08 ก.พ. 2568 | 16:41 น.
KEY
POINTS
“ไม่ใช่ว่าไม่ชอบนะ แต่ยังไม่แน่ใจว่าใช่”
“เรายังอยากศึกษากันไปเรื่อย ๆ ก่อน”
“อยากให้เวลาทำความรู้จักกันอีกสักพัก”
คุ้นไหมกับประโยคเหล่านี้? ถ้าคุณกำลังอยู่ในสถานะ ‘คนคุย’ กับใครสักคน หรือเคยได้ยินเพื่อนพูดประโยคแบบนี้ บทความนี้มีคำตอบที่คุณกำลังตามหา
ในยุคที่แอพหาคู่และโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู การหาคนคุยไม่เคยง่ายไปกว่านี้ แค่ปลายนิ้วสไลด์ซ้ายสไลด์ขวา เราก็สามารถเจอคนที่ถูกใจได้แล้ว แต่ทำไมหลายคนกลับรู้สึกว่าการมีแฟนกลับยากขึ้นเรื่อย ๆ
นักจิตวิทยา ‘แบร์รี ชวาตซ์’ (Barry Schwartz) ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ในหนังสือ ‘The Paradox of Choice’ ว่า เป็น ‘ความย้อนแย้งของการมีตัวเลือก’ ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเรามีตัวเลือกมาก เรากลับยิ่งมีความสุข และพอใจกับการตัดสินใจน้อยลง
ลองนึกถึงตอนที่คุณเข้าร้านกาแฟ เจอเมนูเป็นร้อยรายการ บางทีคุณอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการเลือก และพอสั่งไปแล้วก็ยังกังวลว่าน่าจะสั่งเมนูอื่นดีกว่า ความรู้สึกแบบนี้แหละ ที่เกิดขึ้นกับการเลือกคนที่จะคบด้วย
มีการทดลองที่น่าสนใจในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง วันแรกมีการจัดแสดงแยม 24 ชนิด วันที่สองจัดแสดงเพียง 6 ชนิด ผลปรากฏว่าแม้การจัดแสดงแยม 24 ชนิดจะดึงดูดความสนใจได้มากกว่า แต่คนกลับตัดสินใจซื้อน้อยกว่าการจัดแสดงแยม 6 ชนิดถึง 10 เท่า
เช่นเดียวกับความรัก ในยุคที่เราสามารถเลื่อนหาคนใหม่ได้ไม่จำกัด เรากลับตกหลุมพรางทางความคิดที่ว่า “อาจจะมีคนที่เหมาะสมกว่านี้” “ถ้ารอไปอีกหน่อย อาจจะเจอคนที่ใช่กว่านี้” ความคิดเหล่านี้ทำให้เราไม่กล้าทุ่มเทกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ตรงหน้า
เคยสังเกตไหมว่า บางทีเราเจอคนดี ๆ จากแอพหาคู่ เดทแรกก็ผ่านไปด้วยดี แต่พอกลับมาเราก็อดไม่ได้ที่จะสังเกตข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเขา ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่เรากลับรู้สึกว่า “ยังไม่ใช่” เพราะในใจลึก ๆ เรารู้ว่ายังมีโปรไฟล์อีกมากมายรอให้เราเลื่อนดู
ชวาตซ์ เรียกพฤติกรรมนี้ว่าเป็นการ “มุ่งหาสิ่งที่ดีที่สุด” คนกลุ่มนี้มักปฏิบัติกับความสัมพันธ์เหมือนการลองเสื้อผ้า ต้องลองหลายตัวก่อนจะพบชิ้นที่ใช่ พวกเขามักคิดว่าที่ไหนสักแห่งต้องมีคนที่สมบูรณ์แบบรออยู่
ในทางตรงข้าม มีคนอีกกลุ่มที่เรียกว่า ‘คนที่พอใจเมื่อได้สิ่งที่ดีพอ’ พวกเขารู้จักชื่นชมสิ่งดี ๆ เมื่อพบเจอ โดยไม่หมกมุ่นกับคำถาม “ถ้า...” นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายอมรับตัวเลือกที่แย่ พวกเขายังคงมีมาตรฐานสูง แต่เมื่อเจอสิ่งที่ดีพอ พวกเขาก็พร้อมที่จะทุ่มเทให้กับมัน
ยิ่งมีตัวเลือกมาก เรายิ่งตั้งมาตรฐานสูง เราสร้างรายการคุณสมบัติในหัวที่ยาวเหยียด ต้องหน้าตาดี ต้องเก่ง ต้องรวย ต้องอารมณ์ดี ต้องเข้ากับเพื่อนเรา ต้องชอบอะไรเหมือนเรา จนบางทีลืมไปว่าความรักไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น
การมีตัวเลือกมากเกินไปยังทำให้เราเกิดความกลัวที่จะพลาดโอกาสดี ๆ หรือที่เรียกว่า ‘FOMO’ (Fear of Missing Out) เราอาจกำลังคุยกับคนที่ดีมากคนหนึ่ง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเรารีบตกลงคบกับเขาไป แล้วเจอคนที่ดีกว่าในภายหลัง เราจะทำยังไง?
