10 เม.ย. 2562 | 17:31 น.
"...วิริยะ ถ้าเธอเติบโตขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เธอไม่ต้องตอบแทนฉัน แต่ขอให้เธอไปช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทย..." คำพูดของมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ (Miss Genevieve Caulfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้นำอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ดังก้องในความคิดของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เขาเชื่อว่า คนพิการทางสายตามีศักยภาพเทียบเท่าคนตาดีทั่วไป ซึ่งทำให้เขากล้าที่จะพิสูจน์ความเชื่อด้วยการเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศที่ Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาอาจารย์สอนนักศึกษาที่มีการมองเห็นปกติ The People : ทำไมอาจารย์ที่สายตาพิการถึงได้มาสอนนักศึกษาที่ตาปกติได้ วิริยะ : เดิมผมก็ไม่ได้ตาบอดนะ พออายุ 15 เรียน ม.ศ. 2 ม.ศ. 3 ก็ไปเล่นวัตถุระเบิดที่คนทิ้งเอาไว้ในกล่องทดลองเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของผม ช่วงนั้นวัตถุระเบิดมันอาจจะเยอะหน่อย เพราะมันช่วงสงครามเวียดนาม แล้วผมอยู่ที่โคราช มันเป็นฐานทัพของอเมริกา ในช่วงนั้นก็ปี 2510 พอตาบอด เราก็เชื่อเหมือนคนทั่วไปที่มองว่าเมื่อตาบอดแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งผมเสียใจมาก เพราะตั้งใจเรียนทุ่มเทหนักเพื่อจะเป็นหมอ แต่เมื่อมีโอกาสไปเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ตรงสี่แยกตึกชัย ก็ได้พบกับ มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกันที่ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นมา แล้วก็มีซิสเตอร์โรสมัวร์ (Rose Moore) เป็นแม่ชีที่คอยช่วยงานท่านในการบริหารโรงเรียน ท่านกลับให้ผมท่องคาถาว่า คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วเราต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของมนุษย์เราออกมาได้ แล้วตอนหลังผมก็เรียนรู้ต่อมาอีกว่าถ้ามนุษย์เรารู้จักใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส หรือเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส อันนี้ก็จะเป็นสุดยอดของความฉลาดของมนุษย์เรา แล้วท่านไม่ได้พูดอย่างเดียว คือพูดอย่างเดียวเราก็ไม่เชื่อ ผมก็ไม่เชื่อ แต่ท่านให้เราลงมือทำเลย ก็เริ่มเลยนะ พอผมเข้าโรงเรียนท่านก็ให้เพื่อนตาบอดรุ่นน้องที่เป็นคนตาบอดพาผมฝึกเดินด้วยไม้เท้าขาว ไปไหนมาไหนไปนู่นมานี่ ผมก็ไม่ค่อยจะเชื่อว่าคนที่ฝึกผมเป็นคนตาบอด เพราะว่าเขาบอกผมได้หมดเลยว่า ถังขยะระวังนะ อยู่ข้างหน้า 2 เมตร ผมก็อยากจะทดลองดู เดินไปก็เจอถังขยะ คือเขาบอกให้เราระวังอะไร เราก็อยากทดลอง แล้วเราก็พบว่ามันก็จริง แล้วเราก็สงสัยตาบอดรู้ได้ยังไง ขนาดตอนกลางคืนเขานอน ก็ยังไปแอบคลำลูกตาเขาว่ามันมีลูกกะตาหรือเปล่า (หัวเราะ)
อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านสอนก็คือคนตาบอดเราต้องรู้จักให้ พอเวลาเราตาบอดแล้ว ความเชื่อมันอยู่ในสมองเราเลยว่าเราเป็นภาระ เราต้องแบมือขอความช่วยเหลือคนอื่น เพราะงั้นพอถ้าบอกตาบอดต้องรู้จักให้ ผมเถียงเลยว่า เรายังช่วยตัวเองไม่ได้เลย แล้วจะไปช่วยคนอื่นได้ยังไง ท่านบอกมันอยู่ที่ใจเรา ถ้าเธออยากจะช่วยคนอื่น ทำได้ สองอย่างทันทีเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอคอย หนึ่ง ยิ้ม ท่านบอกคนตาบอดยิ้มแย้มแจ่มใสช่วยให้คนไม่ฆ่าตัวตายมาเยอะแล้ว เพราะหลายคนอยากจะฆ่าตัวตายก็มาบริจาคเงินทำบุญที่มูลนิธิก่อน เห็นตาบอดยังสนุกสนานกันได้ ก็นึกได้ว่าแล้วเราจะฆ่าตัวตายไปทำไม ตอนนั้นมีคนดังคนหนึ่งมาพูด ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว มาพูดออกข่าวในสถานีตลอดเลยว่า เธอเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่พอไปทำบุญที่โรงเรียนนี้ เห็นตาบอดยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านก็เลยเลิก แล้วก็หันมาทำเหมือนกับที่คนตาบอดสั่งสอนก็คือพยายามให้คนอื่น มาเป็นจิตอาสาทำนู่นทำนี่ แล้วท่านก็รู้ว่า การให้มันคือความสุขที่แท้จริง
คนตาบอดทำได้ทุกอย่าง แล้วเราต้องหาเรื่องท้าทายทำ ความท้าทายเท่านั้นที่จะดึงความสามารถของมนุษย์เราออกมาได้
นอกจากการยิ้มแล้ว ท่านยังบอกเธอมีเลือดไหม ผมบอกมี มีก็ไปบริจาคโลหิตสิ เลือดเธอช่วยชีวิตคนอื่นได้ เลือดตาบอดช่วยชีวิตคนอื่นได้ พวกเธอรุ่นพี่ก็ไปบริจาคเลือดกันเยอะแยะ ผมก็บริจาคเลือด ทุก 4 เดือนบ้าง ปีละครั้ง ปีสองครั้งบ้าง ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก ก็ได้มา 36 ครั้ง พอเริ่มกินยาเขาก็ไม่เอาแล้ว แต่รุ่นพี่ทุก 3 เดือน ปีละ 4 ครั้ง เขาบริจาคได้มากที่สุดถึง 139 ครั้ง ได้รับสารพัดรางวัลจากสภากาชาด เพราะบริจาคมากที่สุดในสภากาชาด 139 ครั้ง นั่นก็คือปีละสี่ครั้งเป็นเวลา 35 ปี แล้วคนตาบอดที่บริจาคกันเหยียบร้อยมีหลายคน ไอ้หลักสิบนี่เรื่องธรรมดา อันนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า เราได้รับคำสอนดี ๆ มันก็เป็นประโยชน์กับเรา แล้วอีกอันหนึ่งที่ท่านสอนพวกเรามาก็คือเมื่อพวกเราช่วยตัวเองได้แล้ว อย่าลืมช่วยรุ่นน้องต่อไป แล้วท่านก็ให้พวกเรารวมกันเป็นสมาคม เพราะงั้นคนตาบอดก็จะมีสมาคมเป็นแห่งแรก ตอนแรกก็ไม่เป็นทางการ ก็มาเป็นทางการก็ตอนผมตาบอดนี่แหละ ปี 2510 แล้วก็ใช้สมาคมแหละ ขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ผมก็ไปร่วมด้วย เช่น อุปกรณ์ที่เราเอามาใช้ในการเรียนหนังสือ มันต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วเมืองไทยก็ถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือย ภาษีแพงมาก เพราะงั้น เราจะเอาเข้าแบบเสียภาษีก็ไม่ได้ เราก็ต้องไปขอทูตอเมริกันให้ช่วยนำเข้า ให้ทหารจัสแมก (JUSMAG : Joint US Military Assistance Group) ช่วยนำเข้า