05 ก.ค. 2567 | 23:09 น.
KEY
POINTS
เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร อาจจะเปรียบเปรยกับชีวิตของใครได้อีกหลายคน ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่า คนที่เราเห็นว่าเพอร์เฟกต์มาก ๆ กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้ เขาต้องแลกกับอะไรมากแค่ไหน แม้แต่ ‘ชีวิต’ ก็เคยหลงผิดยอมแลกมาแล้ว อย่างชีวิตของ ‘ปาร์ตี้ – นักพากย์ฟีลกู้ด’ (วัชรพล นนท์ภักดี) คนที่กว่าจะยิ้มกว้างได้เหมือนวันนี้ เรื่องราวของเขาค่อนข้างสาหัสอยู่เหมือนกัน
‘ปาร์ตี้’ นิยามชีวิตวัยเด็กของตัวเองว่า ‘เรียบ ๆ ธรรมดามาก’ แต่ในความธรรมดานั่นก็มีบางมุมที่สะท้อนความ ‘พยายาม’ เพอร์เฟกต์ของเขาตั้งแต่เด็ก และสาเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้น
“ตี้เป็นตัวแทนของเด็กต่างจังหวัดที่ธรรมดามากคือ back to basic มาก ธรรมดาจนถึงติดลบเลย เป็นเด็กที่ยากจนมาก แล้วก็โตมากับเรื่องราวของพ่อแม่ที่เหมือนละครมาก คือพ่อเนี่ยยากจน ส่วนแม่เป็นคนมีฐานะประมาณหนึ่ง แล้วตายายก็กีดกันพ่อ แล้วก็หาคนให้กับแม่”
“สุดท้ายพ่อแม่คือละครมาก หนีไปด้วยกันเลย คือนับหนึ่งใหม่ด้วยตัวเอง แล้วตอนนั้นก็ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ ไม่มีงาน เราโตมากับท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนั้น คือโตมากับนมราคา 5 บาท แล้วพ่อแม่ก็มีเงินติดตัว 5 บาท เรามีบ้านเล็ก ๆ ที่เหมือนอยู่ข้างกำแพงเดียวกับวัด กำแพงที่มีกระดูกคนเสียชีวิตอยู่ตรงนั้น”
“ตี้ก็กลายเป็นเด็กวัด แล้วพ่อแม่ก็ฝากให้เจ้าอาวาสเลี้ยงอะไรอย่างนี้ เป็นเด็กประมาณนั้นก็ธรรมดามากครับ”
“แต่ความที่โตมาแบบนั้น มันเลยทำให้รู้สึกว่าฉันต้องได้ ฉันต้องมี ฉันต้องเป็นใครสักคนหนึ่งที่ต้องสำเร็จ ต้องทำให้พ่อแม่มีความสุขอะไรอย่างนี้ คือเป็นเด็กที่จะเรียกว่า perfectionist ก็ได้ ตั้งแต่ที่จำความได้คือ ม.ต้น เลย ช่วง ม.1 เราก็แบบว่าฉันต้องเรียนเก่ง ฉันต้องสอบได้ที่ 1 ฉันต้องเป็นผู้นำ ฉันต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่ได้ปลูกฝังให้เราเป็นแบบนั้นเลย พ่อแม่คือสบาย ๆ มาก”
ด้วยความคิดแบบนั้นจึงทำให้เขาไต่เต้าตัวเองจนกลายเป็น ประธานนักเรียน เป็นหัวหน้าห้อง เป็นเด็กคนหนึ่งที่ผอ.โรงเรียนชื่นชมว่าเป็น ‘นักเรียนดีเด่น’ คนแรกของโรงเรียน ขณะที่อาชีพในฝันก็เริ่มก่อตัวขึ้นตามความเชื่อและความนิยมของคนในสังคมก็คือ ‘เป็นหมอ’ เพียงเพราะว่าเขารู้สึกว่าในสมัยนั้น การได้เป็นหมอ เป็นครู หรือข้าราชการ ช่วยให้ตอบโจทย์ชีวิตและทำให้พ่อแม่ของเขาภาคภูมิใจ
