มนตรี พงษ์พานิช ลูกทุ่งกรุงเก่า และ อภิมหากฐินโฮปเวลล์

มนตรี พงษ์พานิช ลูกทุ่งกรุงเก่า และ อภิมหากฐินโฮปเวลล์

มนตรี พงษ์พานิช ลูกทุ่งกรุงเก่า และ อภิมหากฐินโฮปเวลล์

เทศกาลทอดกฐิน ปี 2533 ไม่มีกฐินจังหวัดไหนตกเป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์เหมือน “อภิมหากฐิน” ของ มนตรี พงษ์พานิช เลขาธิการพรรคกิจสังคม ที่ทำบุญทอดกฐินใน จ.พระนครศรีอยุธยา และได้เงินเข้าวัดมากถึง 33 ล้านบาท  สิ้นหน้ากฐินไม่กี่วัน มนตรี พงษ์พานิช ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามในสัญญาโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับของบริษัท โฮปเวลล์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2533 แต่ข่าวโฮปเวลล์กลับไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดสนใจเท่ากับอภิมหากฐิน 33 ล้าน ยกเว้นหนังสือพิมพ์ธุรกิจ 2-3 ฉบับ 25 พฤศจิกายน ปี 2533 เลือกตั้งซ่อม ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 2 แทน พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ที่ลาออก ปรากฏว่า เกษม ศิริสัมพันธ์ พรรคกิจสังคม พ่าย สุเทพ อัตถากร พรรคพลังธรรม นัยว่าพิษกฐิน 33 ล้านทำเอาอาจารย์เกษมสอบตกและหันหลังให้การเมืองเด็ดขาด อีกสาเหตุหนึ่งมาจากความแตกแยกในพรรคกิจสังคม เมื่อ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา อดีตหัวหน้าพรรคพร้อมรองหัวหน้าพรรคหอบผ้าหอบผ่อนลาพรรคแสป นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พรรคกิจสังคมที่เริ่มต้นจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และตัวแทนอีลิทไทย ก็ตกไปอยู่ในกำมือของ “นักเลงกรุงเก่า” ชื่อมนตรี พงษ์พานิช โดยเบ็ดเสร็จ      ชีวิตเด็กช่างกล แม้คอลัมนิสต์จะให้ฉายามนตรีว่า “นักเลงกรุงเก่า” แต่เขาก็ไม่ได้เกิดที่อยุธยา มนตรีเป็นลูกชายของ จำรัส-พริ้ง พงษ์พานิช ชาว อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก มีพี่น้อง 9 คน และมีน้องชายคนหนึ่งคือ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (อดีต รมช. หลายกระทรวง, อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) ด้วยครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง มนตรีร่อนเร่ไปอยู่กับพี่ชายที่ทำงานอยู่เชียงใหม่ จนเรียนจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แล้วหนุ่มรุ่นกระทงผิวสีหมึกก็ล่องกรุง มนตรีตั้งใจสอบเข้าเตรียมทหาร แต่สอบเข้าไม่ได้จึงเบนเข็มไปเรียนช่างกลปทุมวัน จบเมื่อปี 2505 เข้าทำงานที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก แล้วลาออกมาเป็นลูกจ้างกรมทางหลวง ก่อนสอบชิงทุนไปเรียนที่โรงเรียนช่างกลระดับสูงในเยอรมนีตะวันตก เทียบเท่าปริญญาโท เมื่อเรียนจบจึงไปฝึกงานที่สวิตเซอร์แลนด์ กลับเมืองไทย มนตรีไปทำงานกับ บริษัท บี.กริมแอนด์โก เป็นนายช่างใหญ่ จากนั้นก็ลาออกไปตั้งบริษัท มณีพันธ์ จำกัด ค้าขายข้าวอยู่ที่อยุธยา และแต่งงานกับ คุณหญิงธิดา พงษ์พานิช ลูกสาวคหบดีกรุงเก่าตระกูลหงษ์ทอง   พ่อค้าข้าวผิวสีหมึก “ค้าข้าวไปค้าข้าวมา มีความใกล้ชิดกับผู้คน โดยเฉพาะชาวนา เกิดความรัก ความเห็นอกเห็นใจชาวนา อยากเป็นปากเสียงให้พวกเขาเลยคิดสมัครผู้แทนปี 2519 ตอนนั้นอาหวัด (สวัสดิ์ คำประกอบ) ตั้งพรรคเกษตรสังคม มาตั้งน้าผม (บุญพันธ์ แขวัฒนะ) เป็นรองหัวหน้าพรรค ผมก็เข้าพรรคเกษตรสังคม เพราะตอนนั้นไม่มีใครรู้จักเรา..” มนตรีเล่าไว้ในนิตยสารพีเพิล ปี 2531 บุญพันธ์ แขวัฒนะ เป็นคนพิจิตร แต่มาทำธุรกิจที่อยุธยา และเล่นการเมืองท้องถิ่นจนรู้จักมักคุ้นกับตระกูลหงษ์ทองและมนตรีผู้เป็นเขยอยุธยา กระทั่งปี 2519 บุญพันธ์ก็ชวนมนตรีลงสมัคร ส.