มันก็ได้จำนวนจำกัด แล้วเราก็ไม่ต้องเสียภาษี แล้วเราก็เรียกร้องให้รัฐว่าให้ยกเว้นภาษี ซึ่งในภายหลังสมาคมก็ต่อสู้ได้สำเร็จ ศุลกากรก็ยินดียกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้าให้ สำหรับของใช้สำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ แต่ถ้าเป็นแบบนาฬิกาที่คนตาดีใช้ได้ด้วย ต้องให้มูลนิธินำเข้าเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่นำเข้ามาเพื่อค้ากำไร แล้วก็เอามาเพื่อค้ากำไรไม่ได้ อีกเรื่องหนึ่งที่สมาคมทำสำเร็จ ก็เป็นประโยชน์กับผมพอดี นั่นก็คือว่าคนตาบอดยุคนั้นเรียนนวดมาแต่ไหนแต่ไร ปรากฏว่าเลขาฯ ก.พ. กรรมการข้าราชการพลเรือน ชอบให้รุ่นพี่ที่เป็นคนตาบอดที่ชำนาญเรื่องนวด นวดให้ รุ่นพี่นวดไปก็กล่อมท่านเลขาฯ ไปว่า เปิดโอกาสให้คนตาบอดเป็นข้าราชการได้เถอะ เขาก็เป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แต่ก็เป็นครูไม่ได้ กฎหมายห้าม เป็นอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะสมัยก่อนครูอาจารย์อะไรทั้งหลาย ถือเป็นข้าราชการพลเรือนเหมือนกันหมด ท่านบอก ในเมื่อทำงานได้แบบพวกเธอ ทำงานดีด้วย ทำงานได้ด้วย มันก็ต้องเป็นได้สิ ทางรุ่นพี่ก็บอก เขาก็ไม่ตีความให้พวกเรา ท่านก็บอกเดี๋ยวจะไปใส่ข้อความเปิดให้เขาตีความ พอมีการแก้กฎหมาย ท่านก็เลยใส่เข้าไปหนึ่งวลี คุณสมบัติต้องห้ามเดิม พิการทุพพลภาพห้ามเด็ดขาด ท่านก็ไปใส่ว่าจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้แต่ละหน่วยงานไปดูเอา ถ้าทำได้ก็ให้เป็นข้าราชการ สมัยนั้นปัญหาใหญ่ก็คือคนที่เป็นข้าราชการแล้วมาพิการในภายหลังก็ให้ออกจนเกลี้ยงเลย โดยเฉพาะข้าราชการครู ยุคผมหลายร้อยคนเลย โวยวายกันใหญ่ว่า เราก็ยังสอนได้ เราอุทิศตัวเพื่อเด็ก สอนเด็กเล่นกีฬา เกิดอุบัติเหตุพิการ ให้เราออกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ก็ยังสอนวิชาอื่นได้
เพราะอย่างนี้เลยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักศึกษาว่า เราทั้งได้ที่ 1 ของคณะ ไม่ไปเรียนก็ยังได้ที่ 7 ของเนติบัณฑิต แทนที่เราจะเป็นภาระ เรากลับเป็นพลังให้กับเด็ก ๆ เด็ก ๆ ก็จะเริ่มเอาไอดอล อาจารย์ขนาดตาบอดยังทำได้เลย แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ ผมก็บอกเขา ที่ผมทำได้เพราะผมเชื่อ แล้วผมอดทน แล้วผมไม่ยอมจำนน แล้วผมก็ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส
อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านสอนก็คือคนตาบอดเราต้องรู้จักให้ พอเวลาเราตาบอดแล้ว ความเชื่อมันอยู่ในสมองเราเลยว่าเราเป็นภาระ เราต้องแบมือขอความช่วยเหลือคนอื่น เพราะงั้นพอถ้าบอกตาบอดต้องรู้จักให้
