Pac-Man ตัวละครเกมดัง เกิดขึ้นได้ด้วยผู้หญิง และการกิน

Pac-Man ตัวละครเกมดัง เกิดขึ้นได้ด้วยผู้หญิง และการกิน

Pac-Man ตัวละครเกมดัง เกิดขึ้นได้ด้วยผู้หญิง และการกิน

แพ็กแมน (Pac-Man) คือเกมที่มีกำเนิดในยุค 80s ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจนเคยได้รับการบันทึกโดยกินเนสเวิลด์เรคคอร์ดเมื่อปี 2005 ว่าเป็นเกมตู้หยอดเหรียญที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ (ซึ่งอาจจะเอามาเปรียบเทียบความสำเร็จกับเกมในยุคปัจจุบันที่มีสื่อกลางในการเล่นต่างออกไปมากได้ลำบาก) เป้าหมายของการเล่นโดยหลัก ๆ แล้วผู้เล่นจะต้องบังคับตัวละครหลักซึ่งมีชื่อว่า "แพ็กแมน" ตามชื่อเกม มันเป็นตัวละครสีเหลืองรูปวงกลม (หรือทรงกลม แต่สมัยนั้นเกม 8 บิต แสดงภาพได้เพียงสองมิติ) ที่จะอ้าปากพะงาบ ๆ อยู่ตลอดเวลา ให้เดินไปตามเส้นทางเขาวงกตเพื่อกินคุกกี้เม็ดกลมสีเหลืองที่เรียงรายอยู่ตามทางให้หมด และต้องคอยระวังไม่ให้เดินไปชน "ผี" สีต่าง ๆ หรือถูกไล่ตามจับได้ ขณะเดียวกัน ผู้เล่นก็มีโอกาสโต้กลับเหล่าผีร้าย หากได้กินคุกกี้เพิ่มพลังซึ่งเป็นเม็ดสีเหลืองเม็ดใหญ่กว่าเม็ดอื่น ๆ แพ็คแมนก็จะกลายเป็นฝ่ายไล่ล่าผีร้ายเสียเอง แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ก็ตาม เกมนี้ผลิตโดย Namco ผู้ผลิตเกมรายใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งเบื้องหลังผู้ทำหน้าที่ออกแบบก็คือ โทรุ อิวาทานิ (Toru Iwatani) เขาเริ่มทำงานกับบริษัทเกมแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1977 ตอนแรกเขาไม่ได้สนใจที่จะเป็นนักออกแบบวิดีโอเกมเลย แต่ที่ตั้งใจเข้ามาทำงานที่นี่เพราะเขาสนใจเครื่องเล่นพินบอล (ตู้เกมแบบยิงลูกบอลให้ไปชนจุดต่าง ๆ เพื่อทำคะแนนให้มากที่สุด) ซึ่งเป็นสินค้าขายดีอีกตัวของ Namco มากกว่า ตอนนั้นเป็นยุคของเกมยานอวกาศกำจัดมนุษย์ต่างดาว มีต้นแบบเป็นเกมฮิตที่ชื่อ "Space Invaders" ซึ่งหลายผู้ผลิตพากันเอาเป็นแบบอย่าง (Namco เองก็สร้างเกมยิงมนุษย์ต่างดาวมาสู้โดยใช้ชื่อว่า Galaxian) อิวาทานิในวัยยี่สิบต้น ๆ เมื่อต้องมารับหน้าที่ออกแบบวิดีโอเกมให้บริษัทเขาก็พยายามมองหาแนวทางอื่น ๆ ที่ไม่ซ้ำแนวทางเดิม ๆ เขายังมองกลุ่มเป้าหมายที่จะมาเป็นลูกค้าในเกมใหม่ของเขาต่างออกไป คือแทนที่จะเน้นกลุ่มนักเล่นเกมมือฉมังที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายและชอบเกมที่มีความรุนแรง (อย่างการฆ่ามนุษย์ต่างดาว) เขากลับอยากที่จะพัฒนาเกมที่ใคร ๆ ก็เล่นได้ โดยเฉพาะกับลูกค้ากลุ่มใหม่อย่าง "ผู้หญิง" และคิดว่า "การกิน" น่าจะเป็นสิ่งที่จูงใจผู้หญิงให้มาสนใจเกมของเขาได้ "ผมจำได้ว่า หลังกินอาหารจานหลักแล้ว ผู้หญิงมักจะพูดว่า [ต้องมี]ของหวานเข้าอีกทางกระเพาะหนึ่ง ผมก็เลยคิดขึ้นได้ว่า ถ้าเอาเรื่องกินมาเป็นธีมหลักมันก็น่าจะดีนะ เกมที่มีการกินเป็นศูนย์กลางน่าจะดึงดูดผู้หญิงได้ดีกว่าการฆ่ามนุษย์ต่างดาว" อิวาทานิกล่าว (NHK World) และที่มาของตัวละครหลักก็เกี่ยวพันกับการกินอีกเช่นกัน วันหนึ่งเมื่อเขาไปนั่งกินอาหารและสั่งพิซซามาถาดหนึ่ง เมื่อเขาหยิบพิซซาขึ้นมาหนึ่งชิ้นก็ประหนึ่งเกิดดวงตาเห็นธรรม และระลึกขึ้นได้ว่าพิซซารูปวงกลมที่แหว่งไปหนึ่งชิ้นนี่แหละที่น่าจะเอาไปทำเป็นตัวละครในเกมได้ "ผมคิดไม่ตกว่าจะแสดงลักษณะการกินของตัวละครออกมาได้อย่างไร [ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีด้านกราฟิกสมัยนั้น] แต่ทันทีที่ผมได้เห็นรูปร่างที่คล้ายปากแบบพื้น ๆ บนพิซซาผมก็บอกกับตัวเองว่า 'นี่แหละ' นั่นคือจังหวะที่รูปร่าง [ของตัวละคร] ที่แสนโด่งดังได้ถือกำเนิดขึ้น" อิวาทานิกล่าว เมื่อได้เค้าโครงของตัวละครมาแล้วก็ถึงคราวตั้งชื่อ และชื่อ “Pac-Man” นั้นคำว่า Pac มาจากคำว่า Pakku ซึ่งแผลงมาจากคำในภาษาญี่ปุ่นที่ออกเสียงว่า "paku paku" อีกที ซึ่งเป็นการเลียนเสียงเคี้ยวอาหารแบบคนญี่ปุ่นนั่นเอง แต่การเดินกินคุกกี้ไปตามเขาวงกตเฉย ๆ ก็คงทำให้คนเล่นเบื่อได้ง่าย ๆ อิวาทานิจึงคิดสร้างตัวร้ายขึ้นมาเพื่อขัดขวาง แต่เขาก็ออกแบบศัตรูของผู้เล่นออกมาเป็นผีที่หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูเพื่อดึงดูดผู้หญิง โดยจะค่อย ๆ เพิ่มความยากในการเล่นด้วยการทำให้การเคลื่อนที่ของผีคาดเดาได้ยากขึ้นเมื่อผู้เล่นสามารถเอาชนะได้ในแต่ละด่าน ขณะเดียวกัน การเป็นฝ่ายหนีลูกเดียวก็คงขาดความเร้าใจ อิวาทานิจึงให้โอกาสผู้เล่นได้เอาคืนฝูงผีได้ โดยวางคุกกี้เม็ดใหญ่ไว้สี่จุดใกล้ ๆ กับมุมของแผนที่ซึ่งจะทำให้แพ็กแมนมีพลังพิเศษสามารถกินผีได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ (คนที่ชอบการ์ตูนรุ่นเก่าคงพอจะเดาได้ว่าไอเดียดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากตัวการ์ตูนเรื่อง "Popeye" ที่ตัวเอกจะมีพลังเหนือมนุษย์หลัง “กินผักโขม” เข้าไป) เมื่อเกมของเขาวางตลาดเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม 1980 เกมของเขาก็กลายเป็นที่นิยมในวงกว้างไม่ใช่แต่กับผู้หญิงเท่านั้น ทำให้เขาต้องแปลกใจไม่น้อยเพราะเกมออกแบบมาให้เล่นได้ง่าย ๆ เพื่อเอาใจผู้หญิง แต่มันกลับถูกใจคนทุกเพศทุกวัยทำให้ตู้เกมแพ็กแมนขายได้ถึง 15,000 ตู้ในญี่ปุ่น และเมื่อถูกส่งออกไปขายในสหรัฐฯ มันกลับขายดียิ่งกว่าประเทศต้นกำเนิดเมื่อยอดขายพุ่งเป็น 300,000 ตู้ ในปีเดียวกันนั่นเอง และยังสามารถขายตลับเกมในระบบ Atari 2600 ได้อีกราว 5 ล้านตลับ (The Japan Times)   อย่างไรก็ดี น้อยคนนักที่จะรู้ว่า อิวาทานิคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแพ็กแมน เกมที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์เกมตู้ เพราะญี่ปุ่นในอดีตไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนต้นคิดซึ่งมีฐานะเป็นเพียง “ลูกจ้างเล็ก ๆ” ของบริษัทใหญ่ (ขณะที่ในปัจจุบันนักออกแบบเกมเก่ง ๆ เช่น ฮิเดโอะ โคจิมะ ผู้สร้างซีรีส์ Metal Gear สามารถก้าวขึ้นไปเป็นรองประธานของบริษัท Konami Digital Entertainments ก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นอิสระในภายหลัง) เมื่อถูกถามว่า เขาได้ฉลองความสำเร็จอันล้นหลามให้กับตัวเองอย่างไรบ้าง อิวาทานิจึงบอกว่า “ผมไม่แน่ใจว่าควรพูดรึเปล่า คือว่า...ความจริงแล้ว มันไม่ได้มีรางวัล หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันจากความสำเร็จของแพ็กแมนเลย ผมเป็นแค่พนักงาน เงินเดือนไม่ได้ขึ้น โบนัสก็ไม่มี ไม่มีการ [ยกย่อง] อ้างอิงอย่างเป็นทางการมาถึงแต่อย่างใด ผมจึงไม่ได้ซื้ออะไรให้ตัวเอง แล้วการซื้อของขวัญให้ตัวเองมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะทำแต่แรกอยู่แล้วด้วย” อิวาทานิกล่าว (VH1)