16 ก.พ. 2565 | 03:11 น.
หากพูดถึงมวยไทย บางคนอาจจะนึกถึงการต่อสู้เป็นหลัก แต่สำหรับ ‘ครูเสน่ห์ ทับทิมทอง’ ครูมวยผู้คลุกคลีกับสังเวียนมวยมาตั้งแต่วัยเยาว์กลับมองว่าเบื้องหลังหมัด เท้า เข่า ศอก ไปจนถึงพิธีไหว้ครูของ ‘มวยไทย’ ล้วนแฝงไปด้วยปรัชญาที่สอนให้ผู้คนได้รู้จักทั้งร่างกายและหัวใจของตนเอง ชีวิตและความผูกพันกับสังเวียนมวย “จะให้เขารักมวยไทย เราต้องสอนใจเขาก่อน สอนถึงทฤษฎี ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของมวยไทย ไม่ใช่ใครอยากเรียนมวย มึงต้องชก เด็กก็ไม่อยากเรียน เพราะเข้ามาแล้วมันเจ็บตัว” ครูเสน่ห์เล่าถึงวิธีการสอนในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการอบรมให้ความรู้ด้านมวยไทยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ก่อนจะเริ่มก้าวสู่การเป็น ‘ครูมวย’ อย่างเต็มตัว ครูเสน่ห์เคยเป็นข้าราชการครูอยู่นานถึง 25 ปี โดยที่มวยไทยยังคงซึมซับอยู่ในหัวใจของเขาเรื่อยมาตั้งแต่วัยเยาว์ “ครอบครัวผมไม่มีคนชกมวย แต่ตัวผมเองชกมวยครับ ที่ชกนี่ไม่ใช่อยากจะชก อยากจะเป็นนักเลงอะไร เพียงแต่ว่าอยากได้สตางค์ ขณะที่ชกมวยเราก็มีพรรคพวกเยอะ มีเรื่องมีราว มีอะไรในสถานศึกษาหรือว่าต่างสถาบัน เราก็เป็นผู้เคลียร์ ไม่เรียกผู้นำนะ เรียกผู้เคลียร์ แต่บางแก๊งเขาไม่ยอมเหมือนกัน เราก็ต้องโดนก่อน จนที่เพชรบุรีผมเรียนไม่ได้ ผมต้องไปเรียนที่อ่างทองซึ่งมันไกลมาก “จบอ่างทองมาต่อที่ มศว. ศรีนครินทร์(ประสานมิตร) พลศึกษาที่กรุงเทพฯ แล้วไปสอบบรรจุที่วิทยาลัยเกษตร แล้วก็ค่อยมาชกที่ลุมพินีของทรงชัย รัตนสุบรรณ มีชื่อเสียงอยู่ได้หลายปี ก็ผันตัวเองมาเป็นครูมวย เผยแพร่ศิลปะมวยออกไป แล้วตอนหลังองค์กรภาครัฐเขาเห็นเข้า เขาก็เลยเชิญไปร่วมเผยแพร่กิจกรรมในต่างประเทศ “เวลาไปต่างประเทศก็จะไปในลักษณะของการสัมมนา 7 วัน 15 วันก็แล้วแต่ ผมจะแตกต่างกับครูมวยทั่ว ๆ ไปที่ไปสอนเรือนปี สองหรือสามปี ครั้งแรกจำได้เลยที่ประเทศสิงคโปร์ แม้กระทั่งสุดท้ายที่คนอื่นเขายังไม่เคยไปเลยในอูกันดา แทนซาเนีย เอธิโอเปีย” แก่นหลักของมวยไทย การเดินทางของครูเสน่ห์ทำให้เขาพบว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากที่หลงใหลในเสน่ห์ของมวยไทย โดยเฉพาะแก่นหลักที่เป็นมากกว่าการออกกำลังกายและการต่อสู้ “หนึ่ง, มันเป็นการเคลื่อนไหวแบบธรรมชาติ แรงส่งไม่มีจุดหมุนไม่ได้ ถ้าบาลานซ์ไม่ถูก ล้มแน่นอน อันที่สอง, มวยไทยเป็นวิทยาศาสตร์ ร่างกาย สรีระหรืออนาโตมีมันมีจุดอ่อนจุดแข็งอยู่ตรงไหน เช่น สันหมัด ศอก ฝ่ามือ นี่ก็เป็นส่วนที่แข็ง ข้อมือใช้กระแทกไปไม่แตกต่างจากหมัด ข้อมือด้านหน้าเหมือนกัน” ครูเสน่ห์เล่าพลางยกมือขึ้นมาทำท่าประกอบให้เราเห็นภาพ ก่อนจะอธิบายต่อว่า “มวยไทยสามารถที่จะเรียนรู้ถึงจุดอ่อน - จุดแข็งในร่างกายทั้งหมด ก็คือสรีระของร่างกาย หรืออนาโตมีซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุด ทุกวันนี้ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ Balancing kinetic ทำให้คู่ต่อสู้ล้ม หรือภาษามวยเรียกกระชากเหลี่ยม การทรงตัวของคู่ต่อสู้ น้ำหนักไปทางไหน แล้วส่งไปในทิศทางที่น้ำหนักลงไป เขาก็จะล้มง่าย ทวดเราเรียกว่าการยืมแรงสลายแรง