‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของทุกชนชั้น คอนเซปต์ร้านที่มาจากคนตัวเล็ก 2 คนที่อยากขับเคลื่อนสังคมให้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และอยากสื่อสารประเด็นของสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง ผ่านเมนูบนจานอาหารที่ตั้งใจทำเพื่อผู้บริโภค

  • ‘ข้าวราษฎร์แกง’ ร้านเพื่อสังคมที่อยากขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม แนวคิดทางการเมือง และสังคมที่ดีขึ้น
  • สองผู้ก่อตั้งที่รู้จักกันผ่านโปรเจกต์เพื่อสังคม สานต่อแนวคิดที่อยากจะก่อตั้งร้านอาหารเพื่อสังคม เพื่อประชาชนทุกกลุ่มได้สื่อสาร ซึมซับ และเข้าใจเรื่องราวที่(อาจ)เคยถูกละเลย
  • ความหมายของการเมือง อาหาร และความสุข ในมุมผู้ก่อตั้งที่อยากสื่อสาร และเข้าถึงราษฎรคนไทย

ย่านบรรทัดทอง เป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องของกินเยอะ ของอร่อย แต่หากมองให้ลึกลงไปก็เป็นย่านที่ราคาอาหารอาจไม่ได้เฟรนด์ลี่สำหรับคนทุกกลุ่มขนาดนั้นเช่นกัน มุมมองนี้สะท้อนมาจากคนคนหนึ่งที่หวังเพียงว่า ร้านอาหารของพวกเขาที่ก่อตั้งมากับมือ จะทำให้คนในย่านนั้นหรืออาจจะไม่ใช่ย่านนั้นก็ได้ ตระหนัก รับรู้ และรู้สึกว่าพวกเขาก็เข้าถึงได้เหมือนกัน..

จิว - อรรถเศรษฐ์ จริยธรรมานุกูล หนึ่งในเจ้าของร้าน ‘ข้าวราษฎร์แกง’ (The People’s Table) ร้านที่คนเริ่มรู้จักจากใบประกาศรับสมัครงานด้วยค่าแรงวันละ 450 บาท ถือเป็นการสะท้อนมุมเล็ก ๆ จากเขาในฐานะที่เป็นราษฎรคนไทยคนหนึ่งที่มองว่า “พื้นที่ตรงละแวกนี้ ถ้ามองจริง ๆ ก็มีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเยอะนะ พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนเหล่านั้นค่อนข้างเยอะ”

ส่วนที่มาของค่าแรง 450 บาท สำหรับร้านข้าวราษฎร์แกงเชื่อว่า การสร้างความรู้สึกให้ทุกคนคิดว่าเข้าถึงได้เหมือน ๆ กัน เป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ต้องเชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขาด้วย พูดง่าย ๆ คือ อยากให้ร้านดูเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคน แต่ถ้าร้านไม่ได้ศึกษาความเป็นอยู่ หรือโซลูชันที่ทำเพื่อสังคมจริง ๆ ก็อย่าเรียกตัวเองว่า Social Enterprise (SE) เพราะคุณไม่ได้ทำเพื่อสังคม หรือสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ก่อตั้งร้านทั้งสองก็คือ จิว - อรรถเศรษฐ์ และอีกคนก็คือ ‘โน้ต - อธิป สโมสร’ รู้สึกเหมือนเป็นการรีเช็กตัวเองเหมือนกันว่า ทุกวันนี้เราคิดเพื่อสังคมหรือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมกันบ้างหรือไม่ แม้ว่าภายนอกของทั้งจิวและโน้ต ดูร่าเริง สนุกสนาน แต่ทุก ๆ คำอธิบายเรากลับรู้สึกได้ถึงความจริงจัง และความมุ่งมั่นที่อยากจะเปลี่ยนสังคม

