01 เม.ย. 2562 | 14:37 น.
“นิยายวิทยาศาสตร์มันก็จะฟังดูแบบนี้เหมือนหนังสือเรียนนะ แต่จริง ๆ มันอยู่กับเรามาตลอด โดราเอมอนก็ไซ-ไฟนะ คอปเตอร์ไม้ไผ่อะไรอย่างนี้ หนังฮอลลีวูดหนังที่ทำเงินเยอะที่สุดตลอดมาก็เป็นไซ-ไฟ หมดเลยนะ เช่น Star Wars, Star Trek, The Matrix, Men in Black ช่วงนี้ก็แบบพวก Avengers” คำว่า นิยายไซ-ไฟ (Sci-fi) หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ถูกพ่วงมาด้วยมายาคติชุดหนึ่ง ในวันที่ผู้อ่านยังไม่เปิดประตูเข้าหามัน ด้วยความคิดที่ว่าอ่านยาก เหมือนหนังสือเรียน แต่ในความเป็นจริง ไซ-ไฟ แฝงอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเรื่อยมาผ่านหนังสือ ซีรีส์ และภาพยนตร์ คนยุคหนึ่งชื่นชอบการเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบนโลกผ่านหนังอย่าง Back to the Future (1985) รู้จัก DNA อันเป็นที่มาของกำเนิดไดโนเสาร์ยุคใหม่ ผ่าน Jurassic Park (1993) หรืออาการการคลั่งไคล้สงครามจักรวาล Star Wars จากยุค 70 ถึงทุกวันนี้ ผู้คนในยุคนี้หลงใหลในวรรณกรรมหรือภาพยนตร์แนวดิสโทเปีย ที่โลกความจริงไม่น่าพิสมัยอีกต่อไปแล้ว ผ่านปรากฏการณ์หนังสือและภาพยนตร์อย่าง The Hunger Games (2012-2015) แสดงให้เห็นว่า ไซ-ไฟ ป๊อปมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ไซ-ไฟ ที่พาเราท่องโลกขนาดจิ๋วระดับ DNA และเคว้งคว้างในจักรวาลที่กว้างใหญ่ด้วยความหรรษา ... จากคนรักการอ่านนิยายไซ-ไฟ The People ของเรา-น้ำพราว สุวรรณมงคล ทำฝันตัวเองให้เป็นจริง ด้วยการตั้งสำนักพิมพ์โซลิส (Solis Books) เพื่อนำเสนอนิยายแปลไซ-ไฟ สนุก ๆ อย่างเช่น ชุดนิยายวิทยาศาสตร์ของ John Scalzi อย่าง โอลด์แมนส์วอร์ ปฐมบทสงครามข้ามเอกภพ, ลาสต์โคโลนี ที่มั่นสุดท้าย, โกสต์บริเกตส์ หน่วยพิเศษกองพลผี รวมถึงนิยายของ Octavia E. Butler อย่าง เมล็ดฝันวันสิ้นโลก นิยายไซ-ไฟ ป็อปในไทยหรือเปล่า? สังคมไทยที่มีพื้นฐานความเชื่ออีกแบบ ตอบรับนิยายวิทยาศาสตร์ในแบบไหน? คนทั่วโลกกำลังพูดถึงนิยาย ไซ- ไฟ แบบไหน? นี่คือบทสนทนากับหญิงสาว ผู้ที่หัวใจในโลกวรรณกรรม…เต็มไปด้วยคำว่า นิยายไซ-ไฟ The People: ตอนนี้ปรากฏการณ์นิยายไซ-ไฟ ระดับนานาชาติเขาพูดถึงอะไรกัน น้ำพราว: นิยายไซ-ไฟ ที่มาแรงมาก ๆ ในช่วงนี้จะเป็นไซ-ไฟ ที่มาจากแถบแอฟริกา เป็นแอฟริกัน ไซ-ไฟ ได้รางวัลเยอะเหมือนกัน กลุ่มผู้หญิงด้วย เรื่องเกี่ยวกับ LGBT ก็ทำแนวไซ-ไฟ ออกมาเยอะมาก คือไซ-ไฟ จะเป็นแนวที่จับประเด็นคนกลุ่มนี้เยอะมาก แล้วที่ฮ็อตสุด ๆ ก็น่าจะเป็นไซ-ไฟ ที่อิงการเมืองในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นความเห็นส่วนตัว เท่าที่อ่านมาจะเล่นกับประเด็นเช่นว่า ในโลกอนาคต อเมริกามีสงครามกลางเมือง ก็คือแบ่งไปเลยว่าฝ่ายไหนอยู่กับฝ่ายไหน เหมือนกับว่าเป็นอเมริกาที่ทำสงครามกันเองด้วยความแตกแยกในประเทศ คืออ่านแล้วจะรู้ได้เลยว่าเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วก็เรื่องที่อยากจะสร้างกำแพงกั้นอเมริกากับเม็กซิโก