พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหาร เป็นนายกฯ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหาร เป็นนายกฯ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ทำรัฐประหาร 2557 และบทบาทนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเส้นทาง ‘บริหารประเทศ’ ยาวร่วม 8 ปี ยุคสมรภูมิการเมืองแบ่งขั้ว และสถานการณ์โลกแบบฝุ่นตลบ ในวันที่เขาได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ (ช่วงปลาย)

สิ่งที่ชาวไทยทั่วประเทศตั้งตารอคอยเรื่องการวิจิฉัยปมสถานะนายกรัฐมนตรีของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลออกมาแล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ (30 กันยายน 2565) 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเสียงข้างมากว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุด โดยเนื้อหาจากคำวินิจฉัยชี้ว่า ความเป็นนายกฯ ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มนับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั่นเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี เมื่อนับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 มาถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565

ภายหลังศาลรัฐธรรมอ่านผลวินิจฉัยออกมา เพจอย่างเป็นทางการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha) ในเว็บไซต์เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความส่วนหนึ่งว่า

“ผมขอแสดงความเคารพอย่างสูง ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

และผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน สำหรับกำลังใจและความปรารถนาดี ที่มอบให้ผมมาโดยตลอด…”

“วันนี้...เราเดินหน้ามาไกลและถูกทิศทางแล้วครับ เราต้องช่วยกันทำให้เสร็จครับ”

ก่อนหน้าโพสต์ดังกล่าวข้างต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าของวลี

“ขอโทษนะ..ผมต้องยึดอำนาจ”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถือเป็นอีกหนึ่งนายทหารที่ผ่านสมรภูมิ(ทางสังคม)มาโชกโชน โดยเฉพาะสมรภูมิการเมืองแบ่งขั้วแบ่งสีมาตั้งแต่ปี 2549 

 

 

.

สมัยที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีบุคลิกพูดจาดุดัน จึงได้ฉายา ‘สฤษดิ์น้อย’ ซึ่งเจ้าตัวเองก็รับรู้ และคงไม่คิดว่า วันหนึ่งจะต้องมาเล่นบทเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 

16 ปีที่แล้ว ปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในสนามเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ทำให้มีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ และทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น วางขุมกำลังเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ไว้ในทุกหน่วยรบที่สำคัญ กลับพบจุดจบด้วยการยึดอำนาจของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. สมัยนั้น

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหมือนเปิดประตูให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะสมกำลัง รอคอยโอกาสและยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

บ้านทหารเสือ

พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ในช่วงสถานการณ์ประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเข้าเรียนปี 1 โรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 23 ในปีเดียวกับ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำคณะทหาร 3 เหล่าทัพก่อการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 

เมื่อจบโรงเรียนนายร้อย จปร. พล.อ.ประยุทธ์ เข้ารับราชการทหารที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ซึ่งหน่วยทหารแห่งนี้คือ บ้านทหารเสือ ค่ายนวมินทราชินี ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี

ห้วงเวลานั้น ร.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ยศขณะนั้น) เป็นนายทหารยุทธการ ประจำกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน 2 รอ.) มีบ้านพักนายทหารอยู่ภายในซอย 7 ของ ร.21 พัน 2 รอ. 

ต่อมา มีนายทหารรุ่นน้องอีก 2 คน ร.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศในขณะนั้น) และ ร.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ยศในขณะนั้น) มาอาศัยอยู่บ้านพักหลังเดียวกัน

“ไอ้ตู่ เป็นน้องเล็กไง เลยต้องตื่นก่อน” พล.อ.ประวิตร เคยเล่าให้นักข่าวสายทหารฟัง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นน้องคนเล็ก ต้องเสียสละโดยการตื่นก่อนพี่ ๆ และอาบน้ำทำธุระก่อน เพื่อให้พี่ ๆ ได้งีบต่ออีกสักนิด

หลังจากนั้น พี่ใหญ่ชื่อ ‘ป้อม’ ก็ดูแลน้อง 2 คนมาโดยตลอด จนกระทั่งน้องเล็กได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2557