เช่น ผมไม่มีหนังสือใช่ไหม ผมก็หาอาสาสมัครมาอ่าน ให้ฟังก่อนเรียน ผมก็เลยได้อ่านก่อนเรียน แต่พวกเธอประมาท มีตาไม่ยอมอ่าน (หัวเราะ) ไปอ่านใกล้สอบ ก็เลยอ่านไม่ทันใช่ไหม เพราะงั้นคนฉลาด เขาทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส พวกเธอประมาทมันก็ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ เด็กก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า มันเป็นความจริงว่าจริง ๆ ไอ้เคราะห์มันก็เป็นโอกาสได้ แต่เขาประมาท แทนที่จะขยันอ่านก่อน ทั้ง ๆ ที่มีตาแต่ไม่อ่าน ผมไม่มีตา แต่ผมฟังก่อน เราไปเรียนจดเลคเชอร์มันก็ง่าย ก็พยายามบอกเขา เราก็พยายามให้วิกฤตมันเป็นโอกาส ไอ้สิ่งที่เคราะห์ไม่ดีก็ให้มันมาเป็นพลัง เพราะงั้นสโลแกนของเราจะใช้อยู่เสมอเลย ร่วมกันเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ทีนี้ผมก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้หลักผู้ใหญ่ด้วย เด็กนี่ไม่มีปัญหา แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะยอมรับเรา เราก็ต้องไปเรียนโรงเรียนดัง ๆ ก็สอบ พอดีที่ธรรมศาสตร์มีนโยบายสร้างอาจารย์ประจำ คือ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ นี่ต้องถือว่าเป็นปูชนียบุคคลของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือปกติคนมาเป็นอาจารย์เพื่อจะเป็นทางผ่านไปเป็นผู้พิพากษา อัยการ แต่อาจารย์ปรีดีสละตำแหน่งจากศาลฎีกา มาเป็นคณบดี มาเป็นอาจารย์ประจำเพื่อสร้างอาจารย์ประจำตาม ดร.ป๋วย ด้วยการหาทุนให้พวกเราไปเรียนต่างประเทศ เมื่อพวกเราไปเรียนต่างประเทศ เราก็จะติดพวกวิชาการ เราก็อยากสอนมากกว่าอยากจะไปเป็น ผู้พิพากษา อัยการ และก็มีแต่เอาคำพิพากษามาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ให้นักศึกษาฟังว่าในทางทฤษฎีเขาแบบนี้นะ แต่ส่วนใหญ่ก็ดี มันก็มีบางอันแหละที่เราจะดึงออกมาอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าโลกอื่นเขาคิดยังไง ที่จะไปเรียนต่างประเทศ เราก็ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยดัง ๆ เขาจึงจะเชื่อถือเรา ผมก็เลยเลือก Harvard เหตุที่เลือก Harvard เพราะมันอยู่ใกล้โรงเรียนสอนคนตาบอดที่อเมริกาคือ Perkins School for the Blind คือเนื่องจากการที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ หนึ่งเลยต้องสอบ TOEFL ถ้าไม่ได้ TOEFL เราต้องไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศเขาก่อน ทีนี้เขาไม่ให้ผมสอบ TOEFL (หัวเราะ) ผมก็เลยต้องขอทุนไปเรียนที่ Perkins School for the Blind เรียนภาษาอังกฤษที่นั่นก่อน แล้วก็ไปสมัครเรียน Harvard ตอนที่เราจะไปสมัคร เราก็ศึกษาว่า Harvard เขาก็มีจุดอ่อน เราเรียกว่าจุดอ่อนจริง ๆ คือจุดแข็งของเขา จุดแข็งของเขาก็อยู่ตรงที่ว่าเขามักจะทุ่มเทสร้างคนไปทำประโยชน์เพื่อสังคมทั้งในอเมริกาและนอกอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เขามีทุนให้ไปเลยนะ โดยเฉพาะนักต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เขาให้ทุนไปเลยแล้วก็มาเรียน ผมก็ถือว่าไอ้จุดแข็งของเขาก็เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้เขารับเรา