เมื่อถึงฤดูช้อป ‘นักท่องเที่ยวจีน’ มุมผู้เชี่ยวชาญจีน และ The Mall Group คิดอย่างไร?

เมื่อถึงฤดูช้อป ‘นักท่องเที่ยวจีน’ มุมผู้เชี่ยวชาญจีน และ The Mall Group คิดอย่างไร?

เปิด 2 มุมมองจาก ‘อาจารย์วิโรจน์ ตั้งพาณิชย์’ และ ‘The Mall Group’ สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทย หลังจากที่ฤดูกาลชมดอกซากุระในญี่ปุ่นจำนวนคนจีนลดลง ส่วนหนึ่งเพราะกฎการยื่นวีซ่าที่คนจีนต้องมีรายได้ต่อปีกว่า 10 ล้านเยน เป็นนโนบายสกรีนนักท่องเที่ยวคุณภาพหลังเปิดประเทศ

  • ญี่ปุ่นเพิ่มกฎสกรีนกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนต้องโชว์หลักฐานมีรายได้ต่อปี 10 ล้านเยน
  • ‘อาจารย์วิโรจน์ ตั้งพาณิชย์’ มองว่านักท่องเที่ยวจีนจะใช้จ่ายไม่เหมือนเดิม เพราะปิดประเทศไป 3 ปีสภาพคล่องทางการเงิน (อาจ)ไม่ดีมากนัก
  • แต่ข้อมูล The Mall Group โดย ‘วรลักษณ์ ตุลาภรณ์’ ชี้ว่าคนจีนเที่ยวไทยยังอันดับหนึ่ง และยอดใช้จ่ายยังสูง

เปิดศักราชใหม่ของ ‘ดอกซากุระ’ ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวนิยมมาประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง หลายจุดทั่วเมืองเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวหลากหลายเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยออกมาจับจ่ายนอกประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่คนจีนอยากมาเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

แต่เรื่องน่าผิดหวังเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นประกาศว่า ช่วงที่เป็นฤดูของดอกซากุระถือว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนญี่ปุ่นน้อยกว่าที่คาด ในแถลงการณ์ได้พูดยอมรับว่า ปัจจัยที่กระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวจีนน่าจะมาจาก ‘ความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างกัน’ นอกจากนี้ก็มีเรื่องของความแออัดจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ผ่านมา จนทำให้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นต้องจำกัดกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีน

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจมาสักระยะหนึ่งตั้งแต่ที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับ ‘วิธีสแกนกลุ่มนักท่องเที่ยวคนจีน’ โดยรัฐบาลญี่ปุ่น เชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนญี่ปุ่นน้อยลงก็เพราะกฎระเบียบที่เรากำลังจะเล่าต่อไปนี้

ญี่ปุ่นตั้งกฎเข้มสกรีนนักท่องเที่ยวจีน

เป็นข้อมูลที่หยิบมาจากสื่อของจีนที่บอกว่า ทันทีที่พรมแดนญี่ปุ่นเปิดช่วงหลังโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลจีนก็ไฟเขียวให้สามารถออกนอกประเทศได้ ด้วยการคาดการณ์ว่าจำนวนนัดท่องเที่ยวอาจหลั่งไหลเข้าไปที่ญี่ปุ่นเหมือนเช่นเคย

ดังนั้น จึงมีกฎเกณฑ์เพิ่มเข้ามาว่า หากคนจีนคนไหนที่อยากจะไปเที่ยวญี่ปุ่น จะมีเงื่อนไขการขอวีซ่าคือ การโชว์หลักฐานเกี่ยวกับ ‘รายได้ต่อปี’ ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (รวมถึงในช่วงโควิด-19) ต้องไม่มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อปี)

กฎระเบียบนี้ทำให้รู้ว่า ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ระงับวีซ่าท่องเที่ยวสำหรับชาวจีน แต่ก็มีคนกลุ่มใหญ่ทีเดียวที่ยื่นขอวีซ่าแล้วไม่ผ่าน เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติด้านรายได้ ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนพวกเขาไม่สามารถยื่นขอวีซ่าได้โดยตรงกับสถานทูตญี่ปุ่น เพราะต้องยื่นผ่านหน่วยงานของจีนเท่านั้น

ขณะที่ The people มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘อาจารย์วิโรจน์ ตั้งพาณิชย์’ ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการภาษาและวัฒนธรรมจีนมากว่า 20 ปี ได้พูดกับเราเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวจีนถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า “ตอนนี้สภาพเศรษฐกิจจีนก็ถือว่ามีปัญหาอย่างแรง เขาปิดประเทศไป 3 ปี(ช่วงโควิด-19) ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ผลิตอะไรเลย ดังนั้นต้องคิดว่าพวกเขาจะเอาตังค์มาจากไหน เพราะฉะนั้นเรา(ประเทศไทย) ก็อย่าคาดหวังให้สูงมาก ว่าพวกเขาจะมาใช้ตังค์เหมือนเมื่อก่อนนะครับ”

นอกจากนี้ อาจารย์วิโรจน์ ยังได้พูดโยงไปถึงญี่ปุ่นที่ออกกฎจำกัดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนว่า “อย่างตอนนี้วีซ่าคนจีนที่จะไปญี่ปุ่น เขาก็มีกำหนดเลยนะ บอกว่าคนที่จะไปญี่ปุ่นได้จะต้องมีรายได้ต่อปีนะ 10 กว่าล้านเยนถึงจะไปญี่ปุ่นได้ จะต้องเอารายได้มาดูก่อนจีนถึงจะปล่อยไปญี่ปุ่นนะ ตอนนี้ไม่ใช่ว่าใครที่เป็นคนจีนทั้งหมดจะไปญี่ปุ่นได้ทุกคนนะ ต้องมาสกรีนก่อน”