ส.อยุธยา ในสีเสื้อเกษตรสังคม ครานั้นทั้งคู่สอบได้ มนตรี หรือ “เสี่ยหมึก” พ่อค้าข้าวที่ชาวนาอยุธยารู้จัก อาศัยเป็นคนลูกทุ่งติดดิน จึงเอาชนะ ประมวล สภาวสุ คนกรุงเก่าโดยสายเลือด แถมเป็นผู้แทนฯ มาก่อน เลือกตั้งปี 2522 บุญพันธ์และมนตรี ย้ายมาสังกัดพรรคกิจสังคม เพราะอาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการพรรคเวลานั้นเห็นหน่วยก้านดี จึงชวนมนตรีเข้าพรรค ประกอบกับเสี่ยหมึกมีความเลื่อมใสในตัว “หม่อมคึกฤทธิ์” หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   ลูกทุ่ง..สื่อหาเสียง มิเพียงคลุกคลีทำมาค้าขายกับชาวนา มนตรียังชอบฟังเพลงลูกทุ่ง ก่อนเลือกตั้ง 2526 เสี่ยหมึกเรียกตัวโฆษกนักจัดรายการวิทยุชาวกรุงเก่า “อาทิตย์ เทพมงคล” มาปรึกษาหารือ เพราะอยากทำเพลงหาเสียง และขอให้หานักร้องลูกทุ่งมาขับร้อง อาทิตย์จึงติดต่อนักร้องหน้าใหม่ที่เพิ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากรายการชุมทางคนเด่น ชื่อ “ทับทิม นิยมทอง” มาร้องให้แบบไหว้วานกัน เพลงหาเสียงชุดแรกของมนตรี ก็มีเพลง “คนดีศรีอยุธยา”, “มนตรีของเรา”, “ผู้แทนดี” และ “ส.ส.อยุธยา” หลังนักร้องสาว “ทับทิม นิยมทอง” เปลี่ยนชื่อเป็น “สุนารี ราชสีมา” และมีชื่อเสียงมากขึ้น มนตรีก็ยังเรียกใช้บริการสาวโคราช “สุนารี” มาร้องเพลงหาเสียงให้ทุกครั้งที่มีเลือกตั้งใหม่ เวลานั้น คอลัมนิสต์ 18 อรหันต์ผู้ทรงอิทธิพลในหน้า 4 นสพ.หัวสี ก็เขียนข่าวกอสสิปเรื่องของนักร้องสาวกับรัฐมนตรีหนุ่มผิวสีหมึก ร้อนถึงสุนารีต้องออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวว่า “บ้าน, รถบีเอ็ม” เธอซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง ไม่ได้เป็น “อีหนูรัฐมนตรี” คนไหน   “นักเลงยุดยา” ยึดพรรค เมื่อมนตรีมาเป็นศิษย์รักซือแป๋ซอยสวนพลู เส้นทางการเมืองนักเลงกรุงเก่าก็ไม่มีคำว่า “สะดุด” ความก้าวหน้ามาเยือนอย่างไม่หยุดยั้ง เวลานั้น “หม่อมคึกฤทธิ์” รั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และมอบให้ เกษม ศิริสัมพันธ์ เป็นเลขาธิการพรรค แต่หัวหน้าพรรคกิจสังคมแอบบ่นว่านับวันการเลือกตั้งจะใช้เงินมากขึ้นทุกที จึงเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อปี 2529 ส่วนตำแหน่งทางการเมือง มนตรีเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ปี 2524 และเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ปี 2529 เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รัฐมนตรีพาณิชย์ เจอพิษซุงพม่าต้องลาออกจากตำแหน่ง พรรคกิจสังคมก็ส่งมนตรีขึ้นเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์แทน เสี่ยหมึกได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีพาณิชย์ในวัย 40 ต้น ๆ ถือว่าประสบความสำเร็จเร็วเกินคาด นักเลงกรุงเก่าเรียกอาทิตย์ เทพมงคล มาพบและบอกให้แต่งเพลง “รัฐมนตรีพาณิชย์” เตรียมไว้ให้ สุนารี ราชสีมา ร้องตอนหาเสียง กล่าวสำหรับภายในพรรคกิจสังคม หลังหม่อมคึกฤทธิ์ลาออกก็มีการเลือก พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนมนตรีได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรค กระทั่งช่วงก่อนเลือกตั้ง 2531 มนตรีขยับเป็นเลขาธิการพรรค   “จอมโปรเจ็กต์” จุดแตกหัก หลังเลือกตั้ง 2531 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศวางมือ พล.