แล้วผมก็ไปพบคณบดี ผมก็เตรียมคำตอบไว้แล้วล่ะ ผมรู้อยู่แล้วว่ายังไงเขาก็ต้องถามว่าทำไมฉันต้องรับเธอ แล้วเขาก็ถามอย่างนั้นจริง ๆ เพราะฝรั่งก็ต้องถาม เขาต้องเริ่มด้วยคำถามที่เป็นปัญหาเพื่อให้เราหาคำตอบ เขาก็ถามทำไมฉันต้องรับเธอ ทำไมฉันต้องรับคนตาบอดมาเรียน แล้วไปอยู่ต่างประเทศด้วย เราก็บอกก็ Harvard มีชื่อเสียงมากเลยในการให้ทุนคนมาเรียนเพื่อไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ผมอยู่ประเทศผม ไม่มีใครเชื่อนะว่าคนตาบอดทำอะไรได้ เขาเชื่อแต่ตาบอดขอทาน แล้วคนตาบอดส่วนใหญ่ก็ยึดอาชีพขอทานจริง ๆ ผมอยากให้เขาได้มีโอกาสเหมือนผม ได้พัฒนา แล้วมีคุณภาพชีวิตเหมือนกับคนอื่น คุณให้เงินคนอื่นมาเรียนเพื่อไปทำนักสิทธิมนุษยชน ของผมหลวงให้เงินมา เพียงแค่คุณให้โอกาสให้ผมเรียน คุณให้ไม่ได้เหรอ (หัวเราะ) ในเมื่อคนอื่นก็ให้มาโดยตลอด
แล้วเราก็โม้ให้นักศึกษาฟัง ฉันจบ Harvard นะ พวกเธอก็ทำได้นะ ฉันตาบอดยังทำได้เลย มันก็เป็นพลังให้เด็ก เด็กก็จะคิดว่าอาจารย์ตาบอดอาจารย์ยังทำได้ แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้
คณบดีบอก งั้นฉันรับเธอ ทั้ง ๆ ที่คณบดีบอกจริง ๆ ประเทศไทยโควตาเต็มแล้วนะ เพราะฉันรับคนไทยสองคนตามโควตาไปแล้ว แต่ของเธอเป็นกรณีพิเศษต้องเอาเข้าที่ประชุม งั้นเดี๋ยวที่ประชุมมีมติยังไงจะแจ้งไปที่ Perkins ผมก็รออยู่เกือบเป็นเดือนเหมือนกัน จนมีหนังสือตอบมา แต่ในขณะนั้นผมก็ไปหาที่อื่นด้วยนะ ไปสมัครที่อื่นหลายมหาวิทยาลัยรับ ไม่ว่า Boston ไม่ว่า Howard ชื่อเหมือนกัน แต่เขียนคนละอย่าง อยู่ที่ Washington, D.C. ก็รับเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าถ้าไม่ได้ Harvard ก็คงไปที่ Boston เพราะเราอยู่ที่นั่น ก็เรียนจบมา มันก็เป็นไปอย่างที่ผมว่านะ ถ้าเราได้เครื่องหมาย Harvard มาประทับที่หน้าผาก คนก็เชื่อว่าเรามีความสามารถพอบอกใคร อาจารย์จบไหนมา Harvard โอ้โห จบ Harvard เลยเหรอ เห็นไหม แล้วเราก็โม้ให้นักศึกษาฟัง ฉันจบ Harvard นะ พวกเธอก็ทำได้นะ ฉันตาบอดยังทำได้เลย มันก็เป็นพลังให้เด็ก เด็กก็จะคิดว่าอาจารย์ตาบอดอาจารย์ยังทำได้ แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ The People : มีเด็กที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ไหม วิริยะ : มีครับ มีหลายคนบอกผมเลยว่าอาจารย์ผมอยากเรียน Harvard อาจารย์ช่วยทำ recommend ให้ผมหน่อย (หัวเราะ) เราก็ทำให้ เขาก็จบ Harvard มาก็มาขอบคุณ ว่า recommend อาจารย์ ผมได้ไปเรียน ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ อันนี้มีจนทุกวันนี้ ที่หลายคนอยากจะไปเรียน Harvard ก็มาขอให้ผมทำ recommend ผมเลยบอกว่า recommend ดีที่สุดก็คือเธอ เธอคิดดูซิว่าฉันควรจะเชียร์เธอยังไง เขียนมาสุดลิ่มทิ่มประตูเลย แล้วเดี๋ยวฉันดู แล้วถ้าฉันจะเพิ่มอะไรแล้วเพิ่มให้ ก็ทำให้หลายคนได้ไปเรียนที่ Harvard เขาก็ดีใจ เพราะงั้นคำสอนที่เราได้มาก็เป็นเรื่องที่ดี ตั้งแต่เรื่องความเชื่อ ความศรัทธาในความสามารถของตัวเรา เอาเรื่องท้าทายมาดึงความสามารถของเรา ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แล้วก็อย่าประมาทไปทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ อ่านหนังสือได้ทุกเวลาแต่ไม่ยอมอ่าน (หัวเราะ) ไปอ่านใกล้สอบ ประมาทมันก็เลยเป็นเคราะห์ เลยบอกนักศึกษาเสมอ แล้วก็รู้จักให้ เพราะว่าความสุขของมนุษย์เรามันอยู่ที่การให้ แล้วตอนหลังผมมาฟังท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต ก็สอดคล้องกัน ท่านก็บอกคนฉลาดเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต หรือท่านพุทธทาส ท่านก็บอกปฏิบัติงาน ปฏิบัติธรรม ผมก็จะบอกทุกคนปฏิบัติงาน ปฏิบัติธรรม แค่เราเปลี่ยนใจเราหน่อยเดียวว่างานที่เราทำเราจะทำอุทิศให้กับคนอื่น ไม่ใช่เพื่อเงินเดือนอย่างเดียว เงินเดือนไม่ต้องไปสนใจ ทำ service ให้ดี ให้คนอื่นประทับใจ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม มันอยู่ที่วิธีคิดเท่านั้นเองใช่ไหม เพราะงั้นผมก็จะสอนทุกคนว่าถ้าเราทำงาน แล้วเราก็ถือว่าปฏิบัติธรรมให้คนอื่นด้วยความรัก ชีวิตเราก็มีความสุข ทำงานอะไรก็มีความสุข เพราะว่าเราพยายามทำให้คนอื่นให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุด เท่าที่เรามีปัญญาทำให้เขาได้ โดยที่เราไม่ได้หวังอะไรตอบแทน ชีวิตเราก็มีความสุข แล้วเมื่อเราช่วยตัวเองได้ เราก็มาช่วยคนอื่นต่อ เหมือนอย่างผมก็มาตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา จริง ๆ เราก็มีมูลนิธิหลายมูลนิธิที่ช่วยคนตาบอดอยู่แล้ว แต่ผมยังเห็นว่าเรายังขาดมูลนิธิที่ทำเรื่องใหม่ ๆ ก็เลยตั้ง ‘มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ’ ขึ้นมา แล้วก็ทุ่มเทไปในเรื่องใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีคนทำ เพราะงั้นเรื่องที่เราทุ่มเทก็จะเป็นเรื่องบุกเบิก เรื่องใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ
ความพิการมันไม่สำคัญ แต่ความสำคัญคือความเสมอภาคในเรื่องโอกาส ไม่ใช่เฉพาะคนพิการนะ ทุกคนนะ ต้องมีความเสมอภาคชาวเขา ชาวดอย ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายต้องได้รับความเสมอภาคในโอกาส ในการพัฒนาความสามารถของเขาเต็มศักยภาพ
อันนี้ผมก็ยกตัวอย่างว่าพอเราไม่เปิดโอกาส สอง เราก็ทำสภาพแวดล้อมไม่เอื้อกับทุกคน เวลาเราทำอะไร เราก็ไม่คิดถึงคนอื่น สร้างตึก โรงแรม เราก็ไม่นึกจะให้คนอื่นมาอยู่ ให้แต่คนแข็งแรงอยู่ เหมือนที่ผมบอกว่า Microsoft เขาพลาด แอปพลิเคชันของเขา คนไม่สามารถเข้าถึงได้หมด งั้นเขาก็ต้องเริ่มมาเปลี่ยน แต่ Apple คนที่ซื้อ Apple 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะ accessibility ของ Apple เพราะงั้นคนพิการเราจึงรณรงค์ 2 เรื่อง empowerment and barrier free เพราะงั้นคุณกฤษนะ ละไล ก็ต้องมาบอก