มิกกี้และมินนี่: ปริศนาวันเกิดของหนูตัวเล็กที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่ วอลต์ ดิสนีย์

มิกกี้และมินนี่: ปริศนาวันเกิดของหนูตัวเล็กที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่ วอลต์ ดิสนีย์

“ตอนนั้นใครจะรู้ว่าหนูสีดำสวมเอี๊ยมจะได้รับความรักมากมายขนาดนี้”

หากถามว่ารู้จักตัวการ์ตูนหนูคู่รัก มิกกี้ เมาส์ และ มินนี่ เมาส์ (Mickey and Minnie Mouse) หรือไม่ ? แทบทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จักแน่นอน เพราะหนูสองตัวนี้ได้สร้างรอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะมาตลอด 92 ปี แถมหลายคนยังจดจำวันเกิดของมิกกี้กับมินนี่ได้ด้วยว่าเกิดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 แต่แท้จริงแล้ว หนูทั้งสองตัวกลับมีเรื่องราวน่าประทับใจและโลดแล่นอยู่ในโลกภาพยนตร์มาก่อนหน้า แต่กลับไม่ค่อยมีใครเล่า เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น่าจดจำก็เท่านั้น ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของตัวการ์ตูนหนูสีดำยืนสองขาทำท่าทางเหมือนคน เกิดขึ้นโดย วอลเตอร์ ดิสนีย์ (Walter Disney) ชายสิ้นหวังในโบกี้รถไฟที่มุ่งหน้าไปลอสแอนเจลิส ก่อนหน้านี้เขารับข่าวร้ายว่าสตูดิโอภาพยนตร์ วอลต์ ดิสนีย์ (Wait Disney) เรียกสั้น ๆ กันว่า ดิสนีย์ อาจต้องปิดตัวลงในเร็ววัน หากยังไม่สามารถสร้างการ์ตูนเรื่องดังได้สักที ขณะนั่งหมดหวังอยู่ในโบกี้ นายดิสนีย์ดันนึกถึงหนูตัวเล็กขึ้นมา เมื่อถึงบ้านจึงเริ่มขีด ๆ เขียน ๆ ร่างภาพตัวการ์ตูนพร้อมตั้งชื่อว่า มอร์ติเมอร์ เมาส์ (Mortimer Mouse) แม้จะได้ไอเดียตัวการ์ตูนใหม่ แต่ภรรยาของดิสนีย์มองว่าชื่อมอร์ติเมอร์ดูจริงจังเกินไป แนะนำว่าให้เปลี่ยนเป็น มิกกี้ เมาส์ แทน พวกเขานำร่างแบบไปให้ อับ ไอเวิร์กส์ (Ub Iwerks) แอนิเมเตอร์ของค่ายช่วยปรับรูปร่างหน้าตาให้โดดเด่นขึ้น จนได้หนูแขนขาเล็ก ใบหูกลมใหญ่ สวมเอี๊ยมแดงตัดกับรองเท้าสีเหลือง แล้วค่อยนำไปสร้างเป็นการ์ตูนสั้นเรื่อง เพลน เครซี (Plane Crazy) ด้วยทุนสร้าง 1,800 ดอลลาร์ มีตัวละครหลักอย่างมิกกี้ เมาส์ หนูเพศผู้มองโลกในแง่ดี มาพร้อมกับ มินนี่ เมาส์ หนูเพศเมียคู่หมั้นของมิกกี้ มีนิสัยอ่อนโยนเหมือนเด็กสาว แต่บางคราวก็หุนหันพลันแล่น มิกกี้และมินนี่: ปริศนาวันเกิดของหนูตัวเล็กที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่ วอลต์ ดิสนีย์ เพลน เครซี เป็นภาพยนตร์ไร้เสียงความยาวไม่กี่นาที เล่าเรื่องของมิกกี้ที่พยายามสร้างความประทับใจให้สาวด้วยการพามินนี่นั่งเครื่องที่เขาตั้งใจสร้าง โดยทดลองฉายให้เหล่าสปอนเซอร์รับชมในวันที่ 15 พฤษภาคม 1928 แต่การผจญภัยของมิกกี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ เนื่องจากผู้จัดจำหน่ายส่วนมากไม่สนใจเรื่องราวของมิกกี้กับมินนี่ และมองว่ายังไม่สมบูรณ์แบบพอจะขายได้   หลังบริษัทพบกับความผิดหวัง ดิสนีย์เดินหน้าต่อ สร้างการ์ตูนสั้นไร้เสียงเรื่อง แกลลอปปิน เกาโซ (The Gallopin’ Gaucho) ที่มีมิกกี้ เมาส์ เป็นตัวเอกมาทดลองฉายเพื่อหาสปอนเซอร์อีกครั้ง แต่ผลก็ยังล้มเหลวไม่ต่างจากครั้งเพลน เครซี จนทีมงานต้องมานั่งคุยกันอีกครั้ง ปรึกษาว่าการทำการ์ตูนเรื่องที่สามจะยังใช้ตัวเอกเป็นหนูมิกกี้ต่อ หรือควรหันไปแก้ปัญหาเรื่องอื่นแทน แม้ล้มเหลวถึงสองครั้ง แต่ดิสนีย์ยังคงไม่หมดศรัทธากับมิกกี้ เมาส์ พวกเขาลงมือสร้างสรรค์การ์ตูนขาว-ดำ เรื่องที่สามโดยใช้ตัวเอกเป็นหนูเหมือนเดิมกับ เรือกลไฟวิลลี (Steamboat Willie) การ์ตูนสั้นเรื่องแรกของโลกที่ใช้ดนตรีประกอบ ใส่ทั้งเพลงและเสียงเอฟเฟกต์การกระทำของตัวละคร รับอิทธิพลจากการใส่เสียงในฟิล์มหนังที่มาแรงในวงการภาพยนตร์เวลานั้น จนทำให้มีบริษัทยอมลงทุนด้วย โดยเรือกลไฟวิลลีมีกำหนดฉายเปิดให้กับภาพยนตร์เรื่องสงครามแก๊ง (Gang War) รอบปฐมทัศน์วันที่ 18 พฤศจิกายน 1928 ณ โรงภาพยนตร์มอสส์โคโลนี่ นิวยอร์ก ผลลัพธ์คราวนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน ๆ แม้จะเป็นการ์ตูนสั้นเปิดก่อนฉายหนังเรื่องยาว แต่เรือกลไฟวิลลีสร้างความประทับใจให้ผู้ชมล้นหลาม จนเกิดการบอกปากต่อปากสร้างกระแสให้การ์ตูนประสบความสำเร็จท่วมท้น ทำให้ลูกเด็กเล็กแดงต่างพากันออดอ้อนให้พ่อแม่พาไปดูการ์ตูนสั้นในโรงหนัง มาแรงจนทำให้ผู้ชมที่ดูเรือกลไฟวิลลีอยากรู้เรื่องราวของมิกกี้กับมินนี่มากขึ้น

