เพิ่ม Thepeople
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
18 ม.ค. 2562 | 15:19 น.
"ผมเป็นคนคิดอะไรแล้วคิดใหญ่ ไม่ใช่ทะเยอทะยาน แต่เห็นอะไรในเรื่องที่อยากให้มี impact เกิดประโยชน์ใหญ่ๆ ก็อยากทำ” ในวันที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กต่างคึกคัก บรรดาผู้สมัครต่างลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง The People สนทนากับ ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง นักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้เขาคือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พื้นที่ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ ในกรุงเทพมหานคร แม้จะเป็นคนหน้าใหม่ในสายการเมือง แต่ในแวดวงธุรกิจ เขาคือหนึ่งในทายาทครอบครัว “โตทับเที่ยง” ที่ทำธุรกิจปลากระป๋องตรา “ปุ้มปุ้ย” และเข้าไปช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กิจการตั้งแต่ปี 2544 โดยเฉพาะด้านตลาดต่างประเทศ กระทั่งสิบกว่าปีให้หลังก็เกิดจุดพลิกผันเมื่อเกิดข้อพิพาทในธุรกิจครอบครัว กลายเป็นประตูบานใหม่ให้ ดร.ไกรเสริม เพิ่มบทบาทให้ตัวเองอีกหนึ่งอย่างคือการก้าวเข้าไปชิมลางทำงานกับหน่วยงานภาครัฐด้านการส่งเสริมนวัตกรรม ล่าสุด เขาท้าทายขีดความสามารถของตัวเองอีกขั้น ด้วยการขออาสาเข้ามาทำงานการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาย้ำว่า "คงเสียดายถ้าไม่ได้เข้ามาทำ"
The People : ความรับรู้ของคุณที่มีต่อคำว่า “นักการเมือง” ก่อนเข้ามาอยู่จุดนี้? ไกรเสริม : เป็นมุมมองที่อยู่ในแต่ละช่วงเวลามากกว่า อย่างย้อนไปสมัยผมเด็กๆ ตอนอายุ 10 กว่าขวบ เป็นยุคพฤษภาทมิฬ เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเยอะแยะมากมาย นักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่มีบทบาทสำคัญ สมัยนั้นมองว่าบ้านเมืองเดินหน้าด้วยคนเหล่านี้ ฉะนั้นเราก็จะมองว่าเป็นคนดี เป็นคนที่เราไว้ใจ ถัดมาเราได้สัมผัสระบบบริหารราชการ สัมผัสกับหลายคนที่เกี่ยวข้อง ก็พบว่ากลไกที่ขับเคลื่อนไม่ได้เกี่ยวข้องแค่นักการเมือง แต่เป็นระบบ องค์กร คนทำงานหลายๆ ระดับต่างหากที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน ฉะนั้นผมมองว่าเราไม่ต้องไป judge ไปตัดสินนักการเมืองว่าเขาเป็นคนยังไง หรือมีความรับรู้ว่านักการเมืองเป็นคนโกง เป็นคนสกปรก เป็นคนน่าเกลียดน่ากลัว แต่มองว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่คิดว่าเขาอยากเข้ามานำเสนอแนวทางต่างๆ ในการทำให้ประเทศเดินหน้า ก็สุดแล้วแต่ว่ากลุ่มบุคคลไหน แนวคิดแบบไหนที่ประชาชนให้การยอมรับไว้ใจ The People : เปลี่ยนตัวเองเยอะไหมจากทำธุรกิจแล้วเข้าสู่แวดวงการเมือง ทั้งที่ไม่ได้คลุกคลีมาก่อน ไกรเสริม : เป็นจังหวะและโอกาสช่วงที่ปุ้มปุ้ยมีปัญหา ราวๆ ปี 2557-2558 ตอนนั้นต้องมาแก้ปัญหาองค์กร แต่ด้านหนึ่งก็ต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ ผมก็ปรึกษาผู้ใหญ่ช่วงนั้น ผมศึกษาด้านนวัตกรรม ทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐอยู่หลายโครงการ เปิดโอกาสให้ได้ขับเคลื่อนและทำงานอยู่เยอะ เลยเห็นจังหวะการบริหารราชการหลายอย่าง ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบคัน คือคิดคัน ทำไมไม่ทำอย่างงั้นอย่างงี้ เลยคิดว่าการนำเสนอเรื่องต่างๆ ถ้าหากทำได้จริงก็น่าจะดี แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเป็นผู้แทนให้ได้ มองว่าตัวเองอยากทำงานมากกว่า ผมเป็นคนคิดอะไรแล้วคิดใหญ่ ไม่ใช่ทะเยอทะยาน แต่เห็นอะไรในเรื่องที่อยากให้มี impact (ผลกระทบ) เกิดประโยชน์ใหญ่ๆ ก็อยากทำ เพราะฉะนั้นเวลามองภาพก็จะมองว่าประเทศเราน่าจะมีอะไร สังคมเราน่าจะมีอะไร แต่จริงๆ พื้นฐานผมสนใจการเมืองอยู่แล้วเป็นทุน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเติบโตมาในสังคม ใกล้ชิดกับสิ่งที่เราเห็น เราทำธุรกิจก็สัมผัสกับคนหลากหลาย อย่างสมัยก่อนตอนทำธุรกิจปุ้มปุ้ย ผมต้องไปกับเซลส์ทั่วภูมิภาค เลยเห็นคนเยอะ เห็นความเป็นอยู่ของเขา เห็นคนขายของ เห็นชาวไร่ชาวนาที่เป็นลูกค้า เลยมีมุมมองที่อยากจะเห็นว่าเขามีปัญหาอะไร นี่คือสิ่งที่ทำให้คิดว่าถ้าเข้าไปมีส่วนขับเคลื่อนได้ก็คงดี เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเยอะอะไร The People : คิดใหญ่ แต่ถ้าไม่มีความทะเยอทะยาน ความสำเร็จก็อาจไม่เกิด? ไกรเสริม : ไม่ใช่ทะเยอทะยาน เพราะการเข้ามาตรงนี้คือการอาสา การเสียสละ ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องทะเยอทะยานที่จะมีอะไร สมมติว่าสอบผ่านได้รับการยอมรับหรือคัดเลือก ก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีอำนาจมากกว่าคนอื่น มันคือการที่ทำให้เขาเข้าใจว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มาช่วยขับเคลื่อนหรือเป็นตัวแทนเขาได้ การที่เข้ามาตรงนี้ไม่ใช่ความทะเยอทะยาน แต่จุดหนึ่งที่ทำให้ต้องเข้ามาเพราะปีที่ผ่านมา (2561) ผมอายุ 40 ผมมีครอบครัว แล้วเป็นความโชคดีที่ผมได้รับโอกาสและการศึกษาที่ดี แต่เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไง ขนาดวันนี้ยังแตกต่างจากที่เคยสัมผัสเมื่อก่อน อนาคตอาจมีปัญหาต่างๆ เยอะแยะเต็มไปหมด สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ทำให้คิดว่าถ้าอยากให้สังคมดี เราควรเริ่มเมื่อไหร่ มันอาจสายแล้วด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างให้ประเทศที่เราโตขึ้นมา เราไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่วันนี้ทำอะไรได้ก็อยากทำ
The People : การไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อนเป็นข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร ไกรเสริม : ผมว่าวันนี้เป็นจุดแข็งส่วนหนึ่ง เพราะทำให้ไม่ไปเห็นข้อจำกัดอะไรเดิมๆ อย่างที่นักการเมืองเคยเห็น ซึ่งบางทีเขาติดกับข้อจำกัดบางอย่าง ถ้าเป็นคนที่อยู่ในวังวนแบบเดิมๆ ก็คงจะคิดอะไรไม่ต่างจากสิ่งที่เคยมี ขณะเดียวกันผมมองว่ามันเป็นจังหวะและโอกาสหลายเรื่อง เทคโนโลยีใหม่ๆ การสื่อสารอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกเราเยอะมาก วันนี้ผมเข้ามาในบทบาทนี้ก็ไม่ได้มองตัวเองเป็นนักการเมือง แต่อยู่ในบทบาทของระบอบที่ต้องมีพรรคการเมือง ก็ทำหน้าที่อยู่ในนั้น ผมเห็นตัวเองในลักษณะของคนที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการ อยากมารับโจทย์ใหม่ๆ ในการคิดพัฒนาแก้ไขปรับปรุงเท่านั้นเอง The People : มองนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้อย่างไร ไกรเสริม : มีน้อยเกินไป ทั่วโลกเลยนะ คือจะมองว่ามีมากขึ้นก็ดี แต่ยังไม่มากพอ อยากให้มีมากกว่านี้ เพราะอย่างที่บอกว่าวันนี้ทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนเร็วมาก คนที่พร้อมอยู่ในวัยที่จะปรับ ส่วนใหญ่คือคนในระดับที่ไม่ใช่รุ่นเก่ามาก ใหม่มากเลยก็จะมีวิธีคิดอีกแบบ เพราะฉะนั้นคนแต่ละยุค แต่ละวัย ก็มีความคิดไม่เหมือนกัน ผมมองว่าวัยอย่างผมหรือรุ่นใกล้ๆ กัน จะเห็นความคิดสมัยก่อนระดับหนึ่ง กับสิ่งที่กำลังจะเข้ามาระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็จะเป็นวัยที่พร้อมรับกับอะไรใหม่ๆ และมีชุดความคิดบางอย่างที่สั่งสมอยู่ และเอาตรงนั้นไปปรับใช้ได้ The People : นักการเมืองรุ่นใหม่ของบ้านเรามีลักษณะเฉพาะไหม ไกรเสริม : สมมติเรามีครอบครัวที่เป็นนักการเมือง เราก็จะคุ้นกับการเป็นนักการเมือง ถ้าเรามีครอบครัวที่เป็นนักธุรกิจ ก็จะคุ้นกับการทำธุรกิจ เราคงปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเป็นลูกหลานนักการเมืองเก่าๆ ก็อาจคุ้นกับอำนาจ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งคือเขาเข้าใจความต้องการของชาวบ้านเป็นอย่างดี ช่วยดูแล ช่วยเหลือชาวบ้าน ทีนี้ต่างประเทศ เขามองว่าเป้าหมายของการเข้ามา มีความรักชาติแตกต่างกัน มุมมองในการบริหารประเทศแตกต่างกัน อำนาจบทบาทแตกต่างกัน ผมมองว่าสังคมไทยกำลังจะก้าวไปตรงนั้น เพียงแต่มันใช้เวลาในการขยับไปสู่จุดนั้น เพราะเรามีวัฒนธรรมแบบเรา คงไม่สามารถตื่นมาแล้วเปลี่ยนได้เลย ปัจจุบันผมเชื่อว่าบทบาทคนใหม่ๆ ที่เข้ามา ต้องมองตัวเองว่าไม่ใช่คนมีอำนาจ แต่เราเข้ามาเป็น "ผู้แทน" ผมชอบใช้คำนี้ ผมบอกเสมอว่าผมเสนอตัวมาเป็นผู้แทน ไม่ใช่มาเป็นสมาชิกสภาฯ ตรงนั้นมันเป็นหน้าที่ เป็นงาน เป็นอาชีพ แต่การเป็นผู้แทนไม่สามารถเป็นอาชีพ มันเป็นส่วนหนึ่งของเขา เราเป็นผู้แทนในการนำเสนอสิ่งที่ทุกคนบอกมาว่าต้องการอะไร แล้วเราก็ใช้ความรู้ความสามารถช่วยกันกับเขาว่าต้องแก้ไขยังไงต่อ
