‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

‘สารี อ๋องสมหวัง’ เติบโตมาในครอบครัวที่ร่ำรวย เธอจะมีชีวิตที่สุขสบายกว่านี้ก็ได้ ไม่ต้องเสี่ยงถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็ได้ แต่เธอกลับเลือกเดินในเส้นทาง NGO ด้านสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค

  • ตอนเรียนพยาบาล อาจารย์คนหนึ่งพูดกับ ‘สารี อ๋องสมหวัง’ ว่า “You’re not born to be a nurse” 
  • สารียืนยันว่าการต่อสู้ของเธอไม่ได้ทำให้ภาคธุรกิจเสียประโยชน์ ตรงกันข้ามกลับเป็นผลดีต่อธุรกิจด้วยซ้ำ บางเคสแม้จะถูกแจ้งความหรือถูกฟ้องร้อง แต่ถ้าย้อนกลับไป เธอก็ยืนยันว่าจะทำแบบเดิมอยู่ดี 

‘สารี อ๋องสมหวัง’ เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หนึ่งในผู้หญิงเก่งที่ต้องสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกใครหน้าไหนเอาเปรียบ และยืนยันว่าคนไทยมีสิทธิจะฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

พบกับ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People บอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจในแต่ละเดือน ที่เราจะมีประเด็นพิเศษมาให้ติดตามแบบไม่ซ้ำกัน สำหรับเดือนมีนาคม 2023 มาพร้อมเรื่องราว ‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย

โลกยุคปัจจุบันที่เปิดกว้าง บวกกับความสามารถและศักยภาพที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ตอนนี้เราจะได้เห็น ‘ผู้หญิง’ จำนวนไม่น้อยก้าวเข้าสู่บทบาทในฐานะ ‘ผู้นำ’ ควบคู่ไปกับการสวมบทบาทอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร สังคม และประเทศมากขึ้น

ติดตามเรื่องราวของ ‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย ซึ่งแนวคิดของพวกเธออาจจุดประกายไอเดียหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน เพื่อนำมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตหรือสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง โดยในเดือนนี้ The People ได้เลือก ‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทยมานำเสนอ สัปดาห์ละ 1 คน


 

“พี่เป็นลูกคนรวยค่ะ” 

เป็นประโยคแรกที่ ‘สารี อ๋องสมหวัง’ บอกเล่าถึงพื้นเพตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งยิ่งทำให้เรากระหายใคร่รู้ว่า ถ้าชีวิตของเธอสุขสบายดี แล้ว “อะไร” ที่หล่อหลอมให้ผู้หญิงท่าทางทะมัดทะแมงตรงไปตรงมาคนนี้ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิมากมายให้คนไทย 

“ที่บ้านพี่ทำเหมือง ทำโรงสี มีสวน พอพ่อเสียชีวิต แม่ก็ดูแลกิจการต่อ แม่พี่เก่งและใจดีมาก ทั้งดูแลคนงาน ดูแลลูกหลาน แม่ส่งลูกหลานเรียนทั้งหมด 45 คน แต่แม่ไม่ได้เลี้ยงเราแบบคุณหนูนะ แม่ส่งพี่ไปอยู่กับยายเพื่อให้หัดทำอะไรด้วยตัวเอง ความจริงแล้วแม่พี่นี่แหละที่เป็นต้นแบบของพี่” 

ความเป็นแม่ที่ต้องต่อสู้และดูแลชีวิตคนในความรับผิดชอบ ถูกถ่ายทอดมาสู่ลูกสาวโดยอัตโนมัติ และยิ่งฉายแววชัดขึ้นเมื่อเธอเรียนชั้นมัธยม  

“ตอนเรียนมัธยม พี่เรียนโรงเรียนเอกชน แล้วปรากฏว่าโรงเรียนทำอาหารไม่อร่อย พี่ก็นัดกับเพื่อนเลยว่า เฮ้ย พรุ่งนี้เอาปิ่นโตมาทุกคน เอาข้าวมาจากบ้าน ไม่กินอาหารของโรงเรียน เพื่อที่จะบอกว่าอาหารโรงเรียนไม่อร่อยสมกับเงินที่เราจ่ายไปนะ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้พวกเรามีโอกาสได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง”

กระทั่งเข้าเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สารียังคงรักษาความเป็น “หัวโจก” ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานนักศึกษา เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่เคยได้กลับเข้าหอตรงเวลา จนอาจารย์คนหนึ่งพูดกับเธอราวกับเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าว่า

“You’re not born to be a nurse” 

สารีฉุกคิดกับคำพูดนี้เพียงนิดเดียว แต่มาแน่ใจจริงๆ ว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นพยาบาล ตอนที่เธอเรียนจบและต้องทำงานในห้องฉุกเฉิน 

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

“ตอนอยู่ห้องฉุกเฉิน แน่นอนว่าได้เจอคนเมาที่ประสบอุบัติเหตุ เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อมาดูแลคนเมาแล้วอ้วกเหรอ? เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม? เช่นไปทำให้คนกินเหล้าน้อยลง”

สารียืนยันว่าเธอเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพพยาบาล ซึ่งเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ เพราะต้องอยู่กับชีวิตผู้ป่วย เพียงแต่ตอนนั้นเธอรู้แล้วว่าตัวเองเหมาะกับงาน NGO ด้านสุขภาพ จึงตัดสินใจเรียนต่อด้านการพัฒนาชุมชนที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

หลังเรียนจบ เธอเข้าทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ ด้วยความรู้สึก “นี่แหละ ตัวเราเลย” ระหว่างนั้นเธอได้ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะการถอนทะเบียนยาที่ไม่เหมาะสม ด้วยความตั้งใจให้คนไทยได้ใช้แต่ยาที่ปลอดภัย

แต่กลายเป็นว่าหลังจากถอนทะเบียนยาบางชนิดไปแล้ว คนไทยยังกลับไปใช้ยาชนิดนั้นอีก ซึ่งทำให้เธอต้องกุมขมับอีกครั้ง จนได้คำตอบว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ในระยะยาว เธอต้องติดอาวุธให้คนไทยเข้าใจใน “สิทธิของผู้บริโภค” จนออกมาเป็น “นิตยสารฉลาดซื้อ” ที่ช่วยผู้บริโภคชาวไทยตัดสินใจว่าควรเลือกซื้อสินค้าอันไหนดี 

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

หนึ่งในเคสคลาสสิกของนิตยสารฉบับนี้คือ “ชานมไข่มุก” ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตคนไม่ค่อยรู้ว่าชานมไข่มุกแต่ละแก้วมีน้ำตาลมากถึง 18 ช้อนชา (หมายความว่ากินชานมไข่มุก 1 แก้ว เราก็หมดโควตากินน้ำตาลไปเลย 3 วัน เพราะในหนึ่งวันเราควรได้รับน้ำตาลประมาณ 6 ช้อน) 

นิตยสารฉลาดซื้อ กางข้อมูลให้เราเห็นจะๆ เลยว่า ชานมไข่มุกแต่ละยี่ห้อใส่น้ำตาลมากน้อยแค่ไหน เล่นเอาสาวกชาไข่มุกช็อกไปตามๆ กัน แต่หลังจากนั้นทุกคนก็ได้รู้ว่าเราสามารถเลือกได้ว่าจะกินชานมไข่มุกยี่ห้อไหนในท้องตลาด ที่สำคัญคือทำให้ร้านชาไข่มุกเพิ่มเมนูหวานน้อยเข้ามาเป็นตัวเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ 

“ตรงนี้ทำให้เห็นว่าพลังของผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสินค้าได้ ซึ่งเราคิดว่านี่คือพลังที่สำคัญค่ะ” สารีเล่าด้วยความภูมิใจ 

เธอยังคงยืนยันว่างานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไม่มีปัญหากับใคร แม้บางคนจะค้านว่า  “ไปคุ้มครองผู้บริโภคมาก เดี๋ยวนายทุนจะเจ๊ง”

“เราไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดว่าถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรอง จะทำให้พวกนายทุนแข่งขันกับคนอื่นได้ต่างหาก” 

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

สารีทำงานเพื่อผู้บริโภคชาวไทยต่อเนื่องกว่า 30 ปี ทั้งใน “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” และ “สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค” ซึ่งก่อตั้งสำเร็จภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ปัจจุบันเธอนั่งเก้าอี้ “เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค”

กว่าครึ่งชีวิตที่ทำงานด้านนี้ สารีเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของผู้บริโภคชาวไทยที่เคยยึดสุภาษิตว่า “กินขี้ดีกว่าค้าความ

“ในอดีต คนจำนวนมากรู้สึกว่าพวกที่ใช้สิทธิเป็นพวกเรื่องมาก มีสุภาษิตว่า ‘กินขี้ดีกว่าค้าความ’ คนเลยรู้สึกว่าอย่าไปมีเรื่องดีกว่า มีเรื่องแล้วสุดท้ายเราจะเหนื่อยเปล่า แต่ตลอดเวลาที่ทำงานมา เราเริ่มเห็นคนไทยใช้สิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่กลไกที่จะทำให้เห็นว่าการใช้สิทธิของเขามีความหมายต่อสาธารณะ ยังจำกัดมากเกินไป 

ซึ่งนี่ก็เป็นเป้าหมายของสภาฯเหมือนกันที่จะทำให้คนใช้สิทธิรู้สึกว่า เขาไม่ได้ใช้สิทธิเพื่อเขาคนเดียว แต่การใช้สิทธิของเขา มันทำให้อย่างน้อยคนอื่นก็ไม่ถูกโกง เขาไม่ได้เรื่องมาก เขาเป็นทัพหน้าที่ทำให้เห็นว่า จะมาทำแบบนี้กับผู้บริโภคไม่ได้ เราคิดว่าคนร้องเรียนเนี่ย คือคนที่สะท้อนปัญหาให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่ดำรงอยู่ในสังคมบ้านเรา” 

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ส่งมาถึงสภาฯ ในช่วงปีปฏิทิน 2565 สารีบอกว่ามีประมาณ 15,000 เรื่อง กว่า 50% เกี่ยวข้องกับประกันภัยโควิด-19 รองลงมาคือการซื้อขายออนไลน์ สุดท้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเอสเอ็มเอสหลอกลวง ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภค ณ ขณะนี้ มีมูลค่าความเสียหายระดับหมื่นล้านบาท 

นอกเหนือจากการรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคยังขับเคลื่อนเรื่องสำคัญอีก 3 เรื่อง ที่เรียกได้ว่าเป็น “เรื่องใหญ่ระดับประเทศ” 

เรื่องแรกคือการคัดค้านการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม 

“เราคัดค้านเพราะมันจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค หลายคนท้วงว่าทำเรื่องนี้มันทำให้เราไม่ได้สตางค์ในการทำงาน แต่ถามว่าเราเสียใจไหม เราบอกเลยว่าไม่เสียใจ ถ้าย้อนกลับไป เราก็จะทำนะ”

“คุณบอกว่าเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคกำลังจะควักเงินออกจากกระเป๋าตัวเองกว่า 200% แล้วคุณอยู่เฉยๆ เนี่ยนะ คุณจะมีหน้าไปบอกชาวบ้านไหมว่าคุณเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค” 

เรื่องที่สองคือการผลักดันให้รัฐบาลทำให้ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะถูกลง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน 

สารีกางข้อมูลเล่าให้เราฟังว่า ประชาชนประเทศอื่นเสียค่าโดยสารไม่ถึง 10% ของรายจ่ายในแต่ละวัน ในขณะที่คนไทยเสียค่าโดยสารเกือบ 30% หรือมากกว่านั้น เธอตั้งข้อสังเกตว่า “แล้วเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยังไง อากาศจะดีขึ้นได้ยังไง ถ้าทุกคนหนีขนส่งสาธารณะไปขับรถส่วนตัวกันหมด” 

“เราไม่ได้ลุกขึ้นมาบอกอย่างเดียว เราทำข้อเสนอไปถึงคณะรัฐมนตรีเลยว่า ค่าโดยสารมันควรจะเป็นมิตร สภาฯกำลังชักชวนผู้บริโภคว่า เรามีคุณภาพชีวิตได้มากกว่านี้ เรามีสิทธิขึ้นรถไฟฟ้าทุกวัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้เราขึ้นรถไฟฟ้าให้ได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนและเพื่ออากาศ 

แล้วก็เรื่องพลังงาน เรื่องรถรับส่งนักเรียน เรื่องบริการขนส่งในต่างจังหวัด พวกเราฝัน แล้วเราคิดว่าคนควรจะฝัน ควรจะมีจินตนาการรร่วมกันว่า เดินออกไป 500 เมตรเจอป้ายรถเมล์เลย แล้วถ้าคุณใช้บริการขนส่งวันหนึ่งไม่เกิน 10% เงินที่เหลือคุณยังทำคุณภาพชีวิตอื่นๆ ได้อีกมาก” 

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากคือ “ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ” หรือ “บำนาญประชาชน” 

สารีเสนอ 2 แนวทางสำหรับเรื่องนี้คือ ทางแรกให้ปฏิรูประบบภาษีปัจจุบัน ทางที่สองให้เก็บจากประชาชน แต่ย้ำว่า “ขอให้เก็บเพื่อทำบำนาญ ไม่ใช่เก็บเพื่อไปทำถนน ทำๆ ทุบๆ” 

ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลถึงคุณภาพชีวิตประชาชน เพราะในเมื่อพ่อแม่มีเงินดูแลตัวเองในวัยชรา ลูกก็จะไม่ต้องแบกภาระร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอมั่นใจว่าหากแก้ปัญหาตามแนวทางที่เสนอนี้ จะทำให้จีดีพีของประเทศดีขึ้นด้วย 

“นี่คือสิ่งที่เราต้องทำให้คนร่วมมือกันที่จะต้องบอกกับทุกรัฐบาลว่า เราต้องมีคุณภาพชีวิตที่มากขึ้น กับงบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในปัจจุบัน” สารีกล่าวอย่างหนักแน่น 

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

หลังจากฟังอุดมการณ์และสิ่งที่เธอกำลังผลักดันทั้งหมด เราสงสัยว่าทำไมเธอไม่ไปเป็น “นักการเมือง” ให้รู้แล้วรู้รอด