“เรือกลไฟวิลลีเปี่ยมด้วยความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์” - นิวยอร์ก ไทม์ส

ดิสนีย์ศึกษาความสำเร็จของเรือกลไฟวิลลีจนมองเห็นหัวใจสำคัญของการทำการ์ตูน พวกเขาพบว่าผู้ชมจะมีอารมณ์ร่วมมากขึ้นเมื่อมีดนตรีประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงกลองเวลามิกกี้ทำอะไรเปิ่น ๆ หรือเสียงการส่งดนตรีตบมุกแบบตลกคาเฟ่ ทั้งหมดล้วนสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม ขณะที่หนังการ์ตูนค่ายอื่นยังคงสร้างแบบหนังเงียบต่อไป ดิสนีย์รีบคว้าโอกาสทองต่อยอดด้วยการนำเพลน เครซี กับแกลลอปปิน เกาโซ มาพากย์เสียงใส่ลงฟิล์มเพื่อฉายซ้ำอีกครั้ง ทำให้มิกกี้กับมินนี่กลายเป็นการ์ตูนฮิตติดลมบนแห่งยุค แถมภายหลังเรือกลไฟวิลลีติดอันดับ 13 จาก 50 การ์ตูนสุดยิ่งใหญ่ตลอดกาล ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของมนุษย์ การสร้างการ์ตูนมิกกี้กับมินนี่ต้องใช้โอกาสสามครั้งถึงจะประสบความสำเร็จ จากนั้นจึงเอามิกกี้ เมาส์ สองเรื่องก่อนหน้ามาฉายหลังเรื่องที่สาม จนเด็ก ๆ รู้สึกงงถึงต้นกำเนิดและที่มาของหนูสองตัวนี้ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันระหว่างแฟนคลับของมิกกี้มินนี่ที่หาข้อสรุปไม่ได้ว่าตกลงวันไหนเป็นวันเปิดตัวกันแน่ ฝั่งหนึ่งยืนยันว่าต้องเป็นวันที่ 15 พฤษภาคม เพราะทั้งมิกกี้กับมินนี่ปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องเพลน เครซี มิกกี้และมินนี่: ปริศนาวันเกิดของหนูตัวเล็กที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่ วอลต์ ดิสนีย์ อีกฝั่งโต้ว่าตัวการ์ตูนดังเป็นพลุแตกจนมีคนรู้จักจากเรื่องเรือกลไฟวิลลีที่ฉายเมื่อ 18 พฤศจิกายน ดังนั้นควรนับวันนี้เป็นวันมิกกี้มินนี่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายบอกว่าต้องเป็นวันที่วอลต์ ดิสนีย์ เริ่มวาดมิกกี้สิถึงจะถูก การทะเลาะกันของกลุ่มแฟนคลับสร้างความสับสนกันถ้วนหน้า ไม่มีใครคิดว่าแค่เรื่องวันที่จะทำให้เกิดกระแสแรงขนาดนี้ เป็นเรื่องราวจนดิสนีย์ต้องออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า แม้เพลน เครซี จะเป็นเรื่องแรก แต่เรือกลไฟวิลลีคือภาพยนตร์เปิดตัวมิกกี้กับมินนี่สู่สายตาสู่สาธารณชน ดังนั้นขอเลือกให้วันที่ 18 พฤศจิกายน 1928 เป็นวันมิกกี้ เมาส์ เรื่องวุ่นวายทั้งหลายจึงจบลงด้วยดี ความโด่งดังของมิกกี้และมินนี่ทำให้สตูดิโอขนาดใหญ่หลายแห่งต่างต้องการเป็นผู้จัดจำหน่าย แถมบางค่ายพยายามซื้อบริษัทดิสนีย์ไปเป็นของตัวเอง แต่ วอลต์ ดิสนีย์ ไม่ยอมขายบริษัทให้แม้ได้เงินมหาศาล เขารู้ว่าตัวการ์ตูนทั้งสองจะสร้างรากฐานมั่นคงระยะยาวให้กับบริษัทที่ก่อร่างสร้างมากับมือได้แน่นอน จึงตกลงร่วมงานกับสตูดิโอโคลัมเบีย พิคเจอร์ส (Columbia Pictures) ให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายการ์ตูน แต่บริษัทดิสนีย์จะยังคงเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ทั้งหมดของมิกกี้ เมาส์ นอกจากจับมือกับสตูดิโอขนาดใหญ่ ดิสนีย์ยังจับมือกับบริษัทหลายประเภท เก็บรายได้จำนวนมากที่ได้จากลิขสิทธิ์มิกกี้ เมาส์ บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น การตกลงสัมปทานไอศกรีมโคน นาฬิกา ของเล่นเด็ก ซีเรียล ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยตกลงส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์จากสินค้าที่ขายได้ ทำให้บริษัทดิสนีย์สามารถเติบโต