อ.อ.สิทธิ ในฐานะเพื่อนรักของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงตกลงเป็นพันธมิตรกับพรรคชาติไทย หนุน “เพื่อน” เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขออยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เนื่องจากมนตรีเป็นเลขาธิการพรรค และกุมกำลังไพร่พลไว้มากพอที่จะต่อรองเอาตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมมาได้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ย่อมรู้ดีว่าศูนย์กลางพรรคกิจสังคมเวลานั้นอยู่ที่นักการเมืองจากอยุธยา ไม่ใช่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา หัวหน้าพรรค และ พงส์ สารสิน รองหัวหน้าพรรค เสี่ยหมึกมีความช่ำชองในการเป็น “นักต่อรอง”, “นักประสานผลประโยชน์” และ “นักเฉลี่ยผลประโยชน์” จึงมีลูกพรรคมาติดสอยห้อยตามเกือบทั้งพรรค ต่างจาก พล.อ.อ.สิทธิ ยังติดนิสัยข้าราชการประจำ ไม่มีความเป็นนักการเมือง ไม่มีความสัมพันธ์กับลูกพรรค ส่วน พงส์ สารสิน นักการเมืองที่ฐานทุนแน่นหนา แต่ก็ยังไม่กล้าได้กล้าเสีย ถึงลูกถึงคน และไม่เข้าใจธรรมชาตินักเลือกตัั้งแบบมนตรี บทบาทรัฐมนตรีคมนาคมของมนตรี ย่อมได้รับการจับตามองจากนายกฯ ชาติชาย เพราะมีโครงการสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย, ดาวเทียมไทยคม, โฮปเวลล์ และสร้างถนน จึงได้ชื่อว่า “จอมโปรเจ็กต์” ปลายปี 2533 มนตรีอนุมัติโครงการโฮปเวลล์ มูลค่า 80,000 ล้านบาท โดยมีคนใกล้ชิดอย่าง อนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ อดีต ผอ. บริษัทไทยเดินเรือทะเล เป็นคนเดินเรื่อง ห้วงเวลาเดียวกัน พล.อ.อ.สิทธิ ตัดสินใจลาออกจากหัวหน้าพรรค พร้อมกับสองรองหัวหน้าพรรคคือ พงส์ สารสิน และ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เพื่อเตรียมตั้งพรรคใหม่ กลุ่มอีลิทกิจสังคมไม่พอใจการรวบอำนาจของมนตรี บวกกับกระแสสังคมเริ่มรับไม่ได้กับพฤติกรรมจอมโปรเจ็กต์ ถัดจากการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เพียงสองเดือนเศษ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ ปี 2534 ต้นเดือนมีนาคม ปี 2534 มีรายงานข่าว กอร์ดอน วู ประธานโฮปเวลล์ เข้าพบ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รองหัวหน้า รสช. และได้รับคำมั่นสัญญาว่า โครงการก่อสร้างรถไฟและถนนยกระดับยังจะเดินหน้าต่อไป แต่หลังจากนั้นเส้นทางของโครงการโฮปเวลล์กลับขรุขระมาเรื่อย ๆ กระทั่งหยุดการก่อสร้าง ตามด้วยคดีความระหว่างหน่วยงานของไทยกับบริษัทโฮปเวลล์ มนตรี พงษ์พานิช จากไปนานแล้ว แต่สิ่งปลูกสร้างในโครงการโฮปเวลล์ยังยืนหยัดเป็นประจักษ์พยานการลงนามครั้งนั้นอยู่อย่างชัดเจน พร้อมการเดินทางที่มาถึงบทสรุปในเดือนเมษายน ปี 2562 เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชำระเงินชดเชยจากการบอกเลิกสัญญาให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงินจำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี กลายเป็นประเด็นค่าโง่แห่งชาติ ทำให้คนไทยต้องหันกลับมาย้อนรอยอภิมหาโครงการเมื่อ 29 ปีที่แล้ว   อ้างอิง นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ 23-29 ตุลาคม 2532 นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ 13-19 กรกฏาคม 2535   ชน บทจร เรียบเรียง