barrier free นะ อารยสถาปัตย์นะ ผมก็ต้องบอก ต้องให้คนพิการมีโอกาสนะ เรียนหนังสือตั้งแต่เล็กนะ ฝึกอาชีพให้เขามีงานทำ ให้เขาทำงานท้าทายนะ อะไรที่เราคิดว่าเขาทำไม่ได้ก็ลองให้เขาทำดู มันมีแต่เสมอตัวกับดีขึ้น ถ้าคนพิการมี 2 อย่างนี้แล้ว impairment ไม่มีความหมาย เป็นแค่ความไม่สะดวกและความน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เหมือนผม ได้รับโอกาสจากคนอื่นให้ได้พัฒนาความสามารถเต็มศักยภาพ สภาพแวดล้อมไม่เป็นอุปสรรคกับผมมากมายนัก ไอ้ตาบอดก็เป็นความน่ารำคาญ เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเอง เราอยู่โลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขเหมือนกับคนอื่น นอกจากนั้นเรายังเป็นไอดอล เป็นพลังให้กับคนอื่นได้ด้วย เพราะฉะนั้นความพิการมันไม่สำคัญ แต่ความสำคัญคือความเสมอภาคในเรื่องโอกาส ไม่ใช่เฉพาะคนพิการนะ ทุกคนนะ ต้องมีความเสมอภาคชาวเขา ชาวดอย ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายต้องได้รับความเสมอภาคในโอกาส ในการพัฒนาความสามารถของเขาเต็มศักยภาพ ผมจึงดีใจว่าเรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ให้ได้เรียนหนังสือ แล้วก็ barrier free ทำอะไรต้องทำเพื่อทุกคน อย่าให้เป็นอุปสรรคกับคนบางกลุ่ม The People : สมมติว่าถ้าตายังมองเห็น ชีวิตจะเป็นอย่างไร วิริยะ : ถ้าผมไม่ตาบอด ผมก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พบกับคนดี ๆ ได้เรียนรู้เรื่องดี ๆ แล้วก็ได้ใช้ชีวิตที่ดี ๆ สมัยผมไม่ตาบอดก็เกเรเกตุง เพื่อนชวนเที่ยวโสเภณี โชคดีเราถูกพ่อแม่ควบคุมใกล้ชิด ก็ไม่ได้เที่ยว เพื่อนหลายคนก็ติดโรคงอมแงม เพื่อนชวนลองยาเสพติด กัญชงกัญชา สมัยนั้นยาบ้าก็เป็นเรื่องธรรมดานะ โชคดีไปลองกัญชาแล้วมันแพ้ (หัวเราะ) ก็เลยไม่ติดกัญชา ไอ้ยาบ้าสมัยผม เขาก็ใส่น้ำให้พวกผู้ใช้แรงงานกินน่ะ สมัยนั้นเขาเรียกยาขยัน แล้วตอนหลังเราก็เพื่อจะไม่ให้กินยานี้ เราเลยเรียกว่ายาบ้า แต่รุ่นผมนี่เป็นยาขยัน ใส่น้ำแล้วก็ให้คนงานกินแล้วก็ขยันทำงาน ทำงานไม่หยุดไม่หย่อน แต่พอยาหมดฤทธิ์แรงหมด แล้วต่อมาเราก็เรียกว่ายาบ้า แล้วเราก็ห้าม เพราะตอนหลังมันก็ใส่สารพัดเข้าไป แต่เมื่อผมตาบอดผมก็ห่างไกลพวกนั้น แต่ผมมาใกล้ชิดกับเรื่องดี ๆ (หัวเราะ) The People : เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติเลยทำให้มีวันนี้ วิริยะ : นี่แหละที่เมื่อเราทำแล้วเราเคยชิน แล้วเราก็จะติดนิสัยไม่ยอมจำนน แล้วมันได้ผลจริง ๆ ไง ผมยกตัวอย่างตอนที่เราเรียกร้องให้มีกฎหมายฉบับแรกสำหรับคนพิการ ปี 2524 นายกฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บอกว่าจะให้ของขวัญคนพิการโดยให้มี พ.ร.บ. ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ แล้วมีกองทุนเพื่อให้คนพิการได้รับการพัฒนา แต่พอปีนั้นผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ปี 2524 ตอนนั้นผมอยู่อเมริกา พอกลับมา 2526 เพื่อน ๆ ก็ชวนกันมารวมกลุ่มว่า เราต้องรวมพลังกันเพื่อเรียกร้องกฎหมาย เราใช้เวลา 18 ปีกว่าจะขอให้นักการเมืองเสนอ แล้วเราก็ได้ช่วงที่เขาปฏิวัติ แล้วท่านอานันท์ ปันยารชุน ยินดีช่วยแล้วก็มอบให้คุณมีชัย วีระไวทยะ ดูแล แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับเรื่องระบบโควตา ก็คือตอนนั้นเราเสนอ 200 ต้องจ้างคนพิการ 1 คน ถ้าไม่จ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ท่านบอกไม่เอา ๆ บังคับ เอา incentive ท่านก็เลยไปให้เรื่องสิทธิประโยชน์ในทางภาษี เราก็บอกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีกระทรวงการคลังเขาไม่ให้หรอก ท่านบอก ให้เขาให้ นายกฯ สั่งแล้วจะไม่ให้ได้ยังไง แต่เราก็ยังอยากได้ระบบโควตา เราก็เลยขอคุณวิชัย โถสุวรรณจินดา แปรญัตติ ท่านคิดนะ ในสมัย สนช. ไอ้การแปรญัตติที่จะสำเร็จมันยากนะ โดยเฉพาะขัดแย้งกับรัฐบาล แต่คุณวิชัยก็ยินดีแปรให้ กรรมาธิการไม่ยอม เราก็บอกช่วยพูดในสภาใหญ่หน่อย และพวกเราจะมีกองเชียร์ไป พวกเราก็รวมกลุ่มกันแล้วเอาดอกไม้แจก สนช. บอกสนับสนุนหน่อย แล้วเราก็ขึ้นไปฟังกัน พอคุณวิชัยพูด คนนั้นก็เริ่มเห็นด้วย คนนี้ก็เริ่มเห็นด้วย รองนายกฯ มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกรัฐบาลรับ ประธานสั่งพักครึ่งชั่วโมง แล้วก็แก้ไขร่วมกับรัฐบาล แล้วก็เอาเข้ามา เราก็ได้ระบบโควตา แต่สมัยนั้นก็เป็นโควตาแบบเมตตาธรรม มามีสภาพบังคับอีกครั้งหนึ่งก็ตอนผมเป็น สนช. แล้วก็เป็นอย่างทุกวันนี้ ใครไม่จ้างก็ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ก็ทำให้เงินกองทุนโตมาเป็นหมื่นล้าน โดนรัฐบาลยึดไป 2,000 ล้าน ไอ้ตัวนี้แหละที่ทำให้ผมต้องกระเสือกกระสนที่จะต้องทำฝืนศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อเอาเงินเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนพิการ อุตส่าห์ลงทุนทำมาแล้ว มันมาลงเอยเข้าคลังมันไม่ไหว ก็ต้องเหนื่อยกันต่อไป The People : สิ่งที่อยากฝาก วิริยะ : เราก็อยากจะฝากบุคคลทั่วไปว่า ท่านได้เชื่อเถอะว่าท่านและคนพิการนี้มีความสามารถ ทำได้ แล้วรักทำเรื่องที่ท้าทาย เพราะไอ้ความท้าทาย มันไม่มีเสีย มีแต่ได้ ไม่สำเร็จมันก็เป็นครู สำเร็จเราก็ได้ความสามารถของเรา ออกมาแสดงให้คนปรากฏ ทำไมไม่สำเร็จเป็นครู ความล้มเหลวมันก็คือครู เราอย่าลืมนะเอดิสันล้มเหลวเป็นหมื่นครั้ง หลอดไฟจึงสำเร็จ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ยอมจํานน รักเรื่องที่ท้าทาย เราจะเห็นอะไรดี ๆ ในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะทำมันไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า (หัวเราะ) ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีสิ่งใหม่ ๆ ไม่รู้จบ โลกนี้มีสิ่งใหม่ ๆ ไม่รู้จบ เพราะเขาเชื่อว่าเขาทำได้ เขารักเรื่องท้าทาย แล้วเขาไม่ยอมจำนน ผมก็ขอให้คนไทยเราได้เชื่อเรื่องนี้เถอะ