อันนี้ก็มาจากมวยโบราณเหมือนกัน “ต่อมาคือ มวยไทยเป็นจิตวิทยา เราไหว้ครูเพื่ออะไรครับ ขึ้นไป เห็นนักมวยเดินมาที่ขอบเวทีกราบแม่ธรณี ก้มนาภี หยิบดินโรยรินใส่หัว โน้มตัวลงกราบ เท้าทาบแผ่นดิน ผินพักตร์ขึ้นเวที ดัชนีพนมใจ เลือกลูบเชือกเบิกนาม กระโดดข้ามหลัก น้อมทักปวงชน อันนี้เป็นสิ่งที่ปู่ทวดเราสอนมา อันนั้นคือการทำสมาธิ นอกจากนั้นแล้วขึ้นเวทีไป เวทีอะไรก็ตามที่มีคนดูเยอะ ๆ มีความรู้สึกอย่างไรครับ ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก แต่มวยขึ้นไปไหว้ครู จิตใจอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิ ก็เกิดสติปัญญา เวลาต่อยก็จะไม่ตื่นเต้น แก้ไขสถานการณ์ได้ นักมวยแค่มองตาคู่ต่อสู้รู้แล้วว่าเขาจะสู้เราได้หรือไม่ นี่คือจิตวิทยา จะสังเกตเห็นได้นะ นักมวยทุกคนจะถูกสอนโดยไม่รู้ตัว “ส่วนอันที่สี่, มวยไทยยังเป็นพลังงานหรือจะเรียกอีกอย่างว่าสร้างกำลังภายใน วิธีสังเกตง่ายที่สุด นักมวยเวลาต่อยมวยออกอาวุธไป เสียงจะออกมาด้วย แอ๊ช! แอ๊ช! การออกเสียงออกไปพร้อมจังหวะการออกอาวุธ มันไม่ใช่เท่นะ แต่มันเป็นการระบายออกของระบบการหายใจ ทำให้เราหายใจสะดวกง่ายขึ้น แล้วเหนื่อยน้อยลง “แล้วสุดท้ายอันที่ห้า, มวยไทยสร้างคนให้เป็นคน คือนักมวยมีสปิริต หรือที่เรียกว่าสปิริตของนักกีฬา พอต่อยมาตึ้ง เจ็บนะ แต่ฝืนยิ้ม แสดงออกให้คู่ต่อสู้เห็นไม่ได้ อันนี้เป็นการที่เรียกว่าเก็บอาการนะครับ” มองวงการมวยไทยผ่านสายตาครูเสน่ห์ แม้จะมีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจมวยไทย แต่ครูเสน่ห์กลับมองว่าประเทศไทยยังมีข้อจำกัดบางอย่างสำหรับครูมวยที่ต้องการเดินทางไปเผยแพร่ศาสตร์มวยไทยในระยะยาว “ครูมวยแบบผม เราไปทำ 7 - 15 วันเป็นส่วนใหญ่ แต่อีกกลุ่มหนึ่งคือไปเป็นประจำ ใช้วีซ่าการท่องเที่ยว work permit ไม่มี พอหมดวีซ่าแล้วจะต้องบินกลับ คือถ้าเป็นไปได้ สิ่งที่ผมอยากทำก็คือ อยากให้มวยไทยเข้าสู่กรมแรงงานซึ่งกำลังวิ่งเต้นกันอยู่ ถ้ามันเข้ากรมแรงงานได้ เราจะไปต่างประเทศ ไปทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วถามว่าในต่างประเทศต้องการครูมวยไทยไหม เขาต้องการมากครับ” ครูเสน่ห์เล่าว่าเขาตั้งใจที่จะสานต่อแนวคิดเดิมที่ต้องการผลักดันอาชีพครูมวยให้เปิดกว้างและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งการคร่ำหวอดและคอยถ่ายทอดศิลปะป้องกันตัวอย่างมวยไทยมาอย่างยาวนาน ย่อมทำให้ครูเสน่ห์ได้รับรางวัลหลายครั้ง หากครูเสน่ห์กลับมองว่าความสำคัญของการให้รางวัลเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อยกย่องหรือสร้างความภูมิใจให้กับตัวเขาเอง แต่กลับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องใด “จริง ๆ แล้วผมก็ไม่เคยคาดหวังต้องได้รางวัลอะไรนะ ผมคิดว่ามันไม่มีอะไรสำหรับผมหรอก แต่มันทำให้คนอื่นเขามองเห็นว่า สิ่งเหล่านี้ที่อาจารย์เสน่ห์เขาทำมา สังคมมองเห็นนะ ไม่ใช่ว่าสังคมไม่ได้ดูแลอะไรอย่างนั้น ทำให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับครูมวยกับวงการมวย แล้วสิ่งที่ผมอยากให้เป็นคือตรงนี้แหละ เพราะว่ามวยไทยมันไม่ได้เป็นของผม ของคุณ มันเป็นของทุกคนที่เป็นคนไทย”