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของประเทศไทยหากจะพูดว่า ‘ได้เปรียบ’ ในเรื่องนี้ก็คงไม่ผิดอะไร ทั้งภาครัฐและเอกชน The People ได้ถามความคิดเห็นจาก ‘แหม่ม - วรลักษณ์ ตุลาภรณ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เกี่ยวกับสถานะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนในปัจจุบันว่าในไทยเป็นอย่างไร จากที่เมื่อก่อนจะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจ่ายหนัก และชอบเข้าคิวช้อปแบรนด์หรูมาตลอด

และหากดูจากตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมีนาคม 2023 ‘จีน’ ยังเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศเอเชียที่มาไทย และมีจำนวนเพิ่มเติมต่อเนื่อง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของ The Mall Group ที่บอกว่า “Siam Paragon กลุ่มนักท่องเที่ยว Top 5 ที่มาไทยอันดับหนึ่งยังเป็น จีน, กัมพูชา, เมียนมา, มาเลเซีย และ อินเดีย”

“ส่วน Top 5 ของกลุ่มศูนย์การค้า The Em District (เช่น เดอะ เอ็มโพเรียม, เดอะ เอ็ม ควอเทียร์ ฯลฯ) ก็ยังเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด”

หลายคนอาจยังสงสัยว่าแล้วช่วงหลังโควิด-19 กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังมีการใช้จ่ายมากเหมืแนเมื่อก่อนหรือไม่ เพราะจากสถานการณ์หลาย ๆ ที่และปัจจัยในจีนเองก็ยังมีช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่บ้างเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามทาง The Mall group บอกกับเราว่า “เดิมทีในปี 2019 นักท่องเที่ยวจีนเข้าประเทศไทย ประมาณ 1 ล้านคน/เดือน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เข้ามาประมาณ 155,000 คน (เข้ามาประมาณ 15% เมื่อเทียบ 2019) และในเดือนมีนาคมเข้ามาประมาณ 257,000 คน (สัดส่วนที่ 26% เมื่อเทียบปี 2019) แต่มองว่ามีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุก ๆ เดือน”

“ยอดการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวชาวจีนถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี โดยทั้งเครือของ The Mall Group ในเดือนมีนาคม 2019 คิดเป็น 28% เทียบกับปี 2023 อยู่ที่ 23% ของยอดขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน”

สำหรับ แหม่ม – วรลักษณ์ ได้ย้ำว่า “นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาในช่วงนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และขึ้นเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในแง่ของยอดขาย และจำนวนที่มาด้วย ซึ่งคนที่เข้าคิวซื้อแบรนด์หรูในปัจจุบันจะมีหลากหลายชาติ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน, ฮ่องกง, CLMV เหมือน ๆ กับปี 2019”

แม้ว่าจะมีหลาย ๆ มุมมองเกี่ยวกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนว่า (อาจ)ไม่เหมือนเดิม รวมถึงอาจารย์วิโรจน์เองก็มองแบบนั้น แต่ The Mall Group กางข้อมูลและชี้ให้เห็นว่า คนจีนยังคงใช้จ่ายสูงเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

“นักท่องเที่ยวไม่ได้ใช้จ่ายเหมือนเดิมในที่นี้ อาจจะหมายถึงว่า พวกเขามีอัตราเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้น จากเดิมปี 2019 อยู่ที่ 9,000 บาท/คน/ครั้ง แต่ล่าสุดอยู่ที่ 10,500 บาท/คน/ครั้ง เพิ่มขึ้นประมาณ 17% เป็นข้อมูลในเดือนมีนาคม 2023”

นอกจากนี้ แหม่ม – วรลักษณ์ ยังอธิบายต่อว่า “ประเทศไทยยังคงเป็น top destination ของนักท่องเที่ยวจีนเสมอมา ตั้งแต่จีนเปิดประเทศ แม้แต่ดาราระดับ A list ของประเทศจีน ก็เลือกบินมาเที่ยวที่ไทยเป็นจำนวนมาก จึงมองว่าดีมานด์ของคนจีนที่อยากมาเมืองไทยยังมีอยู่สูง แต่ตอนนี้ไฟล์ทบินยังมีน้อย ราคาตั๋วเครื่องบินยังสูง ดังนั้น ก็เป็นการสกรีนกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเบื้องต้นอยู่แล้ว และเมื่อพวกเขาได้ออกมาเที่ยวก็อยากที่จะใช้จ่าย เรามองว่าเป็นลักษณะของ Revenge shopping (ช้อปเพื่อล้างแค้น) จึงทำให้ยอดซื้อเฉลี่ยต่อคนเพิ่มสูงขึ้นถึง 17% อย่างที่กล่าวมา”

จากหลาย ๆ มุมคิดทั้งจากอาจารย์วิโรจน์ และจาก The Mall Group กลับรู้สึกว่าอาจเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ที่ญี่ปุ่นยังสกรีนกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะโอกาสที่กลุ่มเหล่านั้นจะทะลักเข้ามาในไทยก็มากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ควรเป็นการตั้งรับกับกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น ซึ่งภาคการท่องเที่ยวของไทยเองก็ควรวางกฎระเบียบเพื่อสกรีนกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วยหรือไม่ เพื่อปั้นให้การท่องเที่ยวในไทยมันเพิ่มคุณภาพได้ นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเมืองไทยที่น่าติดตามเช่นกัน

 

ภาพ: getty images

อ้างอิง:

scmp

ltn

Japantimes

Asia.nikkei

cnbc