Shanghai Marriage Market: ตลาดหาคู่ที่ลิขิตด้วยกระดาษหนึ่งใบ

Shanghai Marriage Market: ตลาดหาคู่ที่ลิขิตด้วยกระดาษหนึ่งใบ

Shanghai Marriage Market แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ตลาดหาคู่ที่ให้กระดาษหนึ่งใบลิขิตชีวิตคู่ด้วยสายตาของพ่อแม่ชาวจีน

KEY

POINTS

  • Shanghai Marriage Market ตั้งอยู่ที่สวน People’s Park ในเมืองเซี่ยงไฮ้
  • กลุ่มเป้าหมายของตลาดหาคู่แห่งนี้ คือ พ่อแม่ที่กำลังมองหาคู่ครองให้กับลูก ๆ 
  • ทั้งยังเป็นสถานที่ที่เป็นภาพสะท้อนสังคมวัฒนธรรมจีน และนิยามของคู่ครองและการแต่งงาน

หลายคนบอกว่าความรักอาจต้องใช้ ‘พรหมลิขิต’ แต่ที่ People's Park สวนกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ พวกเขาให้กระดาษหนึ่งใบช่วยลิขิต

กระดาษหนึ่งใบที่ไม่ต่างจากใบสมัครงาน มีอายุ บ้านเกิด  หน้าที่การงาน และอีกหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับคู่ครองราวกับขอพรกับพระแม่ลักษมี

แต่มากกว่านั้น คนที่เข้ามาในสวนแห่งนี้ ไม่ได้มีเพียงคนหนุ่มสาว แต่ส่วนใหญ่ คือ พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่จะมาหาคู่ชีวิตให้กับลูกหลานของตัวเอง 

และสวนแห่งนี้ก็กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่อยากจะหาใครสักคนมาเคียงข้างหรือหาเพื่อน ลองมาสัมผัสประสบการณ์แบบใหม่แทนที่จะปัดแอปพลิเคชันหาคู่แบบออนไลน์

Shanghai Marriage Market: ตลาดหาคู่ที่ลิขิตด้วยกระดาษหนึ่งใบ

ขณะเดียวกัน หากดูกันตามที่มาและประวัติศาสตร์ People’s Park สถานที่ตั้งตลาดนัดหาคู่กลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ไม่ใช่ตลาดนัดหาคู่แห่งแรก และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งใน ‘กรุงปักกิ่ง’ ที่มักจะมีป่าป๊า หม่าม๊าที่เกษียณแล้วมาคุยกันเรื่องคู่ครองของลูก ๆ ที่อายุ 20 ปีกลาง ๆ ไปจนถึง 20 ปลาย ๆ ในปี 2004

เพื่อไม่อยากให้ลูกต้องเหงาตอนแก่ มีคนดูแล พ่อแม่จึงเริ่มเขียนคุณสมบัติของลูกลงกระดาษ มองหาคู่ครองที่เหมาะสม มีการส่งต่อจนได้รับความนิยมเป็นวงกว้างตามหัวเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่

ในภาษาจีน เขาเรียกพ่อ ๆ แม่ ๆ ที่มารวมตัวกันหาคู่ในตลาดหาคู่ว่า ไปฟาเฉียงชิน (BaiFaXiangQin: 白发相亲) ตามรากศัพท์ BaiFa หมายถึง พ่อแม่อายุวัย 50 หรือ 60 ปี เมื่อนำมารวมกันเป็น BaiFaXiangQin จึงหมายถึง พ่อแม่ที่มาจับคู่ให้ลูกในตลาดหาคู่นี้ นั่นเอง 

ตลาดหาคู่มีหลายเมืองก็จริง แต่ดูเหมือน People’s Park ในเมืองเซี่ยงไฮ้จะได้รับความนิยมมากที่สุดจนกลายเป็นแลนด์มาร์คของนักท่องเที่ยวหลาย ๆ ประเทศ 

เหตุผลหนึ่ง นี่คือตลาดนัดหาคู่ในเมืองที่มีประชากรมากที่สุดถึง 26 ล้านคน

ท่ามกลางความวุ่นวาย แต่ในสวนสาธารณะของผู้คนแห่งนี้ทุกวันจะมีป้ายคุณสมบัติของชายหนุ่มและหญิงสาวใส่กรอบวางเรียงไว้ หรือบางคนก็อาจจะแปะใบสมัครไว้กับร่มตั้งไว้ทั่วสวน

แต่ดูเหมือนวันเสาร์จะมีผู้คนแวะเวียนมาสวนหาคู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้มากที่สุด ตั้งแต่ 11 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น โดยอายุเจ้าของใบสมัครในตลาดหาคู่ที่ People’s Park เฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 26 - 35 ปี และมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จึงทำให้ผู้ชายเป็นที่นิยมในตลาดนี้

คำถาม คือ คุณสมบัติแบบไหนที่จะอยู่ในใบสมัครหาคู่ล่ะ?

