28 ก.พ. 2565 | 19:00 น.
ในปลายเดือนที่สองของปี พ.ศ. 2565 หลังจากที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งปอดมานานกว่า 9 เดือน ‘พิชัย รัตตกุล’ หรือ ‘ปู่พิชัย’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในตำนานผู้มีบทบาทแห่งแวดวงการเมืองไทยตั้งแต่ยุคสมัยของ ‘ควง อภัยวงศ์’ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จนถึงยุคของ ‘ชวน หลีกภัย’ ก็ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบหลังจากที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ โดยสิริรวมอายุ 96 ปี เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราสูญเสียบุคคลสำคัญของแวดวงการเมืองไทย พิชัย รัตตกุล เกิดวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2469 ณ กรุงเทพมหานคร เป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจีน โดยบรรพบุรุษเดินทางข้ามทะเลเข้ามาที่ประเทศไทยตั้งแต่ยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ และเป็นหนึ่งในบุตรทั้งเก้าของนายพิศาล และนางวิไล รัตตกุล พิชัยสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และต่อมาก็ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยเซนต์สตีเฟ่น ฮ่องกง ในด้านพาณิชยศาสตร์ หลังสำเร็จการศึกษาก็ได้กลับมาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวอย่าง บริษัทเยาวราช ซึ่งเป็นเจ้าของ ‘หมากหอมเยาวราช’ ก่อนจะมุ่งสู่เส้นทางการเมือง ก้าวสู่ประชาธิปัตย์และการเมืองไทย ชีวิตและเส้นทางในแวดวงการเมืองของพิชัยถือกำเนิดขึ้น ณ ปี พ.ศ. 2501 เขาได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงที่ ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ณ ขณะนั้น โดยพิชัยได้มีโอกาสก้าวขึ้นเป็น ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2512 ถัดมาอีกไม่กี่ปี ในปี พ.ศ. 2516 ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไทยอย่าง ‘14 ตุลา’ ขึ้น โดยที่พิชัยก็เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลแรกที่ลงชื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ถนอม กิตติขจรและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ณ วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของสมาชิกพรรคที่ลงชื่อในวันนั้น ถือเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอีก 9 วันถัดมา นอกจากนั้น ในปีเดียวกัน พิชัยก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ในสมัยของการนำพรรคโดย หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมทย์ ก็มีประกาศแต่งตั้งให้พิชัยได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เนื่องจากไม่ได้รับการไว้วางใจจากการแถลงนโยบายจึงยังไม่มีโอกาสได้เริ่มปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบ หนึ่งปีถัดมาพิชัยก็ได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งและดำรงตำแหน่งถึงสองสมัยติดกันจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารโดย ‘พลเรือเอก สงัด ชลออยู่’ หรือ ‘บิ๊กจอวส์’ ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น หรือหากนับจากวันที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็ถือว่าเพียงวันเดียว พิชัย รัตตกุลได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2525 ต่อจากการดำรงตำแหน่งของ พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ โดยนายพิชัยเองก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นด้วย ซึ่งในตอนนั้นอยู่ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและสนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สี่ปีถัดมา ปี พ.ศ. 2531 พิชัยก็ยังคงได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เพียงในวาระแรกเท่านั้น เพราะในวาระต่อมาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์และพิชัยเห็นว่ารัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาเป็นจำนวนมากแล้ว และไม่ต้องการให้เกิดสภาพเผด็จการรัฐสภา ทั้งพิชัยและพรรคเองจึงตัดสินใจถอนตัวออกมา โดยหนึ่งทศวรรษต่อมา ในช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยที่สองของ ‘ชวน หลีกภัย’ พิชัยก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีโดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ และรวมถึงความรับผิดชอบในการจัดงานมหกรรมกีฬา ‘เอเชียนเกมส์ 1998’ ในปีพ.ศ. 2541 ด้วย และในปี พ.ศ. 2543 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พิชัยดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาอีกด้วย เส้นทางการเมืองของพิชัย รัตตกุลก็ถือว่าเดินทางมายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่ยาวนานที่ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยมามากมาย ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงได้รับฉายาว่าเป็น ‘คุณปู่’ หรือ ‘ปู่พิชัย’ ภายหลังการดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาไม่นาน พิชัยวางมือจากแวดวงการเมือง แต่ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงไปร่วมงานทำบุญวันก่อตั้งพรรคในวาระวันครบรอบวันที่ 6 เมษาของทุก ๆ ปี ชีวิตนอกการเมือง สุขภาพ และอายุที่ยืนยาว นอกจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว พิชัยก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสโมสรโรตารี (Rotary) ในประเทศ และในช่วงปี พ.ศ. 2545-2546 พิชัยก็ยังได้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นประธานสโมสรโรตารีสากล “ผม หนึ่ง ไม่สูบบุหรี่ สอง ผมไม่กินเหล้า กินเหล้าไม่เป็น กินเบียร์ก็ไม่เป็น กินไวน์ก็ไม่เป็น กินวิสกี้ก็ไม่เป็น” พิชัยถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ถือว่ามีอายุเกือบหนึ่งร้อยปี ซึ่งถือว่ายืนยาวอย่างมาก ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นการมีสุขภาพที่ดี และเคล็ดลับการมีสุขภาพที่ดีเหล่านั้นก็มาจากการ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาดื่มไม่เป็นด้วยซำ้ ทั้งชีวิตเคยดื่มเพียงครั้งเดียว พิชัยก็ยังใส่ใจสุขภาพจากการออกกำลังกายในตอนที่อายุมากแล้ว เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าสมัยหนุ่ม ๆ เขาเล่นกีฬาหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส ว่ายนำ้ กระโดดสูง วิ่ง 1,500 เมตร บาสเก็ตบอล ฮอกกี้ และรวมถึงสเก็ตด้วย และแม้ว่าอายุที่เพิ่มขึ้นจะทำให้พละกำลังที่มีถดถอยลงไปบ้าง แต่เขาก็ยังคงบำรุงรักษาสุขภาพที่ดีเหล่านั้นให้ยังคงอยู่ ในวัย 95 ปี พิชัยยังคงตีกอล์ฟได้เต็มวงสวิง ยังคงชกพันชิ่งบอลได้อย่างแม่นยำ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ตำนานการเมืองไทยหัวหน้าประชาธิปัตย์ต้องจากไปด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 96 ปี ทาง The People ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวรัตตกุล มา ณ ที่นี้ เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ภาพ: Robert Nickelsberg ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=TNjMaRyBxOw https://www.silpa-mag.com/history/article_40175 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2518/A/044/1.PDF http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/A/119/1.PDF http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2526/A/075/1.PDF http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2531/A/132/1.PDF http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/E/065/1.PDF https://www.thansettakij.com/politics/515555 https://bhichit.tripod.com/html/5_news.htm https://www.prachachat.net/breaking-news/news-875563 https://www.springnews.co.th/sports/669389 https://www.naewna.com/channel/559176