สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ นักการเมืองที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่รัฐบาล 2 พี่น้องชินวัตร ถูกรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ในปี 2566 เขาคือคนกาส้ม 2 ใบ ซึ่งเตือนว่า ถ้าคนลงถนน ไม่ใช่การเมืองใหม่ และเสี่ยงเกิดรัฐประหาร

  • สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อีกหนึ่งนักการเมืองจากตระกูลดัง ผู้คร่ำหวอดในโลกการเมืองไทยมายาวนาน ผ่านเหตุการณ์รัฐประหารรัฐบาลของพี่น้องชินวัตรทั้ง 2 ครั้ง
  • เส้นทางการเคลื่อนไหว และบทบาทการทำงานในทางการเมืองของสุรนันทน์ ทำให้เขามีมุมมองต่อประวัติศาสตร์ การเมือง และสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเป็นชุดความคิดที่น่ารับฟัง

The People สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่รัฐบาล 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร ถูกรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง คือทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจปี 2549 (2006) และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจปี 2557 (2014)

สุรนันทน์ เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ และเป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

เขาผ่านยุคสมัยที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ญาติตัวเองซึ่งอยู่ต่างพรรค คือพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากเกมพลิกขั้วในรัฐสภา ต่อมาเกิดเหตุการณ์รัฐบาลสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2552 - 2553 ซึ่งสุรนันท์ มองว่า หากอภิสิทธิ์ ตัดสินใจยุบสภาตั้งแต่แรกเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นและยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษคนเสื้อแดง เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองจากอภิสิทธิ์กรณีมีคนเสียชีวิตกลางเมืองถึงอย่างน้อย 99 คน

สุรนันทน์ ในฐานะ 1 ใน 25 ล้านเสียงที่กาเลือก ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ มองเกมการเมืองบนท้องถนน และเกมการเมืองในรัฐสภาอย่างไรหากจะมีการพลิกขั้ว ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

เยาวชนจากยุค ‘เดือนตุลา’

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เราก็ยังอยู่ชั้นประถม แต่ 6 ตุลา 2519 อยู่มัธยมแล้ว หลัง 14 ตุลา 2516 คุณพ่อเป็นโฆษกรัฐบาลในรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และมีส่วนดูแลช่วยเหลือ นอกจากเป็นกระบอกเสียงในรัฐบาลเปลี่ยนผ่านแล้ว คุณพ่อยังเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ทำให้เรามีความสนใจทางการเมือง

แต่พอ 6 ตุลา 2519 เป็นยุคที่ พูดง่าย ๆ ว่า ขวาพิฆาตซ้ายกลับ คุณพ่อกลับมาอยู่กระทรวงการต่างประเทศแล้วตอนนั้น แต่ก็เป็นคนหนึ่งที่รัฐบาลในยุคนั้นก็มองว่า ‘หัวเอียงซ้าย’ คล้าย ๆ กับหลายคนในกระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น เพราะว่าคนกระทรวงการต่างประเทศ จบเมืองนอกมาก็ค่อนข้างจะความคิดก้าวหน้า คุณพ่อก็เลยต้องไปอยู่ต่างประเทศ

ผมเองจำได้อย่างเดียวเลยว่านั่งฟังนอนฟังวิทยุ ทั้ง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 สมัยนั้นมันไม่มีโซเชียลมีเดีย ก็นอนฟังวิทยุ เพราะเป็นห่วงคุณพ่อ เพราะคุณพ่อไม่ได้กลับบ้านเนื่องจากมีเหตุการณ์ที่เขาต้องเข้าไปทำงานช่วยเหลือในการต่างๆ เพราะฉะนั้นทำให้เราติดใจตรงนั้น

แล้วหลัง 6 ตุลา 2519 ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะสะเทือนใจผม แล้วมีผลต่อใจผมก็คือว่า มันเป็นยุคปราบปรามจริง ๆ เป็นยุคที่ปราบปราม เช่น หนังสือในช่วง 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 เป็นช่วงเปิดที่มีหนังสือต่าง ๆ ด้านสังคมนิยมค่อนข้างจะเปิดเสรี แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้วเนี่ย หนังสือเหล่านั้น กลายเป็นหนังสือต้องห้าม

ผมยังจำได้เลยว่า ผมกับคุณพ่อ เรียกว่า ต้องเผาหนังสือทิ้ง ซึ่งผมเองเคยคุยกับเพื่อนหลายคนที่อยู่ในสื่อก็เหมือนกัน อยู่ในเหตุการณ์ที่ถ้าเกิดถูกจับได้ว่ามีหนังสือเหล่านี้ โดยเฉพาะคุณพ่อถึงจะเป็นข้าราชการประจำ แต่ก็เป็นเป้า ก็จะผิด หรือเขาจะหาเรื่องเราได้

ก็เป็นอะไรที่ผมจำได้ แล้วผมก็คิดว่า อันนั้นเป็นตัวหนึ่งที่ผมคิดเลยว่า เหตุการณ์อย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วก็ทำให้ผม เมื่อไปศึกษาต่อที่อเมริกา ก็เลยศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง political economy แล้วก็อ่านหนังสือมากขึ้น ยิ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หนังสือเกี่ยวกับเมืองไทย ต้องไปอ่านที่ต่างประเทศ อย่างคำให้การของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรืออะไรต่าง ๆ

แล้วการที่ฝรั่งเขียนถึงเมืองไทย แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าฝรั่งถูกที่สุด แต่อย่างน้อยมันเป็นอีกหลายมุมมองที่มองจากข้างนอก เราก็ได้อ่าน ก็เป็นตัวที่ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องผ่านระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

เรียนจบ รับราชการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ตัวผมเองกลับมาก็มารับราชการด้านเศรษฐกิจอยู่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2527 - 2528 ยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ที่ดีก็คือ การอยู่สภาพัฒน์ เหมือนกับข้าราชการสภาพัฒน์อีกหลายคนที่วันนี้มีสถานะทางสังคม ไม่ว่าจะระดับรัฐมนตรี แล้วหลายคนก็ประสบความสำเร็จในชีวิตข้าราชการก็เพราะเป็นโรงเรียนที่ดี ที่ทำให้เราเห็นภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

แล้วยุคนั้นเรียกว่ายุคโชติช่วงชัชวาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 - 6 การสร้างอีสเทิร์นซีบอร์ด แล้วฉบับที่ 6 มีส่วนร่วมภาคเอกชนเข้ากำหนดทิศทางของประเทศ ก็เลยเห็นตรงนั้น ทำให้เรามีความเชื่อและพยายามมองว่า ทำอย่างไรให้ประเทศเจริญเติบโตได้

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

ร่วมยุคพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อตั้งพรรคความหวังใหม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ตั้งแต่เป็นข้าราชการสภาพัฒน์ก็มีโอกาสที่เหมือนกับเด็กคนหนึ่งเป็น staff ที่ช่วยสรุปวาระครม.ช่วยทีมงานของท่านพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตอนที่ท่านเป็นรองนายกรัฐมนตรี

แล้วตอนที่ท่านมาตั้งพรรคความหวังใหม่ ผมเองก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ คือหลังจากเป็นข้าราชการ 4 - 5 ปี ก็มีความรู้สึกคล้ายๆ  ร้อนวิชา เหมือนกับเด็กรุ่นสมัยนี้แหละ มีความรู้สึกว่าต้องออกไปทำอะไรสักอย่าง แล้วพล.อ.ชวลิต ตั้งพรรคความหวังใหม่ เราก็เป็น staff คนหนึ่ง ไปถือกระเป๋าให้ท่าน ไปเขียนหนังสือ ไปร่างจดหมาย ทีมงานของท่านส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร แล้วก็มีที่ปรึกษาที่เป็นนักวิชาการหลายกลุ่ม

เราก็ได้โอกาสที่ดี ที่ไปช่วยตั้งพรรคความหวังใหม่ ตั้งที่ธรรมนิติ ที่บางโพธิ์ สมัยก่อน ทำให้ผมรู้จักคุณไพศาล พืชมงคล และผู้ใหญ่อีกหลายคน

พล.อ.ชวลิต ก็เป็นคนที่น่ารักคนหนึ่งนะ เพราะเป็นนายทหารที่ลาออกมาเพื่อทำงานการเมือง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ท่านเป็น ผบ.ทบ. เป็น ผบ.สูงสุด น่าจะเป็นนายกฯ ได้โดยที่ไม่ต้องมาตั้งพรรคการเมืองก็ได้ แต่ท่านเลือกวิถีที่จะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย อันนี้ก็เป็นอะไรที่ ผมคิดว่า ทหารรุ่นหลังควรจะคิดเหมือนกัน

ชุมนุมพฤษภา 2535

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เนี่ย คุณพ่อผมสนิทเพราะคุณพ่อ เป็นทีมงานให้พล.อ.ชาติชาย ตลอด สมัยที่ท่านตั้งพรรคชาติไทย คุณพ่อผมก็เข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วก็ต่อมาชาติไทยพัฒนา แต่ผมไม่ได้เข้าไปยุ่งด้วย ตอนนั้นผมยังทำภาคเอกชนอยู่ อยากรู้ว่าเอกชนทำงานอย่างไร ก็ทำให้เราได้ความรู้อีกด้านหนึ่ง อีกมุมมองหนึ่ง

จนกระทั่งเกิด เหตุการณ์พฤษภา 2535 ตอนนั้นผมเป็นภาคเอกชน ไม่ได้เกี่ยวข้องทางการเมืองกับเขาเลยนะ แต่ว่าก็เป็นคนหนึ่งที่ขออนุญาตเจ้านาย ปิดบริษัท ส่งแฟกซ์ไปให้เพื่อน ๆ แล้วก็ไปชุมนุมกันอยู่ที่ราชดำเนิน เราก็มองว่า เราเคยเป็นคนที่นอนถนนที่ไม่มีใครรู้จักหรอก แต่ในที่สุดแล้ว ก็กระโดดเข้ามาช่วยคนนั้นคนนี้ ไม่ได้ตั้งใจมาทำการเมืองเพื่อตัวเอง

อยู่พรรค ‘ทักษิณ’ ถูกรัฐประหาร 2 รอบ

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: จนกระทั่งปี 2538 ที่ได้มีโอกาสรู้จักท่านหัวหน้าทักษิณ ตอนนั้นท่านเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร สมัยนั้นยังมียศครบถ้วน เราได้มีโอกาสรู้จักท่านแล้วท่านก็บอกว่า อ้าว หนุ่ม ๆ อย่างนี้ ไม่ต้องมาแค่ช่วยผมหรอก ลงเลือกตั้งเลยไหม นั่งคุยกัน 2 คน เราก็คิดในใจ โอ้โหคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย คนที่เก่งขนาดนี้ ท้าเราลงเลือกตั้ง เราก็ต้องลงสิ ลงในนามพรรคพลังธรรม

สอบตกครับ...ในกระบวนการทางการเมือง พอผมสอบตกเสร็จผมก็ไปเป็นผู้ช่วย ส.ส. คุณทักษิณ ทำให้ผมได้มีโอกาสทำงานตรงนั้นด้วย แต่ในขณะเดียวกัน เงินเดือนผู้ช่วยส.ส. มันคงไม่พอหรอก เราก็ไปทำงานในบริษัท ในที่สุดผมก็ไปทำงานกับกลุ่มธรรมนิติ เป็นกรรมการจัดการด้านบริษัทฝึกอบรมสัมนาของธรรมนิติ สำนักพิมพ์ธรรมนิติ

จนกระทั่ง ปี 2542 คุณทักษิณ ตั้งพรรคไทยรักไทย คราวนี้ กลับมาทำงานการเมืองเต็มตัว มาอยู่กับไทยรักไทยเต็มตัวจนกระทั่ง ปี 2544 เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ แล้วก็ปี 2548 เป็น ส.ส. แต่คุณทักษิณก็บอกไปเป็นรัฐมนตรีเหอะ ก็ไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถูกรัฐประหารไปนอนโรงแรมอยู่ 7 วัน ไปแอบนอน เมื่อปี 2549 มีเพื่อนเป็นพันเอกอยู่คนหนึ่งมานอนอยู่ด้วย นอนไปนอนมา เอ๊ะ มันมานอนเป็นเพื่อนหรือมาจับผมก็ไม่รู้ รู้จักกัน ไม่ได้มาควบคุมตัวหรอกมานอนเป็นเพื่อน แล้วก็ไม่ให้ออกจากห้อง แล้วมันก็โทรรายงานใครก็ไม่รู้ตลอดเลย แต่ว่าเป็นเพื่อนกัน ตอนนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่

แต่รัฐประหารรอบที่สอง (2557) นี่ ไปรายงานตัวแล้วจับนอนค่ายทหาร 7 วัน ออกมาก็แบบว่า โอ๊ย ไม่เอาแล้วการเมือง ครอบครัวก็ไม่แฮปปี้ เราเองก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่แล้วล่ะถ้าอย่างนี้ คือถ้าเล่นรอบที่สาม อาจจะต้องออกเส้นทางธรรมชาติหรืออะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้น มาทำธุรกิจดีกว่า ก็เลยขอตัวว่า ผมขอลาออก ลาออกเพื่อมาทำธุรกิจให้ชัดเจน

ตอนที่คุณสุรนันทน์ถูกควบคุมตัว เมื่อคสช.ทำรัฐประหารปี 2557 ได้รับการปฏิบัติอย่างไร ถึงขนาดถูกถุงคลุมหัวไหม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ผมอาจจะโชคดีอย่างนะ ไม่รู้ทำไมถึงโชคดี ไม่ได้ถูกขังเดี่ยว เป็นเลขาธิการนายกฯ แล้วก็ไม่ได้ถูกคลุมถุง ถูกพาไปอยู่ที่วังน้อยซึ่งเป็นทหารสื่อสาร

แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ดีเท่าไหร่หรอก ผมเองก็ติดต่อบ้านไม่ได้เลย เพราะไม่มีโทรศัพท์ กว่าจะได้รับอนุญาตให้ติดต่อ ก็ต้องส่งข่าวออกมากับคนที่ออกมาก่อนว่า ไม่เป็นไรนะ เขารู้ว่าไม่เป็นไรตรงที่ทางทหารเขาอนุญาตให้เขียนมาได้ว่าต้องการยาอะไร อย่างผมเป็นความดันก็ต้องการยาลดความดันอะไรพวกนี้

ผมอยู่ที่นั่น 7 วัน พลาดงานเรียนจบมัธยมของลูกสาวผม ซึ่งทำให้เราก็รู้สึกอยู่เหมือนกัน เออ แล้วเราทำไมต้องมาติดอยู่ที่นี่ แต่การดูแล ทหารเขาให้เกียรติ ผมเองพอได้ออกมาแล้วยังตกใจว่า เพื่อน ๆ บางคน พี่อ้วน ภูมิธรรม หรือคุณชัชชาติ หรือทีมแรก หรือท่านนิวัฒน์ธำรง ซึ่งเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ถูกจับ ถูกขังเดี่ยว ถูกถุงคลุมซึ่งผมคิดว่ามันไม่ให้เกียรติอย่างยิ่งนะ กับนักการเมืองที่ทำงานให้ประเทศมา แล้วคุณมายึดอำนาจเขา แล้วในที่สุดเขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิด หมายความว่า ทุกคนมีคดีความกันก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่หลายคนไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วก็ได้รับการปล่อยตัวไป แล้วเขาก็ฟ้องกลับอะไรไม่ได้ ผมว่าไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ตรงนั้น มันทำมากเกินไป เอาคนไปกักขังอยู่ 3 วัน 7 วัน แล้วเขาไม่ได้เป็นคนที่ถือปืนมายิงใคร

เทียบชัยชนะไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2544 กับ ก้าวไกลปี 2566

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ก็คล้าย ๆ กันมั้ง ไทยรักไทยปี 2544 เราก็เริ่มมีความหวังนะ เพราะกระแสมันเริ่มขึ้น ในที่สุดแล้วก็มีโพล คุณทักษิณบอกว่าโพลดีมาก แต่ก็อย่าไปเชื่อโพล ต้องบอกให้ทุกคนทำงาน ตอนนั้นผมเป็นรองโฆษกพรรค

ปี 2544 เราเข้ามา 248 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ปาร์ตี้ลิสต์ได้ 40 กว่าคน แล้วพอเลื่อนไปเป็นรัฐมนตรี ก็ได้ปาร์ตี้ลิสต์ถึงลำดับที่ 50-60 เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จมากในการทำงานเสนอความคิด

แล้วก็อาจจะเหมือนก้าวไกลในยุคนี้ก็คือ ถ้าสมัยนั้น เขาเรียกว่า นกแล คือ พวกส.ส.หลายสมัยถูกส.ส.โนเนมล้ม ล้มยักษ์กันหลายจังหวัด แล้วก็ (ส.ส.ไทยรักไทย) ใน 248 คน เรียกว่ามีนกแล คือ แม้กระทั่งพรรคยังตกใจว่าเข้ามาจำนวนร้อยกว่าคน ในกรุงเทพฯ เกือบ 30 ที่นั่งจาก 34 - 35 ที่นั่งตอนนั้น

แล้วก็ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไทยรักไทยและก็คุณทักษิณในฐานะหัวหน้าพรรค มีกำลังต่อรองที่หนักแน่น แล้วก็สูง คือเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ขาดลอย เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ผลักดันวาระที่เราสัญญากับประชาชนไว้ได้อย่างแท้จริง

ผลจากตรงนั้น ทำให้ผลการเลือกตั้งปี 2548 ก็ชนะอย่างท่วมท้น คือ 377 เสียง

แม้ตอนนั้นจะมีขบวนการพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง) ที่เริ่มออกมาต่อต้านหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนไม่เลือกไทยรักไทยได้ ในกรุงเทพฯ เอง ส.ส.ก็เข้ามาจำนวนมากพอสมควร สามสิบกว่าที่นั่งเหมือนกัน

มอง ‘ก้าวไกล’ ปี 2566 ไม่ได้ชนะขาดแบบไทยรักไทยปี 2544

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ถ้าถามว่า ก้าวไกลชนะขาดแบบไทยรักไทยไหม ก็ไม่ได้ชนะขาดแบบไทยรักไทย ทั้งยุคเลือกตั้งปี 2544 และ 2548

ไทยรักไทยยุค 2544 ก็มา 248 เสียง ขาดอีก 2 เสียงก็ majority ส่วนปี 2548 ก็ 377 เสียง

เพราะฉะนั้น การที่ก้าวไกล จับมือกับเพื่อไทย อันนี้ แน่นอน จะเป็นกำลังสำคัญ และถ้าก้าวไกล สามารถจับมือกับเพื่อไทย แล้วผสมผสาน เพื่อไทยเองก็ต้องเปิดนะ ผสมผสานประสบการณ์ทางการเมืองของเพื่อไทย ผู้ใหญ่ในเพื่อไทย ผสมผสานกับกำลังของคนรุ่นใหม่ ความคิดคนรุ่นใหม่ของก้าวไกล ผมคิดว่า ตรงนี้จะทำให้ทั้ง 2 พรรคสามารถยืนในการเมืองไทยได้ และ สามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้

มองก้าวไกลพรรคเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ถ้าก้าวไกลพรรคเดียว เปลี่ยนแปลงประเทศไม่ได้ครับ ถึงแม้ชุดความคิดของก้าวไกล จะมีชุดความคิดที่ดี ๆ หลายชุดในสามร้อยนโยบายของเขา แต่ก็มีอีกหลายอย่าง ที่เป็นประชานิยมปกตินั่นแหละ

แล้วก็มีอีกหลายประเด็น ที่คนยังตั้งคำถามว่า คุณจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง เช่น มาตรา 112 เช่นการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจริง ๆ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็พยายามที่จะอธิบาย แต่ตรงนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ติดใจอยู่ การเปลี่ยนประเทศเนี่ย ทุกคนที่ลงเลือกตั้ง อยากให้ประเทศดีขึ้น

แต่มันมีข้อที่อาจจะแตกต่างกันนิดนึงก็คือ ตรงที่ก้าวไกลชนะที่หนึ่งจริง แต่จะเรียกว่าชนะขาดไหม ก็ไม่ใช่ เพราะว่าในที่สุดแล้วคะแนนส.ส. เขตเท่ากัน คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ต่างหากที่ทำให้มากกว่า 10 ที่นั่ง คือ สี่ล้านกว่าเสียงเป็น 10 ที่นั่งในปาร์ตี้ลิสต์

ก้าวไกลได้ ส.ส. รวม 151 แล้วเพื่อไทยได้ส.ส.รวม 141 ก้าวไกลก็ชนะไม่ขาด ฉะนั้น กลุ่มนี้ก็ต้องผูกกันไว้

ไอติม - พริษฐ์ ส.ส.ใหม่พรรคก้าวไกล จากตระกูลเวชชาชีวะ-วัชรสินธุ

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คุณไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ ผมค่อนข้างภูมิใจในตัวเขานะ ไม่ใช่เพราะเป็นญาติ เป็นหลาน แล้วภูมิใจนะ ผมคิดว่าเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีความคิดความอ่าน และการพูดจาที่ดี ผมว่าการที่เขาไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แล้วสอบตกครั้งแรกเป็นบทเรียนที่ดีให้เขา

ตอนนั้นคุณไอติมเอง ก็เป็น young democrat เป็นประชาธิปัตย์ใหม่ แต่คุณไอติมเองก็อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังขาลง แล้วตอนนั้นคนก็ไปเปรียบเทียบกับคุณอภิสิทธิ์มากไป เพราะฉะนั้น เขาอยู่ใต้เงาคุณอภิสิทธิ์ โดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่เมื่ออยู่ในประชาธิปัตย์ รูปร่างหน้าตา การพูดการจา คล้าย ๆ คุณอภิสิทธิ์ สื่อก็ไปเปรียบเทียบว่า เขาเป็นคุณอภิสิทธิ์ 2 ซึ่งทำให้เขาอยู่ในร่มเงาของคุณอภิสิทธิ์ พอลงเลือกตั้ง เขาก็ไม่ได้ผลเท่าที่เขาควร

แต่พอเขาแยกตัวมายืนเป็นตัวของตัวเอง การเมืองเนี่ยต้องเป็นตัวของตัวเอง เมื่อเป็นตัวของตัวเอง แล้วยังไปอยู่พรรคใหม่ที่มีบุคลิกเป็นตัวของตัวเอง ที่แตกต่างกับพรรคการเมืองอื่น ทำให้เขาฉายแสงจริง ๆ เขาเริ่มจะเป็นดาวฤกษ์ดวงน้อยๆ แต่อย่าใจร้อนนะ

ผมคิดว่า สำหรับตอบคำถามเรื่องก้าวไกลด้วย ตอบคำถามเรื่องไอติมด้วย ซึ่งเป็นคำที่คุณสมัคร สุนทรเวช พูดถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มะม่วงบ่มแก๊สเนี่ยมันสุกเร็วแต่มันไม่อร่อยหรอก มันต้องใช้เวลา

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไอติมใช้เวลาของตัวเอง ไม่เร่งตัวเอง ไม่มาก่อนเวลาเหมือนคุณอภิสิทธิ์ คุณไอติมจะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าคุณอภิสิทธิ์ ในทางการเมือง ผมมองอย่างนั้นนะ แล้วเขาอาจจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้นได้

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

คุณอภิสิทธิ์มาก่อนเวลา หมายความว่าอย่างไร

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คุณอภิสิทธิ์ ใจร้อนไปนิดนึง ผมว่าตอนนั้น ถ้าคุณอภิสิทธิ์ ไม่เป็นนายกรัฐมนตรี ให้คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ขึ้นมาเป็นก่อน แล้วคุณอภิสิทธิ์รอเวลานิดนึง แล้วคุณบัญญัติ อาจจะเป็นผู้ใหญ่กว่าที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้มากกว่า

คุณอภิสิทธิ์ อาจจะได้เป็นนายกฯ ที่สง่างามกว่าก็แล้วกัน ผมพูดอย่างนี้ แต่เราก็ไม่ใช่ไปว่าอะไรเขา ในแง่ถ้าจะพูดถึงดวง ดวงคนเรามันก็เป็นอย่างนี้แหละนะครับ

แล้วผมก็ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรืออะไร ผมคิดว่าคุณไอติมเองจะมีบทบาทสำคัญ ส่วนบทบาทนั้นจะเป็นอะไรขึ้นอยู่ที่ตัวเขาแล้ว เพราะว่า ทุกคนก็เห็นแล้วว่า การอยู่ในตำแหน่งการเมืองบางทีมันไม่ได้แก้ปัญหา มันต้องติดเงื่อนไขอะไรอีกหลายอย่าง แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งการเมืองที่เข้าไป แก้ไขปัญหาของประเทศได้

ผมว่า คุณไอติม ก็เป็นคนหนึ่ง เช่นเดียวกับก้าวไกลทั้งพรรค ก้าวไกลเองก็ต้องพิจารณาตัวเองเหมือนกันนะ คือ ถามว่า เป็นของใหม่ไหม ก็ไม่อยากไปเอาเครดิตจากเขาว่า ไม่ได้เป็นของใหม่

จากใจคนกาส้ม 2 ใบ ถึงก้าวไกล

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ก้าวไกลตั้งแต่แรก ตั้งแต่ตั้งอนาคตใหม่มา ก็เป็นเจ้าของคำว่า “เปลี่ยนแปลง” ตลอดในโพลนะ change คือ ก้าวไกล ประชาชนไม่เห็นคนอื่น ว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้

ฉะนั้น พอถึงจุดหนึ่ง ก้าวไกลเสนอว่าตัวเองจะมาเป็นกำลังใหม่ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ก้าวไกลก็ถึงประสบความสำเร็จเกินที่ตัวเองคาดด้วยซ้ำ เพราะคิดว่ามาร้อยต้นๆ วันนี้มา 151 เสียง

ผมก็กาส้ม 2 ใบ บอกก็ได้ แต่ผมก็มีความรู้สึกว่า อยากเห็นประเทศมันดีขึ้น แต่ทีนี้เข้ามาให้ความรู้สึกแค่นี้ไม่พอ ในที่สุดแล้ว ก้าวไกล ต้องตอบคำถามในใจคนอีกหลายคน ประเทศที่ก้าวไกลมองว่าจะเปลี่ยนแปลงไปนั้น หน้าตาจะเป็นอย่างไร ทั้งโครงสร้างทางการเมือง และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

คุณพูดง่ายว่า เราไม่ต้องการทุนนิยมผูกขาด ผมเป็นผู้ประกอบการเล็ก ๆ ผมก็เหมือนกัน ผมก็ไม่อยากให้มีทุนนิยมผูกขาด ผมก็เชื่อมาตั้งแต่ผมเรียนในสหรัฐอเมริกาว่า ทุนนิยมผูกขาดเป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถามว่า แล้วยังไงล่ะ แล้วทุนนิยมผูกขาด ทุนนิยมที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ เขาก็มีบทบาทในประเทศได้ มีบทบาททางเศรษฐกิจได้ หรือมีบทบาทออกไปลุยต่างประเทศให้กับคนไทยได้ จะวางเขาไว้ตรงไหน

คนที่คุณบอกตัวเล็กตัวน้อย จะอยู่โครงสร้างไหนทางเศรษฐกิจ แล้วมีโอกาสจริงไหม หรือเป็นแค่คำบอกเล่าทางการเมือง หาเสียงทางการเมือง อันนี้ก้าวไกล เอาให้ชัด โครงสร้างทางเศรษฐกิจตรงนี้ โอกาสทางเศรษฐกิจตรงนี้ มันจะบอกโครงสร้างทางการเมืองด้วย

วันนี้ ถ้าถาม ผมเชื่อว่าถ้าเมืองไทยทำอย่างต่างประเทศ เช่น อังกฤษ หรือ ออสเตรเลีย ที่ผมต้องยกตัวอย่างออสเตรเลีย เพราะว่าถ้าลงคะแนนประชามติวันนี้ คนก็ยังเอาสถาบันกษัตริย์ ออสเตรเลีย เป็น Commonwealth ผมก็เชื่อว่าคนไทยยังเป็นอย่างนั้น ผมเองก็เป็น ผมเองกล้าพูดต่อหน้ากล้อง ผมไม่กลัวหรอก เพราะผมเชื่อว่าสถาบันเป็นตัวโครงสร้างหลักของประเทศ แล้วถ้าเกิดสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือการเมือง การเมืองข้างล่างเป็นประชาธิปไตยหมด ต่อสู้ในเชิงประชาธิปไตย ประเทศจะเดินได้

ก้าวไกล ต้องตอบให้ชัดว่าโครงสร้างทางการเมืองที่อยู่ในอุดมคติของก้าวไกล อยู่ในอุดมการณ์ของก้าวไกล มันคืออะไร ตอนนี้ยังไม่ชัดเพราะว่า เขาเองก็ยังมีคนที่คิดว่าจะเปลี่ยนวันชาติ เปลี่ยนไปทำไมวันชาติ ผมเองก็เคยคิด พูดต่อหน้ากล้องก็ได้

ตอนเรียนผมอ่านหนังสือการเมืองใหม่ ๆ 24 มิถุนา เคยเป็นวันชาติ ของประเทศไทยหลังคณะราษฎร แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว มันเปลี่ยนมากี่สิบปีแล้ว เราใช้วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวา เป็นวันชาติ จริง ๆ หลายประเทศเขาเปลี่ยนนะ เขาเปลี่ยนไปตามวันเกิดของพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยพระมหากษัตริย์ พระองค์นี้ ท่านเห็นว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ เป็นวันพ่อ 5 ธันวา คนไทยจำได้แล้ว

ผมก็คิดว่า วันชาตินั่นไม่ใช่สาระที่จะนำมาพูดกันวันนี้ ไม่จำเป็นที่ต้องไปยื่นเงื่อนไขที่ท้าทายกับโครงสร้าง เขาต้องชัด เขาต้องชัดว่าทำไม

อาจจะเป็นคำพูดที่หลุดปากมาเชิงประวัติศาสตร์ หรือความคะนองปากของตัวเอง คุณรังสิมันต์ โรม ดูผมแล้วอย่าโกรธผมนะ เพราะผมเองก็เป็นแฟนคุณนะ ผมก็ชอบดูคุณอภิปรายในสภา เพราะอภิปรายด้วยเนื้อหาสาระ แต่ว่าบางอย่าง มันไม่ต้องพูด หรือพูดเพราะสะท้อนจิตใจคนในก้าวไกล วันนี้ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ตั้งคำถาม หลายคนก็ยังตั้งคำถามกับก้าวไกล

แล้วถ้าก้าวไกลแก้ตรงนี้ได้ ไม่ต้องแก้หรอก อธิบายโครงสร้างแค่ว่า ผมอยากเห็นประเทศเป็นอย่างนี้ อยากเห็นโครงสร้างของประเทศ สถาบัน ลักษณะของประเทศเป็นอย่างนี้ แน่นอน เขาพูดถึงตำรวจสีเทา ตำรวจโกง ทหารกินค่าคอม แต่เขาก็ต้องบอกว่า กองทัพหน้าตาจะเป็นอย่างไร

การอ้างอิง 'ฉันทามติ' ของประชาชนยังไม่พอ

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: อ้างอิงฉันทามติของประชาชน 14 ล้านเสียง ไทยรักไทยเคยอ้าง 12 ล้านเสียงแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ใช่ไหมครับ

ประชาชนในเมืองไทยมี 70 ล้านคนนะ ผู้มีสิทธิ์ 40 ล้าน มาใช้สิทธิประมาณ 32-33 ล้านคน วันนี้ถ้าคุณประกาศตัวเอง ไม่ว่าใครนะครับ คุณพิธา ในขณะนี้ หรือใครก็ตามในอนาคต ประกาศตัวเองว่าจะเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ ความคิดของคุณนำประเทศได้ ในการชี้นำว่าอันไหนที่คุณเห็นว่ามันเหมาะสม แต่คุณเองต้องชี้แจงกับประชาชนด้วยว่า คุณจะนำประเทศไปทิศทางไหน

กฎหมายบางฉบับ โอเค จะพูดกันในสภาก็พูด แต่ถ้าแพ้แล้ว แพ้คะแนนเสียงในสภา ไม่ใช่ไปหาประชาชนมาเดินขบวนนะ อันนี้ผมว่า ถ้าทำการเมืองอย่างนั้น ไม่ใช่การเมืองใหม่ นี่อยากเห็นก้าวไกลประสบความสำเร็จนะ ที่พูดทั้งหมดเนี่ย เพราะผมอยากเห็นคนรุ่นนี้ ถ้าเกิดถูกทำลายไปอีกด้วยการรัฐประหารหรืออะไร ก็ตาม ประเทศไม่สงบสุข แล้วจะเสียคนไปอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งน่าเสียดาย

แต่ละคนที่ผมรู้จัก ไม่ว่าจะคุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณช่อ ต่างเป็นคนที่มีความคิดความอ่าน ผมอาจจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง หลายเรื่องผมก็เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าคนเหล่านี้ ถ้าใช้กำลังของตัวเองทำให้ประเทศ เป็นสิ่งที่ดี

ชุดความคิดสุดท้าย ถ้าเขาทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเชื่อมั่นและไว้ใจได้ trust and confidence ไว้วางใจและเชื่อมั่นได้ว่า โครงสร้างของประเทศที่เดินไปข้างหน้า จะเป็นโครงสร้างของประเทศไทยของคนไทยทุกคน เขาจะเป็นรัฐบาลที่ดี และจะเป็นรัฐบาลที่นาน และแก้ไขปัญหาของประเทศได้เยอะมาก

แต่ถ้าเขาไม่ทำให้คนไว้วางใจได้ ไม่ต้องพูดหรอก ไม่กี่วันนี้ ส.ว. ก็ไม่ผ่านให้เขา

ก้าวไกลอย่าเพิ่งกร่าง?

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: เขาต้องไว้ใจได้ อาจจะมีคนไม่เห็นด้วยนโยบายบางนโยบาย ก็ไปถกเถียงกันเรื่องนโยบาย ถูกไหมครับ แต่โครงสร้างหลักของประเทศ จะเป็นอย่างไร ในยุคที่เราต้องมีความมั่นคง ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแบบที่เขาอ้างอำนาจกันนะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงในการอยู่ร่วมกัน เพราะว่าโลกข้างนอกน่ากลัวมาก

วันนี้ประเทศไทยเดินอย่างนี้ไม่ได้ ก้าวไกล ผมเห็นด้วย ต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก้าวไกลเองก็อย่าเพิ่ง... ขอโทษนะครับ อย่าเพิ่งกร่าง และอย่าเพิ่งคิดว่าจะใช้อำนาจตัวเอง อ้างตรงนี้ ก้าวไกลต้องสร้างพวก

ต้องทำให้เพื่อไทยไว้วางใจและมั่นใจ ต้องทำให้พรรคเล็กที่มาร่วม ไว้วางใจและมั่นใจ และต้องทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม มั่นใจด้วยว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายค้านที่ก้าวไกล เป็นผู้นำรัฐบาล แล้วเขาไม่ต้องมาทำให้เกิดวิกฤตทางความคิดที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ แล้วลงไปบนท้องถนน แล้วตะโกนด่ากันอีก แล้วเปิดช่องให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิด รัฐประหารอีกรอบ ประเทศไทยจะไม่อยู่ในเรดาร์ของใครเลยในโลกนี้ แล้วก็จะอยู่ในเกมการเมืองของมหาอำนาจ 2 มหาอำนาจที่ช่วงชิงกัน

เงื่อนไขวันนี้ อย่าเป็นเงื่อนไขการเผชิญหน้า จะต้องเป็นเงื่อนไขที่ประนีประนอม ดึงทุกคนมาให้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภาแล้วถกเถียงกันในรัฐสภานี่แหละ อย่าขว้างเก้าอี้กันอีก คนขว้างเก้าอี้สอบตกไปแล้ว

อุ๊งอิ๊งค์ ในมุม สุรนันทน์

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คุณอุ๊งอิ๊งค์เป็นคนที่เก่งมากนะ ผมเองเคยสัมผัสคุณอุ๊งอิ๊งค์ไม่กี่ครั้ง คือเจอหน้าไม่ได้คุยมาก แต่ว่าดูจากการหาเสียงเลือกตั้ง ดูจากการเดินเนี่ย เรียกว่าเป็นคนที่หัวไว ไหวพริบดี แล้วก็สามารถดึงให้คนฟังได้ เพียงแต่ประสบการณ์อาจจะยังน้อย ผมเสียดายอย่างเดียว จริง ๆ คุณอุ๊งอิ๊งค์น่าจะเป็น ส.ส. อยู่ในบัญชีรายชื่อ แล้วการเป็นส.ส.สักรอบหนึ่งจะได้เข้าใจ

แต่ถ้าเกิดเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วคุณอุ๊งอิ๊งค์ได้เป็นรัฐมนตรี จะเป็นรัฐมนตรีที่จูเนียร์หน่อย จะเป็นสำนักนายกฯ หรือจะเป็นรัฐมนตรีช่วย หรือว่าการกระทรวงเล็ก ๆ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีเช่นกัน

แต่ถ้าพูดถึงในพรรคเพื่อไทยเนี่ย ผมพูดจริงนะให้คุณอุ๊งอิ๊งค์เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเถอะ อายุ 35 ปี อีก 10 ปีอายุ 45 ปี คุณอุ๊งอิ๊งค์ก็เป็นนายกฯ แล้วจะพร้อมที่สุด แล้วเพื่อไทยจะไม่ต้องมาพูดรีแบรนด์ มันเป็นเรื่องการตลาด วันนี้มันต้องชุดความคิดเป็นของคนรุ่นใหม่ แล้วผมเชื่อว่าคุณอุ๊งอิ๊งค์ คุณแพทองธาร จะสามารถเป็นคนที่นำชุดความคิดของคนรุ่นใหม่ เข้าไปอยู่ในพรรคได้เต็มตัว

ในฐานะที่คุณสุรนันท์ ทำงานกับคุณทักษิณมาก่อน มองว่าคุณอุ๊งอิ๊งค์กับคุณพ่อ 2 ท่านนี้เขาเหมือนกันไหม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คุณอุ๊งอิ๊งค์เหมือนคุณพ่อในหลาย ๆ จุด จากที่มองเห็น ในการส่วนตัวผมไม่ค่อยรู้จักเท่าคุณทักษิณแน่นอน แต่ว่า คุณอุ๊งอิ๊งค์ ถ้ามีประสบการณ์เท่าคุณพ่อเมื่อไหร่ จะเป็นนักการเมืองที่ใคร ๆ ก็ต้องเกรงใจ และถ้าได้บทเรียน ขออนุญาตเพิ่มไปสักนิดหนึ่ง ถ้าได้บทเรียน ถ้าไปเรียนบทเรียนความนุ่มนวลและความอ่อนน้อมถ่อมตนของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วบวกกับความแข็งแกร่งของคุณทักษิณ ความกล้าตัดสินใจของคุณทักษิณ

อีก 10 ปีผมว่านักการเมืองไม่มีใครสู้คุณอุ๊งอิ๊งค์ได้หรอก อาจจะต้องไปเผชิญกับคุณไอติมเท่านั้น นี่พูดกันตรงๆ และอาจจะมีลูกหลานชาวบ้านอีกหลายคน ไม่ต้องมามีแต่ตระกูลพวกนี้ อาจมีคนรุ่นใหม่อีกหลายคน

ด้วยความที่คุณอุ๊งอิ๊งค์ มีความคล้ายคุณพ่อ ถ้า 2 ท่านนี้เขาเห็นไม่ตรงกัน คิดว่าใครจะยอมใครไหม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: โอ้ย ผมเป็นพ่อที่มีลูกสาว ยังไงลูกสาวก็ชนะ (หัวเราะ)

เขียนถึงคุณบุญทรง เกี่ยวข้องกับการลาออกจากพรรคเพื่อไทยด้วยหรือไม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: เรื่องบุญทรงไม่เกี่ยว จริง ๆ การลาออกจากพรรคเพื่อไทยของผม ผมพูดตรง ๆ ผมเบื่อการเมือง แต่เรื่องคุณบุญทรง เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ซึ่งมีคนเข้าใจผมผิดเยอะ คิดว่าผมไปว่าคนโน้นคนนี้ จริง ๆ แล้วเรื่องของคุณบุญทรง บุญทรงกับผมสนิทกัน สนิทกันตั้งแต่ปี 2542

บุญทรง ก็อยากลงเลือกตั้งเชียงใหม่ ตอนนั้นเราเป็นยังเติร์กนะ ก้าวไกลจะมาบอกว่าตัวเองเป็นยังเติร์กอย่างเดียวไม่ได้ เราเองตอนนั้นก็อายุ 30 - 40 กัน 20 ปีที่แล้วก็อยากทำพรรค ก็เฮี้ยวพอสมควรแหละ ไปถามคุณทักษิณก็ได้ บางทีต้องคัดท้ายพวกนี้ เฮี้ยวไป ผมกับบุญทรง ก็สนิทกัน เราก็เหมือนกับรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากจะลงส.ส.ในกรุงเทพฯ กับภาคเหนือ สัมมนาร่วมกัน พรรคควรจะทำอะไร

เพราะฉะนั้น มันก็สนิทกัน คุยกันถูกคอเพราะอายุเท่า ๆ กัน เขาเกิด 2503 ผมเกิด 2504 อายุเท่า ๆ กัน แล้วเขาก็ผ่านโลกมาเยอะ ผ่านธุรกิจมา เราก็เห็นอะไรตรงกันหลายเรื่องก็สนิทกัน

เพราะฉะนั้น เป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนสมัยเด็ก ๆ เนี่ยดีที่สุด เพราะไม่มีผลประโยชน์ เป็นเพื่อนทำการเมืองที่สนิทใจกันเนี่ยมันหายาก เพราะบางทีเราคบกันตอนโต มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ แต่นี่เราเป็นเพื่อนกันจริง ๆ

สำหรับกรณีของคุณบุญทรง ผมต้องขออนุญาตบอกว่า ผมไม่ได้คิดถึงใครเลยตอนเขียน แน่นอนผมเห็นใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผมคิดว่ามีความไม่เป็นธรรมมากที่ทำให้ท่านเดินทางออกนอกประเทศอันนี้คือสิ่งที่ผมยืนยัน แต่ผมเองก็ไม่อยากให้คนลืมคุณบุญทรง คือเวลาสังคมตัดสินคน ตัดสินคนดีหรือเลวไปเลย คุณบุญทรงก็กลายเป็นเหมือนผู้ร้ายไปเลย

ซึ่งในการเขียนครั้งนั้น ผมเขียนถึงเพื่อนเหมือนกับให้กำลังใจเพื่อนว่า ยังมีคนที่รู้จักคุณนะ คุณมีส่วนดีอยู่ แล้วก็เป็นบทเรียนด้วยว่า เงื่อนไขทางการเมืองมันทำให้บางทีเราต้องทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งผมคิดว่าการเมืองคนรุ่นใหม่ ต้องจำไว้เลยนะ เพราะว่าอะไรที่ไม่อยากทำแล้วไม่ควรทำ อย่าทำ ถ้าทำ มันเข้าตัว