The People : ทำไมต้องเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไกรเสริม : ผมเห็นการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย เพื่อนฝูงก็อยู่ทุกพรรค ผมถามตัวเองว่าถ้าเข้าสู่การเมือง เราอยากมีบทบาทอะไร คำตอบคืออยากมีส่วนในการทำงาน เข้ามาแล้วมีบทบาททำงาน ไม่ใช่ให้เขามาสั่งหรือต้องไปทำอะไรไม่รู้ที่ไม่ใช่ตัวเราเอง ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้มีคนชวนเข้าพรรคนั้นพรรคนี้ไหม คำตอบคือมีตลอด ทีนี้ผมมองว่าเราเคยเห็นพรรคที่มีบทบาทเยอะ พรรคใหญ่ๆ อาจไม่ได้มีพื้นที่ให้กับคนใหม่จริงๆ จังๆ บางพรรคมีลูกหลานหรือกลุ่มก้อนพรรคพวกที่มีอยู่แล้ว หรือบางพรรคมีคนต่อคิวเยอะเลย บวกไปกับว่าถ้าเราไม่ได้เป็นคนเกี่ยวข้องกับเขา ก็ไม่รู้ว่าเขาจะมองเห็นบทบาทเราไหม พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เกิดจากความคิดที่อยากรวมคนใหม่ๆ สร้างอะไรใหม่ๆ ผมก็มีโอกาสถูกเชื้อเชิญเข้ามา เบื้องต้นผมก็โอเคอยู่แล้ว เปิดโอกาสในการคุย ก็ได้ลองคุยกันทั้งกับคนที่รู้จักมาก่อนและไม่รู้จักได้มาศึกษาแนวทางร่วมกัน แล้วเขาก็บอกว่าเราจะทำเวิร์กช็อปกันยังไง มีแนวคิดในการเสนอนโยบายยังไง ผมก็คิด เฮ้ย...อย่างนี้ก็สนุกสิ เรามีโอกาสนำเสนอนโยบายเลยหรือ คือเรารู้สึกว่าในเมื่อเขาน่าจะฟังเราส่วนหนึ่ง เราก็น่าจะมีบทบาท นี่คือตอบตัวเราเอง เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ไปพรรคอื่น แต่กว่าจะมาร่วมกับพลังประชารัฐ ผมก็คุยกับเขาหลายครั้ง ไม่ใช่คุยครั้งเดียวแล้วคลิก เพราะต้องก้าวข้ามตัวเองเหมือนกันว่าจะเข้ามาจริงหรือ พอประเมินแล้วว่าเรามีบทบาททำงานได้ และพลังประชารัฐก็มีแนวทาง มีเป้าหมายในการบริหารประเทศ จึงตัดสินใจมาเข้าร่วม The People : พลังประชารัฐตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ? ไกรเสริม : ต้องมองแยกกันนะ กลุ่มคนที่ตั้งขึ้นมามีอำนาจ ถามว่าอำนาจเขาคืออะไร ต่อมาเราบอกว่าถูกรัฐประหารโดยคณะ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่ง คสช. คือกลุ่มทหาร แต่ในพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีผู้บริหารใดๆ เป็นทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้อง The People : ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคมาจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้หลายคน ทำให้อาจสลัดภาพไม่หลุด? ไกรเสริม : คณะรัฐมนตรีคือผู้มีความสามารถ ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนมีความสามารถที่ถูกเสนอตัวให้ไปเป็นผู้บริหารประเทศ ต้องแยกประเด็นก่อน เพราะถ้าอย่างนั้นคนที่บริหารประเทศต้องมาจากทหาร นั่นแปลว่าต้องเป็นทหารหมด ก็ไม่ เขาไม่ได้เป็น ตรงนี้ทำให้เกิดชุดความคิดแบบนี้มาตลอดเวลาว่าพวกนี้แหละสืบทอดอำนาจ พวกนี้แหละเผด็จการ ผมพยายามพูดหลายครั้งว่าถ้าเป็นเผด็จการผมก็ไม่ต้องมาทำ เขาจะมาเปิดพรรคการเมืองทำไม แล้วผมจะมาอยู่ในพรรคได้หรือ เพราะอย่างที่บอก ถ้าผมเข้ามาแล้วสั่งผม ผมก็เดินกลับ เรื่องอะไรจะทำ เพราะฉะนั้นที่นี่ให้โอกาสผมในการเสนอนโยบาย คุยกัน คนนี้อาจารย์ คนนั้นพี่ เราคิดอะไรยังไง แต่ละคนก็มีประสบการณ์ของเขา นี่จึงเป็นการทำงานที่สนุกด้วย สร้างสรรค์ด้วย และไม่เคยรู้สึกเลยว่าเขามีอำนาจใดๆ มาครอบงำ กลับกัน เขาต่างหากที่มองว่าถ้า enjoy อยู่ในคณะรัฐมนตรีก็คงไม่เสนอตัวมาตั้งพรรค แต่ถ้าเขารู้สึกว่าอยากปวารณาตัวทำงานให้ประเทศ ก็มาเข้าสู่ระบอบโดยการเป็นพรรคการเมืองให้ประชาชนตัดสิน รัฐธรรมนูญว่ายังไงก็ว่าไปตามนั้น
The People : ประชาชนมักคาดหวังถึงความแตกต่างหรือความโดดเด่นของคนที่จะมาเป็นผู้แทน มองว่าตัวเองมีความแตกต่างอย่างไร ไกรเสริม : ผมทำงานเป็นผู้บริหารและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำงานด้านนวัตกรรม ทำโครงการเป็นที่ปรึกษา ได้เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพและกลุ่มผู้ทำธุรกิจที่หลากหลาย ฉะนั้นผมจะคุ้นกับการระดมความเห็นว่าเราน่าจะปรับปรุงอะไรให้ดีกว่าเดิม มีความคิดเจ๋งๆ อะไรมาแก้ปัญหาเรื่องที่เคยลองแก้แล้วไม่ได้ เป็นคนเปิดในการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เสมอ แล้วเป็นคนที่มองหาทางออกเป็นเรื่องหลัก ไม่ได้มองว่านี่คือปัญหาแล้วจมกับมัน หรือยอมแพ้ถ้าหาทางแก้ไม่ได้ ผมเลยมองว่านี่เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของตัวผม ถ้าสังคมมีปัญหาอะไรบางอย่าง ผมน่าจะหาทางออกให้มันได้บ้าง ไม่ใช่ผมทำคนเดียวแต่เรามาช่วยกัน และอย่างที่บอกไปว่าด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าผมเข้ามาตอน 30 นิดๆ ผมอาจยังไม่เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ยังไม่เคยพลาดอะไรหลายๆ อย่าง หรือยังทำอะไรที่เป็นความสำเร็จได้ไม่มากพอ แต่วันนี้เราเคยสำเร็จมาแล้ว เคยรู้ว่าทำอะไรบางอย่างแล้วมันเป็นยังไง ฉะนั้นผมเลยคิดว่าน่าจะนำเรื่องพวกนี้มาปรับใช้ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ต่อเนื่อง ถ้าพลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด เรียนรู้จากมันแล้วปรับปรุง การทำงานตรงนี้ ส่วนตัวผมมองเรื่องการวัดผล ถ้าทำธุรกิจคือกำไรขาดทุน เติบโตแค่ไหนยังไง แต่มาตรงนี้คือการวัดกันว่าจะเกิดประโยชน์มากหรือน้อยกับส่วนรวม นี่คือจุดแข็งที่ต้องมองให้ออกว่าถ้าเสนอตัวก็ต้องมองแบบนี้ให้ได้ และต้องยอมรับในวันข้างหน้าด้วยว่าเราทำได้ดีไหม ผมไม่ยึดติดนะ ผมเข้ามาวันนี้เพราะคิดว่าตัวเองพร้อม วันข้างหน้าถ้ามีคนพร้อมกว่า ดีกว่า มาเลย เข้ามาเยอะๆ ด้วย แล้วเราทำไม่ได้เราก็ไป แต่ถ้าอนาคตข้างหน้า เราเรียนรู้และทำประโยชน์ได้มากขึ้น ก็จะทำต่อไป The People : ปัญหาที่มองเห็น ถ้าพูดอย่างรูปธรรมคืออะไร ไกรเสริม : ตอนนี้ผมเสนอตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครพื้นที่ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ ก็ใช้เวลาช่วงนี้ลงพื้นที่ สิ่งที่เห็นหลักๆ คือปัญหาจราจร คือเป็นปัญหาทั้งกรุงเทพฯ ก็จริง แต่เราลองโฟกัสในพื้นที่ และวางๆ โมเดลเริ่มต้นในการแก้ปัญหาไว้บ้างแล้ว อย่างเรื่องรถสาธารณะ พลังงานทดแทน นี่คือนโยบายส่วนตัวในพื้นที่ที่ผมวางไว้ แต่ยังไม่จบแค่นั้น ถ้าได้ผลตอบรับอย่างไร อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ อีกอย่าง ผมพยายามมองหาความเฉพาะในพื้นที่ อย่างในพื้นที่ผมมีแขวงบางมด ซึ่งมีส้มบางมดที่ดังๆ แต่ตอนนี้แทบไม่เหลือแล้ว เพราะในพื้นที่มีคลองที่เชื่อมไปลงทะเล พอน้ำทะเลหนุนดินก็แปรสภาพเป็นดินเค็ม ปลูกไม่ได้ ตอนนี้คนยังรู้จักและได้ยินชื่อเสียงส้มบางมดอยู่ แต่ก็น้อยลงเรื่อยๆ เขาย้ายไปปลูกที่อื่น ถ้าเราเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็น่าจะพัฒนาส้มบางมดให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นกว่าเดิม ถ้าเราตั้งโจทย์ใหญ่ว่าให้ส้มบางมดเป็นเหมือนทุเรียนนนท์ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจดีมาก ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์มากๆ อย่าไปคิดสร้างทั้งหมดแบบที่เคยทำมา ผมว่าอาจไม่ใช่วิธีบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน เพราะตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก กว่าจะ implement (ทำให้สำเร็จ) ได้ครบ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแล้ว เราเริ่มเล็กๆ แล้วค่อยสเกลใหญ่ขึ้นดีกว่าไหม
The People : การไม่ได้เกิดและเติบโตในพื้นที่นั้นๆ โดยตรง ถือเป็นข้อจำกัดหรือเปล่า ไกรเสริม : ผมเป็นคนฝั่งธนฯ เติบโตเรียนหนังสือฝั่งธนฯ ออฟฟิศปุ้มปุ้ยก็อยู่ฝั่งธนฯ เพียงแต่ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ในมุมมองผม การเป็นผู้แทนราษฎรมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ฉะนั้นหน้าที่ของผู้แทนจึงเป็นการสะท้อนเสียงของคนในพื้นที่เพื่อไปสู่นโยบายใหญ่ คนท้องที่คือ ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) เป็นคนสำคัญ เพราะเห็นทั้งหมด แล้วสะท้อนการทำงานหรือปัญหาต่างๆ มาให้เรา แต่เราต้องไม่ห่างไกลจากคนตรงนั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่ความจำเป็นที่สุดว่าเราต้องเป็นคนที่นี่ถึงจะสามารถทำอะไรให้คนที่นี่ได้ดีที่สุด