ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

WHAT THIS FEELING! ชวนทำความเข้าใจฟิลลิ่งคนดังโดยนักจิตบำบัดสายแคร์ เขื่อน ดนัย

“ผมพร้อมที่จะ vulnerable ครับ”

อชิระ เทริโอ หรือ น้องทิกเกอร์ ลูกชายของสองศิลปินดังยุค 90s คุณแม่กี้ - นิโคลและคุณพ่อแมว - จิระศักดิ์ เติบโตเป็นหนุ่มวัย 19 ปี กับก้าวแรกในการเป็นศิลปินเดี่ยวอย่างเป็นทางการสังกัดค่าย G’NEST การที่เขามีป้ายความเป็นลูกศิลปินแปะมาตั้งแต่ก่อนเกิดทำให้อยู่ในสายตาของสื่อมวลชนมาตลอด สิ่งนี้ได้สร้างความกดดันให้กับเด็กคนหนึ่งไม่น้อย ความคาดหวังที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพราะชื่อเสียงของคนในครอบครัวค้ำบนบ่าอยู่นั้นทำให้เขาต้องเร่งเป็นผู้ใหญ่ก่อนถึงวัย ดนตรีและเสียงเพลงกลายเป็นสิ่งที่เขาสบายใจจะแสดงความเป็นตัวเองออกมา 

เมื่อบ่มเพาะความสามารถจนได้ที่ ก็ถึงเวลาลูกไม้ใต้ต้นจะหล่นกลิ้งออกมาจากเงาต้นไม้ความเป็นศิลปินของพ่อแม่ตัวเอง หาพื้นที่ที่น้องทิกเกอร์ได้แสดงศักยภาพออกมาให้วงกว้างได้เห็น ต้องขอขอบคุณ ยํายํา คัพ ผู้ใหญ่ใจดีที่ชวนเขามาเปิดใจให้ทุกคนได้เห็นความสามารถด้านดนตรีและตัวตนที่เคยเก็บซ่อนไว้ เราได้ทำความรู้จัก น้องทิกเกอร์ ในแบบที่เขาเป็นผ่านรายการ WHAT THIS FEELING! โดยมี เขื่อน - ภัทรดนัย เสตสุวรรณ เป็นผู้ดำเนินบทสนทนาในครั้งนี้ มีหลายช่วงที่น่าสนใจและทำให้เข้าใจตัวตนของศิลปินหน้าใหม่คนนี้มากขึ้น จะมีอะไรบ้างเราสรุปไล่เรียงหัวข้อที่น่าคิดต่อไว้ตามนี้

ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

ความชอบ-ความฝัน-ในโลกความจริง

ในวันนี้วัยนี้ น้องทิกเกอร์ ได้เรียนรู้และหาจุดสมดุลของการประณีประนอมในความชอบของตัวเองเพื่อเป็นศิลปินซึ่งต้องมีการสร้างแบรนด์ (คาแรคเตอร์) ให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงง่ายขึ้น 

“ผมเริ่มต้นด้วยการฟังเพลง soul, funk, และ R&B ซึ่งขายยากในตลาดแบบ T-Pop จึงต้องมีการปรับจูนกันในค่ายนั่นทำให้ผมเรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่เพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค”

 

โตเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน

การทำงานกับผู้ใหญ่ที่มีช่องว่างเรื่องอายุและมุมมองที่แตกต่างกันมาก ทำให้เขาต้องผลักดันตัวเองเพื่อโตขึ้นเร็วกว่าเด็กทั่วไป ในการสื่อสารและทำงานกับคนในทีมที่มีอายุมากกว่าได้รู้เรื่อง

ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

“ผมต้องเก่งจริงๆ ก่อนที่จะเดบิวต์ออกมาไม่งั้นคนอาจผิดหวังในตัวผมและคุณพ่อคุณแม่ด้วย”

 

ใต้ต้น Duo Superstar

เราเลือกเกิดไม่ได้ การเป็นลูกของสอง Superstar เมืองไทยก็มีทั้งข้อดีและข้อกังวลใจ ในตอนเด็กที่ น้องทิกเกอร์ ยังอยู่ในช่วงทำความเข้าใจบริบทรอบตัว และเป็นเวลาปรับตัวเข้าหาคนที่ต้องพบเจอทำให้เขากดดันตัวเอง เกิดเสียงในหัวคอยข่มไม่ให้แสดงออกได้เต็มที่ ไม่อยากชิล์เพราะกลัวจะโดนต่อว่าหาว่าไม่ตั้งใจหรือไม่กล้าเล่นมุกตลกเพราะคิดว่าคนอื่นจะไม่เก็ตและโดนตัดสินจากผู้ใหญ่ที่มองเข้ามา ซึ่ง เขื่อน - ดนัย กล่าวเสริมว่าในทางจิตวิทยาความคิดในเชิงลบในหัว ถือเป็นกระบวนการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ได้เราไปประสบกับสิ่งไม่ดีนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องหมั่นถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าการกระทำของเราสร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่นหรือจริงๆ แล้วมาจากความคิดของเราเอง

 

ต้องวางตัวดีเสมอในสายตาอื่น

ใครๆ ก็อยากเป็นที่รัก แต่การเป็นที่รักของทุกคนตลอดเวลา มันก็ทำให้อึดอัดได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับที่ น้องทิกเกอร์ ในวัย 14-17 เขาบอกในรายการว่าเป็นช่วงหนึ่งที่ยากลำบากกับการเป็นคนที่เรียกว่า ‘People Pleaser’ การวางตัวดีให้เป็นที่พอใจของคนรอบตัว จนหลงลืมตัวตนจริงๆ ไป จนเมื่อเขาได้เจอจุดสมดุลที่อยู่ระหว่างตัวตนและคนหน้ากล้องได้แล้วนั่นจึงทำให้เกิดมั่นใจในการแสดงออกมากขึ้น 

ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

“ผมเชื่อว่าถ้าผมมั่นใจกับตัวเองมากพอ วางตัวให้ดีในความคิดของตัวเอง คนอื่นก็จะเห็นเวอร์ชันตัวตนที่ผมเป็นแบบนั้นจริงๆ แทนที่แสดงออกในเวอร์ชันที่ผมอยากให้เขาเห็น”

 

การย้ายความ Perfectionist ไปที่งานเพลง

ทิกเกอร์ อชิระ เทริโอ บทเรียนในวัย 19 กับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง

เป็นอีกหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจและชวนตั้งคำถามกับคนที่โดนเรียกว่า Perfectionist มาตลอดเพราะ เขื่อน - ดนัย ชวนเปิดอีกด้านของลักษณะพฤติกรรมแบบนี้ ซึ่งอาจมีที่มาจากวัยเด็กที่ยุ่งเหยิง ไม่สามารถควบคุมสิ่งรอบตัวได้ เมื่อโตขึ้นจึงต้องการควบคุมตัวเองและทุกสิ่งอย่างไม่ให้เกิดความผิดพลาดนั่นเอง จากเดิมน้องทิกเกอร์ก็เคยเข้มงวดกับตัวเอง แต่ปัจจุบันเขาสามารถเลือกจัดความ Perfectionist ของตัวเองไว้กับงานเพลงแทนที่จะเข้ามาควบคุมเรื่องส่วนตัว 

 

“ผมอยากอยู่ในวงการนี้อีกนาน จึงเปลี่ยนความ Perfectionist ในทุกเรื่องมาใส่ในเพลงดีกว่า เพราะผมอยากควบคุมให้ศิลปะการทำเพลงนั้นออกมาดี ส่วนที่เหลือจะปลดปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลายบ้างเพราะเส้นทางศิลปินนี้ยังอีกยาว”

 

โอบรับความโกรธอย่างเข้าใจ

แต่ก่อนอารมณ์โกรธจะถูกมองในด้านลบ คนที่โกรธคือคนเกรี้ยวกราด แต่จริงๆ เราสามารถอยู่กับความโกรธได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อน เพราะอารมณ์โกรธกำลังสื่อสารกับตัวเราเองว่าตอนนี้กำลังอยู่สถานการณ์ที่ทำให้จิตใจไม่เป็นสุขหรือโดนล้ำเส้นอยู่รึเปล่า เขื่อน - ดนัย จึงแนะนำกับ น้องทิกเกอร์ ให้ใช้เวลานี้ทบทวนตัวเองและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นแทนที่จะข่มเอาไว้ 

“สำหรับผมความโกรธควรเก็บไว้ข้างใน เพราะการส่งพลังงานลบออกไปไม่เป็นผลดีกลับมา การอยู่กับความรู้สึกนี้ทำให้ได้คิดทบทวน หาที่มาและทางแก้ปัญหานี้ให้ได้นั้นมีประโยชน์ต่อตัวผมมากกว่า”

ไม่ง่ายที่เราจะเปิดใจกล้าพูดถึงช่วงเวลาที่เปราะบางของตัวเองออกมาในที่สาธารณะ ด้วยความไว้ใจระหว่างน้องทิกเกอร์และ เขื่อน - ดนัย ทำให้เราได้เห็นเขากล้าเปิดมุมส่วนตัวที่อาจเคยทำให้ไม่สบายใจนี้ออกมาได้พร้อมรอยยิ้มและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ต้องขอขอบคุณ ยำยำ คัพ ผู้ใหญ่ใจดีที่สนับสนุนความฝันของเด็กๆ และทำให้เราได้ฟังบทสนทนาดีๆ ในครั้งนี้