06 พ.ค. 2566 | 20:03 น.
ในสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่หลายพรรค ซึ่งเป็นสัญญาณของความเบ่งบานประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้อาสาเข้ามารับใช้พี่น้องประชาชน หนึ่งในนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ ‘ดร.นิค - สุวดี พันธุ์พานิช’ กรรมการบริหารโรงพยาบาลเครือธนบุรี จากพรรคไทยสร้างไทย เขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพฯ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) และเขตบางรัก
ทำไมเธอถึงน่าจับตามอง และว่ากันว่านี่คือโคลนนิ่งของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย
ก่อนที่จะลงสู่สนามการเมือง เธอมีความสนใจด้านสังคมมาก่อน เมื่อจบปริญญาเอกจากรั้วจามจุรีด้านสาธารณสุขศาสตร์ จุดนี้เองที่ทำให้เธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ชีวิตในโรงพยาบาลทำให้เธอเห็นวงจร ‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ ได้เป็นอย่างดี และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เครือธนบุรีเข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลรัฐโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนให้มากที่สุด โดยรัฐไม่ต้องลงทุนในเครื่องมือและบุคลากร และประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม เช่นการเปิดศูนย์หัวใจในโรงพยาบาลรัฐ หลายแห่งทั่วประเทศ การบริดารโรงพยาบาลท้องถิ่น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโควิดในช่วงที่ผ่านมา
แต่เดิมจริงเธอจบปริญญาโทด้านนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความเป็นคนหัวดีแต่ยังไม่ได้ค้นหาตัวเองอย่างแท้จริงเลยเลือกในคณะที่คะแนนสูงสุดของสายศิลป์ขณะนั้น แต่สิ่งที่ติดตัวเธอมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ‘ทักษะการสื่อสาร’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารทางการเมือง และการทำงานบริหาร เธอเข้ามาทำงานสายสุขภาพในช่วงที่เครือ รพ.ธนบุรี เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยปัจจุบันบริษัทที่เธอบริหารมีมูลค่าทางการตลาดกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ในปี 2553 เธอมีโอกาสโคจรมาพบกับ ‘โภคิน พลกุล’ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายเมืองไทย ที่เป็นเสมือนอาจารย์ของโลกการเมืองของสุวดี ทำให้เธอเริ่มสนใจความเคลื่อนไหวของสังคม แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจริง ๆ คือ ‘การระบาดของโควิด-19’ ที่คนไทยทุกหย่อมหญ้าประสบภาวะยากลำบากภายใต้รัฐบาลที่บริหารงานไร้ประสิทธิภาพ
ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง
ด้วยความรู้ทั้งงานสื่อสารและด้านสาธารณสุข ทำให้คนธรรมดาอย่างเธอลุกขึ้นมาทำเพจช่องทางการสื่อสารทั้งทางทวิตเตอร์ และ Facebook เพจ ‘ไม่ได้เป็นหมอแต่เป็นห่วง’ ในการตอบคำถามสุขภาพของประชาชนในช่วงการระบาด ซึ่ง ดร.นิคบอกว่าบางวันช่วงสถานการณ์วิกฤตต้องลุกมาตอบข้อความด้วยตัวเองจนถึงตีสองตีสามเลยก็มี สมกับชื่อเพจที่เป็นห่วงคนไทยในยามลำบาก
หน้างานปัญหาก็รุมเร้าไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงมือไปจัดตั้งศูนย์ CI เฝ้าระวังเพื่อส่งตัวผู้ป่วย การเปิด Hospitel รับผู้ป่วย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ICU กว่า 300 เตียง โดยใช้เงินลงทุนไปมากกว่า 500 ล้านบาท การประสานความร่วมมือกับทางภาครัฐ เรียกได้ว่านี่คือโรงเรียนชีวิตที่เคี่ยวกรำให้เธอได้ใช้ทักษะบริหารจัดการยามวิกฤตได้อย่างดี จนสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย
แต่ปัญหาของโควิด-19 ไม่ได้มีมิติสาธารณสุข แต่มันเหมือนเห็นความล่มสลายทางธุรกิจและสังคม ดร.นิค ได้มีโอกาสเข้าไปดูแลชุมชนรอบโรงพยาบาลธนบุรี ทำให้เธอเกิดคำถามในใจว่า ‘เราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?’ และเมื่อตกผลึกแล้วว่าถ้าการเมืองดี ผลักดันนโยบายดี ๆ คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนก็จะดีไปด้วย จึงตัดสินใจว่า หรือโชคชะตาในช่วงโควิด-19 จะขีดเส้นให้เธอเดินทางทางการเมือง
และเป็นโภคินที่ได้แนะนำ ดร.นิคให้กับคุณหญิงสุดารัตน์ ในระหว่างการก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ซึ่ง ดร.นิคบอกว่าเธอเชื่อในตัวของ ‘แม่หน่อย’ เพราะจากการสัมผัสประสบการณ์ที่ได้ทำงานลงพื้นที่ร่วมกัน จะพบว่าเป็นที่รักและเข้าอกเข้าใจประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเธอค่อย ๆ ซึมซับวิชาความรู้ในเชิงการเมืองและมนุษยธรรม จนสื่อเริ่มตั้งฉายาว่า ‘สุดารัตน์2’
ดร.นิคคิดอย่างไรกับคำนี้? เธอมองว่ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ทำงานร่วมกับหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมสร้างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ในสมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เธอเล่าว่าสิ่งที่เหมือนกันมาก ๆ คือมีความเห็นอกเห็นใจคน (empathy) และพร้อมจะลุกขึ้นมาพูดแทนคนตัวเล็กในสังคม ยิ่งได้เล่าประสบการณ์ช่วงโควิด-19 ให้คุณหญิงสุดารัตน์ฟัง ยิ่งเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นในความเข้าใจเรื่องสุขภาพของประชาชน
“คุณหญิงสุดารัตน์ก็จะเป็นคนห่วงใยคนมาก ห่วงใยโอบอุ้มเอาความเจ็บปวดของคนมาพูดแทน แล้วก็ทำแทนด้วย การเป็นตัวแทนประชาชนของคุณหญิงสุดารัตน์ส่งต่อมาที่เราค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความที่นิคทำงานบริหารโรงพยาบาลมา แล้วคุณหญิงเคยบริหารกระทรวงสาธารณสุข ก็เลยคลิกกันง่าย ก็เลยเหมือนคล้ายเป็นฝาแฝด”
และพรรคไทยสร้างไทยเองก็พร้อมจะผลักดัน ‘30 บาทพลัส สุขภาพแข็งแรงก่อนป่วย’ โดยเป็นการต่อยอดจากการรักษาให้เป็น ‘30 บาท สุขภาพดีถ้วนหน้า’ เปลี่ยน sickcare เป็น healthcare เพื่อดูแลสุขภาพเชิงรุก เพื่อผลักดันการป้องกันก่อนป่วย ดร.นิคยกตัวอย่างว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันนั้นฉีดฟรีแค่คนบางกลุ่ม แต่หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ค่ารักษาอาจจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก อาจถึงหลักแสน จะดีกว่าไหมถ้าหากวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นฉีดฟรีสำหรับทุกคนที่ต้นทุนจากรัฐเพียงหลักร้อยเท่านั้น เทคโนโลยีต้องถูกนำมาใช้เพื่อช่วยระบบสาธารณสุข แล้วต้องเริ่มทำให้เห็นผล เพราะแม่เครื่องมือจะเต็มโรงพยาบาล บุคลากรก็รับมือไม่ไหว หากคนไทยป่วยน้อยลง และเข้าโรงพยาบาลลดลงเพียง 30% ก็จะช่วยความแออัดของโรงพยาบาลไปได้มาก คนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นก็จะได้รับบริการในโรงพยาบาลได้สะดวกมากขึ้น
สังคมอุดมสุขภาพ
เรื่องสุขภาพเชิงรุกของไทยสร้างไทยนั้นมองไปถึงการสร้างสังคมสุขภาพดี (well-being society) ดร.นิคเล่าว่ามีนโยบาย ‘หมอAI’ ที่จะคอยดูแลสุขภาพคนไทยผ่านมือถือในการประเมินสุขภาพต่าง ๆ ให้ความรู้ในเรื่องการใช้ยารักษาโรค และสามารถประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ทั้งด้านแล็บ ร้านขายยา เพื่อลดขั้นตอนเวลาที่จะต้องเสียไปในการรอพบแพทย์ ถ้าเราเจออาการป่วยได้เร็วก่อนที่อาการจะหนัก จะเป็นการลดการสูญเสียคนที่เรารักได้ดีที่สุด
“ทุกคนต้องตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพคนไทยต้องแข็งแรง สอง, รักษาต้องเร็ว และสาม, รักษาต้องหาย เราจะสร้างให้สังคมอุดมสุขภาพ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียว แต่หมายถึงทุกคนจะต้องร่วมมือกันด้วย”