ก็มีคนเอามาเล่นในหนังสือไซ-ไฟ อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นกั้นกำแพงไว้เพื่อไม่ให้หลังจากที่โลกแตกมีคนที่อยากจะเข้าประเทศเราเข้ามา แต่พระเอกต้องไปอยู่บนกำแพงนี้แล้วคอยยิงมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อไม่ให้เข้ามาในประเทศได้ ถ้าเข้ามาทรัพยากรในประเทศก็จะหายไป เราจึงต้องกันคนพวกนี้ เซ็ตติ้งเรื่องก็จะเป็น ไซ-ไฟ เลยนะ มีปืนมีอะไรที่ทันสมัยขึ้นกว่าเดิม แต่หลัก ๆ แล้วคิดว่ามันก็จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ที่เขาเอามาเขียนในแง่ที่เป็นไซ-ไฟ The People: โดยทั่วไป ถ้าพูดถึงนิยายไซ-ไฟ เราจะนึกถึงนักเขียนอย่างไอแซค อาซิมอฟ หรืออาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก แต่ว่าตอนนี้มีนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าติดตามบ้างไหม น้ำพราว: มีนักเขียนของสำนักพิมพ์โซลิสเองที่ชอบมากเลย คือ John Scalzi ที่จริงก่อนหน้านี้เขาก็อยู่ในวงการมานาน เหมือนกับว่าเป็นคนที่เขียนเรื่องสั้นไซ-ไฟ มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ แต่ที่ชอบเพราะเขาเป็นคนที่สนใจเรื่องการเมืองด้วย วิธีการเขียนของเขาอ่านแล้วสนุกด้วย ตลกด้วย แต่ก็แทรกปรัชญาไซ-ไฟ ไว้ เขาเขียนหนังสือให้อ่านง่าย ๆ คือบางคนอาจจะมองว่าไซ-ไฟ น่าเบื่อ แต่บอกเลยว่าให้ลองอ่าน Scalzi สักเล่มหนึ่งจะไม่น่าเบื่อเลย The People: มีนักเขียนผู้หญิงที่น่าสนใจหรือว่าน่าติดตามในโลกของนิยายไซ-ไฟ หรือเปล่า เพราะบางทีเราไม่แน่ใจว่าในโลกของนิยายไซ-ไฟ มีพื้นที่สำหรับนักเรียนผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน น้ำพราว: โซลิสทำออกมาแล้วเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือของนักเขียนที่มีชื่อว่า Octavia E. Butler ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว จุดเด่นคือคุณ Butler เป็นนักเขียนผู้หญิงผิวสีที่เกิดในยุคที่พ่อแม่เขาเคยเกือบจะเป็นทาสมาก่อน คือเหมือนกับว่าคุณย่าคุณยายเป็นทาส พ่อแม่เป็นคนขัดรองเท้า แม่เป็นสาวใช้ แล้วทุกคนก็บอกเขาว่าไม่ต้องเรียนหนังสือหรอก เพราะว่าผู้หญิงผิวดำจะทำอะไรได้ แต่ตัวเขาสามารถเรียนหนังสือและเขียนหนังสือไปด้วย แล้วก็ตีพิมพ์หนังสือด้วย ตอนนี้เขาได้ไปมีชื่อใน Hall of fame เทียบเท่ากับนักเขียนที่เป็นผิวขาวเลยค่ะ คือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในยุคที่เวลาพูดถึงนักเขียนไซ-ไฟ แล้วจะนึกถึงผู้ชายผิวขาว แต่ผู้หญิงคนนี้เป็นผู้หญิงผิวดำซึ่งเกิดในยุคที่ยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้ และเขาสามารถที่จะเขียนเรื่องดี ๆ ออกมาได้ ก็เลยประทับใจคนนี้เป็นพิเศษค่ะ The People: ในโลกของนิยายไซ-ไฟ มีประเด็นเรื่องเพศที่น่าสนใจเยอะเหมือนกัน? น้ำพราว: เหตุผลที่เรารักไซ-ไฟ เพราะเรารู้สึกว่าทุกสิ่งมันเกิดขึ้นได้ ถ้าจำไม่ผิดนะคะ ครั้งแรกที่เคยมีฉากไซ-ไฟ ในแง่ที่เป็น pop culture ฉากคู่แต่งงานที่เป็นเพศเดียวกันปรากฏอยู่ในสื่อทีวี รู้สึกว่าจะมาจากเรื่อง Star Trek คือในยุคที่สิ่งพวกนี้ยังไม่มีคนยอมรับ แต่ในโลกของไซ-ไฟ มันเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นการคิดโจทย์ออกมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เป็นการตั้งคำถาม เช่น เราสามารถโคลนนิงตัวเองออกมาได้อย่างไร คือสมัยก่อนอาจจะเริ่มต้นจากผู้หญิงกับผู้หญิงแต่งงานกันได้ไหม หรืออาจจะเป็นคนมนุษย์ต่างดาวก็ได้นะ แค่นั้น คือถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่นะ เลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนชอบไซ-ไฟ เยอะ จริง ๆ ผู้หญิงชอบไซ-ไฟ เยอะมาก เพราะว่าคนที่ชอบ Star Wars, Star Trek นึกภาพในสมัยที่เรียกว่าผู้หญิงทำอาชีพได้แค่เป็นเลขาฯ แต่เวลาที่เราอ่านหนังสือหรือว่าดูสื่อทีวี ดูหนัง เราจะได้เห็นผู้หญิงที่เป็นกัปตันเรือ ผู้หญิงขับยานอวกาศ คือมันเกิดขึ้นมาในยุคที่ในชีวิตจริงผู้หญิงอาจจะยังทำไม่ได้อย่างนั้น แต่ในโลกของไซ-ไฟ ผู้หญิงทำได้แล้ว The People: นิยายไซ-ไฟ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกแตกต่างกันไหม ปรัชญาที่แตกต่างกันของทั้งสองฝั่ง มีผลต่อการเขียนนิยายหรือเปล่า น้ำพราว: เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้นหรอกนะคะ ถ้าเป็นไซ-ไฟ ปรัชญาที่พูดถึงเรื่องจิตวิญญาณของคน อย่างเช่น เราโคลนนิงคนขึ้นมา คนคนนั้นมีจิตวิญญาณไหม หรือว่า AI มีชีวิตจิตใจเหมือนเราไหม อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นทั้งตะวันออกตะวันตกนะ แต่ว่าก็จะมีอะไรที่เหมาะกับตอนนี้มาก เพราะว่ามีนักเขียนไซ-ไฟ ที่เป็นเอเชียน-อเมริกัน เป็นคนทางฝั่งมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เป็นนักเขียนที่ไปดังในอเมริกาเลย เขาก็จะสอดแทรกเรื่องราววัฒนธรรมฝั่งเอเชียเข้าไปด้วย นึกภาพแบบ Star Wars เขาจะแทรกวัฒนธรรมเกาหลีเข้าไป คนนี้เป็นเจไดหรือคนนี้เป็นคนธรรมดา เขาก็จะบอกว่าคนนี้เป็นคล้าย ๆ ผู้ใหญ่ของเผ่า คนนี้เป็นญาติที่เป็นรุ่นน้อง และมีพิธีกรรมอะไรต่อกัน ซึ่งวิธีคิดแบบเอเชียมันเหมือนกับนิยายสมัยโบราณของเกาหลีที่มีหัวหน้าครอบครัว ทุกคนก็ต้องเชื่อฟังคนนี้นะ เราเป็นลูกหลานเขา คือเขาแทรกสิ่งพวกนี้เข้ามาในเรื่องไซ-ไฟ ให้มันเปิดกว้างมากขึ้น The People: ภาพรวมนิยายไซ-ไฟ ในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง คนอ่านตอบรับแบบไหน น้ำพราว: ปีนี้เป็นปีทองของไซ-ไฟ ไทย เพราะนอกจากโซลิสแล้วยังมีหลายสำนักพิมพ์ที่กำลังทำนิยายไซ-ไฟ คือต้องพูดว่าไซ-ไฟ ไม่ได้หายไปจากเมืองไทย มันมีมาเรื่อย ๆ แต่อาจจะไม่ได้ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นไซ-ไฟ เช่น The Hunger Games และ Divergent ที่เป็นหนังสือ young adult ที่มันมีหนังที่ดัง ๆ ออกมาแล้วก็มีหนังสือแปลออกมา