให้กู้เงินไม่ได้ เราเลยมาคิดว่า ทำไมไม่ทำให้คนที่เขาทำแบบนี้เข้มแข็ง จิ๋มอยากยกตัวอย่างที่หนึ่งซึ่งอันนี้จิ๋มพูดถึงบ่อยก็คือ ‘พิพิธภัณฑ์ที่ชิคาโก’ แล้วก็ไปเห็นภาพระบายด้วยสีน้ำเงินทั้งภาพเลย เขียนว่า Blue เวร! ตอนนั้นคิดเลยว่า อย่างนี้มาอยู่พิพิธภัณฑ์ได้ยังไง ฉันก็ทำได้วะ
จนอีกหลายปีต่อมา มาเจอคุณโน้ส - อุดม แต้พานิช ได้เขียนบ
ทความว่า ถ้าคุณคิดว่าเรื่องนี้คุณก็ทำได้ ทำไมคุณไม่ทำ เออใช่...มันปลดล็อกหลาย ๆ เรื่องว่า จริงนะ ทำไมเราคิดว่าอะไรเป็นเรื่องที่ทำได้แล้วเราไม่ทำ เรามีความรู้สึกว่า ถ้าจิ๋มมีโอกาสเจอบริษัทดี ๆ เจอคนดี ๆ มีโอกาสทำให้เขามีบริษัทที่เข้มแข็งขึ้นก็จะทำ เพราะคนดี ๆ เหล่านี้เขาก็จะจ้างพนักงานที่ดี รายได้ครอบครัวที่ดี เขาก็ทำเรื่องที่ดี ๆ ให้กับลูกค้าเขา
The People: มีช่วงชีวิตที่สะดุดบ้างไหม
สุวภา: เยอะแยะมาก จิ๋มว่าถ้าใครพูดว่าชีวิตดี มันเหมือนเป็นคนที่บอกว่าเล่นหุ้นไม่เคยขาดทุน มาเดี๋ยวนี้เลย เอาผ้ามา ๆ เดี๋ยวกราบเลย เพราะจิ๋มยังไม่เคยเจอเลย จิ๋มคิดว่าทุกคนต้องหกล้มอยู่แล้วแหละ ถ้าหกล้มแล้วเราเจอคนสมน้ำหน้านะ เราคงแย่กว่านี้ แต่สิ่งที่เราเจอเวลาเราหกล้มก็จะมี เฮ้ย ไม่เป็นไรนะ ลุกขึ้นมา ปัด ๆ ไปต่อ ๆ จิ๋มก็เลยรู้สึกว่า ทุกครั้งที่เฟล จิ๋มจะไม่ไปอยู่กับคนที่ทำให้รู้สึกว่า เขามีทัศนคติที่ไม่ดี มีแต่พลังลบ
จิ๋มมีคำหนึ่งที่จิ๋มชอบพูดมากคือ ในชีวิตนี้มีคนแค่ 2 ประเภทเท่านั้น หนึ่งคือ มีสิทธิ์เลือก กับอีกคนหนึ่งไม่มีสิทธิ์เลือก แต่จริง ๆ คนไม่มีสิทธิ์เลือกก็ไม่ใช่ว่าจะหมดโอกาส ก้แค่ทำตัวให้ถูกเลือกสิ! เคยได้ยินไหมเวลาที่ไปประกวดร้องเพลง จะมีคนพูดว่า “ผมไม่ได้มาหรอก เพื่อนลากมา” แล้วคนที่โดนเพื่อนลากมานี่แหละ ‘ชนะ’ แล้วแกจะลากไปทำไม ลากไปเป็นคู่แข่งแกทำไม (หัวเราะ)
คือถ้าคุณเป็น normal ก็ทำตัวเป็น normal แต่เมื่อไหร่คุณต้องการตรงนี้จริง ๆ คุณต้อง above average ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เหมือนผ้าไหมไงคะ ผ้าไหมทอมือทุกผืนเสน่ห์ของมันคืออะไร คือลูบแล้วสะดุด แต่ผ้าทอโรงงานจะเนียนเรียบ
ถามว่าชีวิตมีผิดหวังบ้างไหม โอ้โห! เยอะแยะแต่อย่าไปเล่าเลย เพราะว่าการผิดหวังไม่จำเป็นจะต้องไปเล่าให้ใครฟัง จิ๋มจะเป็นคนหนึ่งที่ว่า ถ้าสัมภาษณ์ negative อย่าไปให้สัมภาษณ์เลย เรื่องราวชีวิตนี้ก็ดรามาจะแย่อยู่แล้ว ตลาดหุ้นจะตกไม่ต้องถามพี่ ถ้าตลาดฯ จะขึ้นมาคุยกันได้ว่าทิศทางเป็นยังไง ดังนั้น บริษัทที่เขาไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ต้องไปทับถมเขา เจ้าของเขาคง suffer (เจ็บปวด) จะแย่อยู่แล้วค่ะ
The People: คนรุ่นใหม่เล่นหุ้นเยอะขึ้น คิดเห็นอย่างไร
สุวภา: มนุษย์เงินเดือนทุกคนถ้ายังไม่ซื้อ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) กับ SSF (กองทุนรวมเพื่อการออม) ต้องใช้คำเจ็บ ๆ ว่าสมองแกอยู่ตรงไหน? อีกคนเขามีเบาะรองนั่ง แกก็หยิ่งทะนงว่าแกมีความสามารถเหรอ คือจิ๋มบอกเลยว่า RMF เนี่ยซัดหุ้นอย่างเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องมาตราสารหนี้เลย แล้วซื้อกองไหนก็ไม่แตกต่างกัน
เวลาแกเลือกร้านกินข้าว ก็ยังดูเรทติ้งเลยว่าร้านไหนคนเขาชม ร้านไหนคนบอกอร่อย แกก็เลือกแบบนี้ทำง่าย ๆ ลองดูก่อนก็ได้ แต่ก็ขอให้ติดตามเพราะเป็น ownership ไง ลงเงินไปแล้วกำไรหรือขาดทุนเจ้าของก็ควรต้องรับรู้ เราเป็นเจ้าของเลยนะเว้ย แล้วความดีก็คือถ้ามันไม่ดี แกก็ขายทิ้งไปได้เลย ไปเล่นอีกตัวหนึ่งได้ มันง่ายแบบนี้เลย
จิ๋มว่าอันนี้มันเป็นความสามารถส่วนตัวล้วน ๆ แล้วถ้ามันได้ขึ้นมาก็จงเป็นความภูมิใจนะ เราลองวางแผนดูก็ได้ว่า ในชีวิตนี้อยากมีเงินเก็บสักก้อนเท่าไหร่ แต่จิ๋มแนะนำแบบนี้คือ อย่างน้อยให้มีเงินฉุกเฉินสัก 6 เดือน ก่อนจะเริ่มไปเที่ยวไหน ต้องมีเงินฉุกเฉิน 6 เท่าของเงินเดือนก่อน เสร็จแล้วก็เริ่มเก็บตังค์ไปเรื่อย ๆ จิ๋มคิดว่าถ้าเริ่มลงทุนนะให้ตัดเงินหมื่นนึงก็ได้แล้ว มันอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวม ฉะนั้น เอา 15 เปอร์เซ็นต์ซื้อพวก RMF ซื้ออะไรพวกนี้ไปเลย แล้วซื้อทิ้งไปเลย เพราะ 15 ปีมันปรับขึ้นอยู่แล้ว ได้อยู่แล้วแน่นอน