คำพูดจากคนตัวเล็ก แต่ให้พลังที่ยิ่งใหญ่ ผ่านโสตประสาทที่เรารับรู้ในวันนั้น คล้ายคำมั่นที่อยากจะให้สังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยเราทุกคนสามารถเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องก้าวใหญ่เท่านั้นถึงเปลี่ยนแปลง

จิว - อรรถเศรษฐ์ ได้พูดว่า “อยากให้เขาจดจำว่าเราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในสังคมที่พอจะหาอะไรบางสิ่งบางอย่าง ที่บางทีก็ไม่ได้เป็นกระแสมากมาย แต่เราอยากให้ทุกคนมีความสุขกับเรื่องง่าย ๆ เหมือนเราอย่างนี้ ซึ่งคุณก็สามารถเริ่มต้นที่ร้านเราได้เหมือนกัน”

และยิ่งได้ยินคำพูดจาก โน้ต - อธิป ที่อธิบายเพิ่มต่อก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึก fulfill มากกว่าเดิม “ร้านเรามันไม่ใช่ร้านแบบ middle class ขนาดนั้นครับ มันออกจะเป็นลักษณะแบบออฟฟิศเพื่อคนทำงานด้วยซ้ำ คือเราก็อยากขายนะ 400 บาท 500 บาท แต่มันไม่ใช่คอนเซ็ปต์ร้านเรา”

‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

 

ก่อนเป็นร้านเพื่อประชาชน

ก่อนเราจะไปลงลึกกับคอนเซ็ปต์ของร้านข้าวราษฎร์แกง เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่พูดถึงผู้ก่อตั้งร้านทั้งสองคนว่าพวกเขาทำอะไร หรือเพราะอะไรถึงเกิดมาเป็นร้านนี้ได้ ร้านจากมุมเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้ตึก Mint Tower มีเพียงครัวเล็ก ๆ และโต๊ะที่นั่งในร้านไม่ถึง 10 แต่ชวนให้รู้สึกอบอุ่น และความใคร่รู้หลายอย่างเกี่ยวกับร้าน และที่มาของร้าน

ร้านที่เริ่มจากบรรทัดฐานง่าย ๆ เพราะอยากเข้าถึงราษฎรทุกระดับอย่างไม่แบ่งแยกชนชั้นหรือเชื้อชาติใด ๆ เกิดจากการพูดคุยระหว่างจิวกับโน้ต ซึ่งพวกเขาชักชวนกันทำโปรเจกต์เพื่อสังคมอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว แต่ก็คลาดกันไปมา จนสุดท้ายมาบรรจบกันที่ร้านนี้

โน้ต ผู้ที่จบการศึกษาสายสถาปัตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานออกแบบมาก่อน และไม่ได้ข้องแวะกับสายอาหารมากนัก ขณะที่ จิว ที่จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมวัสดุ และปริญญาโทด้านพัฒนาการเศรษฐกิจจาก NIDA แต่ทั้งสองคนกลับรู้จักกับผ่าน ‘วงนักดื่ม’ พวกเขาเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือน ‘เครือข่ายคนทำงานภาคสังคม’ ซึ่งพอคุยกันถูกใจเลยมีโอกาสทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันบ่อย ๆ

“จริง ๆ มีโอกาสทำงานด้วยกันหลายครั้ง แล้วก็ยังมีโปรเจกต์ค้างคาของพวกเราอยู่ แต่ผมเองก็ยุ่ง ๆ ด้วยช่วงนั้นเพราะเพิ่งจะมีลูกอ่อน พอทุกอย่างดูลงตัวขึ้น ก็มีโอกาสได้คุยกับพี่โน้ตด้วยก็เลยคุยกันว่าอยากเริ่มต้นทำร้านอาหารอะไรอย่างนี้ คือเราอยากเป็นร้านอาหารที่แบบสไตล์กิจการเพื่อสังคม  อยากโฟกัสไปที่ธุรกิจเพื่อสังคมครับ” จิวเปิดใจกับเรา