ความตึงไปทุกระเบียบนิ้วของการใช้ชีวิตของปาร์ตี้ ทำให้วันหนึ่งเขาเริ่ม ‘ใจแตก’ และก็เริ่มค้นพบ ‘ตัวตน’ จริง ๆ ของตัวเองครั้งแรก
“ช่วง ม.5 เทอมปลาย เราเริ่มเหมือนเด็กใจแตก มันเหมือนเด็กที่เซ็ตอะไรบางอย่างให้กับตัวเองจนมันเป๊ะมาก แบบอยู่ในกรอบตลอดเวลา จนมันรู้สึกอยากออกจากกรอบ เรามีความรักครั้งแรก แล้วก็เจอตัวตนครั้งแรก คือก่อนหน้านั้นตี้ ไม่รู้จักตัวเองเลย พยายามปิดบังตลอดว่าตัวเองเป็นอะไร แล้วก็ไม่ยอมให้คนเห็นมุมแบบไม่ดี จนสุดท้ายมีความรักคือรักเพศเดียวกัน การเรียนเริ่มตกจากเคยที่ได้เกรด 4 ก็เป็น 0 เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว”
ก่อนที่ความอยากเป็นตัวเองของปาร์ตี้จะล้นออกมาจนปิดไม่อยู่ ระหว่างทางก่อนหน้านี้ ก็มีอยู่หลายครั้งที่เริ่มรู้สึกว่าไม่เป็นตัวเอง เช่น การที่เขาชอบดูการ์ตูนเซเลอร์มูนตอนเด็ก ๆ มากกว่าการ์ตูนที่เด็กผู้ชายคนอื่นดู แต่ในระหว่างที่ยังอยากดูการ์ตูน เขาก็เข้มงวดกับตัวเองให้ท่องหนังสือทุกวัน 10-20 หน้า แค่เพราะว่าอยากเป็นเด็กหน้าห้อง ที่สามารถยกมือตอบคำถามคุณครูได้
แต่สุดท้ายความอัดอั้นและกวดขันตัวเองมากเกินไป ทำให้มันระเบิดออกมาก ช่วงม.5 เป็นบทเรียนแรกที่เขารู้สึกว่าชีวิตมันหนักหนาสาหัสมาก เป็นช่วงที่ดาวน์ที่สุดในชีวิต จนเขาตัดสินใจ ‘ฆ่าตัวตาย’ ในยุคนั้นอาจจะยังไม่มีใครรู้จักอาการ ‘โรคซึมเศร้า’ ซึ่งเขาคิดว่าตัวเขาเองน่าจะเป็นเพราะมีความคล้ายสูงมาก ไม่อยากใช้ชีวิตต่อไป และไม่สามารถควบคุมตัวเองและความคิดได้เหมือนเดิม จนทำให้เขาตัดสินใจทำแบบนั้น
“พอผ่านช่วงนั้นมาได้ ม.6 ตี้แทบไม่ได้เรียนเพราะไปทำกิจกรรม หันตัวเองไปเป็นปอมปอมเชียร์ เต้นลีลาศ และก็เป็น 1 ปีที่ทำให้เราเห็นบางอย่างที่อยู่ข้างในเรา แบบเฮ้ย ทำไมฉันมีความสุขกับสิ่งนี้ แล้วก็เป็นที่มาของการฮีลตัวเอง แล้วก็เยียวยาตัวเองให้กลับมามีความสุข มันเลยทำให้ตี้มีบุคคลิกที่ออกแนว feel good นับตั้งแต่ตอนนั้น”
“จากที่อยากเรียนหมอก็ไปสอบการแสดง เปลี่ยนทิศทางเลย ตอนนั้นพ่อแม่ก็คือช็อกหลายเด้งมาก แต่สิ่งที่ตี้ดีใจมากก็คือ พ่อแม่ช็อกแต่เขาไม่ได้ปิดประตู เขาช็อกแต่เขาปรับตัว เขาช็อกแต่เขาเปิดประตูบานใหม่ให้กับตี้ เขา open”
“นี่คือความน่ารักและความธรรมดาของเขา(พ่อแม่) จากที่เห็นเราแบบไม่น่าจะรอด น่าจะเป็นซึมเศร้า แต่สุดท้ายเขาก็กล้าที่จะเปิดประตูให้กับเรา จากที่เป็นเด็กต่างจังหวัดชัยภูมิ ตอนนั้นก็คือเข้าสู่กรุงเทพฯ คนเดียวเลยเพื่อไปเรียนการแสดงที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ”
ต้องพูดว่าช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของปาร์ตี้ น่าจะเป็นช่วงที่ทำให้เขาเปิดโลกและเป็นตัวเองมากที่สุด เจอกลุ่มคนที่เป็นเคมีเดียวกับตัวเองมากที่สุด ความได้เป็นตัวเองของเขาทำให้ช่วงเวลานั้นค่อย ๆ ฮีลเขาไปเรื่อย ๆ จนลืมความเศร้าและสิ่งที่เคยทำไปจนสิ้น