มีตั้งแต่อายุ ราศี ที่อยู่อาศัย หน้าที่การงาน การศึกษา ทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สิน หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตา 

ใน Vlog ของช่อง Pigkaploy ระบุว่า สมัยก่อนอาจเป็นการนัดเจอกันจริง ๆ แต่ยุคนี้ จะเป็นการทิ้งป้ายโฆษณาหาคู่ไว้ ถ้าถูกใจก็ค่อยแลกคอนแทค หรือดูหน้าตากันว่าตรงปกมากน้อยแค่ไหน 

ถึงแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ว่าเบื้องหลังของตลาดนัดหาคู่แห่งนี้ คือ ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของประเทศจีน 

นั่นก็คือ ความสำคัญของเรื่อง ‘คู่ครอง’

เพราะถ้าพ่อแม่ชาวจีนในอดีตไม่ได้คิดอยากให้ลูกมีคู่ครอง ตลาดแห่งนี้คงไม่เกิดขึ้น

เหตุผลที่ทำให้พ่อ ๆ แม่ ๆ จากแผ่นดินใหญ่อยากให้ลูกแต่งงานเร็ว ๆ ก็เพราะการแต่งงานถือเป็นจังหวะชีวิตที่สำคัญ ควรแต่งงานในช่วงอายุที่เหมาะสม สร้างครอบครัวที่มั่นคง และมีลูกหลานสืบทอดทายาท การแต่งงานช้าหรือไม่แต่งงานอาจถูกมองว่าไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี

แล้วทำไมพ่อแม่คนจีนถึงเลือกมาตลาดที่ซ่อนอยู่ในเมืองหรืออยู่ตามมุมตึก ทั้ง ๆ ที่ก็มีแอปพลเคชันหาคู่ออนไลน์

ก็คงต้องวนมาที่จุดเดิมว่า คุณพ่อคุณแม่ยังคงเชื่อในการจับคู่แบบดั้งเดิม แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนก็ตาม 

เว็บไซต์ MarketingtoChina พูดถึงเทรนด์การหาคู่แบบดั้งเดิมนี้ว่า การที่พ่อแม่ได้มาเจอกัน ไม่เพียงแต่เป็นการหาคู่ที่เหมาะสมให้กับลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้เหล่าผู้ปกครองมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์หาคู่ให้กับลูก

และที่น่าสนใจ ก็คือ กลุ่มเป้าหมายของตลาดนี้จะให้ความสำคัญเรื่องภูมิหลัง ฐานะทางสังคม และค่านิยมของครอบครัวมากกว่าความชอบของคนสองคน 

ถึงจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองเซี่ยงไฮ้ แต่การที่คุณพ่อคุณแม่ที่มานัดเจอกันที่สวนของผู้คนอย่าง ‘People’s Park’ เพื่อคู่ครองของลูกก็เป็นเรื่องน่าตั้งคำถามต่อว่า นิยามของคำว่า ‘ความรัก’ และ ‘การแต่งงาน’ ใครเป็นคนนิยาม 

พ่อแม่ หรือ ลูก? 

แล้ว ถ้าจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ในสังคมจีน ความรักของลูกจะอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์ และอยู่ตรงไหนในความหวังดีของพ่อแม่

 

ภาพ : Getty Images

 

อ้างอิง

China's Marriage Markets / CHENG & TSUI

China Matchmaking Market: How Does That Work? / marketingtochina

China’s ‘marriage market’ where mom sets you up on your first date / PBS News

Shanghai Marriage Market in People’s Park / travelchinaguide

ตลาดนัดหาคู่ เงินเดือนหลักแสน ก็มาตั้งแผงขาย! I เซี่ยงไฮ้ / Pigkaploy

Han, Jun; Zhao, Zhong. One-Child Policy and Marriage Market in China. IZA Discussion Papers