อิชิโนโมริ โชทาโร: “สู้เขาไอ้มดแดง!” และการตอบแทนพี่สาวที่จากไป

อิชิโนโมริ  โชทาโร: “สู้เขาไอ้มดแดง!” และการตอบแทนพี่สาวที่จากไป
“อะเมซอนนนนนนนนนน กี้!!” นี่เป็นเสียงที่เด็กยุค 80 และ 90 คุ้นเคย จากฉากแปลงร่างของ ไอ้มดแดงอะเมซอน (เรียกไอ้มดแดงแต่ที่จริงไอ้มดแดงอะเมซอนมีต้นแบบมาจากกิ้งก่า) กับการพิทักษ์คุณธรรม ปราบปรามเหล่าร้าย อภิบาลคนดี และเนื่องจากปี 2019 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนรัชสมัยเข้าสู่ยุคเรวะของญี่ปุ่น ไอ้มดแดง หรือที่เรียกว่า Masked Rider ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ 3 จากยุคคลาสสิกไอ้มดแดงยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989) จากไอ้มดแดง V1* จนถึง ไอ้มดดำ BlackRx ต่อมาถึงยุคพัฒนา ไอ้มดแดงยุคเฮเซ (ค.ศ. 1989–2019) ตั้งแต่ มาสก์ไรเดอร์คูกะจนถึงมาสก์ไรเดอร์จิโอ และเรากำลังติดตามไอ้มดแดงแห่งยุคเรวะในยุคจากนี้ไป (*การเรียกไอ้มดแดงเป็น V เป็นชื่อเล่นที่คนไทยสร้างขึ้นมาเองเพื่อง่ายต่อการลำดับ ทั้งที่ความจริงแล้วมี ไอ้มดแดงที่ใช้ V ตัวเดียวคือ ไอ้มดแดง V3)  เมื่อพูดถึงฮีโรที่มาภายใต้หน้ากาก เข็มขัดแปลงร่าง และมอเตอร์ไซค์คู่ใจ ชื่อที่ตามมาก็คือ อิชิโนโมริ โชทาโร หรือที่เรียกว่า “บิดาของไอ้มดแดง” ซึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “The Story of Ishinomori Shotaro : the Man Who Created a Hero” (2018) ได้เล่าถึงชีวิตของบิดาแห่งไอ้มดแดงได้อย่างน่าประทับใจ และนี่คือเรื่องราวชีวิตของเขา Masked Rider ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักที่มีต่อพี่สาว โชทาโร หรือชื่อจริงว่า โอโนเดะระ โชทาโร เกิดที่จังหวัดมิยางิ ในภูมิภาคโทโฮคุ (ตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น) ในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในครอบครัวที่เข้มงวด โชทาโรในวัยเด็กนั้นชอบขีดเขียน เวลาส่วนใหญ่ของเขาใช้เวลาไปกับการวาดการ์ตูนให้แก่เพื่อน ๆ รวมไปถึงคนสำคัญในชีวิตของเขา นั่นคือ พี่สาว “โยชิเอะ” ได้อ่าน ซึ่งถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเธอ ที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก แม้ว่าเขาพอจะมีพรสวรรค์ด้านนี้ แต่การวาดการ์ตูนไม่เป็นที่พอใจของคุณพ่อที่เห็นลูกชายนั้นดูเที่ยวเล่นไปวัน ๆ แต่ด้วยความเอาจริงเอาจัง แม้จะเจอกระแสต้านจากครอบครัว เขาก็ยังเขียนการ์ตูนเพื่อส่งประกวดตามนิตยสารต่าง ๆ จนผลงานเรื่อง "นิเคียวเทนชิ" หรือนางฟ้าชั้นสอง ไปสะดุดตา “เทะสึกะ โอะซะมุ” ผู้ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่เจ้าของผลงาน “เจ้าหนูอะตอม” (Astro Boy) ได้ชักชวนโชทาโรมาเป็นลูกมือทั้งที่เขาเองยังเรียนในระดับมัธยมฯ นั่นเป็นสาเหตุทำให้เขาต้องย้ายไปอยู่ที่โตเกียว ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของพ่อ แต่โยชิเอะพี่สาวของเขาเองที่เป็นคนสนับสนุนให้โชทาโรเลือกทำตามความฝัน เส้นทางไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ การทำงานกับ อ.เทะสึกะ ไม่ได้ง่ายเพราะเจ้าตัวไม่มีวินัย หลายครั้งความไม่มีวินัยนี้ทำให้โชทาโรต้องเป็นคนเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ แต่นั่นก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาได้ฝึกฝีมือจนแกร่งขึ้น และเริ่มสนิทกับกลุ่มนักเขียนที่ต่อมาจะกลายเป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการ์ตูนญี่ปุ่นไปตลอดกาล ในบ้านพักนักเขียนที่เรียกว่า “หอพักโทคิวะ” ที่นั่นอุดมไปด้วยยอดฝีมือที่อยู่ด้วยกันในยุคสร้างตัว นอกจากโชทาโรแล้วยังมีคู่หูนักวาด “ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ และ โมโตโอะ อาบิโกะ”เจ้าของนามปากกา “ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ” ผู้ให้กำเนิด “โดราเอมอน” ด้วยความที่โชทาโรเป็นคนที่จริงจัง ทำให้เขาทำงานอย่างหนักตลอดเวลา ทำให้โยชิเอะเป็นห่วง ต้องตามมาดูแล