“เวลา 4 ปีทำให้เราเป็นคนที่กล้าแสดงออก เป็นคนที่ใช้ใจนำ แล้วก็อยากทำอะไรทำ ตอนนั้นความคิดความฝันของตี้ฟุ้งมาก ๆ ตี้มีพี่โอปอล์ ปาณิสรา (อารยะสกุล) เป็นไอดอล แบบสักวันหนึ่งเราต้องเก่ง เป็นพิธีกร เป็นนักแสดงได้เหมือนเขา แต่คือก็จะเป็นสายแบบเฮฮา”
“งานแรกของตี้ คือเป็น Casting และ Acting coach ที่ production house โฆษณาที่หนึ่ง ซึ่งก็ตรงสายนะ แต่สุดท้ายก็ไปค้นพบความชอบใหม่อีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาหานักพากย์โฆษณาเป็นไกด์เสียง ซึ่งพี่เขาก็เรียกให้เราไปลองไปอัดไกด์ ปรากฎว่าลูกค้าชอบ ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนเลย ได้งานโฆษณาครั้งแรก เราก็เลยรู้ว่า อุ๊ย! ฉันมีเสียงที่สามารถผลิตเงินได้ ก็เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเป็นนักพากย์อาชีพ แล้วก็ทำทุกวิถีทางที่จะออกมาจากงานเพราะคิดว่า งานประจำไม่ใช่ตัวตนของฉัน”
“แต่สุดท้ายเส้นทางมันไม่ได้ง่ายอย่างที่ทุกคนคิด คือเรามีความฝันได้ แต่ความฝันมันต้องลงมือทำอย่างสุด ๆ และทุกคนก็มีไทม์มิ่งของมัน”
ถ้าใครที่เกิดในยุค 80s-90s แทบไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Socialcam’ ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของแอปพลิเคชั่นวิดีโอโซเชียลบนมือถือในปัจจุบัน หากพูดแบบนั้นก็ไม่ผิดแปลกอะไร ซึ่งเมื่อ 15 ปีก่อน ปารืตี้ ถือว่าเป็น ‘นักพากย์คนแรก ๆ’ บนแอปฯ นี้ ที่ใช้วิธีการพากย์เสียง และใช้ความสร้างสรรค์ในการสร้างคอนเทนต์
“คือตี้เริ่มตั้งแต่เอานิ้วโป้งเท้าของตัวเอง 2 เท้ายกขึ้นมา กลายเป็นคุณปู่กับหลานคุยกันอย่างนี้ จินตนาการคือล้ำมาก แต่ปล่อยคลิปไปปุ๊บ ประมาณ 6 เดือนแรกนะ ครึ่งปีแรก ไม่มีคนดูเลย มีแค่เพื่อนที่มาคอมเมนต์ 2 คน แล้วคอมเมนต์แบบ feel good มาก คนหนึ่งพิมพ์ว่าทำเหี้ยอะไร แล้วอีกคนหนึ่งคือ เป็นบ้าเหรอ คือไม่มีใครเข้าใจตี้เลย แต่สุดท้ายตี้เจอสิ่งหนึ่ง คือตี้มีความสุขมาก”
จนวันหนึ่งเวทมนต์แห่งการพากย์เสียงของเขา ทำให้ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ กับ ‘เบนซ์ - พรชิตา ณ สงขลา’ เลือกคลิปของเขาไปเปิดในรายการข่าว นั่นก็คือ คลิปที่ปาร์ตี้ เอาพระเอกช่อง 3 ไป พากย์เสียงทับจนกลายเป็นไวรัล คนรู้จักเขา และรู้จักคอนเทนต์ลักษณะนี้มากขึ้นนับแต่นั้น
