22 มิ.ย. 2566 | 12:30 น.
เมื่อหัวใจคืออวัยวะที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหัวใจและอวัยวะอื่น ๆ ทั้งสองส่วนต้องทำงานสอดประสานกัน เฉกเช่นการทำงานของทีมแพทย์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพที่มีทั้งมือวางอันดับหนึ่งด้านการบริหาร และการวางแผน และอีกส่วนคือการลงแรง ลงมือทำอย่างไม่ย่นย่อ ด้วยเป้าหมายเดียวกันคือการรักษาโรคหัวใจให้คนไข้อย่างดีที่สุด
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล (Clin. Prof. Dr. Damras Tresukosol) อายุรแพทย์โรคหัวใจ เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจผ่านข้อมือ แผลเล็ก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ดำรงตำแหน่ง Chief Faculty สถาบันแห่งความเป็นเลิศด้านหัวใจและหลอดเลือด (Chief Faculty of Center of Excellence Cardiovascular Institute) กับการเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการรักษาโรคหัวใจผ่านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มีคุณูปการต่อผู้ป่วยโรคหัวใจมากมายในประเทศไทยที่ได้มีชีวิตใหม่ผ่านโครงการนี้
และในวันนี้ท่านก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง กับบทบาทการเป็นผู้พัฒนาโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ที่มุ่งสู่ศูนย์แห่งความเป็นเลิศให้ทัดเทียมและมีมาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาลหัวใจระดับโลก เดินตามวอร์ดไปติดตามเส้นทางของแพทย์ผู้ยืนเคียงข้างผู้คน ยืนหยัดในการทำหน้าที่ ซึ่งหมายถึงอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
จากเด็กที่ไม่รู้จักคำว่าศิริราช มาเรียนแพทย์
“นายดำรัส” เด็กหนุ่มในวัยมัธยมปลายที่เกิดและเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจ การคิดฝันถึงการเป็นแพทย์ดูเป็นเรื่องไกลตัว กระทั่งเขาได้ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนบดินทรเดชา บรรยากาศในห้องเรียนที่เพื่อนทุกคนต่างมีเป้าหมายสู่โรงเรียนแพทย์ หล่อหลอมให้หันมาสนใจวิชาชีพนี้บ้าง จึงเลือกศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตบเท้าเข้าโรงเรียนแพทย์เก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับที่สุดของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2518
“ตอนที่ผมสมัครเรียนที่ศิริราช ไม่รู้แม้กระทั่งว่าศิริราชอยู่ตรงไหน ต้องเรียนอะไรบ้าง เรียกได้ว่าเป็นการจับพลัดจับผลูมาเป็นแพทย์มากกว่า สองปีแรกที่ได้มาเรียนพรีคลินิก คือการเรียนตรวจกายวิภาคอาจารย์ใหญ่ ก็ต้องไปขอขมาท่านและทำการผ่าชำแหละ Dissection โดยจะผ่าเป็น Chapter ไป ผ่าที่แขน ที่ขา ที่หน้าอก จนครบทั้งตัว เรียกได้ว่าเหม็นกลิ่นฟอร์มาลิน กินข้าวไม่ได้ไปเลย แต่เราก็สามารถผ่านมาได้” นายแพทย์ดำรัส เล่าย้อนถึงช่วงการเป็นนักศึกษาแพทย์วัยหนุ่ม
แม้จะออกตัวว่าเป็นความบังเอิญที่ได้เรียนแพทย์ แต่เมื่อเข้ามาเรียนในศาสตร์แห่งร่างกายมนุษย์อันซับซ้อนและมหัศจรรย์ก็เริ่มชื่นชอบ ประกอบกับความท้าทายหนึ่งคือคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในด้านการดูแลสุขภาพตนเอง ทำให้สนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้
“โรงพยาบาลชายแดน” ก้าวแรกแห่งวงการเสื้อกาวน์
เมื่อจบการเรียนแพทย์ที่ศิริราช ได้ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีเป็นเวลา 2 ปี จากเด็กหนุ่มฝั่งพระนคร ก้าวสู่การเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ชายแดนประเทศกัมพูชา รับบทหนักดูแลทั้งคนไทยในพื้นที่และออกหน่วยไปที่ค่ายผู้อพยพจากกัมพูชา แต่ประสบการณ์นั้นได้เพิ่มพูนความรู้ด้านการตรวจรักษามากขึ้น
“เราต้องอธิบายให้คนไข้เห็นภาพชัดเจน เช่นโรคหัวใจ ต้องอธิบายว่าหัวใจมีกี่ห้อง แต่ละห้องเรียกว่าอะไร ส่วนประกอบของเส้นเลือดมีอะไรบ้าง ตอนนั้นผมก็ยกตัวอย่างว่าเส้นเลือดหัวใจของเราก็เหมือนถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธินแล้วก็จะมีซอยเล็ก ๆ เอาเรื่องเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับคนไข้ทำให้เขาเข้าใจสุขภาพของตัวเองได้มากขึ้น ก็ถือเป็นงานที่สนุกสำหรับเราในตอนนั้น”