โน้ตเล่าต่อว่า “เมื่อประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้วเคยเปิดร้านอยู่ที่เอกมัย แล้วตอนนั้นมันก็เป็นย่านที่แบบ Office People มากเลย เราก็อยากจะมีเมนูที่มันราคาไม่สูงขายในร้าน ก็เลยตั้งชื่อเมนูชุดนั้นว่า ‘ประหยัดจานโอชา’ เพราะช่วงนั้นท่านกำลังมาด้วย แต่พอเห็นว่าท่านกำลังจะออกแล้ว เรารู้สึกว่าคงลุ้นท่านไม่ขึ้นแล้ว ก็เลยแบบว่า เออ…เปลี่ยนชื่อก็ได้วะ

“ซึ่งตอนแรกจะเป็นเมนูแบบข้าวราดแกงอย่างนี้ บังเอิญเห็นคำว่า ‘ราด’ ตรงกลางพอดีแล้วคิดว่ามันเชื่อมโยงกับ ‘ราษฎร’ ก็เลยคิดว่ามันเข้ากับคอนเซ็ปต์ร้านด้วย ก็จบที่ชื่อ ข้าวราษฎร์แกง”

 

อยากให้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีต

เรื่องราวในอดีตบางทีก็ขมขื่น และบางทีก็อยากจะลืม ๆ มันไป แต่สำหรับร้านข้าวราษฎร์แกง จิวและโน้ตหวังอย่างมากที่จะใช้เป็นตัวสื่อสารกับผู้คน หยิบยกเรื่องราวในอดีตที่เคล้าไปด้วยหลายรสชาติชีวิต ไม่ว่าจะขม เผ็ด เปรี้ยว หรือหวาน แต่มันก็คือรสชาติของชีวิต ที่อยากจะทำให้เกิดอิมแพ็กต์ต่อการเปลี่ยนแปลงขึ้น

โน้ตเล่าว่า “เราอยากให้ทุกคนรู้สึกเชื่อมโยงบางอย่างกับร้านและตัวเขาเอง ในฐานะที่เป็นราษฎรคนหนึ่ง ถ้าคนที่มากินจะเป็น elite (ผู้ลากมากดี) หรือกระฎุมพีผมก็ไม่ว่านะ แต่ก็อยากให้เขาได้เชื่อมโยงกับเรื่องราวในอดีตที่ตัวเขาอาจจะไม่ได้สนใจ หรือว่าสนใจหากว่าตัวเขายังมองว่าเขาเป็นราษฎรอยู่”

ส่วนชื่อเมนูหรือที่มาของแต่ละเมนู บางคนก็อาจจะมองว่าเป็นการเชื่อมโยงกับ ‘การเมือง’ หรือไม่ อย่างโลโก้ร้านเองก็มีการออกแบบคล้าย ๆ กับหมุดคณะราษฎรปี 2475 มากทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีชื่อเมนูที่มีการพูดถึงอยู่เนือง ๆ เช่น ‘ย่ำรุ่ง, ย่ำค่ำ, ข้าวราชประสงค์’ ก็ดูจะเป็นการเสียดสีไปทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ

‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

อย่างไรก็ตาม โน้ตอธิบายว่า “จริง ๆ ไม่ได้อยากซีเรียสเรื่องการเมืองขนาดนั้นนะครับ เพราะว่าการเมืองเป็นเรื่องที่กินไม่ได้ แล้วก็ถ้ากินเข้าไปเยอะ ๆ มันก็จะยิ่งเครียดด้วย แต่ว่าเรามาทำให้มันดูขบขันหน่อย ส่วนไอ้เรื่องแบบย่ำรุ่ง ย่ำค่ำอะไรอย่างนี้ ผมว่าเป็นแค่การเชื่อมโยงของคอนเซ็ปต์มากกว่า”