แต่มันก็มีช่วงที่เขากลับมาทำงานประจำอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่าอาชีพการเป็นนักพากย์เสียงยังไม่ตอบโจทย์เขา และนั่นจึงทำให้เขาได้มีโอกาสเป็น Creative ให้กับค่ายเพลงวัยรุ่นอย่าง Kamikaze ทั้งยังมีโอกาสสร้างผลงานที่หลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับการอยู่เบื้องหลัง ‘ท่าเต้น’ สุดครีเอทจากเขา
ประสบการณ์และการสั่งสมประสบการณ์ความสร้างสรรค์ที่ค่ายเพลงแห่งนั้ จากช่วง 2 ปีแรกที่เรียกว่าผลงานแทบจะแป้กทั้งหมด กลายเป็นสร้างสรรค์ผลงานที่มีท่าเต้นสุดฮิตนั่นก็คือ ‘เพลงรักต้องเปิด (แน่นอก)’ จากศิลปิน 3.2.1 และ ใบเตย อาร์สยาม ด้วยคีย์หลัก ๆ ที่เขาเรียนรู้มาจากบอสในตอนนั้น ก็คือ ‘หทัย ศราวุฒิไพบูล’
“ก่อนหน้านี้คือ ตี้พยายามจนมันไม่มีวิธีการ หรือ how to ที่มันถูกต้อง แล้วมันก็ไม่มีความสุข งานมันเลยไม่มีความสุข มันเลยเป็นคีย์หลักเลยที่บอสสอนว่าทำยังไงก็ได้ให้มันมีความสุข แล้วมัน feel good มันสนุก ก็เลยเจอคาแรกเตอร์การเป็นครีเอเตอร์ของเรา คือคาแรกเตอร์ feel good นั่นแหละ”
แต่ด้วยความที่ ปาร์ตี้ รู้สึกไม่ชอบการทำงานประจำเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว แม้ครั้งนั้นผลงานและความสำเร็จของโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับทีมงาน จะทำให้เขาก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สุดท้ายก็เลือก ‘ลาออก’ หลังจากที่ทำงานที่ค่ายเพลงแห่งนั้นมานานถึง 10 ปี
“พอลาออกมาปุ๊บ โควิด-19 ฮะ (หัวเราะ) โอ้พระเจ้า ชีวิตเจออะไรแบบ ตี้นั่งร้องไห้แบบอยู่ในห้องแบบหลายวันมาก ร้องไห้แบบทำไมชีวิตกูต้องมาเจอ ทิ้งเงินเดือนแบบโอ้โห หลายหลักมาก ตำแหน่ง Senior creative หายไปเลย แล้วก็สุดท้ายก็มานั่งคิดว่าไปยังไงอะ จะทำงานฟรีแลนซ์คือพากย์เสียง ห้องพากย์ก็ไม่ได้ เพราะโควิด-19 ล็อกดาวน์อะไรอย่างนี้ ก็ร้องไห้”
จนกระทั่งเขาเลื่อนไปเจอแอปพลิเคชั่นหนึ่ง คล้าย ๆ Socialcam ในสมัยนั้น นั่นก็คือ TikTok เขายอมรับว่าแรก ๆ ที่เห็นก็ไม่ได้เข้าใจหรอกว่าแอปฯ นี้เอาไว้ทำอะไร เพราะมีแต่เด็ก ๆ แล้วก็มีลิปซิงค์แบบ 7 วินาที ซึ่งเขาในฐานะที่เคยไกด์พากย์เสียงมาก่อน รู้แค่ว่าการพากย์มันยาวกว่า 7 วินาทีแน่ ๆ แต่สิ่งที่เห็นคือ คลิปนั้นยอดวิวคือล้านวิว จึงทำให้เขาปิ๊งไอเดียขึ้น
“ตอนนั้นตี้คิดในใจว่า กว่ากูจะได้ล้านวิวนี่ กูตัดประมาณแบบเป็นเดือนเลยนะคลิปหนึ่ง ถ้ามันจะมหัศจรรย์ขนาดนี้ 1 ล้านวิวได้ง่ายขนาดนี้ ลองดู ตี้ก็เลยลองเล่น ก็เอาสกิลที่ตัวเองมีความสุขคือพากย์เสียง ไปพากย์เหมือนเดิม เหมือนสมัย Socialcam เลยฮะ พากย์ 7 วินาที 15 วินาที”
ต้องพูดว่า ปาร์ตี้ ที่ตอนนั้นเริ่มคุ้นหน้าคุ้นตากับชื่อ TikTok ‘นักพากย์ฟีลกู้ด’ เขาน่าจะเป็นคนแรกที่มีการพากย์เสียงทำคอนเทนต์บน TikTok เป็นผู้มาก่อนกาล...