ผู้บุกเบิกการรักษาแบบสายสวน
หลังจากใช้ทุนเสร็จก็กลับมาศึกษาต่อด้านอายุรศาสตร์ และมีอีกความสนใจเรียนด้านการผ่าตัด เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะและความรู้จากการชำแหละศพอาจารย์ใหญ่เพื่อผ่าตัดคนไข้ ทำให้ตัดสินใจผนวกทั้ง 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน จึงเรียนเฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ ต่อยอดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน
ด้วยขีดจำกัดด้านการรักษาในยุคที่ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายแพทย์หนุ่มจึงขอรับทุนไปฝึกอบรมด้านการรักษาผ่านสายสวน ที่ Leiden University Medical Center หรือ LUMC ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงกลายเป็นแพทย์ 1 ใน 3 คนแรกของประเทศไทยที่ได้รับการฝึกอบรมที่ต่างประเทศในด้านนี้ถึง 1 ปีเต็ม
แม้จะได้รับการชักชวนจากอาจารย์แพทย์ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่นั่น แต่การนำองค์ความรู้จากแดนกังหันมาใช้ เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยก็เป็นภารกิจสำคัญกว่า นายแพทย์ดำรัสจึงเดินทางกลับมาตุภูมิพร้อมองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจด้วยการใช้สายสวน ที่ทำการวิจัยกับนานาชาติมากที่สุดในประเทศไทย สอนใช้ขดลวดในการรักษาโรคหัวใจให้แพทย์ท่านอื่นๆ การจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจแบบครบวงจร พัฒนาระบบการรักษาแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเรา จนนับเป็นศาสดาผู้บุกเบิกการรักษาด้วยการสวนหัวใจในประเทศไทย“ในยุค 20 ปีที่แล้ว ระบบการรักษาโรคหัวใจเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ผมเป็นหนึ่งทีมผู้บุกเบิกด้านโรคหัวใจภายใต้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ในสมัยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และคุณหมออรุณ เผ่าสวัสดิ์ อดีตคณบดี ที่ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 ให้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ จากที่คนเคยปรามาสว่าโครงการนี้รักษาได้เพียงแค่โรคไข้หวัด”
นายแพทยดำรัส จึงเป็นหนึ่งในทีม วอร์รูม (War room) ตั้งกฎเกณฑ์การแบ่งเขตการรักษา ในประเทศไทย เป็น 13 โซน แต่ละโซนดูแลประชาชน 5 ล้านคน และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้เกิดการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจหลายแห่งในประเทศไทยในช่วงระยะนั้น (ปี 2545-2548)
ยกระดับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ
กระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2561 จึงได้เข้ามาร่วมงานที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กับบทบาทสำคัญในการพัฒนาศูนย์หัวใจแห่งความเป็นเลิศ มีบทบาทในเชิงวิชาการและการรักษาแบบองค์รวม เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลหัวใจแห่งความเป็นเลิศยกระดับการรักษาโรคหัวใจให้ทัดเทียมนานาชาติ
“ปกติศูนย์หัวใจของโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นการรักษาอย่างเดียว แต่ศูนย์หัวใจในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพมีบริการการเรียนการสอน การวิจัย โฟกัสการบริการตรวจรักษา หน้าที่ของผมคือการทำให้คนไข้มีความศรัทธาในโรงพยาบาลเอกชน ดูแลแบบองค์รวมตลอดการรักษา ทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาว ไม่ต้องรักษาซ้ำ ผมก็จะเดินสายเพื่อไปบอกกับแต่ละศูนย์หัวใจในเครือว่าความเป็นเลิศเป็นอย่างไร พร้อมการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพ เพื่อการเป็นโรงพยาบาลระดับเวิลด์คลาส” นายแพทย์ดำรัสกล่าวจากผลงานทั้งทางวิชาการ การรักษาคนไข้ และการบุกเบิกระบบการรักษาโรคหัวใจในประเทศไทยที่มีส่วนช่วยให้ชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วประเทศดีขึ้น ทำให้นายแพทยดำรัสได้รับรางวัลจาก Chien Foundation Award for Outstanding