ดร.นิคพูดถึงหลักการนโยบายสาธารณสุขของพรรคไทยสร้างไทยให้เห็นภาพได้ชัด เพราะมิติของสุขภาพนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและครอบครัวด้วย เพราะเมื่อป่วยก็ไม่สามารถมีรายได้ดูแลครอบครัวได้ และเมื่อไม่มีรายได้ก็อาจนำไปสู่จุดล่มสลายของครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันสำคัญของประเทศ นี่คือบทเรียนที่เธอได้จากวิกฤตโควิด-19 จนนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย
“ในฐานะคนไทยที่เสียภาษีคนหนึ่ง เราอยากให้ภาษีของเราถูกส่งไปยังคนที่ด้อยโอกาสกว่า ทุกงบประมาณที่เกิดขึ้นจากภาษีควรถูกใช้สอยไปเพื่อหนึ่ง, เพื่อไปช่วยคนที่ด้อยโอกาสกว่า สอง, เพื่อไปทำให้คนแข็งแรง แล้วยืนหยัดด้วยตัวเองได้ สาม, ก็คือการใช้เงิน เพื่อสร้างรายได้ เราควรจะต้องใช้งบประมาณในการสร้างรายได้ ต้องไปสร้างแต้มต่อให้ เพื่อให้เขาสามารถหารายได้กลับมาได้มากขึ้น”
เชื่อมั่นในความปรารถนาดี
The Power Of Nice ของ Linda Kaplan คือหนังสือเล่มโปรดที่เธออ่านระหว่างเริ่มทำการเมือง ที่เล่าถึงพลังแห่งความเชื่อมั่นในการทำความดี โดยไม่สนว่าใครจะมาคิดร้ายต่อเรา เราจะมองเขาด้วยความเมตตาเสมอ โดยเชื่อว่าคนเราอาจจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่เราจะทำดีต่อเขา ซึ่งเป็นเสมือนใจความสำคัญในความคลี่คลายความขัดแย้งไม่ว่าจะระดับบุคคล หรือการเมืองระดับประเทศได้ เพราะเธอเชื่อในการทำการเมืองสร้างสรรค์
แล้วเป้าหมายทางการเมืองสำหรับคนที่มาพร้อมความตั้งใจและประสบการณ์ด้านสังคม โลกการเมืองต่างจากที่คิดไหม? เธอตั้งคำถามว่าทำไมหลาย ๆ ครั้งเมื่อมีอำนาจไม่ได้จัดการปัญหาที่มีอยู่ให้ดี แต่พอจะเลือกตั้งกลับบอกว่าจะทำนั่นทำนี่ให้กับประชาชน ซึ่งเธอเชื่อว่าเมื่อมีอำนาจ สิ่งที่ควรจะทำก็คือการตอบแทนประชาชนที่ให้ความไว้วางใจด้วยการแก้ไขปัญหาทันที เพราะปัญหาของประชาชนรอไม่ได้
“นิคเชื่อว่าถ้าได้ลงมาทำงานการเมืองเร็วกว่านี้ ที่นี่จะเป็นเขตที่ฟื้นตัวเร็วอันดับต้น ๆ เพราะเชื่อว่าเรื่องการจัดการช่วงโควิด-19 ไม่ผิดพลาด ช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเร็วขึ้น”
สิ่งหนึ่งที่ยืนยันคำพูดของเธอได้เป็นอย่างดีคือการที่พรรคไทยสร้างไทยของเธอ แม้จะยังไม่มี ส.ส. เลยสักคนเดียว แต่มีการเตรียมการนโยบายต่าง ๆ ทำเป็นร่างกฎหมายไปรอที่สภาเรียบร้อยแล้ว รอเพียงให้ ส.ส. ของไทยสร้างไทยเข้าไปยกมือเท่านั้น
แล้วถ้ามี ส.ส. ชื่อ ดร.นิค เรื่องอะไรที่รอไม่ได้บ้าง? เธอตอบว่ามี 3 สิ่งที่อยากจะทำทันทีก็คือ การเสริมพลังให้กับประชาชนผ่านกองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้คนที่ล้มในช่วงโควิด-19 ได้ตั้งตัวใหม่อีกครั้ง การผลักดันให้ SMEs มีความเข้มแข็งโดยเฉพาะเขต 1 ที่เธออาสารับใช้ประชาชนนั้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างเยาวราช โบ๊เบ๊ พาหุรัด รวมถึงดินแดนจิวเวอรี่อย่างบางรัก และสิ่งสุดท้ายก็คือเรื่องสุขภาพประชาชนที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอก้าวเข้าสู่การเมือง
เขตการเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพฯ นั้นถือว่าเป็นสมรภูมิที่เดือด เพราะเป็นศูนย์กลางไข่แดงของประเทศไทย แต่ด้วยการผลักดันของ ‘เจ้าแม่เมืองหลวง’ ในการเมืองไทยอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ก็อาจทำให้เธอได้ปักธงไทยสร้างไทยในจุดไข่แดงก็เป็นได้
“คนเรามีความฝันที่แตกต่างกัน แต่มีอุปสรรคมากมายเหลือเกิน นิคขอเป็นเพื่อนร่วมทางให้กับทุกคน เพื่อให้ทุกคนไปถึงฝันได้ นิคเชื่อว่านโยบายไทยสร้างไทยจะทำให้อุปสรรคต่าง ๆ หายไป เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้มแข็งแล้วยืนได้ด้วยตัวเอง”