น้ำตาแสงไต้: เมื่อผีกระซิบผ่านม่านน้ำเมา กลายเป็นเพลงไทยหวานเย็นเศร้า

น้ำตาแสงไต้: เมื่อผีกระซิบผ่านม่านน้ำเมา กลายเป็นเพลงไทยหวานเย็นเศร้า

น้ำตาแสงไต้: เมื่อผีกระซิบผ่านม่านน้ำเมา กลายเป็นเพลงไทยหวานเย็นเศร้า

บางครั้งบางที ผีคือดวงวิญญาณอันหวานหยด อ้อยสร้อย คอยแอบซ่อนอยู่ในเงา รอให้ถึงคราวบันดาลใจมนุษย์ บทความนี้เป็นเรื่องราวของ ‘ผี’ ที่กระซิบผ่านหนึ่งราตรี จนกลายเป็นบทเพลงอมตะเพลงหนึ่งของไทย   ‘นวลเจ้าพี่เอย คำน้องเอ่ยล้ำคร่ำครวญ ถ้อยคำเหมือนจะชวน ใจพี่หวนครวญคร่ำอาลัย’   คือเนื้อเพลงส่วนหนึ่งใน ‘น้ำตาแสงไต้’ เพลงไทยรสหวานล้ำน้ำตาคลอหน่วย รังสรรค์ขึ้นมาเพื่อบรรยายฉากรักอาลัยในละครเรื่อง ‘พันท้ายนรสิงห์’ (พันท้ายนรสิงห์ เป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ เล่าถึงนายท้ายเรือในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ พระเจ้าเสือ แห่งอาณาจักรอยุธยา ผู้กราบทูลให้พระเจ้าเสือทรงสั่งให้ประหารชีวิตตน เนื่องจากถือท้ายเรือในคลองคดเคี้ยวในตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาคร แล้วไม่สามารถแก้คัดท้ายได้ทัน จนทำให้หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้และหักลง การกราบทูลขอรับโทษประหารชีวิตเพื่อรักษากฎมณเฑียรบาล ทำให้พันท้ายนรสิงห์ถูกยกย่องในความซื่อสัตย์) ครั้นจัดแสดงที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อ พ.ศ. 2488 โดยคณะศิวารมณ์ ‘น้ำตาแสงไต้’ แต่งเนื้อร้องโดย ‘มารุต - เนรมิตร’ และทำนองโดย ‘สง่า อารัมภีร’ ทั้งเพลงนี้ยังเป็นเพลงแรกที่สร้างชื่อให้ ‘ครูสง่า’ กรุยเส้นทางชีวิตของครูเพลงผู้นี้ให้ได้เดินทางต่อจนถึงหมุดหมายที่ได้รับตำแหน่งนักเขียนและศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) เมื่อ พ.ศ. 2531 อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นไปว่าบทความนี้เป็นเรื่องราวของผี - ผีนั้นคือดวงจิตของผู้ตายที่อยู่คู่สังคมไทยมาเนิ่นนาน ไม่ว่าเราและท่านจะเชื่อว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่ ‘เรื่องผี’ ก็ยังเป็นกลิ่นอายเร้นลับที่เผยตัวอย่างโจ่งแจ้งอยู่ในวัฒนธรรมไทยอย่างแน่นแฟ้นเรื่อยมา และไม่มีทีท่าจะห่างหายไป ‘ครูสง่า’ หรือเป็นที่รู้จักในแวดวงการเขียนในชื่อ ‘ครูแจ๋ว’ คือหนึ่งคนที่มีดวงสมพงษ์กับผี มีเพื่อนที่มีดวงสมพงษ์กับผี มีภาพจินตนาการและความเชื่อเกี่ยวกับผี จนสามารถเขียนถึงผีลงเป็นตอนในนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ ใต้นามปากกา ‘แจ๋ว วรจักร์’ ได้ โดยผลงานเรื่องผีของครูแจ๋ว ปัจจุบันสามารถหาอ่านได้ในหนังสือรวมเล่ม ‘แจ๋วเจอผี’ นั้นสรวญเล่าเรื่องราวโดยมีผีเป็นองค์ประกอบอย่างรื่นเริงมากกว่าน่ากลัว อันผู้เขียนใช้เป็นแหล่งอ้างอิงหลักในบทความนี้นั่นเอง ‘น้ำตาแสงไต้’ เป็นเรื่องผีบทแรกในหนังสือรวมเล่มนั้น ครูสง่าเริ่มเรื่องผีน้ำตาแสงไต้โดยเล่าถึง ‘วันนั้น’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เป็นวันซ้อมละคร ‘พันท้ายนรสิงห์’ วันท้าย ๆ แต่เพลงเอกของเรื่องอย่าง ‘น้ำตาแสงไต้’ นั้นยังแต่งทำนองไม่เสร็จ เนื่องด้วยเพลงจากผู้รับหน้าที่แต่งทำนองอย่าง ‘ประกิจวาทยากร’ และ ‘โพธิ ชูประดิษฐ์’ แต่งไปนั้นยังไม่เข้าตาเจ้าของเรื่องและผู้กำกับ ซึ่งต้องการเพลงรสไทย กลิ่นอาย ‘หวานเย็นและเศร้า’ อีกเพียง 5 วันจะถึงวันแสดงแล้ว แต่เพลงรสและกลิ่นดังกล่าวยังไม่ปรากฏ ทำให้บรรยากาศในห้องซ้อมระบายไปด้วยความอึดอัด จนครูสง่า ที่ในเวลานั้นเป็นนักเปียโนผู้ยังไม่รู้วิธีแต่งเพลงพลอยอึดอัดตามไปด้วย เวลาเย็นหลังสิ้นสุดการซ้อม นายตำรวจนาม ‘ทองอิน บุญยเสนา’ ชวนครูสง่ากินดื่มและพูดคุย จึงได้เอ่ยปากเล่าเรื่องราวอึดอัดใจในกองละครให้เพื่อนดื่มผู้พี่ฟัง “เพลงไทยนั้นมีแยะ” คือคำตอบกลับของเขาตามตัวอักษรของครูสง่า “แต่ไอ้รสหวานเย็นและเศร้าที่หง่าว่ามันมีน้อย ที่อั๊วชอบมาก และรู้สึกหวานเย็นเศร้าก็เห็นมีแต่เขมรไทรโยคและลาวครวญเท่านั้น” แล้ว ‘พี่อิน’จึงร้องทั้งสองเพลงออกมาดัง ๆ จนคนรอบข้างในร้านขำคิก โมงยามแห่งการร่ำสุราผ่านไป ครูสง่าย้อนกลับมาที่ใต้ถุนศาลาเฉลิมกรุง เพลินมองฝ่ายฉากละครทำงานของพวกเขาไป และหลังม่อยหลับไปด้วยฤทธิ์น้ำเมา ก็เป็นคราวของ ‘ผี’ ที่มาเยี่ยมเยียนครูสง่าถึงในฝัน “ท่านที่รัก..ในห้องซ้อมผมเห็นคนอยู่ 4 คน เป็นชาย 3 หญิง 1 แต่งกายแปลกมาก ชายแต่งกายเหมือนทหารนักรบไทยโบราณ เขาถอดหมวกวางไว้บนเปียโน คนเล่นเปียโนผิวค่อนข้างขาว หน้าตาคมคาย อีกคนหนึ่งผิวคล้ำ นั่งอยู่ทางขวาของเปียโน คนที่ 3 อายุมากกว่าสองคนแรก ผมหงอกประปราย ท่าทางเป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หน้าอิ่มเอิบ ส่วนผู้หญิงนั้นสวยเหลือเกิน แต่งกายแบบโบราณอีกเหมือนกัน นุ่งผ้าจีบพก ห่มผ้าแถบสีแดงสด ผิวนวลปล่อยผมยาวปรกบ่า กำลังยืนเอามือเท้าเปียโนอยู่ด้านซ้าย” ผู้ชายผิวขาวหน้าเปียโนชื่อ ‘เทพ’ เล่นเพลงเขมรไทรโยค ผู้หญิงชื่อ ‘ธิดา’ เล่นเพลง ‘ลาวครวญ’ ส่วนชายผิวคล้ำชื่อ ‘อมร’ นั้นเป็นครูของศิษย์ทั้งสอง บรรเลงเปียโนหวานเย็นเศร้าด้วยการเอาท่วงทำนองหรือ ‘วิญญาณ’ ของเขมรไทรโยคและลาวครวญมาผสานกัน ครูสง่าถูกปลุกในยามเช้าพร้อมด้วยอาการที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่า ‘แฮงก์เหล้า’ และตื่นตัวพร้อมซ้อมในยามบ่าย เมื่อถึงโรงซ้อมและพ้นเทศน์โทษฐานมาสาย ก็พบว่าจนวันนี้ ทำนอง ‘น้ำตาแสงไต้’ ก็ยังไม่ผ่านอีก เหม่อละเมอคล้ายฝัน ครูสง่าพักฟังเสียงถกเถียงถึงเพลง ‘น้ำตาแสงไต้’ มาบรรเลงเปียโนเป็นเพลงที่ตนไม่รู้จัก กระทั่งถูกทักถึงความไพเราะของมัน ครูเพลงจึงตื่นจากภวังค์ และตั้งใจเล่นอีกครั้ง - ท่วงทำนองในฝัน จากการผสานวิญญาณเขมรไทรโยคและลาวครวญนั่นเองคือเพลงที่เขาเล่น และเป็นทำนองเพลงไทยที่ ‘หวานเย็นและเศร้า’ ของ ‘น้ำตาแสงไต้’ โดยแท้ เพราะเป็นบทเพลงจากห้วงฝันประหลาดอันแจ่มชัดอย่างนั้น ครูสง่าจึงไม่ได้ฟันธงว่าท่วงทำนองของ ‘น้ำตาแสงไต้’ นั้นผุดพรายแวบเข้ามโนสำนึกได้อย่างไรแน่ เป็นผีที่มาดลใจในยามยาก เป็นจิตใต้สำนึกที่ทำงานระหว่างเมาจนหลับใหล เป็นแรงบันดาลใจจากคำพูดของ ‘พี่อิน’ หรืออาจจะเป็นทั้งสามอย่างรวมกัน แต่เพลงไทยที่ไพเราะเป็นอมตะนิรันดร์กาลก็ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แด่ภูตผีและจิตวิญญาณแห่งครูสง่า อารัมภีร ผู้เผยแพร่รสหวาน เย็น เศร้า อย่างไทย ผ่าน ‘น้ำตาแสงไต้’ ด้วยปลายนิ้วสัมผัสเปียโน   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: หนังสือ แจ๋วเจอผี สง่า อารัมภีร สำนักพิมพ์บ้านบูรพา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 8