บทความใน ‘Psychology Today’ ‘เจน คิม’ เขียนว่า “ในยุคนี้เราไม่รู้สึกถึงความขาดแคลนอีกต่อไป เพราะมีตัวเลือกมากมายอยู่ปลายนิ้วเสมอ บางครั้งเราปัดซ้ายอย่างรวดเร็วเพียงเพราะเห็นข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่รู้เลยว่าเราอาจกำลังพลาดโอกาสที่จะได้พบกับคนที่ใช่”
ความกลัวนี้ทำให้เราเลือกที่จะ “รักษาตัวเลือกไว้” ด้วยการคงสถานะ ‘คนคุย’ เอาไว้ เพราะมันให้ความรู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องผูกมัด และยังมีโอกาสที่จะเจอคนอื่นได้ แต่เราลืมไปว่า การทำแบบนี้ก็เหมือนการยืนอยู่ที่ประตู ไม่ยอมก้าวเข้าไปในห้องที่อาจจะมีสิ่งดี ๆ รออยู่
น่าแปลกที่แอพหาคู่ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อช่วยให้เราเจอคนที่ใช่ได้ง่ายขึ้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้การสร้างความสัมพันธ์ยากขึ้นอย่างย้อนแย้ง เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าทางเลือกมีไม่จำกัด และความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ทิ้งขว้างได้ง่าย ๆ
แล้วเราจะเอาชนะความย้อนแย้งของตัวเลือกนี้ได้อย่างไร? คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การมีตัวเลือกน้อยลง แต่อยู่ที่ ‘การเปลี่ยนวิธีคิด’ ของเราต่างหาก
เริ่มจากการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างสิ่งที่ ‘ต้องมี’ กับ ‘ดีถ้ามี’ ลองถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ในความสัมพันธ์ บางทีการที่เขาทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เข้าใจเรา และพร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน อาจสำคัญกว่าการที่เขาต้องหน้าตาดีเป๊ะ หรือเงินเดือนต้องเยอะมาก ๆ
ต้องยอมรับด้วยว่าไม่มีการตัดสินใจไหนที่สมบูรณ์แบบ ทุกความสัมพันธ์ต้องผ่านการเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน การรอให้เจอคนที่ใช่ 100% อาจทำให้เราพลาดโอกาสดี ๆ ที่อยู่ตรงหน้า
ที่สำคัญ เราต้องให้คุณค่ากับการพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีอยู่ แทนที่จะมัวแต่มองหาตัวเลือกใหม่ ความรักที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการที่ทุกอย่างลงตัวตั้งแต่แรก แต่เกิดจากการที่สองคนตัดสินใจจะเติบโตไปด้วยกัน
ถ้าตอนนี้คุณกำลังอยู่ในสถานะ ‘คนคุย’ กับใครสักคน และรู้สึกว่าเขาคือคนที่ใช่ อย่ากลัวที่จะก้าวไปข้างหน้า บางทีการตัดสินใจในวันนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่สวยงามที่คุณกำลังตามหาก็ได้
สุดท้ายแล้ว คุณต้องซื่อสัตย์กับตัวเองและคนตรงหน้า ถ้าคุณรู้สึกว่าเขาเหมาะจะเป็นมากกว่า ‘คนคุย’ แต่กลับเลือกที่จะกั๊กเขาไว้เพราะกลัวจะพลาดโอกาสที่ดีกว่า นั่นไม่ต่างอะไรกับการเห็นแก่ตัว และเอาเปรียบความรู้สึกของคนอื่น
ในทางกลับกัน ถ้าคุณรู้ว่าเขาไม่ใช่ แต่ยังเลือกที่จะคุยต่อไปเพื่อรักษาตัวเลือกไว้ คุณกำลังทำร้ายทั้งตัวคุณเอง และคนที่อาจกำลังทุ่มเทความรู้สึกให้คุณอย่างจริงจัง บางครั้งการตัดสินใจที่กล้าหาญที่สุด อาจเป็นการปล่อยให้ทั้งคุณและเขาได้ไปพบเจอโอกาสใหม่ ๆ ดีกว่าการกักขังกันไว้ในสถานะกึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่ไม่มีจุดหมาย
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Pexels
อ้างอิง:
Noomii. (n.d.). The paradox of choice in relationships. Noomii. Retrieved February 5, 2025, from https://www.noomii.com/articles/14528-the-paradox-of-choice-in-relationships
FemCatholic. (n.d.). Laissez-unfair: Dating apps and the paradox of choice. FemCatholic. Retrieved February 5, 2025, from https://www.femcatholic.com/post/laissez-unfair-dating-apps-and-the-paradox-of-choice
Ki90grq8y. (2023, November 15). The paradox of choice: How it affects our relationships and happiness. Medium. Retrieved February 5, 2025, from https://medium.com/@ki90grq8y/the-paradox-of-choice-how-it-affects-our-relationships-and-happiness-79ba263b2a42
Business Insider. (2018, February 14). How the paradox of choice could explain why you're still single. Business Insider. Retrieved February 5, 2025, from https://www.businessinsider.com/how-the-paradox-of-choice-could-explain-why-youre-still-single-2018-2