ริชิ ซูนัค: นักการเมืองขวัญใจ ‘แม่ยก’ (ว่าที่)นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรก

ริชิ ซูนัค: นักการเมืองขวัญใจ ‘แม่ยก’ (ว่าที่)นายกฯ อังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรก

ภายหลังลิซ ทรัสส์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชิ ซูนัค (Rishi Sunak) ที่เคยเป็นตัวเต็ง เพิ่งได้รับเสียงสนับสนุนจนได้เป็นหัวหน้าพรรคพรรคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ และทำให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่มีเชื้อสายเอเชียเป็นคนแรก

ขณะที่ชาวอินเดียกำลังคลั่งไคล้ ‘RRR’ หนังบอลลีวูดแนวย้อนยุคที่ปลุกเร้าความโกรธแค้นดินแดนเจ้าอาณานิคมในอดีตอย่างอังกฤษ ที่กรุงลอนดอน เกิดปรากฏการณ์กลับตาลปัตร เมื่อนักการเมืองหนุ่มจ่อสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย

นักการเมืองที่ว่า คือ ‘ริชิ ซูนัค’ (Rishi Sunak) อดีตรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลนายกฯ บอริส จอห์นสัน ที่กำลังก้าวลงจากอำนาจ เขากลายเป็นตัวเก็งที่จะคว้าเก้าอี้ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ และได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แทน ‘บอริส จอห์นสัน’ ซึ่งถูกกดดันให้ลาออกก่อนครบวาระ เนื่องจากเผชิญเรื่องอื้อฉาวรุมเร้า

ก่อนหน้านี้ ริชิถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของ บอริส จอห์นสัน อยู่แล้ว เขาสร้างชื่อจากการคุมนโยบายเศรษฐกิจ พาประเทศฝ่าวิกฤตโควิด-19 เป็นนักการเมืองขวัญใจสาว ๆ เจ้าของฉายา ‘ริชิพ่อรูปหล่อ’ (Dishy Rishi) และเป็นลูกเขยของมหาเศรษฐีผู้ถูกขนานนามให้เป็น ‘บิล เกตส์ แห่งอินเดีย’

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สนับสนุน บอริส จอห์นสัน ต่างต่อต้านความพยายามขึ้นสู่อำนาจของริชิ โดยโจมตีว่าเป็น ‘คนทรยศ’ เพราะไม่พอใจที่เขาร่วมเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ประกาศลาออกเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2022 เพื่อกดดันให้นายกฯ จอห์นสัน สละเก้าอี้ก่อนครบวาระ

กระนั้นในการโหวตเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ 5 รอบแรกที่จบไป ‘ริชิ ซูนัค’ ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งทุกรอบ ทำให้เขาเป็นหนึ่งในสองแคนดิเดตที่ได้เข้ารอบสุดท้ายไปลุ้นเก้าอี้นายกฯ และหากทำสำเร็จ เขาจะกลายเป็นผู้นำอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายมาจากดินแดนซึ่งเคยอยู่ใต้อาณานิคมอย่างอินเดีย

อัปเดต: ช่วงเดือนกันยายน 2022 ซูนัค พ่ายแพ้การชิงตำแหน่ง และกลายเป็นลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ลิซ ทรัสส์ ทำงานในเก้าอี้นายกฯ ได้เพียง 45 วัน (บางรายงานระบุ 44 วัน) เธอจำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังถูกกดดันอย่างหนักจากการบริหารที่พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจแต่ได้ผลไม่ได้ตามที่หวัง (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง: ลิซ ทรัสส์ (อดีต)นายกฯ หญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ กับวิกฤตที่ทำให้ทำงานได้แค่ 45 วัน)

ภายหลังการลาออก โอกาสกลับมาเป็นของนายซูนัค อีกครั้ง ซึ่งซูนัค ได้รับการสนับสนุนจากส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่างท่วมท้น (ผู้มีโอกาสชิงตำแหน่งอย่างเพนนี เมอร์เดินท์ (Penny Mordaunt) ถอนตัวในช่วงท้ายของการแข่งขัน) ทำให้โอกาสครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จ่อขึ้นรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรก

 

จากอินเดียสู่แอฟริกาและอังกฤษ

ริชิ ซูนัค เป็นคนสัญชาติอังกฤษโดยกำเนิด เขาเกิดที่เมืองเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมปี 1980 แต่พ่อแม่ของเขาเป็นชาวอินเดียทั้งคู่ โดยบรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายเกิดในอินเดียยุคเมืองขึ้นของอังกฤษ ก่อนถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานก่อสร้างทางรถไฟและสิ่งปลูกสร้างในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก

หลังอังกฤษถอนตัวจากแอฟริกาตะวันออกในทศวรรษ 1960s พ่อแม่ของริชิที่เกิดในเคนยาและแทนซาเนีย จึงอพยพไปอังกฤษ โดยบิดามีอาชีพแพทย์ทั่วไป ส่วนมารดาเป็นเภสัชกร และมีกิจการร้านขายยาเป็นของตนเอง

“พ่อแม่ท่านเสียสละมากมายเพื่อให้ผมได้เข้าโรงเรียนดี ๆ” นักการเมืองหนุ่ม ‘เจน Y’ ให้เครดิตผู้ปกครองที่ส่งเข้า ‘วินเชสเตอร์คอลเลจ’ โรงเรียนประจำชื่อดังและเก่าแก่ของอังกฤษ ตั้งแต่สมัยยังเด็ก

“ริชิมักคาดหวังจะทำบางอย่างเสมอ เขาหวังจะได้เป็นหัวหน้านักเรียน ขณะที่ตัวเองก็จัดว่าฉลาด มีเหตุผล และประพฤติตัวเหมาะสมดีพอ” ทิม จอห์นสัน เพื่อนร่วมชั้นสมัยอยู่โรงเรียนประจำ กล่าวชื่นชมความกระตือรือร้นของเพื่อนในอดีต

แม้เติบโตมาในโรงเรียนประจำชั้นนำของประเทศ แต่ริชิไม่เคยลืมตัว เขาใช้เวลาช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนช่วยครอบครัวหารายได้พิเศษ ด้วยการทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารอินเดียในบ้านเกิดที่เมืองเซาแทมป์ตัน

เพื่อนคนเดียวกันยังบอกด้วยว่า ริชิมีมนุษยสัมพันธ์ดี เขาเป็นแฟนกีฬาคริกเกตตัวยง เป็นชาวฮินดูผู้เคร่งครัด ไม่ดื่มเหล้า ไม่กินเนื้อวัว และมีทัศนคติแบบอนุรักษนิยมที่ชัดเจนตั้งแต่เด็ก

 

เริ่มต้นอาชีพนักลงทุน

หลังจบจากวินเชสเตอร์คอลเลจ ‘ริชิ ซูนัค’ เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์

“เพื่อนนักศึกษาพูดกันทีเล่นทีจริงว่า เขาอยากจบออกไปเป็นนายกรัฐมนตรีสังกัดพรรคอนุรักษนิยม ผมไม่คิดว่าจะมีใครเชื่อจริงจัง มันเหมือนมุกตลกมากกว่า”

ไมเคิล โรเซน นักศึกษารุ่นพี่ที่เคยเป็นติวเตอร์ให้ริชิที่ออกซฟอร์ด กล่าวถึงรุ่นน้องที่กำลังลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และมีลุ้นเป็นนายกฯ แบบที่เคยใฝ่ฝัน

อย่างไรก็ตาม ริชิไม่ได้เข้าสู่การเมืองทันทีหลังจบจากออกซฟอร์ด เขาได้ทุน ‘Fulbright’ ไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจบออกมาทำงานสายการเงินการลงทุน เริ่มจากเป็นนักวิเคราะห์ให้ ‘โกลด์แมน แซคส์’ ในปี 2001 - 2004 จากนั้นจึงก่อตั้งกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และรับหน้าที่ผู้จัดการกองทุน สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

ปี 2010 ระหว่างร่วมก่อตั้ง ‘Theleme Partners’ ด้วยทุนเริ่มต้น 536 ล้านปอนด์ ริชิเริ่มเจียดเวลาสัปดาห์ละ 2 วัน มาทำงานเป็นอาสาสมัครให้พรรคอนุรักษนิยม และนั่นคือจุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองของเขา โดยสื่ออังกฤษขนานนามให้เขาว่า ‘มหาเศรษฐีในวัย 20 กลาง ๆ’

 

ภรรยารวยกว่าราชินีอังกฤษ

ริชิ ซูนัค ชนะการเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในเดือนพฤษภาคมปี 2015 และจัดเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่รวยที่สุดของอังกฤษ ภรรยาของเขา คือ ‘อัคชาตา เมอร์ตี’ (Akshata Murty) ทั้งคู่พบรักกันระหว่างเรียนอยู่ ‘สแตนฟอร์ด' เธอเป็นลูกสาวของ ‘นารายานา เมอร์ตี’ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘อินโฟซิส’ (Infosys) บริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย

พ่อตาของริชิได้ฉายา ‘บิล เกตส์ แห่งอินเดีย’ และเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในชมพูทวีป ส่วนภรรยาของเขาแม้จะมีหุ้นใน Infosys ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็คิดเป็นมูลค่า 700 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มากกว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของอังกฤษ ซึ่งมีทรัพย์สินส่วนพระองค์ทั้งหมดเพียง 365 ล้านปอนด์ (ข้อมูลในปี 2022)

ความร่ำรวยของริชิและภรรยา ทำให้ทั้งคู่ตกเป็นเป้าโจมตีทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามหลบเลี่ยงภาษีด้วยการทำธุรกรรมผ่านดินแดนที่เรียกว่า ‘สวรรค์ของการฟอกเงิน’ อย่างหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ และเคย์แมน ไอส์แลนด์

แม้ทั้งคู่จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ต่อมาภรรยาของเขาก็ตัดสินใจช่วยสามีลดแรงกดดันทางการเมือง ด้วยการประกาศยอมจ่ายภาษีเงินได้ในธุรกิจต่างประเทศให้กับรัฐบาลอังกฤษ แม้ตามกฎหมายเธอไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะถือสัญชาติอินเดีย ไม่ใช่พลเมืองของอังกฤษ

 

นักการเมืองเซ็กซี่อันดับหนึ่ง

นอกจากสถานะมหาเศรษฐี ‘ริชิ ซูนัค’ ยังจัดเป็นนักการเมืองเจ้าเสน่ห์ เขาได้รับคะแนนโหวตจากเหล่าสตรีแดนผู้ดีในปี 2020 ให้เป็น ส.ส. ชายที่เซ็กซี่ที่สุดของอังกฤษ และได้ฉายา ‘ริชิพ่อรูปหล่อ’ โดยได้เสียงโหวตมากกว่า ‘เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์’ (Sir Keir Starmer) หัวหน้าพรรคแรงงาน ที่ติดโผนักการเมืองหน้าตาดีอันดับที่ 2

เส้นทางการเมืองของริชิถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังชนะการเลือกตั้ง ส.ส. สมัยแรกไม่ถึง 3 ปี เขาได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการรัฐสภาในยุคของนายกฯ ‘เทเรซา เมย์’ จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นายกฯ คนต่อมาชื่อ ‘บอริส จอห์นสัน’ ก็แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลังในวัย 39 ปี ทำให้ริชิกลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้ที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

แม้ประสบการณ์ทางการเมืองจะไม่มาก แต่ริชิได้รับคำชมในด้านการจัดการวิกฤตโควิด-19 ทั้งอนุมัติงบฉุกเฉิน 330,000 ล้านปอนด์ เพื่ออุดหนุนค่าจ้างพนักงานในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ และริเริ่มโครงการ ‘คนละครึ่ง’ (Eat Out to Help Out) ด้วยการอุดหนุนค่าอาหารและเครื่องดื่ม 50 เปอร์เซ็นต์ให้ประชาชนหัวละไม่เกิน 10 ปอนด์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

จุดยืนทางการเมืองที่ผ่านมา ริชิสนับสนุนให้อังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ในการลงประชามติเมื่อปี 2016 โดยระบุชัดเจนว่า การออกจากอียูจะทำให้อังกฤษ “มีอิสระมากขึ้น ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น และเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น”

ส่วนนโยบายหาเสียงชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษนิยม เขาประกาศจะไม่ลดภาษี จนกว่าจะสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ แตกต่างจากคู่แข่งคนอื่น ๆ ที่ชูนโยบายลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคู่แข่งคนสุดท้ายที่ริชิต้องผ่านไปให้ได้ คือ ‘ลิซ ทรัสส์’ (Liz Truss) รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งโพลระบุว่า เธอมีคะแนนนิยมในหมู่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่มีสิทธิ์โหวตรอบสุดท้ายสูงกว่าริชิ

 

การศึกษาเปลี่ยนชีวิต

ไม่ว่าผลการลงคะแนนรอบสุดท้ายจะออกมาอย่างไร ‘ริชิ ซูนัค’ คือนักการเมืองอนาคตไกลที่หลายคนเฝ้าจับตา ในฐานะคลื่นลูกใหม่ที่เป็นตัวอย่างของนักการเมืองอังกฤษยุคใหม่

“พ่อแม่ของผมอพยพมาที่นี่ คุณจึงมีคนรุ่นผมเกิดบนแผ่นดินนี้ แม้พ่อแม่ของพวกเขาจะไม่ได้เกิดที่นี่ แต่พวกเขาก็มาประเทศนี้เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น”

ริชิกล่าวถึงรากเหง้าของตัวเอง ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป คล้ายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ หลัง 'คามาลา แฮร์ริส’ สร้างประวัติศาสตร์ เป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

“ผมโชคดีที่ได้เรียนหนังสือที่วินเชสเตอร์คอลเลจ รวมถึงมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประสบการณ์นั้นมันช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม”

นักการเมืองหนุ่มไฟแรงกล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จที่ผ่านมาในชีวิต โดยยกให้การศึกษามีความสำคัญมากที่สุด มันช่วยให้เขาสามารถก้าวจากการเป็นลูกผู้อพยพจากดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษมายาวนานเกือบ 200 ปี (1757 - 1947) จนกลายเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอดีตประเทศเจ้าอาณานิคม

หากทำสำเร็จตามเป้าหมายนี้ นอกจากชื่อของ ‘ริชิ ซูนัค’ จะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ ในฐานะนายกฯ อังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย ไม่แน่ในอนาคต เรื่องราวชีวิตของเขาอาจถูกนำไปสร้างเป็นหนังบอลลีวูด และเปลี่ยนความคิดแฟนหนังเรื่องดังอย่าง ‘RRR’ จากที่เคยเคียดแค้น ให้หันมามองอดีตเจ้าอาณานิคมในมุมใหม่ พร้อมเอาใจช่วยนักการเมืองผู้นี้ให้ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในดินแดนที่พวกเขาเคยเกลียดชังอย่างอังกฤษก็เป็นได้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2022 บทความถูกปรับปรุงใหม่และเรียบเรียงโดยเพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 ตุลาคม 2022

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/business-51490893

https://www.rishisunak.com/about-me

https://www.standard.co.uk/insider/rishi-sunak-tory-leadership-prime-minister-wealth-wife-brexit-personal-life-policies-wealth-b1012314.html

https://www.nytimes.com/2022/07/05/world/europe/rishi-sunak-chancellor-of-the-exchequer.html