มีเงินทุนพัฒนาคุณภาพของการ์ตูนอย่างก้าวกระโดด ทั้งหมดเกิดจากความรักที่คนทั่วโลกมีให้กับมิกกี้และมินนี่ ควบคู่กับการเดินเกมที่ชาญฉลาดของบริษัทดิสนีย์ ความนิยมในตัวมิกกี้กับมินนี่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นตัวการ์ตูนจากปี 1928 คนรุ่นหลังกลับรู้สึกว่าไม่เชย ยังคงน่ารักเหมือนกับวันแรกที่พบกัน สามารถคงความนิยมไม่เสื่อมคลาย จากรุ่นแม่สู่รุ่นหลาน จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก มิกกี้กับมินนี่กลายเป็นตัวการ์ตูนแรกของโลกที่ถูกจารึกชื่อบน Hollywood Walk of Fame เมื่อปี 1978 แต่เดิมการมอบดาวห้าแฉกพร้อมกับจารึกชื่อจะสงวนไว้ให้บุคคลสำคัญจากวงการภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี วิทยุ และละครเวที แต่กลายเป็นว่าตัวการ์ตูนที่ไม่มีตัวตนจริงได้รับการยกย่องให้ความสำคัญในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่วงการภาพยนตร์   หลังผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ปัจจุบันบริษัทดิสนีย์กลายเป็นพี่ใหญ่ของวงการภาพยนตร์ ภายใต้การบริหารของ บ็อบ ไอเกอร์ บริษัทดิสนีย์สามารถไล่ซื้อค่ายหนังที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้โลกมาอยู่กับตัวเองได้เรื่อย ๆ ทั้งการซื้อค่าย พิกซาร์ (Pixar) ที่มีแอนิเมชันสนุก ๆ ออกมากวาดรายได้อยู่บ่อยครั้ง ลูคัสฟิล์ม (Lucasfilm) ค่ายผู้สร้างหนังจักรวาลสตาร์ วอร์ส บริษัท ทเวนตี เซนจูรี สตูดิโอ (20th Century Studios) ที่มีหนังชื่อดังหลายหมื่นเรื่อง รวมถึงการซื้อ มาร์เวล เอนเตอร์เทนเมนต์ (Marvel Entertainment) ค่ายหนังรวมซูเปอร์ฮีโร่ที่ทรงอิทธิพลต่อยุคสมัยใหม่ รวมมูลค่ามากกว่าล้านล้านดอลลาร์ มิกกี้และมินนี่: ปริศนาวันเกิดของหนูตัวเล็กที่นำความยิ่งใหญ่มาสู่ วอลต์ ดิสนีย์ ไม่เพียงแค่ค่อย ๆ เก็บค่ายหนังในวงการฮอลลีวูดไปทีละนิด ดิสนีย์มองการณ์ไกลด้วยการลุยตลาดสตรีมมิงออนไลน์จนเกิด ดิสนีย์ พลัส (Disney+) ที่สร้างออกมาสู้กับ Netflix และ HBO GO ยังไม่รวมรายได้จากสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และกำไรมหาศาลจากค่าลิขสิทธิ์ ทั้งหมดทำให้บริษัทที่เคยเกือบล้มละลายกลับมาเข้มแข็ง พัฒนาเป็นอาณาจักรใหญ่แห่งวงการบันเทิงโลกที่ใครก็ยากจะล้มได้   จากวันที่หมดหวังสู่ความหวังใหม่ที่ดีกว่าเดิม การเกิดขึ้นของมิกกี้ เมาส์ สามารถต่อยอดความสำเร็จของบริษัทดิสนีย์ได้ไม่รู้จบ แม้วันเกิดของมิกกี้และมินนี่ ที่วอลต์ ดิสนีย์ กำหนดให้อย่างเป็นทางการคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 1928 จริง ๆ แล้ว ตัวละครทั้งสองปรากฏตัวบนโลกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1928 จึงทำให้เราตัดสินใจหยิบเรื่องราวของหนูสองตัวที่ยิ่งใหญ่มาเล่าในวันนี้ เพื่อเผยให้เห็นว่าความสำเร็จที่ได้มาก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามากเช่นกัน

“หวังว่าในอนาคต พวกเราจะไม่ลืมว่าทุกสิ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยหนูหนึ่งตัว” – วอลต์ ดิสนีย์

  ที่มา https://mickey.disney.com/ http://content.time.com/time/arts/article/0,8599,1859935,00.html https://www.waltdisney.org/blog/birth-mouse https://www.biography.com/news/mickey-mouse-history   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์   #ThePeople #Culture #MickeyMouse #MinnieMouse #Disney #Waltdisney