20 พ.ย. 2565 | 18:30 น.
ย้อนกลับไปในหัวค่ำของวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563 ณ บริเวณก่อนถึงสะพานจะข้ามไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตระเตรียมลวดหนาม รถเมล์ ไพร่พล และรถฉีดน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับผู้ชุมนุมที่กำลังมุ่งหน้ามาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่กำลังจะเดินขบวนมายื่นหนังสือเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ณ ขณะนั้นผู้เขียนได้เดินอยู่บริเวณก่อนจะถึงสะพานดังกล่าว พร้อมกล้อง Nikon D7000 หนึ่งตัวเพื่อเตรียมเก็บภาพเหตุการณ์ไปทำสารคดีสั้นบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ผู้เขียนเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเตรียมการรับมืออย่างหนาแน่นก่อนที่ผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึง บริเวณนั้นแทบจะไม่มีผู้ชุมนุมเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหญิงสูงอายุพร้อมพวกพ้องไม่กี่คนยืนวิจารณ์และด่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อย่างไร้ความยำเกรง
ผู้เขียนจึงเล็งถึงความน่าสนใจของเธอคนนั้น จึงได้เดินเข้าไปถามไถ่ว่าเธอคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“คิดว่ามันรังแกเด็ก หมดปัญญาที่จะช่วยประเทศชาติแล้วถึงต้องทำแบบนี้ สงสัยจะปิดประเทศกันแล้ว ดูสิ แหม… เด็กยังไม่ทันมาเลย รถออกเป็นสิบ ๆ คันแล้ว มันเก๊งเก่ง มันเก่งจริง ๆ คิดอยากทำอะไรมันก็ทำ มันไม่ใช่นะ”
หลังจากวันนั้นผู้เขียนก็มาทราบในภายหลังว่าหญิงผู้ไม่เกรงกลัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นมีนามว่า ‘ป้าเป้า’ หรือ ‘วรวรรณ แซ่อั้ง’ อดีตผู้ร่วมชุมนุมม็อบเสื้อแดงที่ยังคงออกมาต่อสู้ในปัจจุบัน แม้ในวันนั้นน้อยคนจะรู้จักชื่อของเธอ แต่ในปัจจุบันนี้ ป้าเป้าก็คือหนึ่งในไอคอนสำคัญเมื่อพูดถึงการชุมนุมทางการเมืองจากฝั่งประชาธิปไตย
หลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นเธอยืนหยัดอยู่แนวหน้าเสมอ บ้างก็ยืนพูดพร้อมโทรโข่ง บ้างก็ตะโกนด่าด้วยปากเปล่า แต่ไม่ว่าใครจะรู้จักเธอหรือไม่รู้จักก็ตาม เธอก็ยังคงแนวทางแห่งการเป็นตัวแทนการยืนด่าไม่เปลี่ยนแปร จนในวันนี้หลายคนก็ถึงขั้นขนานนามเธอว่าเป็น ‘เครื่องด่าเพื่อประชาธิปไตย’
ในเดือนกันยายนปี 2564 เกือบหนึ่งปีผ่านไปหลังจากเหตุการณ์วันที่พบป้าเป้าเป็นครั้งแรก ผู้เขียนและ The People ก็ได้โอกาสในการสัมภาษณ์ป้าเป้าแบบเจาะลึกถึงชีวิต แนวคิด และเหตุผลว่าทำไมเธอถึงชอบด่าอย่างเจาะลึก และนี่คือบทสนทนาครั้งที่สองระหว่างผู้เขียนและป้าเป้า หลังจากที่บังเอิญพบกันบริเวณสะพานหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันนั้น...
ทำไมถึง ‘ด่า’?
