สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สำคัญ นั่นคือการท่องเที่ยว ที่มีผลต่อสัดส่วน GDP ถึง 18% ในปี 2562 กรุงเทพฯ ติดอันดับ 4 เมืองท่องเที่ยวที่ถูกค้นหามากที่สุดในโลกทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เห็นได้จากจำนวนเที่ยวบินที่สูงถึง 1.07 ล้านเที่ยวบินต่อปี ติดในระดับต้นๆ และคาดว่าจะไต่ระดับมาถึง 1 ใน 10 ของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะองค์กรกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนากิจการการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานสากล พร้อมทะยานสู่อนาคต ยกระดับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยให้เป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ

เมื่อวาน-วันนี้-พรุ่งนี้ ของประเทศไทยกับอุตสาหกรรมการบิน

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เริ่มมีกิจการด้านการบินเกิดขึ้น นับย้อนได้ตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

กระทั่งในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราค่าเฉลี่ยของภูมิภาค และในบางปีมีอัตราการเติบโตถึงราว 15%

 

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

 

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2562 ก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีเที่ยวบินเกินกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน ด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและปัจจัยบวกหลายด้านของไทย ทำให้สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะมีขนาดของตลาดการขนส่งทางอากาศเมื่อเทียบกับจํานวนผู้โดยสารไต่ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก คิดเป็นจำนวนเที่ยวบินประมาณ 3 ล้านเที่ยวต่อปี

ในช่วงเดียวกันนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำด้านการบินอันดับ 1 โดยชาติมหาอำนาจอย่างจีนจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นตลาดการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินเดียขยับจากอันดับ 7 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และอินโดนีเซียจากอันดับ 10 ขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ปัจจัยบวกภายในของไทยเองประกอบกับการเติบโตด้านการบินของโลกที่ย้ายฝั่งมาทางเอเชียและอาเซียน ทำให้ประเทศไทยได้แรงเสริมเพิ่มขึ้นจนคาดกันว่าในสิบปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีปริมาณเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารสูงกว่าประเทศแห่งการท่องเที่ยวสำคัญ ๆ อย่าง ฝรั่งเศส หรือ อิตาลี ได้

“สิ่งที่ CAAT ต้องวางกลยุทธ์และแนวทางการเตรียมความพร้อมในระยะยาว คือการเพิ่ม Capacity หรือความสามารถในการรองรับของระบบการบินของประเทศให้เพียงพอกับแนวโน้มการเติบโต และการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการบินให้เอื้อต่อการขยายตัว ส่วนในระยะสั้นคือการแก้ปัญหาด้านซัพพลายที่หายไป เช่น เครื่องบินที่เคยใช้งานช่วงก่อนโควิดเนื่องจากการถูกจอดทิ้งหรือการจําหน่ายถ่ายโอนออกไปจำนวนมาก รวมทั้งบุคลากร นักบิน ลูกเรือ หรือ สตาฟ และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่หายไป ให้กลับสู่ระบบการบินของประเทศโดยเร็วที่สุด  นี่จึงกลายเป็นกรอบแนวคิดการทํางานของสํานักงานในวันนี้” สุทธิพงษ์กล่าว

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

จากกรมการบินพลเรือน สู่ CAAT

The Civil Aviation Authority of Thailand (CAAT อ่านว่า ซีเอเอที) หรือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งแต่เดิม หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย คือ กรมการบินพลเรือน 

การจัดตั้ง CAAT เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานเพิ่มขึ้น สามารถจัดหาพนักงานได้อย่างมีอิสระมากขึ้น รวมทั้งสามารถแก้ปัญหาด้านการบินได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนขึ้น

“CAAT เป็นหน่วยงานของรัฐที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงไม่ใช่ทั้งหน่วยงานราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และบทบาทหน้าที่ของเราไม่ใช่แค่การตรวจสอบ หรือกำกับดูแลด้านอุตสาหกรรมการบิน แต่เรายังมีภารกิจในการยกระดับการเดินทางทางอากาศอีกด้วยครับ” ผู้อำนวยการ CAAT กล่าว

หากอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน ถึงขอบเขตงานของ CAAT คือการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย มาตรฐานคุณภาพและการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและผู้ดำเนินการในอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ เช่น สนามบิน สายการบิน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ สถาบันการศึกษา โรงเรียนการบิน และ ผู้ทำงานทางอากาศทั้งหมด เป็นต้น ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบการทำงานของ Ground Staff การตรวจสอบและรับจดทะเบียนเครื่องบิน ก่อนที่สายการบินจะทำการบินได้จะต้องมีใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) รวมถึงการออกใบอนุญาตให้นักบินด้วย

ทั้งหมดนี้คือการดำเนินงานเพื่อพัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน มีการรักษาและพัฒนาระบบการกำกับดูแลที่เป็นธรรมและเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงมีการติดตามและปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาองค์กร บุคลากรและระบบงานสนับสนุนด้วย

 

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก สำนักงานใหม่ CAAT ถนนวิภาวดีรังสิต

 

ห้วงอากาศ ห้วงแห่งอนาคต

แม้ว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องใช้เวลาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่สำหรับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวนับตั้งแต่ปี 2565 มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 75.82 ล้านคน คิดเป็นการฟื้นตัวนับจากปี 2562 ถึง 45.9%

โจทย์ที่เป็นความท้าทาย คือ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนเที่ยวบินของประเทศไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้ สิ่งที่ CAAT ต้องทำคือการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาห้วงอากาศ (Air Space) ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการบิน แต่ที่ผ่านมาห้วงอากาศของประเทศไทยยังมีข้อจำกัด ในแง่ของการบริหารจัดการและการเพิ่มช่วงเวลาการบิน  ซึ่งเป็นวาระที่ต้องทำเร่งด่วน

หลายคนอาจมองว่าท้องฟ้ากว้างใหญ่ การเดินทางทางอากาศ จะปรับเพิ่มเส้นทางบินอย่างไรก็ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสำหรับอุตสาหกรรมการบิน มีการกำหนดห้วงอากาศที่ถูกใช้งานแบบเฉพาะเจาะจง ทั้งเส้นทางสำหรับการบินของพลเรือน และสำหรับความมั่นคงที่ต้องวางแผนร่วมกัน

“เราบอกว่าต้องการเพิ่มความสามารถรองรับการเดินทางทางอากาศ ส่วนมากอาจจะเข้าใจกันว่าต้องสร้างสนามบินเพิ่ม แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดครับ เพราะเครื่องบินก็มีเส้นทางบิน เหมือนรถยนต์ที่ต้องวิ่งบนถนน เราต้องเพิ่มศักยภาพการใช้ห้วงอากาศให้เต็มที่ เปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนถนนสวนเลน ก็ขยายให้เป็นถนนคู่ขนาน 4 เลน  8 เลน รถก็วิ่งได้มากขึ้น เส้นทางการบินก็เช่นกัน เรื่องนี้ยากนะครับ แต่ถามว่าต้องทําไหม ต้องทํา” สุทธิพงษ์กล่าว

CAAT ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบการพัฒนาห้วงอากาศ เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานหลักที่มีขีดความสามารถในการรองรับมากขึ้น สามารถนำไปจัดสรรตารางการบินและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการภาคพื้นดินได้เพียงพอสำหรับรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการจัดการเส้นทางบินเพื่อให้เครื่องบินมีพื้นที่ปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น สามารถหลบหลีกกันได้อย่างสะดวกปลอดภัย รองรับระบบเส้นทางบินในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการเดินหน้าพัฒนาห้วงอากาศ มีการร่วมทำงานกับกองทัพเพื่อขอใช้ห้วงอากาศเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในบางช่วงหากไม่มีกิจกรรมการบินของกองทัพ รวมถึงภาคเอกชน ทั้งสายการบิน และผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมมือกันด้วย