จริง ๆ มันเป็นไซ-ไฟ อยู่ตลอดนะ The People: กลุ่มคนอ่านนิยายไซ-ไฟ ในบ้านเราเป็นคนกลุ่มไหน น้ำพราว: ถ้าใช้คำของเมื่อก่อนก็คือ นิยายวิทยาศาสตร์ มันก็จะฟังดูแบบนี้ เหมือนหนังสือเรียนนะ แต่จริงๆ มันอยู่กับเรามาตลอด ในหนัง ในเกมที่เล่น ในการ์ตูน ใครชอบอ่านการ์ตูนเมื่อก่อนโดราเอมอนก็ไซ-ไฟนะ คอปเตอร์ไม้ไผ่อะไรอย่างนี้ มันอยู่รอบตัวเราตลอด แต่ว่าเราอาจจะยังไม่คิดว่ามันเป็นไซ-ไฟ เท่านั้นเอง พอมาถึงตอนนี้ที่มันเป็นหนังสือ มันเข้าถึงได้ง่าย หนังฮอลลีวูดหนังที่ทำเงินเยอะที่สุดตลอดมาในประวัติศาสตร์เป็นไซ-ไฟ หมดเลยนะ เช่น Star Wars, Star Trek, The Matrix, Men in Black ช่วงนี้ก็พวก Avengers ไอออนแมนมีชุดสูทมันก็คือไซ-ไฟ แบบทุกคนก็คุ้นเคยกับไซ-ไฟ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้อยู่ในรูปแบบหนังสือเท่านั้นเอง The People: ทำไมสำนักพิมพ์เราถึงเลือกทำนิยายไซ-ไฟ เริ่มต้นมาจากอะไร น้ำพราว: สารภาพเลยว่าความรู้เรื่องนี้น้อยมาก วันดีคืนดีก็แบบว่าแก่แล้วเนาะ ฉันต้องทำก่อนที่ฉันจะแก่ไปกว่านี้ ชอบอ่านหนังสือมาตลอดก็เลยอยากจะทำงานหนังสืออยู่แล้ว พอมีอยู่วันหนึ่งมาคิดว่าหนังสือที่ชอบมากคือแนวไหน ก็จับมารวมกันทำแนวไซ- ไฟ เอามาอย่างเดียวเลย ตอนนั้นก็มีคนถามเหมือนกันนะว่าคิดยังไงจะทำนิยายไซ-ไฟ จะขายได้หรือเปล่า แต่ส่วนตัวคิดว่า ไซ-ไฟ มันมาทุกรูปแบบอยู่แล้ว ขาดแต่รูปแบบหนังสือที่ยังไม่พบ มันเป็นกลุ่มเฉพาะที่เราน่าจะเข้ามา เริ่มต้นจริง ๆ ก็น่าจะสัก 2 ปีก่อน โชคดีที่มีเพื่อน ๆ ในวงการช่วยสนับสนุน มีคนแนะนำให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ ก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ครั้งแรกเคยไปงานหนังสือแฟรงค์เฟิร์ต เข้าไปงานก็ต้องคุยกับเอเยนซีใหญ่ ๆ ก็เข้าใจว่าเราเป็นหน้าใหม่ในวงการจริง ๆ ก็สนุกนะ เป็นเรื่องที่เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ The People: สังคมแบบไหนที่คนจะรักนิยายวิทยาศาสตร์ น้ำพราว: จริง ๆ ทุกสังคมก็รักนะ ถ้าเกิดเราไม่พูดคำว่า ไซ- ไฟ ในแง่คำว่าหนังสืออย่างเดียว คือทุกคนก็จะอยากดู ตอนนี้มีหนังอะไรนะ Alita Battle Angel คนชอบอยู่แล้ว สังคมปัจจุบันเหมือนกับว่ายิ่งเด็กรุ่นใหม่เขาจะยิ่งชอบไซ-ไฟ สังเกตว่ารุ่นหลังมีคนถกเถียงกันว่าทำไมไซ-ไฟ ที่เรียกว่า ดิสโทเปีย (Dystopia - แนวนิยาย ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยสังคมที่เต็มไปด้วยความเลวร้ายมากมาย) แบบ The Hunger Games มันถึงดัง เหมือนกับว่าคนยุคใหม่เขาเริ่มไม่มั่นใจกับเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้ไซ-ไฟ แบบดิสโทเปียมันเข้ากับเขามากกว่า ทำไม The Hunger Games ต้องเอาเด็กวัยรุ่นไปฆ่ากันเพื่อความบันเทิงอะไรแบบนี้ หรือ Elysium ทำไมคนรวยได้อยู่ในโลกข้างบน คนจนอยู่ข้างล่าง แล้วคนรวยก็มีสิทธิ์การรักษาโรคทุกอย่าง ในขณะที่คนจนไม่มี ระยะหลังจะเป็นแนวนี้เยอะมาก ก็คิดว่ามันเข้ากับคนรุ่นนี้ ซึ่งก็ไม่แน่นะคะ ในอนาคตต่อไปถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นมาอาจจะมีขึ้นมาใหม่ที่ว่าสังคมอาจจะดีขึ้น The People: นิยายไซ-ไฟ มันทำงานในสังคมความเชื่อแบบไทย ๆ อย่างไร น้ำพราว: จริง ๆ มันก็เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกันนะ อย่างเมืองนอก คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คน ก็นับถือพระเจ้านะคะ แล้วทำไมเราพูดถึงคนไทยจะต้องมาคิดว่าคนไทยจะต้องไปไหว้ขอหวยไปขูดต้นกล้วยอะไรแบบนี้ เราก็ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกัน เราคิดว่าฝรั่งเขาฉลาดกว่าเรา แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเขาก็ยังถกเถียงกันไม่ได้ว่าพระเจ้ามีจริงไหม คือมันก็เป็นประเด็นที่พูดยาก มันก็คือความเชื่อ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะคะ อาจจะต้องจัดเสวนาสักครั้งหนึ่งเอาหลาย ๆ สำนักพิมพ์มาคุยกันว่าวิทยาศาสตร์ พระเจ้า ศาสนา มันเกี่ยวข้องกันอย่างไร The People: คนที่ชอบดูดวง หรือชอบซื้อหวย เขาก็อาจจะชอบอ่านไซ-ไฟ ก็ได้? น้ำพราว: อันนี้คิดจริง ๆ ก็เหมือนว่าคนไทยพูดอย่างนี้ เหมือนด่าคนไทยว่าทำไมไปขูดหวย ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์เหรอ แต่ในขณะเดียวกันที่อเมริกาก็มีคนที่เชื่อ Flat Earth อยู่ ยังมีคนพยายามจะพิสูจน์ทฤษฎีโลกแบน หรือมีคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนลูก อันนี้เราก็แบบว่าฉันอ่านไซ-ไฟ แล้วฉันก็เชื่อพระเจ้านะ วันก่อนไปคุยกับอาจารย์ยรรยง เต็งอำนวย ที่เป็นคนแปลหนังสือ บุรุษปราสาทฟ้า (The Man in the High Castle นิยายไซ-ไฟ งานเขียนของ Philip K. Dick) เขาก็ยังบอกเลยว่า บางคนเขาก็คิดจริง ๆ ว่ามันเรียก intelligent design คือทุกอย่างที่จะประกอบกัน ทุกโมเลกุลไม่มีสิทธิ์บังเอิญได้ขนาดนั้น และด้านวิทยาศาสตร์มันจะต้องมีอะไรจับมารวมกันจนเป็นมนุษย์ที่มี 5 นิ้ว เขาก็เลยบอกว่าพระเจ้ามีจริง ก็มีคนคิดแบบนี้จริง ๆ นะ แล้วก็เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย เหมือนเขาเถียงกันเองไง คือมันพูดกันเท่าไหร่ก็มีที่แบบว่าพระเจ้าจะมีจริงได้อย่างไร จริงหรือเปล่าพระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน แล้วถ้าพระเจ้าสร้างโลก แล้วไอ้ดาวข้างนอก ยูเรนัส ดาวศุกร์ ดาวเสาร์อะไรอย่างนี้ ใครสร้าง ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวจริง ๆ ใครสร้างมัน แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า เขาเรียนวิทยาศาสตร์มา แต่ว่ามันจะเชื่อได้อย่างนี้เลยเหรอ มันจะบังเอิญสร้างต้นไม้ สร้างอะไรอย่างนี้ได้เลยเหรอ มีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า จะต้องมีอะไรที่เป็นมากกว่าหรือเหนือกว่ากฎทางฟิสิกส์หรือเปล่า The People: คิดอย่างไรกับกับสถานการณ์ disruption ที่คนอ่านสื่อกระดาษน้อยลง แล้วย้ายไปออนไลน์กันแล้ว