“อ๋อ พวกนี้ต้องด่า โลกสวยด้วยไม่ได้ แล้วรุ่นยายนี่ก็เป็นรุ่นที่ชอบด่าด้วย”
คงจะเป็นคำถามที่ไม่ถามคงไม่ได้เมื่อได้มีโอกาสมาสนทนากับป้าเป้า หลังจากนั้นเธอก็เล่าย้อนไปถึงสมัยอดีตว่าเมื่อก่อนมีคำด่าแบบใดบ้าง เราจึงได้ถามต่อว่าแล้วเหตุใดป้าเป้าจึงตัดสินใจที่จะมายืนอยู่แนวหน้าในการชุมนุมและยืนหยัดด่ารัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ
“ถ้าคนดี เขามีสมอง เขาไม่ต้องด่า แต่นี่มันเหลืออดเหลือทนแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไร โลกสวยก็แล้ว พูดก็แล้ว ไล่ก็แล้ว ก็ไม่ไป อย่างที่เด็กสมัยนี้เขาชอบพูดกันว่า ‘ไม่ตบไม่ตีไม่ดีขึ้นเลย’ นั่นแหละ
“เดี๋ยวจะหาว่ายายพูดเพราะไม่เป็น ยายพูดเพราะเป็น ยายรู้ว่าเวลาอยู่สถานการณ์นั้นจะต้องพูดอย่างไร อยู่ตรงนี้จะต้องพูดอย่างไร ยายรู้ว่าระดับไหนคือระดับไหน แม้ว่ายายจะไม่ได้มีการศึกษาก็จริง คนไหนมาดี คนไหนพูดภาษาเดียวกันกับเรามันก็โอเค แต่ถ้ามึงพูดคนละภาษานี่ไม่ต้องไปพูดกับมันแล้ว”
จะด่าไปถึงเมื่อไหร่?
นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคมดำเนินเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ วรวรรณ แซ่อั้ง เดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยอาวุธประจำตัวอย่างการด่า แม้ว่าตอนนี้จะมีอายุ 68 ปีแล้ว แต่ป้าเป้าก็ยังคงยืนประท้วงอยู่หน้ากลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร้ความหวั่นเกรง คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ
“ป้าเป้าจะด่าไปถึงเมื่อไหร่?”
“ก็จนกว่าจะตายนั่นแหละ… จนกว่าจะไม่แข็งแรง จนกว่าจะคลานไปด่า
“ตอนนี้ยายก็เลยพยายามดูแลสุขภาพ ไม่สบายก็ทนเอา หานู่นหานี่มากินมาอมเอา รุ่นยายก็แก่งอมกันหมดแล้ว อย่างตอนที่ยายอายุ 59 ปี ตอนจะลุกนี่ต้องหันไปหันมากว่าจะลุกได้ มันปวดไปหมด มันปวดถึงใจเลยนะเวลาปวด ลุกก็ไม่ได้”
ป้าเป้าก็ได้อธิบายต่อว่าเมื่อก่อนแทบจะไม่สามารถยกขาได้เลย เธอถึงขั้นอธิบายว่า ‘แทบจะอยากตัดทิ้ง’ เหตุเพราะทั้งอาการปวดที่รุนแรงและเรี่ยวแรงที่จางหาย แต่หลังจากที่รักษาสุขภาพและดูแลตัวเองมากขึ้น ขาที่ก่อนเคยยกไม่ได้ก็สามารถยกได้ดังปกติ พลันยกขาข้างซ้ายให้เห็นขณะที่เธอกล่าวอธิบาย พร้อมบอกว่า
“เดี๋ยวนี้ยกได้สบายแล้ว”
นอกจากนั้น ย้อนกลับไปในเหตุการชุมนุมวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ายุติการชุมนุม เราจะเห็นภาพป้าเป้าพยายามเข้าไปช่วยเยาวชนคนหนึ่งที่กำลังถูกจับกุมพร้อมตะโกนว่าบอกเจ้าหน้าที่ว่าเด็กไม่เกี่ยวและพยายามจะดึงตัวเยาวชนคนดังกล่าวออกมา แต่ก็ถูกสลัดล้มก่อนจะถูกจับกุมตัวไปในที่สุด
The People จึงเอ่ยถามป้าเป้าถึงอาการภายหลังจากการล้มในวันนั้น
“โอ้โห… เราอย่าไปอ่อนแอให้เขาเห็น เราต้องแข็งแรงเอาไว้ บางทีเจ็บจะตายกูก็… อืม… (หัวเราะ) บางทีเวลาจะลุกก็ลุกไม่ขึ้น กว่าจะลุกได้ก็ยาก กูก็ต้องพยายามเดินให้มันดี ๆ
“เดี๋ยวเสียทรง…”
สังคมที่อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลัง
ป้าเป้าเคยกล่าวกับเราว่าการออกมาเข้าร่วมชุมนุมในแต่ละครั้ง ตัวเขาและผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่น ๆ แทบจะไม่ได้ผลประโยชน์กลับมาเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังมีแต่ต้นทุนที่ต้องจ่ายออกไป แต่สุดท้ายแล้ว เพื่อสังคมของประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม การเดินทางไปยืนด่าและเสี่ยงอันตรายอยู่ที่แนวหน้าก็เป็นต้นทุนที่คุ้มค่าที่จะจ่าย
แล้วสังคมแบบไหนที่ป้าเป้าลงทุนลงแรงต่อสู้เพื่อที่จะได้มันมา?