จิวเล่าต่อว่า “เมนูราชประสงค์ มันก็คือ ‘อาหารตามสั่ง’ แหละครับ ก็เป็นการล้อกันแหละแบบว่า เออ…เป็นสิ่งที่ราษฎรทั่วไปประสงค์อยากได้ตามที่ตัวเองต้องการ ก็อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนกับสี่แยกตรงที่หนึ่ง (หัวเราะ)

“หรือจะเป็นชื่อเมนูว่า ‘ยำตระบัดสัตย์’ ก็คือเป็นเมนูที่เอาเนื้อสัตว์มาตุ๋นจนเปื่อย แล้วก็ราดด้วยซอสที่ทำจากเลือด เหมือนแบบว่าเวลาที่คุณกินเข้าไป คุณก็กลืนเลือดเข้าไปด้วยอะไรอย่างนี้ (แต่เป็นเลือดที่สุกนะ) คือเราแค่อยากเล่นสนุกกับเรื่องราวในสังคมครับ”

หรือแม้แต่ ‘เครื่องดื่มค็อกเทล’ ทำไมถึงไม่มีที่มาจากศิลปิน...นักเขียน...และ เรื่องของสุราพื้นบ้าน?

เป็นประโยคที่เปรยออกมา เล่นเอาสะดุดหูเหมือนกันว่า นั่นสินะ...ทำไมค็อกเทลที่เกิดจากคนไทย ร้านของคนไทย ทำไมไม่ค่อยมีสุราพื้นบ้านเลย ทั้งที่เรามีสุราพื้นบ้านเยอะมาก

แต่ผู้เขียนก็อยากให้ทั้งสองอธิบายหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกหน่อย เพราะหลายคนก็น่าจะคิ้วขมวดอยู่ว่า จะออกมารูปแบบไหนได้บ้าง

โน้ตขยายความว่า “จริง ๆ วงการค็อกเทล หรือแบบขี้เมาหน่อย มันจะมีการเอา inspiration จากศิลปิน อาร์ติสท์ นักวาดภาพ หรือแม้แต่นักเขียน มาหล่อรวมเป็นชื่อเมนู แต่เรารู้สึกว่ายังไม่มีใครพูดถึงเรื่องราวของราษฎรทั่วไปสักเท่าไร ทั้งที่จริง ๆ ปัจจุบันมันก็มีสุราพื้นบ้านออกมาเยอะ ซึ่งที่ร้านเราก็จะใช้สุราพื้นบ้าน เช่น เมนูที่เป็นกบฏเมืองแพร่ (เพิ่งเปลี่ยนล่าสุดเป็น ‘กบฏเงี้ยว’)

“ร้านเราก็จะเอาเหล้าของคนแพร่นี่แหละมาใช้ แล้วก็อาจจะพูดถึงเรื่องราวความขมขื่นบางอย่าง แต่เราไม่ได้อยากให้ออกมาซีเรียสนะ เพราะว่าค็อกเทลมันเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แบบ เฮ้ย! หมดแก้ว แต่มันเป็นเครื่องดื่มแบบค่อย ๆ ละเลียด มันเป็นช่วงเวลาที่คุณได้นั่งคิดไปกับมัน ได้คิดถึงตัวเอง คิดถึงคนที่คุณรัก คิดถึงเรื่องราวในอดีต คิดถึงเรื่องสังคม

“ค็อกเทลมันเป็นอะไรที่คุณสามารถใช้เวลากับแก้วแก้วหนึ่ง กับเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากกว่า”

เบื้องหลังสิ่งที่เจ้าของร้านทั้งสองคิด เห็นได้ชัดว่ามีการครุ่นคิดและตกผลึกมาก่อนแล้ว กว่าจะเป็นคอนเซ็ปต์ กว่าจะเป็นเมนูและวัตถุดิบอาหารมากมายที่คัดสรรมาให้แล้ว จะพูดว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจก็ไม่ผิด

อย่างเช่นเมนูที่ผู้เขียนได้ลองกินเมื่อวันที่ได้คุยกับทั้งสองคน หนึ่งในนั้นคือ ‘ข้าวผัดกัมปง’ ที่เป็นเหมือนอาหารท้องถิ่นจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำคำว่า ‘กัมปง’ มาพูดถึงความห่างไกล ความเป็นชนบท ซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการทำ และกิมมิคจากเมนูนี้ที่เป็นข้าวผัดรสชาติจัดจ้านด้วยสมุนไพรบางอย่าง เรามองว่า ข้าวราษฎร์แกง ไม่ใช่ร้านที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจอย่างเดียว แต่รสชาติอาหารก็โดดเด่นจับใจคนกินเช่นกัน

‘ข้าวราษฎร์แกง’ อาหารของราษฎรทุกชนชั้น จุดเชื่อมโยงเรื่องราวทางสังคมจากเมนูอาหาร

จิวพูดว่า “ร้านเราจะเป็นเมนูที่ไม่ค่อยเห็นคนกินในกรุงเทพฯ แต่จริง ๆ แล้วคนในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ จริง ๆ นะ มีคนหลากหลายมาก เราก็คุยกันว่าอาจจะทำอาหารหลาย ๆ ภาคมาให้เขาได้ลองกัน

“ผมมองว่า ถ้าคนที่มาแล้วเขาควรจะได้กลับไปบ้าง ก็คงเป็นเรื่องการตื่นรู้บางอย่าง แต่ก็ไม่ได้คาดหวังนะ คือถ้าถามว่าในฐานะคนทำธุรกิจร้านอาหาร ผมก็มองว่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องการบริโภคที่มากเกินไป หรือว่าการบริโภคที่ไม่มีความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่น่ากังวล”

 

ร้านเล็กแต่ความคิดไม่เล็ก

คงจะดีไม่น้อย หากเราทุกคนต่างก็มีพื้นที่เล็ก ๆ ไว้โอบกอดความทุกข์ หรือสิ่งที่เราโหยหาอยากจะเปลี่ยนแปลง แม้แต่เป็นพื้นที่เพื่อเรียนรู้บางอย่างที่เห็นต่างกันโดยไร้อคติ หรือกำแพงในใจ เรื่องราวของข้าวราษฎร์แกง เหมือนเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้เราหันมามองตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมุมของเรื่องในอดีต อาหาร สิ่งแวดล้อม สังคม หรือแม้แต่ความสุข

สำหรับบางคน การเมือง - อาหาร - ความสุข อาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และการสื่อสารที่เคยได้รับมา แต่ท้ายที่สุด จุดประสงค์หรือเป้าหมายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงพร้อมใจตรงกันหรือไม่ คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลา และการเรียนรู้แบบปัจเจก

อย่างน้อย ๆ บทสนทนาจากร้านในซอกตึก Mint Tower ในวันนั้น ทำให้เราตระหนักถึงสังคมที่ดีกว่าในแบบของเราได้ ซึ่งโน้ตได้พูดทิ้งท้ายกับเราว่า “อยากให้คนในสังคมรู้สึกว่า ชีวิตมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อกินข้าวเหนียวหมูปิ้งทุกวันนะเว้ย คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อสั่งอาหารจากเดลิเวอรี่มากินทุกวัน

“ถ้าไอ้ร้านที่มันอยู่ในซอกตึกติดกับลานจอดรถเนี่ย มันมีอาหารที่แบบ เฮ้ย! มันกินแล้วไม่ตาย กินแล้วแบบกูยังมีแรงใช้ชีวิตพรุ่งนี้ได้อยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องกินของอย่างนั้นทุกวันก็ได้นี่หว่า อะไรอย่างนี้ เออ…ผมรู้สึกว่ามันควรจะมีพื้นที่อย่างนี้เยอะ ๆ ในสังคม”