“ตี้น่าจะเป็นคนแรกที่แบบเอาเรื่องราว ณ ตอนนั้นเหมือนบ่นฮะ คือคาแรกเตอร์ตี้เป็นโอปป้าเกาหลี ก็เลยพากย์เสียงโอปป้าเกาหลีบ่นเรื่องเงิน 5,000 ก็ไม่ได้ ทำไมชีวิตฉันเป็นแบบนี้ โอ้ พระเจ้าอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) แล้วคือมันกลายเป็นโดนใจคน คนก็เลยรู้สึกอยากระบายไปกับเสียงเรา เขาก็เลยมาลิปซิงค์เสียงเรา ก็บ้านแตกเลยทีนี้ คือแบบดาราก็มา แล้วดาราก็ไม่มีงาน ณ ตอนนั้นพักงานหมด ก็ไม่รู้จะทำอะไร ดารามาลิปซิงค์ตี้ (หัวเราะ)"
“คนติดตามเราเป็นล้านเร็วมาก แล้วเราก็เหมือนเป็น Tiktoker รุ่นแรก ๆ เลยมั้ง ถ้าใครจำได้นะฮะ เป็นแบบบุกเบิกเลย ตี้เคยสต๊อกคลิป TikTok อะ แช่อยู่ตรงนั้น วันละ 20 คลิป ปล่อยบ้าง แป้กบ้าง ปังบ้าง แต่ทำไม่หยุดเลยฮะ เชื่อมั้ยว่าโควิด-19 ที่มันไม่น่าจะมีงาน อ้าว มีงานเยอะกว่าที่ใช้ชีวิตมาก่อนหน้านั้นอีก”
“TikTok มันเหมือนจะสร้างตัวตนง่ายนะ แต่มันก็มีจุดยากคือ TikTok มันชอบคนที่ชัด ใครที่มีคาแรกเตอร์ชัด ใครที่มีความแบบสกิลของตัวเอง เช่น คุณจะเสียงดังตลก หรือ บางคนพากย์เสียงเหมือนจะหลับ แต่ดังเฉยเลย เพราะคุณมีความสุขกับสิ่งที่คุณเป็น พอมันชัดปุ๊บมันจะเร็วมาก”
“คือตี้ใช้เวลาในการเจอตัวเองที่มันชัดมาก ๆ ที่เป็นนักพากย์ feel good โอปป้านะฮะ ประมาณครึ่งปี พอครึ่งปีหลังจากนั้น พอแบรนด์ดิ้งมันชัด เอเจนซี่ ลูกค้า แฟนคลับที่เขาแบบชอบเรา เขาก็เริ่มป้อนทุกอย่างให้กับเรา”
“ปกติตี้เป็นคนที่เก็บเงินไม่เก่งเลย เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งปุ๊บไปทำหน้าเลย (หัวเราะ) ไปทำจมูกอะไรอย่างนี้ คือเป็นเด็กที่แบบเกเรมาก ไม่มีเป้าหมายเลย แต่สุดท้ายพอมันมีเป้าหมายที่จะต้องเก็บเงินให้ได้อะ เราไปเช็กเงินปุ๊บแบบเฮ้ย มันเกือบแตะล้านฮะ จนแบบงงเลย”
ต้องพูดว่า พอตัวตนของ ปาร์ตี้ เริ่มชัดเขาก็สร้างคอนเทนต์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่พากย์เสียงเป็นโอปปา ก็เริ่มใส่วิก แต่งหญิง กลายเป็น ‘แม่สิตางศุ์ (บัวทอง)’ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นยุคที่แบบ LGBTQ+ เริ่มภูมิใจในความเป็นตัวเองมากขึ้นแล้ว กลายเป็นว่าเส้นทางนี้รุ่งโรจน์ เงินทองไหลมาเทมาเรื่อย ๆ และก็เกิดการแข่งขันเกี่ยวกับพากย์เสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย
“จากตอนแรกคุณพ่อคุณแม่ช็อกมากที่เห็นลูกแบบห้ะ ลูกกูแบบขนตายาว ใส่วิก พ่อแม่แบบไม่กล้าพูดกับใครเลย แต่พอคลิปมันดัง พ่อแม่กดไลก์ฉ่ำ (หัวเราะ) พ่อแม่กดแชร์ทุกคลิป เปิด Facebook แล้วก็ซัพพอร์ตเราเต็มที่มาก”
“เราเห็นวันที่พ่อแม่นั่งหัวเราะกับคลิปเรา ไม่ว่าจะเป็นคลิปชาย คลิปแต่งหญิง อะไรก็ตาม แต่เขาหัวเราะ มันเป็นประตูที่แบบ โห มันยิ่งกว่าตอนที่เราเป็นซึมเศร้า ตอนที่เราฆ่าตัวตายอีก คืออันนี้มันเป็นประตูบานใหญ่มากที่ open แบบปั้ง! กูคือ LGBTQ+ ในแบบของกู กูจะแบบตัวพ่อตัวแม่กูได้หมด คือปัง...มีความสุขมาก”
ชอบประโยคหนึ่งที่ ปาร์ตี้ พูดกับเราว่า เมื่อเรามีความสุขแบบล้านเปอร์เซนต์ ทุกคนที่อยู่รอบตัวเราก็จะมีความสุขไปด้วย แล้วเราก็จะดึงดูดแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาหาเรา เหมือนเป็นขุมพลังที่ดึงดูดทุกอย่างทั้งจักรวาลมาหาเราหมดเลย ในมุมมองของปาร์ตี้ คือ มันปลดล็อกมาก ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเอง ไม่ต้องตึงกับตัวเองเหมือนเมื่อก่อน แค่บาลานซ์กับชีวิตตัวเองให้ดีก็เพียงพอแล้ว
ความสุข ชีวิต และความสำเร็จแบบ feel good ของปาร์ตี้ กลายเป็นทำให้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ยกย่องให้เขาเป็นเหมือน ‘ไอดอล’ ในการใช้ชีวิตและมีความคิดที่ดี มีหลายครั้งที่เขา Live และพูดคุยกับคนที่ติดตามและแชร์มุมมองในการใช้ชีวิต รวมถึงประสบการณ์แย่ ๆ ของตัวเอง เช่น เรื่องคิดสั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเขาเองที่ inspired คนอื่น เพราะหลายครั้งคนที่ติดตามเขาก็ inspired ตัวเขาเช่นกัน
“มีอยู่คนหนึ่งที่ตี้ให้เขาเป็น inspired เหมือนกัน เขาเป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นโปลิโอตั้งแต่ตอนเด็ก และก็เป็นซึมเศร้าด้วย ที่สำคัญคือเขาต้องฟอกไตอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ฟังแล้วก็ซี้ดมาก พี่เขาเป็นผู้ชายที่ไม่มีโอกาสได้ลุกขึ้นมาทำงานหาเงิน แล้วสิ่งที่เขาได้รับ (ต้องขออนุญาตพูดนะ) คือคนรอบตัวไม่เข้าใจ เพราะว่าทุกคนก็จะคาดหวังให้เขาลุกขึ้นมาทำงานสิ ลุกขึ้นมาทำงานใช้ชีวิตสิ”