ถามว่าคุณบุญทรงโดนตัดสินคดีแล้วควรจำคุกไหม ผมเองก็ต้องบอกเพื่อนตรง ๆ ว่า ใช่ ในเมื่อคุณทำผิด แต่ถามว่าควรจะถึง 42 ปีอย่างที่โดนไหม ถ้าถามผม ผมก็เห็นใจเขาเหมือนกันนะ

การเขียนของคุณสุรนันท์ตั้งใจให้ตัวเองเป็นตัวเอก แล้วมีคนอื่นเป็นตัวร้ายหรือไม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ไม่เลย ผมไม่ได้คิดเลย ไม่มีเลย ผมเป็นคนเขียน Facebook ในลักษณะสิ่งที่ผมคิด แล้ววันที่ผมคิด วันที่ผมเขียน ผมนึกถึงหน้าคุณบุญทรงอย่างเดียว ผมไม่ได้ต้องการเป็นตัวเอก เพราะผมเขียนไป ผมรู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องมีคนในพรรคที่ไม่ชอบผมมากขึ้นเยอะด้วยซ้ำไป

ถ้าผมจะเขียนเป็นตัวเอกเหรอ ผมก็เขียนชื่นชมนายกฯ ยิ่งลักษณ์เหมือนทุกคน ... เอ้า ก็ต้องเอาใจนายไว้สิ เอ้า พูดกันตรง ๆ หรือผมอาจจะเขียนว่าอะไรก็ได้ โทษนายกฯ ยิ่งลักษณ์ โทษอะไร ผมไม่ได้โทษใครเลยนะ ไปอ่านดูดี ๆ

เหมือนกับว่าคุณบุญทรงถูกกระทำจากใครสักกลุ่ม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ไม่ คุณบุญทรงไม่ได้ถูกกระทำจากใครสักกลุ่ม คุณบุญทรงทำตัวเองก็คือ ไม่หนักแน่นพอ ที่จะบอกว่าไม่ ถ้าคุณบุญทรงบอกไม่ทำ เรื่องพวกนี้ผมไม่ทำ หรือคุณบุญทรงไม่ถูกหลอกล่อ ด้วยตัวเองนะ ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตามในฐานะเป็นรัฐมนตรี ในตำแหน่งนั้น อะไรที่ผิดอย่าทำ

ไม่ได้เขียนให้ตัวเองเป็นพระเอกครับ ผมเป็นพระเอกแล้วได้อะไร วันนั้นผมก็โดนแบนเหมือนคนอื่น ผมก็ตกงานเหมือนคนอื่น ผมยังต้องไปทำรายการชิมอาหารเลย ผมไม่ได้เป็นพระเอกนี่ ในสายตาคนที่อยู่ในไทยรักไทยบางคน ยังมองผมเป็นผู้ร้ายด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็ยังเสียใจนะ ว่าเขาไม่เข้าใจ แต่คนที่เป็นเพื่อนคุณบุญทรงหลายคนที่เป็นส.ส. เข้าใจผม ยังมาบอกผมเลยพี่ปุ้มก็เขียนถูกแล้ว แต่ว่ามีคนไม่เข้าใจพี่ปุ้มหลายคนนะ ผมบอก ไม่เป็นไรหรอก มันก็ถือเป็นบันทึก

นักการเมืองไทยเขียนหนังสือน้อยไป

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ผมมองอย่างนี้ ผมมองว่าในเมืองไทย ผมเองก็ไม่กล้าเขียนในหลาย ๆ เรื่องนะ อย่างที่บอกว่า บางเรื่องก็ต้องตายไปกับผม แต่ผมคิดว่า นักการเมืองไทยเขียนหนังสือน้อยไปนิดนึง

นักการเมืองฝรั่งพอออกจากตำแหน่ง เขาจะเขียนเมมมัวร์ แล้วจะถูกจะผิด ประวัติศาสตร์ตัดสินเขา

คือมีคนเขียนหนังสือ แล้วคนรุ่นใหม่เองก็จะได้เรียนรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ คือไม่ต้องมาเขียนหนังสือเอาใจกัน ไม่ใช่หนังสืออวย อันนี้ไม่ใช่หนังสือหาเสียง ส.ส.บางคนที่เขียนหนังสือเก่งก็เขียนเป็นเล่ม ๆ แล้วกลายเป็นบทเรียน แล้วมีนักประวัติศาสตร์ไปเขียนตาม เขียนทั้งวิพากษ์วิจารณ์ บอกว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี เราได้อ่านเป็นบทเรียนของคนรุ่นใหม่ เหมือนกับไม่ต้องมาเรียนวิธีประดิษฐ์กงล้อใหม่

อย่างวันนี้ นักการเมืองก้าวไกลบางคนยังต้องมานั่งประดิษฐ์กงล้อใหม่ เขาไม่รู้หรอกว่าประวัติศาสตร์มันเคยมีมาแล้ว มันต้องตกผลึก ถ้าเขียนหนังสือ มันจะดี แต่คนไทยไม่ค่อยเขียน

คนไทยจะไปเขียนตอนหนังสืองานศพซึ่งก็ชื่นชมตัวเอง หรือคนอื่นเขียนชื่นชม เสียดายเหลือเกินที่เขาตายไปแล้ว หนังสืองานศพบางเล่มผมก็อ่านนะ ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืองานศพนะ แต่ว่ามันก็ไม่ใช่ ถูกไหม บทเรียนมันต้องเป็นบทเรียนปัจจุบัน ผมคิดว่าสิ่งที่เขียนในหลาย ๆ ครั้ง อาจจะตรงเกินไป

ได้คุยกับคุณอภิสิทธิ์หรือไม่ในช่วงการเมืองร้อนแรงปี 2552-2553 แล้วอยู่คนละพรรคอยู่คนละฝ่าย

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คือ ตระกูลเวชชาชีวะ เดิมเป็นตระกูลพ่อค้า คุณปู่เป็นพ่อค้า แต่จริง ๆ พี่ชายคุณปู่ คือพระบำราศนราดูร ซึ่งเป็นข้าราชการแพทย์ แล้วถ้าถามว่าเป็นนักการเมืองไหม ก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข คุณพ่อผมเองเคยเป็นโฆษกรัฐบาลเคยเป็นรองเลขาธิการนายกฯ คุณพ่อคุณอภิสิทธิ์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข คุณอาผมที่จันทบุรีเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ

ดังนั้น ครอบครัวเวชชาชีวะเป็นครอบครัวการเมือง ข้าราชการการเมืองในรุ่นต่อ ๆ มา ในรุ่นเราก็มีคุณอภิสิทธิ์ มีผมที่ลงการเมืองกันไปเต็มตัว คุณอภิสิทธิ์เขาอาจจะจังหวะชีวิตดีกว่า ตั้งใจกว่า เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผมก็ว่าเรื่องของวงศ์ตระกูลก็เรื่องของวงศ์ตระกูล แต่เรื่องของการเมืองในการที่อยู่คนละฝ่ายมันอาจจะเป็นเพราะความเชื่อไม่ตรงกัน ผมเองไม่ได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเลวร้ายหมด แต่ผมมองการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่การเมืองอย่างที่ผมเชื่อ

แล้วพอผมมาทำงานกับคุณทักษิณ ชินวัตร แล้วก็ทำไทยรักไทย เราก็คิดว่าเป็นพรรคสมัยใหม่ เป็นพรรคที่ก้าวหน้า แล้วก็สามารถเปลี่ยนประเทศได้ แล้วผมก็เลือกอยู่กับคุณทักษิณมาตั้งแต่พลังธรรม การทำงานการเมือง ผมอาจจะไม่โด่งดังเท่าคุณอภิสิทธิ์ ในช่วงแรก แต่ผมก็ไม่ได้มีความอิจฉาตาร้อนอะไรเขา ก็ถือว่า เป็นญาติกัน ทำงานกัน

เด็ก ๆ ก็เคยตีเทนนิสกัน เล่นกีฬากัน ไม่ได้โกรธแค้นอะไรกัน แต่พอการเมืองร้อนแรง ก็แน่นอนแหละ เรื่องบางเรื่องก็พูดกันไม่ได้ เจอในงานญาติ บางทีก็ไม่อยากไป ถ้าไปบางงานจำเป็นต้องเจอกัน ก็ไม่พูดเรื่องการเมืองเท่านั้นเอง

แต่ในความร้อนแรงของการเมืองในยุคนั้น เรียกว่า ไม่ได้คุยกันเลย แม้กระทั่งคนในพรรคผมก็ไปพูดว่า ต้องเป็นพวกอภิสิทธิ์แน่ ไปรายงานหรือเปล่า เราก็บอกมันไม่มีหรอก เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครพูดเลยเพราะพี่น้องอยู่คนละพรรคกันเต็มไปหมด สามีภรรยาอยู่คนละพรรคก็มี ผมเป็นยุคแรก ยุคนำร่อง คุณอภิสิทธิ์กับผมเป็นยุคนำร่อง

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

คุณอภิสิทธิ์โชคดีหรือโชคร้ายที่เป็นนายกฯ ในยุคที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: นี่ไงก็คือเป็นอะไรที่เป็นทางเลือกที่เขาทำได้ คุณอภิสิทธิ์ และนักการเมืองหลายคน ไม่ใช่มาร์คคนเดียว เป็นคนที่พูดเรื่องประชาธิปไตย แล้วจริง ๆ ถ้าจำได้ในยุคพฤษภา 2535 คุณอภิสิทธิ์เองก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกไหมครับ แล้วเขาก็ยืนในสายประชาธิปไตย

เพราะฉะนั้น การที่เดินเข้าไปในราบ 11 วันนั้น แล้วไม่รู้ว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ผมเองคงไม่ลงรายละเอียดตรงนั้น แต่ออกมาเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับผมนะครับ ในทางประวัติศาสตร์ วันนั้นคุณอภิสิทธิ์ สามารถที่จะ หนึ่ง ลาออกได้ หรือ สอง ยุบสภา

หลายคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีในต่างประเทศ ถ้าได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาในวิถีทางทางรัฐสภา ไม่ได้บอกว่าวิถีทางผิดนะ วิถีทางทางรัฐสภา รัฐสภาเลือกเข้ามา เขาจะอยู่ช่วงสั้น ๆ แล้วก็ยุบสภา เพื่อที่จะให้ประชาชนตัดสิน ประชาชนอาจจะเลือกเขากลับมาก็ได้ หรือเลือกคนอื่นก็แล้วแต่ แล้วมันก็จะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย

ในเมื่อคนเสื้อแดงตอนนั้น สิ่งที่คนเสื้อแดงเรียกร้อง ถามว่าผมเห็นด้วยไหม ผมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนะ อาจจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการ วิธีการที่ปิดสี่แยก วิธีการที่ไปลุยที่ประชุมอาเซียน วิธีการที่ไปทุบรถคุณอภิสิทธิ์ คุณนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ตรงนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังความรุนแรงอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่คนเสื้อแดงตอนนั้นเรียกร้อง ไม่ได้เรียกร้องอะไรเลยนอกจากให้ยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง เรียกร้องประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น วิถีทางในการตัดสินใจของเขาเอง เขามีวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งเขาอาจจะมองว่า ได้รับเลือกจากรัฐสภาเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ใช่ มันเป็นกระบวนการ แต่ถ้าเขาเลือกที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันนั้น ผมว่า วันที่จะเกิดความรุนแรงต่อเนื่องอีก มันอาจจะลดลงนะ

ยุบสภา แล้วก็คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งก็เป็นอะไรที่น่าผิดหวังนะ พอพูดตรงนี้

กรณีคุณทักษิณเอง หรือคุณยิ่งลักษณ์เอง มีผู้ใหญ่บางคนมาบอกผมว่า ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์ อยากยุบสภาเอง แต่การยุบสภาเนี่ย คือคุณทักษิณ ยุบสภาหรือคุณยิ่งลักษณ์ ยุบสภา ในเงื่อนไขเดียวกันเลยนะ คือคิดว่าระบอบประชาธิปไตยต้องการเดิน ในเมื่อมีความขัดแย้งในสังคม ในทางการเมือง ก็ยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน

แต่ทางฝ่ายอำนาจนิยมกลับบอกว่า ไม่อ่ะ ยุบสภาก็ดีแล้ว อำนาจไม่มีแล้ว สภาไม่มีแล้ว ขัดขวางการเลือกตั้ง บอยคอตการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง อะไรต่าง ๆ นานา มันเป็นที่น่าเสียใจ ในขณะที่พอตัวเองมีอำนาจก็คงอำนาจนั้นไว้ เพราะฉะนั้น มันมีอะไรที่ยังเป็นบทเรียน ผมไม่ได้มาพูดวันนี้เพื่อให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อะไร แต่ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์

ถ้าเราให้ระบบประชาธิปไตยมันเดิน การเลือกตั้งมันเดิน ตรงนี้มันจะทำให้การรัฐประหารหรือการช่วงชิงอำนาจในทางที่ไม่ใช่เป็นวิถีทางที่ให้อำนาจกับประชาชน มันหายไป แต่ถ้ายังมีความคิดอย่างนี้อยู่ แล้วไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ มันก็จะเกิดขึ้นอีก

การขอโทษ เพื่อรับผิดชอบทางการเมือง

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ในทางการเมือง ผมเองก็ขออนุญาตบอกตรง ๆ ว่า จนบัดนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ วิถีทางทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์ ในหลายเรื่อง เพราะว่าการที่เขาตัดสินใจเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เขามีเงื่อนไขในชีวิตของเขา อันนี้ผมไปตำหนิไม่ได้

แต่สิ่งที่ผมยังติดใจอยู่ทุกวันนี้ ผมคิดว่า การที่เป็นรัฐบาล การที่เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมีคนตาย มีคนเสียชีวิตกลางเมืองถึงอย่างน้อย 99 คน แล้วก็มีการสั่งทหาร ไม่รู้ว่าใครสั่ง ในศาลก็ต้องไปว่ากัน แต่ในทางการเมืองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรบางอย่างนะครับ เรื่องคดีความก็เรื่องหนึ่ง ผมเองก็ไม่อยากขึ้นศาลกับคุณอภิสิทธิ์ เพราะฉะนั้นผมจะไม่พูดอะไรมากกว่านี้ เพียงแต่ว่า ทางการเมือง ต้องมีความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบตรงนี้ อาจจะเป็นการขอโทษประชาชน เป็นการขอโทษคนเสื้อแดง จะเป็นอะไรก็ตาม ผมยังไม่เคยได้ยินจากปากคุณอภิสิทธิ์ ฉะนั้น อันนี้ถึงวันนี้จะเจอกัน คุยกัน แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ติดใจผมอยู่ แล้วก็จริง ๆ The People เป็นที่แรกที่ผมพูดอย่างนี้ออกกล้อง

เกมต่อรองในรัฐสภาเพื่อพลิกขั้ว เคยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2550 มีนายกฯ 3 คน (สมัคร-สมชาย-อภิสิทธิ์) จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ก็เป็นไปได้ คือการสลับขั้วในสภา เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่า นาทีนี้นะ ดูจากการลงคะแนนของประชาชาชน ดูจากด้อมส้มเอง หรือติ่งแดงเอง ผมว่ายาก คือหมายความว่า ถ้าเกิดวิกฤตในสภาจริง ๆ ผมว่า ทางออกที่ดีที่สุดของนายกรัฐมนตรี คือยุบสภา แล้วให้มีการเลือกตั้งให้ได้ ไม่ใช่ยุบสภาแล้วเกิดสุญญากาศอีก

แล้วในอิตาลีหรือญี่ปุ่น มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จะเลือกตั้งบ่อยมาก นายกฯ ใหม่มาอีกแล้ว จนกระทั่งในที่สุดมันเริ่มนิ่ง เพราะประชาชนเริ่มรู้แล้ว ฉันจะต้องเลือกอะไร คนนี้ใช่ คนนี้ไม่ใช่ ชุดความคิดนี้ใช่ ชุดความคิดนี้ไม่ใช่ วันนี้มันต้องไปสู่กระบวนการนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นนายกฯ 3 คน ผมเองก็กลับมาโจทย์ที่ว่า ถ้านายกฯ ใหม่เข้ามา ก็ยุบสภาดีกว่า ถ้าไม่ยุบสภา แต่ลาออก คนใหม่มา ก็ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน

ยุบสภาดีกว่าที่จะมาเล่นเกมต่อรองในสภาเพื่อพลิกขั้ว

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: เกมต่อรอง มันทำให้อำนาจอยู่ในมือไม่กี่คน แล้วพอยิ่งพลิกขั้ว สมมติพลิกขั้ว ผมเอง 1 ใน 25 ล้านเสียงที่ผมเลือกสายเสรีนิยมประชาธิปไตย โอ้ย พลิกขั้วได้ไง 25 ล้านเสียง จาก 32 ล้านเสียง บอกให้คุณตั้งรัฐบาล

ถ้าเพื่อไทยมาพลิกขั้ว เพื่อไทยก็เสียหมา อันนี้ยกตัวอย่าง ถ้าก้าวไกลถีบเพื่อไทยทิ้ง ก้าวไกลบอก ฉันจะเป็นฝ่ายค้าน ก้าวไกลก็เสียนะ หมายความว่า คุณเล่นเกมในสภา ก็เขาให้คุณ 2 คนมา 25 ล้านเสียง คุณก็ต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ถูกไหม

ถ้าคุณไปดึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเพื่อไทยส่วนหนึ่งไปลงคะแนนให้ แล้ว พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าว่าแต่น้อง ๆ อายุน้อย ๆ เลย ไอ้อายุ 60 ปีอย่างผมก็ไปลงถนนด้วย

แต่มันอาจจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ การเลือกนายกฯ มันจะมีคนเสนอแข่ง แล้ว ส.ว. ยังมีบทบาท เพราะฉะนั้น ถ้าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อย ได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อย อันนั้นล่ะ จะเป็นโจทย์ที่น่าคิดว่า จะเดินกันอย่างไรต่อในฝ่ายประชาธิปไตย

ปี 2548 มีรัฐบาลพรรคเดียวแล้วถูกรัฐประหาร 2549 คุณสุรนันท์มองว่าในอนาคต ถ้าหากมีการเลือกตั้งแล้วมีรัฐบาลพรรคเดียวได้ จะนำไปสู่รัฐประหารหรือไม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คือจริง ๆ แล้วการรัฐประหารมันโบราณมากนะ เป็นการแก้ไขปัญหาที่คิดว่าจะแก้ได้ แต่ความจริงมันแก้ด้วยกำลังไม่ได้ การแก้ปัญหาดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตย ดีที่สุดคือให้ประชาชนเลือกตั้งบ่อย ๆ ไม่พอใจก็ยุบสภา สู้ไม่ได้ก็ยุบสภาไปสู้กันในสนามเลือกตั้ง

ที่มันถูกบิดเบือนมากในปี 2548 ก็คือการบอยคอตการเลือกตั้ง 2549 (หลังทักษิณยุบสภา) หรือ ในการยุบสภาของคุณยิ่งลักษณ์ ในปี 2556 กปปส. มีการขัดขวางการเลือกตั้ง มีการบอยคอตการเลือกตั้ง 2557 ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้กติกาของประชาธิปไตยไม่เดิน ถ้าเกิดกติกาประชาธิปไตยเดิน มันผลัดกันมีอำนาจได้ เสรีนิยม - อนุรักษนิยม ก็เหมือนในต่างประเทศ

แต่เมื่อคุณมีความใจร้อน บอกว่า ฉันไม่เชื่อในระบบนี้ ฉีกทิ้งดีกว่า อันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์ไทย เราก็แก้ปัญหาแบบไทย ๆ เราก็มีรัฐธรรมนูญเยอะที่สุดในโลกแล้วมั้ง...

ตอนแรกผมกำลังคิดว่าเลือกตั้ง 2566 จะโมฆะหรือเปล่า ไม่งั้นเราคงจะเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งโมฆะมากที่สุดในโลกด้วย แต่ดีแล้วที่ผ่านมาได้

ที่ผ่านมาเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2 รอบ ผมถือว่าเยอะนะ คือประชาชนลงเสียง หรือไม่ได้ลงเสียง หรือนับคะแนนยังไง มันก็ต้องมีการเลือกตั้งให้ได้ ใช่ไหมครับในระบอบประชาธิปไตย

ถามว่ามันมีการรัฐประหารอีกได้ไหม ได้แน่นอน ส่งสัญญาณเตือนก้าวไกลด้วย คือในระบบประชาธิปไตยเนี่ย คนที่มีอำนาจ ถ้าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่แค่ไหน ก็จะมีคนที่เป็นเสียงส่วนน้อย

คือมีคนมาที่หนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล กับคนที่เป็นเสียงส่วนน้อย ในระบอบประชาธิปไตย เสียงส่วนใหญ่ก็ต้องฟังเสียงส่วนน้อย ความต้องการของเสียงส่วนน้อยก็สำคัญ ยิ่งอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร สมมติฝ่ายรัฐบาล รวบรวมได้ 300 - 400 เสียง อีก 100 - 200 เสียงที่เป็นเสียงของฝ่ายค้าน เขาก็เป็นผู้แทนราษฎรเหมือนกันนะ เขาไม่ใช่โนบอดี้ เขาเป็นผู้แทนราษฎร มีคนเลือกเขาเข้ามา เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องมีสิทธิมีเสียงที่จะพูด

บทเรียน ‘เผด็จการรัฐสภา’

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ถ้าเกิดรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่ไม่ฟังเสียงส่วนน้อย แล้วทำให้เกิดปัญหาในสภา แล้วเหตุการณ์ที่เป็นวาทกรรมที่ผมไม่เห็นด้วยเพราะผมเคยอยู่พรรคไทยรักไทย มันก็เป็นอะไรที่ต้องศึกษาในประวัติศาสตร์ก็คือ เผด็จการรัฐสภา มันก็ทำให้เกิดเรื่องในสภา

แล้วพอแก้ปัญหาในสภาไม่ได้ ก็เข้าสู่ท้องถนน เข้าสู่ท้องถนนแล้วมีเรื่องก็เปิดหน้าต่าง หรือประตูโอกาสของคนที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยให้ทำการรัฐประหาร ตรงนี้มันคือเรื่องของนักการเมืองแล้ว

ถ้านักการเมืองพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย สามารถรักษาทรง แล้วก็ผลักดันเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประชาชนจริง ๆ 25 ล้านเสียงนั้น ก็จะคงอยู่กับเขา แต่ถ้าเกิดมีการขัดแย้งกันมีการแย่งตำแหน่งกัน เป็นเรื่องโควต้า เป็นเรื่องของอะไรที่เป็นการเมืองเก่า ๆ โควต้านี้จะเป็นของใคร ใครจะมาเป็นนายกฯ ต้องแบ่งกันต้องอะไรกัน ใครจะเป็นรองนายกฯ ผมว่า ในที่สุดคนก็จะเบื่อ

คนต้องการการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ก้าวไกลพูดถูกที่สุด เพียงแต่เขามองว่า ก้าวไกลคือ ตัวจักรกลสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเขามองพรรคอื่นเป็นพรรคเก่าหมด แม้กระทั่งเพื่อไทย ต้องขอโทษเพื่อน ๆ ในเพื่อไทยด้วย เพราะว่ายังเป็นคนเก่า

คนมองก้าวไกล เหมือนเห็นของใหม่ ยังไม่ได้ทดลองเล่นหรอก แต่ต้องลองแล้ว เพราะว่า ไม่ไหวแล้วของเก่า เพราะฉะนั้น ก้าวไกลถึงมาที่หนึ่ง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ก้าวไกลกับเพื่อไทยก็จะทำให้เสียของได้ ถ้ายังเล่นเกมการเมืองแบบเก่า ๆ หรือเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ตรงนี้จะมีปัญหามาก แล้วก็จะกลับมาที่ แล้วมันจะเกิดรัฐประหารอีกไหม ก็ถ้าเกิดมันเกิดความวุ่นวาย แก้ปัญหาไม่ได้ มีคนที่ไม่เห็นด้วย ถกเถียงกัน ลงไปตีกันบนท้องถนน ในที่สุดมันก็เปิดโอกาส แล้วคนที่ทำให้เสียโอกาสก็คือนักการเมืองนั่นเอง

สัมภาษณ์ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้กาส้ม 2 ใบ เตือน ‘ก้าวไกล’ ถ้าวิกฤตคนลงถนน เสี่ยงรัฐประหาร

ถ้าเทียบการเลือกตั้ง 2544 สามารถ ‘ล้มบ้านใหญ่’ ได้ แต่ว่าหลังจากนั้น ระบบบ้านใหญ่ก็กลับมาอีก แล้วแปลว่าหลัง เลือกตั้ง 2566 ที่หลายคนคาดหวังว่าได้ล้มบ้านใหญ่ไปแล้ว ระบบบ้านใหญ่ก็จะกลับมาอีกได้หรือไม่

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: คือจริง ๆ บ้านใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ผมเองก็รู้จักบ้านใหญ่หลายคน บ้านใหญ่หลายคนเขาก็ทำการเมืองมานาน แล้วก็เป็นคนที่ตั้งใจทำงานการเมือง อาจจะอยู่ต่างจังหวัด แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ ก็มีบ้านใหญ่หลายบ้าน แต่ว่าในความที่เป็นบ้านใหญ่นั้น เมื่ออยู่ในอำนาจนาน ๆ คือเป็น ส.ส. มานาน คนก็เกิดความเบื่อได้ ไม่ได้หมายความว่าบ้านใหญ่ไม่ดี

ลูกหลานของบ้านใหญ่หลายคนก็ศึกษาต่างประเทศ เรียนดีกว่าพ่อ แล้วก็กลับมาเป็นนักการเมืองที่ดี บางคนก็ยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่น แล้วในการเมืองแบบไทย ๆ ซึ่งมันไม่ได้สะท้อนว่าจะต้องเป็นการเมืองแบบตะวันตก เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ประเทศไทยแข็งแรงมาก มันก็เป็นส่วนที่ทำให้คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง อย่างบ้านใหญ่หลายบ้านก็มีสิทธิกลับมาได้ แล้วถ้าเขากลับมาแล้วเขาไม่ได้คิดว่าเขาเป็นบ้านใหญ่เพื่อมาเอาเปรียบประชาชน หรือมาทุจริตคอร์รัปชั่น ผมไม่เห็นเสียหายตรงไหน ยิ่งถ้าหากเป็นคนรุ่นใหม่

แต่บ้านใหญ่เอง ในลักษณะที่ถ้ารุ่นพ่อ คือรุ่นผมขึ้นไป 60 - 70 กว่า ยังอยากลงเนี่ย มันก็ต้องคิดเหมือนกัน เอาลูกลงดีไหม แล้วก็ปล่อยให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ มีความคิดของตัวเองขึ้นมา ผมเองว่าไม่เสียหายที่จะมีนามสกุลที่เป็นที่รู้จักในจังหวัด แล้วก็อาจจะมีพี่น้องหรืออาหรือลุงเป็นนายก อบจ. แล้วหลานจะเป็น ส.ส. อันนั้นไม่ผิด แต่ถ้าเขาใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิดสิ อันนั้นเราก็ต้องมีระบบตรวจสอบ ซึ่งต้องแยกกัน

เพราะฉะนั้น ในครอบครัวใหญ่ ๆ ก็มีสิทธิไปมีเสียงได้ เพียงแต่ประชาชนต้องยอมรับ คือ บ้านใหญ่จะมา take it for granted คือคิดว่าอะไรก็ล้มฉันไม่ได้ ช่วยคนมาเยอะ คะแนนเสียงต้องเป็นของฉันแน่ ตอนนี้มันไม่แน่นอนละ เพราะคนที่มากับคนรุ่นใหม่ เขาคิดอีกแบบหนึ่ง เขาเข้าใจโลกไปอีกแบบหนึ่งแล้ว ถ้าคนที่เป็นตระกูลใหญ่ เป็นบ้านใหญ่ในจังหวัดนั้น ไม่เข้าใจความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป รุ่นใหม่ก็จะขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วในที่สุด ตัวเองก็ต้องอยู่ในบ้าน มาทำงานการเมืองไม่ได้ แค่นั้นเอง

ยุคก่อตั้งไทยรักไทย พรรคใหม่ในอดีต เทียบก้าวไกลในฐานะพรรคใหม่ยุคปัจจุบัน

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: ตอนก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจริงๆ วันที่จดทะเบียน ผมไม่ได้เป็น 1 ในผู้ก่อตั้งพรรคที่ไปจดทะเบียนผมยังไม่ได้กลับเข้าไป ผมไปวันที่เปิดตัวที่โรงแรมสยามซิตี้ 14 กรกฎาคม 2541 ผมก็มีคุณทักษิณ และผู้ใหญ่ ชวนไปทำ ก็ไปดู ๆ แล้วในที่สุดก็ ไปช่วยทำงาน ตอนนั้นพรรคอยู่ตรงราชวิถี พรรคเล็ก ๆ

เราก็ภาวนาว่า คุณชวน หลีกภัยอย่าเพิ่งยุบสภาเพราะว่า พรรคยังไม่พร้อมลงเลือกตั้ง หลังจากนั้นแล้วคุณชวนยุบสภาปี 2543 เลือกตั้งปี 2544 ทำให้เรามีเวลาสะสม คุณทักษิณมีเวลาตั้งกรรมการนโยบาย ดึงคนเก่ง ๆ เข้ามา ตกผลึกนโยบาย จะเห็นว่านโยบายพรรคไทยรักไทยชุดแรก เป็นนโยบายที่ค่อนข้างจะตกผลึกทีเดียว ไม่ว่าจะสามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน มาตกผลึกที่ไทยรักไทย เพราะมีเวลา ไม่ใช่ตั้งพรรค 3 เดือน แล้วมาเลือกตั้ง

มีเวลาสะสมกำลัง มีเวลาหาสมาชิกพรรค สมัยก่อนสมาชิกพรรคไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีหลักฐานมากมาย คนที่ลงก็มีเวลาเตรียมตัว

เพราะฉะนั้น พอเลือกตั้งปี 2544 ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยจริง ๆ ชุดความคิดก็เป็นชุดใหม่ที่ไม่ได้มาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนนโยบายรัฐบาลจะคล้าย ๆ แผนพัฒนา ไม่ได้ว่าตรงนั้นผิด แต่ว่าอันนี้มันก้าวหน้ากว่า เพราะมีเวลาคิด มีเวลาทดลอง มีเวลาระดมสมองจากทุกภาคส่วน

อันที่สองก็คือ ผู้สมัครของเรามีเวลาเดินทำความรู้จักกับคน ตอนนั้นคนที่อยู่ข้างในก็ไม่คิดว่าจะชนะท่วมท้นกันขนาดนั้นนะ

ตอนปี 2544 ไทยรักไทยได้ส.ส.อันดับ 1 แล้วการต่อรองระหว่างพรรคร่วมเป็นอย่างไร

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: มันแทบจะไม่มี ผมเองก็จำไม่ได้ ตอนนี้ห่วงแต่ก้าวไกลจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่จริงๆ แล้ว ก็อย่างที่บอก พอไทยรักไทยจำนวนเสียงมากพอ เพราะฉะนั้น รวบรวมอีกไม่กี่เสียงก็ได้เสียงส่วนใหญ่แล้ว

แล้วอย่าลืมว่า ไม่มีปัจจัยเรื่อง ส.ว.ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวในปัจจุบัน

ส.ว.ตอนนั้นก็เลือกตั้งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คือ จบที่ 500 คน เมื่อมี ส.ส. 248 เสียงแล้ว(ในปี 2544) การบวกเข้ามาอีกไม่กี่พรรคก็เกิน 250 แล้ว แล้วเมื่อทำงานต่อไปก็มีการรวมพรรคเข้ามาอีก ก่อนปี 2548 มีทั้งคุณเนวิน ชิดชอบเข้ามา คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เข้ามา