และกลายเป็นการที่เธอแวะมาหาบ่อย ๆ ทำให้เธอกลายเป็นดอกไม้ประจำหอพักโทคิวะ คอยดูแลเรื่องความสะอาดและอาหารให้กับเหล่าชุมชนนักเขียนการ์ตูน แต่ช่วงนั้นงานของโชทาโรเองก็ยังไม่เปรี้ยงปร้าง อยู่ในช่วงสร้างตัว ซึ่งในช่วงนั้นโยชิเอะคอยให้กำลังใจและการสนับสนุนอยู่เรื่อยมา ที่สุด จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดในชีวิตของโชทาโรก็มาถึง เมื่อเขาได้สูญเสียพี่สาวผู้เป็นที่รักยิ่งไปในปี 1958 ด้วยโรคหอบหืด ความเศร้าโศกที่เกิดขึ้น ทำให้โชทาโรทั้งเคว้งคว้างและทั้งเหมือนตื่นจากภวังค์ มารับรู้โลกความเป็นจริงที่โหดร้าย เขาพบว่าเวลาเท่าไหร่ก็เอาครอบครัวคืนมาไม่ได้ สิ่งที่จะทำให้จิตใจเขาสงบก็คือ เริ่มออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ รอบโลก ก่อนที่เขาจะตั้งสติได้อีกครั้ง เมื่อคิดว่าพี่สาวที่อยู่บนฟ้าคงต้องการเห็นเขาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ เธอยอมสละความสบายมาเพื่อดูแลเขาถึงโตเกียวในวันที่เขาเหนื่อยยาก เรื่องกระทบจิตใจในครั้งนั้นทำให้เกิดแนวเขียนสไตล์แบบอิชิโนโมริที่เรียกว่า “โทคุทซัตสึ” หรือเรื่องทำนองความกล้าที่จะเอาชนะความสิ้นหวัง ไม่ว่าจะมันจะลำบากขนาดไหนก็ตาม เขาเลือกจะเปลี่ยนความสิ้นหวังเป็นพลัง เหมือนเหล่าตัวละครของเขาไม่ว่าจะเป็น "ไอ้มดแดง" ที่สูญเสียคนรักหรือจวนเจียนที่จะแพ้แต่ก็กลับมาเอาชนะได้เสมอ หรือ “ขบวนการเซนไต” แปลงร่างซึ่งเขาก็เป็นผู้ให้กำเนิดเช่นกัน ตั้งแต่ขบวนการโกเรนเจอร์ จนไปถึง ขบวนการแจ๊กเกอร์ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในยุคที่ภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เริ่มมาถึง บริษัท ซึบูราย่า กำลังยึดครองความสำเร็จด้วยซีรีส์ของยอดมนุษย์จากดาว M78 อย่าง “อุลตราแมน” ทำให้ โชทาโรได้รับโจทย์ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถเอาชนะอุลตราแมนได้สำเร็จ ผลงานชิ้นแรกที่ถูกเกือบจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ทางทีวีของโชทาโร คือเรื่อง สคัลล์แมน (Skull Man)ยอดมนุษย์ในชุดหัวกระโหลก โดยเสนอไปให้กับทางโทเอะ ค่ายยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น แต่ด้วยรูปลักษณ์ที่น่ากลัวเป็นหัวกระโหลกก็เลยถูกตีกลับเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงอีกครั้ง เขาได้นำสคัลล์แมนไปพัฒนาอีกครั้งโดยร่างแบบขึ้นมาหลายแบบ จนได้ต้นแบบที่เป็นไอ้มดแดงเวอร์ชันแรก ๆ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าลูกชายของโชทาโร เป็นคนเลือกแบบดังกล่าวที่ถูกพัฒนาเป็นไอ้มดแดง V1 (โดยแท้จริงแล้วแบบของมันมาจาก “ตั๊กแตน” ไม่ใช่ “ไอ้มดแดง”แต่อย่างใด) แล้วตำนาน Masked Rider ก็เริ่มต้นขึ้นจากจุดนั้น... โชทาโรยังเดินหน้าผลิตผลงานอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าหุ่น 0 คะแนน” โรโบคอน และหุ่นเหล็กหมายเลข 17 ด้วยการทำงานหนักของโชทาโรทำให้เขาเป็นเจ้าของสถิติกินเนสส์บุ๊กในปี 1998 ว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานสูงสุดคือมากกว่า 128,000 หน้า เลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จอย่างไร สิ่งติดค้างในใจของโชทาโร ก็คือเขายังคงคิดถึงพี่สาว หลังจากโชทาโรเสียชีวิตในปี 1998 ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ทีมงานที่เข้ามาสานงานต่อเลือกที่จะสอดแทรกเรื่องราวความผูกพันระหว่างเขาและโยชิเอะ ในมาสก์ไรเดอร์ W ในปี 2011 โดยใส่ตัวปิศาจ “Memory Dopant” เป็นปิศาจที่มานำวิญญาณของน้องชายเธอ (ตัวแทนของ โชทาโร) ขึ้นสู่สวรรค์ บทเรียนชีวิตของโชทาโรทำให้เราเห็นว่า เมื่อเราท้อจงลุกขึ้นเสมอ ดังประโยคดังใน Masked Rider “สู้ต่อไป! ทาเคชิ” เพราะอย่างน้อยก็ยังมีใครสักคนคอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ เหมือนที่โยชิเอะและโชทาโรที่อยู่เคียงข้างกันจนวาระสุดท้ายของชีวิต   เรื่อง: พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