“สำหรับบางคนเขาไม่สามารถจริง ๆ คือมันเต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งหมดทั้งมวลเลย ตี้ก็คุยเล่นกับเขาว่า เล่น TikTok กับตี้ไหม สุดท้ายคือให้เขาลงมือทำเลย ไม่ต้องซับซ้อน ไม่ต้องคิดอะไรแล้วลงมือทำ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเขาทำตามตี้ เขาให้ที่บ้านไปซื้อวิกมาแล้วใส่วิก แล้วก็ลิปซิงค์แม่สิตางศุ์ (หัวเราะ)”
“จนมีผู้ติดตามเป็นพัน จนเขาสามารถไลฟ์สดได้ใน TikTok เชื่อมั้ยบางคนแบบเป็นดาราก็มาดูเขา เขามีรายได้จากการไลฟ์สด แล้วเอารายได้เหล่านั้น ไปซื้อของมาขายออนไลน์ ซื้อขนมมาขาย ตี้ก็ซื้ออุดหนุนเขา มันกลายเป็น inspired ให้ทั้งกับตี้และทุกคนเลย”
เมื่อเราถามถึงสิ่งที่อยากทำต่อจากนี้คืออะไร เพราะเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำหลายอย่างมาก ๆ ทั้งเป็นนักพากย์อิสระ, นักแสดงอิสระ, Content creator แล้วก็เป็นอาจารย์สอนบุคลิกภาพที่สถาบันดังแห่งหนึ่งด้วย
แต่สิ่งที่ ปาร์ตี้ เลือกตอบก็คือ “อยากมีแฟน...(หัวเราะ) คือเราเป็นทุกอย่างแล้ว เราเป็น Content creator เป็นนักพากย์ แล้วก็เป็นคนโสดด้วยนะ โสดหลายปีมาก ตอนนี้อายุ 38 จะมีเมื่อไหร่เอ่ย (หัวเราะ) คือดวงชะตาจะพาให้มีแฟนตอนอายุ 40 เหรอ ซึ่งแก่ไปไหม ตี้อยากมีแบบพาร์ทเนอร์ฮะ คืออาจจะไม่ใช่แฟนก็ได้”
ทั้งนี้ ใครอาจยังไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้ ปาร์ตี้เคยใฝ่ฝันอยากจะเปิดบริษัทยิ่งใหญ่ เป็นเอเจนซี่ แต่ปัจจุบันความฝันเหล่านั้นเหลือเพียงสิ่งที่เรียบง่ายมาก ๆ นั่นก็คือ ‘ความสุขกับครอบครัว’ ได้ทำกิจกรรมและสิ่งที่สนุก ๆ กับพ่อแม่ หลังจากที่เขาพาพ่อแม่มาอยู่ด้วยกันที่กรุงเทพฯ
“เป้าหมายสูงสุดของตัวเองเลย คือการได้พาพ่อแม่เที่ยวให้ได้เยอะที่สุด มันอาจจะเบสิกมาก ๆ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องไปแสวงหาความยิ่งใหญ่ หรือไม่ต้องเป็นเหมือนใครเลย แค่ใช้ชีวิตแบบตื่นมา แล้ววันนี้กูจะพาพ่อแม่ไปร้านนี้ 10 คาเฟ่ดังนครปฐมอะไรอย่างนี้ แค่นั้นเลย แล้วก็ทำงานเก็บเงิน ทุกวันนี้เก็บเงินไม่ได้จะเปิดบริษัทนะ เก็บเงินเพื่อจะซื้อทัวร์ (หัวเราะ) พาพ่อแม่ไปเที่ยว”
ถือว่าเป็นความฝันสูงสุดของใครอีกหลายคนเลยที่คิดแบบนี้ นอกจากนี้ เขายังพูดทิ้งท้ายด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้เขาอยู่ได้นาน 15 ปีในฐานะ influencer คือต้องสร้างสรรค์บนความสร้างสรรค์จริง ๆ แล้วก็มอบความสุขโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน