02 ก.ค. 2562 | 02:45 น.
ปัญหารถติดมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยต้องเผชิญมายาวนานหลายทศวรรษ แต่ในอดีตเด็กคนหนึ่งที่สอบเรียนต่อมัธยมปลายไม่ติด เกือบถูกรีไทร์สมัยเรียนปริญญาตรี ที่ชื่อว่า “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” มีความฝันอยากแก้ปัญหานี้ด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ต่อมาความมุ่งมั่นนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เขาได้ไปเรียนต่อที่หนึ่งในมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมที่ดีที่สุดในโลก อย่าง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT จนได้ปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม แล้วได้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 ปี ได้คิดค้นทฤษฎีการคำนวณขุดเจาะอุโมงค์ที่ก้าวหน้าด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งได้รับการอ้างอิงและนำไปใช้ประโยชน์มากเป็นอันดับ 5 ของโลก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานคร ด้วยการแก้ปัญหารถติดเรื้อรังยาวนาน และน้ำท่วมขังรอการระบาย ด้วยวิศวกรรมอุโมงค์ที่เขาได้ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ The People มีโอกาสสนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้ที่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งจะคืนรอยยิ้มให้กับคนกรุงเทพอีกครั้ง ดร.สุชัชวีร์ : ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เติบโตที่ระยอง เรียนจนจบ ม. 6 แล้วได้ทุนโควตาช้างเผือกโดยไม่ต้องสอบเอนทรานซ์ มาเรียนที่วิศวะฯ ลาดกระบัง ภาควิชาโยธา เพราะตอนเด็ก ๆ อยากจะสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เห็นคนสร้างตึก Empire State ที่มหานครนิวยอร์ก อยากเป็นเขาบ้าง เห็นคนสร้างสะพาน Golden Gate ก็อยากจะเป็นเขาบ้าง คิดว่าอยากจะเป็นวิศวกรรมโยธา เพราะดูเหมือนว่าสร้างสิ่งใหญ่โตให้คงทนอยู่นานเท่านาน ก็เลยมาเลือกเรียนสาขานี้ สายพระจอมเกล้าฯ เขาต้องการให้เราถนัดทางทฤษฎีและปฏิบัติด้วย ต้องพับแขนทำงานได้ คนที่จะจบปริญญาตรีสายพระจอมเกล้าฯ ต้องทำสเปเชียลโปรเจกต์ หรืองานส่งเพื่อที่จะจบปี 3 ปี 4 เพื่อนที่เรียนภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ก็จะทำโปรแกรมวงจรต่าง ๆ คนที่จะทำเกี่ยวกับเรื่องของวิศวะฯ คอมพิวเตอร์ก็เขียนโปรแกรม สำหรับโยธาส่วนใหญ่ก็จะทำง่าย ๆ คือทำเรื่องของกำลังคอนกรีต เอาขี้เถ้ากับแกลบมาผสมบ้างว่าน้ำหนักหนักเบารับกำลังได้แค่ไหม แต่ผมคิดว่าถ้าทำแค่นี้มันไม่สร้างความแตกต่าง แล้ววันนั้นผมฝันจะไปเรียนต่อปริญญาโทปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกทางด้านวิศวกรรมคือ MIT ที่สหรัฐอเมริกา หมายความว่าถ้าอยากจะไปตรงนั้น เราต้องทำอะไรที่เขาต้องสนใจจริง ๆ เพราะว่าด้วยตัวของผมเองไม่ได้เรียนเก่ง ถึงแม้ว่าเป็นที่หนึ่งจังหวัด เข้ามาเรียนวิศวะฯ แล้วทุกคนก็เก่งกันหมด ปีแรกเกือบถูกรีไทร์ด้วยซ้ำไป เรียกว่าลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะมาดีขึ้นก็คือปี 2 ปี 3 ปี 4 ก่อนมาได้เกียรตินิยมคนสุดท้ายของมหาวิทยาลัยแบบฉิวเฉียด เพราะฉะนั้นแล้วถ้าเกิดดูแค่เกรดของเรา ซึ่งไม่ได้ดี ภาษาอังกฤษของเราก็อ่อนแอมาก ต้องสอบ TOEFL ถึง 14 ครั้ง หมายความว่าจะทำให้เขาสนใจเราแล้วเราจะต้องมีวิธีนำเสนออะไรที่แตกต่าง แล้วเป็นอะไรที่ใช่จริง ๆ ก็เลยร่วมกับเพื่อนอีกสองคนมาทำอะไรที่มันสุดยอดจริง ๆ ก็คือการนำเสนอวิธีการออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่ยังไม่มีบีทีเอสครับ เพราะเราเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งติดตั้งแต่วันโน้นจนวันนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าถ้าเกิดเรารู้จักออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว กรุงเทพฯ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่า ก็เลยคิดค้นว่าเราจะทำโปรเจกต์เรื่องออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกกัน ซึ่งวันนั้นหาข้อมูลยากมาก อาจารย์ที่จบด้านนี้ก็ไม่มี ผมต้องนั่งรถเมล์ออกจากลาดกระบังตั้งแต่เช้าผ่านถนนอ่อนนุชซึ่งวันนั้นยังสร้างไม่เสร็จสักที ลำบากมาเป็นชั่วโมง ๆ เลย ต้องไปรอรถเมล์ต่อที่ปากซอยอ่อนนุช จากนั้นก็ต่อมาอนุสาวรีย์ชัยฯ แล้วไปเซ็นทรัลลาดพร้าว ก่อนที่จะนั่งรถต่อสุดท้าย 4 ต่อ ไปที่รังสิต เพื่อที่จะไปที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ซึ่งมีหนังสือตำราภาษาต่างประเทศทางด้านวิศวกรรมมากที่สุดในประเทศไทย โดยไปศึกษาเรื่องการออกแบบผนังอุโมงค์ใต้ดิน แล้วซีร็อกซ์กลับมาทำงานต่อที่ลาดกระบัง ก่อนจะเริ่มเขียนโปรแกรมสำหรับการออกแบบครับตั้งแต่ยุคนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่สนใจอยากจะแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครด้วยการทำรถไฟฟ้าใต้ดิน พอเรามีความคิดอยากที่จะมาแก้ปัญหาของกรุงเทพฯ แล้ว ก็คิดว่าเราทำยังไงถึงจะมีโอกาสได้ไปเรียนต่างประเทศ ก็ต้องมีการวางแผน จะให้สมัครไปดุ่ม ๆ ด้วยภาษาอังกฤษก็อ่อนแอเกรดไม่ดี แถมวันนั้นเขายังไม่รู้จักมหาวิทยาลัยของเรา จะทำยังไงก็วางแผนว่าเมื่อเราทำโปรเจกต์ที่รู้สึกว่ามันใช่แล้ว เรารู้สึกว่ามุ่งมั่นอยากทำโปรเจกต์รถไฟฟ้าใต้ดินให้เป็นจริง ผมเลยนั่งรถเมล์ไปเสาชิงช้าเพื่อไปขอพบท่านผู้ว่าฯ กทม.ในยุคนั้น พอไปถึงเจอเลขาหน้าห้อง เขาก็ถามว่าน้องมาทำอะไร ผมก็บอกว่าเป็นนักศึกษาพระจอมเกล้าลาดกระบัง ทำเรื่องวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน จะขอเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อนำเสนอนำไปใช้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด เลขาก็ใจดีมาก ๆ เลย ตอบโดยสุภาพว่าท่านผู้ว่าฯ ภารกิจเยอะมาก เดี๋ยวฝากผลงานของน้องไว้เดี๋ยวจะเอาไปมอบให้ท่านผู้ว่าฯ ด้วยตัวเอง แต่ผมไม่ยอมฝากเพราะต้องอธิบายให้ท่านผู้ว่าฯ ฟังด้วยตัวเอง ผมรอจนถึงตอนเย็นก็ไม่ได้เจอ เช้าก็มาใหม่ ท่านก็บอกท่านผู้ว่าฯ ไม่มีเวลา ผมก็นั่งรอไปอีกหนึ่งวันก็ไม่ได้เจอ วันไหนถ้าเกิดไม่มีเรียนภาษาอังกฤษที่เตรียมไปสอบ TOEFl ก็จะมาเฝ้าอยู่ตลอด เฝ้าจนประมาณร่วม 2 สัปดาห์ จนปลายสัปดาห์ที่ 2 เลขาหน้าห้องก็ออกมาแล้วก็บอกว่าจะให้พบผู้ว่าฯ ก็ได้ แต่ต้องไปพาคณบดีมาด้วย คราวนี้ผมต้องนั่งรถเมล์จากเสาชิงช้า กลับมาที่วิศวะฯ ลาดกระบัง เพื่อมาเข้าพบคณบดี พอเข้าไปเห็นแฟ้มเต็มโต๊ะเลย ท่านคณบดีก็เซ็นงานไม่ได้มองหน้าผม แล้วก็ถามว่าคุณมีอะไร ผมก็บอกว่าท่านคณบดีผมจะพาท่านไปพบผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครับ คณบดีวางปากกาแล้วก็ค่อย ๆ แหวกแฟ้มออกมามาเจอหน้าผม ผมก็บอกว่าทำโปรเจกต์จบปี 3 ปี 4 เรื่องออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดิน จะขอให้ท่านไปมอบให้ท่านผู้ว่าฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร เชื่อไหมครับท่านคณบดียอมไปกับผม ทำให้ได้เข้าพบผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ซึ่งยุคนั้นก็คือท่านผู้ว่าฯ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา พอเข้าไปห้องรับรองผู้ว่าฯ นี้ใหญ่มาก ผู้สื่อข่าวเต็มห้องนึกว่ามาทำข่าวผม แต่ไม่ใช่ เป็นผู้สื่อข่าวสาย กทม. เขามาทำงานมาหาข่าวตามปกติ ผมเป็นคิวแทรก พอเข้าไปท่านคณบดีก็ยื่นผลงานวิจัยให้ว่าเป็นผลงานของนักศึกษาวิศวะฯ ลาดกระบัง อยากขอมอบให้ท่านผู้ว่าฯ ไปแก้ปัญหาการจราจร ท่านก็ตอบว่าดีครับกำลังคิดอยู่ว่าจะลอยฟ้าหรือใต้ดินดี คนในยุคนั้นยังพอจำกันได้ว่าบีทีเอส กำลังถกเถียงกันว่าจะใต้ดินหรือลอยฟ้าดี ท่านตอบเหมือนตัดบท ท่านคณบดีก็หันมามองหน้าว่าทำหน้าที่ให้เสร็จแล้วนะ แต่สำหรับผมมันยังไม่จบ มันเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตที่ผมวางแผนมา ผมก็เลยต้องพูดกับท่านผู้ว่าฯ ณ วินาทีนั้นก่อนที่ท่านจะรีบร้อนออกไป บอกท่านผู้ว่าฯ ครับ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาการจราจร แต่ประเทศไทยยังไม่มีคนจบมาทางด้านออกแบบก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินในดินอ่อนแบบกรุงเทพฯ เลย ท่านบอกจริงหรือ ในต่างประเทศเขาทำกันเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมก็บอกว่าอยากจะอาสาเป็นคนไทยคนแรกที่จะไปเรียนเรื่องการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินในดินอ่อนแบบกรุงเทพฯ ท่านผู้ว่าฯ รีบถามผมมาทันทีว่า แล้วจะไปเรียนที่ไหนล่ะ ผมตั้งใจให้ท่านถามคำถามนี้ ผมก็ตอบทันทีว่าที่เดียวกับท่านผู้ว่าฯ ครับ MIT พอพูดถึงมหาวิทยาลัยที่ท่านรัก ท่านผู้ว่าฯ เป็นศิษย์เก่า MIT คณะวิศวะฯ สถาปัตย์ ก็ไม่สนใจเวลาเลยครับ เล่าให้ฟังว่า MIT เข้าก็ยาก แต่เรียนยากยิ่งกว่า เพื่อน ๆ หลายคน เป็นบ้าไปหลายคนก็มี ระหว่างท่านเล่าด้วยความสนุกสนานผู้สื่อข่าวก็ฟัง ท่านผู้ว่าฯ เล่าถึงประวัติตอนเรียนหนังสืออยู่ ผมก็หาจังหวะแล้วก็เรียนท่านว่า ท่านผู้ว่าฯ ครับ แต่การที่ผมจะไปเรียน MIT ได้ ผมต้องได้จดหมายรับรอง recommendation จากท่านผู้ว่าฯ ครับ ผมรู้ว่าท่านผู้ว่าฯ คงไม่กล้าปฏิเสธ ไม่ทำร้ายจิตใจเด็ก ๆ อย่างผม ขณะผู้สื่อข่าวเต็มห้องไปหมด แต่ที่จริงท่านเป็นครู ท่านเป็นอดีตคณบดีสถาปัตย์จุฬาฯ ท่านเซ็นให้ผมในฐานะผู้ว่าฯ กทม. และศิษย์เก่า MIT รับรองในความมุ่งมั่นของผม เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผมสมัคร MIT แล้วจากนั้นก็เป็นเพื่อนทางจดหมายกับท่านผู้ว่าฯ กฤษฎาจนท่านล่วงลับ หลังจากที่ได้จดหมาย recommendation จากท่านผู้ว่าฯ ผมต้องเขียนจดหมายแนะนำตัวไป MIT เพราะว่า MIT เขาไม่รู้หรอกว่าเกรดของแต่ละมหาวิทยาลัยมากน้อยต่างกันยังไง แต่ละประเทศมีมาตรฐานต่างกันยังไง ภาษาอังกฤษเขาก็สนใจแต่อาจจะไม่ใช่อะไรที่สนใจมากที่สุด เขาต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ความมุ่งมั่นที่แท้จริง ศัพท์วัยรุ่นสมัยนี้เรียกว่ามีความเป็นออร์แกนิก ก็เลยให้ทุกคนเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง ห้ามเกิน 300 คำ กระดาษ A4 จดหมายเปลี่ยนชีวิตผมเขียนว่า ต้องโหนรถเมล์มาเรียนที่วิศวะฯ ลาดกระบังมา 2 ชั่วโมงครึ่ง กลับอีก 3 ชั่วโมง มองออกไปนอกหน้าต่างรถเมล์แทนที่จะเห็นแต่รอยยิ้มเหมือนที่เขาเคยเรียกว่า land of smile สยามเมืองยิ้ม แต่สิ่งเห็นคือใบหน้าที่คนหงุดหงิดบึ้งตึง เพราะว่ารถมันติดเหมือนทุกวันนี้ ทำให้เด็กโยธาคนหนึ่งอยากจะแก้ปัญหา เลยรวมกับเพื่อน ๆ หาวิธีออกเเบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกแล้วไปนำเสนอผู้ว่าฯ กทม. ส่งรูปรถติดให้เขาดูเลย ความที่จดหมายมันสั้นเขียนอะไรไม่ได้มากกว่านั้น ผมก็ต้องทิ้งท้ายว่า MIT มีศิษย์เก่าไปเหยียบดวงจันทร์ ได้ Nobel Prize เป็นผู้นำโลกเยอะแยะไปหมด แต่ผมมัน nobody ไม่ใช่คนเก่ง เป็นคนที่แสนธรรมดา เห็นเกรดก็รู้แล้วว่าไม่ใช่เก่งอะไร แต่ผมมีความตั้งใจอยากจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เลยคิดว่าอยากจะไปเรียนที่ MIT เพื่อจะกลับมาทำอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของกรุงเทพฯ และเป็น the man who brings back the land of smile เป็นคนคืนรอยยิ้มกลับสู่คนกรุงเทพฯ เชื่อไหมครับ MIT ไม่ได้สนใจเกรดแย่ ๆ ของผม ภาษาอังกฤษที่ต่ำเตี้ย หรือมาจากมหาวิทยาลัยที่เขาไม่เคยรู้จัก เขารับทันทีเลย มันก็คือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตผม ทำให้ผมมีโอกาสไปเรียนที่ MIT จนจบปริญญาเอกครับ The People : วิศวกรอุโมงค์จะมาเปลี่ยนกรุงเทพได้อย่างไร ดร.สุชัชวีร์ : ตั้งแต่วันที่ผมเรียนเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างและไฟฟ้าใต้ดิน ยิ่งเรียนยิ่งมีความเชื่อมั่นว่าใต้ดินเป็นที่ที่เรามองข้ามไป เราสามารถใช้ประโยชน์ได้มหาศาลโดยเรายังคงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมข้างบนได้ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวต้นไม้สูง ๆ ลองจินตนาการว่าถ้าเกิดเรามียางลบวิเศษ ถนนเพลินจิตที่วันนี้เป็นบีทีเอส ได้เปลี่ยนไปลงดิน แล้วเรามาขยายฟุตบาท เพราะเราไม่ได้เสียเกาะกลางจราจร แล้วปลูกต้นไม้สูง ๆ มีทางเดินกว้าง ๆ ช่วงคริสต์มาสเราก็จะได้ต้นคริสต์มาสสูง ๆ ไม่ได้ต้นคริสต์มาสแค่ศอกเดียว เพราะสูงกว่านี้ติดคาน แล้วพื้นที่ข้างล่างเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน นอกจากนั้น ยังได้แหล่งขายของน่ารัก ๆ เหมือนญี่ปุ่นเกาหลี เหมือนกับตลาดรถไฟ แต่อยู่ใต้ดินหมด แล้วสามารถเชื่อมโยงกับห้างสรรพสินค้าออฟฟิศต่าง ๆ ได้ กรุงเทพฯ มันจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วเราก็อยากให้โครงการต่อ ๆ ไปน่าจะคิดเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ใต้ดินมากขึ้น เท่านั้นไม่พอการทำรถไฟฟ้าบนดินน่าจะไปทำข้างนอก เพราะมีพื้นที่ให้เลี้ยวตรงไหนก็ได้ แต่ในเมืองถ้าเกิดจะหักเลี้ยวต้องไปทุบตึก เพราะหักศอกไม่ได้ต้องเลี้ยวโค้งกว้าง ๆ ใต้ดินมีข้อได้เปรียบเวลาจะเลี้ยว สามารถกดให้ต่ำแล้วก็เลี้ยวได้ โดยที่ผลกระทบต่อตึกน้อยมาก ๆ นั่นคือส่วนหนึ่ง ประเทศต่าง ๆ ในโลก วันนี้ในเมืองจะเป็นระบบใต้ดินแทบทั้งสิ้น นอกเมืองถึงจะเป็นลอยฟ้าหรือจะเป็นแบบทางราบ อันนั้นคือเรื่องของการขนส่งมวลชน นอกจากการใช้พื้นที่ใต้ดินช่วยเรื่องรถติด โดยให้คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนให้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยเรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ ฝนตกก็ท่วมทุกที เมื่อสัปดาห์ก่อนปีก่อนเราก็ติดอยู่ในรถ ตั้งแต่คนต้องซื้อคอมฟอร์ท 100 ตั้งแต่หลาย ๆ ท่านยังไม่เกิด จนมาถึงวันนี้ยังหน้ามืดอยู่เหมือนเดิม เดี๋ยวนี้ต่างประเทศเขาใช้พื้นที่ใต้ดินเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว กรุงเทพฯ เวลาฝนตกมาน้ำบนถนนถนนก็ไหลลงไปซอย ซอยเลยน้ำท่วมครึ่งแข้ง เพราะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงกว่าคลอง สูงกว่าถนน กรุงเทพต้องใช้การสูบน้ำขึ้นตลอด เมื่อไหร่เครื่องสูบน้ำมีปัญหาฟิวส์ขาดบ้างเสียบ้างไม่มีความเชื่อมโยงบ้าง กรุงเทพฯ เลยจมน้ำทุกครั้งซ้ำซาก ประเทศอื่นก็เหมือนเราอย่างกรุงโตเกียว พื้นที่ต่ำเพราะคนสูบน้ำมาก่อนสมัยในอดีต เจอพายุไต้ฝุ่นน้ำท่วมคนตายเป็นพัน ๆ คนยิ่งกว่ากรุงเทพฯ อีก เขาคิดใหม่คือแทนที่จะสูบน้ำขึ้นอย่างเดียว เขาทำปล่องไว้ตามจุด พอตกมาน้ำจะไหลลงปล่อง จากนั้นก็เข้าไปเก็บอยู่ที่แท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน ที่ได้น้อมนำแนวทางแก้มลิงของพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 แต่บนดินไม่มีพื้นที่แก้มลิงให้เก็บน้ำ เลยทำแก้มลิงเป็นแท็งก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน น้ำฝนตกมาน้ำก็ลงแนวดิ่งไม่ได้ต้านแรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ พอฝนหยุดตกก็ค่อยสูบน้ำออกขึ้นมาคลอง จากคลองไปแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล แบบนี้การใช้พื้นที่ใต้ดินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทำได้แน่นอนครับ The People : โครงการแบบนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน ดร.สุชัชวีร์ : หนึ่งคือผมไม่ได้คิดคนแรก เรื่องแก้มลิงเราได้นำแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ส่วนแท็งก์น้ำขนาดยักษ์คอนกรีตเสริมเหล็กใต้ดิน ที่โตเกียวทำเสร็จมาตั้งนาน ทำให้โตเกียวฝนตกมากกว่ากรุงเทพฯ พื้นที่ต่ำกว่าแห้งสนิท เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้ แล้วถามว่าทำในเมืองไทยได้ไหม อุโมงค์สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเราทำเสร็จมาเกือบจะ 20 ปี สถานีสีลมลึกมาก ใหญ่กว่าแก้มลิงใต้ดินอีก ตอนนี้เทคโนโลยีของไทยวิศวกรไทยทำได้มาตั้งนานแล้ว ปัญหาตอนนี้คือความเข้าใจในปัญหา เมื่อเราไม่เข้าใจปัญหาแล้ว เราก็ไม่รู้จะแก้ตรงไหน สองคือความใส่ใจ คือหนึ่งต้องเข้าใจก่อน ว่าปัญหาเป็นอย่างไร กรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกอย่างมันต้องอยู่ด้วยระบบสูบน้ำ พื้นที่เป็นยังไง การใช้เครื่องสูบน้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่ให้มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างไร ต้องเข้าใจก่อน จากนั้นใส่ใจ ใส่ใจคือพอรู้ว่าต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ถ้าเกิดตัวหนึ่งมันเสียตัวนั้นเสียไม่มีเชื่อมโยงกันแล้วยังไงก็จมน้ำอยู่ดี และสุดท้ายคือมองให้กว้างว่าโลกวันนี้เขาใช้เทคโนโลยีอะไรกันบ้าง หลังจากนั้นก็นำมาใช้ในประเทศไทย ตัวอย่างก็คือการทำแก้มลิงคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นแท็งก์น้ำ เหมือนเป็นแก้มลิงใต้ดินในกรุงเทพฯ ตรงนี้แหละทำได้ แต่ถ้าเกิดว่าไม่เข้าใจแล้วไม่ใส่ใจ ไม่มองกว้าง เพราะไม่รู้เทคโนโลยี มันก็ยังไม่เกิดเสียที The People : ในภาพกว้างผังเมืองกรุงเทพฯ ตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ดร.สุชัชวีร์ : ผังเมืองกรุงเทพฯ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวว่ามีปัญหาแน่นอน เพราะว่าเดี๋ยวก็จะเป็นพื้นที่ชั้นใน พื้นที่ชั้นนอก พื้นที่พักอาศัยกระจายไปหมด ไม่เหมือนแบบต่างประเทศ ต่างประเทศศูนย์กลางเป็นเมืองอย่างเดียว เป็นแหล่งธุรกิจ คนอยู่อาศัยรอบ ๆ ก็จะนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาในเมืองแล้วจะไปรอบ ๆ ก็เหมือนใยแมงมุม เลยออกแบบง่าย แต่กรุงเทพฯ ด้วยความที่สาทรก็มีบ้านเพื่อนเราอยู่ ลาดพร้าว โชคชัยสี่ ก็มีเพื่อนเราอยู่ เพื่อนเราบางคนอยู่หนองจอกก็มี เลยไม่รู้ว่าจะที่จะดูแลกันยังไง การที่จะวางแผนระยะยาวเรื่องผังเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องแค่เทคนิคเท่านั้นเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องทางสังคม มันจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน เชื่อว่าวันนี้กรุงเทพฯ หรือว่าประเทศไทยน่าจะกำลังทำผังเมืองสำหรับรองรับการเติบโตในอนาคตอยู่ The People : มีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพฯ จะเป็น smart city ดร.สุชัชวีร์ : smart city เป็นไปได้ แต่เสียดายเหลือเกิน ประเทศไทยใช้คำว่า smart จนคนไทยไม่ค่อยเชื่อมั่นแล้ว เช่น ป้ายอัจฉริยะที่เขียนว่าแดงกับเขียว ถ้าเกิดอัจฉริยะจริงต้องบอกไม่ให้ผมออกจากบ้านถูกไหม ออกไปแล้วไม่รู้จะไปไหนมาบอกแค่แดงกับเขียวไม่มีประโยชน์ หรือป้ายแท็กซี่อัจฉริยะเห็นรถติดหน้าห้างเต็มไปหมด คนไทยก็เลยรู้สึกไม่ค่อยไว้ใจคำว่าอัจฉริยะหรือคำว่า smart แต่ขอให้ใจเย็นเพราะวันนี้ทั่วโลกมัน smart มันฉลาดจริง ๆ กรุงลอนดอน เดี๋ยวนี้ระบบไฟจราจรไม่ต้องใช้คนแล้ว ระบบรักษาความปลอดภัยเขาเคยเจอเรื่องผู้ก่อการร้ายหลายครั้ง ปีที่ผ่านมาเขาเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดอย่างสมบูรณ์ แบบสิงคโปร์กลายเป็น smart nation ไม่ใช่แค่ smart city ทำถึงขนาดที่เอาข้อมูลจราจรทั้งหมดอัพโหลดขึ้นไปในเว็บไซต์ แล้วให้เด็กมัธยมดาวน์โหลดลงมาเขียนโปรแกรมแก้ปัญหาการจราจร ทำให้เด็กสิงคโปร์เป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คน พยายามต่อสู้กับปัญหาจราจร สุดท้ายแล้วรัฐบาลได้นำโปรแกรมของเด็กไปใช้อาจจะไปใช้สัก 10-20 โปรแกรม แต่ที่เหลือเด็กได้พัฒนาทางสมองด้วย ฉะนั้นแล้วคำว่าเมืองอัจฉริยะ smart city แล้วคนในเมืองอัจฉริยะ ทั่วโลก เป็นจริงมาแล้ว เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ได้เกิดขึ้นเท่านั้นเอง The People : มีความเห็นอย่างไรกับเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ ดร.สุชัชวีร์ : วันนี้บอกทุกคนเลย โดยเฉพาะรุ่นผู้ใหญ่ที่ชอบพูดว่าเด็กไม่เก่ง สู้เราไม่ได้ ผิดเลยครับ เด็กรุ่นใหม่เก่งกว่าเราทุกอย่าง สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างในโลก มีความเป็นตัวของตัวเอง แล้วรู้ว่าอนาคตโลกเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภาษาอังกฤษภาษาจีน สมัยนี้เด็กพูดได้คนหนึ่งหลายภาษา คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยสนับสนุนเยอะแยะไปหมด เก่งกว่ารุ่นเราเยอะ วันนี้เลยมีความหวังกับเด็กไทยรุ่นใหม่ เพียงแต่ว่าวันนี้เด็กไทยรุ่นใหม่ต้องมี role model ต้องมีคนที่ต้นแบบ อาจจะไม่ใช่คนไทยเท่านั้น อาจจะเป็นใครก็ได้ในโลก ที่รู้สึกว่าอยากจะเป็นอย่างนั้น เขาอยากจะประสบความสำเร็จ ตรงนี้แหละที่ผมว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องใส่ใจในเรื่องการสร้าง role model ที่ดี ๆ ให้เด็กไทยดูเป็นแบบอย่าง แล้วขอย้ำเลย ผมเป็นครูมามีน้องเหมือนจะเป็นเพื่อนกับเขา บอกได้คำเดียวเลยว่าเด็กไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลกจริง ๆ ครับ ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมไปปลอมตัวเป็นเด็กปีหนึ่ง คนวางแผนก็เด็กปีสอง วันนี้ก็จบไปแล้ว ยังติดต่อกันอยู่เลย วางแผนทุกอย่างเนียนมาก ๆ เลย ก็มาจากแนวความคิดของเด็กอายุ 18-19 เท่านั้นเองในความคิดสร้างสรรค์ ถัดมาผมร้องเพลงแรป คนวางแผนต่าง ๆ ก็เป็นเด็ก แล้วคนที่แต่งเพลงให้ก็เป็นเด็กของลาดกระบังซึ่งเพิ่งจบไป แล้วก็คนทำดนตรีต่าง ๆ ก็เป็นเด็กที่เรียนวิศวะฯ ดนตรี ยอมรับจริง ๆ ครับว่าเก่ง ความสามารถทางด้านการทำแล้วก็ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต้องพูดถึง น้อง ๆ ที่เป็นนักประดิษฐ์ คนที่ประดิษฐ์ เราสามารถรู้ระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ต้องเจาะเลือดก็ได้ หรือ ทำรถเข็นอัจฉริยะแค่มองไปรถเข็นก็ไปตาม แค่ก้มหน้ารถฉันก็หมุน วันนี้เกิดขึ้นที่พระจอมเกล้าลาดกระบังแล้วก็ทุกมหาวิทยาลัย เรียกว่าการพัฒนาการหรือความสำเร็จมาก ไปไกลกว่ารุ่นก่อนเยอะ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนมากเพียงพอเท่านั้นเอง The People : ทำไม fighting spirit ของเด็กไทยรุ่นใหม่หายไป ดร.สุชัชวีร์ : เพราะว่าเขาไม่มี role model เมื่อไหร่ที่ไม่มี role model เราก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ตรงไหน เราควรจะเดินไปอีกแค่ไหน เด็กบางคนอยากเป็นนักฟุตบอลคิดถึง เมสซี่ โรนัลโด ครอบครัวของเขาลำบากยากจน เขาต้องซ้อมวันละกี่ชั่วโมง เคยได้ข่าวว่าโรนัลโดกว่าเขาจะเป็นนายแบบที่หล่อมาก ต้องซิทอัพ 1,000 ครั้ง ถ้าเกิดคุณอยากจะเป็นโรนัลโด เมสซี่ เริ่มต้นซิทอัพ 1,000 ครั้ง แล้วจะรู้ว่าแค่นี้มันก็ยากแล้ว แต่ถ้าเกิดเขาไม่มี role model เลย อยากเป็นนักฟุตบอล เดี๋ยวไม่ซ้อม ซิทอัพ 20 ทีพอแล้ว วิ่งเท่านี้พอแล้ว ตอนเย็นไปเที่ยวเสาร์อาทิตย์พัก มันก็ไม่ไปถึงเขาสักที แต่การที่มี role model จะได้รู้ว่าเขาจะไปถึงตรงนั้น เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง นักวิทยาศาสตร์ระดับโลก กว่าเขาจะประสบความสำเร็จเขาต้องเรียนหนังสือหนักแค่ไหน กว่าจะมาเป็นจบด็อกเตอร์ MIT ต้องอ่านหนังสือ 16 ชั่วโมง แสดงว่าเขาอยากไป MIT เขาต้องขยัน อ่าน 16 ชั่วโมงใช่ไหม เพราะงานว่าคำว่า fighting spirit หรือจิตวิญญาณนักสู้ของเด็กไทย ที่มันยังไม่เกิดขึ้นเพราะเรายังไม่ได้หา role model ให้กับเขา เราต้องสร้าง role model ให้กับเขา ชี้ให้เขาเห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เขาไปได้เพราะเขาสู้อดทนขยัน ตรงนี้แหละจะทำให้แต่ละคนเกิดจิตวิญญาณนักสู้มากขึ้น เพื่อที่จะไปถึงเป้าหมาย ผมพยายามจะทำให้ตัวเองเป็น role model นะ ไม่ได้สมบูรณ์แต่อย่างน้อยให้เห็นว่าไอ้เด็กบ้านนอกอย่างผมมาสอบเข้าโรงเรียนในฝันก็สอบไม่ได้ กลับไปเรียนที่บ้านนอกเหมือนเดิม เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยจะถูกรีไทร์กว่าจะได้เกียรตินิยม แล้วก็เป็นเกียรตินิยมคนสุดท้ายของมหาวิทยาลัยด้วย ภาษาอังกฤษก็อ่อนแอต้องสอบ 14 ครั้งกว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยระดับโลกได้ ต้องไปรอผู้ว่าฯ ถึง 2 สัปดาห์ไม่ย่อท้อ พอไปเรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกต้องตกแล้วตกอีกหลายครั้งกว่าจะผ่านมา เพราะงั้นผมไม่ได้เก่งเหมือนน้องเลย น้อง ๆ เก่งกว่าผมเยอะ แต่ทำไมผมยังทำได้น้อง ๆ ก็เห็นแล้วเพราะว่ามีกำลังใจ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนนั่นแหละจะเป็น role model ของตัวเอง และเป็น role model ของเพื่อน ๆ ของรุ่นน้องต่อไป The People : เอาความผิดหวังเปลี่ยนไปเป็นแรงผลักดันตัวเองได้ยังไง ดร.สุชัชวีร์ : ตอนผิดหวังมันก็ผิดหวัง ร้องไห้เลยพอสอบเข้าโรงเรียนในฝันไม่ได้ พ่อแม่ก็ร้องไห้เสียใจ ผิดหวังก็ร้องไห้ไม่ต้องไปอายเพราะเราเป็นมนุษย์ แฟนทิ้งเราก็ร้องไห้ แต่ว่าอนุญาตให้ร้องไห้หนึ่งวัน ร้องไห้ไปเถอะ เศร้าไปเถอะหนึ่งวัน แต่วันรุ่งขึ้นเอาใหม่ สู้ใหม่ ให้ถือว่าเราต้องสร้างทัศนคติที่ดีกับเราเองว่า ความล้มเหลวความผิดหวังของเราเป็นส่วนหนึ่ง เป็นบันไดก้าวหนึ่งของความสำเร็จ คิดอย่างนี้แล้วเราจะได้ข้ามบันไดไปก้าวหนึ่งแล้วเดี๋ยวเราจะไปอีกขั้นหนึ่ง ขั้นหนึ่งก็สำเร็จมาหน่อยหนึ่งแล้วมันก็ผิดหวัง อีกขั้นหนึ่งถ้าเกิดเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จยิ่งกว่าที่เราคิด มันต้องปรับทัศนคติของตัวเองไม่ต้องให้ใครเรียกไปปรับ ทัศนคติที่ว่าความล้มเหลวความผิดหวังนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดอยากจะตั้งเป้าหมายไปให้ไกลก็ต้องรับสิ่งพวกนี้ให้ได้ The People : ในอนาคตจะมีหลักสูตรที่บูรณาการความรู้เข้าด้วยกันอีกไหม ดร.สุชัชวีร์ : วันนี้เด็กรุ่นใหม่เขามีความสามารถในการเรียนรู้หลากหลายทั้งศาสตร์และศิลป์ ผมสร้างวิศวกรรมดนตรี เก่งทั้งดนตรีเก่งทางคณิตศาสตร์ ทุกวันนี้ไม่มีใครไปซื้อซีดีแล้วครับ เป็น streaming หมด การ streaming เพลงนี้ก็คือคณิตศาสตร์ เพราะงั้นคนจะสร้างความมหัศจรรย์ทางด้านดนตรีให้เข้าถึงคนทั่วโลกได้ต้องใช้คณิตศาสตร์เข้ามาช่วย เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ปรากฏทำแล้วประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกันผมทำคณะแพทยศาสตร์ แพทย์สมัยนี้เทคโนโลยีทั้งนั้นแหละครับ อุปกรณ์ไฮเทคทั้งนั้น วันนี้ถ้าเกิดแพทย์รักษาคนไข้อย่างเดียวแต่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี เราก็ต้องซื้อของเขาอยู่ร่ำไป ผมก็เลยสร้างแพทย์ที่ต้องเรียนกับวิศวะฯ เรียนกับคณะสถาปัตย์ เรียนเรื่องการออกแบบดีไซน์ด้วย เพื่อที่จะสร้างแพทย์ที่สร้างองค์ความรู้ให้เราไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติหรือพึ่งพาให้น้อยลง แล้วยังมีอะไรคิดใหม่ ๆ อีก แล้วมีความสนใจอยากจะทำคณะนิติศาสตร์ แต่เป็นนิติศาสตร์ที่วิศวะฯ กับนักวิทยาศาสตร์มาเรียน เพราะว่าเราอยากจะให้คนที่เก่งทางด้านสายวิทย์เข้าใจกฎหมาย แล้ววันหนึ่งเขาเป็นที่ปรึกษากฎหมายในระดับโลกได้ แล้ววันนี้ต้องเข้าใจว่าธุรกิจระดับโลกส่วนใหญ่แล้วเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ถ้าเกิดคนที่เป็นนักกฎหมายที่ปรึกษากฎหมายไม่เข้าใจเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง จะไปแนะนำเขาได้อย่างไรครับ ก็พยายามจะสร้างอยู่ครับ The People : คิดอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลง ดร.สุชัชวีร์ : ที่จริงแล้วผมอยู่ที่ไหน ผมก็สนุกกับการเปลี่ยนแปลงนะ แล้วก็เป็นนักสู้หรือเรียกตัวเองว่าคนถางหญ้า เราเห็นว่าเป้าหมายอยู่ตรงนั้น แต่หญ้ามันขึ้นสูงเข้าไปในพงหญ้านี้จะต้องถูกงูฉก ถูกต่อต่อยเลือดอาบแน่นอน แต่เมื่อเรามีหน้าที่ตรงนี้ เราต้องถางหญ้าให้คนที่อยู่ตามหลังเราได้เดินและวิ่งไปให้ได้ ต้องใจถึงในการถางหญ้าเข้าไปเจองูฉก ต่อต่อยเหมือนกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงเจ็บ การเปลี่ยนแปลงเหนื่อย การเปลี่ยนแปลงมีคนต่อต้านรุนแรง ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะหมายความว่าเคยอยู่เดิม ๆ ต้องเปลี่ยน เหนื่อยและคาดเดาไม่ถูก คนที่จะเป็นนักเปลี่ยนแปลงได้ต้องมีความสามารถพิเศษ มีความอดทน มีวิสัยทัศน์ แล้วก็มีความมุ่งมั่นสูง ผมอยู่ที่ไหนผมก็อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ใช้ชีวิตในการทำงาน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่เป็นอธิการบดี เป็นนายกสภาวิศวกร เป็นประธานประชุมอธิการบดี ทำเรื่องยาก ๆ ทั้งนั้น คนมักจะไม่ค่อยกล้าทำ แล้วแต่ละเรื่องบางทีปีนี้ไม่เห็นปีหน้าอาจจะไม่เห็น แต่บางทีปีโน้นแหละอาจจะเห็น แต่เรารู้ว่าถ้าไม่ทำคนรุ่นหลังเราก็ลำบาก เพราะฉะนั้นผมสนุกกับทุกวันที่ผมจะทำงาน The People : จะมีโอกาสเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไหม ดร.สุชัชวีร์ : โอกาสทุกอย่างเป็นไปได้หมด ถ้าเกิดว่าโอกาสนั้นมีผมก็จะทำอย่างสุดความสามารถ ทั้งนี้อย่างที่บอก ทุกหน้าที่ตั้งแต่จบ MIT มา ทุกก้าวที่ก้าวเข้าไป ผมทำสุดความสามารถตามโอกาสที่ได้มา แล้วผมก็ภูมิใจที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง The People : ทำอย่างไรให้มีใจสู้ ดร.สุชัชวีร์ : ผมอยากจะฝากถึงน้องทุกคน อันดับแรกขอให้เชื่อมั่นในตัวเอง ว่าน้อง ๆ แต่ละคน เกิดมาเปลี่ยนแปลงโลกได้ อยากให้กำลังใจว่าถ้าเกิดมุ่งมั่นทำสิ่งใดที่มันดีแล้วรู้สึกว่าใช่ให้ทำต่อไป ทำให้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม น้องคือคนไทยที่จะประกาศศักดิ์ศรีของคนไทยในอนาคต เพราะฉะนั้นแล้วน้อง ๆ ต้องคิดถึงสังคม แล้วต้องรู้จักเสียสละเพื่อสังคมด้วย เพราะว่านอกจากน้อง ๆ เป็นคนเก่ง เป็นคนดี แล้วต้องเป็นคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวมด้วย ตรงนี้แหละจะทำให้น้องทั้งประสบความสำเร็จส่วนตัว แล้วสุดท้ายประเทศเราก็ประสบความสำเร็จพร้อมกับน้อง ๆ ครับ