ในเหตุการณ์การตั้งรัฐบาล 2 เหตุการณ์ที่ผมอาจจะมีส่วนร่วมรับรู้ด้วยในปี 2544-2548 เงื่อนไขมันคนละเงื่อนไขกับปัจจุบันเลย แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี สร้างความมั่นคงให้ระบบการเมือง ระบบบริหาร และการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย ตอนนั้นการเมืองมั่นคง กติกาชัดเจน

เลือกตั้ง 2544 ได้รัฐบาลคุณทักษิณ กับเลือกตั้ง 2566 ได้พรรคก้าวไกลมาอันดับ 1 มีสิ่งที่คล้ายกันและต่างกันอย่างไร

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: จริง ๆ แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิงนะ

คล้ายกันในแง่ เป็นพรรคอันดับหนึ่ง

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: มันมี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ กติกาที่ผ่านมา อันนี้ผมคิดว่า เหมือนกันตรงกติกาตั้งแต่ปี 2540 คุณทักษิณชนะมาตลอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนกติกาอย่างไร จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอย่างไร จะเป็นไทยรักไทยถูกยุบ พลังประชาชนมาเลือกตั้งชนะ เพื่อไทยมาเลือกตั้งชนะ และแม้กระทั่งครั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลรัฐประหารที่เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้

จริง ๆ ครั้งที่แล้วปี 2562 เพื่อไทยก็มาที่หนึ่งนะ เพียงแต่การรวบรวมเสียงของพลังประชารัฐที่มาที่สอง สามารถรวบรวมเสียงได้มากกว่าเพื่อไทย โดยการรวมในสภาผู้แทนราษฎรก็เกือบจะผ่านอยู่แล้ว แล้วได้ ส.ว.อีก 250 ชัดเจน อย่างไรก็ตาม 376 เป็นของฝั่งพลังประชารัฐตั้งแต่แรก

แล้วอำนาจของการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 การที่เป็นคสช. อำนาจยังเต็ม มันยังไม่คลายตัวมาก จากอำนาจของเผด็จการรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การสืบทอดอำนาจมันชัดเจนเพราะไม่ได้คลายอำนาจตัวนั้น

แต่พอปี 2566 พลังอำนาจของยุคเผด็จการมันเหมือนคลายตัว เพราะมันห่างมาเยอะ มันห่างมาอีก 4 ปี มันมีหลายเรื่องที่ไม่น่าพอใจ แล้วการที่อยู่ในอำนาจ 8 ปีแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าคนเบื่อ ผมเองในช่วงที่ไปทำพรรคสร้างอนาคไทยให้อาจารย์สมคิด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดผมทำนายไม่ถูก แต่ผมเดินในกรุงเทพฯ ละเอียดมาก เรารู้สึกได้เลยว่าคนต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ชัด เพราะก้าวไกลยังไม่ชัด แล้วมีพรรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ

แต่ตอนหลัง ๆ เนี่ย ผมมีความรู้สึกเลยว่า ก้าวไกลมาแน่ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2560 เลือกตั้งปี 2566 จริง ๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมก็แพ้นะ แพ้อย่างราบคาบด้วย เพราะว่า มันไม่ใช่แค่ก้าวไกล แต่มีเพื่อไทยด้วย ก้าวไกลได้สิบสี่ล้านเสียงกว่า เพื่อไทยได้สิบล้านเสียงกว่า รวมเป็นยี่สิบห้าล้านเสียง จากผู้มาใช้สิทธิ์สามสิบเอ็ดล้านกว่า ๆ เกือบสามสิบสองล้านเสียง มันชัดเจน คือยังไงการเมืองก็ต้องเปลี่ยนขั้ว

ก็ต้องยอมรับนะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล้าลงเลือกตั้ง กล้าไปหาเสียง อันนี้ก็ได้ใจผมนะ คือไปเดินหาเสียงเต็มที่ สู้ด้วยการหาเสียง แต่แพ้ชัดเจน จะพูดอย่างไรก็ตาม ฝ่ายเสรีนิยมชนะฝ่ายอนุรักษนิยมชัดเจน

ในการเลือกตั้งปี 2566 ใครจะบอกว่าอย่างไรก็ตาม แต่ยี่สิบห้าล้านเสียง เขาเลือกฝั่งเสรีนิยม เขาเลือกฝั่งประชาธิปไตย เขาไม่เลือกอำนาจเก่า

เคยอยู่ไทยรักไทย เคยอยู่เพื่อไทย ร่วมเหตุการณ์รัฐประหาร 2 ครั้ง การเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2 ครั้ง สุดท้ายย้ายไปพรรคสร้างอนาคตไทย ตอนนั้นคิดอย่างไร

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: เราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลชุดเก่า ผมมองว่าสเปกตรัมทางการเมือง ทางฝ่ายก้าวหน้า มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวนำ แล้วมีเพื่อไทยที่ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยมาต่อเนื่อง

จริง ๆ ความสำเร็จของก้าวไกลในวันนี้ ก็ต้องขอบคุณเพื่อไทยนะ เพราะเพื่อไทยก็สู้มาตลอด

แต่ในขณะเดียวกัน ผมมองว่า น่าจะมีพรรคกลาง ๆ ความเป็นกลางในโลกมันไม่มีหรอก แต่ในต่างประเทศมันมีพรรคซ้ายกลางหรือขวากลาง ผมมองว่า ในกลุ่มอนุรักษนิยมในเมืองไทย ผมยังมีความเชื่อว่าคนไทยมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงพอสมควร แล้วการเชื่อมั่นในเสาหลักของประเทศ สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตรงนี้ถ้ามีพรรคการเมืองใหม่ ที่เสนอชุดความคิดในเชิงอนุรักษนิยมใหม่ แล้วสามารถใช้ชุดความคิดนี้เสนอต่อประชาชนได้ โดยเฉพาะในแนวแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มันจะน่าสนใจ

คือความท้าทายของผม ผมเป็นคนชอบท้าทาย ลองทำพรรคใหม่ไหม แล้วก็พอดีคุยกับอาจารย์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ท่านเองก็อยากทำงานการเมือง เพราะเห็นปัญหาเศรษฐกิจเรื่องใหญ่ ผมก็เลยลองทำกับท่าน พอทำไปสักปี ความคิดเห็นทางการเมือง วิธีการทางการเมืองในบางกลุ่มบางก้อน เห็นไม่ตรงกัน ผมก็เลยถอยออกมา

ทำไมคิดว่าพรรคนี้จะกลางในเมื่อแกนนำพรรคนี้เพิ่งออกมาจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: เข้าใจครับ ผมเองก็มองว่า มันอาจจะไม่ใช่ทีเดียว แต่ว่า เราก็เชื่อมั่นในความเป็นนักวิชาการ ของ ดร.สมคิดเอง แม้กระทั่ง ดร.อุตตม ส่วนคุณสนธิรัตน์ ผมไม่ได้รู้จักมาก่อน มารู้จักที่สร้างอนาคตไทย แต่ก็เป็นนักธุรกิจที่ได้รับการยอมรับพอสมควร การที่เขาได้เป็นหัวหน้าพรรค หรือ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ผมเชื่อว่า อาจารย์สมคิดเองก็อยากจะเปลี่ยนประเทศ ด้วยพลังตรงนั้น

อาจารย์สมคิดก็มีความรู้สึกว่าประเทศมันแย่แล้วแหละ อาจารย์อยากใช้ความรู้ไปแก้ปัญหาของประเทศ เช่นเดียวกัน พรรคสร้างอนาคตไทยในตอนนั้น อาจารย์สมคิด ก็บอกว่ามันน่าจะมีอีกสักพาหนะหนึ่งเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่มันก็มีปัญหาของภาพพจน์ ผมเองก็ยอมรับ ซึ่งตรงนี้ผมก็บอกว่า ภาพพจน์ก็ต้องเปลี่ยน คือพูดง่าย ๆ ว่า ผมเองก็เป็นกลุ่มหนึ่งเช่นเดียวกับนักการเมืองหลาย ๆ ท่านว่าต้องชัด ไม่เอา 3 ป. ไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ คือไม่ไปยกมือให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งตอนนั้นก็มีความชัดเจนพอสมควร

ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเป็นเผด็จการ ขวา-ซ้ายนะ ผมเป็นนักประชาธิปไตยที่อยากให้ประชาชนมีทางเลือก มีพรรคการเมืองเยอะ ๆ แล้วผมมองแล้วว่า พลังประชารัฐเป็นพรรคเก่า ยังไงก็ล่มสลาย เพราะฉะนั้น พรรคใหม่ก็น่าจะมี ตอนนี้ก็มีคนคิด ฝ่ายขวาก็มีคนคิด มีคนมาชวนผม ผมบอกไม่เอาแล้ว มาตั้งพรรคก็เอาให้ชัดว่าชุดความคิดจะเป็นอย่างไรคนจะเป็นอย่างไร ขี้เกียจทะเลาะกับใครอีก

อยู่พรรคสร้างอนาคตไทยในเวลาไม่นาน 

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ: จริง ๆ ก็มีข้อดีข้อเสีย เพื่อน ๆ ก็ตำหนิผม หลายคน โดยเฉพาะสายประชาธิปไตย เขามองว่า ไปอยู่ได้อย่างไรกับคนคนนั้นคนนี้ ในขณะเดียวกัน ผมก็อธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่ผมอยากทำ มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยในความคิดผมนะ แล้วก็สิ่งที่ผมได้จริง ๆ ผมได้กลับไปเดินในพื้นที่อีกรอบ เดินอย่างละเอียด ได้คุยกับนักการเมืองไปคุยกับผู้นำชุมชนได้คุยกับ

ส.ส. อดีต ส.ก. ส.ข. มันทำให้เราเข้าใจอีกเยอะเลยว่า ปัญหาที่เราเห็นไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังมีอีกเยอะ และเป็นปัญหาที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศต่อไป

ผมยังคิดด้วยซ้ำว่า สิ่งที่ก้าวไกลพูดทุกวันนี้ หรือเพื่อไทย หรือพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติพูด ยังไม่ถึงแก่นที่ประชาชนต้องการ เพราะว่าการพบประชาชนช่วงหาเสียง มันผิดกับการพบประชาชนแล้วได้นั่งคุยเป็นเรื่องเป็นราว ส.ส.ที่อยู่ติดกับพื้นที่จะคุยให้ท่านฟังได้ว่าประชาชนเดือนร้อนอย่างไร

ผมเข้าใจเลยว่า ปัญหาของประเทศตอนนี้มันใหญ่มาก แล้วถ้ากรุงเทพฯ คนเดือดร้อนขนาดนี้ แล้วมีปัญหาในหัวใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขนาดนี้ ผมว่า ประเทศไทยถ้าไม่ระวัง จะเข้าสู่ยุคลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โลกเป็นอย่างนี้ ถ้าการเมืองไทยยังไม่ลงตัว ยังมาทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนเดิม ไม่แก้ปัญหาในสภาให้ได้ แล้วเทลงท้องถนน อันนี้จะยุ่งเลยทีเดียว