สังคมแบบไหนที่ วรวรรณ แซ่อั้ง อยากจะส่งต่อให้กับประชาชนรุ่นถัดไป?
“ประเทศนี้มันเป็นของลูกหลานเรา คนที่อยู่ข้างหลังเรา อย่าไปมองแต่ข้างหน้า เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว แต่เราต้องมองไปข้างหลังด้วย มองไปถึงคนที่จะตามเรามาด้วย
“ส่วนเรื่องที่กลัวตายไหม คนเรานะ ถึงเวลาก็ต้องตายกันทุกคน แต่เราก็ต้องเอาความถูกต้อง สร้างประเทศชาติ… อย่างยายอยู่อีกไม่นานก็ต้องตาย เราก็ต้องดูว่าข้างหลังเป็นอย่างไร ข้างหน้าเป็นอย่างไร หากเราจะสร้างประเทศ เราก็ต้องสร้างมาจากเยาวชน เราต้องมอบสิ่งดี ๆ ให้เขา
“ทำไมคนใหญ่ ๆ โต ๆ ถึงคิดแต่เรื่องอำนาจ ทำไมถึงคิดถึงแต่ยศถาบรรดาศักดิ์ ท้ายที่สุดก็ต้องตายทุกคน ไม่เห็นจะมีใครรอดเลย ยายก็ไม่เกี่ยวหรอกนะไอเรื่องตายเรื่องเป็น ขอเพียงแค่ว่าให้คิดกันให้ถูกว่าพวกเราจะทำเพื่ออะไร…
“มันก็อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่เราก็ต้องอดทน เพราะว่าถ้าวันใดเราได้ประชาธิปไตยมา วันนั้นแหละที่ประเทศจะเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นของทุกคน คนเราต้องยอมรับความจริง มันไม่มีอะไรเกินความจริงหรอก”
‘ลุงศักดิ์’ ขอเสริมส่งท้าย
ก่อนบทสัมภาษณ์ระหว่าง The People และป้าเป้าจะจบลง ก็มีเสียงของชายคนหนึ่งดังขึ้น
“เดี๋ยว ขอเสริมนิดนึง”
เจ้าของเสียงนั้นคือ ‘ลุงศักดิ์-วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล’ อดีตม็อบเสื้อแดงผู้เข้าร่วมชุมนุมกับการชุมนุมราษฎร ณ ขณะนั้น หรือที่ปัจจุบันหลายคนอาจคุ้นชื่อในฐานะ ผู้ที่บุกต่อย ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคม 2565 ซึ่งลุงศักดิ์ก็เป็นหนึ่งในเพื่อนของป้าเป้าที่ติดตามป้าเป้ามาให้สัมภาษณ์ในวันนั้นด้วย
“เหตุผลที่ป้าเป้าด่า แล้วลูกหลานให้การสนับสนุนก็เป็นเพราะว่า คนยุคใหม่ไม่ได้มีวาจาที่หยาบคาย แต่พอความกดดันทั้งหมดถูกกดลงไปที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จนอยากด่าออกไป แต่ก็ไม่กล้าด่า ทั้งหมดจึงเห็นป้าเป้าเป็นตัวแทนการด่าจากใจของเยาวชนทั้งหลาย เป็นหมายเหตุที่ทำให้เยาวชนหลายคนรักป้าเป้า ทั้งหญิงและชาย… ป้าเป้าเปรียบเสมือนตัวแทนที่ด่าแทนใครหลาย ๆ คน”
แม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายยุคหลายสมัยแต่เครื่องด่านามว่า ‘ป้าเป้า’ ก็ยังคงทำงานและต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมีคนรู้จักชื่อของเธอหรือไม่ เธอก็ยืนเด่นด้วยการด่าอย่างท้าทายไร้ความกลัว
และแม้จะยืนด่ามานาน แต่ป้าเป้าก็ยังคงยืนด่าต่อไปจนกว่าชีวิตของเธอจะหาไม่หรือไม่ก็จนถึงวันที่สังคมไทยจะหาประชาธิปไตยพบ