“ผมรู้สึกมีบุญที่เห็นน้อง ๆ รับราชการ เสียสละทุกอย่าง ทำงานเพื่อประเทศชาติ...” พล.อ.ประวิตร กล่าวในวันคล้ายวันเกิดเมื่ออดีต (8 สิงหาคม 2557) ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทางเสือผ่าน

วันที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ปี 2547 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘พี่น้อง 3 ป.’ ซึ่งในฐานะประธานเตรียมทหารรุ่นที่ 6 พล.อ.ประวิตร ตัดสินใจเลือกเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. ในปีถัดมา

ก่อนพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. พล.อ.ประวิตร ได้ขยับให้น้องกลาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และดึงน้องเล็ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจาก พล.ร.2 รอ. (ปราจีนบุรี) มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

เนื่องจาก พล.อ.สนธิ เป็นหนี้บุญคุณของ พล.อ.ประวิตร จึงเลือก พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประยุทธ์ ขยับเป็นแม่ทัพภาคที่ 1

ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าประเทศไทยต้องปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยของบ้านเมือง เปิดยุทธการป้องกันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ในพื้นที่ กทม. เมื่อต้นปี 2550

ระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เรียน วปอ. รุ่นที่ 20 (ปี 2550 - 2551) ได้ทำงานวิจัยเรื่อง ‘การปรับบทบาทของกองทัพไทย เพื่อรองรับภัยคุกคามแบบใหม่’ ซึ่งหัวใจการทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ที่การยกเครื่อง กอ.รมน. 

พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็นเสนาธิการทหารบก ได้ร่วมปลุกปั้นองค์กร กอ.รมน. ภาคใหม่ โดยผลักดันให้รัฐบาลสุรยุทธ์ เสนอ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ฉบับใหม่ สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 

จะว่าไปแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต่างจากพิมพ์เขียวการบริหารประเทศ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลาต่อมา

โลกคือละคร

ปลายปี 2551 พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.อนุพงษ์ มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ พล.อ.ประยุทธ์ มีความใกล้ชิดกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ และเนวิน ชิดชอบ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลพลิกขั้ว

ปลายปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนที่ 37 ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการสืบทอดอำนาจในกองทัพของ พล.อ.ประวิตร รมว. กลาโหมในเวลานั้น

“ผมไม่พูดว่าปฏิวัติ หรือไม่ปฏิวัติ แต่ผมพูดอย่างเดียว ประชาชนต้องปลอดภัยอย่าตีกัน” คำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันรับมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ.

ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 พี่น้อง 3 ป. ได้วางกลยุทธ์ป้องกันการกลับมาสู่อำนาจเครือข่ายทักษิณ โดยมอบให้พรรคภูมิใจไทย แย่งชิง ส.ส. ในภาคอีสานให้ได้มากที่สุด ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบ กทม., ภาคกลาง และภาคใต้ 

ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาด ภูมิใจไทยพ่ายแพ้ยับเยินในอีสาน แม้ ปชป. จะได้ ส.ส. เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็สู้เพื่อไทยไม่ได้ 

บนเส้นทางแม่ทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินกลยุทธ์อย่างแยบยล เพื่อให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่หวาดระแวง ประกอบกับความเป็นทหารการเมืองที่มีคอนเนกชั่นกับแกนนำพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประวิตร จึงประคองน้องเล็กเป็น ผบ.ทบ. ไปจนถึงสถานการณ์การชุมนุมมวลชนของ กปปส. ปลายปี 2556

ทหารการเมือง

วันที่ 21 สิงหาคม 2557 เป็นวันสถาปนากรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ครบรอบ 64 ปี และในวันเดียวกัน ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายทหารคนแรกจากกรมทหารเสือนวมินทราชินี หรือทหารเสือราชินี ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศ

นับแต่วันที่รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 พล.อ.ประยุทธ์ แสดงออกถึงจุดยืนทหารเพื่อชาติและราชบัลลังก์ ต่อหน้าทหารว่า “อย่าสงสัยคำว่าสถาบัน อย่าสงสัยความจงรักภักดี เราเกิดมาด้วยคำคำนี้อยู่แล้ว”

เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ชอบพูดว่า “ผมเป็นทหาร ไม่ใช่นักการเมือง เป็นทหารที่เข้าใจปัญหาของประชาชน” และวางตัวเหนือนักเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ มีบางด้านคล้าย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่นิยมคบค้าสมาคมกับเทคโนแครต และนิยมใช้เทคโนแครตทำงาน แต่ก็สนิทสนมกับนักการเมืองอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ และเนวิน ชิดชอบ

ต่างจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีบุคลิกเหมือน พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา มือทำงานการเมืองยุคจอมพลถนอม - จอมพลประภาส และ พล.อ.กฤษณ์ ยังเป็นมือประสานสิบทิศ ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน ประสานพรรคใหญ่พรรคเล็ก 18 พรรค สนับสนุน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุนี้ ระยะหลัง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีระยะห่าง และมีแนวทางการเมืองต่างกัน พี่ใหญ่กับน้องเล็ก ต่างก็มีบริวารแวดล้อมมากขึ้น 

พล.อ.ประวิตร จับกุมโอกาสในห้วงวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง 2 ขั้ว 2 สีได้และเป็นประโยชน์แก่กลุ่มขุนศึกบูรพา จนสร้างระบอบพี่น้อง 3 ป. ขึ้นมาครองอำนาจในกองทัพและรัฐบาล 

การเติบใหญ่ของขุนศึกพี่น้อง 3 ป. แตกต่างจากขุนศึก จปร. 5 หรือ 0143 เนื่องจากช่วงปี 2534 - 2535 ยังไม่มีความแตกแยกทางความคิดเชิงการเมืองในหมู่ประชาชน เมื่อทหารยึดอำนาจได้แค่ปีเศษก็เจอมวลชนขับไล่ จนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาวิปโยค

อย่างไรก็ตาม ในหน้าประวัติศาสตร์ ขุนศึกไม่ว่ากลุ่มไหน เมื่อก่อรัฐประหารได้สำเร็จ ก็หาทางสืบทอดอำนาจ แต่ก็เลี่ยงไม่พ้นการเปิดศึกแย่งชิงอำนาจกันเอง 

เหตุการณ์ที่ดำเนินมาถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 เมื่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี จะทำให้พล.อ. ประยุทธ์ กลับมามีอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจนกว่าจะเกิดเปลี่ยนแปลงใด หรือจนกว่าจะเป็นช่วงหลังเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

บทชีวิตและเส้นทางสายทหารสู่ถนนการเมืองของพล.อ. ประยุทธ์ จะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ที่น่าสนใจคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหม่ ติดตามบทชีวิตของทหารและคนการเมืองรายนี้ในตอนต่อไป…เร็ว ๆ นี้

*

กองบรรณาธิการอัพเดท

.

- เดือน ม.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศเข้าเป็นสมาชิกพรรคร่วมไทยสร้างชาติและเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคดังกล่าว เพื่อลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้งวันที่ 14 ก.ค.2566 โดยผลปรากฏว่า พรรคร่วมไทยสร้างชาติไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้

- วันที่ 11 ก.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขอวางมือทางการเมือง และลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ

- วันที่ 29 พ.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นองคมนตรี

.

เรื่อง: ชน บทจร 

ภาพ: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อพฤศจิกายน 2561 

อ้างอิง:

กอง บ.ก. เนชั่นสุดสัปดาห์. เขาชื่อตู่ จากทหารเสือ สู่ทำเนียบรัฐบาล. สำนักพิมพ์ เนชั่นบุ๊คส์, 2557.

https://www.bbc.com/thai/articles/c99p4wykd4vo

https://www.komchadluek.net/scoop/thong-yuttaphop/528433

https://www.komchadluek.net/scoop/481858