แนวคิด Flexible Use of Airspace (FUA) จึงเกิดขึ้น นั่นคือการใช้ห้วงอากาศแบบยืดหยุ่น และมีความคล่องตัว หลักการคือไม่แบ่งห้วงอากาศตายตัวให้เป็นของทหารหรือพลเรือนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการใช้และบริหารจัดการห้วงอากาศซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก ศูนย์บริการประชาชน CAAT สำนักงานใหม่ ชั้น 7 ออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่

 

พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน = พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อถามถึงผลลัพท์ที่ชัดเจนหากแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยทำได้สำเร็จ สุทธิพงษ์ตอบได้ในทันทีว่า ในเชิงเศรษฐกิจ ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดัก Middle Income Trap หรือกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญคือ รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวมีที่มาจากการขนส่งทางอากาศประมาณ 90% การจะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อให้คนไทยพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง นั่นหมายถึงระบบขนส่งทางอากาศต้องเติบโตตามไปด้วย

“ในปี 2562 เรามีผู้โดยสารต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 40 ล้านคนนะครับ เส้นทางการบินภายในประเทศที่รับช่วงต่อ ทำให้เกิดเที่ยวบินเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งล้านเจ็ดหมื่นเที่ยวบิน ทำรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเราอยากเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวขึ้น 3-4 เท่า นั่นหมายถึงเราจะต้องมีเที่ยวบิน 3-4 ล้านเที่ยวต่อปี จากที่เราเคยทำได้สูงสุด 1 ล้านเที่ยวต่อปี”

และรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มก้อนอุตสาหกรรมการบินเท่านั้น แต่ยังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า Visitor Economy อีกด้วย 

 

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก ห้องทดสอบและประเมินความสามารถผู้ประจำหน้าที่

 

สู่องค์กร Work Place Of Choice

ประเด็นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้อาจเป็นความท้าทายของภารกิจงานหลักที่องค์กรต้องทำให้สำเร็จ แต่สำหรับ CAAT ยังมีแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) นั่นคือการพัฒนาด้านประสิทธิภาพและการพัฒนาองค์กร เพื่อให้ CAAT เป็น “Work Place Of Choice” สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานและดูแลบุคลากรด้วยสวัสดิการที่ดี ในบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข 

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก

 

“งานด้านการบินก็มีเสน่ห์สําหรับคนที่สนใจ และที่สําคัญคือการได้พัฒนาขับเคลื่อนในระดับแม็คโคร ระดับโลก ทํางานแบบอินเตอร์เนชั่นแนล และยังมีผลลัพธ์ที่ทำประโยชน์ต่อประเทศสูงมาก”

เช่นเดียวกับตัวเขาเอง ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการผลักดันภารกิจหลายด้านที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบินให้สำเร็จ โดยเริ่มหลงไหลในงานด้านนี้ นับตั้งแต่การได้เข้ามาทำงานด้านการควบคุมจราจรทางอากาศ สู่สายผู้บริหารรวมกว่า 30 ปี กับงานที่ยิ่งทำ ยิ่งรู้สึกมีความท้าทายใหม่ๆเสมอ  

สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกล่าวถึงหลักคิดการทำงานของเขาไว้ว่า..

“ผมอยากให้ระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศแข็งแรงนะครับ เท่ากับเราได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทําให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การเดินทางปลอดภัย มีราคาที่เหมาะสม เข้าถึงได้ง่าย เชื่อมโยงไปที่ยุทธศาสตร์ชาติเกือบทุกเรื่อง มันเป็นสิ่งที่ทําให้ความฝัน ความหวัง ที่ประเทศจะประสบความสำเร็จด้านต่าง ๆ เป็นจริงได้”

 

สุทธิพงษ์ คงพูล ยุคใหม่ของ CAAT พัฒนาอุตสาหกรรมการบินไทยติดระดับท็อปของโลก