Lectureship and Lifetime Achievement in Percutaneous Coronary Intervention ในการประชุม Asia-PCR ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2559 และรางวัล LUMEN Global Achievement Award จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการประชุม LUMEN GLOBAL Bangkok, Thailand ปี 2557ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ดำรัส ตรีสุโกศล ยังคงทำงานเพื่อผู้คนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจนถึงปัจจุบัน และยังเปรียบเหมือนหัวใจของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับอวัยวะต่างๆที่ทำงานได้อย่างดี ซึ่งทั้งสองส่วนต้องทำงานสอดประสานกัน
อาจกล่าวได้ว่าบุคคลสำคัญอีกท่านคือ นายแพทย์วิชัย จิรโรจน์อังกูร (Dr. Wichai Jiraroj-Ungkun) อายุรแพทย์โรคหัวใจ เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจ ดำรงตำแหน่ง PCU Director of Cardiovascular Medicine โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ การทำงานของเขาเปรียบเสมือนอวัยวะที่แข็งแรงและทำงานอย่างแข็งขันเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจ และ Leader Team PCU ผู้เป็นพี่ใหญ่ของทีมแพทย์ในหน่วยกว่า 30 ชีวิต กับการดูแลความเรียบร้อย ให้คำปรึกษากับทีม หรือหากมีเคสผู้ป่วยรักษาผ่านสายสวนก็จะลงเข้าไปช่วยแก้ไขด้วยตัวเอง
แต่กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นมือต้นๆ ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการสวนหัวใจที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพวันนี้ นายแพทย์วิชัยเล่าย้อนถึงชีวิตในวงการแพทย์ว่า หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 ปี ชีวิตก็พลิกผันอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
นักศึกษาแพทย์จบใหม่ที่ต้องใช้ทุนหลังเรียนจบ ซึ่งในอดีตใช้วิธีการจับฉลาก แต่สำหรับเขาหลังจับสลากผ่านไปหลายรอบ จึงตัดสินใจขอเลือกไปเป็นชาวเกาะ เป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน คือ โรงพยาบาลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ด้วยประชากรที่น้อย คนไข้มีจำนวนไม่มากนัก งานหลักจึงเป็นการลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านปัจจัยพื้นฐานแก่ชาวเกาะลันตา
การได้ไปอยู่นอกแผ่นดินกว่า 3 ปี ทำให้ชายหนุ่มเห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนความรู้ จึงตัดสินใจกลับมาเรียนเพิ่มเติมด้านอายุรกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 3 ปี
“คำถามแรกที่อาจารย์แพทย์ถามผมเลยก็คือ สมมุติถ้าหมอเรียนจบ หมออยากเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหน ผมบอกไปว่าอยากเรียนด้านหัวใจ เพราะการรักษาโรคหัวใจเป็นสิ่งที่ท้าทาย บางครั้งเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ชี้เป็นชี้ตายต่อชีวิตคนไข้ และยิ่งเราแก้ปัญหาได้ถูกจุด คนไข้ก็มีอัตราการรอดชีวิตสูง” นายแพทย์วิชัยกล่าว
เขาจบในวุฒิบัตรเชี่ยวชาญด้านหัวใจตั้งแต่ปี 2543 จากนั้นก็ทำงานดูแลคนไข้ทางด้านหัวใจอยู่ 6 ปี ก่อนจะไปอบรมต่อที่สถาบันโรคทรวงอกในปี พ.ศ.2549 จากนั้นได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศเบลเยียมและญี่ปุ่น นำความรู้ ประสบการณ์ทั้งหมดกลับมาถ่ายทอดแก่เพื่อนแพทย์ที่ทำงานในต่างจังหวัดด้วยมือวางต้นๆ “การใส่สายสวนหัวใจ”
เมื่อเราถามถึงระยะเวลาในการรักษาหลอดเลือดหัวใจ นายแพทย์วิชัยกล่าวว่านับรวมระยะเวลากว่า 23 ปี โดยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมแพทย์โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 กว่า 20 ปี ในความเชี่ยวชาญดูแลคนไข้หลอดเลือดหัวใจที่แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อายุที่ตรวจพบเริ่มน้อยลงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
คนไข้ที่เข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย โดยกระบวนการดูแลคนไข้ เริ่มจากการประเมินการตรวจวินิจฉัยที่มีหลายทางเลือก อาทิ การเดินสายพาน การอัลตร้าซาวด์ เข้าอุโมงค์สแกนหลอดเลือดหัวใจ และการฉีดสี
กระบวนการรักษาที่เป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพคือ การใส่สายสวนหัวใจ เพื่อขยายหลอดเลือดที่ตีบแคบด้วยบอลลูนและขดลวดถ่างขยาย (Stent) ซึ่งในอดีตทำที่บริเวณขาหนีบแต่ปัจจุบันทำได้ที่บริเวณข้อมือ ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ไว ดูแลแผลง่าย และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวสามารถรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจได้ทุกรูปแบบ ทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง หลอดเลือดหัวใจตัน มีหินปูนเกาะ โดยต้องอาศัยทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการเจอคนไข้จำนวนมาก อุปกรณ์และเครื่องมือที่ดี ช่วยทำให้โอกาสในการรักษาสำเร็จมีสูง
ทำในแต่ละวัน ดูแลคนไข้แต่ละคนให้ดีที่สุด
“เวลาเราดูซีรี่ส์อย่างเรื่อง Good Doctor หรือว่า ER ในด้านการทำงานของหมอก็มีความคล้ายในซีรี่ย์ แต่ไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง คือตอนจบของซีรี่ย์เราไม่ได้ตามต่อว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร แต่ในการทำงานจริง จะต้องตามชีวิตของคนไข้ต่อแม้ว่าเขาจะผ่านการรักษาจากเราไปแล้ว”
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญการใส่สายสวนหัวใจกล่าวขึ้นเมื่อมีคำถามถึงการทำงานแพทย์หัวใจเมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้คนเห็นผ่านจอ แต่นั่นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งความเป็นจริง เพราะการดูแลคนไข้จะต้องดูแลในระยะยาว เพื่อให้คนไข้ไม่กลับมาป่วยซ้ำซ้อนอีก
อีกกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดได้ดีที่สุด คือการได้ไปพูดคุยกับคนไข้หรือครอบครัวของพวกเขา เนื่องจากหลายเคสดูแลกันมานานจนเกิดความผูกพัน การได้พูดคุยกับคนไข้หรือแม้แต่ญาติไม่เพียงทำให้พวกเขาสบายใจขึ้น แต่ตัวคุณหมอเองก็ได้รับกำลังใจกลับมาเช่นกันสูงวัยก็ผ่านโรคหลอดเลือดหัวใจได้
เมื่อถามถึงเคสการรักษาที่ประทับใจ นายแพทย์วิชัยกล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นเคสแบบใด ก็ประทับใจทุกเคส เพราะถือเป็นการเรียนรู้ซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่ก็มีบางเคสที่ติดในความทรงจำชัดเจน
“มีคนไข้คุณตาอายุ 93 ปี ที่มีความผิดปกติในหลอดเลือดถึง 3 เส้น และในขณะนั้นหัวใจบีบตัวอยู่เพียงแค่ 30% มีลิ้นหัวใจรั่วอยู่ระดับกลางถึงค่อนข้างรุนแรง ซึ่งคนไข้ไม่ยอมผ่าตัด เราก็จัดการแก้ไขปัญหาทำบอลลูนขดลวดให้ทีละเส้น การรักษาที่ผ่านไปทำให้คุณตาสามารถฉลองอายุ 100 ปีไปเมื่อไม่นานนี้”
หรือกรณีคนไข้คุณยายอายุ 80 ปี ที่หลอดเลือดหัวใจมีปัญหาวิกฤต ไปหาคุณหมอมาหลายที่ก็แนะนำให้ผ่าตัด แต่คุณยายไม่ต้องการผ่าตัดจริงๆ เนื่องจากอายุมากแล้ว จึงพิจารณาทำบอลลูนขดลวดให้ แก้ปัญหาหลอดเลือดไปทีละเส้น และยังดูแลติดตามผลจนถึงทุกวันนี้ผ่านไปหลายปีผลการรักษาก็ยังเรียบร้อยดี
หลักคิดในการทำงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลชีวิตผู้คน สิ่งพยายามทำในแต่ละวันให้ดีที่สุด คือการมีสติในการดูแลคนไข้ ทำในแต่ละวัน แต่ละคนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เวลากับคนไข้ให้เต็มที่ และหากมีปัญหาค้างคาต้องวางแผนเตรียมการณ์ล่วงหน้าเสมอ
“สิ่งที่ยึดถือมาตลอดก็คือ คำของครูบาอาจารย์ รวมถึงคำของพระบรมราชชนกด้วยว่าให้เอาคนไข้ก่อนเดี๋ยวที่เหลือมันจะตามมาเอง ถ้าเราทำให้คนไข้มีชีวิตอยู่รอดจากความเจ็บป่วยที่รุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ทำให้เขามีชีวิตยืนยาวต่อไป ตรงนี้เป็นความสุขแล้ว ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับผม” นายแพทย์วิชัยกล่าวสรุปถึงความสุขในการทำงานเพื่อดูแลผู้คนมาตลอดชีวิต
และนี่คือเรื่องราวของสองนายแพทย์มือหนึ่งแห่งการรักษาโรคหัวใจด้วยสายสวน โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ที่ยืนหยัดอุทิศชีวิตเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพหัวใจที่ดี
#bangkokhearthospital #รพ.หัวใจกรุงเทพ #หมอหัวใจเก่ง