“ในอดีตพี่เคยอยากเป็นนะ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว รู้สึกมีความสุขมากที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง” 

สารีเท้าความถึงตอนที่อยากเป็นนักการเมืองว่า หลังจากอยู่วงการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกว่า 30 ปี ผลักดันนโยบายสำเร็จมากมาย แต่สุดท้ายแล้วก็ติดขัดตรงการบังคับใช้ 

แต่หลังจากรับฟังเสียงคนรอบข้างเธอก็ตัดสินใจไม่เข้าสู่สนามการเมือง เธอคิดว่าตัวเองอาจจะไม่เหมาะ “เพราะว่าเราไม่ Politic พอ เราไม่การเมืองพอ เรามันเป็นพวกไม่ยอมงอ นักการเมืองต้องยอมงอบ้าง เราอาจจะเหมาะกับการเป็น NGO นั่นแหละ นี่น่าจะเป็นอาชีพของเรา” 

แต่การทำงาน NGO ก็ใช่ว่าจะไม่เจออุปสรรค สารียอมรับตามตรงว่า บางครั้งก็มีท้อบ้าง “ถ้าไม่ท้อเลยมันก็จะผิดมนุษย์นะ” (หัวเราะ) เธอยกตัวอย่างที่ถูกแจ้งความ ซึ่งแม้ในแวดวงสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค การถูกแจ้งความการถูกฟ้องร้องจะเป็นเรื่องปกติ แต่สารีก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่า “มึงจะฟ้องไปทำอะไร” (หัวเราะ) 

อีกเคสที่ฟังแล้วน่าเป็นห่วงคือถูกคนสะกดรอยตาม เธอเล่าว่าวันนั้นก็เปิดประตูบ้านออกมาปกติ บังเอิญได้ยินคนพูดเสียงดังๆ ว่า “มึงก็ไม่ต้องทำอะไรหรอก มึงก็ดูว่าวันนี้เขาไปที่ไหนบ้าง” หรือแม้แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็เคยถูกขู่วางระเบิดมาแล้ว 

สารีพูดอย่างจริงใจว่า “ถ้ารู้จัก สารี อ๋องสมหวัง จะรู้เลยว่าเราไม่เคยเลือกปฏิบัติ เราจะจัดการบริษัททั้งหมดที่ไม่คุ้มครองผู้บริโภค อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการว่า จริงๆ การคุ้มครองผู้บริโภคที่มากขึ้น ไม่ได้ทำให้คุณเสียหายเลย แต่กลับทำให้คุณได้ประโยชน์ด้วย เป็นประโยชน์กับธุรกิจด้วยซ้ำ”

เธอเล่าว่าสภาฯกำลังผลักดัน “กฎหมายมะนาว” ซึ่งจะเรียกร้องให้ธุรกิจแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ขายให้ผู้บริโภค ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบของการรับประกันสินค้า เช่น ประกาศเปรี้ยงเลยว่าลูกค้าสามารถคืนของได้ภายใน 15 วัน หรือซ่อมเกิน 2 ครั้ง ได้เงินคืนเต็มจำนวนหรือรับของใหม่ไป 

เธอยกตัวอย่างเรื่องรถที่เรามักเห็นข่าวลูกค้าออกมาทุบรถด้วยความโกรธเกรี้ยวอยู่บ่อยครั้ง “เกิดบริษัทรถยนต์ประกาศเลยว่าใครซื้อรถจากเมืองไทย ถ้า 6 เดือนรถมีปัญหา คืนรถทุกคัน คุณคิดดูว่ารถจะขายดีไหม”

‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย: ‘สารี อ๋องสมหวัง” นักต่อสู้ผู้ไม่ยอมให้คนไทยถูกเอาเปรียบ

ในส่วนของผู้บริโภค สารีก็มีสิ่งที่อยากฝากถึงเหมือนกัน 

“อย่าคิดว่าเงินที่เราจ่ายไปมันน้อยมาก ช่างหัวมัน 100 กว่าบาท แต่คิดอีกมุมหนึ่ง 100 กว่าบาท หลักหมื่นคนก็เป็นล้านแล้ว ในอดีตเราเคยฟ้องเรื่องค่าโทรศัพท์ที่ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ตอนนั้น 80 ล้านเลขหมาย โดนคนละ 40 บาท ก็มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านนะ

“เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าจำนวนเล็กน้อยช่างมัน ต้องคิดว่าเราไม่ควรให้เพื่อนเรา หรือคนอื่น หรือรุ่นน้องเรา จะต้องมาเจอเหมือนที่เราเจอ เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเราก่อน” 

มาถึงตรงนี้เราคิดบทสรุปอะไรไม่ออก นอกจากคำว่า "ขอบคุณ"