อยู่ที่วิธีการบริหารจัดการคนมากกว่า ทีมงานผมทุกคนมีความสำคัญหมด ผมเสนอเลยว่าทีมงานต้องเป็นคนในพื้นที่ เรามาทำงานร่วมกันเพื่อรู้จัก เข้าใจ และเข้าถึงพื้นที่ให้ถ่องแท้ที่สุด ถ้าเราเป็นคนพื้นที่ เราอาจเห็นในมุมมองหนึ่งด้วยความคุ้นเคย คุ้นชิน แต่ถ้าคนอื่นมองเรา เขาก็จะทักอะไรบางอย่าง คือพอเราคุ้นกับตัวเองตลอดก็อาจลืมไปว่ามีมุมนั้นมุมนี้ มีคนถามผมเหมือนกันว่านามสกุล “โตทับเที่ยง” ทำไมไม่ไปที่ตรังล่ะ ผมก็บอกว่าครอบครัวใหญ่ ญาติๆ ผมอยู่ที่นั่น แต่ผมมีครอบครัวที่ต้องดูแลที่นี่ ก็ต้องอยู่ที่นี่ ผมเชื่อว่าเราทุกคนทำประโยชน์ให้สังคมได้ในทุกที่ The People : ลงพื้นที่นานหรือยัง ไกรเสริม : ก็หลักเดือน แต่ก่อนหน้านั้นตอนที่เข้ามาร่วมกับคนรุ่นใหม่ของพรรคเราก็ไปกันหลายที่ ไปสมุทรปราการ ชลบุรี หนองคาย ฯลฯ ไปดูเพื่อรับรู้ว่าความหลากหลายและความต้องการของประชาชนแต่ละพื้นที่เป็นยังไง พอมาพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบก็ลงพื้นที่ทุกวัน ตื่นเช้าส่งลูกไปโรงเรียน ออกกำลังกาย ทำธุระส่วนตัว พอ 8 โมงครึ่งก็ลงพื้นที่ จัดตารางกับทีมงานว่าไปไหนก่อนหลัง เย็นๆ เจอตรอกซอกซอยไหนก็ไป เดินถึงค่ำค่อยพัก บางครั้งชาวบ้านก็ชวนกินอาหารที่ผมไม่รู้จักมาก่อน แล้วผมเป็นคนชอบชิมด้วย (หัวเราะ) เดินวันหนึ่งนี่ 10 กิโลฯ ขึ้น ตอนนี้ผมใช้เวลารู้จักคนในพื้นที่ให้มากสุด แน่นอนว่าอาจไม่ครบถ้วนในเวลาที่มี แต่ก็จะพยายามทำเต็มที่ที่สุด และอีกส่วนก็มีเพจเอาไว้สื่อสารความเป็นตัวเราและสิ่งที่เราทำ
The People : ทำการเมืองต้องจิตแข็ง? ไกรเสริม : ใช่ (ยิ้ม) โชคดีว่าผมเป็นคนที่มีโลกของตัวเองได้ในโลกใหญ่ๆ กลับบ้านผมก็มีโลกของผมแล้ว อีกอย่างผมก็เป็นตัวของตัวเอง ถ้าวันหนึ่งเป็นคนสาธารณะขึ้นมาก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่าง คือผมไม่ได้สร้างตัวเองให้มีอะไรแตกต่างจากที่เป็น และมันง่ายด้วยที่เราเป็นแบบนี้ แทบไม่ต้องทำอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิม ถ้าเรามีอะไรที่ปกปิด ต้องปิดบัง ก็คงไม่อยากมาเปิด แต่ความที่ไม่มี ก็เปิด ผมเลยไม่ลำบากใจ ขณะเดียวกันมีคนมองเรายังไงก็ตาม เราก็ห้ามไม่ได้ ต้องเข้าใจ ส่วนเสียงสะท้อนอะไรต่างๆ ก็ต้องฟังให้มากขึ้น The People : เคยคิดทบทวนไหมว่าทำไมเลือกมาทำงานการเมือง ไกรเสริม : คิดเสมอ คนเราต้องทบทวนตัวเองเสมอ เวลาคิดไม่ใช่ว่าเราไม่มีคำตอบกับมัน เพราะสุดท้ายคำตอบก็เหมือนเดิม เรามาตรงนี้เพราะเรารู้ว่าอยากทำอะไร ผมมีคำถามใหญ่ๆ ของตัวเอง และตอบตัวเองอย่างงี้ว่า สมมติ 20 ปีข้างหน้าถามตัวเองว่าเสียดายมั้ยถ้าวันนี้ไม่ได้ทำ ผมคงตอบว่าเสียดาย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเลยคิดว่าต้องทำ