น้ำพราว: เรามองว่ามันเป็นคนละตลาดกัน เหมือนกับว่าหนังสือเขาก็มีตลาดของเขาอยู่ อย่างเช่นดูง่าย ๆ สมมติว่าสำนักพิมพ์ไหนก็ตามที่ประกาศทำลิขสิทธิ์เล่มไหนออกมา คนก็จะไปดูว่าเล่มปกสวยไหมอย่างนู้นอย่างนี้ จะเป็นกลุ่มคนที่ต้องการหนังสือที่สามารถลูบคลำในมือได้ เคยเห็นคนที่ชอบ Harry Potter นะ เคยมีฉบับ edition เก่า พอมีคนออก edition ใหม่เขาก็สะสมอีก ที่ว่าหนังสือเล่มยังไงก็ยังอยู่ แต่ถ้าวันไหนที่อยู่ไม่ได้จริง ๆ เราก็คงต้องปรับตัวให้ไปอยู่ในทางออนไลน์เหมือนกัน The People: บ้านเรามีนักเขียนนิยายหรือวรรณกรรมไซ-ไฟ เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน น้ำพราว: มีนะคะ แต่ว่ามันก็เป็นปัญหาหลัก ๆ คือต้องสารภาพเลยว่ามีคนส่งต้นฉบับมาให้โซลิสอ่าน แต่ด้วยความที่เรายังเป็นสำนักพิมพ์เล็กอยู่ เราก็ต้องขอโทษไปว่าตอนนี้เราอาจจะทำหนังสือแปลก่อน แต่สักวันหนึ่งถ้าเรามั่นคงแล้วก็อยากจะทำไซ- ไฟ ของไทยเหมือนกัน The People: ความชอบในการอ่านนิยายไซ- ไฟ มีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยไหม น้ำพราว: ก็มาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย ความจริงแล้วเริ่มจากการชอบดูนิยายสยองขวัญตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบเอเลียนมาก ตั้งแต่ดูเรื่องนั้นก็เริ่มสนใจแล้วก็อยากรู้ว่าอวกาศมันลึกลับ น่าสนใจ น่าตื่นเต้นแค่ไหน ช่วงนั้นก็จะเริ่มสนใจ Jurassic World เทคโนโลยีในหนังแทบจะเป็นไซ-ไฟ เรื่องแรกเลยที่ทำให้คนรู้จักเรื่อง DNA ก็จะเริ่มจากจุดนั้นก่อน จากนั้นนอกจาก DNA มันมีไปนอกโลกอีก เราก็เริ่มสนใจแล้วก็อ่านไปเรื่อย ๆ กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นป้าแว่นไปแล้ว The People: การอ่านนิยายไซ-ไฟ ให้อะไรกับเรา น้ำพราว: คือมันเปิดโลกเพราะว่า ป้าแว่นเจ้าสำนัก (ผู้ถูกสัมภาษณ์เรียกตัวเอง) เป็นเด็กสายศิลป์ คือไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์มาเลย บางทีก็งงตัวเองว่าฉันไปอยู่กับไซ-ไฟ ได้อย่างไร แต่มันมีอะไรที่มากกว่านั้น มันเหมือนกับว่ามันทำให้เราได้คิดไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น ล่าสุดที่กำลังจะออกหนังสืออีกเล่ม เนื้อหาก็จะมีคำถามอย่างเช่น สมมติว่าพ่อแม่ลูกในอนาคต เราสามารถคลอดลูกโดยที่มีมดลูกเทียม เราก็เอาลูกไปอยู่ในมดลูกเทียม แล้วเวลาลูกคลอดออกมาจะให้ความรู้สึกผูกพันเหมือนกันหรือเปล่า มันมีหลายประเด็นนะในหนังสือ เช่น การตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าในอนาคตอีกร้อยปีพันปีรัฐบาลจะเป็นอย่างไร อาจจะไม่ใช่รัฐบาลแบบนี้นะ ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง รัฐบาลเป็นบริษัท คือเราอยู่ในโลกที่เราเป็นฟันเฟืองหนึ่ง หน้าที่ของเราคือเป็นพนักงาน แล้วสิ่งที่หมุนโลกรัฐบาลของเราก็คือการทำเงิน ก็เป็นปมหนึ่งที่ไซ-ไฟ เล่นเรื่องนี้เยอะมาก คือแบบมันน่าสนใจนะมันอาจจะเกิดขึ้นได้อีกไม่นานก็ได้